ดร.เฟอร์ดอซี คาดริ: สตรีผู้บุกเบิกการใช้วัคซีนอหิวาตกโรคราคาถูก ช่วยชีวิตผู้คนในบังกลาเทศและชาวโรฮิงญา

ดร.เฟอร์ดอซี คาดริ: สตรีผู้บุกเบิกการใช้วัคซีนอหิวาตกโรคราคาถูก ช่วยชีวิตผู้คนในบังกลาเทศและชาวโรฮิงญา
2020 คือปีที่โควิด-19 ได้กลืนกินชีวิตและกัดกินหัวใจของผู้คนทั่วโลก แน่นอนว่าโรคระบาดไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่หลายประเทศจะก้าวข้ามผ่านและสามารถควบคุมการสูญเสียไว้ได้ เช่นเดียวกับบังกลาเทศ เมื่อครั้งเผชิญกับอหิวาตกโรคตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากจากอาการท้องร่วงและภาวะขาดน้ำเฉียบพลัน  ย้อนกลับไปในห้องทดลอง icddr,b (International Centre for Diarrhoeal Disease Research, Bangladesh) ในบังกลาเทศ ซึ่งอยู่ติดกับโรงพยาบาล เสียงโหยหวนและภาพของผู้คนที่ต้องทุกข์ทนจากอหิวาตกโรคได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ ดร.เฟอร์ดอซี คาดริ (Dr. Firdausi Qadri) นักวิทยาศาสตร์สตรีในบังกลาเทศ สิ่งเหล่านี้ทำให้ฉันกลับมาย้อนคิดว่า ตัวเองทำอะไรให้ประเทศนี้ได้บ้าง โดยเฉพาะกับผู้คนที่ต้องทนทุกข์ในสลัม”  (บทสัมภาษณ์ L'Oreal-UNESCO For Women in Science Laureate Dr.Firdausi Qadri in her own words โดย icddr,b, 2020) นี่คือจุดเริ่มต้นที่ ดร.เฟอร์ดอซี คาดริ ตัดสินใจอุทิศเวลากว่า 25 ปี เพื่อวิจัยเรื่องโรคระบาดและวัคซีนอย่างจริงจัง ปัจจุบันเธอคือนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยาและโรคติดเชื้อ รวมทั้งเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์วัคซีนของศูนย์วิจัยโรคอุจจาระร่วงระหว่างประเทศ ในบังกลาเทศ (International Centre for Diarrhoeal Disease Research, Bangladesh)    เมื่อการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องยาก ‘วัคซีน’ จึงกลายเป็นทางออก  ก่อนหน้าที่เธอจะได้เข้ามาศึกษาด้านนี้อย่างจริงจัง ดร.เฟอร์ดอซี คาดริ จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาชีวเคมีจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ก่อนจะมาเป็นอาจารย์ในภาควิชาชีวเคมีมหาวิทยาลัยธากา แล้วเข้าร่วม icddr ในปี 1986 ในฐานะนักวิจัย  แรงบันดาลใจสำคัญของเธอ อย่างแรกคือ ‘การมองเห็นปัญหาอหิวาตกโรคในบ้านเกิด’ ซึ่งหากเป็นสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป จะมีการควบคุมโรคระบาดผ่านการปรับปรุงระบบน้ำและท่อระบายน้ำให้สะอาด โดยใช้ต้นทุนมหาศาล แต่ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างบังกลาเทศนั้น ประชากรอาศัยอยู่รวมกันอย่างแออัดมากกว่า 170 ล้านคน และรายได้ไม่เพียงพอต่อการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้มีน้ำและสุขาภิบาลที่เหมาะสม การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างจึงจัดอยู่ในหมวดความเป็นไปได้ต่ำ เพราะต้องทุ่มเททั้งเม็ดเงินและระยะเวลาอันยาวนาน ความทุกข์ทรมานของคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคท้องร่วงนั้นมาจากการใช้ชีวิตท่ามกลางความยากจน บริโภคน้ำและอาหารที่ไม่สะอาด รวมทั้งมีการปนเปื้อน ซึ่งการอยู่ในพื้นที่ที่เป็นรากเหง้าของปัญหา อย่างบังกลาเทศ ทำให้ฉันเข้าใจความต้องการของผู้คนและพบหนทางที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตได้” เธอกล่าวในบทความ Dr.Firdausi Qadri : fighting disease linked to humanitarian crises and climate change ของ UNESCO (2020) นอกจากการมองเห็นปัญหาแล้ว ดร.เฟอร์ดอซียังมองเห็น ‘โอกาสการแก้ไขปัญหา’ ด้วยวิธีการใหม่ เมื่อได้ทำงานใน icddr ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านสุขภาพแห่งเดียวในบังกลาเทศในช่วงต้นยุค 80s ที่ค่อนข้างพร้อม ทำให้ ดร.เฟอร์ดอซี คาดริ เริ่มมองว่า ‘งานวิจัย’ และ ‘วัคซีน’ อาจเป็นหนทางและความหวังของบังกลาเทศ “ผู้คนสามารถมีสุขอนามัยที่ดี การศึกษาที่ดี บ้านที่ดี และไม่มีอหิวาตกโรค แต่ก่อนจะเกิดสิ่งเหล่านี้ได้ คุณจำเป็นต้องหยุดความทุกข์ยากนี้ก่อน ซึ่งวัคซีนเป็นเหมือนหนทางของการแก้ปัญหาที่ครบวงจรที่สุด (one-stop solution)” เธอกล่าวในบทสัมภาษณ์ของ บิลล์ เกตส์ เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2020   วัคซีนอหิวาต์ในราคาที่เอื้อมถึง แม้จะมีวัคซีนอหิวาตกโรคมานับร้อยปี แต่ปัญหาคือราคาสูงลิ่วและขาดตลาด ยิ่งในช่วงปี 2000 ต้น ๆ วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค เข้าถึงนักเดินทางผู้ร่ำรวยได้มากกว่าชุมชนยากจนที่มีความเสี่ยง เธอจึงอุทิศความพยายามให้กับการวิจัยและผลักดันให้มีการใช้วัคซีนชนิดกิน (Oral Vaccine) แบบราคาประหยัดและแจกจ่ายให้กับผู้คนได้อย่างรวดเร็ว ในปี 2014 ดร.เฟอร์ดอซี ได้ก่อตั้งสถาบันเพื่อการพัฒนาความคิดริเริ่มด้านวิทยาศาสตร์และสุขภาพ (ideSHi) เธอคือผู้นำที่จัดทำโครงการและการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในบังกลาเทศ และมีส่วนร่วมในการอภิปรายด้านสุขภาพในระดับโลก ซึ่งหนึ่งในแคมเปญที่ประสบความสำเร็จของ ดร.เฟอร์ดอซี คาดริ ร่วมกับองค์กรรัฐและต่างประเทศ คือการนำวัคซีนอหิวาตกโรคชนิดกิน (Oral Vaccine) ไปแจกจ่ายยังค่ายของชาวโรฮิงญา (Rohingya) ที่อพยพมายังบังกลาเทศ ในปี 2017   “ชาวโรฮิงญาปักหลักอยู่ที่นี่ พวกเขาขาดแคลนน้ำและสุขอนามัยที่ดี เสี่ยงต่อการระบาดของอหิวาตกโรค ตอนนั้นเราให้วัคซีนชนิดกิน (Oral Vaccine) กับผู้คนกว่า 7 แสนคนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถป้องกันความตายและการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นได้” (จากบทสัมภาษณ์ Bill Gates’s Heroes in the Field: Dr.Firdausi Qadri, 2020) ความสำเร็จในการชะลอและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคร้ายครั้งนี้ได้จุดประกายความหวังของ ดร.เฟอร์ดอซีและชาวบังกลาเทศ ในการต่อสู้กับอหิวาตกโรคและโรคระบาดอื่น ๆ ที่ผู้คนต้องทนทุกข์มาเป็นเวลานาน   ผู้หญิง ผู้นำ และนักวิทยาศาสตร์ นอกจากการผลักดันด้านวัคซีนและโรคระบาด เธอยังนับเป็นตัวอย่างของผู้นำสตรีสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการระดมทุนอย่างยากลำบาก ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด รวมทั้งต่อสู้กับความคาดหวังทางวัฒนธรรมที่ฝักรากลึก และอคติทางเพศ แต่ถึงอย่างนั้น เธอได้ให้สัมภาษณ์กับ WomenLift Health ในปี 2020 ว่า “ขณะที่ฉันทำงาน ฉันมองตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ฉันทำบางสิ่งบางอย่างไม่ใช่เพราะว่าฉันเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่เพราะนี่คืองาน นี่คืออาชีพ และนี่คือสิ่งที่ฉันรัก” อย่างไรก็ตาม  ผู้หญิงในบังกลาเทศเริ่มมีบทบาทสำคัญด้านงานสาธารณสุขมากขึ้น เพราะเป็นผู้ดูแลสุขอนามัยขั้นพื้นฐานให้กับลูก ตั้งแต่การล้างมือ ดูแลความสะอาด ไปจนถึงการพาลูกมาฉีดวัคซีน ดร.เฟอร์ดอซี คาดริ จึงมองว่าผู้หญิงควรมีความรู้และมีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยด้านต่าง ๆ มากขึ้น “ฉันใฝ่ฝันว่าในประเทศเช่นเดียวกับเราจะพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยและยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะผู้หญิง”  ล่าสุดในปี 2020 ดร.เฟอร์ดอซี คาดริ ได้รับรางวัล  L’Oréal-UNESCO Women in Science Award ซึ่งมอบให้แก่นักวิทยาศาสตร์สตรีที่โดดเด่น 5 คนจากภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกในแต่ละปี เพราะเธอคือหนึ่งในผู้บุกเบิกการใช้วัคซีนอหิวาตกโรคราคาถูกในบังกลาเทศ ที่ยังคงทำหน้าที่ในฐานะนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยผู้หวังจะบรรเทาทุกข์ของผู้คนในบังกลาเทศและทั่วโลกทั้งจากอหิวาตกโรคและโรคอื่น ๆ รวมทั้งโควิด-19 ด้วยความรัก ความหวังและการไม่หยุดยั้งที่จะลงมือทำอย่างเต็มที่   ที่มา