สัมภาษณ์ ‘คุณชายอดัม’ ทายาท ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล จากยุคเจ็บตัว สู่บทบาทเบื้องหลัง Viu

สัมภาษณ์ ‘คุณชายอดัม’ ทายาท ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล จากยุคเจ็บตัว สู่บทบาทเบื้องหลัง Viu

ปัจจุบัน คุณชายอดัม หรือ ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล คือผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ Viu บริษัท พีซีซีดับเบิลยู โอทีที (ประเทศไทย) จำกัด จากเส้นทางอันโชกโชนในสมรภูมิสื่อมายาวนาน ในวันนี้ ยังมีเรื่องท้าทายใหม่เสมอ

  • คุณชายอดัม เชื่อว่า ปัญหาของคอนเทนต์ไทยไม่ได้อยู่ บท และเชื่อว่า อยู่ที่การ execution จาก ‘บท’ ไปสู่ ‘ภาพ’ 
  • ในฐานะคนที่ทำงานคอนเทนต์ คุณชายอดัม นอนวันละ 3 ขั่วโมง 
  • เขายังมองว่า ความสำเร็จของเกาหลี คนไทยมักไม่เรียนรู้จากมัน และกลับไปดูแต่เปลือก

คุณชายอดัม หรือ ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล ได้ชื่อว่าเป็นคนหนุ่มที่ผ่านประสบการณ์ทำงานผลิตสื่อสร้างสรรค์มาอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่อายุเพียง 20 ปี เคยผ่านบทเรียนความล้มเหลวและเคยลิ้มรสความสำเร็จมาตลอดระยะการทำงานเกือบ 2 ทศวรรษ ทั้งในฐานะโปรดิวเซอร์ ผู้จัด ผู้กำกับ และผู้บริหารคอนเทนต์

นอกเหนือจากการเป็นทายาทที่มีโอกาสเรียนรู้และสืบสานงานสร้างสรรค์ภาพยนตร์ ต่อจาก ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยในตำนานแล้ว เขายังเป็นผู้ก่อตั้ง FukDuk แพลทฟอร์ม new media ของตนเอง ในยุคสมัยที่โลกยังไม่มี Facebook และ YouTube นอกจากนี้ ยังเคยข้องเกี่ยวกับงานบริหารข่าวที่สถานีโทรทัศน์ PPTV อีกด้วย

ปัจจุบัน คุณชายอดัม หรือ ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ Viu บริษัท พีซีซีดับเบิลยู โอทีที (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นแพลทฟอร์ม OTT ที่เจ้าตัวบอกว่าเป็น “มวยรอง” ในตลาดการแข่งขัน แต่ในสายตาของคนนอก นี่คือ แพลทฟอร์มอีกรายที่มีความเคลื่อนไหวใหม่ ๆ ที่สร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างเร้าใจยิ่ง

The People นัดหมายกับ คุณชายอดัม เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยน ถึงโอกาสและความเป็นไปได้ที่ Soft Power แบบไทย ๆ จะก้าวออกไปสู่เวทีโลก อะไรคืออุปสรรคและข้อจำกัด พร้อมด้วยมุมมองความคิดและเรื่องราวส่วนตัวบางด้านที่สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ชายวัย 37 ปีคนนี้ ไม่ธรรมดาเลยจริง ๆ

The People: บุกเบิกงานมาหลายด้าน อยากให้คุณเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงาน

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: ผมเริ่มต้นเป็นนักเขียนตอนอายุ 16 เขียนลงมติชนสุดสัปดาห์ สมัยคุณนิวัติ กองเพียร เป็น บก. ตอนนั้นผมอยู่เมืองนอก อยากจะฝึกภาษาไทย เพราะรู้สึกตกใจว่า เด็กนอกพูดภาษาไทยไม่ได้เขียนภาษาไทยไม่เป็น ผมเลยพยายามบอกว่า ถ้าผมเขียนลงมติชนได้ แปลว่าภาษาไทยผมคงไม่ได้แย่หรอกมั้ง

ผมเป็นคอลัมนิสต์มติชนสุดสัปดาห์อยู่พักหนึ่ง หลังจากนั้นก็ทำละครเวทีอยู่กลุ่มละครวชิราวุธวิทยาลัย จนมาทำงานด้าน new media ทำ FukDuk , TV FukDuk  ทำทุกอย่างที่เป็น new media เจ้าแรก ๆ ของเมืองไทย ตอนนั้นอายุ 20 ปีพอดี และยังไม่มี Facebook ไม่มี YouTube

The People: นับเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ ในวงการตอนนั้น แล้วเป็นอย่างไร เจ็บตัวไหม 

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: เจ็บครับ เจ็บแน่นอน เจ็บมาโดยตลอดอยู่แล้ว ทุก ๆ อย่างที่ผมทำ ความเจ็บทั้งหมดเป็นประสบการณ์ เราพลาดเยอะ การบริหารงานผิดพลาด ทำงานผิดพลาด เทคโนโลยียังไม่พร้อม กลุ่มตลาดยังไม่ใหญ่พอ demand ยังไม่เกิด

ทุก ๆ อย่างที่เราทำในยุคนั้น ไม่ได้ตอบโจทย์ใด ๆ เลย เป็นแค่ความกล้าบ้าบิ่นทางไอเดียของเรา แต่สิ่งเหล่านั้นปูทางให้เกิดอุตสาหกรรมปัจจุบัน ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เคยทำ new media มาก่อน น่าจะเห็นเราเป็นต้นแบบหนึ่ง เป็นตัวอย่างหนึ่งของทั้งความล้มเหลว ความสำเร็จ และวิธีการทำงาน

The People: จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เชื่อได้ว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่องานปัจจุบัน ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ของ Viu ?

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: ผมเป็นสายมวยรอง เราเป็นมวยรองมาตลอด และไม่ชอบชกมวยหลัก ก่อนหน้านี้ เคยทำอยู่ที่ PPTV พอมาถึง Viu คือเรารู้สึกว่า การเป็น runner-up เราจะวิ่งอย่างไร เราต้องใช้สมองมากกว่า ทรัพยากรน้อยกว่า นั่นทำให้เราได้บริหารสมอง พยายามสู้ในการยืนอยู่ในตลาดที่ตอนนี้ไม่ใช่ประเทศไทยแล้ว เราเป็น Global Citizen เราเป็นประชากรโลก

วันหนึ่งเราเคยทำคอนเทนท์ใกล้ตัวเรา ระดับเมืองระดับประเทศ ตอนนี้เราอยู่ในเกมระดับโลก เราเจอกับ Netflix , Amazon Prime ,  Disney+, iQIYI และอื่น ๆ กลุ่มเหล่านี้คือบริษัทระดับโลก มีเงินทุนระดับโลก จำนวนผู้ใช้ระดับโลก Viu มี 16 ประเทศ เป็นแค่ regional player ซึ่งเป็นระดับกลาง  

The People: การเกิดขึ้นของ platform แบบ OTT ที่เป็น Global Market แบบนี้ ถือเป็นรุ่งอรุณของคนทำคอนเทนต์หรือไม่

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: ไม่ครับ ไม่เชิง ตลาดมีผู้เล่นรายใหญ่มีผู้เล่นรายย่อย มีปลาใหญ่ปลาเล็ก ผมไม่เคยเชื่อว่ามันเปิดโอกาส แม้กระทั่ง OTT เอง ทุกที่บนโลกมีทรัพยากรจำกัด  

สิ่งที่ต้องเริ่มต้นจริง ๆ คือคุณภาพ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ต่อสู้ยาก เพราะมีทรัพยากรจำกัดกว่า แต่คนดูมีความคาดหวังสูงกว่า เรา (Viu) อยู่ใน regional player รู้เลยว่าประเทศไทยมี demand เยอะมากในการดูคอนเทนต์ แต่คำว่า ‘demand’ ไม่ได้เท่ากับคำว่า ‘รุ่งอรุณ’ ไม่ได้เท่ากับ ‘sunrise’ มันคือพระอาทิตย์ที่อยู่บนหัวโด่ ๆ เลย แล้วมันร้อน 

ใกล้มากก็ไหม้ ไกลไปก็หนาว ดังนั้น การที่จะทำให้เราอยู่ได้ในอุตสาหกรรมนี้ ไม่ได้ต่างกับการอยู่ในอุตสาหกรรมโลก คือต้องพัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพมากพอที่จะแข่งขันในเวทีสากลได้ ถึงแม้มีทรัพยากรน้อยกว่า ซึ่งแปลว่า เรายากกว่าอเมริกาอีก ไม่ใช่ว่าอเมริกาไม่ยาก คนเป็นล้าน ๆ คน พยายามที่จะผลิตคอนเทนต์เหมือนกัน แล้วเขาก็พบประสบปัญหาเดียวกัน  

สำหรับคนไทย มีหลายปัจจัย เช่น language barrier หรือ กำแพงภาษา เราพูดไทย ดังนั้น การไปเจาะตลาดอเมริกาก็ยาก แต่ไม่ได้เป็นข้อเสียอย่างเดียว เพราะออสเตรเลีย เขาไม่มีคนทำงานในอุตสาหกรรมเลย เพราะเขาพูดภาษาอังกฤษ คนเลยไหลไปอเมริกา อเมริกามีตังค์ ซื้อตัวคนออสเตรเลียไปหมด อุตสาหกรรมออสเตรเลียเลยล่ม

ล่มเพราะทุกคนพูดภาษาเดียวกัน การมีกำแพงภาษาอาจจะเป็นข้อดีเหมือนกัน แล้ววัฒนธรรมไทยก็เป็นที่ยอมรับในกลุ่มตลาดหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้ไกลถึงขนาดเกาหลี มันอยู่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ มี pros and cons ดีและร้าย

บางงานเสวนา ผมไปนั่งฟัง ทุกอย่างดูสวยหรู เติบโต ผมไม่เชื่อ บางคนบางที่ก็เป็นศาลาคนเศร้า ทุกคนจะบอกว่า ‘เลวร้ายนะ’ ‘แย่มากเลยนะ’ โอ้โห ! มันอยู่ที่ว่า คุณคือใคร คุณอาจจะถูกกระทำ ไม่ได้เป็นคนที่มีแต้มต่อในวงการ 

สัมภาษณ์ ‘คุณชายอดัม’ ทายาท ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล จากยุคเจ็บตัว สู่บทบาทเบื้องหลัง Viu

The People: มีทั้งคนฝันสวย คนผิดหวัง แล้วคนที่อยู่ตรงกลางต้องทำอย่างไร ถึงจะ survive ได้

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: คำว่า survive พวกเรา survive แล้ว คนที่อยู่ตรงกลางส่วนใหญ่จะ survive ได้นานนะครับ แต่ต้องทำความเข้าใจในภาพรวม เขาเรียกว่า Media landscape คือภาพรวมอุตสาหกรรม ภาพวงการทั้งหมด มีผู้เล่นกี่คน คนดูมองหาอะไร และคุณจะสร้างอะไรที่แปลกใหม่ สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ว่าไปสร้างของเดิม ๆ แต่สร้างของที่แปลกใหม่ ที่พาคนดูกลุ่มเดิมไปสู่โลกใบใหม่  

The People: หา segment ใหม่ หาตลาดใหม่ หากลุ่มที่มีรสนิยมเฉพาะทางแบบใหม่ ๆ นี่คือสิ่งที่ Viu กำลังทำอยู่ใช่ไหม ในฐานะมวยรอง

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: ใช่ครับ ถูกต้องครับ ส่วนจะเอาชนะ(มวยหลัก)ไหม ผมไม่เชื่อในการเอาชนะ ถ้าดู Facebook ของผม ผมจะแชร์ทุก ๆ คน ผมแชร์ Netflix ผมแชร์ WeTV ผมกล้า Openly อยู่ในสื่อแบบนี้ ผมเป็นผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ Viu ‘อย่าพูดคำว่า Netflix เลยนะ’ ไม่ ผมจะเป็นคนที่พูด แล้วผมจะเชียร์เขา ผมแฮปปี้มาก

ผมเชื่อในความหลากหลาย เพราะการที่มีผู้ชนะ นั่นหมายความว่า มีทุก ๆ คนเป็นผู้แพ้ ถ้าสมมติเราวิ่งแข่ง เราเข้าเส้นชัยเป็นที่ 1 คนจะจำที่ 1 แล้วคนที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่เป็นนักแข่ง จะไม่เป็นที่จดจำของคนดู ผมอยากให้ตลาดมีคนเชียร์นักวิ่งทุกคน ถ้าตลาดมีคนเชียร์นักวิ่งทุกคน เม็ดเงินจะเข้ามาสู่วงการกรีฑา แล้วการวิ่งของทุกคนจะดีขึ้น

ถ้าเราไปราชมัง(คลา) แล้วไปดูงานวิ่งที่มีนักวิ่งคนเดียวในสนาม มันไม่ใช่การแข่งขัน มันไม่ใช่ตลาด นั่นเรียกว่าการบังคับดู เขามีอำนาจกำหนดทิศทางตลาด ซึ่งเราได้เห็นกับวงการภาพยนตร์ ที่ either GTH or none สมัยที่ยุคนึงมีคนดู ไม่ได้เกี่ยวกับ GTH นะ แต่คนดูบอกว่า ถ้าไม่ใช่หนัง GTH ผมไม่ดูหรอกครับหนังไทย

แล้วกลายเป็นว่า วันหนึ่งที่พอ Marvel เข้ามา พอหนัง Star Wars เข้ามา หนังฟอร์มยักษ์เข้ามา GTH ลำพัง GTH เพียงหนึ่งเจ้าที่ผลิต 4-5 เรื่องต่อปี บางปี 3 เรื่อง บางปี 2 เรื่อง บางปีเรื่องเดียว อำนาจในการ counter ตลาดใหญ่ไม่พอ ต่อให้เขาทำดีนะ คนดูคนทำท้อหมดแล้ว เพราะไม่สนับสนุนที่จะให้เกิดความหลากหลาย  

การทำหนังแบบทำเงินกับได้กล่อง อาจจะสวนทางกัน แต่ผมเชื่อว่ามีกลุ่มครับ อยู่ที่ว่าจะกลุ่มแบบไหน แล้วคุณเจ้ย-อภิชาติพงศ์ ถ้าเขารู้ว่ากลุ่มในเมืองไทยมีจำนวนเท่านี้ เขาสามารถสเกลตัวเองไปอยู่ระดับโลกได้หรือเปล่า ถ้าเขาอยู่ระดับโลก จำนวนคนแค่นี้ของทุกประเทศ อาจจะทำให้เขาสามารถอยู่ได้

ถ้าถามผมว่า ณ ปัจจุบัน มีคนพร้อมที่จะมาสร้างงานพวกนี้ไหม จากการทำงานที่ Viu ผมใช้ประสบการณ์ตรง เราทำงานร่วมกับคนใหม่ ๆ จำนวนมาก มีทั้งคนที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมมีประสบการณ์ และคนทำงานใหม่ ๆ เราก็เลยเห็นว่า งานดี ๆ งานใหม่ ๆ มีอยู่นะ

อย่างเช่นล่าสุด Wannabe ที่ได้รางวัลในต่างประเทศ มาจากผู้กำกับใหม่ production house นี้ ถึงแม้จะทำเป็น production service จากต่างประเทศ แต่ก็ไม่เคยทำซีรีส์ไทยมาก่อน เป็นเรื่องแรกของเขา ก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยมนะ

ดังนั้น ผมเชื่อว่ามีคนซ่อนอยู่อีกจำนวนมหาศาลเลย แค่มันไม่ได้มีเงินลงทุนมากพอที่จะดึงสิ่งเหล่านี้ออกมา ทุกคนอยู่ใต้ดิน เราไม่มีปุ๋ยไม่มีน้ำที่จะรด ให้ขึ้นมาจากดิน จากข้างบน เราต้องมีเศรษฐีที่มาลงทุนเยอะขึ้น เรามี Grammy, RS แล้วมีเจ้าอื่น ๆ ไหม ต่อจาก Mono JKN BEC  มีอีกไหม สมมติตอนนี้มี 50 บริษัท เราเพิ่มจำนวนเป็น 100 บริษัทที่จะลงทุนเพิ่มได้ไหม แล้วให้เขาอยู่ได้ด้วยนะ

จากข้างล่าง ถ้าไม่มีกลไกป้องกันการผูกขาด ก็ทำให้คนใหม่ ๆ เหล่านี้ไม่ได้เกิด พอมีคนลงทุนเพิ่ม ก็จะมีงานเพิ่ม เราต้องการปั๊มเม็ดเงิน แต่ในการปั๊มเม็ดเงินนั้น อย่าลืมนะครับ มันต้องมีอุตสาหกรรมรองรับ มันต้องมีคนขายด้วย มันไม่ใช่แค่มีเศรษฐีบอก ‘ผมอยากทำ’ ‘ผมรวยนะ’ ‘ผมอยากเปิดค่ายหนัง production house’ ไม่ใช่ แต่ต้องรวมไปถึงกลุ่มที่จะขาย ตลาดอยู่ที่ไหน platform ที่จะออนไลน์มีไหม โรงภาพยนตร์จะยอมรับภาพยนตร์ขึ้นไปในโรงหรือเปล่า ช่อง TV จะรับละครผมทำหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ อย่างที่บอก ต้องมีกลไกป้องกัน

The People: สำหรับ Viu ในความสำเร็จส่วนหนึ่ง คือความเป็นเกาหลีที่มีส่วนทำให้ platform ของ Viu แข็งแรงขึ้น เป็นมวยรองที่ได้รับการจับตามา มีฐานของแฟนที่ใหญ่โตขึ้น

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: ต้องใช้คำว่าเราเริ่มต้นจากซีรีส์เกาหลีก่อนนะครับ กลุ่มคนที่ดูซีรีส์เกาหลีมีฐานที่ชัดเจนมั่นคง และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อ แต่จริง ๆ แล้วคอนเทนต์ไทยก็มีสัดส่วนที่ดีมาก ๆ ต้องใช้คำว่า ดีเทียบเท่ากับคอนเทนต์เกาหลี ผมอยู่กับตัวเลข มันเป็นความเชื่อหนึ่งที่คนคิดว่า เกาหลีที่มีคนดูมากกว่าไทย ไม่จริง คือมันเท่ากันครับ นี่คือ by stats ไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร ผมอยู่กับตัวเลขทุกวัน ผมรู้

คอนเทนต์ไทยมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเกาหลี สิ่งหนึ่งที่เราค้นพบจากการทำ Viu มาหลายปี คือผู้ชมเลือกดูสิ่งที่ดีเท่านั้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอนิเมะ ซีรีส์จากจีน จากญี่ปุ่น ไม่ว่าจะแนวไหนก็ตาม ถ้ามันดี มีคนดู ถ้าไม่ดีต่อให้เป็นเกาหลี มีดาราดัง ก็ไม่มีคนดู ผ่านไปตอน 1 ตอน 2 ยอดจะ drop ลง

The People: ความสำเร็จของเกาหลีสอนอะไรเราบ้าง

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: มันเป็นบทเรียนที่คนไทยไม่ค่อยเรียน คนไทยชอบดูเปลือก เปลือกของความสำเร็จเกาหลี เหมือนเรามองเห็นแตงโม คนไทยอยากกินเปลือกแตงโมมากกว่าจะกินเนื้อแตงโม

ส่วนสำคัญคือเนื้อของมัน คือเราให้ภาษีกับสิ่งที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของเกาหลี แต่จริง ๆ แล้ว ตัวอุตสาหกรรมเกาหลีมีสเกลตั้งแต่งานระดับล่างไปจนถึงงานระดับบน สิ่งที่เกาหลีทำให้อุตสาหกรรมเขาแข็งแรง ไม่ใช่ตัว top อย่างเดียว ไม่ใช่แค่ BLACKPINK อย่างเดียว ไม่ใช่ซีรีส์ของ Studio Dragon อย่างเดียว ไม่ใช่แค่ดาราเบอร์ top อย่างเดียว

แต่เขาสามารถที่จะผลักดันตัวกลาง ๆ ที่เป็น Majority ของงานในตลาดจำนวนมาก งานระดับกลางที่ไม่ได้สนุกที่สุด คนไทยก็ยังดูไม่ได้เยอะขนาดนั้น แต่เขาผลักดันให้สิ่งตรงกลางทั้งหมดนี้ ขายได้หมดเลย

นั่นคือการยกระดับอุตสาหกรรม คือถ้าบอกว่าเรามีคน 100 คน ประเทศไทยจะคิดว่า คนนี้ดี 1 คน เราจะดัน 1 คนดีนี้ เราดัน MILLI แล้วเงินทั้งประเทศก็จะทุ่มให้ 1 คน แต่เกาหลีเขาไม่ได้คิดแบบนั้น เกาหลีบอกว่า โอเค เราดัน 1 คน สมมุติเรามี 100 บาท เราเอา 10 บาท 1 คน แต่ที่เหลือ 90 บาทก็จะผลักดัน 90 คนให้ขึ้นมา แล้วอีกที่เหลือในส่วนนี้ คือของที่ไม่ผ่านมาตรฐาน เขาก็ไม่ได้ดันมันนะ แต่เขายกระดับ ตัวไม่ได้มาตรฐาน เขาไปตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้มาอยู่ตรงกลาง และคนตรงกลางทำอย่างไรให้ขายได้ ถ้าขายได้ คุณเพิ่ม value มากขึ้น คุณจะทำอย่างไรให้ตัวเองไปเป็น 1 คนนั้นได้ แล้วพออย่างนั้น ปุ๊บ ! อุตสาหกรรมเกาหลีเลยเป็นการผลักทั้งขบวน ไม่ใช่แค่ดึงแค่ถอดเป็นแบบข้างบน  

เหมือนรถไฟทั้งหมดมีหลายตู้ขบวน คนไทยชอบแบบถอดขอตู้ขบวนแรก แล้ววิ่งไปเลย แต่เกาหลีคือหัวรถจักร แข็งแรงพอที่จะดึงทั้งขบวนไปได้ ตรงนี้คนไทยยังไม่ค่อยเข้าใจ ยิ่งของไทยตอนนี้ ยิ่งตัดชื่อผู้กำกับได้ยิ่งดี ให้ผู้กำกับยิ่ง no name ซึ่งไม่ใช่ ทุก ๆ element สำคัญหมด

ถ้าผมบอกว่า จากผู้ผลิต จากผู้สร้าง แบบ Michael Bay จาก Jerry Bruckheimer ภาพยนตร์จากหม่อมน้อยหรือท่านมุ้ยอย่างนี้ หรือจาก 6 ผู้สร้างแฟนฉัน ปัจจุบันเราไม่มี เราไม่มีกลุ่มนี้แล้ว เราไม่มีเสื้อผ้า ช่างแต่งหน้าที่มี quality เรากดทุกคนลงไปใต้ branding ของอะไรบางอย่าง แล้วเราก็พยายามไปยึดถือว่า branding นี้สำคัญที่สุด โดยที่เราไม่มี tools ตัวอื่น

เมื่อก่อนเรามีกล่องเครื่องมือ ที่มีเครื่องมือเต็มเลยที่ เอาไปใช้ก่อร่างสร้างอุตสาหกรรมได้ กลายเป็นว่ายุคสมัยนี้เราดึงเครื่องมือทั้งหมดทิ้ง ให้เหลือแค่ประแจอันเดียว แล้วเราบอกว่าประแจในกล่องนี้จะเป็นหนึ่งเดียวในการที่จะไขทางออกสู่อุตสาหกรรมได้ ซึ่งมันผิด เราต้องใส่เครื่องมือเยอะ ๆ  

สัมภาษณ์ ‘คุณชายอดัม’ ทายาท ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล จากยุคเจ็บตัว สู่บทบาทเบื้องหลัง Viu

The People: เป็น Concept ที่ชัดเจนมาก คล้าย ๆ กับการพูดถึงอุตสาหกรรมบันเทิงที่จะต้องมีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: เราขาดบุคลากรเยอะ เรามีคนล้นวงการ แต่คนที่มีความสามารถที่ปรับตัวเข้าสู่ตลาดโลกจริง ๆ มีจำนวนน้อยลง เรามีโปรดิวเซอร์ที่เข้าใจกลไกการเสนองานระดับโลกน้อย เราขาดแคลนโปรดิวเซอร์อย่างมาก เราขาดผู้ช่วยผู้กำกับที่มีความสามารถในการ run งานในระดับสากล แล้วเราก็ล้นในเรื่องของคนที่เต็มไปด้วย ego จัด คนที่ล้นมาก ๆ ในเรื่องของความอยากได้อยากมีอยากเล่าเรื่อง อย่างที่ผมมักจะพูด โดยใช้ตัวอย่างกรณีลิซ่า

เรามีคนจำนวนหนึ่งที่ช่วยทำให้ลิซ่ามาถึงจุดที่พร้อมดัง แล้วเกาหลีก็เก็บลิซ่าไปทำให้ดัง เรามีคนสอนเต้น เรามีครูสอนร้องเพลง เรามีคนทำ choreograph เรามีคนช่วยดูการแต่งตัว มีคนช่วยดูรูปร่างหน้าตา แม้กระทั่งหมอศัลยกรรมหรืออะไร เรามีความพร้อมในเชิง craftsmanship ...

The People: แต่เราไปต่อไม่ได้ เพราะมาถึงสิ้นสุดทางเลื่อน ?

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: สิ้นสุดทางเลื่อน แล้วหลังจากนั้นกลุ่มทุนเบอร์ใหญ่ก็เป็นคนที่จะหยิบมันไปทำอะไรต่อ แกรมมี่หยิบไปทำการตลาดต่อ เพราะเขามีความสามารถในการทำการตลาด ช่อง 3 สามารถหยิบไปแล้วทำการตลาดได้มากกว่า คุณณวัฒน์ (อิสรไกรศีล) สามารถหยิบไปทำการตลาดต่อ เป็น Miss Grand ใช่ไหมเป็น branding JYP, YG, SM หยิบไปต่อ กลายเป็นว่าในเมืองไทย เราเลยไม่มีคนที่จะช่วยสานต่อตรงนี้ได้เยอะเพียงพอ

The People: ตกลงเราขาดแคลนบุคลากร หรือเราขาด System ที่เหมาะสมกันแน่

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: ขาดทั้งคู่ครับ เราขาด System เพราะ System ขาดบุคลากร ถ้าเรามีบุคลากร อย่างเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเรื่องการเรียกร้องปัจจัย 12 ชั่วโมง เราจะมีบุคลากรที่เข้าใจอุตสาหกรรมมากขึ้น ที่มาจากการทำงานร่วมกับต่างประเทศ เด็กที่จบนอก พอเรามีบุคลากรที่เข้าใจพวกนี้มารวมกัน System ถึงเกิด

ในขณะเดียวกัน System จะเกิด คนที่จะ maintain system นี้ได้ สถาบันการศึกษาต้องปั๊มคนที่เก่งและมีความสามารถมากพอให้ออกมาอยู่ตรงนี้ด้วย

The People: คราวนี้ speed มันวิ่งไม่เท่ากัน ?

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: อุตสาหกรรมไปเร็วกว่าครับ เรามักพูดว่าเราตามเกาหลี เราตามจีน ถ้าในตลาดโลกในเอเชีย ผมเชื่อว่าเราตามอยู่ 4 ประเทศ ในเชิงอุตสาหกรรมนะ ไม่ได้เชิงคุณภาพ ถ้าคุณภาพเรายังตามอิหร่าน เลบานอน แต่ถ้าในเชิงอุตสาหกรรมโดยรวม เราตามญี่ปุ่น เกาหลี จีน และอินเดีย

อย่าดูถูกอินเดีย คนไทยชอบดูถูกอินเดีย ผมไม่เข้าใจเลย อินเดียเจ๋ง เก่งมากในทุก ๆ ด้านเลย เขามีทั้งอาร์ตทั้งตลาด ความหลากหลาย ตลาดที่เป็น Disney+ Hotstar เป็น OTT platform อันดับ 1 ของโลก คนดูส่วนใหญ่อยู่ในอินเดีย

ตั้งแต่อินเดียใต้ อินเดียเหนือ อินเดียที่เป็นภาพยนตร์เตเลกู ฮินดี งานของเขาดีมาก ไม่ใช่แค่ภาพยนตร์ ซีรีส์ ทั้งแบบอาร์ต แบบ Sacred Games ที่ออก Netflix งานเขียนดี ๆ นักเขียนดี ๆ cinematographer ระดับโลกก็เริ่มต้นที่อินเดียเยอะมาก

ปัจจุบัน งานภาพเขาไกลกว่างานเราเยอะ งาน CG เขาเป็นเสาหลักของอุตสาหกรรมโลกในปัจจุบัน งาน Marvel ทั้งหมดส่วนใหญ่ มีชาวอินเดียเป็น backbone เป็นกระดูกสันหลังหลัก พอเราไม่ได้อ่านเครดิต เราไม่ได้สังเกตเลยว่า โลกเปลี่ยนเยอะเลยนะ แล้วอย่างที่บอกครับอุตสาหกรรมวิ่งไปนู่นแล้ว เราพยายามวิ่งตามอยู่ อุปกรณ์เราเท่าเทียมเขา ไฟที่จัดวันนี้ กล้องที่ใช้วันนี้ คือกล้องแบบเดียวกับต่างประเทศใช้หมด เทคโนโลยีเหมือนกัน ซอฟต์แวร์เหมือนกัน Macbook ก็เครื่องใหม่เหมือนกัน iPhone 14 ก็ออกพร้อมกับเขาถูกไหมครับ

The People: อยู่ที่ซอฟต์แวร์ อยู่ที่ความคิด ?

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: ใช่ ซอฟต์แวร์ แล้วมีคำถามหนึ่งที่ส่งมาให้ผม ผมทวนคำถามนี้เองเลย เพราะว่าเกี่ยวข้องกันโดยตรง คือเรื่องบท

The People: ทุกอย่างดี เป๊ะหมด ถ่ายภาพ ลำดับภาพ นักแสดง แต่มาเรื่องของบท ...

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: ผมขอแก้ต่าง ผมเชื่อว่าคนเขียนบทหลายคน ฟังตรงนี้แล้วร้องไห้กันมาก ๆ บทเราดีมาก ๆ บทเราได้รางวัลเยอะมาก บทที่อ่านแล้วร้องไห้ ผมอ่านบทมาเยอะ แล้วผมก็ร้องไห้กับบทมาเยอะ บทที่ดีมีเยอะ

“ปัญหาไม่ใช่บท คนทุกคนชอบพูดว่า ปัญหาสำคัญของคอนเทนต์ไทย คือบท”

The People: ตอนนี้คุณทำหน้าที่เป็นคนแก้ต่างแทนคนเขียนบทแล้วนะ

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: ใช่ ผมอาจจะเป็นคนแรก แล้วผมว่าทัวร์ลงแน่นอน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ execution จาก ‘บท’ ไปสู่ ‘ภาพ’ ต่างหากครับ อย่างที่หนึ่ง-คือบท คุณต้องมีความเข้าใจด้วยว่า การเขียนบทดีกับเขียนบทที่ทำได้ นั้นต่างกัน อันนี้สำคัญมาก อย่างเช่นผมบอกว่า เราเขียนแล้วอยู่ดี ๆ ฉากทั้งหมดก็ลอยขึ้นไปบนฟ้า อย่างนี้ โอ้โห ! เราทำไม่ได้ด้วยทรัพยากรในเมืองไทย

สอง-จากตรงนั้น เราจะต้องผ่านมือคนอีกจำนวนมาก จากบทไปสู่ pre-production, production และ post-production ขั้นตอนการเตรียมงานการถ่ายทำ ผ่านมือคนอีก 100 คน ผ่านการแสดงของนักแสดง ทุก ๆ คนตีความของเหล่านี้แตกต่างกัน แล้วของเหล่านั้นถูกบั่นทอน บทจำนวนมากถูกบั่นทอนระหว่างทางเยอะมาก

แล้วการตีความด้วย การตีความของบทสามารถทำให้มันดูตลาดขึ้น เหมือนกับ conductor ตีความบทประพันธ์ของ Bach conductor สามารถที่จะเล่นเร็ว เล่นช้า เล่นแรง เล่นเบา ใช้เครื่องดนตรีมากชิ้น น้อยชิ้น สิ่งเหล่านี้อยู่ที่ผู้กำกับ อยู่ที่โปรดิวเซอร์ อยู่ที่มุมมองของผู้ลงทุน อยู่ที่นักแสดงที่เล่น ของเหล่านี้ถูกตีความ เขาเรียก execution คือการนำบทนั้นมา อย่างที่ผมบอกครับ สร้างบ้านแปลนเดียวกัน ช่างที่ฉาบปูนฉาบไม่เก่ง ช่างปูกระเบื้องปูไม่เก่ง บ้าน 1 ปีกระเบื้องหลุดร่อนออกมาหมด ปูนทั้งหมดนี่ทาสีมาไม่ติดสีลอกนะครับ ก็เราไปโทษแปลนบ้านกันดีไหม เราไปโทษว่า ที่กระเบื้องหลุด ที่บ้านมันอยู่ไม่ได้ เพราะคนเขียนพิมพ์เขียวนั้นไม่ดีหรือเปล่า

แล้วในฐานะที่ตัวผมเป็นผู้จัด ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ ทุก ๆ ปัจจัยเหมือนจิ๊กซอว์ที่ทำให้เกิดภาพใหญ่ ไม่ควรโทษสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ควรทำให้ทุก ๆ จิ๊กซอว์มีคุณภาพ แล้วต่อกันเป็นภาพใหญ่ได้

ถ้าไปบอกว่าบทอย่างเดียว แล้วทุกคนก็เลยตีพุง แล้วบอกไม่เป็นไร อย่างนั้นฉันก็ถ่ายตามใจของฉัน คิวถ่ายดาราก็ไม่ต้องให้คิวก็ได้ มาถึงเดี๋ยวถ่ายจ่อ ๆ ๆ ๆ เอา ถ้าบทมันดี ถ่ายจ่อเอามันก็เวิร์คแหละ ผมไม่ต้องอัดเสียงให้มันชัดก็ได้ ไม่ต้อง mix เสียง ดนตรีก็ไม่ต้องทำ ไปเอา sound library ที่ไหนมาทำก็ได้ เพราะบทมันดีอยู่แล้ว เดี๋ยวมันก็ดีเอง ฉันไม่ต้องแสดงอะไรก็ได้ ฉันเล่นแข็ง ๆ ยืนทื่อ ๆ ก็ได้ แล้วบทมันดี เดี๋ยวทุกอย่างมันก็ดีเอง ถูกไหมครับ

The People: ขอขอบคุณแทนคนเขียนบททั้งหมดในประเทศนี้เลย

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: ใช่ ปัจจัยทั้งหมดต่างหาก ปัจจัยทั้งหมดมาจากการร่วมมือร่วมใจของทีมงานทุกฝ่าย คนเขียนบทยันไปจนถึงคนที่จะต้องโปรโมทมัน publicist ไปจนถึงนักแสดง ไปจนถึงโปรดิวเซอร์ ช่าง post-production ผู้ช่วยตัดต่อ คนนั่งเรียง foot(age) ทุก ๆ คนมีส่วนในการหยิบยื่นคุณภาพให้กับงาน

ผมคิดว่าถ้าคุณหยิบบทนั้นแล้วคุณชอบ คุณต้องเชื่อมันนะ คุณต้องศรัทธาในสิ่งที่คุณทำ ถ้าไม่เชื่อ อย่าทำ อย่าทำในสิ่งที่คุณไม่เชื่อเด็ดขาด

The People: เป็นผู้ติดตามความเคลื่อนไหวและเสพงานเป็นจำนวนมาก ได้ข่าวว่าคุณนอนวันละ 3 ชั่วโมง ?

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: จริงครับ เป็นเรื่องปกติ ก็พยายามพักผ่อนนะครับ แต่เราต้องเสพ เราต้องรู้ การไม่รู้ทำให้เราอยู่ข้างหลัง ผมไม่ใช่คนเก่ง ยิ่งต้องขวนขวาย ยิ่งต้องเสพงาน ดูหนัง นักแสดงหน้าใหม่ เด็กอินฟง influ (encer) มีใครบ้าง ข่าววันนี้คืออะไร source ของการทำสิ่งต่าง ๆ ดูทุกอย่างครับ

แล้วสังเกตทุกสิ่ง นั่งข้างถนน รถราผ่านไปมา มีอะไรเกิดขึ้น absorb คนทำหนัง หรือคนทำซีรีส์ หรือคนทำสื่อเหมือนฟองน้ำ เวลาเราทำงาน เราจะบีบฟองน้ำเพื่อคั้นเอาความคิดเราออกมา แต่ฟองน้ำนั้นต้องคอยซึมอะไรบางอย่างเพื่อให้มันฟู ฟู แล้วก็ต้องบีบ ฟูบีบ แต่ถ้าคุณบีบ ๆ ๆ ๆ ๆ อย่างเดียว คุณก็จะได้แต่ฟองน้ำแบน ๆ แล้วมันไม่มีน้ำออกมา

สัมภาษณ์ ‘คุณชายอดัม’ ทายาท ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล จากยุคเจ็บตัว สู่บทบาทเบื้องหลัง Viu

The People: ความสมดุลระหว่าง input กับ output สำคัญที่สุด

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: ถูกต้องครับ ใช่ ๆ ครับ

The People: ยอมรับไหมว่าคุณเป็นคนทำงานหนัก เป็น workaholic คนหนึ่ง

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: ผมพูดตรง ๆ นะครับ ผมไม่ยอมรับ (เพราะ)สิ่งที่ผมรักที่สุด คือการนอนดู YouTube อยู่บ้าน ผมชอบพักผ่อน เป็นคนชอบนอนมาก ผมรักเตียงมากนะ แฟนผมรู้ ทุกคนรู้ ทีมงานผมรู้ว่าผมชอบการนอน ชอบการนอนดู YouTube อยู่บ้าน เป็นผู้เสพสนุกกว่าเป็นผู้สร้าง บอกตรง ๆ ครับ เป็นผู้เสพไม่ต้องทำอะไร หยิบขนม หยิบน้ำ มาตั้งไว้เต็มข้างเตียง แล้วก็นั่งดู

The People: แต่ผู้เสพทั่วไป กับผู้เสพแบบคุณชายผู้กำกับ ก็ไม่เหมือนกัน ?

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: ไม่เหมือน การที่เราต้องทำงานหนัก เพราะยังมีช่องว่างที่ต้องเติม ไม่ได้บอกว่าเราเป็นผู้ที่มาโปรดสัตว์ ไม่ใช่ แต่พอมีช่องว่างเหล่านั้น แล้วทำให้เราไม่สามารถใช้อาชีพหรือหาเงินได้ หลาย ๆ ครั้ง เราต้องไปเป็นเม็ดกรวดเม็ดทรายที่ไปเติมในช่องโหว่ของอุตสาหกรรมหลาย ๆ จุด แล้วผมอยากจะทำให้ทุกคนสบายขึ้น ทุกคนสบาย เราสบาย เราสบาย ผมได้นอนอยู่บ้านนานขึ้น แต่มันอาจจะไปนอนบั้นปลายชีวิต หรือตอนที่แบบเส้นเลือดในสมองแตกแล้ว แต่ว่าอย่างน้อย ผมเชื่อว่า ถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่ contribute หยิบยื่น มอบให้ แล้วคนอื่นช่วยกัน โอกาสที่ทุกคนจะได้นอน มีเยอะขึ้นครับ

The People: คุณคิดว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศนี้จะเป็นอย่างไร

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: ผมเชื่อว่าการที่เราจะมีโครงสร้างที่ดี น่าจะเริ่มต้นจากฝั่งเอกชน ความหวังของรัฐบาลน่าจะมีความเป็นไปได้ไม่สูง เพราะเขาก็มีข้อจำกัดเยอะ แล้วข้อจำกัดเหล่านั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับประเทศ เกี่ยวข้องข้าราชการกระทรวงต่าง ๆ

การที่เขาจะมองเราเป็น either การเต้นกินรำกิน หรือการเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะว่าภาพยนตร์หรือสื่อ ถูกเทียบเป็นศักดินาที่ 4 ตั้งแต่ในสมัยก่อนแล้ว ใช่ไหมครับ

ผมคิดว่าภาคเอกชนน่าจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน แต่ภาคเอกชนที่ดีก็ต้องมีกลไกที่ช่วยกันปกป้องไม่ให้ผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นคนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ชอบ monopoly กันมาก

ผมเชื่อว่าการผลักดันตรงนี้ คนมีความรู้มากขึ้น เราเป็น Global Citizen เราเป็นประชากรโลก ความรู้ระดับโลกมาถึงเราได้เร็วขึ้น อุปกรณ์เอย ทีมงาน ทักษะอะไรต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้จะทำให้วงการพัฒนาขึ้น อย่างน้อยมีการเรียกร้อง มีการปรับปรุงตัวเอง มีการสร้างมาตรฐาน หรือแนวคิดใหม่ ๆ แค่เราต้องหาวิธีในการที่จะปกป้องไม่ให้ใครผู้ใดผู้หนึ่งมาทำลายมัน

The People: ชีวิตบทต่อไปของคุณ

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: ผมอยากจะเกษียณตัวเอง

The People: จะเร็วเกินไปไหมสำหรับสุภาพบุรุษวัย 37 ปี

ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล: พูดตรง ๆ เลยครับ อยากเกษียณ ปัจจุบัน มีคนดี ๆ เก่ง ๆ ขึ้นมาเยอะ ผมพยายามเริ่ม fade ไปอยู่ข้างหลังมากที่สุดที่เป็นไปได้ เบื้องหลังแล้ว ตอนนี้จะเป็นเบื้องหลังของหลัง จากเดิมเป็นคนหน้างานตลอด ก็พยายามสร้าง talent management สร้างดารานักแสดงใหม่ ๆ ที่มีกรอบความคิดที่ถูกต้อง สร้างผู้กำกับใหม่ ๆ สร้างโปรดิวเซอร์ใหม่ ๆ สร้างผู้จัด production house ที่ดี งานเขียนที่ดี

เป้าหมายสูงสุดของผม คือการนอนอยู่บ้านดู YouTube เมื่อเราสร้างนักต่อสู้ที่มีคุณภาพใหม่ ๆ ขึ้นมา ผมเชื่อว่าคนเหล่านั้นจะเป็นคนที่เราส่งไม้ต่อ เพราะว่าผมเชื่อว่าตระกูลยุคลทำงานมา 3 generation แล้วนะ ตั้งแต่เสด็จพระองค์ชายใหญ่ พระองค์ชายเล็ก มาเป็นท่านพ่อ คือครอบครัวผมมีจำนวนมากที่ทำงานในวงการนี้ เราสู้มาเยอะ ให้หยุดที่ผมเถอะครับ เพราะเราเหนื่อยกับการต่อสู้มาเยอะแล้ว เราแค่อยากใช้ชีวิตเป็นคนธรรมดา เราเล่าเรื่องที่เราอยากเล่าอยากจะมีความสุขกับการเล่าเรื่องแบบที่อีสปได้เล่าเรื่องเมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีใครมาตีอกชกหัวเรา โดนทัวร์ลงทุกวัน

ผมรู้สึกว่าท้ายสุดแล้วเราไม่ได้ต้องการความยิ่งใหญ่ใด ๆ การเป็นคนเล่าเรื่องไม่ได้สร้างให้เราเป็นคนยิ่งใหญ่ เป็นคนมีพลัง แต่แค่เรื่องของเรา มันอาจจะเปลี่ยนโลกได้ในบางส่วนบางโอกาส แต่ท้ายที่สุดแล้วมันไม่ได้ส่งผลอะไรกับเรา คนก็จะลืมเราตามกาลเวลา แต่งานของเรามันอาจจะอยู่แหละ ผมอยากอยู่อย่างสงบ แต่ในความสงบนั้น มันต้องสู้เยอะมากเลยนะ ผมเชื่อว่าพลวัตของสังคมจะสร้างคนใหม่ ๆ ต่อไป