อัน จุง-กึน นักสู้ปลดปล่อยเกาหลี มือสังหารนายกฯ คนแรกของญี่ปุ่น

อัน จุง-กึน นักสู้ปลดปล่อยเกาหลี มือสังหารนายกฯ คนแรกของญี่ปุ่น
"ประชาชนชาวญี่ปุ่นทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นขุนนางหรือพ่อค้า ไม่ควรเผลอลืมแม้ชั่วขณะว่า หน้าที่ของเราคือการรักษาไว้ซึ่งสันติภาพในตะวันออกไกลภายใต้ราชวงศ์แห่งจักรวรรดิอันไม่ขาดสาย ไม่ว่ารัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญของจีนจะเดินหน้าไปได้หรือไม่อย่างไร ไม่ว่ามันจะคงอยู่หรือแตกแยก เสียงจากญี่ปุ่นต้องเป็นเสียงแรกที่คนต้องฟังและให้ความเคารพในกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับจักรวรรดิจีน ชาติใด ๆ ก็ไม่ปฏิเสธข้อนี้ได้ และไม่เพียงแต่จีนเท่านั้น มันคือหน้าที่โดยธรรมของญี่ปุ่นในการปกป้องชาติตะวันออก รวมทั้งเกาหลีและแมนจูเรีย ดังนั้นอำนาจครอบงำทะเลญี่ปุ่น และทะเลจีน รวมทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกจึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุดที่เราจะต้องปกปักรักษาไว้" (Johnston, John Thomas Morris. "Hirobumi Ito." World Patriots. 1917 p. 164) คำกล่าวข้างต้นมาจากฝีปากของ อิโต ฮิโรบูมิ (Ito Hirobumi) นายกรัฐมนตรีคนแรกของญี่ปุ่นหลังการปฏิรูปเมจิ และข้าหลวงใหญ่คนแรกประจำเกาหลี เขาเป็นหนึ่งในรัฐบุรุษคนสำคัญที่พาญี่ปุ่นสู่ยุคสมัยใหม่อย่างองอาจ เป็นผู้วางรากฐานสำคัญของนโยบายการต่างประเทศของญี่ปุ่นซึ่งต้องผลักดันควบคู่ไปกับแสนยานุภาพทางการทหาร และสันติภาพของตะวันออกไกลจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอยู่ภายใต้การครอบงำของญี่ปุ่นดังที่เขาประกาศไว้ข้างต้น  แต่นั่นเป็นสันติภาพในแบบที่ประชาชน หรือคนชาติอื่นไม่ได้เรียกหา การบีบบังคับให้ราชอาณาจักรเกาหลีกลายเป็นเพียงรัฐอารักขาของญี่ปุ่น สูญสิ้นอำนาจที่จะกำหนดเส้นทางเดินของตัวเองก็สร้างความไม่พอใจให้กับชาวเกาหลีจำนวนมาก นำไปสู่การจัดตั้งขบวนการใต้ดินเพื่อขับไล่จักรวรรดินิยมญี่ปุ่น และหนึ่งในนักต่อสู้คนสำคัญของขบวนการก็คือ อัน จุง-กึน (Ahn Jung-geun) ผู้ลอบสังหาร อิโต ฮิโรบูมิ ซึ่งดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ญี่ปุ่นประจำเกาหลีอยู่ในขณะนั้น ในสายตาของญี่ปุ่น อัน จุง-กึน จึงถูกมองว่าเป็น "อาชญากร" หรือ "ผู้ก่อการร้าย" แต่สำหรับชาวเกาหลีเขาคือ "วีรบุรุษ" ที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประเทศ อัน จุง-กึน เกิดที่แฮจู เมืองที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในเกาหลีเหนือ เมื่อปี 1879 เขาเกิดในครอบครัวมีอันจะกินมีโอกาสได้ศึกษาตามขนบเดิมรวมถึงความรู้แบบตะวันตกหลังเข้ารีตเป็นคาทอลิกเมื่ออายุได้ราว 16 ปี เกาหลีในสมัยนั้นยังเป็นประเทศที่ยากจนที่ตกอยู่ในอิทธิพลของสามชาติใหญ่คือจีน รัสเซีย และญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นหลังการปฏิรูปเมจิได้เปลี่ยนตัวเองจากรัฐศักดินาแบบเก่ามาเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทั้งในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว และล้ำหน้าสองชาติใหญ่ในภูมิภาคอย่างจีนและรัสเซียไปไกล ทำให้อันเองอดรู้สึกทึ่งและชื่นชมความสำเร็จในการปฏิรูปของญี่ปุ่นไม่ได้ (The Korea Times) เมื่อญี่ปุ่นชนะสงครามเหนือจีน ทั้งสองประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกและยอมรับอำนาจครอบงำของญี่ปุ่นเหนือเกาหลีในปี 1895 ความพยายามแผ่อิทธิพลสู่ภาคพื้นทวีปของญี่ปุ่นทำให้ฝ่ายรัสเซียไม่พอใจและหนุนหลังกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นในเกาหลีให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ฝ่ายญี่ปุ่นจึงได้จัดแจงร่วมวางแผนลอบสังหารควีนมิน (จักรพรรดินีมย็องซ็อง) ของเกาหลีที่ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคในการครอบงำเกาหลีของญี่ปุ่น  จักรพรรดิโคจงของเกาหลีจึงต้องหนีมาหลบภัยกับทูตรัสเซีย ต่อมารัสเซียยังได้กดดันจีนให้มอบที่สำหรับสร้างฐานทัพเรือที่พอร์ตอาร์เธอร์ (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหลียวหนิงของจีน) ยิ่งทำให้ญี่ปุ่นมองว่ารัสเซียคืออุปสรรคสำคัญในการแผ่อิทธิพลของตน  หลังสั่งสมกำลังได้ตามเป้าแล้วจึงเปิดฉากโจมตีท่าเรือแห่งนี้ของรัสเซียก่อนและเป็นฝ่ายชนะสงครามไปในปี 1905 ทำให้รัสเซียต้องถอนตัวออกจากแมนจูเรียและล้มแผนแผ่อิทธิพลในตะวันออกไกล ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศเดียวที่ถืออำนาจครอบงำเกาหลี และเกาหลีก็ต้องยอมลงนามในสนธิสัญญายอมเป็นรัฐในอารักขาของญี่ปุ่นในปีเดียวกันนั้นเอง การต่อต้านการครอบงำของญี่ปุ่นยิ่งรุนแรงขึ้นหลังการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ฝ่ายญี่ปุ่นพยายามสะกดการเคลื่อนไหวของฝ่ายชาตินิยมด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา รวมถึงการกดดันให้จักรพรรดิโคจงสละบัลลังก์ แต่ก็ไม่สามารถกำจัดขบวนการต่อต้านได้อย่างเด็ดขาด บัณฑิต ขุนนางและทหารที่ถูกปลดจากกองทัพพากันรวมตัวเป็นขบวนติดอาวุธสามารถสร้างความเสียหายให้กับกองกำลังญี่ปุ่นที่เข้าประจำการในเกาหลีพอสมควร (บันทึกทางการทหารของญี่ปุ่นระบุว่าการปะทะด้วยอาวุธกับขบวนการปลดปล่อยเกาหลี นับแต่เดือนสิงหาคม 1907 ถึงสิ้นปี 1910 เกิดขึ้นกว่า 2,800 ครั้ง และมีชาวเกาหลีที่เกี่ยวข้องเสียชีวิตราว 17,700 ราย - The Japan Times) แต่ก็ไม่มีครั้งใดที่จะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างได้เท่ากับการก่อเหตุของ อัน จุง-กึน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 1909 ณ สถานีรถไฟฮาร์บินได้  อัน จุง-กึน ผู้ปฏิญาณตนต่อสู้เพื่อชาติอย่างแน่วแน่ด้วยการตัดข้อนิ้วนางไปข้อหนึ่งแล้วใช้เลือดเขียนคำว่า "เพื่ออิสรภาพของเกาหลี" บนธงชาติ เมื่อได้ล่วงรู้ว่า อิโต ฮิโรบูมิ จะเดินทางมาที่ฮาร์บินเพื่อเจรจากับ วลาดิเมียร์ โคคอฟต์ซอฟ (Vladimir Kokovtsov) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของรัสเซียถึงผลประโยชน์ในแมนจูเรีย เขาจึงวางแผนที่จะปลิดชีพของอิโตลงที่นี่ ท่ามกลางการอารักขาของทั้งกองทหารเกียรติยศฝ่ายรัสเซีย และเจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่น อันและพวกอีกสองคนยังสามารถแฝงตัวจนสามารถเข้าถึงอิโตได้และได้ใช้อาวุธปืนยิงออกไป 6 นัด ถูกอิโต 3 นัดทำให้อดีตนายกฯ หลายสมัยของญี่ปุ่นถึงแก่ความตายไม่นานหลังจากนั้น หลังก่อเหตุพวกเขามิได้หลบหนี ยอมให้เจ้าหน้าที่รัสเซียจับกุมตัวไว้แต่โดยดี ก่อนที่ทางรัสเซียจะมอบให้ญี่ปุ่นไปดำเนินคดีต่อ อัน จุง-กึนรับสารภาพว่าเป็นผู้ลั่นไกสังหารอิโตเพื่อแก้แค้นให้กับประเทศ รวมถึงพี่น้องร่วมอุดมการณ์ที่ถูกประหารชีวิตจากการต่อต้านญี่ปุ่น (The New York Times) หลังการลอบสังหารสื่อญี่ปุ่นได้ประณามการกระทำของอันเป็นระยะเวลานานนับสัปดาห์ ตลอด 10 วันหลังเกิดเหตุมีรายงานกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไม่น้อยกว่า 90,000 ชิ้น และสมัยนั้นลัทธิอาณานิคมยังคงเป็นที่ยอมรับในสังคมโลก สื่อต่างประเทศจึงออกมาแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อญี่ปุ่น  ในทางตรงกันข้าม การกระทำของ อัน จุง-กึน ได้รับการแซ่ซ้องจากชาวเกาหลีที่ต่อต้านการครอบงำเกาหลีของจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น โดย  Korean Patriotic League ได้ออกแถลงการณ์ทันทีที่ข่าวการลอบสังหารอิโตเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะว่า "นี่คือเวลาที่ประชาชนของเรา 20 ล้านคนจะลุกขึ้นไขว่คว้าอิสรภาพ อิโตได้ตายลงแล้ว เขาคนนี้คือผู้นำญี่ปุ่นเข้าปกครองเกาหลีและจับประชาชนลงเป็นทาส กรรมได้ตามสนองความละโมบของเขาแล้ว โทษทัณฑ์ของเขาไม่อาจให้อภัยได้ และสิ่งที่เกิดขึ้นก็นับว่าสาสมกับความฉ้อฉลของเขา และเป็นธรรมต่อประเทศชาติของเรา "ยังไม่รู้แน่ว่า คนรักชาติชาวเกาหลีคนใดเป็นผู้ยิงอิโต แต่ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม เขาได้ทำเพื่อชาติของเขา และชื่อของเขาจะถูกจารึกไว้เป็นเกียรติยศในประวัติศาสตร์ของเราตลอดไปในฐานะตัวอย่างของผู้สละชีพเพื่อชาติต่อหน้าเพื่อนร่วมชาติอีกกว่า 20 ล้านคนที่ยังคงหลับใหล" (The New York Times) เรื่องราวของ อัน จุง-กึน ไม่เพียงกระตุ้นกระแสชาตินิยมในหมู่ชาวเกาหลีเท่านั้น ชาวจีนที่ตกเป็นเบี้ยล่างของทั้งตะวันตกและญี่ปุ่นก็เหมือนถูกปลุกให้ลุกขึ้นสู้ด้วยเช่นกัน ดร.ซุน ยัตเซ็น ผู้นำการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์แมนจูของจีนได้เขียนบทกลอนเชิดชูการกระทำของอันว่าเป็นไปเพื่อชาวเกาหลีทั้งปวง แม้ชีวิตของเขาจะสั้นแต่ชื่อเสียงของเขาจะคงอยู่นิรันดร์หลังความตาย และการที่เขาถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากรก็เพียงเพราะเขาคือตัวแทนของประเทศที่อ่อนแอ พร้อมวิจารณ์การเมืองระหว่างประเทศสมัยนั้นว่า ประเทศที่เข้มแข็งจะกดขี่เข่นฆ่าประชาชนเช่นใดก็ได้ หากสถานการณ์กลับกัน อิโตก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากรไม่ต่างกัน (Arirang TV) อย่างไรก็ดี การกระทำของอันยิ่งทำให้ญี่ปุ่นตัดสินใจใช้กำลังหนักข้อยิ่งขึ้น เพราะแม้ว่าอิโตจะเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้ญี่ปุ่นเข้าครอบงำเกาหลีแต่เขาคือผู้ส่งเสียงค้านการผนวกเกาหลีมาโดยตลอด และเป็นผู้ต่อต้านสายเหยี่ยวในกองทัพที่ต้องการยึดครองเกาหลีอย่างเต็มตัว ว่ากันว่า ก่อนตายอิโตถึงกับเอ่ยปากถึงอัน จุง-กึนว่า "เขาช่างเขลานัก" (Britannica) ขณะที่ อัน ให้เหตุผลที่เขาจำเป็นต้องสังหารอิโตไว้ 15 ข้อ โดย “อ้าง” ว่า อิโตมีส่วนกับ การลอบสังหารควีนมิน, ขับจักรพรรดิโคจงลงจากบัลลังก์, บังคับให้ทำสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม 14 ฉบับ, สังหารหมู่ชาวเกาหลีที่บริสุทธิ์, ยึดอำนาจรัฐบาลเกาหลีโดยใช้กำลัง, ปล้นทรัพยากรไม่ว่าจะเป็น เหมืองแร่ ป่าไม้ แม่น้ำ และทางรถไฟ, บังคับให้ใช้ธนบัตรญี่ปุ่น, ยุบกองทัพเกาหลี, ขัดขวางการศึกษาของชาวเกาหลี, ห้ามชาวเกาหลีไปศึกษาต่างประเทศ, ยึดและเผาทำลายตำราของเกาหลี, ปล่อยข่าวลือไปทั่วโลกว่าชาวเกาหลีต้องการความคุ้มครองจากญี่ปุ่น, หลอกลวงจักรพรรดิญี่ปุ่นว่าความสัมพันธ์ ญี่ปุ่น-เกาหลี เป็นไปโดยสันติ แต่ที่จริงเต็มไปด้วยความขัดแย้งและเป็นปฏิปักษ์, ทำลายสันติภาพของเอเชีย และลอบสังหารจักรพรรดิโคเม (พระราชบิดาของจักรพรรดิเมจิ) ระหว่างถูกคุมขังในบันทึกของเขาเล่าว่า ผู้คุมชาวญี่ปุ่นปฏิบัติต่อเขาเป็นอย่างดีและชื่นชมว่าเขาเป็นคนมีสง่าราศีเหนือคนธรรมดา อันยังอ้างต่อศาลว่าเขาไม่ได้ลงมือก่อเหตุในฐานะส่วนตัว แต่เขาคือผู้นำทหารอาสาชาวเกาหลีที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประเทศและความสันติสุขของตะวันออก และเรียกร้องให้ปฏิบัติต่อเขาในฐานะเชลยศึก แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวถูกปฏิเสธ เขาถูกประหารชีวิตในวันที่ 26 มีนาคม 1910 และหลังจากนั้นไม่ถึง 5 เดือน ญี่ปุ่นก็ผนวกเกาหลีเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ ชื่อของอันยังคงสร้างความขัดแย้งให้กับกลุ่มประเทศตะวันออกไกลคล้าย ๆ กับศาลเจ้ายาซูกูนิของญี่ปุ่น ก่อนตายอันได้แสดงความปรารถนาที่จะให้ร่างของเขาได้ถูกฝังในเกาหลีหลังได้อธิปไตยคืนมา แต่ญี่ปุ่นซึ่งน่าจะฝังศพของเขาไว้ใกล้ ๆ กับเรือนจำในพอร์ตอาร์เธอร์ไม่ยอมส่งคืนร่างของเขาและยังปกปิดสถานที่ฝังศพ เนื่องจากเกรงว่าศพของเขาจะกลายเป็นเครื่องมือในการปลุกระดม  รัฐบาลญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามก็ยังคงปิดปากเงียบไม่เปิดเผยเอกสารเก่าที่อาจมีข้อมูลดังกล่าว แม้ทางเกาหลีใต้จะออกมาเรียกร้องหลายครั้ง และญี่ปุ่นยังประณามความร่วมมือระหว่างจีนและเกาหลีใต้ในการตั้งอนุสรณ์สถานให้กับอันในสถานีรถไฟฮาร์บินเมื่อปี 2014 โดยชี้ว่า อันคือ “ผู้ก่อการร้าย” การกระทำดังกล่าวจึงไม่ช่วยสร้างสันติภาพและความมั่นคงให้กับภูมิภาค (อนุสรณ์ดังกล่าวเคยถูกย้ายไปชั่วคราวเนื่องจากการปรับปรุงสถานีรถไฟฮาร์บินเมื่อปี 2017 ท่ามกลางความสงสัยว่าจีนจะกลับมาเปิดอนุสรณ์ที่นี่อีกหรือไม่เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงระหว่าง จีน-เกาหลีใต้ เมื่อเกาหลีใต้ติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธของสหรัฐฯ แต่อนุสรณ์แห่งนี้ก็ได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อต้นปี 2019 - The Chosunilbo)