ประติมากรรมหินสลัก (ตุ๊กตาหิน) วัดพระแก้ว คือศิลาอับเฉาจริงหรือ? มีนัยอื่นอีกไหม?

ประติมากรรมหินสลัก (ตุ๊กตาหิน) วัดพระแก้ว คือศิลาอับเฉาจริงหรือ? มีนัยอื่นอีกไหม?

ประติมากรรมหินสลักที่ขุดพบขณะปรับปรุงเส้นทางเข้าชมภายในพระบรมมหาราชวัง ถูกนำมาประดับ วัดพระแก้ว ไม่เพียงดึงดูดผู้เข้าชมจำนวนมาก ยังทำให้เกิดข้อถกเถียงทั้งทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี สังคม และวัฒนธรรม มันคือศิลาอับเฉาจริงหรือ เรื่องนี้สะท้อนแง่มุมใดอีกบ้าง?

  • ประติมากรรมหินสลักที่พบขณะปรับปรุงก่อสร้างเมื่อ 2565 และถูกนำมาประดับในวัดพระแก้วถูกตั้งคำถามทั้งในแง่อายุความเก่าแก่ แหล่งที่มา การใช้งาน และเหตุผลในทางประวัติศาสตร์ ไปจนถึงแง่โบราณคดี
  • ‘ตุ๊กตาหิน’ จำนวนหนึ่งมีลักษณะเป็น ‘ชาวต่างชาติ’ สะท้อนมุมมองของชนชั้นนำ(ไทย)ที่มีต่อชาวต่างชาติ
  • ไม่เพียงแค่แง่มุมทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์  ‘ตุ๊กตาหิน’ ยังสะท้อนเรื่องการเมืองของโบราณวัตถุ

(1) บทนำ: เริ่มต้นที่ ‘พระราชวังหลวง’ ลงท้ายที่ ‘วัดพระแก้ว’

สืบเนื่องจากเมื่อวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2565 เว็บไซต์สำนักพระราชวังได้เผยแพร่ข้อมูลประชาสัมพันธ์  ในหัวข้อเรื่อง “ขุดพบประติมากรรมหินสลัก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง”  มีใจความสำคัญระบุไว้ดังนี้: 

“เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2565 ในการปรับปรุงเส้นทางเข้าชมภายในพระบรมมหาราชวัง บริเวณประตู มณีนพรัตน์ไปยังประตูสวัสดิโสภา ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างได้ขุดพบประติมากรรมหินสลักจำนวนมาก จึงได้ทำการเปิดการขุดค้นทางโบราณคดี จากหลักฐานพบว่าเป็นประติมากรรมรูปบุคคลหลากหลายเชื้อชาติ และสัตว์ในเทพนิยาย ซึ่งจารึกที่พบบนประติมากรรมหินสลักบางตัว ระบุเป็นภาษาจีน ว่าทำที่มณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางโจว 

จากการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในเบื้องต้นพบว่า ประติมากรรมหินหลักเหล่านี้ปรากฏในภาพถ่ายเก่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดับตกแต่งอยู่โดยรอบพระอารามและมีการโยกย้ายในรัชสมัยต่อๆกันมา ซึ่งมีหลักฐานจากภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือทั้งในประเทศและต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการอนุรักษ์ซ่อมแซมประติมากรรมหินสลัก และนำมาประดับในวัดพระศรีรัตนศาสดารามบริเวณตำแหน่งเดิมหรือใกล้เคียงตามหลักฐานที่ปรากฏ” [1]

ทั้งนี้ เว็บไซต์ดังกล่าวยังได้นำภาพการขุดค้นพบประติมากรรมหินสลัก (ลำดับต่อไปขออนุญาตเรียก “ตุ๊กตาหิน” ตามที่คุ้นชินกัน) กับภาพถ่ายเก่าของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) โดยโจคิม เค. เบาท์ซ (Joachim K. Bautze) ช่างภาพชาวยุโรปที่เข้ามาเมื่อพ.ศ. 2403-2453 (ค.ศ.1860-1910) เป็นภาพชุดที่รู้จักกันดีในหมู่นักเล่นภาพถ่ายเก่า ได้มีการรวบรวมตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ เมื่อพ.ศ. 2559 (ค.ศ.2016) [2] พร้อมทั้งได้แสดงภาพถ่ายปัจจุบันของวัดพระแก้ว บริเวณที่ได้นำเอาตุ๊กตาหินกลับไปตั้งไว้ ณ ที่เดิม (ตามที่ปรากฏในภาพถ่ายของเบาท์ซ)  

ขอให้สังเกตว่า พื้นที่บริเวณที่มีการขุดพบตามข้อมูลในเว็บไซต์ของสำนักพระราชวังนั้นคือ ‘ประตูสวัสดิโสภา’  มีชื่อเรียกลำลองกันในหมู่ชาววังสมัยก่อนว่า ‘ประตูทอง’  เป็นประตูหนึ่งใน 12 ประตูของเขตพระราชฐาน อยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามกับกระทรวงกลาโหม เยื้องศาลหลักเมือง  

ปัจจุบันเป็นประตูเข้าสู่วัดพระแก้ว ตรงทางเดินเชื่อมสู่หน้าปราสาทพระเทพบิดร ต้องเข้าใจก่อนว่าแต่ไหนแต่ไรมา วัดพระแก้วคือวัดในเขตพระราชฐาน ทางเดินสู่วัดนี้ก็เป็นทางเดินเชื่อมไปยังพระบรมมหาราชวังได้อีกทางหนึ่ง ผ่านประตูเข้ากำแพงแก้วแล้วเลี้ยวซ้ายลัดเลาะไปตามระเบียง (ที่มีจิตรกรรมรามเกียรติ์) ก็จะเจออีกประตูทะลุไปฝั่งตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง  

ประติมากรรมหินสลัก (ตุ๊กตาหิน) วัดพระแก้ว คือศิลาอับเฉาจริงหรือ? มีนัยอื่นอีกไหม?

จึงไม่แปลกประหลาดอันใด หากจะมีสิ่งใดที่ผู้ต้องสัญจรผ่านเข้าออกเป็นประจำในอดีต เกิดเห็นสิ่งที่อยู่ข้างทางประตูนี้เป็นสิ่งรกตาขึ้นมา หรือไม่ผู้มีอำนาจอาจจะกังวลเรื่องความปลอดภัยเวลากลางค่ำกลางคืน ก็จะสามารถให้ขนย้ายออก รื้อทิ้ง หรือฝังดินไว้ แต่เรื่องก็ยังไม่จบเพียงนี้ ผู้เขียนเองก็ไม่สามารถจะจบบทความได้เพียงเท่านี้ ยังต้องไปต่อในหัวข้อถัดไป         

(2) พื้นที่เก่า & ความทรงจำใหม่

ตามข้อมูลที่เคยแพร่ตามสื่อมักจะระบุว่า ตุ๊กตาหินที่ขุดพบครั้งนี้มีมากถึง 100 ชิ้น แต่เมื่อผู้เขียนฝ่ารถติดและแดดเผาไปเก็บภาพ ลองนับดูพบว่ามีจำนวน 33 ชิ้น 

เนื่องจากยังไม่มีการจัดแบ่งตำแหน่งที่ตั้ง ผู้เขียนก็เลยถือโอกาสแบ่งให้ดังนี้ 

  1. กลุ่มที่ตั้งรายรอบอุโบสถ (ที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต) รวมทั้งหอระฆังและหน้าระเบียงซ้ายขวา มีทั้งสิ้น 25 ชิ้น ขวามือจากทางเข้ามี 10 ชิ้น ทางซ้ายมี 15 ชิ้น เป็นบริเวณที่มีการตั้งตุ๊กตาหนาแน่นที่สุด 
  2. บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์มี 2 ชิ้น 
  3. ตรงวิหารพระนากมี 3 ชิ้น 
  4. วิหารยอดมี 3 ชิ้น ทั้งหมดเป็นรูปต่างชาติแน่ ๆ รูปร่าง หน้าตา ลักษณะการแต่งกาย ล้วนไม่ไทย  

แต่ครั้นจะบอกว่าเป็นรูปผู้นำต่างชาติไปเสียทั้งหมด ก็ออกจะ ‘ไม่ตรงปก’ อยู่บ้าง เพราะมีรูปสตรีมากถึง 15 ชิ้น อีก 17 ชิ้นเป็นรูปบุรุษ อีก 1 ชิ้นไม่สามารถระบุเพศได้ (ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะเป็นรูปชาว LGBTQ+)  

รูปสตรีที่พบจะเป็นรูปภรรยาผู้นำต่างชาติหรือไม่ เพราะยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีรูปอื่น ๆ ที่ยังไม่พบ บางชิ้นดูใหม่สีขาวใส บางชิ้นดูเก่าสีคล้ำและมีร่องรอยการชำรุดที่น่าจะเกิดในระหว่างขุดค้น  ตามที่สังเกตได้มีรูปชาวจีน, อินเดีย, แขกมุสลิม, ยุโรป, อียิปต์, อินเดียนแดง (บางท่านว่ามองโกล), เวียดนาม, พม่า, มอญ, กะเหรี่ยง อาจเป็นการปั้นรูปตามภาพชาวต่างชาติที่ปรากฏใน ‘โคลงต่างภาษา’ ของวัดโพธิ์ที่อยู่ใกล้กันก็เป็นได้  

ที่ฮาคือบางรูปออกจะคล้าย ดร.ซุนยัดเซ็น อดีตผู้นำการปฏิวัติจีน หรือไม่ก็โจเซฟ สตาลิน อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต แต่อาจเป็นขุนนางต่างชาติที่มารับราชการอยู่ในสยามก็ได้ ถ้าไม่มีการทำของใหม่มาแทรกปน เป็นของขุดมาจากใต้ดินจริงทั้งหมด ก็คงเป็นของทำหลายยุคสมัย แต่ละรูปไม่ใช่ของสมัยเดียวกัน

ประติมากรรมหินสลัก (ตุ๊กตาหิน) วัดพระแก้ว คือศิลาอับเฉาจริงหรือ? มีนัยอื่นอีกไหม?

เมื่อข้อมูลและภาพการขุดค้นครั้งนี้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ ไม่นานโลกโซเชียลต่างแชร์ภาพถ่ายและข้อมูลกันอย่างคึกคัก พร้อมทั้งได้เกิดผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์-โบราณคดีขึ้นมากมาย  

เชื่อว่าเพจและเฟรนด์ลิสต์ของมิตรสหายหลายท่านตลอด 3 วัน (15-17 ก.ค. 2565) ต่างอัดแน่นด้วยเรื่องราวดังกล่าวนี้อย่างท่วมท้นเต็มฟีด

นับว่าน่ายินดีและชวนให้ตื่นเต้นกับการตื่นตัวใคร่รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณคดีของผู้คนในสังคมที่มักถูกตราหน้าว่าไม่ค่อยรู้ ไม่สนใจประวัติศาสตร์ 

แต่อีกด้าน ปรากฏการณ์นี้ชวนให้นึกถึงประเด็นสำคัญทางวิชาการเกี่ยวกับมุมมองทางสังคมวัฒนธรรมที่มีต่อวัตถุโบราณ ที่ครองพื้นที่มากเช่นเคยก็คืองานสายมูกับสายมโน          

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า การที่ตุ๊กตาหินเหล่านี้ถูกขุดพบบริเวณพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว อีกทั้งยังมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายเก่าและภาพลายเส้นจำนวนหนึ่งยืนยันว่า เป็นของที่เคยตั้งอยู่ภายในวัดพระแก้ว ส่งผลอย่างสำคัญทำให้ถูกให้ค่าเป็นของสำคัญกว่าปกติ เพราะมุมมองต่อพื้นที่พระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วที่มีต่อราชอาณาจักร มาตั้งแต่การสถาปนากรุงเทพมหานครเมื่อ พ.ศ.2325  

ในทางกลับกัน ถ้าขุดพบที่อื่น อาจไม่ใช่ของสำคัญหรือได้รับความสนใจขนาดนี้ ความแตกต่างอย่างสำคัญอีกประการหนึ่งเมื่อเทียบกับประติมากรรมประเภทอื่นก็คือ ที่อื่นตุ๊กตาหินเหล่านี้ถูกมองเป็นเพียงหินสลักรูปธรรมดา ผิดกับพระพุทธรูปหรืออย่างเทวรูปที่แม้จะสลักจากหินชนิดเดียวกัน ผู้คนก็ไม่มองเป็นแค่หินสลัก 

ดังนั้นนี่ไม่ใช่แค่เรื่องวัตถุ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สถานะของวัตถุอยู่ที่กระบวนการให้ความหมาย โดยเฉพาะคติความเชื่อทางศาสนาได้เข้าไปกำหนดให้วัตถุ ไม่ใช่แค่ตาเห็นเท่านั้น  

อันที่จริงตุ๊กตาหินก็มีพบเห็นได้ทั่วไป เช่น ในกรุงเทพฯ พบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, วัดอรุณราชวราราม, วัดสุทัศน์เทพวราราม, วัดโมฬีโลกยาราม, ที่อยุธยากรุงเก่า พบที่วัดศาลาปูน, ที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี ก็มีประติมากรรมชิ้นเอกอย่างตุ๊กตาฤดูหนาว ล้วนแล้วแต่เก่า ประณีต และสวยงามไม่แพ้ตุ๊กตาหินที่เพิ่งพบกันเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565

บางชิ้นเช่นตุ๊กตาฤดูหนาวที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี มีอายุเก่าย้อนกลับไปถึงพุทธศตวรรษที่ 22-23 ตกสมัยคาบเกี่ยวอยุธยากลาง-ปลาย ตรงข้ามตุ๊กตาหินที่เพิ่งพบนี้หลายท่าน ‘คอมเมนต์’ ว่าดูเป็นงานหยาบ ขาดความประณีต ไม่ได้เป็นงานที่มีลักษณะบ่งชี้ว่าเกิดจากฝีมือชั้นเชิงช่างที่พิเศษล้ำเลิศอะไร 

อีกทั้งยังไม่ได้ดูเก่าไปจนถึงสมัยที่ยังแล่นเรือสำเภาไปค้าขายเมืองจีน เป็นของในยุคที่มีการใช้ ‘กำปั่นไฟ’ หรือ ‘เรือกลไฟ’ กันไปแล้ว    

แต่ตุ๊กตาเหล่านั้น (ที่อาจพบเห็นได้ทั่วไปตามวัดและสถานที่สำคัญ) ก็ไม่ให้ความรู้สึกประหลาดมหัศจรรย์ (exotic) เหมือนอย่างของที่เพิ่งขุดพบจากใต้ชั้นดินบริเวณเขตพระราชฐาน ตุ๊กตาเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังมักจะเป็นรูปชาวต่างชาติ  

ดังนั้นลักษณะการให้ความสำคัญตลอดจนการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ต่าง ๆ จึงเป็นประเด็นสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับมุมมองของชนชั้นนำที่มีต่อชาวต่างชาติ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นแง่มุมที่มีต่อโลกภายนอกของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องหรือให้สร้างตุ๊กตาเหล่านี้ขึ้นมา (ก่อนนำไปฝังในอีกยุคหนึ่ง)    

ประติมากรรมหินสลัก (ตุ๊กตาหิน) วัดพระแก้ว คือศิลาอับเฉาจริงหรือ? มีนัยอื่นอีกไหม?
 
(3) วิวัฒนาการมุมมองของชนชั้นนำสยามต่อชาวต่างชาติ

แม้จะเป็นสังคมอุดมความชิงชังชาวต่างชาติอย่างไร สังคมประเทศในแถบนี้ก็ไม่เคยขาดหายการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับต่างชาติ การจะอยู่เพียงลำพังโดดเดี่ยวเปล่าเปลี่ยวเอกา ไม่คบค้าสมาคมกับโลกภายนอกที่ทำได้จริงไม่ได้โม้ เห็นจะมีก็แต่พระเอกลิเกหรือในหนังละคร 

เนิ่นนานเพียงใดที่เริ่มติดต่อกับต่างชาติ ไม่มีใครสามารถบอกได้ จากงานค้นคว้าของวัณณณสาส์น นุ่นสุข พวกคนในดินแดนสยามประเทศนี้มีการติดต่อค้าขายกับคนภายนอกโพ้นทะเล (เช่น จีน, อินเดีย, เปอร์เชีย, โรมัน) มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เสียอีก [3]
 
สมัยอยุธยาซึ่งพักหลังมานี้นักวิชาการเริ่มจะเห็นพ้องกันว่า เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ราชอาณาจักรสยาม’ อย่างแท้จริง ราชธานีแรกควรจะเป็นกรุงศรีอยุธยา ส่วนสุโขทัยเป็นเพียงแคว้นหนึ่ง ไม่ได้มีอำนาจปกครองในขอบเขตที่จะถือเป็นจุดเริ่มของความเป็นราชอาณาจักรได้ ชาวต่างชาติที่คนไทยทั้งรักทั้งชังอย่างพวกฝรั่งมังค่าก็เข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นในคริสต์ศตวรรษที่ 15 แล้ว  

ถ้านับการมาของพ่อค้าเวนิสเมื่อ พ.ศ.1968-1973/ค.ศ.1425-1430 ก็จะเป็นระยะเวลาเพียง 75-80 ปีหลังสถาปนากรุงศรีอยุธยา ถ้านับการเข้ามาของโปรตุเกสเมื่อ พ.ศ.2054/ค.ศ.1511 ก็จะ 161 ปี  

พวกเขาเข้ามามีบทบาทหลากหลาย เป็นทั้งพ่อค้า นักเดินเรือ ขุนนาง ทหารรับจ้าง แพทย์ ช่างฝีมือ ฯลฯ เรียกได้ว่าไม่เคยขาดแคลนคนนอก 

ช่วงอยุธยาปลายที่มีเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหารแอนตี้ชาวตะวันตกอย่างการปฏิวัติค.ศ.1688  แต่สมเด็จพระเพทราชาก็ทำได้เพียงขับไล่กองทหารและบริษัทการค้าของฝรั่งเศส (French East India Company or FIC) ออกไป 

บาทหลวงฝรั่งเศสก็ยังได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อ หรืออย่างกลุ่มพ่อค้าดัตช์ ก็ยังมีช่วงที่ค้าขายรุ่งเรืองอยู่ต่อมา เช่นเดียวกับชาวเปอร์เชียที่สืบสายต่อกันมาจนเป็น ‘ตระกูลบุนนาค’ ที่มากอำนาจวาสนาในสมัยรัตนโกสินทร์  

ทั้งนี้ อยุธยาช่วงปลายเป็นช่วงที่คนจีนกับแขกมุสลิมเข้ามีบทบาทมากต่อเนื่องจนถึงต้นรัตนโกสินทร์  

ในแง่พื้นที่จารีต, ชาวต่างชาติถูกมองหรือจัดประเภทเป็นอะไรในท่ามกลางจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิวัดๆ วังๆ ที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดแห่งหนึ่งเลย คือในจิตรกรรมฝาผนังวัดเกาะแก้ว เมืองเพชรบุรี  ชาวต่างชาติจะแขก ฝรั่ง จีน ล้วนถูกวาดอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ของเหล่า ‘นักสิทธิ์วิทยาธร’ ไม่สูงส่งแบบเทพ ยังเป็นมนุษย์ แต่เป็นผู้มี ‘วิชาการ’ (ในอดีตมีความหมายเท่ากับพวกมีเวทมนต์คาถาหรือรู้จักศาสตร์วิชาลี้ลับ) มีความเป็นอื่นแต่ไม่ถึงกับไม่รู้จักมักจี่ ตรงข้าม ออกจะยอมรับว่ามีอะไรสูงล้ำกว่าพวกตนอยู่ด้วย เพราะพวกที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาได้ย่อมต้องมีวิชาความรู้มีเทคโนโลยีที่คนธรรมดาทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่เป็นไพร่ไม่มี (หรือถูกจำกัดให้ไม่มี) 
           
ตำแหน่งแห่งที่และมุมมองต่อชาวต่างชาติในแบบดังกล่าวมานี้ ยังเหลือเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคติความเชื่อต่อสถาบันชั้นสูงของสังคม ยังมีเรื่องของ ‘จักรพรรดิราช’ การมีชาวต่างชาติเข้ามามากเป็นเครื่องสะท้อนบุญบารมี  

พูดง่าย ๆ คือชาวต่างชาติถูกทำให้เป็น ‘ไอเท็ม’ หนึ่งของสถาบันชั้นสูง สังคมในอดีตแต่เดิมไม่ใช่สังคมที่ยึดถือคติคนเท่ากัน เมื่อคนไม่เท่ากัน มีใครอยู่สูงกว่าก็ต้องมี ‘บิ๊ว’ มีการสร้างคำอธิบายพิเศษ

ความพยายามในการกอบกู้ราชอาณาจักรจากการเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อพ.ศ.2310 เป็นหัวข้อเรื่องหลักเรื่องหนึ่งของชนชั้นนำสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เพราะใช้หัวข้อเรื่องแบบนี้เป็นความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจและเปลี่ยนผ่านจากธนบุรีมาสู่รัตนโกสินทร์อยู่เองด้วย  

การแสดงบุญบารมีต่อ ‘ชนต่างชาติภาษา’ หรือ ‘คนแปลกหน้านานาชาติ’ (ตามคำนิยามที่เสนอไว้โดยทวีศักดิ์ เผือกสม) [4] จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดหายไปไม่ได้ แม้ไม่ได้มีต่างชาติเข้ามาเรือนหมื่นเรือนแสน ก็ขอให้ได้มีรูปมีสิ่งอันเป็น ‘ภาพตัวแทน’ (representation) เอาไว้จัดแสดง ในกรณีอย่างนั้นไม่มีอะไรตอบโจทย์ได้มากเท่างานศิลปะ ‘คนแปลกหน้านานาชาติ’ จึงได้ไปปรากฏในงานจิตรกรรมฝาผนัง ประติมากรรมปูนปั้น งานแกะสลักหิน-สลักไม้ เป็นต้น 
  
งานศิลปะเหล่านั้นจัดเป็น ‘ของประดับบารมี’ เป็นสิ่งมีค่า แสดงความมั่งคั่งและสูงส่ง หาใช่เพียงของถ่วงเรือกลับจากเมืองจีนไม่ ของแบบนี้ (ประดับบารมี) เดิมคือ ‘ช้างเผือก’ ข้อต่างกันก็คือศิลปะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ แต่ช้างเผือกเป็นของที่ต้องหาเอาจากธรรมชาติ เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ  
          
กล่าวโดยสรุป แม้ว่าสังคมสยามจะผ่านเหตุการณ์สำคัญอย่างการปฏิวัติ ค.ศ.1688 แต่ไม่อาจสรุปได้ว่ากระแสความชิงชังต่อชาวต่างชาติมีต้นทางมาจากเหตุการณ์เมื่อ 334 ปีล่วงมาแล้วนั้นแต่อย่างใด  

ชาวต่างชาติที่มาแบบตัวเป็น ๆ และอยู่ในรูปภาพตัวแทนจากงานศิลปะ ต่างยังคงมีคุณค่าทางจิตใจต่อชนชั้นนำเรื่อยมา จะเกลียดฝรั่งมังค่า ด่าแขก เหยียดเจ๊กจีน ดูถูกลาว เขมร ญวน อย่างไร ก็ไม่อาจตัดขาดออกไปจากสารบบของชีวิตทางสังคมได้ ตรงกันข้ามชาวต่างชาติถูกนำมาเสนอให้เป็น ‘ชนผู้ใต้พระบารมี’ อีกกลุ่มหนึ่ง  

แต่ในยุคที่มีการติดต่อกับต่างชาติอย่างใกล้ชิด แม้ไม่ถึงกับจะสามารถ ‘ทักแชท’ กันได้อย่างในปัจจุบัน การนำเอาตุ๊กตารูปบุคคลต่างชาติมาประดับตามทางเดิน สวนหย่อม น้ำตกจำลอง ภูเขาจำลอง (เขามอ) เป็นทวารบาลที่หน้าประตูโบสถ์วิหารจนถึงพระบรมมหาราชวังก็ตาม เป็นเรื่องที่อาจทำให้ความศิวิไลซ์แบบสยาม ๆ เข้ากันไม่ได้กับสังคมโลกภายนอกที่ลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตกกำลังจัดระเบียบโลกตามแบบแผนอย่างใหม่ ในเมื่อสยามมิได้เป็นศูนย์กลางจักรวาลเหมือนดังในอดีตอีกต่อไปแล้ว  

ประติมากรรมหินสลัก (ตุ๊กตาหิน) วัดพระแก้ว คือศิลาอับเฉาจริงหรือ? มีนัยอื่นอีกไหม?

(4) ปัจจุบันในอดีต การเมืองของโบราณวัตถุ และมรดกอาณานิคมผสมสงครามเย็น

ตุ๊กตาหินที่เพิ่งพบนี้มีหัวข้อปัญหาเป็น ‘ช่องว่าง’ (คือสิ่งที่ยังไม่รู้แน่ชัด) ทำให้เกิดการประลองปัญญาของผู้รู้ (หรือคิดว่ารู้) ทั้งโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม  

ส่วนใหญ่มองความสำคัญของวัตถุผ่านอุดมการณ์ที่ตนเองยึดถืออยู่ก่อนการพบวัตถุ เช่น มองเป็นศิลาอับเฉาถ่วงเรือสำเภา มองว่าเป็นฝีมือช่างคนไทย (บางท่านก็ถึงกับบอกว่าเป็นวัสดุหินที่พบในไทยไม่ได้นำเข้าจากเมืองนอก)  

มองว่าเป็นของทำขึ้นใช้ในงานฉลองครบ 100 ปี กรุงเทพมหานครเมื่อพ.ศ.2425  มองว่าถูกฝังไว้โดยคณะราษฎร และในกลุ่มที่พยายามมองหาสาเหตุการถูกฝังนี้ยังมีอธิบายว่า เป็นเพราะลัทธิชาตินิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยรัชกาลที่ 6 หรือสายมูก็มา เช่น ที่บอกว่าเป็นการฝังอาถรรพ์หรือเอาเคล็ดอะไรต่าง ๆ เป็นต้น  

ในที่นี้ ผู้เขียนไม่ได้กำลังจะมาบอกว่า มุมมองทั้งหมดทั้งมวลข้างต้นนี้อันไหนถูกอันไหนผิด เพียงแต่จะชี้ชวนให้สังเกตตรวจตราดูว่า แต่ละมุมมองข้างต้นนี้เป็นการมองจากแว่นอุดมการณ์ชนิดใด สิ่งนี้สำคัญยิ่งกว่าประเด็นว่าวัตถุที่พบนี้คืออะไร อายุเก่าแก่ย้อนหลังกลับไปแค่ไหน เป็นของยุครัชกาลใด ถูกฝังด้วยเหตุผลอย่างใดกันแน่  

เพราะเมื่อวัตถุถูกขุดขึ้นมานำแสดงต่อสาธารณะแล้ว ตุ๊กตาหินก็ได้กลายสภาพมาเป็น ‘ตัวบท’ (text) หนึ่งในโลกภาษา (ในที่นี้คือภาษาแบบประวัติศาสตร์-โบราณคดี) และเมื่อเป็นตัวบท ก็ต้องเข้าใจต่อไปด้วยว่า ตัวบทสามารถลิงค์กลับไปหาตัวบทด้วยกันเองที่มีมาก่อนหน้าได้ โดยไม่เกี่ยวกับตัววัตถุที่พบเห็นได้จากผัสสะ เช่นที่บอกว่าตุ๊กตาหินเหล่านี้เป็น “ศิลาอับเฉา” ก็เป็นการคิดและมองตามองค์ความรู้หรือภาษาในการทำความเข้าใจต่อศิลาที่คล้ายคลึงกันนี้  

กล่าวคือเป็นการนำเอาศิลาที่พบใหม่นี้ไปทำการจัดประเภทให้เข้ากับกรอบภาษาเดิมที่มีอยู่ก่อนหน้าที่จะพบตัวศิลา  

แม้ว่าจะมีงานศึกษาที่อภิปรายโต้แย้งมานานแล้วว่า ความเข้าใจต่อ ‘ศิลาอับเฉา’ ในแบบดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง ศิลาเหล่านี้ไม่ใช่เพียงของถ่วงเรือขากลับจากจีนเท่านั้น หากแต่เป็นของที่มี ‘ดีมานด์’ ทางการค้า เป็นสินค้าทำกำไร ขายให้แก่ชนชั้นสูงได้ราคาดี 

คำว่า ‘ถ่วงเรือ’ จีนกลางเรียกว่า ‘ยาชาง’ แต้จิ๋วเรียกว่า ‘เอียบฉึง’ ซึ่งคำหลังนี้เองเพี้ยนเป็นคำว่า ‘อับเฉา’ [5]

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเหล่าบรรดาท่านผู้เชี่ยวชาญตุ๊กตาหินล่าสุดนี้จะไม่เอาสาระหรือรับรู้อะไรในส่วนนี้เลย กลับยังคงชอบดูถูกสติปัญญาบรรพบุรุษ (และบรรพสตรี) เป็นพวกโง่เขลาเบาปัญญาถึงขนาดไม่รู้จักไปหาหินเปล่าๆ หนักๆ ที่ไหนก็ได้มาถ่วงเรือ กลับไปซื้อหาเอาของที่มีราคาค่างวดมาถ่วงเรือให้เสียค่าใช้จ่ายไปเปล่าๆ ปลี้ๆ (เกินปุยมุ๊ย?) แต่สำหรับท่านที่เคยอ่านผ่านตามาบ้าง จะรู้สึกว่าตุ๊กตาเหล่านี้ออกจะห่างไกลที่จะเป็น ‘เอี๊ยบฉึง’ หรือ ‘อับเฉา’  

โดยที่ยังไม่มีหลักฐานปรากฏจนทราบแน่ชัด มีหลายท่านด่วนสรุปแบบฟันธงไปแล้วว่า เหตุที่ตุ๊กตาเหล่านี้ถูกฝังไปนั้นเป็นเพราะคณะราษฎรเมื่อ พ.ศ.2475 นั่นสะท้อนอคติความเชื่อทางการเมืองที่ผู้เสนอมีอยู่ก่อนแล้วอย่างการแอนตี้คณะราษฎร แนวคิดเช่นนี้ไม่ใช่นึกไปเรื่อยเปื่อย หากแต่มีทิศทางและเป้าหมายที่จะฉวยใช้ประเด็นเกี่ยวกับตุ๊กตาหินนี้มาปรูฟ (พิสูจน์) จุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองของตน
     
การฝังของอย่างใดก็ตาม คนในอดีตอาจมีหลายเหตุผล ไม่จำเป็นต้องเป็นในแง่ลบ (อย่างความต้องการที่จะทำลายสิ่งของเหล่านั้นให้สูญหายไป) อาจฝังไว้ใต้ดินด้วยเจตนาที่ต้องการจะรักษาไว้ให้คงอยู่ตราบนานเท่านานก็ได้ เช่นมีการฝังทรัพย์สินสิ่งของมีค่าแก้วแหวนเงินทอง  

ดังนั้นบางครั้งบางคราวการขุดของอย่างใดจากใต้ดินขึ้นมา จึงอาจเท่ากับเป็นการทำลายหลักฐานนั้นเสียเองก็ได้  

ที่ผ่านมาการศึกษาศิลปกรรมโบราณในไทย ยังคงถูกครอบงำโดยวิธีการศึกษาโบราณคดีแบบกระบวนการ (processual archaeological methodology) มากเกินไป ปลายทางของการศึกษาแนวนี้ไปได้ไกลสุดเพียงการถกเถียงเรื่องการกำหนดอายุ (dating) [6] วัตถุที่ขุดพบ มักไม่ได้ให้ ‘ข้อเท็จจริงใหม่’ หากแต่เป็นตัวที่ถูกใช้นำมาปรูฟ(พิสูจน์) ‘ข้อเท็จจริงเก่า’ ลำพังตัววัตถุนั้นไม่ได้บอกอะไร  เป็นคนที่อยู่บนดินซึ่งมีอะไรอยู่ในหัวสมองก่อนแล้วต่างหากที่เป็นคนไปบอกว่ามันเป็นอะไรหรือไม่เป็นอะไร  

มอริซิโอ เปเลจจี (Maurizio Peleggi) ในงานศึกษาชื่อ “การขุดค้นยุคก่อนประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคสงครามเย็น: โบราณคดีอเมริกันในประเทศไทยที่เป็นอาณานิคมใหม่” (Excavating Southeast Asia’s prehistory in the Cold War: American Archaeology in Neocolonial Thailand) [7] ได้ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาโบราณคดีโดยมุ่งค้นหารูปแบบศิลปะและจัดลำดับพัฒนาการให้แก่โบราณวัตถุ ที่ได้จากการขุดค้นบริเวณภาคเหนือและภาคอีสานช่วงทศวรรษ 1960-1970 นั้นบดบังความจริงที่ว่า นักโบราณคดีอเมริกันสํารวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีดังกล่าว อยู่ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังถูกดึงเข้าสู่ยุทธศาสตร์สงครามในฐานะพื้นที่สนับสนุนยุทธปัจจัยสําหรับแนวหน้าในสงครามเวียดนาม 
 
การผลิตความรู้ทางโบราณคดีเกี่ยวกับยุคก่อนประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยสหรัฐอเมริกา ถูกนำไปสนับสนุนการเมืองระหว่างประเทศยุคสงครามเย็น 

งานของเปเลจจีชี้ชวนให้เห็นว่าการขุดค้นทางโบราณคดีตลอดจนการผลิตความรู้ที่เกี่ยวข้องกันนั้นไม่ได้เป็นสิ่งปลอดพ้นจากการเมืองที่เป็นอยู่ ณ ขณะเวลาที่จอบเสียมหรือบรรดาเครื่องมือโบราณคดีต่าง ๆ นั้นกำลังทิ่มทะลุผิวดินลงไปหาเอาของอย่างใดขึ้นมาแต่อย่างใดไม่   

(5) ความตายของช่าง/ผู้สร้าง & วัตถุเก่า (แต่) ความหมายใหม่

นอกจากนี้บรรดานักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับงานโบราณคดี ยังมักมีความเชื่อว่าการศึกษาของตนจะปลอดพ้นจาก ‘ทฤษฎี’ หรือมุมมองจากภายนอก ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของขนบทางวิชาการแบบเก่าที่มักจะมอง ‘ทฤษฎี’ เป็นของตรงข้ามกับ ‘ข้อเท็จจริง’ และการทำงานของตนนั้นบริสุทธิ์ผุดผ่องจากทฤษฎีใด ๆ ทั้งที่ทฤษฎีมีประโยชน์ในการช่วยอธิบายปรากฏการณ์และให้นิยามความหมายต่อข้อเท็จจริงของวัตถุได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีทฤษฎีจะช่วยให้มองประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมที่แวดล้อมศิลปวัตถุนั้น ๆ ได้แหลมคมและชัดไปอีกขั้นหนึ่ง  

อีกประเด็นที่คนมักจะหลงลืมกันไปแล้วก็คือการศึกษาที่เป็นระบบได้มาตรฐานงานวิชาการนั้นมีจุดเริ่มต้นจากสปิริตในการวิพากษ์ ไม่ใช่การแสดงออกถึงความชื่นชมหลงใหลในตัววัตถุแต่อย่างใด  

บางครั้งการศึกษาที่มุ่งประเด็นกระบวนการสร้างความหมายก็เป็นสิ่งที่น่ากระทำมากกว่าการหาความจริงแท้ (authenticity) ของวัตถุ 

วัตถุอย่างเดียวกันเมื่อผ่านเวลาหรือผ่านตาหลายคนเข้าก็อาจมีความหมายที่แตกต่างกันไปจนดูเป็นวัตถุคนละชิ้นกัน อย่างน้อยสำหรับในที่นี้ก็มีความแตกต่างกันแน่ ๆ ระหว่างความหมายในอดีตกับปัจจุบัน  

กรณีตุ๊กตาหินนี้ คนในอดีตอาจไม่เห็นความสำคัญหรือเห็นว่ามันรกตาไปแล้ว จนเอาไปฝังหรือทำให้พ้นจากสายตาไป แต่คนในปัจจุบันต่างหากที่ให้ความสำคัญและสร้างความหมายใหม่ให้แก่ตุ๊กตาเหล่านี้ในฐานะ ‘สมบัติชาติ’ (national domain)  

ประติมากรรมหินสลัก (ตุ๊กตาหิน) วัดพระแก้ว คือศิลาอับเฉาจริงหรือ? มีนัยอื่นอีกไหม?

การที่วัตถุสูญสิ้นความหมายไปพร้อมกับการหมดฟังก์ชั่นตั้งแต่ในอดีต กล่าวได้ว่ากระบวนการนี้คือ ‘ความตายของช่าง/ผู้สร้าง’ (the death of the artisan) เพราะช่างผู้สร้างงานศิลปกรรมชิ้นดังกล่าวนั้น (สำหรับในที่นี้คือตุ๊กตาหิน) ไม่สามารถเป็นผู้ผูกขาดการกำหนดนิยามความหมายให้แก่ผลงานที่ตัวเองสร้างขึ้นมา เป็นคนอื่นในชั้นหลังซึ่งมีหลากหลายเป็นผู้ให้ความหมายใหม่ 

ยิ่งในสังคมพุทธแบบไทยมีคติการสร้างของถวายเป็นพุทธบูชา ช่างผู้สร้างจึงมักไม่ปรากฏชื่อและเหตุผลที่จำเพาะเจาะจงในการสร้าง พวกเขาก็หมดบทบาทในการเกาะกุมความหมายของการสร้างงานศิลปะชิ้นนั้น ๆ ไปโดยแทบจะในทันที 
 
ทั้งนี้ ‘ความตายของช่างผู้สร้าง’ นั้นไม่ใช่แค่ตายในแง่ชีวิตของบุคคลซึ่งไม่ปรากฏชื่อ หากแต่คือการตายไปอย่างสิ้นเชิงในแง่ของการเป็นผู้กำหนดนิยามความหมาย เป็นความหมายที่คนในปัจจุบันมองอดีตของวัตถุอีกต่อหนึ่ง ทำนองเดียวกับ “ความตายของผู้แต่งวรรณกรรม” (La mort de l'auteur or the death of the author) ตามแนวคิดของโรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) [8]

(6) สรุปและส่งท้าย: จาก ‘ของประดับบารมี’ (จักรพรรดิราช) สู่ ‘สมบัติของชาติ’ (บ้านเมือง) 

เราทราบกันดีว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมในไทยปัจจุบันมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการที่จะฟื้นอดีตกาลก่อน 2475  

การกลับฟื้นคืนสภาพจากใต้พื้นดินมาตั้งตระหง่านยังสถานที่เดิมของบรรดาตุ๊กตาหินบริเวณศูนย์กลางความเชื่ออย่างวัดพระแก้ว อาจเป็นสิ่งชุบชูใจให้แก่ผู้ที่มีความปรารถนาแรงกล้าดังกล่าวนั้นได้บ้าง ไม่มากก็น้อย 

แต่แม้เป็นของเก่าแก่โบราณอย่างไร เมื่อมาอยู่ในโลกปัจจุบัน ก็ไม่อาจมีความหมายและฟังก์ชั่นการใช้ประโยชน์เหมือนอย่างในอดีตอีกต่อไป การมองโบราณวัตถุสัมพันธ์กับอุดมการณ์ที่แทรกผ่านสายตาในการมอง ไม่เกี่ยวกับผัสสะ แต่เกี่ยวกับสิ่งที่มีในสำนึกคิดก่อนหน้า แล้วพยายามจำแนกประเภทตามตัวแบบที่มีในสำนึกคิดนั้น ความแตกต่างระหว่าง ‘ของ’ ในอดีตกับปัจจุบัน  แม้เป็นของชิ้นเดียวกัน เป็นสิ่งที่ถูกละเลยไป ‘ของประดับบารมี’ (จักรพรรดิราช) เมื่อกลายมาเป็น ‘สมบัติของชาติบ้านเมือง’ ผู้คนก็สามารถเข้าถึงได้มากกว่าในอดีต 
 
อย่างไรก็ตาม ‘มูลค่าจากใต้ดิน’ ที่เกิดขึ้นนี้มีประเด็นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งที่ปรากฏอยู่เหนือพื้นดินและบริเวณข้างเคียงอย่างแยกไม่ออก หากเป็นพื้นที่อื่น ความสนใจต่อตุ๊กตาเหล่านี้อาจไม่ถึงขั้นมีผู้คนไปชมไปถ่ายภาพอวดกันแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์มากมายระดับนี้ 

วัตถุไม่ใช่แค่วัตถุ วัตถุมีความหมาย คำว่า ‘วัตถุโบราณ’ ก็เหมือนคำว่า ‘กาแฟโบราณ’ ‘ก๋วยเตี๋ยวโบราณ’ ‘ผัดไทยโบราณ’ ‘รถโบราณ’ ‘บ้านโบราณ’ ฯลฯ  การมีคำว่า ‘โบราณ’ เข้าไปต่อท้ายขยายความไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นมีอายุเก่าแก่ย้อนหลังกลับไปหลายร้อยหลายพันปี ฉะนั้นตุ๊กตาหินเหล่านี้แม้อาจไม่ใช่ของมีอายุเก่าเท่าไรนัก ก็อาจอนุโลมเป็น ‘ของโบราณ’ ได้ เพียงเพราะว่า ความที่มันดูแปลกตาไม่ค่อยได้มีโอกาสได้เห็นในชีวิตประจำวัน
  
ตัวโบราณวัตถุอาจไม่ถึงกับเก่าแท้สัมบูรณ์ แต่มุมมองการให้ความหมายของผู้คนนั่นแหละที่จะทำให้มันเป็นของเก่าแท้และโบราณยิ่งกว่า ในแง่รูปแบบ, การนำเอา ‘ของประดับบารมี’ มาตั้งอยู่ที่เดิมที่มันเคยอยู่  ดูเผิน ๆ อาจเป็นการฟื้นอดีตได้สำเร็จ แต่ในแง่เนื้อหา, มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  มันกลายเป็น ‘ของสาธารณะ’ ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงหรือสัมผัสได้ เหมือนฟื้น ‘ร่าง’ กลับมาได้  แต่เป็นร่างไร้วิญญาณ     

คำถามสุดท้าย, เมื่อมีการขุดค้นพบของสำคัญอย่างใด ในระยะที่ยังไม่ทราบสิ่งที่จำเป็นต้องทราบเกี่ยวกับวัตถุเหล่านี้อยู่หลายเรื่อง การเร่งรีบจัดการแปรสภาพให้เป็นของมี ‘มูลค่าทางเศรษฐกิจ’ ดังในกรณีตุ๊กตาหินนี้ จะส่งผลกระทบต่อการศึกษาทางวิชาการหรือไม่ อย่างไร และกระทบมากน้อยแค่ไหน  

เชิงอรรถ

[1]  ข่าวประชาสัมพันธ์และกิจกรรม สำนักพระราชวัง. “ขุดพบประติมากรรมหินสลัก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง” (ออนไลน์)  https://www.royaloffice.th/2022/07/15/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81/ (ค้นหาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2565)

[2] Joachim K. Bautze. Unseen Siam Early Photography 1860-1910. (Bangkok: River Books, 2016), p. 142; การอภิปรายความสำคัญของภาพถ่ายเก่าในเล่มนี้ดู Chris Baker. “Unseen Siam: Early Photography 1860–1910 by Joachim K. Bautze” Journal of Siam Society. Vol. 105 (2017): pp.331-332. 

[3] วัณณสาส์น นุ่นสุข. สยามประเทศ: การติดต่อโลกภายนอกและพัฒนาการของบ้านเมือง. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, 2550. 

[4] ทวีศักดิ์ เผือกสม. คนแปลกหน้านานาชาติของกรุงสยาม ใน "โคลงต่างภาษา" ที่วัดโพธิ์ งานเขียนเชิงชาติพันธุ์วรรณาชิ้นแรกของสยาม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2546. 

[5] อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช. “ศิลาจีนในไทย: การศึกษาที่มาผ่านเอกสารโบราณ” เมืองโบราณ. ปีที่ 39 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2556): น. 146-150. 

[6] ดูรายละเอียดใน สว่าง เลิศฤทธิ์. โบราณคดี: แนวคิดและทฤษฎี. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2547; John E. Yellen. Archaeological Approaches to the Present: Models for Reconstructing the Past. New York: Academic Press, 1979.

[7] มอริซิโอ เปเลจจี (Maurizio Peleggi). “การขุดค้นยุคก่อนประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคสงครามเย็น: โบราณคดีอเมริกันในประเทศไทยที่เป็นอาณานิคมใหม่” (Excavating Southeast Asia’s Prehistory in the Cold War: American Archaeology in Neocolonial Thailand) แปลโดย เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวณิช ใน วารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์. ปีที่ 7 ฉบับที่1 (มกราคม-มิถุนายน 2563): น. 105-135.

[8] ปัจจุบันมีผู้ศึกษาแนวคิดของบาร์ตส์กันมาก แต่เป็นที่รู้กันว่างานที่อธิบายในภาษาไทยได้เข้าใจที่สุดนั้นแนะนำให้อ่าน นพพร ประชากุล. “คำนำบทแปล” ใน โรล็องด์ บาร์ตส์. มายาคติ (Mythologies). แปลโดย วรรณพิมล อังคศิริสรรพ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คบไฟ, 2551; ดูเพิ่มเติมเป็นบทความสั้นๆ ใน นพพร ประชากุล. “สัมพันธบท (intertextuality)” สารคดี.ปีที่ 16 ฉบับที่ 182 (เมษายน 2543) หน้า 175-177.