20 นาทีกับยูโรเปียน ครูเนอร์ การเยือนไทยของ ‘ปาตริซิโอ บวนเน’

20 นาทีกับยูโรเปียน ครูเนอร์ การเยือนไทยของ ‘ปาตริซิโอ บวนเน’

The People เปิดห้องคุยกับนักร้องชื่อดังระดับโลกชาวอิตาลี ‘ปาตริซิโอ บวนเน’ (Patrizio Buanne) ด้วยบรรยากาศอบอุ่นและเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ

  • ‘ปาตริซิโอ บวนเน’ (Patrizio Buanne) เป็นนักร้องหนุ่มเสียงดีชาวอิตาลีที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกและเคยมาแสดงในไทยแล้วหลายครั้ง 
  • เขานิยามตัวเองว่า เป็น European Crooners และมีความชื่นชอบในเพลงแร็ป

นักร้องชื่อดังระดับโลกชาวอิตาลี ‘ปาตริซิโอ บวนเน’ (Patrizio Buanne) เคยแอบแวะมาเยือนไทยหลายครั้ง แต่สำหรับครั้งนี้เขาปรากฏตัวต่อสาธารณะ โดยเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมเฉลิมฉลองวาระพิเศษของ โรงพยาบาลเมดพาร์ค (MedPark Hospital) ในคอนเสิร์ต Med Music in the Park ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ 

ภายในงาน นอกจากการแสดงของปาตริซิโอที่แบ็คอัพโดยนักดนตรี 60 ชีวิตจากวง RSU Symphony Orchestra ภายใต้การอำนวยเพลงของ ‘รศ. ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ’ แล้ว ผู้จัดงานยังเปิดพื้นที่ให้แก่นักร้องนักดนตรีร่วมสมัยของไทยได้แสดงศักยภาพทางดนตรี ให้มิตรรักแฟนเพลงได้ชมอย่างใกล้ชิด อาทิ ซันนี - รัตนะ วงศ์สรรเสริญ, แนท เดอะวอยซ์ หรือ บัณฑิตา ประชามอญ​, ดลชัย บุณยะรัตเวช, ​กบ - เสาวนิตย์ นวพันธ์, พิจิกา จิตตะปุตตะ และ เพียว - เอกพันธ์ วรรณสุทธิ์

ก่อนการแสดงจริงจะเริ่มขึ้น นักร้องหนุ่มพลังเสียงดี เปิดห้องคุยกับ The People และ ดีเจเด่น - ธนฤทธิ์ พันธุเมธา เป็นเวลา 20 นาที ด้วยบรรยากาศอบอุ่นและเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ

และนี่คือบันทึกบทสนทนาของเราในวันนั้น

The People : ช่วยพูดถึงที่มาของคอนเสิร์ตครั้งนี้ มีอะไรพิเศษบ้าง

ปาตริซิโอ : เหนืออื่นใด นี่คือโอกาสพิเศษจริง ๆ การแสดงครั้งนี้เริ่มต้นมาจากโรงพยาบาล ซึ่งเป็นที่รวมของบรรดานายแพทย์ระดับอาจารย์ที่ออกแบบโรงพยาบาลได้อย่างวิเศษสุด จากนั้นเมื่อเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เกิดขึ้น ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ที่นี่ปลอดภัยที่สุด ทั้งการรักษาพยาบาล การแยกผู้ป่วย (Isolation) และมีบรรดาคุณหมอที่รู้ดีว่าโรงพยาบาลที่ดีควรเป็นอย่างไร 

20 นาทีกับยูโรเปียน ครูเนอร์ การเยือนไทยของ ‘ปาตริซิโอ บวนเน’

หลังจากผ่านโควิด-19 มา พวกเขาเลยถือโอกาสเฉลิมฉลองการครบรอบการก่อตั้งโรงพยาบาล ดังนั้นคอนเสิร์ตครั้งนี้จึงไม่ได้มีเพียงการแสดงของศิลปินไทย ซึ่งจริง ๆ แล้วมีคนเก่ง ๆ อยู่มากเท่านั้น แต่ก็มีความพยายามที่จะนำเสียงดนตรีมาสู่ผู้คน นำมาซึ่งสีสันความรื่นรมย์ โรแมนติก อารมณ์ขัน

แน่นอนว่าเมืองกรุงเทพฯ มีพื้นฐานเดิมส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมอิตาลี พวกเขาเลยอยากนำใครสักคนที่มีบางอย่างเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอิตาลีมาร่วมแสดงด้วย ผมจึงได้รับเกียรติให้มาแสดงในครั้งนี้

ผู้จัดการส่วนตัวของผมได้จัดแจงเวลาที่เหมาะสมให้ รวมถึงข้อตกลงเรื่องค่าใช้จ่าย แม้ว่าตอนนี้นักดนตรีต่างชาติไม่อยากมาไทย เพราะอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงิน แต่ผมพูดเสมอว่า ผมไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน แต่เพราะผมรักในผู้คน รวมทั้งแฟนเพลงชาวไทยผมไม่ได้พูดโดยมารยาท แต่พูดมาจากใจจริง ๆ จากประสบการณ์ที่ได้รับ การแสดงความนับถือต่อกัน คนเอเชียอย่างมาเลเซียก็ใจดีกับผมมาก รวมทั้งคนไทย เห็นได้จากที่ยังมีคนไทยเล่นเพลงของผมเสมอมา ผมมาที่นี่บ่อย และครั้งนี้ผมภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่จัดโดย MedPark

The People : คุณเลือกเพลงที่จะแสดงด้วยตัวเอง?

ปาตริซิโอ : ผมเลือกเพลงที่ผมจะแสดงด้วยตัวเองเสมอ เพราะผมรู้ดีว่าผู้คนอยากฟังเพลงอะไร อย่างเช่นเพลง Il Mondo, Un Angelo งานครั้งนี้ยังไม่ใช่คอนเสิร์ตเต็มรูปแบบ เลยค่อนข้างยากที่จะเลือกเพลงที่ทุกคนชื่นชอบ ผมไม่ใช่นักร้องยอดนิยมอย่าง บรูโน มาร์ส หรือ ไมเคิล แจ็กสัน ที่จะมีเพลงฮิตมากมาย แต่อย่างน้อยผมก็มีเพลงที่เล่นอยู่ในร้านอาหารอิตาเลียนตลอดเวลา

ผมทราบว่ามีแผนงานที่จะให้ผมมาแสดงคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบ คุณวิวรรณ กรรณสูต (ผู้บริหาร แม็กซ์ อิมเมจ) คุยกับผมเรื่องนี้ บางทีอาจจะเป็นปีหน้า แต่ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายนัก มีเรื่องที่เราต้องดูกันอีกเยอะ อย่างที่ทราบ แอนเดรีย โบเชลลี ตอนที่มาไทย (หมายถึงครั้งที่สองที่ภูเก็ต) ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก อาจจะเป็นเพราะการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรืออย่าง ฮูลิโอ อิเกลเซียส ที่ยกเลิกการแสดงไปก่อนหน้านั้น ผมไม่อยากสร้างความผิดหวังให้แฟนเพลง เมื่อผมมาแสดงในไทย ผมต้องการสร้างการจดจำที่ดี เหมือนที่ทุกคนยังจดจำผมได้

The People : เพลงอย่าง A Man Without Love ดูไม่เหมือนคุณตอนนี้ แฟนเพลงคิดว่าคุณเป็นคนดีเกินกว่าที่จะเป็นคนแบบนั้น (ในเนื้อหาเพลง) 

ปาตริซิโอ : ผมเข้าใจว่าคุณหมายความว่าอย่างไร แต่อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปก ตอนนี้ผมอยู่ในวัย 40 แล้ว ตอนอัดเพลงนี้ผมอายุ 26 เท่านั้น ตอนนั้นผมยังเป็นคนหนุ่มที่ออกเดินทางท่องโลก ไปพบผู้คนที่แตกต่าง วัฒนธรรมที่แตกต่าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ทั้งที่ไม่ได้อยู่ลำพัง แต่ผมกลับรู้สึกถึงความโดดเดี่ยว ดังนั้นเมื่อหลายปีก่อน ก่อนโรคโควิด-19 ระบาด ผมจึงตัดสินใจแต่งงาน และตอนนี้มีลูกสาวหนึ่งคน นับจากวันนั้น ผมไม่เคยรู้สึกถึงความโดดเดี่ยวอีกเลย หรือคงเพราะผมยุ่งมาก ๆ นั่นเอง

ศิลปินหลายคนอยู่กับความโดดเดี่ยว นั่นคือเหตุผลที่ทำให้หลาย ๆ คนหันมาใช้ยาเสพติด ผมไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ผมกลัวมาก และพ่อแม่ผมก็อบรมสั่งสอนมาตลอดว่า ‘อย่าไปยุ่งกับมัน แกอาจจะตายได้’ อย่างที่คุณรู้ เอมี ไวน์เฮาส์ ไม่อยู่แล้ว เพราะยาเสพติด ศิลปินหลายคนตายจากไปเพราะใช้ยาเกินขนาด โดยชีวิตของผม ผมจึงดูแลตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก้าวไปทีละก้าว ค่อนข้างระมัดระวัง

ชีวิตผมอิงอยู่กับความเป็นครอบครัว คุณพ่อผมเสียไปตอนผมอายุ 17 นั่นทำให้ผมตัดสินใจออกมาสัมผัสโลกด้วยเสียงเพลง คุณแม่ผมตอนนี้อายุ 86 ปี และท่านได้ใช้เวลาอยู่กับลูกสาวของผม ผมเข้าใจถึงความรักและความโดดเดี่ยว และนั่นทำให้ผมเข้าใจบทเพลงที่ผมถ่ายทอดเมื่อ 15 ปีก่อนได้ดียิ่งขึ้น 15 ปีที่แล้วผมหน้าหนุ่มและเสียงดีกว่านี้ (หัวเราะ) แต่ตอนนี้ผมมีประสบการณ์มากขึ้นนะ

The People : 15 ปีที่แล้ว ธุรกิจดนตรีตอนนั้นกับตอนนี้แตกต่างกันมาก?

ปาตริซิโอ : ผมไม่เคยมองดนตรีเป็นธุรกิจ เพราะดนตรีเป็นเรื่องของความรู้สึก ผมแทบไม่ได้มองจากด้านธุรกิจเลย หากมองแบบนั้น ผมอาจจะไปเป็นบอยแบนด์หรือเป็นนักร้องแร็ป ซึ่งน่าจะทำเงินได้มากกว่า แต่ผมไม่อยากทำเงินแล้วถูกลืมไปอย่างรวดเร็ว ผมอยากทำดนตรีดี ๆ ที่ผู้คนจะจดจำไปยาวนาน เหมือนอย่าง เอลวิส เพรสลีย์, ​ดีน มาร์ติน, แฟรงก์ ซินาตรา, โทนี เบ็นเน็ตต์ ที่ผู้คนยังจดจำได้เสมอ

ดังนั้นผมแทบไม่เคยมานั่งวิเคราะห์ถึงความเป็นธุรกิจดนตรีเลย ยกเว้นเมื่อถึงเวลาทำงานบันทึกเสียง ที่ต้องทำกับยูนิเวอร์ซัล มิวสิค หรือวอร์นเนอร์ มิวสิค ในอังกฤษ เมื่อผมประสบความสำเร็จ พวกเขาจะส่งผลงานของผมไปยังประเทศอื่น ๆ พวกเขาทำงานของเขาไป เขาทำโปรโมชั่น ให้ผมเดินทางไป สามวันที่สิงคโปร์ สามวันที่มาเลเซีย สามวันที่เมืองไทย สามวันที่ไต้หวัน  สามวันที่ฮ่องกง ทำแบบนี้แบบ non-stop

20 นาทีกับยูโรเปียน ครูเนอร์ การเยือนไทยของ ‘ปาตริซิโอ บวนเน’

เมื่อคุณเป็นอิสระ ออกมาจากระบบนั้นได้ มันดีมากเลย คุณไม่ต้องไปอยู่ในเงื่อนไขนั้นอีก จะออสเตรเลียหรืออังกฤษ คุณออกแบบการโปรโมตของคุณได้เลย สิ่งสำคัญที่สุด คุณค่าสูงสุดสำหรับผมคือการนับถือกัน ให้เกียรติกัน นี่คือสิ่งที่ผมได้รับได้เรียนรู้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ผมไม่ใช่นักร้องเพลงคลาสสิก หลายคนมองว่าดนตรีคลาสสิกน่าเบื่อ แต่ผมเป็นนักร้องมี ‘คลาส’ ดนตรีอิตาเลียนมีมากกว่านั้น เพลงที่ผมร้อง ถูกฟังโดยคนหลากหลายวัย จะอายุสามสิบ ห้าสิบ แปดสิบ รวมทั้งเด็ก ๆ ก็ฟัง เป็นเพลงสำหรับครอบครัว

The People : คุณแต่งเพลงด้วย?

ปาตริซิโอ : ใช่ ผมแต่งเพลงด้วย แต่ผมจัดตัวเองว่าเป็นคนตีความบทเพลงมากกว่า (music interpreter) ผมตีความเพลงดี ๆ ในแบบของผม และหวังว่าคนฟังจะชอบมัน ผมเขียนเพลงบ้าง แต่ไม่คิดว่ามันเป็นจุดแข็งของผม 

ตอนเป็นเด็กผมเคยอยากเป็นบาทหลวง เพราะผมชอบการสื่อสารไปยังจิตวิญญาณของผู้คน ผมชอบการติดต่อสัมผัสด้วยจิตด้วยพลัง แต่ที่สุดแล้ว ผมตัดสินใจเลือกเส้นทางดนตรี

The People : เมื่อร้องบทเพลงสแตนดาร์ด คุณจะสร้างความแตกต่างจากนักร้องคนอื่น ๆ ได้อย่างไร

ปาตริซิโอ : คุณต้องเข้าถึงแก่นของเพลง แล้ววิเคราะห์มันออกมา เราอาจจะใช้พลังเหมือนกัน แต่เราปล่อยมันออกมาไม่เหมือนกัน ตอนนี้กับเมื่อก่อนก็ไม่เหมือนกัน ทุกอย่างเปลี่ยนไป วิถีชีวิตเปลี่ยน รูปแบบของการแสดงออกเปลี่ยนไป มีเพลงชั้นดีมากมายที่ผมไม่คิดจะบันทึกเสียง เพราะมันไม่เหมาะกับยุคสมัยนี้อีกแล้ว

เพลงอย่าง you breaking my heart, ‘cause you are leaving (ร้องเพลงเก่า ปี 1949 ของ วิค ดาโมน) เรื่องราวของเพลงดี แต่ไม่มีใครพูดกันแบบนี้อีกแล้ว ชีวิตผู้คนเปลี่ยนไป ผู้หญิงสมัยนี้ทำงาน ไม่ใช่แค่ทำกับข้าวแล้วเลี้ยงลูกอีกแล้ว ผมอยากพูดในสิ่งที่เหมาะกับวันนี้ อาจจะต้องเป็นเพลงสแตนดาร์ดเก่า ๆ ที่ยังอมตะอยู่ ร่วมสมัยอยู่  

20 นาทีกับยูโรเปียน ครูเนอร์ การเยือนไทยของ ‘ปาตริซิโอ บวนเน’

The People : คุณร้องเพลงได้หลายภาษา ภาษาไหนยากสุด

ปาตริซิโอ : ผมยังไม่เคยร้องเพลงไทย สักวันผมอยากสนุกที่จะร้องมัน ตอนอยู่มาเลเซีย ผมร้อง ... (ร้องเพลงภาษาบาฮาซาอย่างคล่องแคล่ว) ตอนอยู่ญี่ปุ่น ผมร้องเพลงหนึ่ง ... (ร้องเพลงภาษาญี่ปุ่นอย่างคล่องแคล่ว) หรือเพลงจีน 

แต่ถึงที่สุดแล้ว ผมเป็นทูตของบทเพลงอิตาเลียน (ambassador of Italian song) บางคนแสดงออกเพลงในสไตล์อเมริกัน คนอย่าง โทนี เบ็นเน็ตต์ พวกครูเนอร์ทั้งหลาย (crooners นักครวญเพลง) ผมก็เป็นครูเนอร์เหมือนกัน แต่เป็น ยูโรเปียน ครูเนอร์ 

เมื่อคุณคิดถึงนิวยอร์ก ทวีปอเมริกาเหนือ คุณจะไม่คิดถึงปาตริซิโอ แต่เมื่อใดที่คุณคิดถึงเวนิส เนเปิลส์ ฟลอเรนซ์ ยุโรป คุณจะคิดถึงปาตริซิโอ

The People : ตอนนี้คุณฟังเพลงอะไรบ้าง

ปาตริซิโอ : บางคนอาจคิดว่าผมสนใจแต่เพลงเก่า ๆ ผมไม่ใช่พวกที่ ‘ไม่ชอบเพลงแร็ป’ จริง ๆ ผมรักแร็ปนะ ผมสนใจแร็ป เมื่อมีอะไรบางอย่างที่อยากพูด แต่พวกแร็ปที่หยาบคายรุนแรง ผมคงไม่ชอบละ แต่ผมสนใจในแง่ที่มันมีอะไรบางอย่างที่อยากสื่อสารออกมา หรืออย่างเพลงร็อก ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะเสียงดังหรือการกรีดร้องเท่านั้น แต่วงร็อกดี ๆ อย่าง เอซี/ดีซี, เมทัลลิกา, ยูทู, โคลด์เพลย์ พวกนี้เขามีเนื้อหาที่ต้องการถ่ายทอดออกมา ถือเป็นดนตรีที่ดี

ในโทรศัพท์ของผม คุณจะเจอเพลงทุกรูปแบบ แล้วผมก็เป็นคนโรแมนติกนะ ผมชอบเพลงไทยเดิมบางเพลงด้วย ซึ่งเป็นเพลงที่มีความเอ็กโซติกมาก สง่างามและมหัศจรรย์มาก ผมฟังเพลงทุกอย่าง ไม่ใช่เฉพาะเพลงเก่า แต่รวมถึงเพลงใหม่ ๆ ด้วย

.

ภาพ : MedPark