วันฟ้าแจ้งจ่างป่าง : กับโอกาสสดใสทางธุรกิจครีเอทีฟอีสาน

วันฟ้าแจ้งจ่างป่าง : กับโอกาสสดใสทางธุรกิจครีเอทีฟอีสาน

ภาพอีสานของคนอีสาน กับภาพอีสานของคนภูมิภาคอื่น ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว และเมื่อ ‘ความอีสาน’ ปรากฏตัวเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม พลังอีสานถือเป็นการทลายกรอบ และความเข้าใจเดิมลงไปอย่างชัดเจน

“มันเป็นการดิ้นรนที่จะเอาชีวิตรอดครับ” 

เมื่อความกันดาร - บ้านนอก ครั้งหนึ่งถือเป็นภาพจำที่ฝังรากในสังคมเมื่อพูดถึงอีสาน กลับกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีสานได้กลายเป็นต้นทุนที่สอดแทรกอยู่ทั่วทุกอณูของกระแส โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่าง แฟชั่น หนัง เพลง หรืองานศิลปะ เรามักได้เห็นหรือสัมผัสกลิ่นอายของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในชิ้นงานเหล่านั้นเสมอ

วันฟ้าแจ้งจ่างป่าง : กับโอกาสสดใสทางธุรกิจครีเอทีฟอีสาน

ถ้าถาม สุรศักดิ์ ป้องศร ผู้กำกับ ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์’ เขามองว่า ความสำเร็จของกระแสอีสานในงานสร้างสรรค์ที่ปรากฏในกระแสหลักของวันนี้ นั่นแหละคือภาพสะท้อนของการดิ้นรนและเอาตัวรอด 

นี่เป็นส่วนหนึ่งของวงสนทนา อีสานมื้อนี้ (อีสาน Today) วันฟ้าแจ้งจ่างป่าง : กับโอกาสสดใสทางธุรกิจครีเอทีฟอีสาน ใน Session เว่ายาว ล้อมวงคุยให้ลึกถึงแก่น ของงาน ISAN BCG EXPO 2022 งานมหกรรมนวัตกรรมยั่งยืน เพื่อพัฒนา ‘อีสาน’ ให้เป็นศูนย์กลาง เศรษฐกิจ บนฐานคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) ในระดับประเทศและภูมิภาค

นอกจากตัวแทนอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่าง สุรศักดิ์ ก็ยังมี ธิติ ศรีนวล ผู้กำกับ MV สายเพลงอีสาน เน็ตไอดอลอีสาน และพระเอก MV ก้อง ห้วยไร่ ตัวแทนจากฝั่งอุตสาหกรรมบันเทิง และ ผศ. ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม อาจารย์วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น หัวหน้าโครงการวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฯ มาร่วมพูดคุยในเรื่องนี้ด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การปรากฏตัวเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของ ‘ความอีสาน’ นั้น ถือเป็นการทลายกรอบและความเข้าใจเดิมลงไปอย่างชัดเจน 

โดยเฉพาะกำแพงสูงที่ชื่อว่า ความไม่รู้ และ วาทกรรมของการกดทับ

“ตอนทำ MV ขวัญเอ๋ยขวัญมาของปาล์มมี่ ผมใส่การช้อนขวัญเข้าไป แต่ทางผู้บริหารไม่เข้าใจ ตอนไปประชุมที่กรุงเทพฯ เขาเลยให้ผมเอาสวิงขึ้นเครื่องบินไปด้วย” ธิติเล่าประสบการณ์ความไม่รู้ของ ‘คนต่างถิ่น’ ที่เขาเคยได้สัมผัส

วันฟ้าแจ้งจ่างป่าง : กับโอกาสสดใสทางธุรกิจครีเอทีฟอีสาน

ภาพอีสานของคนอีสาน กับภาพอีสานของคนภูมิภาคอื่น ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ได้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สาระของอีสานถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนไปก็คือ การสื่อสารที่สั่งสมจนทำให้เกิดมายาคติในที่สุด  

ครั้งหนึ่ง ความแห้งแล้ง ผืนดินที่แตกระแหง ลำห้วยไม่มีน้ำ การออกไปทำไร่ไถนา หาปูหาหอย เป็นอีสานที่สังคมเคยจดจำ

นักวิชาการอย่าง ผศ. ดร.ศิริศักดิ์บอกว่า ความกันดาร ยากลำบากเหล่านั้นเป็นวาทกรรมในมุมการเมืองเพื่อใช้กดทับอะไรบางอย่างในอดีต ซึ่งเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน คนมีความรู้เยอะขึ้น ต้นทุนทางวัฒนธรรม รวมทั้งความสามารถต่าง ๆ ที่คนอีสานมีอยู่เดิมก็ถูกเปิดออกตามไปด้วย 

“วันนี้เรารู้แล้วว่าข้าวที่อร่อยที่สุดต้องเป็นข้าวที่มาจากทุ่งกุลาร้องไห้ ผ้าครามที่ใส่ไปนาของชาวนาก็กลายเป็นสินค้าส่งออกไปไกลถึงญี่ปุ่น”

หมอลำ ถือเป็นอีกความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน 

ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ดนตรีพื้นถิ่นอันถือเป็นเอกลักษณ์ของที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แสดงตามงานวัด งานบุญ มาถึงวันนี้ หลายคนได้เห็นหมอลำบนเวทีคอนเสิร์ต ได้ดูผ่านจอทีวี หรือกระทั่งจอโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งการมีสาขาการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับศาสตร์ของหมอลำโดยเฉพาะ ทำให้เม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในวงจรของหมอลำนั้นมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท 

“วันนี้เทคโนโลยีราคาถูกลง และโซเชียลมีเดียทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น” สุรศักดิ์รู้สึกว่า พื้นที่ เหล่านี้คือกุญแจดอกสำคัญในการเปิดประตู ทั้งในแง่ของคนสร้างสรรค์งาน และคนเสพงานได้เชื่อมโยงถึงกันง่ายขึ้น 

สำหรับธิติ อีสานในอุตสาหกรรมบันเทิงวันนี้ แม้จะไม่ได้ฟีเวอร์เหมือนช่วง 3 - 4 ปีก่อน แต่ก็ยังถือเป็นสูตรความสำเร็จอีกสูตรหนึ่งที่คนทำคอนเทนต์เลือกใช้ 

“เมื่อ 2 - 3 ปีที่แล้ว เราจะเห็นอีสานเยอะมาก เพลงไหนดัง ก็จะทำเป็นหนังตามมาเลย มีเพลงใหม่ ๆ ออกวันละ 4 - 5 ค่าย มาวันนี้ เรายังไม่เห็นเพลงไหนบูมโดดขึ้นมาเท่าไร อย่างเพลง ‘นะหน้าทอง’ ก็เป็นเพลงที่มีกลิ่นอายของอีสานเท่านั้น”

แต่ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การปรับตัว เป็นทั้งทางรอด และโอกาสของ ‘กระแสอีสาน’ ที่จะไต่ระลอกคลื่นของเทคโนโลยี และสื่อออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลาได้

วันฟ้าแจ้งจ่างป่าง : กับโอกาสสดใสทางธุรกิจครีเอทีฟอีสาน  

ผศ. ดร.ศิริศักดิ์ยกตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านของหมอลำตลอดช่วง 30 - 40 ปีที่ผ่านมา คณะหมอลำมีการปรับตัวอยู่ตลอดเพื่อเอาตัวรอดจากคลื่นของความเปลี่ยนแปลง เพราะหมอลำไม่ได้ถูกนิยามเพียงแค่ศิลปะการแสดงบนเวที แต่เป็นทั้งอุตสาหกรรม เป็นตลาดแรงงานที่มีคน 200 - 300 ชีวิตหมุนเวียนอยู่ในนั้น โดยอัตราการจ้างงานของหมอลำ เติบโตและแผ่ขยายไปในวงกว้างในวันนี้  

“วงขนาดใหญ่ก็จะมีคิวจ้างประมาณ 3 แสนบาท วงหมอลำขนาดกลางก็จะอยู่ที่ 2 แสนบาท ขณะที่วงขนาดเล็กก็จะอยู่ที่ราว 1 แสนบาท รูปแบบการจ้างงานก็จะแตกต่างกันออกไป”

นอกจากเรตราคาแล้ว การปรับรูปแบบการแสดงก็ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เขายกตัวอย่างงานของคณะหมอลำที่รับงานกันอยู่ในทุกวันนี้ จะมีการทำสคริปต์ใหม่เพื่อให้เหมาะกับผู้ชม หรือคนดูในพื้นที่การแสดงนั้น ๆ อย่างในกรุงเทพมหานครที่จำกัดเวลาการแสดงที่เที่ยงคืน ก็จะมีสคริปต์เที่ยงคืน ทางอีสานใต้ก็จะมีการปรับเอากันตรึมใส่เข้าไปประกอบ 

ยิ่งไปกว่านั้น การทำสคริปต์ จากเดิมบางวงอาจจะเปลี่ยนสคริปต์เดือนละครั้ง แต่ด้วยกระแสโซเชียลมีเดียที่แต่ละคณะมีการไลฟ์เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงและรายได้ ทำให้สคริปต์หมอลำวันนี้ต้องเปลี่ยนกันรายสัปดาห์ไปแล้ว 

“หมอลำยังทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ด้วยนะครับ หมู่บ้านในละแวกงานจะได้รับประโยชน์ ร้านค้าร้านอาหาร ของขบเคี้ยว ที่พัก ในรัศมี 10 - 20 กิโลเมตร เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น” หัวหน้าโครงการวิจัยหมอลำฯ คนเดิมอธิบาย 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกออนไลน์โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ความเป็นอีสานก้าวเท้าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระแสหลักอย่างแท้จริง

สุรศักดิ์ยอมรับว่า ช่วงก่อนโควิด-19 กระแสอีสานถือว่าบูมมาก จากการมีกระแสเกิดเป็นไวรัลในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การเปิดใจยอมรับ บวกกับจำนวนประชากรของภูมิภาคที่มีเยอะ และกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้กระแสที่เกิดขึ้นมาแพร่หลายได้ง่ายและเร็ว 

ไม่ว่าจะเป็นการแพร่กระจาย การเปิดใจ หรือการยอมรับ ล้วนแล้วแต่นำไปสู่การหลอมรวมเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหง้ารากความเป็นอัตลักษณ์ที่ถ่ายทอดเชื่อมโยงจนทำให้เส้นแบ่งระหว่างความเป็นเมืองกับบ้านนอก สอดผสานเข้ากันในที่สุด 

แต่ถึงอย่างนั้น แก่นแกน หรืออัตลักษณ์ ก็กลายเป็นความท้าทายของการมีกระแสอีสานอยู่ในวันพรุ่งนี้ด้วย

“หมอลำเองก็ต้องรักษาตัวตน เพราะสิ่งที่ทำให้พวกคุณก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงมาได้ก็คือ แก่นของหมอลำไม่ใช่ตลาด” ผศ. ดร.ศิริศักดิ์ตั้งข้อสังเกต 

ประเด็นเรื่องเส้นแบ่งระหว่าง ตัวตนกับตลาด ไม่ได้ถูกท้าทายเฉพาะแค่วงการหมอลำเท่านั้น มันยังหมายความรวมถึงคนทำงานสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เดินคู่ขนานไปกับความเร็วของเทคโนโลยีด้วย 

ในมุมคนเบื้องหลังอย่างธิติรู้สึกว่า เมื่อการเอาตัวรอดเป็นสิ่งที่อยู่กับตัวคนเราอยู่แล้ว วันที่ทุกอย่างเข้าถึงง่ายทั้งในแง่ปริมาณ และความหลากหลาย ที่สุด คุณภาพ จะเป็นตัวคัดกรองให้คนทำงานได้ไปต่อ ไม่ใช่แค่ชื่อเสียงเพียงอย่างเดียว 

“ถ้าฐานคุณไม่แข็งแรง โซเชียลฯ เดี๋ยวนี้ดังเดี๋ยวเดียว แล้วเขาก็พร้อมจะทำให้คุณกลับไปอยู่ที่ศูนย์แน่นอน” สุรศักดิ์เสริม 

มาถึงตรงนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การยืนระยะหรือการเกาะเกี่ยวเป็นส่วนหนึ่งของกระแสหลัก คงไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ความแปลกใหม่ แต่มันคือการสั่งสม เสริมสร้างอัตลักษณ์ เพื่อทำให้ตัวตนแข็งแรง และถูกคัดกรองด้วยคุณภาพในท้ายที่สุด