รอยอดีต ‘นรกบางกลอย’ ไขปริศนา ตชด. ในสมรภูมิแก่งกระจาน

รอยอดีต ‘นรกบางกลอย’ ไขปริศนา ตชด. ในสมรภูมิแก่งกระจาน
อาถรรพ์ผืนป่าแก่งกระจาน ถูกเล่าขานกันมากมาย เมื่อเกิดเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตก 3 ลำ ในเวลา 9 วัน มีผู้เสียชีวิต 17 ศพ ช่วงกลางปี 2554 เคียงคู่ไปกับเรื่องลี้ลับ ก็มีการนำปัญหาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มาตีแผ่กันอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของ ‘ปู่คออี้’ (นักต่อสู้ชาวกะเหรี่ยงผู้ล่วงลับ) ความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรณีสิทธิการอยู่อาศัยในพื้นที่บางกลอยบน
.
ต้นปี 2564 ชาวกะเหรี่ยงจากบ้านบางกลอย ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รวมตัวกันกลับขึ้นไปทำมาหากินในถิ่นฐานเดิมที่บางกลอยบน และใจแผ่นดิน จนเป็นข่าวใหญ่ในวันนี้ หลายปีก่อน มีคนพูดถึง ‘หน่อแอ’ ลูกของปู่คออี้ ชาวกะเหรี่ยงที่เข้าไปช่วยค้นหาตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่ติดอยู่กลางป่าลึก 35 วัน ขึ้น ฮ. กลับออกมาได้ และเป็นตัวละครในบทท้าย ๆ ของหนังสือ ‘นรก 35 วัน ในป่าบางกลอย’ เขียนโดย เริงศักดิ์ กำธร อดีตผู้สื่อข่าว นสพ.เดลินิวส์ 
.
ปฏิบัติการหาข่าวของ ตชด. 8 นาย และกะเหรี่ยงนำทาง 1 คน บริเวณต้นน้ำบางกลอย เมื่อปี 2535 ได้นำมาซึ่งความสูญเสียของ ตชด. 4 นาย พร้อมคนนำทาง โดยฝีมือของ ‘กองกำลังไม่ทราบฝ่าย’
.
ความลับที่บางกลอย
.
พื้นที่ป่าเหนืออ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน บริเวณเทือกเขาตะนาวศรี อันสลับซับซ้อน ยังเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำบางกลอย ที่ไหลจากทิศเหนือลงมาทางทิศใต้ มารวมกับแม่น้ำเพชรบุรีกลางป่าลึก ก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานปี 2524 บ้านบางกลอยบน อยู่ในเขตการปกครองของหมู่ที่ 7 ต.สองพี่น้อง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี (ปัจจุบัน ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน) เทือกเขาตะนาวศรีพาดผ่านตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ตั้งแต่เขตด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี ผ่านเขต อ.ทองผาภูมิ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี แล้วผ่านลงทางใต้ทางด้านตะวันตก จ.ราชบุรี, เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
.
29 ปีที่แล้ว พรมแดนไทย-เมียนมา ด้าน จ.เพชรบุรี ไม่มีที่ตั้งกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงตั้งฐานอยู่ในเขตประเทศเมียนมา เหมือนแถว อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ต้นเดือนสิงหาคม 2535 ฝ่ายความมั่นคงได้ทราบความเคลื่อนไหวของ ‘กองกำลังไม่ทราบฝ่าย’ ที่กลางป่าแก่งกระจาน ติดพรมแดนไทย-เมียนมา จึงจัดกำลังตำรวจพลร่ม ผสม ตชด. ชุดหนึ่งออกไปหาข่าวเป็นเวลา 7 วัน เพื่อการพิสูจน์ทราบ เบื้องต้นฝ่ายความมั่นคงคาดเดาว่าน่าจะเป็นกลุ่มค้ายาเสพติด และค้าแรงงานเถื่อนที่มาจากฝั่งเพื่อนบ้าน เพื่อความแน่ชัด จึงได้จัดส่งกำลังไปหาข่าว และออกเดินทางโดย ฮ. ตำรวจ จากค่ายนเรศวร มุ่งหน้าสู่ป่าต้นน้ำบางกลอย เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 7 สิงหาคม 2535
.
ชุดปฏิบัติการหาข่าว 9 ชีวิต ประกอบด้วยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 (ค่ายพระมงกุฎเกล้า) 2 นาย, ตำรวจพลร่ม (ค่ายนเรศวร) 6 นาย และพรานนำทางชาวกะเหรี่ยง มีรายนามดังนี้ ด.ต.อรัญ กิจกุล หัวหน้าชุด, ด.ต.สำเริง ชัยชนะสงคราม, จ.ส.ต.โชคดี ชัยยะเจริญ, จ.ส.ต.อดุลย์ พวงงาม, ส.ต.ท.ไพฑูรย์ , ส.ต.ท.พลอย ศิลปะศร, ส.ต.ท.สมชาย เพิ่มพงศาเจริญ และ ส.ต.ท.ภิญโญ พร้อมกับนายเมือง กะเหรี่ยงนำทาง ก่อนหน้านั้น ฮ. ได้บินมาสำรวจจุดลงจอดครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อถึงเป้าหมาย ฮ. ได้โฉบลงจุดทุ่งนากลางป่าบางกลอย ส่งชุดหาข่าวเสร็จ ฮ. บินกลับ รอเวลานัดหมายในอีก 7 วันข้างหน้า ผู้มาเยือนป่าบางกลอยรู้สึกแปลกใจที่มีกระต๊อบปลูกอยู่ริมลำห้วยหลายหลัง แถมมีการขุดคูโดยรอบ และไม่ทันได้ตั้งตัว พวกเขาถูกซุ่มโจมตี กองกำลังไม่ทราบฝ่ายระดมยิงเป็นชุด ๆ จนต้องถอยร่น เพราะกำลังคนน้อยกว่าฝ่ายตรงข้าม และใช้กลยุทธ์เอาตัวรอดกลางป่าเขา
.
วันที่ 11 สิงหาคม 2535 ชุดหาข่าวเดนตายปะทะกับกองกำลังไม่ทราบฝ่ายครั้งที่ 2 เสียชีวิต 3 ศพ ได้แก่นายเมือง คนนำทาง, ส.ต.ท.พลอย และ ส.ต.ท.ไพฑูรย์ ส่วนกองบัญชาการตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร ได้จัดกำลังชุดค้นหาผู้รอดชีวิต หลังทราบข่าวมีการยิงปะทะกันกลางป่าแก่งกระจาน เวลานั้น ชุดปฏิบัติการหาข่าว 9 ชีวิต ยังเกาะกลุ่มกันอยู่แค่ 4 นายคือ จ.ส.ต.อดุลย์ พวงงาม, ด.ต.อรัญ กิจกุล, ด.ต.สำเริง ชัยชนะสงคราม และ จ.ส.ต.โชคดี ชัยยะเจริญ ส่วน ส.ต.ท.ภิญโญ และ ส.ต.ท.สมชาย หายไปตั้งแต่การปะทะรอบที่ 2 ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
.
ผ่านไป 1 เดือน ตชด. 4 นาย ยังหาทางออกจากป่าดิบดงดำไม่ได้ ดำรงชีพกลางป่า ด้วยความยากลำบาก แล้ววันหนึ่ง พวกเขาก็เจอศพ ส.ต.ท.ภิญโญ และพบกางเกง ส.ต.ท.สมชาย ลอยน้ำมา วันที่ 10 กันยายน 2535 เป็นวันฟ้าเปิด ตชด. 4 นาย ได้พบทีมค้นหาชาวกะเหรี่ยง 2 คน และนิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านบางกลอย จึงมีการติดต่อให้ ฮ. มารับพวกเขากลับค่ายนเรศวร
พ.ศ. โน้น ข่าว ตชด. 4 นาย รอดชีวิตจากป่าบางกลอยเป็นเรื่องชวนติดตาม นสพ. รายวันขายดิบขายดี เพราะคนอยากรู้เบื้องหน้าเบื้องหลัง แต่ก็ไม่มีคำตอบว่า ‘กองกำลังไม่ทราบฝ่าย’ นั้น หมายถึงฝ่ายใด กองกำลังชาติพันธุ์หรือแก๊งค้ายาเสพติด
.
เขตงานตะนาวศรี
.
บ่ายวันที่ 14 กรกฎาคม 2562 ภายในงานฌาปนกิจ ‘ธง แจ่มศรี’ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) คนที่ 4 ณ วัดพระประโทณเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม ‘สหายโชติ’ อดีตคณะกรรมการกลาง พคท. ชุดที่ 4 ได้อ่านประวัติ ‘ธง แจ่มศรี’ เพื่อแสดงความไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้าย และมีใจความตอนหนึ่งที่น่าสนใจยิ่ง “วันที่ 7 สิงหาคม 2535 กำลัง ตชด. ได้ปะทะกับกองกำลังติดอาวุธของสหายธง ในยุทธการ 35 วัน นรกป่าบางกลอย เหนือเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งขณะนั้นศูนย์การนำ พคท. ได้ย้ายจาก จ.ชุมพร มาอยู่ตะนาวศรีเขตเหนือ (เพชรบุรี-ราชบุรี) แล้ว การปะทะกันครั้งนั้น นับเป็นการสู้รบครั้งสุดท้ายระหว่าง ทปท. กับเจ้าหน้าที่รัฐ” (ทปท. หมายถึง กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย)
.
นี่คือความจริงจากป่าบางกลอยที่เพิ่งถูกเปิดเผย ซึ่งใช้เวลาเกือบ 30 ปี แสดงว่า หน่วยข่าวความมั่นคง ไม่ได้ระแคะระคายมาก่อนเลยว่า ธง แจ่มศรี และศูนย์การนำ พคท. ได้มาหลบซ่อนอยู่กลางป่าเทือกเขาตะนาวศรี
.
ปี 2526 หลังการประชุมสมัชชา พคท. ครั้งที่ 4 กองทัพภาคที่ 4 ได้เปิดยุทธการล้อมปราบอย่างหนัก ทำให้ ธง แจ่มศรี ได้ย้ายจากช่องช้าง จ.สุราษฎร์ธานี มาอยู่ที่ จ.ชุมพร แล้วก็ข้ามไปอยู่เทือกเขาตะนาวศรี เขตใต้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก่อนจะเคลื่อนพลไปปักหลักที่ตะนาวศรี เขตเหนือรอยต่อ จ.เพชรบุรี และ จ.ราชบุรี
.
ปี 2530 คณะกรรมการกลางและกรมการเมือง พคท. 8 สหาย ถูกจับที่บางแสน ขณะเตรียมงานเปิดประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศ ครั้งที่ 5 สหายธงรอดจากการถูกจับกุม เพราะเป็นสหายนำคนเดียวที่คัดค้านการเข้าไปประชุมลับในเมือง สถานการณ์โดยรวมของ พคท. ระหว่างปี 2527-2530 กระแสการต่อสู้ปฏิวัติตกต่ำถึงขีดสุด สหายเขตงานต่าง ๆ ทิ้งป่ากลับเข้าเมือง ผู้ปฏิบัติงาน และสมาชิกทั่วทั้งพรรค เกิดวิกฤตศรัทธา สิ้นหวังต่อองค์การนำ พคท. ชุดที่ 4
.
สหายธง แจ่มศรี ยังปักหลักอยู่กลางป่าลึกแถวต้นแม่น้ำบางกลอย แม้พวกเขาสามารถปลูกข้าวเลี้ยงตัวเองได้ แต่กองทหารก็ต้องการปัจจัยอื่น ๆ เพื่อการดำรงชีพ ฉะนั้น ศูนย์การนำ พคท. จึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมาก ต้องปลูกข้าวแล้วแบกเป้เอาข้าวเปลือกไปแลกเอาเกลือ กะปิจากฝั่งพม่า
.
จริง ๆ แล้ว สหายธงพยายามรักษา ‘ที่มั่นจรยุทธ์’ สุดท้ายไว้ให้นานที่สุด ด้วยงานจัดตั้งชาวกะเหรี่ยงบางกลอยแบบลับ ๆ และหลีกเลี่ยงการปฏิบัติการทางทหาร เหตุการณ์วันที่ 7 สิงหาคม 2535 นั้น ตชด. บุกเข้ามาถึงที่มั่นของสหาย ถือว่าเป็นการเสียลับ จึงต่อสู้ป้องกันตัวเอง ก่อนจะถอนกำลังทั้งหมด ถอยเข้าไปในป่าลึกติดพรมแดนเมียนมา
.
ปี 2536 สหายธงประเมินสถานการณ์หลังที่มั่นบางกลอยถูกเปิดเผยแล้ว จึงทยอยส่งสหายร่วมอุดมการณ์ออกจากป่าจนหมดสิ้น ปิดฉากกองทหารป่าชุดสุดท้าย ทุกวันนี้ สหายชาวกะเหรี่ยงได้จัดงานรำลึกวีรชนปฏิวัติที่อนุสรณ์สถานเขตตะนาวศรี บ้านห้วยเกษม อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี เป็นประจำทุกปี ชาวกะเหรี่ยงเขตงานตะนาวศรี ไม่เคยเปิดเผยกรณี ตชด. ปะทะสหายที่ป่าบางกลอย หากไม่มีการบอกเล่าในงานศพสหายธง แจ่มศรี ในวันนั้น ก็คงเป็นความลับไปตลอดกาล
.
เรื่อง: ชน บทจร