‘แมว’ อยู่ตรงไหนในหน้าประวัติศาสตร์ของไทย? ไฉนเลือกนาค (งู) เป็นสัตว์ประจำชาติ?

‘แมว’ อยู่ตรงไหนในหน้าประวัติศาสตร์ของไทย? ไฉนเลือกนาค (งู) เป็นสัตว์ประจำชาติ?

ปัจจุบันไทยมีสัตว์ประจำชาติเป็น ‘นาค’ ทั้งที่ในอดีต เคยมี ‘ช้าง’ เป็นสัตว์สำคัญ คำถามสำคัญอีกข้อคือ แล้ว ‘แมว’ หายไปไหน? ทั้งที่มีที่ทางในอดีตไม่แพ้ทั้งสองชนิดข้างต้น

  • ในยุครัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นาค ถูกประกาศให้เป็นสัตว์ประจำชาติไทย
  • มีคำถามว่า ‘แมว’ ที่ปรากฏในหลักฐานตั้งแต่อดีต อยู่ตรงไหนในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ทั้งที่ต่างชาติยอมรับและนิยมแมววิเชียรมาศ 
  • ขณะที่ ‘ช้าง’  ซึ่งเคยเป็นสัตว์สำคัญก็ผ่านพ้นยุคที่ได้รับความนิยมไปแล้ว

ตามที่มีมติครม.ออกมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 ที่เพิ่งผ่านมา รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศให้ ‘นาค’ เป็น ‘สัตว์ประจำชาติของไทย’ เนื่องจากนาคเป็นสัตว์ไม่มีตัวตนอยู่จริงจึงได้ระบุเพิ่มเติมว่า ‘ประเภทตำนาน’  

แต่ถึงจะระบุว่า ‘ประเภทตำนาน’ มาแบบนั้น ก็ยังก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นถึงความเหมาะสมอย่างไม่ไหวจะเคลียร์ เพราะนาคในปัจจุบันนี้ผู้คนแยกไม่ออกจากอิทธิพลของ ‘สายมู’ ตั้งแต่หลายปีก่อนที่จะเกิดกระแสที่อุดรธานี ในภาคกลางเอง ความเชื่อเรื่องนาคในระดับพื้นถิ่นก็มีอะไรแปลกพิสดารมากมาย พบรอยคล้ายเกล็ดงูขนาดใหญ่ ผู้คนก็มักจะทักกันว่าเป็น ‘รอยพญานาค’  

ไม่เว้นแม้แต่สถานที่อย่างในพระนครศรีอยุธยา ครั้งหนึ่งเมื่อเพื่อนถามว่า “เย็นนี้เลิกงานแล้วไปไหน?”

เมื่อตอบว่า “จะไปวัดภูเขาทอง” เพื่อนก็บอกว่า “ได้เลขเด็ดอะไรมาก็บอกด้วยนะ” 

ตอนแรกก็งงในงงว่า เดี๋ยวนี้เจติยสถานเขามีให้หวยกันได้ด้วยหรือนี่ ถ้าเป็นสถานที่อื่นก็อาจไม่พีกเท่ากับที่นั่นคือวัดภูเขาทอง มีมหาเจดีย์ภูเขาทองตั้งอยู่ มหาเจดีย์ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จัดเป็นสิ่งอันเป็นหลักเป็นฐานของบ้านเมืองสมัยกรุงศรีอยุธยา จู่ ๆ เหมือนมหาเจดีย์ก็ถูกท่านพญานาคมาขโมยซีนเอาดื้อ ๆ ยิ่งกว่าที่พระจันทร์มาป่วนพระแม่คงคาในคืนวันลอยกระทงเสียอีก   

มิตรสหายสายมูตลอดจนนักวิชาการหลายท่านต่างเสนอว่า นั่นเป็นปรากฏการณ์อันสืบเนื่องมาจากพุทธศาสนาแบบเดิม ๆ ไม่เพียงพอ พระรึก็เป็นข่าวฉาวประเด็นสีกาอยู่ตลอด ผีก็ไม่น่าศรัทธา เพราะผีเดิมก็คือคน ไม่ใช่ผีแบบผีฟ้าพญาแถนแบบเก่าแก่โบราณดั้งเดิม 

ในขณะที่ชีวิตจริงผู้คนต้องอยู่อย่างลำบากเพราะพิษเศรษฐกิจ การทำมาหากินฝืดเคือง รายได้ไม่เพียงพอ ดูเหมือนทุกคนเกิดมาเพื่อมีหนี้สินแล้วตายจากไป  แม้แต่สิ่งสำคัญจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างบ้าน ที่ดิน หรือพาหนะเดินทางอย่างรถยนต์ ทุกอย่างทำให้เราเป็นหนี้และตายเพราะมันได้หมด ท่ามกลางสภาพแบบนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้คนย่อมจะต้องการอำนาจพิเศษลี้ลับมาช่วยเยียวยาจิตใจ    

การที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ประกาศแต่งตั้ง(พญา)นาคเป็นสัตว์ประจำชาติ ก็เหมือนไปหยิบเอาสิ่งที่ชาวบ้านนับถือคุ้มครองอยู่นั้นมาเป็นของตนเองด้วย

ปกติชาวบ้านจะต้องการอำนาจศักดิ์สิทธิ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เมื่อเป็นผู้นำชาติก็เอาด้วย มาทำให้ ‘นาค’ เป็น ‘ไอดอล’ ของชาติไปด้วยแบบนี้ ก็เลยดูจะเป็นเรื่องแปลกประหลาดไป เพราะรัฐบาลปกติเขาต้องมีหน้าที่บำบัดทุกข์-บำรุงสุข คือการช่วยเหลือแก่ประชาชนในทางโลกย์ คือมีหน้าที่ปกป้องดูแลผู้อื่น ไม่ใช่ให้ผู้อื่นต้องมาคอยเลี้ยงดูประคบประหงมซะที่ไหน   

นาค (แล้วไง?)  

เหตุผลตามที่โฆษกรัฐบาลได้แถลงไว้นั้นคือ

“เพื่อสร้างให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดเป็น Soft Power ในการนำทุนวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและนำรายได้เข้าประเทศ”

ส่วนความสำคัญของนาค ซึ่งเป็นคำอธิบายว่าทำไมจึงต้องเป็นนาค? ตามประกาศของครม.ได้ระบุไว้ว่า 

“นาคมีคติความเชื่อที่ปรากฏในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน มีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตคนไทย สะท้อนถึงตำนานและความเชื่อมาแต่อดีต สื่อออกมาผ่านทางขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม พิธีกรรมต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบัน เช่น เป็นผู้พิทักษ์ศาสนา เป็นบันไดเชื่อมระหว่างโลกและสวรรค์ บั้งไฟพญานาคในวันออกพรรษา และประเพณีไหลเรือไฟ เรือที่ตกแต่งขึ้นก็แทนพญานาคเพื่อลอยไปบูชารอยพระพุทธบาท เป็นต้น

ดังนั้น นาคจึงถือเป็นสัญลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรมของประชาชนคนไทยอย่างแนบแน่น”

สำหรับภาพต้นแบบของนาคนั้น คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้มอบหมายกรมศิลปากร สำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการร่างภาพต้นแบบนาค ซึ่งภาพต้นแบบนี้สื่อให้เห็นภาพรวมคติความเชื่อเกี่ยวกับนาค เป็นรูปพญานาค 4 ตระกูล คือ ตระกูลวิรูปักษ์ (สีทอง), ตระกูลเอราปถ (สีเขียว), ตระกูลฉัพพยาปุตตะ (สีรุ้ง) และตระกูลกัณหาโคตรมะ (สีดำ)

โดยมีนาคตัวใหญ่สุด คือ ‘นาควาสุกรี’ เพราะเป็นนาค “ที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ ส่วนรายละเอียดประกอบภาพ เช่น คลื่นน้ำ และ ศาสนสถาน สื่อให้เห็นว่านาคเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงบทบาทการเป็นผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา”

ชื่อนาคทั้ง 4 ตระกูล กับลูกพี่ใหญ่อย่างนาควาสุกรี ก็ไม่ไทยแล้ว แต่ก็นั่นแหละ หลายอย่างที่เป็นสันสกฤตจะถูกลากเข้าเป็นไทยได้ง่าย เมื่อนำไปผูกโยงกับพุทธศาสนา ที่ระบุบทบาทนาคว่า “เป็นผู้พิทักษ์รักษา...”  

ฟังดูก็คลับคล้ายคลับคลาว่าเป็นภาษาแบบเดียวกับที่ทหารใช้ในการเมืองไทย เป็นผู้พิทักษ์รักษาแต่ในขณะเดียวกันก็ตั้งตัวเป็นเจ้าเข้าเจ้าของเสียเอง 

นาคระดับทอปมีฤทธิ์อำนาจมากและยิ่งใหญ่ที่สุดตามคติพุทธศาสนา ไม่มีนาคตนใดเทียบได้กับพระภูริทัต ไม่ใช่แค่เพราะพระภูริทัตเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ในเรื่องทศชาติชาดก หากแต่เพราะพระภูริทัตนั้นบำเพ็ญศีลบารมี ต้องทรงใช้ขันติอย่างมากที่จะไม่ทำร้ายผู้ที่ทำร้ายพระองค์แม้แต่อย่างหมองูอาลัมพายน์ที่จับพระองค์ไปทรมาน พระภูริทัตคือแบบอย่างของสันติวิธีโดยแท้ ซึ่งเข้าใจได้ว่าทำไมรัฐบาลทหารไม่ชอบ      

ยังไม่นับปัญหาว่า นาคไม่ได้เป็นความเชื่อที่มีแต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นที่นับถือ ลาว เขมร พม่า อินโดนีเซีย ต่างก็มีนาค หลายฝ่ายเลยเกิดความกังวลว่าจะไปจุดชนวนความขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับนักเคลมอย่างเขมรเข้าให้อีก 

แต่เรื่องพวกนี้เหมือนใครไวคนนั้นได้ และก็จริงอยู่ที่ในสังคมอื่นก็มีการใช้สัตว์ประจำชาติที่เป็นสัตว์ในตำนาน อย่างไลอ้อนที่สิงคโปร์ มังกรของจีน ของไทยที่เข้ากับแคแรกเตอร์แบบรัฐราชการ ไม่พ้นต้องเป็นพญาครุฑ เพราะครุฑเป็นพาหนะขององค์อวตารตามความเชื่อแบบไทยไม่แท้ (เพราะผสมอินเดีย) แต่ครุฑกับ ‘การูด้า’ ก็อันเดียวกัน อินโดนีเซียประกาศใช้ไปแล้ว 

แต่ถึงกระนั้นจะกล่าวว่าไทยมีครุฑเป็นสัตว์ในตำนานประจำชาติเหมือนอย่างที่จีนมีมังกร สิงคโปร์มีไลอ้อน ก็ไม่ผิดนัก ถ้าผิด ก็คงต้องเปลี่ยนรูปตราด้านบนหัวกระดาษของหนังสือราชการแล้วล่ะท่าน

การประกาศใช้นาคจึงเหมือนเอานาคมาแย่งซีนครุฑอยู่กลาย ๆ ถึงจะต่างก็เป็นพาหนะของ ‘องค์อวตาร’ ด้วยกันก็เถอะ ไม่รู้ว่าครุฑท่านผิดอะไร ในเมื่อก็เป็นตราราชการอยู่ช้านานไม่พบบกพร่องต่อหน้าที่อย่างใด 

ยกเว้นแต่ที่ครุฑท่านเป็นได้เพียงตัวแทนของขุนนางข้าราชการ ประชาชนไม่เกี่ยว อีกทั้งเมื่อมองในแง่ว่า ตราครุฑนั้นทรงพลังโดยตัวมันเองไปแล้ว (โดยไม่จำเป็นต้องใส่สบงใด ๆ) ตราครุฑเป็นตราสัญลักษณ์ของอำนาจที่เป็นทางการ จึงไม่เหมาะในแง่ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ เพราะใช้ในวัฒนธรรมการสั่งการแบบบนลงล่างมาตลอด ยิ่งเอาไปสื่อกับสังคมภายนอก ยิ่งไม่เหมาะ 

ในตำนานไทย ๆ ครุฑอาจทรงพลังสูงสุด แต่ในโลกจริงทุกวันนี้ก็เห็นอยู่ว่า ในระดับสากล ค่าพลังของสัญลักษณ์ ‘ครุฑ’ ด้อยกว่า ‘พญาอินทรีย์’ หรืออย่าง ‘หมีขาว’ มาก แง่หนึ่งก็น่าเห็นใจในความขาดแคลนสัญลักษณ์ (ที่มาพร้อมความทรงพลังในโลกจริงด้วย) ในเมื่อยังต้องอ้างอิงโลกจริงและใช้ในการสื่อสารกับโลกภายนอกอยู่ 

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะไม่มีสิ่งที่เหมาะสมที่จะเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ให้กับไทย และที่กล่าวมาก็ไม่ได้หมายความว่า นาคไม่สำคัญ ตรงกันข้าม นาคสำคัญมาก เพียงแต่เป็นคนละมิติคนละที่คนละทางกันเท่านั้น 

ภาพประกอบเนื้อหาเท่านั้น  

ช้าง (กรูอยู่ไหน?)  

จริงอยู่ว่าช้างมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ช้างอาจจะเคยเป็นพาหนะสงคราม อาจเคยเป็นสินค้าออกสำคัญสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงแก่ชนชั้นนำสยาม อาจเคยเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะพระมหากษัตริย์ (จักรพรรดิราช) เป็นเครื่องแสดงบุญบารมีเพราะเป็นสิ่งที่พระพุทธมารดาทรงพระสุบินนิมิตเห็นในคืนวันที่พระพุทธองค์จะมาประสูติ อาจเคยเป็นรูปสัตว์หนึ่งเดียวในธงชาติสยามมาก่อน ฯลฯ

แต่ช้างในฐานะสัตว์ประจำชาติของไทยอย่างเป็นทางการนั้น เพิ่งจะเริ่มเมื่อ พ.ศ.2541 ในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย สืบเนื่องจากความเคลื่อนไหวในประแสอนุรักษ์ช้างไทย จนนำมาสู่การสถาปนา ‘วันช้างไทย 13 มีนาคม’ ขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2541 และได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2541     

‘วันช้างไทย 13 มีนาคม’ เกิดจากการริเริ่มของคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย  ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงานองค์การภาครัฐและเอกชน ที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างในประเทศไทยโดยคณะอนุกรรมการฯ นี้ได้ยื่นเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  อยู่ก่อนหน้านั้นหลายปี แต่เพิ่งจะได้รับการตอบรับเมื่อ พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมไทยเกิดวิกฤติอัตลักษณ์อันเป็นผลต่อเนื่องสืบมาจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ พ.ศ.2540 

พร้อมกันนั้น ‘ช้างไทย’ ได้รับความสนใจจากกระแสนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกันมาก ช้างเป็นความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ในขณะที่ช้างกลับกำลังประสบปัญหาต้องการความช่วยเหลือในด้านการอนุรักษ์อย่างปัจจุบันทันด่วน เนื่องจากเล็งเห็นว่าหากมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้นจะช่วยให้ปวงชนชาวไทย หันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น

คณะอนุกรรมการฯ จึงได้พิจารณาหาวันที่เหมาะสม ซึ่งครั้งแรกได้พิจารณาเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชามังสามเกียด ซึ่งเป็นการอ้างอิงประวัติศาสตร์นิพนธ์มาใช้ แต่วันดังกล่าวถูกยกให้เป็น ‘วันกองทัพไทย’ ไปก่อนหน้านั้นแล้ว จึงได้พิจารณาหาวันอื่น แล้วเห็นว่าวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือก ‘สัตว์ประจำชาติ’ อยู่พอดีในปี 2541 นั้น ซึ่งในครั้งนั้นได้มีมติให้ ‘ช้างเผือก’ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย ช้างก็เลยถูกถือเป็น ‘สัตว์ประจำชาติไทย’ ไปด้วยพร้อมกับการเกิด ‘วันช้างไทย’

แต่แล้วเมื่อถึงปลาย พ.ศ.2565 นี้ เกิดอะไรขึ้น เหตุใดรัฐบาลยุคที่มีทหารเป็นผู้นำจึงเอาใจออกห่างจากช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวร จะว่าเพราะท่านมีเรือดำน้ำ ไม่ใช่ยุคขี่ช้างออกศึกก็กระไรอยู่

น่าสังเกตว่าแม้จะมีประกาศให้ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติและมีวันช้างไทยไปตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย แต่ในสมัยชวนนั้นเนื่องจากเศรษฐกิจดิ่งเหวจนคนฆ่าตัวตายรายวัน จนพนักงานออฟฟิศหรือชนชั้นกลางต่างตกงานกันทั่วเมือง ไม่มีใครสนใจหรอกครับว่าสัตว์ประจำชาติคืออะไร ยังไง เพราะสัตว์อะไรจะเป็นสัตว์ประจำชาติ เขาก็ต้องทำมาหากินกันต่อไป (ประมาณนั้นนั่นแหละครับ)      

จนเมื่อพ.ศ.2544 ผลการเลือกตั้งปีนั้นพรรคไทยรักไทยกับสโลแกน ‘วิกฤติเป็นโอกาส’ ได้เข้าวิน นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ 1 ช้างไทยแพร่หลายไปทั่วโลก ช้าก่อน! เดี๋ยวก่อน! ผู้เขียนไม่ได้จะกำลังพาย้อนอดีตไปยังสมัย ‘บ้านเมืองดี’ เพราะผลงานการทำช้างไทยให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์นั้น สำหรับในที่นี้ถือเป็นบทบาทของภาพยนตร์ไทยที่ฉายในต่างประเทศอย่างเรื่อง ‘องค์บาก’ เมื่อ พ.ศ.2546

ดารานำอย่างจา พนม ผู้มาพร้อมกับคำถามที่ว่า ‘ช้างกรูอยู่ไหน?’ ก่อนจะกระโดดถีบยอดอกฝรั่งตาน้ำข้าวล้มลงคนแล้วคนเล่า ‘ช้างกรูอยู่ไหน?’ ของจา พนม ในแง่หนึ่งคือการตามหาอัตลักษณ์ความเป็นไทยอย่างเกรี้ยวกราด เป็นช่วงเดียวกับที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว เกิดความเชื่อมั่นในการแข่งขันกับต่างชาติ (โดยเฉพาะฝรั่งมังค่า) ไม่ใช่ด้วยอัตลักษณ์กรุงเทพฯ อย่างผัดไทย หากแต่เป็นท้องถิ่นที่มีช้างอย่างสุรินทร์    

แต่เมื่อ 19 ปีผ่านไป ไทยไม่เพียงไม่อาจตามหาอัตลักษณ์ของตนจากการกระโดดถีบยอดอกฝรั่งได้อีกต่อไป  หากยังต้องไปหลบแอบอิงพิงซบหลังพี่จีน ในอนาคตจะกระโดดถีบพี่จีนขึ้นมาบ้างก็ไม่แปลก แต่ไม่รู้ว่าเวลานั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ ช่วงนี้เลยต้องหาเรื่อง ‘ถีบ’ กับเพื่อนบ้านอย่างลาว อย่างเขมร โดยการชิงนาคกันไปก่อน (ล่ะมั้ง?)    

ยุคที่ไทยเป็น ‘ช้าง’ ในแบบที่พระนเรศวรขึ้นขี่ไปเอาชนะเพื่อนบ้านอย่าง ‘เจ้าก้านกล้วย’ หรือยุคเป็น ‘ช้าง’ ในแบบที่จา พนม ตามไปโดดถีบอกฝรั่งนั้น จบสิ้นไปแล้ว ตอนนี้เราอยู่ในยุคเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนเคารพกราบไหว้ แต่ไม่มีอยู่จริง ‘ทำใจ ทำใจ ทำใจ’ (กันไปเถิดนะ ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย)           

ช้าง (ภาพประกอบเนื้อหา)

Siamese cat (ที่โลกรู้จัก แต่ไทยไม่รู้)

สัตว์ประจำชาติของไทย ถ้าไม่ใช่ช้าง ครุฑก็ไม่เหมาะนาคก็ไม่เวิร์ค แล้วอะไรล่ะที่จะเข้าทีและเข้าท่า ถ้าถามผู้เขียนในฐานะนักศึกษาประวัติศาสตร์ ผู้เขียนจะตอบว่า “ก็ไอ้ที่ร้องเมี๊ยว ๆ หง่าว ๆ” อยู่ใกล้ ๆ พวกท่านนั่นยังไงล่ะ?

ใช่แล้ว!  

ผู้เขียนหมายถึง ‘เจ้านายแมว’ ของเราท่านทั้งหลายนั่นแลขอรับ     

แมวมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทยอย่างไร บอกเลยว่าเห็นตัวเล็ก ๆ แต่ไม่ด้อยกว่าช้างตัวเบอเร่อ แถมเจ๋งกว่าครุฑ กว่านาค ตรงที่มีอยู่จริง ไม่เชื่อก็ไปกระตุกหนวดหรือจกพุงคุณท่านดูเอาเอง   

แมวสำคัญแค่ไหน? 

ก็เอาง่าย ๆ ว่า แมวปรากฏในหลักฐานประวัติศาสตร์เยอะแยะมากมาย มีหลักฐานทั้งประเภทเป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เพียงแต่ที่ผ่านเวลาอ่านหลักฐานเหล่านี้เรามักสแกนหาแต่สิ่งอื่นหรือมองผ่านคุณท่านกันไปเอง 

แมวเป็นที่รู้จักกันดีในหลายประเทศทั่วโลก จีนเรียก ‘เงียว’ ละว้าเรียก ‘เมียว’ เย้าเรียก ‘ม่อยล่ม’ เขมรเรียก ‘ชะมาร์’ หรือ ‘ฉมาร์’ เวียดนามเรียก ‘แหม่ว’ พม่าเรียก ‘จ่าวน์’ มลายูกับชวาเรียก ‘กูจิง’ อินเดียเรียก ‘วิฬาร์’ แขกอาหรับเรียก ‘กิตตุน’

ชาวยุโรปนอกจากคำว่า ‘Cat’ ก็มีอีกคำที่ใช้เรียกย้อนไปถึงบรรพชนสายพันธุ์ของมันทั้งแมวบ้านกับแมวป่าว่า ‘Feline’   

ส่วนคำว่า ‘แมว’ นอกจากไทยแล้ว ก็มีลาวที่เรียกคุณท่านด้วยคำเดียวกันนี้คือ ‘แมว’ สรุปง่าย ๆ เลยว่า อันแมวนี้ผู้คนทั่วโลกไม่มีใครไม่รู้จัก ส่วน ‘พญานาค’ (จะกี่ตระกูลก็เหอะ) จะบอกใครเขารู้เรื่องก็ต้องว่า ‘Snake ๆ’ (ก็งูนั่นแหละ) 

แมวสำคัญจนถึงกับบรรพบุรุษบรรพสตรีของไทย ต้องมี ‘ตำราแมวโบราณ’ สำหรับไว้ทำความรู้จัก มีตำราแมวแพร่หลายมากจนปัจจุบันก็ยังไม่อาจทราบจำนวนที่แท้จริง มีตั้งแต่ฉบับสามัญชนแต่ง ขุนนางแต่ง และระดับชั้นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงทรงพระนิพนธ์เอาไว้ก็มี อย่างเช่น ‘ตำราแมวฉบับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวรเรศวริยาลงกรณ์’ เมื่อ พ.ศ.2381 (สมัยรัชกาลที่ 3) ทั้งแต่งใหม่ ทั้งชำระของเดิม ทั้งฉบับคัดลอกกันเรื่อยมา

จนถึงช่วงกึ่งพุทธกาล 2500 เกิด ‘ตำราแมวฉบับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสรมหาเถระ)’ หรือ ‘ตำราแมวฉบับวัดอนงคาราม จังหวัดธนบุรี’ ที่ใช้เป็นมาตรฐานแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้ 

ล่าสุด เมื่อผู้เขียนพูดคุยกับมิตรสหาย อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ นักประวัติศาสตร์วรรณกรรมผู้เรียกตัวเองว่า ‘เทพบกแห่งทุ่งรังสิต’ ก็ให้ข้อมูลว่ามี ‘ตำราวิฬาร์’ ของภาคใต้ด้วย 

ผู้เขียนก็ระลึกชาติได้ว่า ตำราแมวฉบับ พ.ศ.2475 ก็เป็นตำราของภาคใต้ พบต้นฉบับที่ชุมพร คือช่วงก่อนทศวรรษ 2500 มีการคัดลอกตำราแมวแพร่หลายไปทั่วทุกภูมิภาค จนไม่อาจทราบแน่ชัดว่ามีตำราอยู่ทั้งหมดกี่ฉบับ ที่มีเหลือเก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ (หสช.) นั้นก็เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น 

ตำราแมวมีฟังก์ชั่นหนึ่งเป็นตำราเรียนภาษาบาลีแก่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อทำความรู้จักแมว เลือกเลี้ยงแมวได้ถูก เพราะแมวมีประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้หนูมารบกวนพระไตรปิฎกที่ครั้งโน้นยังอยู่ในรูปใบลานหรือวัสดุที่บรรดาหนู ๆ จะชอบกัดทำลายได้ ในแง่นี้แมวจึงมีคุณต่อพุทธศาสนาในฐานะผู้ปกป้องหลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์     

ในพิธีขึ้นบ้านใหม่ของสามัญชน มีอุ้มแมวขึ้นเรือนตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่มีใครทราบ ในพิธีแต่งงานก็มีอุ้ม ‘แมวคราว’ ตัวอ้วนขึ้นเรือนหอมาช้านานอีกเช่นกัน ภายหลังพิธีไพร่แพร่ไปเป็นพิธีราชสำนักจึงเกิดการ ‘อุ้มวิฬาร์’ ในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรเนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แม้แต่พระมหากษัตริย์จะขึ้นครองราชย์ยังต้องทรงพระ ‘มีแมว’  

‘ไซมีสแคท’ (Siamese cat) เป็นที่รู้จักและนิยมเลี้ยงในหมู่ชาวต่างประเทศมานานแล้ว โดยเฉพาะในหมู่สตรีที่ติดตามสามีมาปฏิบัติหน้าที่ทำการทำงานในสยาม ราชสำนักรัชกาลที่ 5 ก็ทรงทราบดีว่าพวกมันเป็นที่นิยมในหมู่ชาวต่างประเทศมากเพียงใด มันเลยถูกใช้เป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ให้แก่สยามในยุคอาณานิคม

แมวเป็นสัตว์ที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดพระราชทานให้ทูตหรือชาวต่างชาติที่เข้าเฝ้าลากลับประเทศตนได้นำเอากลับบ้านเมืองของตนด้วย เป็นเหตุให้น้องแพร่หลายเป็นที่นิยมเลี้ยงและแพร่พันธุ์ในยุโรปและอเมริกา

เมื่อถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ก็พบบันทึกเกี่ยวกับ ‘ไซมีสแคท’ ในต่างประเทศเป็นอันมาก เมื่อพวกเขาได้รับพระราชทานจากราชสำนัก เขาก็เรียกมันว่า ‘Royal cat’ (แมวหลวง หรือแมววัง หรือแมวราชสำนัก) เพราะเข้าใจไปว่าเป็นแมวที่เลี้ยงกันเฉพาะในพระบรมมหาราชวัง แต่เมื่อทราบกันภายหลังว่าก็เป็นแมวอย่างเดียวกับที่วิ่งเล่นอยู่ตามบ้านเรือนไพร่ราษฎรชาวสยามทั่วไป ก็เกิดการปรับเปลี่ยนมาเรียก ‘ไซมีสแคท’ (Siamese cat) ในที่สุด แต่คนไทยจะนิยมเรียก ‘แมวไทย’ มาจนทุกวันนี้ 

Siamese cat ที่ฝรั่งรู้จักและเรียกขานกันมานานนั้น ไม่ได้หมายถึงแมวในประเทศสยามทุกตัวหรือทุกสายพันธุ์ เฉพาะกว่านั้นหมายถึง ‘แมววิเชียรมาศ’ เพราะเป็นแมวชนิดที่ชาวต่างประเทศนิยมนำขึ้นเรือกลับไปประเทศตนด้วยมากที่สุด ในตำราแมวของชาวสยามก็ถือว่าพวกมันเป็น ‘แมวมงคล’ ใครเลี้ยงไว้จะบันดาลให้เกิดโชคลาภ      

เมื่อเกิดการประกวดแมวนานาชาติขึ้นที่คริสตัลพาเลซ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อ ค.ศ.1885 (พ.ศ.2428) ก็มี ‘ไซมีสแคท’ เข้าร่วมการประกวดและได้รับรางวัล กล่าวกันว่าสมัยโน้นมี 2 สิ่งที่ทำให้ชาวต่างประเทศรู้จักสยาม หนึ่งคือแฝดสยามอิน-จัน กับ สองคือ ‘ไซมีสแคท’ หรือก็คือ ‘แมววิเชียรมาศ’ นี้แหละ

ในด้านความเป็นอัตลักษณ์แทนคนไทย แมวยังสะท้อนอุปนิสัยแบบคนไทย ๆ  อันนี้ไม่เชื่อผู้เขียน ไม่เป็นไร ขอให้อ่านพระราชปรารภในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงเปรียบนิสัยคนไทยเหมือนดั่งแมวที่เราเลี้ยงอย่างไร ก็ดังที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีไปถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้ม สุขุม) เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ร.ศ.128 (พ.ศ.2443) ที่ระบุว่า:

“ธรรมดาคนพวกนี้ต่างคนต่างอยากจะมีปัญญา แต่ไม่มีความรู้  ถ้าค่อยๆ ขยายความรู้ให้เขาเข้าใจขึ้น แต่อย่าไปสอน เพราะธรรมดาคนไทยเป็นแมว  ยิ่งเรียกยิ่งเดินหนี ถ้าคลุกข้าวทิ้งไว้ คงจะมากินของฉันใด ถ้อยคำอันใดที่จะเพาะ ต้องให้เขาลืมๆ นึกไปว่าตรัสรู้ขึ้นมาเอง ถ้าเช่นนั้นแล้วก็จะคุยคอโก่ง ถึงใจจะนึกอย่างหนึ่ง ปากคงยังต้องพูดตามทางที่ถูก ด้วยหาไม่จะไม่เป็นคนมีปัญญา”

จากที่ทรงระบุว่า “ยิ่งเรียกยิ่งเดินหนี ถ้าคลุกข้าวทิ้งไว้ คงจะมากิน” สะท้อนว่าทรงรู้จักลักษณะนิสัยแบบแมว ๆ เป็นอย่างดี

วิภัส เลิศรัตนรังษี (หรือ ‘ขงเบ้งแห่งเมืองสุพรรณ’) ผู้แนะนำผู้เขียนให้รู้จักเอกสารดังกล่าวนี้ก็เห็นพ้องกันว่าพระราชปรารภข้างต้นของรัชกาลที่ 5 ช่างแยบคายและเฉียบแหลมในการอ่านนิสัยใจคอของผู้ใต้ปกครองของพระองค์

อย่างที่บอกไว้แล้วว่า ตำราแมวโบราณเป็นเอกสารสำคัญที่ชนชั้นสูงทั้งบรรพชิตและฆราวาสต่างได้มีโอกาสศึกษา เพราะอย่างตำราฉบับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงพระนิพนธ์ขึ้นนั้นเป็นตำราสำหรับพระภิกษุสงฆ์ได้ร่ำเรียนอักขระภาษาบาลี    

ในด้านความคัลท์ แมวก็ไม่ได้ด้อยไปกว่านาคเลย ในอารยธรรมโบราณเก่าแก่อย่างอียิปต์-เมโสโปเตเมีย แมวคือเทพเจ้า และในหลายอารยธรรมก็มีความเชื่อว่าแมวเข้าถึงหรือเป็นตัวแทนอำนาจศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับที่มนุษย์เข้าไม่ถึง ทั้งจีน ญี่ปุ่น อาหรับ เชื่อกันแบบนั้น อินเดียนี่แมวคือพาหนะของเทพสตรีอย่างพระษัษฐี ชาวยุโรปเชื่อว่าแมวกับแม่มดและซาตานมีข้อตกลงร่วมกัน แม่มดกับซาตานสามารถยึดร่างแมวหรือแปลงกายเป็นแมวได้ 

ไทยเองก็ไม่ได้น้อยหน้า มีความเชื่อว่าแมวเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับเช่นกัน เมื่อมันถูกสาดน้ำจนเปียกชุ่ม ก็เชื่อว่าจะทำให้ฝนตกเทลงมา จึงเกิดประเพณีแห่นางแมวในช่วงหน้าแล้ง ไม่ใช่แต่ไทยกับลาวนะที่เชื่อแบบนี้ เขมรก็เชื่อ ถึงได้มีประเพณี ‘ตรุษเนียงแมว’ เพื่อขอฝน ฟิลิปปินส์ก็มีความเชื่อว่า ถ้าอาบน้ำให้แมวแล้วฝนจะตก 

ความเชื่อของไทยที่เห็นได้จากตำราแมวโบราณนั้นแมวคือ ‘ผู้มีบุญ’ มาเกิด การเลี้ยงแมวจึงบันดาลสุข ผู้เลี้ยงจะโชคดีมีลาภยศวาสนาต่าง ๆ เพราะบุญแมวจะเอื้อหนุน เหมือนได้ดูแลปรนนิบัติพระภิกษุผู้ทรงศีล ฆ่าแมวเท่ากับฆ่าพระ เมื่อมีบุญมากเทียบเท่าพระ แมวจึงสามารถขับไล่ภูติผีปีศาจหรือปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้พ้นไปจากบ้านเรือนได้ 

แมว (ภาพประกอบเนื้อหา)

พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) ปราชญ์ทางด้านความเชื่อไทยก็เคยเขียนเล่าไว้แห่งหนึ่งเกี่ยวกับคติความเชื่อที่คนไทยแต่ก่อนมีต่อแมวว่า “ขนแมวเป็นของที่สามารถใช้เผาไล่ผีในการอยู่ไฟ ป้องกันผีมาเอาทารกเด็กแรกเกิดได้”

กล่าวโดยสรุป แมวมีอะไรคัลท์ ๆ เป็น ‘สัตว์ในตำนาน’ ไม่แพ้นาคเลย แถมยังมีตัวจริงเป็น ๆ ให้บรรดา ‘ต๊าชทั้งหลาย’ ต้องเทข้าวและตักขี้ให้อยู่ตลอดอีกด้วย แน่นอนนาคก็สำคัญ เพียงแต่นาคอยู่กับชาวบ้านไปอย่างเดิมน่ะดีแล้ว

ในด้านความเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ซึ่งตอนนี้พูดกันมากเสียจนอะไรก็โยงเข้าได้หมด งูเป็นสัตว์มีพิษ ไม่เข้ากับ ‘อำนาจละมุน’ เลย 

เมื่อวันแรก ๆ ที่มีประกาศให้นาคเป็นสัตว์ประจำชาติไทยออกมา ผู้เขียนโพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องนี้พร้อมกับเสนอว่าแมวเหมาะสมกว่าอย่างไร มีหลายท่านแสดงความเห็นด้วย หนึ่งในนั้นคืออาจารย์บาหยัน อิ่มสำราญ อาจารย์มาคอมเมนต์ว่า:

“แมวทำเป็น mascot ก็น่ารัก ใครเห็นก็อยากได้ ใครจะอยากได้ mascot รูปงูบ้าง อี๋...”

ไม่รู้เหมือนกันว่าไอเดียอะไรอยู่เบื้องหลังการประกาศให้นาคเป็นสัตว์ประจำชาติ ได้แต่คิดแล้วก็สงสัยว่าได้พิจารณากันถี่ถ้วนดีแล้วแค่ไหน ถ้าคิดแบบทหาร งูมีพิษมีอำนาจ ยิ่งเป็นงูใหญ่ยิ่งมีอำนาจและอิทธิฤทธิ์มาก ซึ่งดูจะขัดกับความเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ อย่างมากอีกด้วย แต่แล้วไงในเมื่ออะไร ๆ ก็ดูจะสามารถลากเข้าเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ไปได้หมด    

ในแง่ Gender งูนี่คือสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศชาย ไม่เชื่อก็ลองเปิดตำราพรหมชาติดู ผู้หญิงฝันเห็นงูคือจะเจอเนื้อคู่หรือมี ‘ผู้’ (เป็นของตัวเอง) 

ยุคนี้ ‘ความน่ารัก’ ต่างหากที่มีอานุภาพระดับทำลายล้างข้ามประเทศข้ามโลก ไม่เชื่อก็ลองถามเด็กรุ่นใหม่ ๆ ดูว่าทำไมถึงชอบดาราเกาหลี โดยที่พวกเขาไม่ต้องมาว่ายน้ำโชว์แถวนี้แต่อย่างใดเลย   

เมื่อถึงตรงนี้ขอให้ท่านผู้อ่านได้ย้อนกลับไปพิจารณาทบทวนเหตุผลตามที่รัฐบาลประกาศไว้อีกครั้ง แล้วลองเปลี่ยนจาก ‘นาค’ เป็น ‘แมว’ ดูว่าจะเป็นอย่างไร  อะไรเหมาะ ไม่เหมาะ แค่ไหน อย่างไร:

“เพื่อสร้างให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดเป็น Soft Power ในการนำทุนวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและนำรายได้เข้าประเทศ”  

จะเห็นได้ว่าแมวแมตช์กับเหตุผลข้างต้นทุกประการ แต่คนในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มองไม่เห็นหรือไม่มีความรู้เรื่องสัตว์ในประวัติศาสตร์ของประเทศตัวเองเลย เป็นอีกเรื่องที่เราพลาด ซึ่งที่จริงจะว่าไปก็พลาดกันมาตั้งแต่ที่ได้พวกท่านเหล่านี้มาเป็นรัฐบาลแล้วล่ะ (มั้ง)  

คำถามที่อยากจะทิ้งท้ายไว้ตรงนี้ก็คือ เราอยากให้คนอื่นเขามองเราเห็นเราเป็นอะไร ระหว่างสิ่งมีชีวิตน่ารัก ๆ ที่ใครเห็นก็เอ็นดูอยากอุ้มอยากกอด กับสิ่งที่เลื้อยคลาน (ไปเรื่อย ๆ) มีพิษและสามารถจะฉกใส่คนอื่นให้ถึงแก่ความตายได้โดยฉับพลัน?              

 

อ้างอิง:

กำพล จำปาพันธ์. นาคยุดครุฑ: ‘ลาว’ การเมืองในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2558.

ข่าวคณะโฆษก. ‘รัฐบาลกำหนดให้ ‘นาค’ เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ประเภทสัตว์ในตำนาน ต่อยอด Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/61119 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565).

ประสงค์ สุขุม. จากยมราชถึงสุขุมวิท: เหตุการณ์ใน 4 รัชกาล. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547.

ไม่ระบุนามผู้เขียน. ‘ประวัติ ‘วันช้างไทย’ 13 มีนาคมของทุกปี สำคัญอย่างไร’ https://www.thairath.co.th/lifestyle/culture/2048853 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565).

ส. พลายน้อย (สมบัติ พลายน้อย). สัตวนิยาย. กรุงเทพฯ: อักษรพิทยา, 2537.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2546.

อนุมานราชธน, พระยา. ประเพณีเนื่องในการเกิด. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม, 2539.

Clutton-Brock, J. The British Museum Book of Cats: Ancient and Modern. London: The British Museum Press in association with the Natural History Museum, 1994.

Eustace, May. The Royal Cat of Siam. Pelham Books, 1968.

Pond, Grace. The Cat-Lover's Bedside Books. Batsford, 1974.