อกาธา คริสตี : เคยหายตัวแบบ Gone Girl 11 วัน ปริศนาชีวิตของราชินีขี้อายแห่งวงการนวนิยายอาชญากรรม

อกาธา คริสตี : เคยหายตัวแบบ Gone Girl 11 วัน ปริศนาชีวิตของราชินีขี้อายแห่งวงการนวนิยายอาชญากรรม
หลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อ ‘อกาธา คริสตี’ เพราะเธอคือนักเขียนนวนิยายแนวอาชญากรรมที่ขึ้นแท่นยอดขายค้างฟ้าด้วยจำนวนผลงานตีพิมพ์กว่า 2,000 ล้านเล่ม เป็นรองเพียงคัมภีร์ไบเบิลและงานประพันธ์ของวิลเลียม เชกสเปียร์ . แต่นอกเหนือจากงานประพันธ์ที่น่าค้นหา ชีวิตจริงของอกาธาก็เต็มไปด้วยปริศนาไม่ต่างจากนวนิยายที่เธอเขียน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ทั่วโลกต้องกล่าวถึง เมื่อเธอได้ขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์อังกฤษทุกฉบับจากการหายตัวไปอย่าง ‘ตั้งใจ’ นานถึง 11 วัน ระหว่างที่ตำรวจตามหาเธอแทบพลิกแผ่นดิน อกาธาได้ใช้ชีวิตอยู่ในสปาหรู และปลอมตัวโดยใช้นามสกุลของ ‘ผู้หญิงอีกคนที่สามีของเธออยากแต่งงานด้วย’ . #สอนตัวเองอ่านหนังสือ . ‘อกาธา แมรี คลาริซซา มิลเลอร์’ (Agatha Mary Clarissa Miller) ลืมตาดูโลกในปี 1890 ที่เมืองทอร์คีย์ มณฑลเดวอน ประเทศอังกฤษ โดยมีพ่อชาวอเมริกันทำหน้าที่เป็นครูอยู่ที่บ้าน (Homeschool) แต่เรื่องน่าแปลกคือ แม่ของอกาธา ‘คารา’ นักเล่านิทานมากฝีมือกลับไม่ต้องการให้ลูกสาวเรียนการอ่านจนกว่าจะอายุครบ 8 ขวบ ซึ่งแน่นอนว่าเด็กหญิงอกาธาย่อมเบื่อกับชีวิตที่ไม่มีอะไรทำ เธอจึงสอนตัวเองอ่านหนังสือตั้งแต่อายุเพียง 5 ขวบ และเริ่มเขียนงานประพันธ์ตั้งแต่เด็ก . เมื่ออายุ 11 ปี พ่อของเธอเสียชีวิตลง อกาธาจึงเริ่มเรียนร้องเพลงและเล่นเปียโนเพื่อหารายได้ดูแลแม่ โดยความสามารถของเธอนั้นโดดเด่นจนสามารถเป็นนักเปียโนมืออาชีพ แต่ด้วยความขี้อายขั้นสุดที่กัดกินเธอระหว่างพบเจอกับคนแปลกหน้า เส้นทางสายนี้ของอกาธาจึงยุติลง  . #ดอกไม้กลางดงแห่งสงคราม . หลังจากปฏิเสธเส้นทางสายดนตรี อกาธาหันมาตั้งต้นสร้างงานเขียนตั้งแต่เด็ก กระทั่งระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 นวนิยายเรื่องแรกของอกาธาก็ถูกเขียนขึ้นขณะที่เธอเข้าร่วมหน่วยพยาบาลอาสา เนื่องจากคนรักของเธอ อาร์ชี คริสตี (Archie Christie) นายทหารจากกองบินอังกฤษได้รับคำสั่งให้เข้าร่วมสงคราม . ไม่มีใครล่วงรู้ว่านอกจากการทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยในฐานะพยาบาลอาสา เวลาพักผ่อนอันน้อยนิดของอกาธากลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งราชินีแห่งวงการนวนิยายอาชญากรรม เพราะในโรงพยาบาลแห่งนี้ อกาธาได้เรียนรู้เรื่องการแพทย์และการใช้ยา ซึ่งเธอนำความรู้มาปรับใช้ในนวนิยายเรื่องแรกอย่าง ‘The Mysterious Affair at Styles’ หรือ ‘เรื่องลึกลับที่สไตล์ส’ (1916) คดีฆาตกรรมที่คนร้ายใช้ยาพิษในการสังหารอย่างแยบยล ทั้งยังทิ้งศพไว้ในห้องที่ล็อกกลอนทุกด้าน และเรื่องนี้เองคือการเปิดตัวพระเอกนักสืบอย่าง แอร์กูล ปัวโร (Hercule Poirot) เป็นครั้งแรก . กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 มาถึง อกาธาได้ตัดสินใจเข้าร่วมหน่วยงานจิตอาสาอีกครั้ง และได้โอกาสเรียนรู้เรื่องความแตกต่างระหว่างยาและยาพิษ เพื่อนำมาใช้ในงานเขียนชิ้นใหม่ ระหว่างนั้นผลงานนวนิยายแนวอาชญากรรม-สืบสวนสอบสวนที่ชอบปั่นหัวคนอ่านและจบแบบหักมุมของเธอก็โด่งดังไปทั่วโลก แต่ต่อมาในปี 1926 สาธารณชนก็ได้รับรู้ว่านอกจากอกาธา คริสตี จะเขียนนวนิยายที่เต็มไปด้วยปริศนาแล้ว ชีวิตจริงของเธอก็เต็มไปด้วยปริศนาไม่ต่างกัน . #หายตัวไปอย่างตั้งใจ . ปี 1926 อกาธา คริสตี ในวัย 36 ปี รับรู้ว่าสามีของตนเองมีชู้และต้องการจะหย่ากับเธอ ทำให้หนึ่งวันหลังจากนั้น เธอได้สร้างเรื่องราวเขย่าโลกและสั่นประสาทตำรวจอังกฤษ เมื่อตำรวจพบรถของเธอมีร่องรอยของการถูกชน และจอดอยู่เฉยๆ โดยไม่มีสัญญาณของสิ่งมีชีวิตอยู่ภายใน นั่นทำให้เจ้าหน้าที่กว่า 1,000 นาย และพลเรือนราว 15,000 คน เริ่มออกตามหาเธอ โดยพุ่งเป้าไปที่สามีอย่างอาร์ชีว่าเป็นผู้ต้องสงสัยฆาตกรรมนักเขียนชื่อดัง เพราะเขากำลังนอกใจอกาธาไปหาผู้หญิงนามว่า แนนซี นีลล์ (Nancy Neele) . การตามหาดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ภาพของเธอได้ลงหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์อังกฤษทุกฉบับ แม้แต่เซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) ผู้ประพันธ์เรื่องเชอร์ล็อก โฮมส์ ยังมาช่วยระดมสมอง รวมถึงใช้พลังเหนือธรรมชาติตามหา . กระทั่งวันที่ 11 ของการหายตัวไป นักดนตรีสองคนในโรงแรมแห่งหนึ่งแจ้งเบาะแสว่า พวกเขาได้พบกับอกาธา คริสตี ที่สปาหรู ‘Harrogate Hydro’ ซึ่งเธอได้เข้าพักตั้งแต่วันแรกของการหายตัวไป แต่เรื่องน่าแปลกคือ เธอไม่ได้ใช้ชื่อจริงในการจองที่พัก แต่กลับใช้นามแฝงว่า เทเรซา นีลล์ ซึ่งเป็นนามสกุลของคนรักที่สามีของเธออยากแต่งงานใหม่ด้วย . ก่อนหน้าการหายตัวไปของอกาธา สามีของเธอได้ประกาศให้สาธารณชนรู้ว่า อกาธามีอาการความจำเสื่อมชั่วคราว และภายหลังจากที่พบตัวเธอ อกาธาก็ไม่รู้ว่าตนเองไปอยู่ที่สปาแห่งนั้นได้อย่างไร ชีวิตของอกาธายิ่งเต็มไปด้วยปริศนาที่คนทั่วโลกอยากจะคลี่คลาย แต่ไม่ว่าสื่อหรือใครจะพยายามเข้าถึงตัวเธอ นิสัยขี้อายของอกาธาก็มักจะมาขัดขวางการไขคดีชีวิตอยู่เสมอ . #ราชินีขี้อายไม่ใช่นิยายแต่เป็นเรื่องจริง . แม้แต่อัตชีวประวัติที่เธอเขียนเองก็ไม่อาจฉายความรู้สึกที่แท้จริงของเธอออกมา มากสุดคงจะเป็นนวนิยายรักหวานอมขมกลืน 6 เล่มที่อกาธาเขียนโดยใช้นามปากกา แมรี เวสต์มาค็อตต์ (Mary Westmacott) ซึ่งพอจะเห็นเรื่องราวความรักในครอบครัวของอกาธาได้บ้าง อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ปรากฏชัดเจนและแน่นอนนอกเหนือจากความรู้สึกนึกคิดของเธอที่คนทั่วโลกใฝ่ฝันจะเข้าใจ ก็คงมีเพียงคำอธิบายตัวตนของอกาธาว่า เธอเป็นสุภาพสตรีขี้อาย พูดน้อย และไม่ชอบการพบปะผู้คน  . การปรากฏตัวในงานที่มีผู้คนมากหน้าหลายตาถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยมาก แต่ในปี 1958 ณ โรงแรมซาวอย อกาธา คริสตีได้เดินทางไปร่วมงานเลี้ยงฉลองความสำเร็จของ ‘The Mousetrap’ ละครเวทีแนวฆาตกรรมที่เธอเขียนขึ้น . อกาธาวัย 67 ปี สวมเดรสชีฟองสีเขียวเข้ม พร้อมถุงมือสีขาวสะอาด เดินปรี่ไปที่ห้องจัดงานเลี้ยง แต่พนักงานเปิดประตูกลับจำเธอไม่ได้ และปฏิเสธที่จะให้เธอเข้าร่วมงาน แทนที่จะเกิดการโต้เถียงหรืออวดอ้างว่าตนเองเป็นนักเขียนชื่อดัง เธอกลับเดินออกไปอย่างสุภาพ และนั่งอยู่คนเดียวในเลานจ์ของโรงแรม ซึ่งอกาธากล่าวว่า เธอยังคงตกอยู่ใต้อำนาจของความเขินอายอย่างน่าสังเวชโดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ . นอกจากอาการเขินอายในชีวิตจริงแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง Agatha (1979) ว่าด้วยเรื่องการหายตัวไปของเธอในปี 1926 ยังนำเสนอความจริงในจุดนี้ตั้งแต่ฉากแรกของเรื่องคือ งานเปิดตัวหนังสือเล่มที่ 6 ‘The Murder of Roger Ackroyd’ หรือ คดีฆาตกรรมโรเจอร์ แอคครอยด์ ซึ่งทางเจ้าของงานขอให้อกาธากล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าแขกในงาน แน่นอนว่าเธอยืนขึ้นด้วยอาการหายใจแรง และพูดเพียงว่า “ขอบคุณมากค่ะ” ก่อนจะลงด้วยความเขินอาย นั่นทำให้ผู้ร่วมงานและนักข่าววอลลี สแตนตัน ตัวเอกของเรื่องถึงกับตกตะลึง เพราะเขาคิดไม่ถึงว่าอกาธาจะมีอาการโศกเศร้าขนาดนั้น แต่เพื่อนที่มาด้วยกันของเขาอธิบายให้ชัดขึ้นว่า “เธอไม่ได้เศร้า เธอแค่อาย” . #ราชินีไม่มีวันตาย #จากหนังสือนวนิยายสู่จอเงิน . ชีวิตที่น่าค้นหาซึ่งเกิดจากความขี้อายของอกาธา ประกอบกับผลงานที่โดดเด่นเกินต้านทำให้เธอมีชื่อเสียงโด่งดังมาตลอด แม้ในวันที่ 12 มกราคม 1976 อกาธา คริสตีจะจากโลกนี้ไปอย่างสงบด้วยวัย 85 ปี แต่ผู้กำกับมากหน้าหลายตาก็ยังคงสร้างภาพยนตร์ เพื่อระลึกถึงชีวิตจริงที่เหมือนนิยาย และนิยายที่เหมือนชีวิตจริงของอกาธาออกมาให้ชมกันอยู่เสมอ . โดยภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่สร้างจากนวนิยายของอกาธา คริสตี ‘Murder on the Orient Express’ หรือ ‘ฆาตกรรมบนรถด่วนโอเรียนท์เอ็กซ์เพรส’ ได้ออกฉายไปเมื่อปี 2017 แต่ในปี 2021 นี้ คดีฆาตกรรมเรื่องใหม่กำลังจ่อรอคิวฉายช่วงปลายปี แน่นอนว่าแฟน ๆ จะได้เห็นนักสืบแอร์กูล ปัวโร ตัวเอกจากปลายปากกาของอกาธากลับมาไขคดีอีกครั้งท่ามกลางเรื่องราวของสังคมไฮโซที่กำลังเริงระบำบนลุ่มน้ำไนล์ในเรื่อง ‘Death On The Nile’ หรือ ‘ฆาตกรรมบนลำน้ำไนล์’ พร้อมนักแสดงนำอย่างสาวน้อยมหัศจรรย์ ‘กัล กาด็อต’ (Gal Gadot) ที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของคดีฆาตกรรมสุดระทึกให้ผู้อ่านและผู้ชมได้ไขคดีไปพร้อมกัน . นับว่าผลงานทั้งหมดคือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของอกาธาที่ยังคงฉายแสงโดดเด่นอยู่ทั่วโลก ถึงแม้ตัวเธอจะเปรียบเสมือนห้องแห่งความลับที่ไม่มีใครสามารถไขออก แต่ไม่ว่าจะเป็นปริศนาชีวิตหรือความขี้อายในตัวหญิงสาวคนนี้ก็ไม่อาจกลายมาเป็นอุปสรรคในเส้นทางที่เธอเลือกเดินได้ ทั้งหมดกลายเป็นเสน่ห์ของ ‘อกาธา คริสตี’ ที่ทำให้แฟนคลับทุกเพศทุกวัยยังรักและติดตามเสมอมา   เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี   อ้างอิง https://www.agathachristie.com/about-christie https://www.historyextra.com/period/20th-century/agatha-christie-author-disappearance-life-death-miss-marple-poirot-mystery-life-death-husband-marriage/ https://www.historyextra.com/period/20th-century/agatha-christie-disappearance-mystery-facts-poirot-miss-marple-detective/ https://www.cbsnews.com/video/agatha-christies-mysterious-disappearance-what-really-happened/#x https://www.bbc.com/future/article/20160830-why-we-should-celebrate-shyness https://medium.com/history-of-yesterday/the-original-gone-girl-df389bc0b9b8 https://bookriot.com/best-agatha-christie-books/ https://deadline.com/video/death-on-the-nile-trailer-kenneth-branagh-gal-gadot-fox/ https://www.youtube.com/watch?v=JM1U-Whb-P0 https://www.agathachristie.com/stories/mary-westmacott https://www.thesun.co.uk/fabulous/5830498/agatha-christie-books-ordeal-by-innocence-published-poirot-miss-marple/