‘ไอแซก วัตต์ส’ คนเก็บตัวที่แต่งเนื้อเพลง ‘Joy to the World’ ซึ่งไม่เกี่ยวกับคริสต์มาส

‘ไอแซก วัตต์ส’ คนเก็บตัวที่แต่งเนื้อเพลง ‘Joy to the World’ ซึ่งไม่เกี่ยวกับคริสต์มาส

เนื้อร้องเพลง ‘Joy to the world’ เป็นฝีมือของ ‘ไอแซก วัตต์ส’ (Isaac Watts) ปัญญาชนที่เก็บตัว ผู้เขียนเนื้อเพลงที่ดังขึ้นพร้อมช่วงเทศกาลคริสต์มาส (และภาพจำจากคลิปไวรัลเมื่อ อาม่า ปะทะ น้องนักเรียน ในไทย)

  • เพลง ‘Joy to the world’ อันอมตะและมักได้ยินกันบ่อยในเทศกาลคริสต์มาส มาจากฝีมือการประพันธ์เนื้อร้องโดย ไอแซก วัตต์ส ปัญญาชนชาวอังกฤษ
  • ไอแซก วัตต์ส ค่อนข้างเก็บตัว จึงไม่ค่อยมีใครรับรู้ข้อมูลด้านอื่นมากนัก นอกเหนือไปจากผลงานของเขา

“Joy to the world! the Lord is come!” เนื้อเพลงที่ดังขึ้นพร้อมเทศกาลแห่งความสุข(และภาพจำจากคลิปไวรัลสำหรับชาวเน็ตในไทย) มาจากปลายปากกาของ ‘ไอแซก วัตต์ส’ (Isaac Watts) ปัญญาชน นักอ่าน-นักประพันธ์ตัวยง แต่ด้วยลักษณะนิสัยที่เขามักเก็บตัว แทบไม่ค่อยออกเดินทางระยะไกล ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของเขาไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ในหมู่คนทั่วไปมากนัก

วัตต์ส (1674-1748) กำเนิดในอังกฤษ เป็นบุตรชายคนโตของไอแซค วัตต์ส ซีเนียร์ โดยวัตต์ส ผู้เป็นบุตรใช้ชีวิตแบบเก็บตัว ไม่ได้แต่งงาน มีข้อมูลว่า เขาไม่เคยเดินทางออกจากพื้นที่ทางตอนใต้ของอังกฤษ ทั้งชีวิตของวัตต์ส มีบทบาทเป็นศิษยาภิบาล (Pastor) และอาจารย์สอนหนังสือมาตลอดทั้งชีวิต เขามักใช้เวลาไปกับการอ่านและเขียนหนังสือทางศาสนา ไปจนถึงกลอนสวด (hymn)

ชีวิตในวัยเด็กของวัตต์ส มีบางแง่มุมที่ค่อนข้างยากลำบาก บิดาของไอแซก วัตต์ส รับโทษจำคุกจากพฤติกรรมที่เชื่อว่าไม่สอดคล้องกับนิกายที่พระเจ้าเฮนรีที่ 8 ทรงสถาปนา (Church of England) ส่งผลกระทบต่อชีวิตลูกชาย ไอแซก วัตต์ส มักถูกกีดกันจากการเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาแถวหน้า แต่ด้วยความสามารถของตัวท่านเอง ภายหลังจากเรียนจบแล้วก็ยังกลายเป็นครูคนดังอีกคนในยุคนั้น

นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการในยุโรปขนานนามว่า วัตต์ส เป็น ‘บิดาแห่งกลอนสวดของอังกฤษ’ (The father of the English hymn) เขาประพันธ์ผลงานเพลงสวดไว้รวมแล้วร่วม 600 ชิ้น หนึ่งในผลงานมีชื่อของเขาย่อมเป็น ‘Joy to the World’ รวมถึง ‘When I Survey the Wondrous Cross’ และ ‘Alas and did my Savior’

แม้มีข้อมูลว่า บิดาของเขาถูกจองจำ 6 เดือน และถูกบีบให้แยกตัวออกจากครอบครัวและไปพักอาศัยอย่างโดดเดี่ยวในลอนดอนอยู่ 2 ปีหลังพ้นโทษ แต่มีข้อมูลอีกด้านว่า พื้นเพของครอบครัวของวัตต์ส มีฐานะการเงินค่อนข้างดี นั่นอาจเป็นเหตุให้เขาได้รับการศึกษาที่ยังมีคุณภาพเข้มข้นได้ วัตต์ส เรียนภาษาลาตินตั้งแต่อายุ 4 ขวบ เมื่ออายุ 9 ขวบก็เรียนภาษากรีก พอ 10 ขวบยังได้เรียนภาษาฝรั่งเศส

ภายหลังการสอนหนังสือ ไอแซก วัตต์ส มีบทบาทเป็นศิษยาภิบาล (Pastor) ในโบสถ์แห่งหนึ่งที่มาร์ก เลน ในเมืองลอนดอน ช่วงที่เขาเป็นศาสนาจารย์ ไอแซก วัตต์ส ตีพิมพ์ผลงานเป็นบทกวีและเพลงสวดต่อเนื่อง

ในปี 1718 เขาตีพิมพ์งานเขียนในชื่อ The Psalms of David Imitated in the Language of the New Testament ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นเอกของวัตต์ส โดยเพลงสวดที่มีชื่อเสียงที่สุดจากผลงานดังกล่าวคือ Joy to the World และ Our God our Help in Ages Past

แต่ด้วยปัญหาทางสุขภาพทำให้เขาต้องไปอยู่ภายใต้การดูแลของเซอร์ โธมัส แอบนีย์ (Sir Thomas Abney) และเป็นผู้สอนหนังสือแก่บุตรหลานของเซอร์โธมัส ซึ่งเป็นชนชั้นปกครองที่มีฐานะมั่งคั่ง เคยเป็นนายกเทศมนตรีลอนดอนเมื่อ 1700 และเป็นหนึ่งในผู้อำนวยการชุดดั้งเดิมของธนาคารแห่งอังกฤษ

เมื่อแอบนีย์ เสียชีวิตลง ไอแซก วัตต์ส เดินทางพร้อมกับภรรยาหม้ายของเซอร์โธมัส ไปอาศัยที่สโต๊ค นิววิงตัน เมื่อ 1735 ตั้งแต่นั้นมา ไอแซก ใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายของเขาเขียนเกี่ยวกับวิชาการด้านศาสนาและปรัชญา

สำหรับเนื้อเพลงของ Joy to the World แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่บอกเล่าว่า ไอแซก วัตต์ส ได้รับแรงบันดาลใจและตีความมาจาก Psalm 98 (เพลงสวดชิ้นหนึ่ง) ในพระคัมภีร์ เดิมทีแล้ว เขาไม่ได้ตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อเป็นเพลงสำหรับช่วงคริสต์มาส เนื้อหาในเพลงก็ไม่เกี่ยวข้องกับการประสูติของพระเยซู แต่เกี่ยวกับการเสด็จมาเป็นครั้งที่ 2 ของพระองค์ วัตต์ส เชื่อว่า ใครก็ตามควรจะสามารถเฉลิมฉลองการกลับมาของพระองค์ ไม่ใช่เพียงแค่นักร้องประสานเสียง ดังเช่น ในเนื้อร้องท่อน

“สวรรค์และธรรมชาติล้วนร้องบรรเลง

/ And heaven and nature sing”

เนื้อเพลง Joy to the World เขียนขึ้นเมื่อช่วง 1719 เมื่อเวลาล่วงผ่านมานับร้อยปี โลเวลล์ เมสัน (Lowell Mason) นักประพันธ์ดนตรีชาวอเมริกันถึงได้เรียบเรียงทำนองสำหรับเนื้อร้องเพลงสวดโดยวัตต์ส และเผยแพร่ออกมา

ทำนองเพลง Joy to the World ที่ทุกคนในสมัยนี้คุ้นหูกันเป็นทำนองเวอร์ชั่นที่เมสัน เรียบเรียงเมื่อปี 1848

โลเวลล์ เมสัน เคยถูกวิจารณ์ว่า งานของเขามีความพยายามเปลี่ยนแปลงดนตรีในโบสถ์แบบชาวอเมริกันให้กลายเป็นกลิ่นอายแบบยุโรป เมื่อเพลง Joy to the World ถูกบรรเลงในโบสถ์อเมริกัน เพลงก็แพร่หลายอย่างรวดเร็วในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม ตัวทำนองเพลงนั้นปรากฏอยู่ในอังกฤษมาหลายปีก่อนหน้าที่เมสัน จะเผยแพร่ในสหรัฐฯ แต่เมสัน มักได้รับเครดิตว่าเป็นคนแรกที่นำทำนองมาเรียบเรียงเข้ากับเนื้อเพลงของวัตต์ส โดยเวอร์ชั่นของเมสัน มีปรับเปลี่ยนรายละเอียดทำนองดนตรีไปบ้าง และเขาให้เครดิตว่า “เรียบเรียงมาจาก ฮานเดล” เพราะมีบางท่อนไปคล้ายคลึงกับงานประพันธ์ดนตรีของจอร์จ ฟรีเดอริก ฮานเดล (George Frideric Handel) นักประพันธ์ชาวอังกฤษในชิ้นที่ใช้ชื่อว่า ‘เมสไซอาห์’ (Messiah)

ทั้งนี้ แนวคิดทางศาสนาของวัตต์ส ได้รับอิทธิพลสำคัญอย่างหนึ่งมาจากบริบทของสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองอังกฤษในศตวรรษที่ 17-18

ช่วงเวลานั้น Church of England เป็นกลุ่มศาสนาเดียวที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับโบสถ์และถูกลงโทษก็มีให้เห็นกันอยู่บ้าง ดังเช่นกรณีพ่อของไอแซก วัตต์ส แม้จะไม่มีข้อมูลถึงสาเหตุที่ทำให้พ่อของเขาถูกลงโทษอย่างชัดเจน แต่เชื่อว่า มาจากต้นเหตุเรื่องจุดยืนที่แตกต่างทางศาสนากับกลุ่มศาสนาที่สนับสนุนโดยรัฐ (บิดาของวัตต์ส เป็นอิสระและกลับมาพบครอบครัวเมื่อ 1687 และมีชีวิตจนถึงช่วง 1736-7)

เชื่อกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับบิดาของไอแซก วัตต์ส ส่งผลกระทบต่อชีวิตและผลงานของวัตต์ส อย่างมาก

เรื่อง: ธนพงศ์ พุทธิวนิช

ภาพ: ไอแซค วัตต์ส (public domain) ประกอบกับภาพจากคลิปเหตุการณ์กรณีทะเลาะวิวาทระหว่างคนรุ่นใหม่กับผู้มีวัยวุฒิที่มักถูกกล่าวขานกันมาหลายปี

อ้างอิง:

Metzger, Andrew. “Joy to the World: The Ontological Harmony of Isaac Watts”. Senior Thesis of LAKE FOREST COLLEGE, Published 29 APR 2013.

The Atlantic

History Today