อำลา ‘เมห์ราน นัสเซอรี’ ชายที่ติดในสนามบิน 18 ปี ชีวิตจริงที่เป็นหนัง The Terminal

อำลา ‘เมห์ราน นัสเซอรี’ ชายที่ติดในสนามบิน 18 ปี ชีวิตจริงที่เป็นหนัง The Terminal

เมห์ราน คารีมี นัสเซอรี (Mehran Karimi Nasseri) ชายเจ้าของเรื่องจริงที่ติดในสนามบิน 18 ปี จนกลายเป็นหนัง The Terminal ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงในสนามบิน ช่วงปลายปี 2022

  • เมห์ราน คารีมี นัสเซอรี เป็นชาวอิหร่านที่ทำเอกสารรับรองสถานะผู้ลี้ภัยหาย จนติดอยู่ในสนามบินนานแรมปี
  • เรื่องราวของเขาถูกดัดแปลงกลายเป็นภาพยนตร์ The Terminal นำแสดงโดย ทอม แฮงค์ส
  • บีบีซี รายงานโดยอ้างอิงเจ้าหน้าที่ในสนามบินว่า ไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะเสียชีวิต เมห์ราน กลับไปสนามบินที่เขาอาศัยอยู่หลายปีอีกครั้ง และเสียชีวิตลงในสนามบินช่วงพฤศจิกายน 2022 

การรอคอยอาจเป็นเรื่องน่าเบื่อและไม่น่าพิศมัยสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับเมห์ราน คารีมี นัสเซอรี (Mehran Karimi Nasseri) ชายผู้ใช้ชีวิตบนม้านั่งผู้โดยสารในท่าอากาศยานกรุงปารีส นาน 18 ปี การรอคอยของเขานอกจากจะทำให้กลายเป็นคนมีชื่อเสียง ยังเป็นแรงบันดาลใจให้สตีเว่น สปีลเบิร์ก นำเรื่องราวไปสร้างเป็นหนังฮอลลีวูดเนื้อหากินใจที่ชื่อ The Terminal

The Terminal (2004) ได้ทอม แฮงค์ส ดาราเจ้าของรางวัลออสการ์จากเรื่อง Forrest Gump (1994) มารับบท วิคเตอร์ นาวอร์สกี ชายชาวยุโรปตะวันออกผู้ติดอยู่ในสนามบินนิวยอร์ก เพราะประเทศบ้านเกิดตกอยู่ในภาวะสงครามจากการทำรัฐประหาร จนรัฐบาลอเมริกันคว่ำบาตร ทำให้ไม่สามารถเข้าสหรัฐฯ หรือเดินทางไปที่อื่นต่อได้

แม้เรื่องราวของชายที่ทอม แฮงค์ส สวมบทบาทอาจมีรายละเอียดแตกต่างไปจากชีวิตของเมห์ราน คารีมี นัสเซอรี ชาวอิหร่านที่ทำเอกสารรับรองสถานะผู้ลี้ภัยหาย จนติดอยู่ในสนามบินนานแรมปี แต่ผู้สร้างหนังฮอลลีวูดยอมรับว่า เนื้อหาใน The Terminal ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของชายผู้นี้ และต้องการสื่อให้ทุกคนเห็นคุณค่าของการรอคอย

ชีวิตจริงของผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ฮอลลีวูด

เมห์ราน คารีมี นัสเซอรี หรือที่หลายคนรู้จักเขาในนาม ‘เซอร์ อัลเฟรด’ เป็นชายวัยกลางคน ศีรษะล้าน มาดนิ่ง มีหนวดเหนือริมฝีปาก แต่โกนเคราเกลี้ยงและแต่งตัวสะอาดสะอ้านแม้เขาจะเป็นคนไร้บ้าน ต้องยึดม้านั่งสีแดงภายในอาคาร 1 โซนผู้โดยสารขาออกของท่าอากาศยานชาร์ล เดอ โกล ในกรุงปารีส เป็นที่พำนักมายาวนานถึง 18 ปี

ประวัติโดยละเอียดของเซอร์ อัลเฟรด (‘เซอร์’ มาจากคำสุภาพที่ใช้เรียกผู้ชาย ไม่ใช่ยศอัศวิน) อาจไม่มีใครสามารถยืนยันได้แน่ชัด แต่เชื่อว่าเขาเกิดในกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ระหว่าง ค.ศ. 1945 - 1953 มาจากครอบครัวผู้มีอันจะกิน มีพี่น้อง 5 คน บิดาเป็นแพทย์ประจำบริษัทน้ำมันแองโกล - เปอร์เซียน ของอังกฤษ และเคยเดินทางไปศึกษาต่อที่อังกฤษ ในสาขายูโกสลาเวียศึกษา

หลังจากบิดาเสียชีวิตในปี 1972 อัลเฟรดต้องเดินทางกลับอิหร่านในอีก 2 ปีถัดมา แต่ทันทีที่เหยียบแผ่นดินบ้านเกิด เขาถูกหน่วยตำรวจลับ ‘ซาวัค’ ของพระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี จับกุมและนำตัวไปทรมาน เนื่องจากมีประวัติร่วมขบวนการนักศึกษาประท้วงต่อต้านระบอบกษัตริย์ของอิหร่าน ก่อนถูกเนรเทศและต้องไปขอลี้ภัยในยุโรป

เขาเร่รอนไปตามประเทศต่าง ๆ ในยุโรปนาน 2 - 3 ปี ก่อนได้สถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเบลเยียมในปี 1981 แต่ด้วยความผูกพันกับอังกฤษ และเชื่อว่ามารดาที่แท้จริงของตนเองมาจากสกอตแลนด์ เขาจึงพยายามเดินทางไปอังกฤษอีกครั้งผ่านทางฝรั่งเศส แต่เนื่องจากไม่มีทั้งพาสปอร์ตและเอกสารรับรอง เขาจึงถูกอังกฤษปฏิเสธเข้าประเทศและถูกส่งตัวกลับไปดินแดนต้นทาง คือ ฝรั่งเศส

อัลเฟรดอ้างว่า สาเหตุที่เขาไม่สามารถยืนยันตัวตนกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอังกฤษ เป็นเพราะถูกจี้ในรถไฟใต้ดินกรุงปารีส ทำให้เอกสารต่าง ๆ สูญหาย แต่บางรายงานระบุว่า เขาส่งเอกสารรับรองสถานะผู้ลี้ภัยคืนให้ทางการเบลเยียมเองเพราะหวังว่าจะได้เข้ามาลี้ภัยในอังกฤษ

ไม่ว่าเรื่องราวที่แท้จริงคืออะไร การเป็นบุคคลไร้หนังสือรับรอง ตลอดจนช่องโหว่ทางข้อกฎหมายและความล่าช้าของระบบเอกสารยุคนั้น ทำให้อัลเฟรด ต้องติดค้างอยู่ในสนามบินกรุงปารีส ไม่สามารถเดินทางไปไหนต่อได้นานถึง 18 ปี นับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคมปี 1988 เป็นต้นมา

รับทรัพย์ก้อนโตจากการรอคอย

ชีวิตของอัลเฟรด ซึ่งรอคอยอิสรภาพอยู่บนม้านั่งสีแดงในอาคาร 1 ของท่าอากาศยานชาร์ล เดอ โกล ค่อย ๆ เนิ่นนานจากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้คนที่ผ่านไปมา รวมถึงสื่อมวลชนที่คอยรายงานความคืบหน้าของชายที่ใช้เวลารอเปลี่ยนเครื่องยาวนานที่สุดผู้นี้

นอกจากนี้ เรื่องราวของอัลเฟรดยังไปเข้าตาค่ายหนัง DreamWorks ของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก จนต่อมาต้องติดต่อขอนำชีวิตของเขาไปสร้างต่อยอดเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดแนวดราม่าที่ชื่อว่า The Terminal

แม้ DreamWorks จะไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของสัญญาและค่าลิขสิทธิ์ที่จ่ายให้กับอัลเฟรด แต่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ อ้างข่าวลือที่ระบุว่า เรื่องราวชีวิตของชายชาวอิหร่านผู้นี้มีมูลค่าสูงถึง 275,000 เหรียญสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม โฆษกของ DreamWorks ย้ำว่า The Terminal ไม่ใช่เรื่องราวของอัลเฟรด แต่เป็นหนังที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของเขาเท่านั้น

****คำเตือน เนื้อหาต่อไปนี้จะเปิดเผยเรื่องราวบางส่วนในหนัง The Terminal****

The Terminal เป็นหนังที่เล่าเรื่องราวของตัวละครที่แต่งขึ้นใหม่ใช้ชื่อว่า วิคเตอร์ นาวอร์สกี (ทอม แฮงค์ส) เขาเดินทางมาจากดินแดนในยุโรปตะวันออกซึ่งไม่มีอยู่จริงที่เรียกว่า ‘คราโคเซีย’ ก่อนจะมาติดอยู่ในท่าอากาศยานจอห์น เอฟ. เคนเนดี ในนครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ ไม่ใช่สนามบินชาร์ล เดอ โกล

ส่วนสาเหตุที่ทำให้วิคเตอร์ ออกไปไหนไม่ได้ เป็นเพราะดินแดนที่เขาจากมาเกิดการทำรัฐประหารและสงครามกลางเมือง ทำให้พาสปอร์ตถูกแบน ไม่ใช่การขอลี้ภัยเหมือนในเคสของอัลเฟรด

แม้รายละเอียดทั้งสถานที่ ตัวละคร และเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมาในหนังจะมีการแต่งเติมเพิ่มอรรถรสให้กับผู้ชม เพราะในชีวิตจริงของอัลเฟรดไม่ได้ตื่นเต้นดราม่าเหมือนใน The Terminal

รายได้ของอัลเฟรดก่อนมีชื่อเสียงโด่งดังล้วนมาจากสินน้ำใจของผู้พบเห็นที่ผ่านไปมา ไม่มีงานประจำเป็นช่างก่อสร้างเหมือนในหนัง และไม่มีแอร์โฮสเตสสาวคนสวยอย่างเอมิเลีย (แคเธอรีน ซีต้า - โจนส์) เดินผ่านเข้ามาในชีวิตให้ตกหลุมรัก แต่สิ่งเดียวที่ตัวละครหลักกับบุคคลต้นแบบในชีวิตจริงมีเหมือนกันนั่นคือ การรอคอย

อัลเฟรดเฝ้ารอคอยอิสรภาพที่จะได้เดินทางไปอังกฤษตามที่ใฝ่ฝัน ส่วน The Terminal เน้นเล่าเรื่องคุณค่าการรอคอยของวิคเตอร์ ที่ต้องการเดินทางไปนิวยอร์ก เพื่อสานฝันของบิดา โดยมีสิ่งของที่อยู่ในกระป๋องถั่วเป็นตัวนำทาง

การรอคอยเพื่อให้ได้เข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย ทำให้วิคเตอร์ได้เจอทั้งมิตรภาพและความรัก เป็นมิตรภาพจากคนรอบตัวทั้งพนักงานทำความสะอาด พนักงานขับรถขนส่งอาหาร และพนักงานขนถ่ายสัมภาระในสนามบิน

ขณะเดียวกันก็ทำให้เขาได้รางวัลเป็นความรักจากเอมิเลีย แอร์โฮสเตสขี้เหงาที่เฝ้ารอคอยรักแท้

“คุณบอกว่า คุณกำลังรออะไรบางอย่าง และผมบอกกับคุณว่า ‘ใช่ ๆ เราทุกคนล้วนรอคอย”

วิคเตอร์กล่าวกับเอมิเลีย ก่อนที่ฝ่ายหญิงจะถามกลับมาว่า “แล้วคุณกำลังรออะไร”

“รอคุณนั่นไง ผมรอคอยคุณ” วิคเตอร์สารภาพรักกับเอมิเลีย

ตำนานการรอคอย

แม้เรื่องราวของวิคเตอร์ใน The Terminal จะจบลงแบบ happy ending ทั้งเอมิเลียและเพื่อน ๆ ที่เจอในสนามบินสามารถช่วยให้เขาทำตามความตั้งใจในการไปนิวยอร์ก เพื่อสานฝันให้บิดา แต่ชีวิตจริงของอัลเฟรด ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดหนังเรื่องนี้กลับจบไม่สวยเท่าใดนัก

ชื่อเสียงและความเคยชินกับสภาพความเป็นอยู่ในสนามบิน ทำให้อัลเฟรดปฏิเสธความช่วยเหลือของทนายที่สามารถวิ่งเต้นหาเอกสารมาช่วยให้เขาเดินออกจากสนามบินได้อย่างอิสระตั้งแต่ปี 1999

เขาปฏิเสธยอมรับตัวตนและรากเหง้าที่แท้จริงของตัวเอง และเริ่มบอกเล่าเรื่องราวชีวิตส่วนตัวที่ผิดเพี้ยนไป สนามบินเริ่มกลายเป็น ‘คอมฟอร์ทโซน’ ที่เขาไม่อยากจากไปไหน จนกระทั่งเดือนกรกฎาคมปี 2006 หลังใช้ชีวิตอยู่ในนั้นนาน 18 ปี อัลเฟรดล้มป่วยด้วยโรคที่ไม่เปิดเผย ก่อนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล

นับแต่นั้นมา อัลเฟรดไม่ได้หวนกลับเข้าไปใช้ชีวิตหลับนอนในสนามบิน เขามีชีวิตอย่างเรียบง่ายอยู่ในฝรั่งเศส และยอมรับสถานะพลเมืองแดนน้ำหอม (มีรายงานจากสื่อฝรั่งเศสว่า เขาพักในโฮสเทลโดยใช้เงินที่ได้จากภาพยนตร์) ปิดฉากตำแหน่งมนุษย์ที่รอเปลี่ยนเครื่องในสนามบินยาวนานที่สุดลงอย่างสมบูรณ์

แม้สุดท้าย เขาต้องยอมรับตัวตนที่แท้จริงของตนเองในชื่อ เมห์ราน คารีมี นัสเซอรี และไม่ได้เดินทางไปอังกฤษตามที่ตั้งใจ

ช่วงปลายปี 2022 มีรายงานจากสำนักข่าวบีบีซี (BBC) อ้างอิงข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สนามบินซึ่งเปิดเผยว่า ไม่กี่สัปดาห์ก่อนเขาเสียชีวิต เมห์ราน เดินทางกลับไปที่สนามบินซึ่งเขาเคยอาศัยอยู่อีกครั้ง และเสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ที่ 12 พ.ย. ด้วยสาเหตุตามธรรมชาติภายในสนามบิน 

รายงานยังเผยว่า เขาถูกพบว่ามีเงินติดตัวหลายพันยูโร 

แม้ชีวิตของเซอร์ อัลเฟรด จะไม่ได้จบแบบ happy ending เหมือนวิคเตอร์ แต่อย่างน้อยรางวัลที่เขาได้รับจากการเฝ้ารอความฝันมา 18 ปีที่ประเมินค่าไม่ได้ นั่นคือการถูกจดจำในฐานะตำนานผู้สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดเป็นหนัง The Terminal

ภาพยนตร์ที่ทำให้คนทั่วไปตระหนักว่า การรอคอยบางครั้งอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป

 

หมายเหตุ: ปรับปรุงเนื้อหาเพิ่มเติมโดยอัปเดตข่าวการเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2022 

อ้างอิง:

The Guardian

New York Times

GQ

Cabinet Magazine

BBC