ที่มาของ 12 นักษัตร-12 ราศี ทำไมไม่มีแมว? ‘แมว’ หายไปจริงหรือ? แล้วทำไมเวียดนามมีปีแมว?

ที่มาของ 12 นักษัตร-12 ราศี ทำไมไม่มีแมว? ‘แมว’ หายไปจริงหรือ? แล้วทำไมเวียดนามมีปีแมว?

12 นักษัตร และ 12 ราศี ไม่มี ‘แมว’ ทั้งที่แมวอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์มายาวนานไม่แพ้ชนิดอื่น เหตุใดเจ้าเหมียวถึงหลุดออกจากกลุ่มสัญลักษณ์ ขณะที่เวียดนามกลับมีปี ‘แมว’ เหตุผลอาจไม่ยากอย่างที่คิด

  • ปีนักษัตรทั้ง 12 สัญลักษณ์ที่คนไทยคุ้นเคยกันแบบแนวตะวันออก ไม่มีแมวอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย
  • ข้ออธิบายเกี่ยวกับความเป็นมาของสัตว์ในปีนักษัตรเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเชิงตำนาน ประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ไปจนถึงเรื่องลักษณะนิสัยของสัตว์ที่มนุษย์รับรู้และตีความหมาย

ทุกปีเมื่อถึงปลายเดือนธันวาคม จนถึงช่วงผ่านเข้าสู่เดือนมกราคมของอีกปี หัวข้อเรื่องที่ผู้คนมักจะพูดถึงเสมอก็คือปีใหม่นั้นเป็นปีอะไร เป็นคำถามที่ไม่ได้สื่อถึงตัวเลขปีเท่านั้น หากแต่เป็นคำถามย่อของคำถามเต็มที่ว่า “เป็นปีนักษัตรอะไร?” เพราะปีนั้นสังคมจะเป็นอย่างไร อากาศดีไหม เศรษฐกิจการทำมาหากินจะฝืดหรือคล่อง จะมีโรคระบาดหรือภัยคุกคามชีวิตคนหรือไม่ อย่างไร ไม่ใช่คำถามที่จะตอบได้เพียงตัวเลขปีที่จะสะท้อนเพียงว่า เรากำลังจะอายุมากขึ้นอีกปีเท่านั้น 

คำถามทำนองนี้เป็นคำถามเก่าแก่โบราณที่มีคนถามกันมาของทุกช่วงปีใหม่อย่างแน่นอน ไม่งั้นคนโบราณไม่พยายามที่จะสร้างแนวคิดพื้นฐานในการอธิบายหรือให้คำทำนายหรอก ในจำนวนแนวคิดพื้นฐานที่ว่าคงมีหลากหลาย แต่ท้ายที่สุดเหลือให้ใช้ตกทอดมาถึงปัจจุบันอยู่เพียง 2 แนว อาจจะเรียกว่าเป็นแนวตะวันออกกับแนวตะวันตกก็ย่อมได้ 

‘แนวตะวันออก’ นั้นใช้การกำหนดนับแบบที่เรียกว่า ‘12 นักษัตร’ หรือ ‘12 นักขิต’ (Asterism years) เป็นปีตามสุริยคติ เมื่อครบ 12 ปีก็นับเป็น 1 รอบ คติการนับเวลาแบบนี้รู้กันว่ามีต้นกำเนิดอยู่ที่จีนแผ่นดินใหญ่ 

‘แนวตะวันตก’ นั้นนับโดยสัมพันธ์กับดวงดาวที่ปรากฏบนฟากฟ้าเวลาค่ำคืนเรียกว่า ‘จักรราศี’ หรือ ‘12 ราศี’ (Zodiac years) มีจุดกำเนิดตั้งแต่ยุคบาบิโลเนีย ราว 2,500 ปีล่วงมาแล้ว หรือราว 1 พันปีก่อนคริสตกาล ใช้กันมากในยุคกรีก-โรมัน    

บางครั้งสองแนวข้างต้นนี้ก็เรียกปนกันเช่นเรียกว่า ‘Chinese zodiac’ ทำนองจะให้เข้าใจว่าเป็น ‘จักรราศีแบบจีน’ แต่ที่จริงทั้งสองอย่างนี้คนละแนวกัน

 

แนวตะวันออก (12 นักษัตร)

ทำไมถึงต้องเอาสัตว์มานับเป็นปี? ตอบง่าย ๆ ก็คือพวกบรรพชนจีนในยุคที่ริเริ่มใช้ น่าจะเป็นพวกที่ยังมีวิถีชีวิตอยู่กับสัตว์มากอย่างที่เรียกว่า ‘พวกเข้าป่าล่าสัตว์’ เมื่อคนมีชีวิตรอดหรือตายได้ก็เพราะสัตว์ สัตว์เลยเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตและมีอำนาจมากกว่ามนุษย์  และเมื่อผ่านเข้าสู่ยุคเกษตรกรรมและสังคมเมือง ความรู้จากยุคป่าก็ติดตัวมาใช้ในเมืองด้วย แต่มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น แม้ว่าจะเป็นคำตอบที่เข้าเค้าที่สุด แต่คนก็ต้องการคำตอบที่ซับซ้อนจึงได้ผูกเรื่องขึ้นเป็นตำนานบอกเล่า

ตำนานนั้นก็มีอยู่ว่า เง็กเซียนฮ่องเต้ เทพสูงสุดบนสวรรค์ได้มีบัญชาให้เหล่าสัตว์มาแข่งขันกันข้ามแม่น้ำ ถ้าสัตว์ใดข้ามมาถึงเป็น 12 ตัวแรก จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าแห่งปีเรียงตามลำดับ 1-12 โดยกำหนดวันให้มาแข่งขันกันเสร็จสรรพ แต่ปรากฏว่า ถึงวันแข่ง หนูที่ตัวเล็กกระจ้อยร่อยกลับเข้าเส้นชัยเป็นตัวแรก ตามมาด้วยวัวเป็นที่สอง ก็เพราะหนูฉลาดขอขี่หลังวัวไป พอวัวใกล้ถึงฝั่งก็กระโดดขึ้นฝั่งไปก่อนวัวที่กำลังว่ายน้ำมา 

ตำนานอีกฉบับว่า ในสมัยปีใหม่แรกของจีน (ปีไหนก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าคงนานมาก) สัตว์ทั้งหลายต่างเดินทางมาชุมนุมกันที่หน้าพระราชวังหลวง ตามรับสั่งของฮ่องเต้ที่ได้ป่าวประกาศว่า สัตว์ 12 ชนิด ที่มาถึงก่อนวันชิวยี่ หรือวันที่ 2 เดือนอ้ายจะได้รับแต่งตั้งเป็นองครักษ์ เมื่อได้สัตว์ครบทั้ง 12 แล้วก็จัดแบ่งหน้าที่ให้อยู่ยาม ใน 1 วัน สัตว์ 1 ชนิดอยู่ยาม 2 ชั่วโมง สัตว์ 12 ชนิดอยู่ยามเป็นเวลา 24 ชั่วโมง รวมเป็น 12 ยามที่ต้องเฝ้าวังหลวง

ถึงแม้ว่าตำนานจะเล่าเรื่องต่างกัน แต่ทว่าสัตว์ที่เข้ารอบ 12 ตัวแรกนั้นตรงกันดังนี้ (1) สู่-หนู (2) หนิว-วัว (3) หู่-เสือ (4) ทู่-กระต่าย (5) หลง-งูใหญ่ (6) เสอ-งูเล็ก (7) หม่า-ม้า (8) หยาง-แพะ (9) โหว-ลิง (10) จี-ไก่ (11) โก่ว-หมา (2) จู-หมู  

เมื่อส่วนสำคัญอย่างลำดับปี/สัตว์ ตรงกัน ก็แสดงว่าตำนานเล่าภายหลัง ในทางคติชนวิทยาถือเป็น ‘ตำนานอธิบายเหตุ’ คืออธิบายสิ่งที่ไม่ทราบความเป็นมาหรือประวัติที่ถูกต้องได้สูญหายไปนานจนไม่มีใครจดจำเรื่องจริงได้แล้ว คือรู้ ‘ผล’ แต่ไม่รู้ ‘เหตุ’ เลยเป็นช่องให้เกิดการอธิบายเหตุด้วยตำนานขึ้นมา   

ลักษณะที่เป็นการอธิบายเหตุยังพบจากการพยายามใช้ตำนานตอบคำถามที่ว่า “ทำไมสัตว์สำคัญอย่างน้องแมวของเราถึงไม่มีใน 12 นักษัตร”

ตำนานข้างต้นก็มักจะเล่าตรงกันว่า แมวโดนหนูหลอกให้ไปแข่งผิดวัน แมวจึงแค้นหนู เจอหนูเป็นไม่ได้ ต้องไล่กวด เป็นต้น 

แต่นอกจากตำนาน มีผู้รู้พยายามอธิบายให้ฟังดูเข้าทีอยู่เหมือนกัน เช่นว่า เพราะแมวเป็นสัตว์ทะเลทราย จีนโบราณยังมีแต่แมวป่า ไม่มีแมวบ้าน คนจีนเพิ่งจะมารู้จักเอาแมวมาเลี้ยงในบ้านกันตอนหลัง 

เมื่อพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่าคตินี้มีมาตั้งแต่ก่อนยุคราชวงศ์ฉิน (221 ปีก่อนค.ศ. ถึง 270ปีก่อนค.ศ) ก็มีปรากฏรูปปีนักษัตรแล้ว โดยใช้สัตว์ประเภทต่าง ๆ เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ตามลำดับ หนู, วัว, เสือ, กระต่าย, มังกร, งู, ม้า, แพะ, ลิง, ไก่, หมา, หมู เป็นต้น 

หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ยังพบว่า บันทึกของหม่าฮวน (Ma Huan) ล่ามในคณะทูตของแม่ทัพเจิ้งเหอ ในการสำรวจทะเลยุคราชวงศ์หมิง พ.ศ.1948-1976/ค.ศ.1403-1455 ได้ระบุว่า ‘แมว’ เป็นสัตว์แปลก ๆ (Unusual animal) ที่มีมากในสยาม ควบคู่กับ ‘ช้างเผือก’ ‘สิงโต’ และ ‘หนูขาว’ การระบุว่าแมวเป็นสัตว์แปลก ๆ สำหรับหม่าฮวนนั้น หมายถึงสัตว์ชนิดนั้นไม่มีในเมืองจีน   

อนึ่งการแปลเอกสารชิ้นนี้ที่ผ่านมามักแปลข้อความตรงนี้ว่า หม่าฮวนหมายถึง ‘แมวขาว’ แต่จากตัวบทดั้งเดิมจะพบว่า ประโยคเต็ม (ตามต้นฉบับแปลจากจีนของมหาวิทยาเคมบริดจ์) ของข้อความนี้ระบุว่า “The unusual animals are white elephants, lions, cats, and white mices.”  

กล่าวคือ หม่าฮวนระบุถึง ‘แมว’ (Cats) ไม่ใช่ ‘แมวขาว’ (White cats) เช่นเดียวกับที่กล่าวถึง ‘สิงโต’ (Lions) ไม่ใช่ ‘สิงโตเผือก’ (White lions) ส่วนสยามจะเคยมีสิงโตดังที่หม่าฮวน บันทึกไว้จริงไหม หรือหม่าฮวน จะเข้าใจไปว่า เสือคือสิงโต เหมือนเช่นกรณีบันทึกของมาร์โคโปโลหรือไม่ อันนี้ยังไม่มีใครรู้แน่ชัด

   

แนวตะวันตก (12 ราศี)

แนวโน้มของคำอธิบายที่ดูมีเหตุผลและเหมือนจะเชื่อกันไปแล้ว (โดยปริยาย) ก็คือ ที่ไม่มีแมวใน 12 นักษัตร เป็นเพราะจีนโบราณไม่รู้จักแมวเลี้ยง ยังรู้จักแต่แมวป่า บางคำอธิบายยิ่งไปไกลจนถึงกับเคลมว่า จีนเพิ่งรู้จักแมวเลี้ยงก็เมื่อมารู้จักกับสยาม หรือเมื่อสยามเดินเรือไปค้าขายกับเมืองจีนแล้ว แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? ในเมื่อแมวเป็นสัตว์เก่าแก่คู่กับมนุษย์มานมนานกาเล เมื่อมีหนู มีหมา ก็ต้องมีแมว คู่กัน โดยทางระบบนิเวศ หรือจะโดยทางตำนานความเชื่อก็ตามแต่ 

ที่สำคัญระบบการนับเวลาของอีกซีกโลกหนึ่ง อย่างจักรราศีของตะวันตกที่สืบย้อนไปจนถึงยุคบาบิโลเนีย  ก็ไม่มีราศีแมว ถ้าแมวเป็นสัตว์ทะเลทราย จีนที่ก็รู้จักดินแดนทะเลทราย มีเส้นทางสายไหมติดต่อค้าขายกันมาตั้งแต่ก่อนหม่าฮวนกับเจิ้งเหอจะเดินเรือท่องโลกกว่า 2 ศตวรรษ ก็จะไม่รู้จักแมวเชียวหรือ? และชาวบาบิลอน ซึ่งอยู่ในแถบทะเลทราย รู้จักแมวและเลี้ยงแมว

ย้อนหลังไปกว่านั้นยุคเมโสโปเตเมีย ก็พบการฝังศพแมวคู่กับมนุษย์ และวัฒนธรรมความรู้ของชาวบาบิลอนก็ส่งต่อมาให้ชาวกรีก-โรมัน พวกเขาก็รู้จักแมว มีแมวในบ้าน ยิ่งพวกอียิปต์ ยิ่งนับถือแมวเป็นเทพเจ้า อียิปต์เป็นพวกที่มีปีแมว แต่พวกบาบิลอนและกรีก-โรมันที่ก็รู้จักแมว ทำไมไม่มีราศีแมว การไม่มีแมวใน 12 ราศี หรือไม่มีแมวใน 12 นักษัตร เพราะไม่รู้จักแมวนั้นจริง ๆ เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น 

12 ราศีนั้น เดิมมีแต่สัตว์ แต่ช่วงหลังชาวกรีกได้ปรับปรุงจนมีคนกับสิ่งของไปด้วย

ราศีที่มีรูปสัญลักษณ์เป็น ‘สัตว์’ ได้แก่ ราศีมังกร (Capricorn) ไม่ใช่มังกรพ่นไฟเพราะเป็นแพะทะเล, ราศีมีน (Pisces)-ปลาคู่, ราศีเมษ (Aries)-แกะ, ราศีพฤษภ (Taurus)-วัว, ราศีกรกฏ (Cancer)-ปู, ราศีสิงห์ (Leo)-สิงโต, ราศีพิจิก (Scorpio)-แมงป่อง เป็นต้น   

ราศีที่มีรูปสัญลักษณ์เป็น ‘คน’ ได้แก่ ราศีกุมภ์ (Aquarius)-คนแบกหม้อน้ำ, ราศีเมถุน (Gemini)-คนคู่, ราศีกันย์ (Virgo)-หญิงสาว เป็นต้น

ราศีที่มีรูปสัญลักษณ์เป็น ‘สิ่งของ’ ได้แก่ ราศีตุล (Libra)-คันชั่ง, ราศีธนู (Sagittarius)-ธนู เป็นต้น

(ขอสารภาพตรงนี้ว่า ที่ผู้เขียนจำราศีเหล่านี้ได้แม่น เพราะสมัยยังเป็นหนุ่ม ๆ ชื่นชอบการ์ตูนเรื่องเซ็นต์เซย่ามาก ฮา ๆ)

สิ่งหนึ่งซึ่งคล้ายคลึงกันระหว่าง 12 นักษัตรของจีน กับ 12 ราศีของตะวันตกก็คือฟังก์ชั่นในการทำนายทายทัก ไม่แปลกประหลาดอันใดเลยที่มีการใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ จะอ้างว่าเพราะ 12 ราศี เกี่ยวกับรูปลักษณะของดวงดาวที่ปรากฏบนท้องฟ้าด้วย แต่รูปดาวบนฟ้านั้น คนจะมองเป็นรูปอะไรก็ได้ ไม่เกี่ยว ที่เกี่ยวคือเพราะคติการนับถือสัตว์เป็นสัญลักษณ์ (Totemism) พบได้ทั่วไปในหลากหลายเผ่าพันธุ์ในโลก เนื่องจากสมัยก่อน มนุษย์มีวิถีชีวิตผูกพันกับสัตว์มาก

 

เวียดนามมีปีหม่าว (แมว) แทนปีเถาะ (กระต่าย)

อย่างไรก็ตาม แฟนคลับน้องแมวไม่ต้องน้อยใจ เพราะถึงจีนกับไทยจะไม่มี ‘ปีแมว’ แต่ทว่าเวียดนามมี และก็เป็นปีแทนปีเถาะ (กระต่าย) เสียด้วย ดังนั้นช่วงปีใหม่ 2566 นี้ในขณะที่คนจีนและคนไทยฉลองปีกระต่าย แต่คนเวียดนามจะฉลอง ‘ปีหม่าว’ หรือ ‘ปีแหม่ว’ ซึ่งคือ ‘ปีแมว’ 

เช่นเดียวกับ 12 ราศี 12 นักษัตรก็มีการปรับปรุงไปตามเงื่อนไขของแต่ละชนชาติเช่นกัน เดิมปีสุดท้ายของญี่ปุ่นเป็น ‘ปีหมูป่า’ แต่ภายหลังก็เปลี่ยนเป็น ‘ปีหมู’ (กุน) เพราะเดิมญี่ปุ่นมีแต่หมูป่า ไม่มีหมูบ้านหรือหมูเลี้ยงแบบจีน อินเดียเองปีสุดท้ายก็ไม่ใช่ปีหมู หากแต่เป็น ‘ปีช้าง’ เพราะช้างเป็นสัตว์สำคัญของชาวอินเดีย 

เวียดนามนอกจากมี ‘ปีแมว’ แทน ‘ปีกระต่าย’ ก็ยังมี ‘ปีควาย’ แทน ‘ปีวัว’ อีกด้วย  เพราะความสำคัญของควายในวิถีการเกษตรกรรมทำนา ‘ปีงู’ เวียดนามก็มีปีเดียวคือ ‘มะเส็ง’ ไม่มี ‘มะโรง’ หรือ ‘งูใหญ่’ เพราะถ้าถือตามคติจีน งูใหญ่คือมังกร ความสำคัญของมังกร ย่อมจะต้องแยกออกจากสัตว์เลื้อยคลานธรรมดา บางประเทศในอุษาคเนย์ก็จำแนก พญานาคเป็นงูใหญ่ ออกจากงูทั่วไปด้วยเหตุผลเดียวกัน        

เวียดนามนั้นถึงแม้จะได้รับสมญานามว่า ‘มังกรน้อย’ (Little dragon) คู่กับ ‘มังกรใหญ่’ (Big dragon) ซึ่งหมายถึงจีน และถึงแม้เวียดนามดูเผิน ๆ จะเหมือนเป็นพวกชอบเลียนแบบจีน จีนนับถือขงจื๊อ เวียดนามก็นับถือตาม รวมทั้งอะไรอีกสารพัดอย่างที่ดูเหมือนเวียดนามจะทำตามอย่างจีน

แต่ทว่าการลอกเลียนแบบจีน ทำตามอย่างจีน ไม่ได้หมายความว่าจะ ‘โปรจีน’ หรือประพฤติตามแบบอย่างจีนไปเสียหมดแบบเป๊ะ ๆ โดยไม่มีการปรับปรุงเป็นของตนเอง หรือลอกเลียนแบบจีน ก็ไม่ได้หมายความว่าเวียดนามจะชอบจีนตลอด ตรงข้าม ลอกเลียนแบบกันก็อาจหมายถึงกำลังแข่งขันกันอยู่ก็ได้ 

ยิ่งเมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์ของเวียดนาม จะพบว่าเวียดนามรบกับจีนหลายครั้ง ครั้งสำคัญ ๆ นั้นเวียดนามมักเป็นฝ่ายชนะ ตีทัพจีนแตกพ่ายถอยกลับไปได้ เวียดนามเป็น 1 ใน 2 ชนชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประวัติศาสตร์รบชนะจีน อีกชนชาติหนึ่งก็คือพม่า ที่ไทยถือเป็นศัตรูในพระราชพงศาวดารนั่นแหละ   

อนึ่ง แผ่นดินจีนก็กว้างใหญ่มีหลายชนเผ่า คตินับเวลาแบบ 12 นักษัตรเป็นเพียงคติหนึ่งเท่านั้น เพียงแต่ที่แพร่หลายมากก็เพราะเป็นคติของคนจีนกลางที่มีอำนาจการปกครอง ขณะที่เวียดนามเป็นพวกที่มีเส้นทางบกติดต่อกับจีนมาแต่โบราณ ย่อมได้รับอิทธิพลจากคติของชนเผ่าทางตอนใต้ของจีนมาก ที่เอาชนะกองทัพจีนได้ส่วนหนึ่งก็เพราะราชวงศ์ที่ปกครองเวียดนามมีนโยบายผูกมิตรกับชนเผ่าที่อยู่ตามมณฑลทางใต้ของจีน       

คำว่า ‘หม่าว’ หรือ ‘แหม่ว’ ก็ตรงกับ ‘แม้ว’ ที่ชาวยุนนานและบรรดาเผ่าทางใต้ของจีนใช้เรียกแมว ภายหลังกลายไปเป็นคำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งไปด้วย ส่วนจีนเรียกแมวว่า ‘เงียว’ หรือ ‘เหมียว’ เป็นคนละสำเนียงกับที่ชาวเวียดนามเรียก ‘เงียว’ บางทีเสียงจะตรงกับ ‘งู’ ดูผิดแปลกไปอีก   

คำว่า ‘แม้ว’ ยังตรงกับคำเรียกแมวในภาษาไทยตามสำเนียงหลวงสมัยอยุธยา ส่วนคำว่า ‘แมว’ เป็นสำเนียงจีนปนไทยของคนรุ่นรัตนโกสินทร์ตอนต้น เอกสารต้นฉบับที่อยู่ในรูปสมุดไทยโบราณจำนวนหนึ่งจึงยังใช้คำเรียกแมวว่า ‘แม้ว’ ตามสำเนียงเดิม  

 

12 นักษัตรในประวัติศาสตร์ไทย

การใช้ปีนักษัตรพบมากจากหลักฐานประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพระราชพงศาวดาร ถึงแม้ว่า ‘พงศาวดาร’ จะย่อและสมาสมาจาก ‘วงศ+อวตาร’ ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมแบบอินเดีย แต่ทว่าระบบการนับเวลาวันเดือนปีในพระราชพงศาวดารไทยกลับเป็นแบบจีนคือใช้ 12 นักษัตร

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระราชพงศาวดารเดิมที ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในแต่งและชำระคือ ‘โหร’ (พระโหราธิบดี) ซึ่งโดยทักษะความชำนาญจะต้องอาศัยฟังก์ชั่นการทำนายของ 12 นักษัตรอยู่แต่เดิม เอกสารอีกประเภทคือ ‘จดหมายเหตุโหร’ จึงพบการลำดับศักราชตามปีนักษัตรอย่างเข้มงวด 

การใช้ 12 นักษัตรในประวัติศาสตร์ไทยเริ่มต้นเมื่อไหร่  ไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่หากยึดตาม ‘พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์’ ผลงานของพระโหราธิบดีในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ได้เริ่มต้นเนื้อเรื่องโดยระบุไว้ว่า

“จุลศักราช 686 ชวดศก แรกสถาปนาพระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง”

ก็จะต้องบอกว่า เริ่มใช้มาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว เพราะ “จุลศักราช 686 ชวดศก” ตรงกับ ปีชวด (ปีหนู) พ.ศ.1867 ก่อนปีสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นเวลากว่า 26 ปี 

ส่วนการสถาปนากรุงฯ เริ่มเมื่อ “ศักราช 712 ขาลศก วันเสาร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 เวลารุ่งแล้ว 3 นาฬิกา 9 บาท แรกสถาปนากรุงพระนครศรีอยุธยา” นั่นคือการสถาปนากรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทำเมื่อปีขาล (ปีเสือ) พ.ศ.1893    

ร่องรอยสำคัญอีกประการหนึ่งของอิทธิพลแนวคิดระบบเวลาแบบ 12 นักษัตรในช่วงก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ยังได้แก่ การที่ราชวงศ์ศรีธรรมโศกราช ซึ่งปกครองอาณาจักรลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17-19 ได้จัดการปกครองหัวเมืองโดยแบ่งเป็น 12 เมือง โดยกำหนดให้แต่ละเมืองใช้ตราสัญลักษณ์รูป 12 นักษัตร จึงเรียกว่า ‘หัวเมือง 12 นักษัตร’ ได้แก่ สายบุรี, ปัตตานี, กลันตัน, ปาหัง, ไทรบุรี, พัทลุง, ตรัง, ชุมพร, บันทายสมอ, สะอุเลา, ตะกั่วป่า, กระบุรี เป็นต้น

แนวคิด 12 นักษัตรทำให้เลข 12 เป็นเลขมงคล เมื่อการค้าและการติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติของอยุธยารุ่งเรืองมาก จนมีชาวต่างชาติเข้ามาตั้งรกรากอาศัยอยู่ในกรุงมาก  กนิยมให้คำจำกัดความเรียกชาวต่างชาติเหล่านั้นอย่างรวม ๆ ว่า ‘สิบสองภาษานานาชาติ’ แม้เมื่อนับจริงจะพบว่าชาวต่างชาติในอยุธยามีจำนวนมากกว่า 12 ก็ตาม แต่ด้วยความที่เลข 12 เป็นเลขมงคลแสดงพระบารมีของกษัตริย์ในฐานะพญาจักรพรรดิราช จึงนิยมเรียก ‘สิบสองภาษานานาชาติ’ อยู่สืบมาจนถึงช่วงเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310   

อนึ่งปีเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 ก็มีการระบุปีนักษัตรไว้เช่นกัน เช่นใน ‘พระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว)’ ที่ได้ระบุศักราชของปีเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ไว้ว่า “วันอังคาร เดือนห้า ขึ้นเก้าค่ำ ปีกุน นพศก”  

ไม่เพียงแต่พระราชพงศาวดาร เอกสารบันทึกความทรงจำของบุคคลที่ผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวก็จดจำได้ดีว่า ปีเสียกรุงศรีอยุธยานั้นเป็นปีกุน (ปีหมู) เช่นที่บันทึกของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ได้ระบุศักราชของเหตุการณ์เอาไว้ว่า

“วันเสาร์ เดือน 5 ขึ้น 11 ค่ำ ลุศักราช 1129 ปีกุน นพศก”  

เป็นอันสรุปได้ว่า กรุงศรีอยุธยาสถาปนาเมื่อปีขาล (ปีเสือ) เสียกรุงเมื่อปีกุน (ปีหมู) ระยะเวลา 417 ปี คิดเป็น 34 ย่าง 35 รอบนักษัตร!!!   

การสถาปนากรุงธนบุรีตาม ‘พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)’ ก็ได้ระบุว่า “จุลศักราช 1130 ปีชวด สัมฤทธิศก” คือปีชวด (ปีหนู) รัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษกแล้วสถาปนากรุงเทพฯ เมื่อ “ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144” (ตามพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์) นั่นคือ พ.ศ.2325 ที่มีเหตุการณ์สิ้นสุดรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เข้าสู่ยุคกรุงเทพฯ ต้นนั้นเป็นปีขาล (ปีเสือ)  

นอกจากพระราชพงศาวดาร หลักฐานประเภทจารึกสมัยอยุธยา ก็พบการใช้ปีนักษัตรในบางจารึกเช่นกัน เช่นจากจารึกผนังโบสถ์วัดพรหมกัลญาราม (ปัจจุบันคือวัดศรีโพธิ์ ริมคลองสระบัว อยุธยา) ได้ระบุถึงปีที่ท้าวพรหมกันดานได้เชิญเจ้านายสองพระองค์ผู้ทรงผนวชคือ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ กับ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี (พระเจ้าเอกทัศน์ในเวลาต่อมา) มาเป็นประธานผูกพัทธสีมาสร้างวัดเป็น “ปีมะเส็ง เอกศก” ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ 

หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ปรากฏมาเป็นรูปสัญลักษณ์ให้เห็นเลยแบบที่พบที่จีน ก็มีเช่น ในลายสลักของรอยพระพุทธบาทจำลองวัดภูเขาทอง อยุธยา, รอยพระพุทธบาทจำลองวัดศาลาปูน อยุธยา, พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป สุพรรณบุรี, พระพุทธบาทไม้วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี หรืออย่างรอยพระพุทธบาทจำลองที่ย้ายจากวัดพระราม อยุธยา มาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ 

อนึ่งการใช้ปีนักษัตรของคนสมัยอยุธยา มีข้อแตกต่างจากการใช้ในช่วงหลังมานี้รวมถึงอาจแตกต่างจากจีน เพราะการปรับปรุงตามภูมิปัญญาและความสำคัญของสัตว์บางชนิดในวิถีชีวิตของคนอยุธยา เช่นเดียวกับที่ชาวเวียดนามได้ปรับเปลี่ยนปีนักษัตรเป็นแบบของตนเอง

จากจดหมายเหตุลาลูแบร์ ได้ระบุความหมายของนามปีนักษัตรในสมัยนั้นเอาไว้ดังนี้ (1) ปีมะเมีย-ปีนางม้าเล็ก (2) ปีมะแม-ปีนางม้าใหญ่ (3) ปีวอก-ปีลิง (4) ปีระกา-ปีนกกาเหว่า (5) ปีจอ-ปีแกะตัวผู้ (6) ปีกุน-ปีหมู (7) ปีชวด-ปีกระต่าย (8) ปีฉลู-ปีตะกวด (9) ปีขาล-ปีแม่ไก่ (10) ปีเถาะ-ปีแพะตัวผู้ (11) ปีมะโรง-ปีนางนกเป็ดทะเล (12) ปีมะเส็ง-ปีงู

จะเห็นได้ว่ามีที่ตรงกับความเข้าใจของคนไทยในรุ่นปัจจุบัน เพียงปีวอก (ลิง), ปีกุน (หมู), ปีมะเส็ง (งู)  สันต์ ท. โกมลบุตร ผู้แปลจดหมายเหตุลาลูแบร์ถึงกับบ่นไว้ในเชิงอรรถแห่งหนึ่งว่า

“ขอให้สังเกตว่า ลา ลูแบร์ ได้ยำนามปีของเราเสียสนุกมือทีเดียว”  

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยำนามปีดังกล่าวนี้อาจไม่ใช่ลาลูแบร์ อาจเป็นคนอยุธยาเองที่ปรับเปลี่ยนปีนักษัตรแบบจีนให้เป็นของตน ก่อนที่ในช่วงหลังเมื่อคนจีนมีอำนาจมากในสมัยธนบุรีถึงต้นรัตนโกสินทร์ ก็จึงเปลี่ยนความหมายของปีนักษัตรกลับเป็นแบบจีน การใช้ปีนักษัตรของไทยในช่วงหลังจึงค่อนข้างจะเหมือนกับของจีนอย่างมากเมื่อเทียบกับของชนชาติอื่น โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งอยู่ใกล้จีนมากกว่าเสียอีก           

ไทยนับแบบจีน (แต่) คำขะแมร์   

ในจำนวนนามปีที่ลาลูแบร์ระบุไว้ ที่ดูพิลึกพิลั่นมากก็คือมี ‘ปีตะกวด’ ด้วย แทนที่ปีฉลูจะเป็นปีวัวเหมือนปัจจุบัน แต่หากพิจารณาว่าคำศัพท์ปีนักษัตรอย่างเช่นตามลำดับที่ว่า ชวด, ฉลู, ขาล, เถาะ, มะโรง, มะเส็ง, มะเมีย, มะแม, วอก, ระกา, จอ, กุน เป็นคำภาษาขะแมร์ ถ้าใครเคยผ่านตาพงศาวดารเขมรมาบ้าง จะพบว่า ‘ตะกวด’ เป็น Totem สำคัญของประวัติศาสตร์กัมพูชา ถัดจาก ‘นางนาค’ ก่อเกิดเป็นคำเหยียดบุลลีในหลักฐานไทยเมื่อกล่าวถึงขะแมร์  ว่ามีบรรพบุรุษลิ้นสองแฉก  ทำนองด่าว่าปลิ้นปล้อนกลับกลอกเชื่อถือไม่ได้    

อย่างไรก็ตาม จะพบคำเรียกนักษัตรที่ใช้กันในไทย เป็นคำขะแมร์ ดังจะเห็นได้จากที่สารานุกรมเสรี (Wikipedia) ได้ทำแผนผังให้เห็นคำเรียกนักษัตรเปรียบเทียบระหว่างในจีนกับชนชาติต่าง ๆ มีไทย ขะแมร์ ล้านช้าง ล้านนา ไทใหญ่ เวียดนาม (คลิกดูตารางเปรียบเทียบที่นี่)

 

คำถามต่อมาก็คือ ทำไมนักษัตรไทยใช้คำขะแมร์?

ถ้าพิจารณาจากประวัติศาสตร์อยุธยา จะพบว่ามีกระแสขะแมร์ป๊อป (Khmer-pop) มาตั้งแต่แรกเริ่มสถาปนากรุงศรีอยุธยา ปรากฏตั้งแต่คำราชาศัพท์ การแต่งกาย การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมก็นิยมสร้างเจดีย์ทรงปรางค์ ราชวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาก็ทรงมีสายสัมพันธ์กับขอมลพบุรีและเขมรพระนคร หัวเมืองมหาอุปราชที่ทรงส่งสมเด็จพระราเมศวร พระราชโอรสองค์โตไปครองนั้นคือลพบุรี ที่ซึ่งวัฒนธรรมเขมรเบ่งบานมาช้านานก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาร่นขึ้นไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ 15-16   

ภายหลังเมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ซึ่งมีพื้นเพมาจากสุพรรณบุรีได้ทำศึกชนะเมืองนครธมของกัมพูชา และหลังจากนั้นมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปตีเมืองละแวก สถานภาพของขะแมร์ในสายตาคนอยุธยาก็เปลี่ยนจากนิยมนับถือมาเป็นเหยียดบุลลี แต่ก็กลับฟื้นกระแสความนิยมขึ้นมาอีกเมื่อราชวงศ์สุโขทัยต้องถอยฉากให้แก่ราชวงศ์ปราสาททอง

ซึ่งพระเจ้าปราสาททองมีเรื่องว่า ทรงสืบเชื้อสายมาจากชุมชนเขมรที่ย่านบางปะอิน ทรงนิยมวัฒนธรรมเขมร สร้างวัดทำวังก็ใช้รูปแบบเขมร และอาจรวมถึงการใช้ปีนักษัตรแบบเขมรในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเป็นปีที่แต่งพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ อีกด้วย 

อีกประเด็นที่สำคัญ ซึ่งเอกสาร ‘คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง’ ได้แสดงให้เห็นก็คือความสำคัญของการนับปีนักษัตรที่สัมพันธ์กับ ‘ฤดูลมมรสุม’ หมายถึงความรู้ทางเวลาว่าช่วงไหนจะมีเรือสินค้าจากต่างประเทศแล่นเข้ามาเทียบท่า และช่วงไหนที่เรือจากอยุธยาจะสามารถแล่นออกนอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาไปต่างประเทศได้ 

ความรู้ตรงนี้สำคัญมาก คนเรือและผู้เกี่ยวข้องทุกคนจะต้องรู้และถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ช่วงที่ไม่มีลมมรสุมเอื้ออำนวยแล้วจะแล่นเรือพาเอาลูกน้องไปปล่อยลอยคอในทะเลเล่นสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่มีมะพร้าวชูชีพครบทุกคนแบบนั้น ความผิดโทษถึงขั้นประหารชีวิต (ไม่เชื่อลองหากฎมณเฑียรบาลมาอ่านดูหน่อยนะครับท่านทั้งหลาย)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแล่นเรือไปเมืองจีนเพื่อส่งเครื่องราชบรรณาการ  ยิ่งต้องซีเรียสเรื่องฤดูเวลา สมัยอยุธยาเป็นยุคที่อินเดียโบราณได้เสื่อมอำนาจ ถอยฉากให้แก่ราชวงศ์ที่นับถือมุสลิมไปแล้ว สยามเป็นชนชาติเล็กกระจ้อยร่อย ต้องเข้าหามหาอำนาจอยู่เสมอ การต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปจิ้มก้องจักรพรรดิจีน เป็นอะไรที่บังคับอยู่ในตัวแล้วให้ต้องยึดถือระบบเวลาของจีน ไม่งั้นจะไปส่งเครื่องราชบรรณาการไม่ถูกวันเวลาเขาน่ะสิ ส่วนจะเปลี่ยนความหมายไปเรียกเป็นปีอะไรนั้น ไม่สำคัญสำหรับตรงนี้เท่ากับต้องนับเวลาตรงกับเขา     

แมวหายไป ไม่มีแมวจริงหรือ?

แล้วก็มาถึงคำถามที่เปิดเอาในตอนแรกเริ่มบทความ (ก่อนที่ผู้เขียนจะพาออกทะเล) คือน้องแมวที่รักของพวกเราทั้งหลายทำไมไม่มีอยู่ใน 12 นักษัตรจีน ซึ่งทำให้นักษัตรไทยพลอยไม่มีไปด้วย โดยที่ไทยเราไม่เหมือนเวียดนามที่อาจหาญแข็งขืนกับ ‘พี่เบิ้มใหญ่’ อย่างจีน เราเป็นพวก ‘ฉลาดในการประสานผลประโยชน์’ ยิ่งกว่าบรรพบุรุษขะแมร์มาช้านาน      

อย่างแรกที่ต้องเข้าใจก็คือว่า ถึงแม้จะเป็นไปได้ที่จีนโบราณยุคเริ่มประดิษฐ์คิดค้นปีนักษัตรอาจจะยังไม่รู้จักแมว หรือยังมีแต่แมวป่า ไม่มีวัฒนธรรมการเลี้ยงแมวเหมือนอย่างพวกในแถบเมโสโปเตเมีย-อียิปต์-กรีก แต่เมื่อเริ่มรู้จักแมวตั้งแต่ยุคหม่าฮวนกับเจิ้งเหอแล้ว ก็แล้วทำไมไม่เอาแมวเข้าไปอยู่ในปีนักษัตรด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีแมวเพราะแมวยังเป็นแต่แมวป่าอยู่ ก็แล้วเสือไม่ใช่สัตว์ป่าหรอกหรือ?  ทำไมยังมีใน 12 นักษัตรได้ ญี่ปุ่นที่อยู่ใกล้จีน รักแมวเลี้ยงแมวกันมานมนาน จนเป็นต้นกำเนิดตำนานแมวกวัก ก็ไม่มีแมวใน 12 นักษัตรเช่นกัน    

เรื่องนี้ที่จริงง่ายมาก!!!

ข้อแรก, เพราะแมวก็คือเสือ เอกสารสมัยอยุธยาหลายชิ้นเมื่ออ่านแล้ว ผู้เขียนได้ข้อสรุปว่า คนอยุธยามีคอนเซปต์ว่า เสือกับแมวเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน  ใน ‘ลิลิตพระลอ’ แต่งสมัยอยุธยาตอนต้น ตัวละครจอมขมังเวทย์ในเรื่องอย่าง ‘ปู่เจ้าสมิงพราย’ ไปฝึกวิชาแปลงกายเป็นสัตว์  ปู่ทำให้พระลอและใครต่อใครต่างงุนงงสงสัยว่า ได้สิทธิแปลงเป็นสัตว์ได้ทั้งทีทำไมเลือกแมว  ไม่เลือกนกที่บินได้ หรืออย่างช้างที่เป็นสัตว์ใหญ่

แต่ปู่เลือกแมว เพราะเหตุผลแปลงเป็นแมวได้ก็เป็นเสือได้ เท่ากับแปลงเป็นสัตว์ได้สองชนิด สองอย่างทั้งสัตว์ที่เป็นเจ้าอยู่ในป่า และเป็นเจ้าอยู่ในเรือน โอ้ปู่เจ้าสมิงพรายช่างฉลาดล้ำลึกยิ่งนัก

นอกจากในวรรณกรรม เอกสารประวัติศาสตร์ประเภทพระราชพงศาวดารเมื่อกล่าวถึงการรบทัพจับศึกก็มีพูดถึงบทบาทของพวก ‘เสือป่าแมวเซา’ เป็นหน่วยจารชนพวกสืบราชการลับของบ้านเมืองข้างเคียงและเป็นหน่วยประจำการอยู่ชายแดนพระราชอาณาเขตคอยสอดส่องว่าจะมีทัพข้าศึกยกมาบุกกรุงหรือไม่ ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้มองได้ว่าคนอยุธยามีคอนเซปต์ว่า เสือกับแมวเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน และคอนเซปต์นี้ก็ไม่ใช่มีแต่อยุธยา คนอุษาคเนย์ยุคเดียวกัน ทั้งพม่า ล้านนา ล้านช้าง ขะแมร์ เวียดนาม มลายู ต่างก็มีร่วมกัน เพราะต้นทางคอนเซปต์นี้ก็คือจีนนั่นแหละ 

เมื่อแมวก็คือเสือ ปีเสือ (ปีขาล) นั่นแหละก็คือปีแมว!!!

แค่นี้ยังไม่พอ ช้าก่อนครับ อย่าเพิ่งฟินเฟ่อ...

ข้อสอง, ขอให้ย้อนกลับไปสู่ประเด็นเรื่องฟังก์ชั่นหลักของปีนักษัตรอย่างการทำนายทายทักก่อน แล้วจะเข้าใจ ก็เพราะนิสัยและพฤติกรรมแบบแมว ๆ นั่นแหละครับ ที่ทำให้ไม่เหมาะจะเป็นตัวแบบอ้างอิงของการให้คำทำนายแห่งปี เป็นเหตุผลเดียวกับที่ไม่มีลา ไม่มีนก ไม่มีกวาง ไม่มีจิ้งจกตุ๊กแก ฯลฯ   

ถ้ารู้จักบุคลิกและนิสัยของคุณท่านแมวของเราดีพอ จะรู้ว่าแมวมันทำนายไม่ได้ แมวแต่ละตัวมีนิสัยแตกต่างกัน ไม่ได้มีนิสัยหรือพฤติกรรมเด่นแบบเดียวแน่ชัดหรือใกล้เคียงกันเหมือนสัตว์อื่น ไม่เหมือนหมา ที่เด่นในเรื่องความซื่อสัตย์จงรักภักดี ไม่เหมือนม้าที่เด่นเรื่องความขยันขันแข็ง ไม่เด่นเรื่องดุร้ายเหมือนเสือ ไม่เด่นเรื่องซนเหมือนลิง แมวเอาแน่เอานอนไม่ได้ ดูเหมือนจะมีคุณสมบัติทั้งหมดที่ว่ามา แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดไปเสียอีก   

บทมันจะซื่อสัตย์และรักเจ้าของมันขึ้นมา มันก็รัก แต่หากทำให้มันโกรธก็ดุร้ายไม่ต่างจากเสือตัวน้อย ๆ บทมันจะดื้อจะซนมันก็ยิ่งกว่าลิง หรือบทจะฉลาดว่องไว มันก็รวดเร็วกว่าหนู แต่ส่วนใหญ่มันจะขี้เกียจ  วัน ๆ เอาแต่นอน ซึ่งนั่นก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของแมวที่คนเลี้ยงแมวจะเข้าใจดี แต่ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของมันนี่แหละ ที่ทำให้แมวไม่เหมาะจะอยู่ใน 12 นักษัตร 

ขนาดนักปราชญ์ผู้แต่ง ‘ตำราแมวโบราณ’ หลายต่อหลายฉบับ ยังยอมรับว่าท้ายที่สุดแล้วไม่อาจนิยามแมวให้เหมือนสัตว์ชนิดอื่นได้ มนุษย์ที่ว่ายากแท้หยั่งถึงแล้ว  ยังไม่ยากเท่าแมว  แม้จะแบ่งประเภทแมวตามลักษณะสีขนและบุคลิกออกกว้าง ๆ เป็น ‘แมวดี’ หรือ ‘แมวมงคล’ กับ ‘แมวร้าย’ หรือ ‘แมวไม่ดี’ ไม่ควรเลี้ยงแล้ว ตำราก็ยังระบุไว้ด้วยว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นอาจจะผิด ขึ้นกับนิสัยแมวแต่ละตัวด้วย       

จริง ๆ คำถามที่ว่า ทำไมแมวไม่มีใน 12 นักษัตร เป็นคำถามที่ราวกับไม่รู้จักแมว ในทางตรงข้าม 12 นักษัตรนั่นต่างหากไม่เหมาะที่แมวจะอยู่ ส่วนที่เวียดนามมีปีแมวได้นั้น เพราะมีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมี  เป็นเรื่องเฉพาะในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมของเวียดนามเอง 

แต่ไทยจะหวนกลับไปถือว่าปีขาลเป็นปีแมวไปด้วย เหมือนเช่นที่คนสมัยอยุธยาถือว่าแมวกับเสือเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน อย่างนั้นก็ได้ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากมาย ของมันปรับปรุงกันได้

เอวังก็ด้วยประการฉะนี้...  

(วันนี้คุณเล่นกับแมวแล้วหรือยัง?)        

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

อ้างอิง:

สารานุกรมเสรี. “ปีนักษัตร” ใน th.wikipedia (สืบค้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2565)

ส. พลายน้อย (สมบัติ พลายน้อย). สัตวนิยาย. กรุงเทพฯ: อักษรพิทยา, 2537.

ส. พลายน้อย (สมบัติ พลายน้อย). นิทานเชิงประวัติ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์น้ำฝน, 2540.

George, Demetra. Ancient Astrology in Theory and Practice: A Manual of Traditional Techniques, Volume II: Delineating Planetary Meaning. Ruberdo Press, 2022.

Gleadow, Rupert. The Origin of the Zodiac. Dover Publications, 2011.

Huan, Ma. Ying-Yai Sheng-Lan: The Overall Survey of the Ocean’s Shores 1433. Translated by J.V.G. Mills, Cambridge: Cambridge University Press, 1970.

Hwang, Aaron. The Chinese Zodiac and Other Paths to Luck, Riches & Prosperity. Running Press, 2022.

Nguyen, Antoine Khai. Decoding Ancient Chinese vs. Vietnamese Zodiacs. Independently Published, 2019.

Pankenier, David W. Astrology and Cosmology in Early China: Conforming Earth to Heaven (New edition). Cambridge University Press, 2015.

Powell, Robert. History of the Zodiac. Sophia Foundation Press, 2017.