คุยกับ ‘Paper Planes’ ขวัญใจวัยรุ่นฟันน้ำนม ทำเพลง ‘เสแสร้ง-ทรงอย่างแบด’ ฮิตถึงวัยอนุบาล

คุยกับ ‘Paper Planes’ ขวัญใจวัยรุ่นฟันน้ำนม ทำเพลง ‘เสแสร้ง-ทรงอย่างแบด’ ฮิตถึงวัยอนุบาล

“ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย” เนื้อร้องที่ติดหูคนทั่วเมือง ฮิตไปถึงโรงเรียนอนุบาล เป็นฝีมือของวง ‘Paper Planes’ วงป็อปพังก์ ที่นำกระแสร็อกกลับมาฮิตอีกครั้งด้วยเพลง ‘เสแสร้ง’ และ ‘ทรงอย่างแบด’

  • Paper Planes ผลิตเพลงฮิตเป็นไวรัลได้ 2 เพลงติดต่อกัน คือ ‘เสแสร้ง’ และ ‘ทรงอย่างแบด’
  • Paper Planes นำเสนองานเพลงในสไตล์ป็อปพังก์ ซึ่งจางหายไปจากตารางเพลงฮิตมาหลายปี
  • ความนิยมของเพลงดังกล่าวทำให้แฟนเพลงบางรายถึงกับมองว่า ดนตรีร็อกมีหวังจะกลับมาฮิตในวงกว้างอีกครั้ง

ชาร์ตเพลงฮิตในยุคนี้รายล้อมไปด้วยดนตรีป็อป อาร์แอนด์บี ฮิปฮอป ไปจนถึงดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่าง ๆ ยากนักที่จะได้เห็นเพลงร็อกติดชาร์ตในไทยอีกครั้ง กระทั่งมีเพลง ‘เสแสร้ง’ และ ‘ทรงอย่างแบด’ โดยวง ‘Paper Planes’ ที่นำเพลงแนวป็อปพังก์ก้าวมาโด่งดังตีคู่ไปกับความนิยมของดนตรีกระแสหลักชนิดอื่น

ความโด่งดังของเพลง ‘เสแสร้ง’ ตามมาด้วยเพลง ‘ทรงอย่างแบด’ ซึ่งโด่งดังทะลุทะลวงไปถึงกลุ่มเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลยังนำมาร้องกันกระหึ่มโรงเรียน (คลิกชมคลิปเหตุการณ์ที่นี่)

นานมาแล้วที่ไม่มีดนตรีแนวป็อปพังก์เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คนรุ่นใหม่  ขณะที่ Paper Planes ไต่ระดับความนิยมจากเพลงดัง พวกเขากลับประกาศว่า หยก - คีตเมศร์ เสรีดุสิตพัชร์ มือกีตาร์ของวงแยกทางออกไป เหลือสมาชิกในปัจจุบันคือ ฮาย - ธันวา เกตุสุวรรณ นักร้องนำ และ เซน นครินทร์ มือเบส

น่าสนใจว่า Paper Planes รับมือกับเรื่องราวเหล่านี้ และทำอย่างไรถึงสามารถผลิตเพลงแนวนี้ให้กลับมานิยมอีกครั้งจนชาวร็อกถึงกับมีความหวังว่า ดนตรีร็อกจะกลับมาได้รับความนิยมจากคนหมู่มากอีกครั้ง

ติดตามเรื่องราวของพวกเขาจากบทสัมภาษณ์นี้

The People: วง Paper Planes เริ่มต้นได้อย่างไร

ฮาย: Paper Planes เริ่มมาจากเหมือนเป็นโปรเจกต์ทำกันสนุก ๆ ตอนแรกเริ่มจากมีผม มีหยก แล้วก็มีแจ๊ส เริ่มจาก 3 คนก่อน แล้วก็เริ่มทำเพลง cover Justin Bieber เหมือนเอาเพลงป็อปมาทำให้เป็นพังก์ ทำเป็น Post-hardcore แล้วก็เริ่มหาสมาชิกเพื่อน ๆ มาร่วมเล่นกัน

ก็ทำด้วยความสนุก แล้วก็อัปโหลดลง YouTube ในตอนนั้นก็เหมือนกับว่าพี่ออฟ Big Ass ก็โทรมาคุยเหมือนกับสนใจวง พอดีมีโปรเจกต์ที่ Genie Records สนใจอยากจะร่วมไหม

ก็ช่วงนั้นผมฝึกงานอยู่กับพี่ดาโน่-ดนัย ธงสินธุศักดิ์ พอดี คุยไปคุยมาก็เลยได้เข้าไปใน Showroom project ก็เลยจากวงที่เหมือนกับว่าทำด้วยความสนุกสนาน มันก็เริ่มมีความจริงจังมากขึ้น แล้วตอนนั้นก็เลยได้ปล่อยซิงเกิ้ลแรกกับที่ Genie เป็นศิลปินฝึกหัด

หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ เริ่มมีสมาชิกเป็นมือเบสคนแรก แล้วก็มือเบสคนแรกออกไปเรียนต่อเรื่องกฎหมาย ก็เลยได้เซน เข้ามาร่วมวงในภายหลัง หลังจากนั้นก็มีผม มีแจ๊ส มีหยก แล้วก็มีเซนเป็นหลัก ๆ ณ ตอนนั้นครับ

The People: ทำไมถึงสนใจทำดนตรีแนวพังก์

ฮาย: โดยส่วนตัวผมนะครับ ด้วยความเป็น Paper Planes จริง ๆ เราไม่ได้เลือกจากรากแก่นของมันมากนัก เพราะผมรู้สึกว่าผมอยากเอ็นจอยไปกับมิวสิกมากกว่า ก็เลยเลือกเล่นจากสิ่งที่เราได้ยิน

ผมจะเน้นจากการได้ยินเป็นหลักครับ รู้สึกว่าเสียงไหนที่เราชอบ ไม่ว่าจะเป็นพังก์ก็ตาม หรือจะเป็นป็อปก็ตาม ผมจะดึง element (องค์ประกอบ) เหล่านั้นเข้ามาใส่โดยธรรมชาติเลยครับ เหมือนถ้าเราชอบสิ่งนี้จริง ๆ ผมอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเป็นรูปลักษณ์ยังไง แก่นรากของมันลึกแค่ไหน ผมเลือกจากความชอบเป็นหลักเลย

มันมีผสมเยอะมาก อย่างเช่นพวกอิเล็กทรอนิกส์มิวสิก พวก EDM หรือว่าจะเป็นแทรป หรือว่าจะเป็นป็อป-พังก์ อีโม มันถูกผสมเข้ามาเยอะมากในระหว่างทาง

The People: ชอบอะไรในดนตรีพังก์

เซน: มันมีความง่ายด้วยนะ ความเข้าใจง่ายด้วย

ฮาย: ใช่ อย่างเช่นพังก์ 3 คอร์ด 4 คอร์ดอะไรอย่างนี้ครับ ผมรู้สึกว่าโห เล่นคอร์ดน้อยขนาดนี้ แต่ว่าสื่อสารได้ขนาดนี้เลยเหรอ หรือว่าความที่ซาวด์มันให้ความซน ความรู้สึกเหมือนกับมันเข้ากับคาแรกเตอร์เรา เรามีความซน ๆ แบบวัยรุ่น แบบว่ามีความคิดนอกกรอบเล็ก ๆ ก็ไม่ได้ถึงกับขบถขนาดนั้น อะไรอย่างนี้ครับ ผมรู้สึกว่าพังก์มันตีความได้หลายแบบ

The People: นักดนตรีป็อป-พังก์ต้องขบถและนอกกรอบไหม?

ฮาย: ผมว่าตัวผมเองเป็นคนนอกกรอบ แต่พอเราหยิบยกเรื่องพวกนี้มาพูด มันจะอยู่ในกรอบ ผมก็เลยรู้สึกว่าเรื่องนอกกรอบของผม มันคงเป็นเรื่องที่ถ้าเราพูดซ้ำบ่อย ผมรู้สึกว่ามันจะเป็นวาทะ (วาทกรรม)

ผมรู้สึกว่าการนำมาพูดบ่อย ๆ มันก็เป็นเหมือนวาทะอะไรสักอย่างหนึ่งที่เราเหมือนกับพูดต่อ ๆ กัน พูดให้รู้สึกว่าเฮ้ย ไอ้คนนี้มันนอกกรอบดีว่ะ แต่จริง ๆ แล้วผมรู้สึกว่าผมเป็นคนนอกกรอบประมาณหนึ่ง

ถ้าจะให้เล่านิดหนึ่งก็คือผมรู้สึกว่าผมเลือกเส้นทางชีวิต โดยไม่ได้ทำตามกรอบของสังคมมากนะครับ รู้สึกว่าเจอสิ่งที่ชอบแล้วก็ทำเลย แล้วก็ไม่ได้ต้องยึดโยงว่า กรอบของสังคมเป็นแบบนี้ เราต้องทำตามในแบบคนส่วนมาก

แต่สุดท้ายแล้ว ต่อให้เราเป็นคนส่วนน้อย เราก็ยังเป็นส่วนที่เหมือนกับคนอื่นอยู่ดี มันก็เลยรู้สึกว่ามันนอกกรอบขนาดนั้นไหม ก็ไม่ ผมก็เลยรู้สึกว่าทิ้งมันไว้ด้านหลังดีกว่า แล้วก็สนุกกับเพลง

เซน: จริง ๆ ไม่ค่อยได้เอามายึดติดกับการใช้ชีวิตมากขนาดนั้นครับ แต่ว่าถ้าพูดถึงในรูปแบบของวง รู้สึกว่า วงค่อนข้างอยากใช้วิธีคิดแบบใหม่ ๆ ที่ไม่ยึดติดกับความเป็นร็อกแบบเดิมด้วยครับ อันนี้ถ้าพูดถึงในแง่ของวงน่าจะตรงจุดที่สุด ก็เลยคิดว่าอาจจะมีบาง ๆ ที่ทำให้โยงกับความนอกกรอบได้

ฮาย: แต่สุดท้ายนอกกรอบมันก็…

เซน: มันคือก็แค่ขบถ...

ฮาย: มันไม่ได้ใหม่ขนาดนั้น 

เซน: มันก็แค่เป็นวิธีคิดของเราในแบบในยุคนี้

ฮาย: ใช่ คือต้องบอกอย่างนี้ก่อนนะครับว่า หลาย ๆ คนเวลาเราพูดถึงเพลงร็อก คนก็จะคิดถึงแค่เฉพาะกีตาร์เสียงแตก structure (โครงสร้าง) แบบเดิม ๆ แต่ Paper Planes รู้สึกว่าร็อกมันเป็นเรื่องของ energy (พลังงาน) มากกว่า

...ถ้าเราว่ากันด้วย energy ต่อให้เราทำเพลงแบบอิเล็กทรอนิกส์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีกลองสด ไม่มีกีตาร์เสียงแตกเลย แต่ว่าถ้าเราทำ energy ออกมาได้ร็อก มันก็ค่อนข้างใหม่ครับ ผมเลยรู้สึกว่าถ้าจะพูดถึงเรื่องนอกกรอบ คงใช้อันนี้ยึดโยงได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้สำคัญอะไรขนาดนั้นสำหรับพวกเรา

เซน: หรือแม้แต่การที่วงมีสมาชิกแค่ 3 คนในตอนนั้น หรือแค่ 2 คนตอนนี้ อย่างบางคนจะรู้สึกว่าวงร็อกมัน…

ฮาย: ต้องมีสมาชิกเยอะ ๆ หน่อย

เซน: เพื่อความแข็งแรงหรืออะไร แต่ผมรู้สึกว่าตอนนี้ภาพของวงในปัจจุบันไม่ใช่แค่วงร็อก แต่คือความเป็นวงตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้วครับ อาจจะแค่ 2 คนหรือ 1 คน ยังสามารถใช้คำว่าวงได้ มันคือวิธีคิดแบบใหม่ที่รู้สึกว่า…

ฮาย: ใช่ ไม่ได้ยึดโยงอะไรมาก

เซน: อาจจะนอกกรอบหรือเปล่า (หัวเราะ)

วง Paper Planes

The People: มองว่าพังก์ยังไม่ตายไหม หรือมองคำนี้ที่เป็นวลีติดหูมายาวนานอย่างไร?

ฮาย: คำว่าพังก์ยังไม่ตายเหรอครับ ผมว่าสุดท้าย ไม่ว่าประโยคอะไรก็ตาม มันอยู่ที่คนตีความนะ หรือว่าแบบว่าร็อกยังไม่ตาย Rockstar อะไรอย่างนี้ ผมรู้สึกว่าคำพวกนี้มันก็เป็นคำ… ผมยังไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนพูดคนแรกด้วยซ้ำ แล้วเขามีนัยยังไง ต้องการสื่อ context อะไร

ถ้าเกิดว่ากันด้วยเหมือนกับว่าถ้าเราอ่านมา แล้วเขาคิดอย่างนี้ หรือว่าเขาต้องการสื่ออย่างนี้จริง ๆ แล้วมันเป็นแบบนั้นจริง ๆ หรือเปล่า เราก็ยังไม่รู้ แต่ว่าเราสามารถตอบได้ด้วยการเรียนรู้ เหมือนกับว่าเราตอบได้เพราะว่าเราอ่านมาแบบนี้ แต่ว่าสุดท้ายผมว่าอยู่ที่การตีความ 

แต่ว่าต้องบอกก่อนว่า ผมกับเซนเป็นคนไม่ค่อยยึดติดอะไรมาก อย่างที่บอก จากการเดินทางของวง หรือว่าจากวิธีคิด ผมรู้สึกว่าถ้าเราตีความ แล้วเราได้ประโยชน์มาจากมัน หรือว่าเราทำให้มันเกิดแรงกระเพื่อมอะไรสักอย่าง แล้วมัน make sense ที่เราจะหยิบยกมาพูด หรือว่าให้มันเกิดอะไรกับคนรุ่นหลัง หรือว่าคนรอบ ๆ มันก็โอเค

แต่ว่าสำหรับผม ผมไม่รู้ว่ามันจริง ๆ แล้วนัยมันคืออะไร แล้วมันสื่ออะไรได้บ้าง หมายความว่ามันจะมีประโยชน์อะไร นึกออกใช่ไหมครับ เพราะว่าในวันนี้ คือถ้าเกิดเราจะว่ากันด้วยแนวเพลง แน่นอนว่าถ้าเกิดสมมติว่าเจอคอร์ดแบบนี้ วิธีการเล่นแบบนี้ ...มันคือพังก์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถามว่าเราถูกไหม หรือว่าเราไม่ถูก มันไม่มีใครตัดสินได้ แต่ถ้าว่ากันด้วยทฤษฎี theory มันคือป็อปพังก์นี่แหละครับ

The People: คิดว่าเพลง ‘เสแสร้ง’ เปลี่ยนแปลงแวดวงร็อกในไทยยุคนี้ไหม

ฮาย: ถ้าส่วนตัวของผม ผมมองว่าคือเราไม่ได้ถือตัวว่าเราคือจุดเปลี่ยนหรือว่าอะไร แต่ผมมองว่ามันเปลี่ยนไหม ในแง่ของผลลัพธ์มันเปลี่ยนอยู่แล้ว เพราะว่ามันมีเพลง ๆ หนึ่งที่เป็นเพลงร็อกขึ้นมาอยู่ในชาร์ตของป็อปบ้าง อยู่ในเวทีของป็อป งานที่มันอยู่ใน mass platform ที่มันเป็นความแมสในตอนนี้ แค่มีเพลง ๆ หนึ่งที่เป็นร็อกขึ้นมา แล้วก็มาทำให้คนฟังมีตัวเลือกมากขึ้น แต่ถามว่ามันรันวงการไหม…

เซน: มันยังไม่ถึงจุดประกายที่ทำให้แบบเป็นปีทองของร็อกในตอนนี้ แค่รู้สึกว่าเป็นสีหนึ่ง เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้คนได้เห็นว่าเฮ้ย มันมีแบบนี้อยู่ด้วยนะ วงแบบนี้ สไตล์แบบนี้ มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้ต่อยอดไปได้มากขึ้นในต่อจากนี้

The People: สำเนียงการร้องในเพลง ‘เสแสร้ง’ ฟังแล้วแตกต่างจากพังก์ร็อกแบบเดิม ๆ แนวคิดหรือวิธีการออกแบบเสียงร้องเพลงนี้เป็นอย่างไร

ฮาย: สำเนียงตรงนี้มันมาจากผมใส่ Invisalign (จัดฟัน) ครับ แล้วมันร้องไม่ชัดแค่นั้นเลย (หัวเราะ)

เซน: ไม่ได้ตั้งใจให้แบบว่า เป็นเรียก attention (ความสนใจ) คนหรืออะไร

ฮาย: ใช่ แต่ว่าโดยปกติแล้ว วิธีการร้องมันคือเราไม่ได้ดีไซน์ขนาดนั้น เราก็แค่ร้องไปในแบบที่เราชิน มันเกิดจากผมจัดฟันใส แล้วคือผมก็ยังไม่ชินเวลาที่ถอดใส่ ๆ อะไรอย่างนี้ มันก็จะมีสำเนียงแบบนั้น แล้วก็เราฟัง…

เซน: ธรรมชาติเป็นแบบนั้น ตามเพลงที่เราฟัง ตามอะไรอย่างนี้

ฮาย: ใช่ มัน influence (ได้รับอิทธิพล) จากวงต่างประเทศด้วย บางคำมันรู้สึกว่า การร้องให้มันมี sibilance เยอะกว่าปกติในคำไทย มันจะให้ความ attack มากกว่า แต่ถามว่าสิ่งนี้มันเกิดขึ้นจากเรามา analyze (วิเคราะห์) มันแล้วนะครับ แต่ว่าในวันที่อัดมันคือธรรมชาติจริง ๆ

The People: เพราะดัดฟัน?

ฮาย: ใช่ครับ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น (หัวเราะ)

เซน: ก็อย่างคำว่าเสแสร้ง มันมาจากคำที่เราอัดไปเป็นไกด์เดโมด้วยครับ แล้วมันชินปากด้วย ก็เลยเป็นเซ่… อะไรอย่างนี้

ฮาย: อ๋อ ใช่ ๆ เดโมมันคือ(ร้อง) เซเด่เซเด่ เซ่ ๆๆ เซ่เดเซ่เด่เซ้ (ทำเสียงฮัมเพลง) แค่นี้เลยครับ พอมันเป็นเนื้อไทย มันก็เลยติดคำนั้นมา

The People: ฟังแล้วบางคนบอกเหมือนมีกลิ่นอาย K-pop ผสมกับสไตล์ดนตรีแบบตะวันตก

ฮาย: ก็เป็นไปได้ เพราะจริง ๆ งานในปีนี้ของผมคือ K-pop 100 เปอร์เซ็นต์เลยครับ T-pop อะไรอย่างนี้ครับ แล้วก็พวกเราฟัง K-pop กันอยู่แล้ว

The People: เพลงเสแสร้ง กลายเป็นไวรัลไปเลย คิดว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เพลงสำเร็จ?

ฮาย: ผมว่า… ถ้าเกิดพูดเรื่องความสำเร็จก่อน ผมมองว่าเราไม่ได้มองจุดนั้นเลยในวันที่เราทำเพลงนี้ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติอย่างที่บอก หลาย ๆ อย่าง คนมานั่งวิเคราะห์กันแล้วว่า พวกเราต้องคิดเยอะแน่เลย พวกเราต้องอะไรแน่เลย แต่เราบอกตรง ๆ เลยว่า เพลงนี้เราไม่ได้คิดอะไรเลยครับ

เซน: เราคิดเยอะกับสิ่งที่เราคิด เรื่องการทำงานคิดได้ แต่ว่าถ้าคิดให้มันสำเร็จอย่างนี้ เรารู้สึกว่าสูตรสำเร็จไม่มี มันคิดไม่ได้ ก็เลยปล่อย

ฮาย: ใช่ ก็เลยกลายเป็นว่า เพลงนี้คือไม่มีสูตรสำเร็จเลยครับ แค่ทำตามเซนส์เลย เหมือนเรารู้สึกว่า เพลงนี้มันคือต้องทำให้ชัดที่สุด คือเรามองแค่ในไทยก่อน เพราะว่า audience (คนฟัง) ของเราคือคนไทย ผมมองแค่ว่าจะทำยังไงให้ Paper Planes แตกต่างจากวงที่เป็นอยู่ตอนนี้ ศิลปินที่เป็นอยู่ตอนนี้มากที่สุด แล้วก็เป็นสิ่งที่เราชอบมากที่สุด 

หยิบสิ่งที่เราชอบมารวมกัน หยิบอีโมแทรป ป็อปพังก์ แทรป แต่ว่าเอามาเล่าแบบใหม่ แค่นั้นเลยครับ คือถ้าจะมองว่าฉาบฉวยได้ไหม มองว่าฉาบฉวยได้ คือผมรู้สึกว่าไม่ได้หยิบแก่นมาก็ยังได้ เพราะผมรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์เลย

The People: กังวลไหมว่าแนวพังก์ร็อกจะไปต่อยาก

ฮาย: อ๋อ ตอนแรกไม่ได้คิดเลยครับ อย่างที่บอก พวกผมคือคนเบื้องหลัง วิธีการมันไม่ไม่ได้มีวิธีการตายตัว วิธีการทำเพลงป๊อปมันคืออีกแบบหนึ่ง

เซน: เหมือนเรารู้อยู่แล้วครับว่า ถ้าเราเลือก…

ฮาย: เลือกที่จะทำเพลงร็อก 

เซน: มันก็จะเป็นแบบนี้อยู่แล้ว เลยไม่ค่อยรู้สึกว่ากังวล

ฮาย: ผมรู้สึกว่าร็อกมันมีข้อจำกัดของมันอยู่ แต่มันก็มีเสน่ห์ของมัน จริง ๆ แล้ว ช่วงหลัง ๆ ผมมองว่าสูตรสำเร็จมันไม่ได้มีเนอะ มันเลยรู้สึกว่าการทำให้เรามีคาแรกเตอร์มากที่สุด บางทีมันอาจจะเป็นผลดีในระยะยาวมากกว่า เพราะว่าคนฟัง ผมยอมรับนะว่าคนฟังในยุคนี้ฟังเพลงกว้างขึ้น แล้วก็ลึกขึ้นมากกว่ายุคเก่า แล้วก็มีความเป็นตัวตนค่อนข้างมาก ก็เลยรู้สึกว่าวงที่มีคาแรกเตอร์น่าจะอยู่ได้มากกว่า

The People: เพลงเสแสร้งเข้ามาเปลี่ยนชีวิตอย่างไรบ้าง

เซน: การใช้ชีวิต ถ้าในแง่ของการที่เพลงมันถึงคนมากขึ้น เพลงมันดังขึ้น ก็มีเปลี่ยนเรื่องการใช้ชีวิตเหมือนกัน

ฮาย: การบาลานซ์ระหว่างงานเบื้องหลังกับงานเบื้องหน้า Paper Planes ถือว่าเป็นงานเบื้องหน้า แล้วก็เหมือนผมต้อง pause งานเบื้องหลัง แล้วก็มาร่วมทัวร์กับวงมากขึ้น ถ้าส่วนตัวของผม

เซน: พอเพลงมันมา งานก็ตามมาด้วย 

The People: เข้าไปมีบทบาททำงาน K-pop / T-pop อย่างไรบ้าง

ฮาย: เป็น Producer เป็น Arranger แล้วก็เป็น Mixing engineer อะไรอย่างนี้ครับ หลัก ๆ ก็จะเป็น Producer ก็จะทำด้วยกัน ทำให้ค่ายอื่น ๆ

The People: ยกตัวอย่างศิลปินที่ทำให้

ฮาย: PiXXiE, bamm, VENITA

The People: บาลานซ์บทบาทงานเบื้องหน้ากับงานเบื้องหลังที่มีความแตกต่างสุดขั้วอย่างไร 

ฮาย: ผมรู้สึกว่าผมปล่อยเลย (หัวเราะ) อย่างที่บอก ผมไม่ค่อยยึดติด ยึดโยงกับอะไรมาก รู้สึกว่าคนมีความเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะว่ามันมีความซับซ้อนยิ่งกว่านั้นอีก คือผมอยู่ 2 ค่าย

ใน GRAMMY ก็คือในบทบาทหนึ่งเป็น Paper Planes อีกบทบาทหนึ่งเป็น HYE ก็คือผมอยู่ที่ Genie Records แล้วก็ Gene Lab แล้วผมก็ยังทำเบื้องหลังอีก

คือผมรู้สึกว่า คนเราก็ทำหลายอย่างก็ได้ ไม่ได้หมายความว่าเก่ง แต่ว่าก็มีความชอบหลายแบบ แล้วพอมันโยงมาในความเป็น Paper Planes ผมก็เลยรู้สึกว่าเราชอบอะไร เราก็แค่หยิบจับสิ่งนั้นใส่ เราไม่เห็นต้องแบบว่า deep กับมันมากขนาดนั้น เพราะผมเป็นคน deep นะ จริง ๆ แล้วผมก็รู้สึกว่าโดยปกติแล้วจะทำอะไรก็คือ deep กับมันมาก ๆ แต่ผมรู้สึกว่าการเอาเรื่อง deep ออกมาคุย มันก็ตื้นอยู่ดี

คุยกับ ‘Paper Planes’ ขวัญใจวัยรุ่นฟันน้ำนม ทำเพลง ‘เสแสร้ง-ทรงอย่างแบด’ ฮิตถึงวัยอนุบาล

The People: เกิดอะไรขึ้นกับมือกีตาร์ของ Paper Planes หลังเพลงเสแสร้ง ดังขึ้นเรื่อย ๆ 

ฮาย: ไม่มีอะไรเลยเนอะ

เซน: เหมือนว่าพอมันเป็นช่วงที่วงงานเยอะขึ้น แล้วการใช้เวลากับวงมันจะต้องเยอะขึ้น ทั้งการทัวร์ ทั้งการทำเพลงปิดอัลบั้มตัวเองต่าง ๆ นานา 

ฮาย: หน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบมันเยอะขึ้น

เซน: ใช่ แล้วเราแบบมันไม่เหมือนก่อนหน้าที่เพลงจะดัง ก่อนเพลงจะดัง พอเพลงมันดังปุ๊บ ความรับผิดชอบมันเยอะขึ้น

ฮาย: ในแง่ของการทำเพลง การออกไปทัวร์ การทำเพลงใหม่ ทำอัลบั้ม

เซน: มันมีหน้าที่รับผิดชอบจุกจิกแบบเยอะมาก แล้วรู้สึกว่า หยกขาดเวลากับการใช้กับครอบครัวไป

ฮาย: เวลาไม่พอ

เซน: ก็เลยเลือกที่จะ pause จุดนี้ เพราะว่าหยกให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นอันดับต้น ๆ กว่า

ฮาย: ใช่ ก็เลยเห็นพ้องต้องกัน หยกก็เลยเหมือนกับว่าขอออก ขอพักดีกว่า เป็นฟีลประมาณขอออกแหละมั้ง

เซน: เพราะว่ามันมีเรื่องไปดูแลธุรกิจด้วย ซึ่งใช้เวลาเยอะ

The People: การลาออกของสมาชิกกระทบต่อวงมากไหม 

ฮาย: ผมว่าลองแยกออกมาสักแง่สองแง่เนอะ ถ้าในแง่ของภาพ ผมว่าน่าจะมีผลนะครับ เพราะว่าน้ำหนักมันเคย…มันเหมือนเป็นภาพจำว่า มันจะต้องมีหยกด้วย หรือแม้กระทั่งสมาชิกเก่า ๆ ก็ตามนะครับ แจ๊สอะไรอย่างนี้ เขาเองก็มีแฟนของเขา นอกจากจะเป็นแฟนเบสของวง ก็จะมีแฟนของส่วนตัวอะไรอย่างนี้ ผมว่ามันมีน้ำหนักหมดเลย แต่ว่าคราวนี้พอแยกมาในแง่ที่สอง ในแง่ของการทำงานรู้สึกว่าไม่ค่อย

เซน: สำหรับวง สำหรับพวกเรานะไม่ค่อย ไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่

ฮาย: ไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่ เพราะว่าด้วยวิธีการทำงานที่มันเป็นลักษณะมีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ก็เลยไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่ครับ

The People: การเข้ามาร่วมแจมของแป๊บ Sweet Mullet จะช่วยเติมเต็มวง Paper Planes อย่างไร

ฮาย: จริง ๆ เราคิดเรื่องภาพการทัวร์เหมือนกันนะครับ การ perform ตอนเล่นสดอะไรอย่างนี้ครับ เรารู้สึกว่าภาพของโชว์มันเป็นภาพที่สำคัญเนอะ perform บรรยากาศ เคมีของคนที่จะมาเล่น รู้สึกว่ามันสำคัญมาก ต่อให้เขาจะเข้ามาแค่ชั่วคราวก็ตาม ตลอด 1 เดือน 2 เดือนอะไรอย่างนี้ครับ ก็เลยหาคนที่จะเข้ามา เอาในแง่ของการเล่นสดก่อนนะครับ ก็หากันสักพักหนึ่ง แต่ก็รู้สึกว่าเออ คนใกล้ตัวคงจะดีกว่า เพราะว่ารู้ใจกันอยู่แล้ว

เซน: ก็สนิทกันมาด้วยตั้งนานแล้ว

ฮาย: ใช่ สนิทกันอยู่แล้ว ก็เลยจังหวะพอดี แบบพี่แป๊บยังว่าง ๆ อยู่ ก็เลยเหมือนแค่พี่แป๊บมาเล่นให้หน่อยพี่อะไรอย่างนี้ มัน simple มาก ๆ เพราะเรารู้จักกันอยู่แล้ว สนิทกันอยู่แล้ว ก็เลยแบบว่าเออได้ดิ ช่วงนี้ยังไม่ได้ยุ่งอะไร ก็เลยกลายเป็นว่าพี่แป๊บก็มาช่วยเล่น แล้วคือเรื่องวิธีการเล่น หรือว่าเรื่อง perform อะไรอย่างนี้ คือพี่แป๊บก็ไว้ใจได้อยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าคนที่ชอบในแนวดนตรีคล้าย ๆ กัน แล้วก็เคมีคล้าย ๆ กันมาช่วยเล่น ก็ไม่มีผลเสียอะไรเลย มีแต่ผลดี ก็เลยเป็นพี่แป๊บตลอดเลยครับ ตอนนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วก็คิดว่าถ้าวันหนึ่งพี่แป๊บจะต้องทัวร์ของ Sweet Mullet เอง ก็จะเคลียร์ตารางกัน อาจจะหาคนมาแทนพี่แป๊บชั่วคราว

 ฮาย - ธันวา เกตุสุวรรณ วง Paper Planes

The People: คิดว่าทำงานดนตรีเป็นอาชีพเดียวได้ไหม 

เซน: ถ้าใช้คำว่าอาชีพหลักกับดนตรี มันก็จริงนะ มันก็ไม่พอ แต่ว่าด้วยความที่อาชีพหลักของฮายกับผม มันก็เกี่ยวข้องกับดนตรีอยู่แล้วด้วยครับ

ฮาย: ใช่ แต่ว่าคือในวันที่ ‘เสแสร้ง’ มันกลายเป็น 1 เพลงฮิต เอาในส่วนตัวของผมก่อนนะ เหมือนกับว่า ผมยังคงได้เงินใกล้ ๆ เคียงเดิม แค่วิถีชีวิตเปลี่ยน เพราะว่าเหมือนแค่ผมเปลี่ยนจากงานเบื้องหลังบางส่วน มาเป็นงานเบื้องหน้า ก็เลยรู้สึกว่าใช้คำว่าอยู่กับดนตรีเหมือนเดิมไหม ก็ยังอยู่กับดนตรีเหมือนเดิม แต่ว่าแค่มันสัดส่วนเบื้องหน้ามากขึ้น งานหลัก ๆ ก็ยังจะมาจากทางเบื้องหลังอยู่ดี

The People: ความดังของเพลงเสแสร้ง จะช่วยให้เพลงร็อกกลับมาหรือเปล่า 

ฮาย: คือผมไม่รู้ว่าร็อกจะกลับมาไหม (หัวเราะ)

เซน: ผมรู้สึกว่าในระยะสั้น มันมีความเฮโลอยู่ครับ แต่ระยะยาวมันบอกไม่ได้

ฮาย: มันตอบไม่ได้ว่า… มันอย่างที่ผมบอก เราต้องทำอะไรร่วมกันสักอย่างหนึ่ง แบบให้มันรู้สึกว่าเออ มันคือซีนของร็อก คือเราไม่ต้องตั้งตัวก็ได้ครับว่าเราคือชาวร็อกเว้ย แบบว่าเราจะไล่แนวอื่นหรืออะไร ผมว่าถ้าคนชอบมันก็ชอบ แต่ว่าแค่เราต้องทำอะไรร่วมกันให้มันดูเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น อย่างเช่นคอนเสิร์ตร็อก เราก็จะเห็นคนที่ชอบฟังเพลงร็อก มันก็จะเกิดการเคลื่อนไหว การเคลื่อนที่อะไรอย่างนี้

ผมว่ามันแค่ต้องทำอะไรร่วมกันครับ ตอนนี้ด้วยวิถีของชาวร็อกไม่ค่อยได้ทำอะไรร่วมกัน มันไม่ได้มีการ collab ไม่ได้มีอะไรเหมือนเพื่อน ๆ ผมที่เป็นพวกแรปเปอร์  เขาก็จะทำอะไรของเขาอยู่ตลอดเวลา ไปทำนั่นทำนี่โปรเจกต์ collab กันแบบแทบจะแบบคนนี้มา collab กัน 5 รอบแล้วมั้งเพลงนี้ มันเหมือนมีความเป็น unity มากกว่า ผมก็เลยรู้สึกว่าเราอยากรันไหม มันก็ไม่ขนาดนั้น มันก็แค่รู้สึกว่าเราก็ทำในสิ่งที่เราชอบอยู่แล้ว แล้วถ้ามีเพื่อน ๆ อยากทำด้วย เราก็ทำ ก็ถ้ามันทำกันเยอะสนุกเราก็ทำ

เซน: แต่ผมแอบเห็นคนร็อกหลาย ๆ คนครับช่วงนี้ ที่เป็นเจนฯเดียวกับพวกผม เริ่มมีความคิดคล้าย ๆ กันกับพวกผม แล้วก็ผมเห็นทิศทางที่มันโอเคในหลังจากนี้อยู่ ก็เลยคิดว่าเหมือนแบบมีทางที่มันจะโอเคกว่านี้ได้ในตอนนี้

The People: ไอเดียของเพลง ‘ทรงอย่างแบด’ ต้องการสื่อสารอะไร

ฮาย: ไอเดียเนื้อหา มันเกิดจากเพื่อนผมไปกินเหล้าแล้วก็โพสต์สตอรี่ นั่นคือเกิดเป็นเรื่องแบบง่าย ๆ เลย แล้วผมรู้สึกว่าทำไมคำนี้เด้งจัง รู้สึกว่ามันเป็นคำเหมือนคำผวนอะ ผมชอบคำผวน เราก็รู้สึกว่าเออ คำนี้มันโดดเด้งเข้ามา แล้วมันเฮ้ย มันได้ฟีลแบบว่าตลกอะ แล้วมันดูไม่จริงจังดี

ผมก็เลยรู้สึกว่า Paper Planes อยากทำเพลงแบบนี้ที่เพลงร็อกมันเขียนไม่ค่อยได้ครับ เพลงร็อกส่วนใหญ่มัน deep มันจะต้อง emotion มันจะต้องจริงจัง มันจะต้องเป็นผู้นำทางด้านความคิดอะไรอย่างนี้ ต้องมีความแบบแบกอะไรไว้สักอย่างหนึ่ง ผมเลยรู้สึกว่าเพลงนี้เราจะไม่แบก เราจะทำอะไรที่ไม่แบกเลย ผมก็เลยเอาคำนี้มา 

ซึ่งปกติผมก็ไม่ค่อยอยากใช้พวกคำคมคล้องจองอะไร แต่ผมรู้สึกว่าผมอยากหักดิบตัวเอง ก็คือทำอะไรที่ไม่เคยทำ แล้วก็ไม่ได้คิดว่ามันจะสำเร็จไหมหรืออะไร แค่รู้สึกว่าถ้าสนุกเอาเลย แล้วมันเป็นความรู้สึกที่เราตามหาต่อจากเพลงเสแสร้งด้วยครับ เรารู้สึกว่าเราไม่อยากทำเสแสร้งเพลงที่ 2 แต่เราอยากทำเพลงที่เราอินแบบเสแสร้งให้ได้ มันก็เลยเกิดเพลงนี้ แล้วเพลงนี้มันก็เกิดขึ้นแบบรวดเร็วครับ 

The People: เคยมีประสบการณ์ตรงไหมว่า จริง ๆ แล้วมีผู้หญิงที่ชอบแบดบอยเหมือนกัน

ฮาย: คือมันมีหลายช่วงอยู่ครับ แบบว่า…

เซน: เหมือนเรารู้สึกว่า เราจะมีช่วงที่คิดว่าผู้หญิงชอบคนแบด ๆ อะไรอย่างนี้ ภาพจำของคนก็จะมีความรู้สึกว่าคนแบนแม่งต้องแบบสาวเยอะ ต้องไม่ผิดหวังในความรักแน่เลย แต่เราก็มาพูดในอีกแง่ว่า คนทรงแบดที่คิดว่าเขาเจ้าชู้หรือสาวเยอะ จริง ๆ เขาแซดทุกรอบ เขาผิดหวัง

ฮาย: จริง ๆ แล้วมันจะเป็นคนที่ผิดหวังก็ได้ แล้วก็เรื่องลุคของพวกผมอีก หรือของผมคนเดียว (หัวเราะ) คือผมรู้สึกว่าคนชอบรู้สึกว่าผมค่อนข้างน่าจะแข็งกระด้างอะไรอย่างนี้ แต่พอรู้จักจริง ๆ ก็ไม่ได้มีอะไรเลย ก็ทั่วไปปัญญาอ่อนอะไรอย่างนี้ ผมเลยรู้สึกว่า…

เซน: อันนี้ถือว่าเป็นประสบการณ์ตรงได้

ฮาย: อันนี้เป็นประสบการณ์ตรงได้ ก็ผมชอบถามว่าคนรู้สึกไง รู้สึกว่าน่าจะดุแน่เลย แต่ว่าจริง ๆ ผมเป็นคนแบบชิลล์มาก ก็เลยเพลงนี้น่าจะสื่อได้ดี แล้วพอมัน relate กับเรา แล้วก็เล่าเรื่องในแบบที่คนอื่นไม่ค่อยเล่าได้ มันก็เลยสนุกครับ แล้วผมรู้สึกว่าดนตรี…

เซน: ไปบวกกับแนวดนตรีแบบนั้นด้วย

ฮาย: แนวดนตรีแบบป็อป-พังก์มันเสิร์ฟตรงนี้ได้ ก็เลยแค่คิดว่าเราก็ฟังพังก์มาอยู่แล้ว ก็ใส่เลยแล้วก็นำมาเล่าในแบบใหม่ ก็คือใส่ความเป็นแทรป เพราะว่าเราอินกับแนวแทรปกันเนอะ บีทมันซ้ำมากครับ บีทมันอยู่จังหวะเดิมตลอด แต่ว่าเราก็ฟังทุกครั้งก็ยังให้ความรู้สึกดีทุกครั้ง

เซน นครินทร์ มือเบส วง Paper Planes

The People: แวดวงร็อกมียุคหนึ่งที่มีคติหรือค่านิยมว่า เล่นดนตรีให้หนัก ๆ ถึงจะดูเป็น ‘ของจริง’ เคยมีคนมองว่า Paper Planes เป็นร็อกแบบซอฟต์ ๆ ไหม

ฮาย: ผมไม่รู้ว่ามันได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้ (หัวเราะ) เพราะว่าสุดท้ายมันก็คือสิ่งที่เราทำ แล้วมันก็แค่เขาก็ไม่ชอบ คือมันไม่ใช่เรื่องของความถูกผิดไงครับ มันเป็นเรื่องของรสนิยม แล้วก็การที่จะมาบอกว่าเฮ้ย แบบนี้ติดหล่อ มันก็กลายเป็นว่าอ้าว เหยียดคนหล่อเหรอ (หัวเราะ) แต่พอพูดแบบนี้ก็ไอ้เชี่ย หมั่นไส้กูอีก แต่หมายความว่าแนวดนตรีนะ ไม่ได้หมายถึงคนหล่อ ๆ หมายความว่าสมมติว่ามันเป็นติดหล่อจริง ๆ แล้วมันยังไงต่อ

คือมันเหมือนกับว่ามัน discuss (พูดคุย) กันไม่ได้เรื่องพวกนี้ แล้วมันก็เลยเป็นเรื่องของความชอบส่วนบุคคล หรือว่าความฉาบฉวย ผมมองว่าฉาบฉวยในแบบไหน แล้วเราต้องแบบไหนถึงไม่ฉาบฉวย ต้องมากขนาดไหน สุดท้ายแล้วบาร์มันไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน 

เซน: ถ้าความชอบของเรามันอยู่แค่นี้ เราจะไปทำให้มันสุดมันก็… มันก็ไม่ใช่ความสุขอีก

ฮาย: ผมเป็นคนที่ไม่ซีเรียสกับคนที่ใส่เสื้อวงแล้วไม่รู้จักผมนะ ผมเป็นคนประมาณนั้น แม้ผมจะเป็นคนที่ต้องใส่วงที่ผมรู้จักเท่านั้นนะ แต่ผมเป็นคนที่ไม่ซีเรียสกับคนที่ไม่รู้จักแล้วใส่ มันคือแบบนั้นนะ

The People: ไอเดียสารตั้งต้นของเพลงเสแสร้ง 

ฮาย: เพลงเสแสร้งมันธรรมชาติมาก ๆ เหมือนทรงอย่างแบดเลย

เซน: คอนเซปต์ไม่ได้วางครับ มันมาจากเนื้อที่ไกด์ที่เคยบอกไว้เซ่ ๆๆ แล้วพอฮาย ไปเขียนเนื้อปุ๊บ ตอนผมทำต่อ นั่งทำไป ฮายก็ไปเขียนเนื้อ เขียนเนื้อปุ๊บ มันก็มาจากเซ่ ๆ 

ฮาย: คำว่าเซ่ เวลาที่เราอัดร้องเดโมครับ มันก็จะใส่เมโลดี้ไปก่อนใช่ไหม คือเสแสร้งเริ่มจากทำดนตรีก่อน เราอยากทำให้แบบดูอีโมแทรป แบบว่ากีตาร์อีโมสมัยเก่า แต่ว่าเอามาใส่บีทแทรปอะไรอย่างนี้

แล้วก็ทำดนตรีเสร็จประมาณครึ่งเพลง มีฮุกมีอะไรแล้ว แล้วก็ถึงเวลาใส่เมโลดี้ แล้วผมก็ร้อง “เซ่เดเซ่เดเซ่ เซ่ ๆ เซเด่เซเซ้” (ทำเสียงฮัมเพลง) แค่นั้นเลย แล้วผมก็บอกเฮ้ย เดี๋ยวเอาไปเขียนเนื้อก่อน

แล้วมันกลับมาพร้อมคำว่าเสแสร้ง คือปกติผมก็จะวางคอนเซปต์ก่อนไงครับ แต่อันนี้เพราะว่าผมดันไปพูดคำว่าเซ่ มันก็เลยกลายเป็นเสแสร้ง มันก็เลยตามนั้นเลยครับ แล้วพออัดฮุกเสร็จ ทุกคนก็แบบโอเค คือจบเลย แล้วผมเอาไปเขียน verse เขียนอะไรต่อ แค่คิดแค่นั้นเลยครับ

ฮาย: แล้วหลังจากทำเพลงนั้นเสร็จ ผมก็รู้สึกอินเพลงนั้นมาตลอด เพราะว่าผมรู้สึกว่ามันเท่ ความแบบความไม่ได้อะไรของเรา คุยกับเพื่อนว่าโอ๊ย เพลงมันเท่ว่ะ แบบอยากปล่อยเพลงนี้ว่ะ อยากปล่อยแค่นั้นเลยครับ...

เซน: เหมือนแบบว่าด้วยไอเดียของอัลบั้มนี้ครับ มันคืออีโมแทรป แล้วในไทยพอนึกถึงแนวนี้มันก็นึกถึง MOON  คิดถึงผลงานของ MOON ด้วย ก็เลยอยากเอาที่มันตรงสาย มาทำงานร่วมกันไปเลย

ฮาย: ใช่ ไม่มีอะไรมากครับ ก็ทักไปหา MOON ใน Facebook แล้ว MOON ก็โอเค เกิดจากความง่าย ๆ เลยครับ ยังไม่รู้จักกันนะ

The Peole: พอฟังเสียงตัวเองที่ร้องตอนดัดฟันแล้วรู้สึกโอเคกับมันไหม

ฮาย: ต้องถามก่อนว่า คนรู้สึกจากท่อนไหนมากกว่า ส่วนใหญ่คนจะรู้สึกจากไอ้ตรง ‘ที่เธอทำแค่’ อย่างนี้เปล่าครับ มันเป็น ‘ซีเซอทำ’ ตอนนั้นต้องบอกก่อนว่ามันคล้าย ๆ การแต่งตัวครับ

เวลาผมออกมาจากบ้าน ผมก็คิดว่าผมเท่นะ แต่คือคนอื่นจะมองว่ามันแปลกอะ มันก็ไม่รู้เหมือนกัน ณ ตอนนั้นเราคิดว่ามันเท่ (หัวเราะ) แล้วมันก็แค่นั้นเลย ผมก็รู้สึกว่ามันเท่ แล้วเราชอบแล้ว แต่ว่าวันหนึ่งผมใส่ต่างหูอันนี้ออกมา ยายผมเองก็จะบอกไปเอาอะไรมาใส่ อะไรอย่างนี้

ผมก็เลยไม่รู้จะตอบยังไง ผมก็เลยรู้สึกแค่ว่าถ้ามันไม่ใช่เรื่องของความถูกผิด แต่มันเป็นเรื่องของรสนิยม ผมว่าจบแล้ว

แล้วก็สิ่งสำคัญที่ผมมา analyze (วิเคราะห์) ทีหลัง ผมรู้สึกว่าคนเราไม่ได้เข้าใจกันด้วยคำที่ชัดเจน แต่คนเราเข้าใจกันด้วย context (บริบท) โดยรวม ต่อให้ผมพูดไม่ชัดมากกว่านี้ก็ตาม คนก็เข้าใจในบางคำ ในบางบริบท อย่างเช่นแบบไม่เอาแล้ว สมมติว่าเซน ถามว่ากินข้าวหรือยัง ถ้าจะเอาให้ถูกต้องคือกินแล้ว ผมบอกไม่ไหวละ มันไม่ได้เกี่ยวกันเลยครับ แต่ context มันคือเข้าใจได้เลยว่าไม่เอาแล้ว และกินมาเต็มแล้ว แค่คำว่าไม่ไหวละ มันคือสื่อได้สองความหมายเลย ผมเลยรู้สึกว่าความชัดเจนไม่จำเป็น แต่อยู่ที่ว่าเราสื่อสารกับคนยังไงมากกว่า

The People: ขยายความนิดหนึ่งว่า การใส่ที่ดัดฟันส่งผลตอนอัดเพลงอย่างไร

ฮาย: ไม่รู้ว่านึกภาพ Invisalign ออกไหม Invisalign มันคือการจัดฟันใส มันไม่ได้ใส่ตลอดเวลาจนเราชินว่ามีพวกเครื่องมืออยู่ในปาก มันคือการใส่ แล้วเวลาเราทำอะไรสักอย่างคือเราก็ถอด เพราะฉะนั้น ความเคยชินมันจะน้อยกว่าการมีเหล็ก

การมีเหล็กมันก็ลำบากในการพูดในการอะไร แต่ว่า Invisalign มันคือใส่แล้วก็ถอด เราก็ไม่รู้ว่า accent เวลาเราพูดหรือว่าอะไรอย่างนี้มันจะเปลี่ยนไปตอนไหน เวลาใส่ก็อีกแบบหนึ่ง เวลาไม่ใส่ก็อีกแบบหนึ่ง

มันก็เลยเหมือนกับว่ามันโฟกัสไม่ถูกครับ วิธีการพูดมันก็เปลี่ยนไปตามรูปปากนึกออกใช่ไหมครับ มันก็เลยติดแบบซ.โซ่ ติด sibilance มากไป แล้วก็บวกกับที่เราฟังเพลงเนอะ ด้วยเมโลดี้ที่เราวางไปด้วยก็บวก ๆ กันไป

The People: เอาออกแล้วจะทำให้ร้องไม่เหมือนเดิมไหม

ฮาย: ใช่ จะร้องไม่เหมือนเดิมครับ ตอนใส่มันก็อีกแบบหนึ่ง ตอนถอดมันก็อีกแบบหนึ่ง

The People: ตอนนี้ใส่อยู่หรือเปล่า

ฮาย: ใส่ คืออย่างมาวันนี้ ผมก็ถอดเก็บไว้ แล้วเดี๋ยวพอไม่ได้ทำอะไรก็ต้องใส่เพื่อให้มันคงสภาพ

คุยกับ ‘Paper Planes’ ขวัญใจวัยรุ่นฟันน้ำนม ทำเพลง ‘เสแสร้ง-ทรงอย่างแบด’ ฮิตถึงวัยอนุบาล

The People: ส่งผลต่อการร้องเพลงในระยะยาวไหม ถ้าไม่ใส่ จะร้องไม่ได้อย่างที่อัดหรือเปล่า

ฮาย: อ๋อ ผมว่ามันต่างกันอยู่แล้ว แต่ว่ามันเป็นเสน่ห์นะผมว่า จริง ๆ แล้วมันไม่จำเป็นต้องเหมือน มันมีผลกับเรื่องรูปของปากมากกว่า แต่ว่ามันไม่ได้มีผลกับเรื่องของโทน เรื่องของเสียงหรือของอะไร

เซน: หรือสำเนียง สำเนียงไม่ค่อยเปลี่ยน

ฮาย: ผมว่าต่อให้เปลี่ยน คนก็ไม่ได้รู้สึก แล้วก็ต่อให้รู้สึก ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ดี

The People: คนมักวิจารณ์แนวป็อปพังก์ว่าจำเจ 

ฮาย: ใช่ ๆ ด้วยความมันเรียบง่ายครับ มันก็เลยมีความซ้ำจำเจกันเยอะ ผมว่านั่นแหละคือความยากที่จะทำยังไงให้ พอเป็นป็อปพังก์กันหมดแล้ว วงไหนจะโดดเด้งขึ้นมาจากอะไรบ้าง ปัจจัยมันก็มีเยอะ ถ้าเรามองมันด้วยทฤษฎี เสียงนักร้อง หรือว่าส่วนผสมในนั้นมันเป็นยังไง

เซน: แล้วก็สิ่งที่จะสื่อ ความหมายของเพลง

ฮาย: ผมเชื่อว่าวงในไทย ป็อปพังก์มีเจ๋ง ๆ เยอะ แต่ว่าแค่คนยังไม่ได้รู้จัก แล้วก็ต่อให้มันมีเยอะอีกกว่านี้สัก 100 วง ผมว่าก็มาดูกันในวันนั้นว่าใครจะโดดเด้ง ต่อให้มี 3 คอร์ดเหมือนกัน โน้ตยังมีแค่ 7 โน้ตเลยครับ เรายังสร้างสรรค์กันได้เลย ผมว่ายิ่งเป็นแนวเพลง ยิ่งมีปัจจัยเยอะขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของซาวด์ เรื่องของวิธีในการนำเสนอ ผมว่ามันแตกต่างกันได้แน่ ๆ

The People: อยากฝากอะไรถึงคนที่ติดตามและคนที่วิจารณ์

ฮาย: ผมว่าวิจารณ์ได้ครับ วิจารณ์ไปเลย อยู่ในพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ก็โอเคแล้ว

เซน: ขอให้มันมีเหตุผลก็โอเคแล้วครับ ได้ ไม่ว่าจะบวกจะลบ

ฮาย: ใช่ ผมไม่ซีเรียสเลยครับ ไม่ยึดติดกับอะไรเลย แค่สนุก สนุกแบบแบด ๆ ก็ได้ สนุกแบบดี ๆ ก็ได้ แล้วก็ผมอยากขอบคุณแฟนเพลง พอมาถึงช่วงนี้แล้วแบบว่าผมรู้สึกว่าแฟนเพลงสำคัญกับเรามาก ๆ จะมีมากมีน้อย จะอยู่มานานหรือจะเพิ่งเข้ามาสำคัญหมดเลยครับ

ผมรู้สึกว่าแฟนเพลงคือกลุ่มคนที่อุ้มเราไว้จริง ๆ นอกจากเรา เพราะเรารู้สึกว่าเราทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีอยู่แล้วครับ เราทำเพลงกันอยู่แล้ว เรารับผิดชอบหน้าที่ของเราได้อยู่แล้ว

เซน: หน้าที่ของเราคือทำเพลง หมายถึงว่าในส่วนของเรา เราทำแล้วเราชอบแล้ว สำหรับผมมันคือจบแล้ว แล้วทีนี้คือฝั่งของแฟนเพลง เขายิ่งมาชอบด้วย ยิ่งมาซัพพอร์ตด้วย คือแบบมันทำให้เราได้ไปต่ออีกครับ

The People: คอมเมนต์ที่เคยอ่านแล้วคิดว่ารู้สึกแย่ที่สุดคืออะไร มีวิธีรับมืออย่างไร

เซน: แย่ที่สุดที่รู้สึก มันก็มีเยอะนะพี่ แต่ว่าส่วนมาก ผมไม่ค่อยคิด ไม่ค่อยอะไร แต่อ่านนะ แล้วไม่ค่อยอะไร

ฮาย: ช่วงแรก ๆ ผมแบบ คือผมเป็นคนชอบซ่อมคนนะครับ เวลาเห็นคนตรรกะแปลก ๆ ก็จะรู้สึกคิดไปด้วย แต่ว่าช่วงหลัง ๆ ก็ปล่อยเลยครับ ...แล้วเหมือนกับว่ามันไม่มีประโยชน์ มันเปลี่ยนอะไรไม่ได้จริง ๆ แล้วก็รู้สึกว่ามันทำอะไรไม่ได้

ต่อให้ในวันที่เราทำตามใจเขาก็ตาม เขาก็จะเป็นแบบนี้อยู่ดี ก็เลยไม่มีประโยชน์อะไรเลยครับ แล้วก็ปล่อยอย่างเดียว ผมไม่ได้ทำอะไรเลย ตอนนี้ดูแลกันเองดีกว่า