เพิ่ม Thepeople
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
22 พ.ย. 2565 | 13:24 น.
- แองเจลา อัลวาเรซ ในวัย 95 ปี ขึ้นรับรางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากเวที ลาติน แกรมมี อวอร์ด 2022 ด้วยผลงานอัลบั้มแรกในชื่ออัลบั้มเดียวกับชื่อเธอเอง
- รางวัลนี้ทำให้เธอเป็นศิลปินอายุมากที่สุดที่ได้รางวัลจากเวทีดังกล่าว
- อัลวาเรซ อาศัยในคิวบาก่อนย้ายมาในสหรัฐฯ ช่วงปฏิวัติคิวบา เธออัดเสียงในสตูดิโอครั้งแรกขณะอายุ 90 ปี ได้หลานชายมาช่วยเป็นโปรดิวเซอร์
กิจกรรมร้องเพลงสังสรรค์กับเพื่อนและครอบครัวในวาระต่าง ๆ ล้วนเป็นเรื่องปกติธรรมดาของทุกคนอยู่แล้ว หนุ่มสาว ลูกเด็กเล็กแดง ไปจนถึงผู้เฒ่าย่อมสามารถร้องเพลงได้ แต่หากจะให้พวกเขาไปออกอัลบั้มจริงจัง คงมีไม่กี่คนนักที่จะกลายมาเป็นศิลปินได้แบบเต็มตัว
ยิ่งสำหรับสุภาพสตรีในวัย 90 ปีแล้ว ยิ่งยากจะนึกถึง แต่ไม่ใช่สำหรับ แองเจลา อัลวาเรซ (Angela Alvarez) ซึ่งเริ่มย่างเท้าเข้าห้องอัดครั้งแรกก็เข้าวัย 90 ปีแล้ว
จากก้าวแรกที่เธอเข้าสตูดิโออัดเสียงขณะอายุเข้าเลข 9 เวลาผ่านไปอีก 5 ปี เธอมีโอกาสเดินเข้างานลาติน แกรมมี อวอร์ด (Latin Grammy Award) ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2022 และได้รางวัล ‘ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม’ (Best New Artist) ขณะที่เธออายุ 95 ปี
ใช่แล้ว ไม่ได้พิมพ์ผิดหรือเข้าใจผิดแต่อย่างใด แองเจลา อัลวาเรซ ศิลปินเชื้อสายคิวบาน-อเมริกัน (Cuban-American) ในวัย 95 ปี คือเจ้าของรางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมแห่งลาติน แกรมมี 2022 สร้างประวัติศาสตร์เป็นศิลปินอายุมากที่สุดซึ่งได้รับรางวัลจากเวทีนี้
ทั้งนี้ รางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมดังกล่าว แองเจลา อัลวาเรซ รับรางวัลร่วมกับซิลวานา เอสตราดา (Silvana Estrada) ศิลปินและนักแต่งเพลงชาวเม็กซิกันวัย 25 ปีอีกราย
สำหรับผลงานของแองเจลา อัลบั้มชุดแรกในชีวิตของเธอออกมาเมื่อปี 2021 โดยใช้อัลบั้มเป็นชื่อ-นามสกุลของเธอเอง (Angela Alvarez)
แม้จะเพิ่งออกอัลบั้มของตัวเองเป็นครั้งแรกในวัยเลข 9 แต่ตลอดชีวิตของเธอ แองเจลา เขียนเพลงมายาวนานหลายสิบปีแล้ว แต่ไม่ได้อัดเสียงเผยแพร่ เธอแค่แสดงให้เพื่อนและคนในครอบครัวฟังเท่านั้น
กระทั่งเมื่อเธออายุ 90 ปี ถึงได้ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรกในชีวิตที่ไนต์คลับ Avalon เป็นไนต์คลับชื่อดัง ขณะที่ผลงานอัลบั้มของเธอเริ่มต้นมาจากหลานชื่อคาร์ลอส (Carlos) อัดเพลงที่เธอแต่งมาทำเป็นอัลบั้ม โดยได้รับความช่วยเหลือจากนักแสดงเชื้อสายคิวบาอย่างแอนดี้ การ์เซีย (Andy García) ซึ่งแอนดี้ เป็นคนจัดคอนเสิร์ตครั้งแรกของแองเจลา ด้วย
กว่าจะมาประสบความสำเร็จตามเส้นทางในฝันของแองเจลา เธอต้องเผชิญอุปสรรค์จากทั้งครอบครัวเอง เธอเติบโตมาในช่วงก่อนปฏิวัติคิวบา พ่อและปู่ไม่ค่อยสนับสนุนความฝันด้านดนตรีของเธอเพราะความเชื่อตามธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของพวกเขา แองเจลา ต้องแอบแต่งเพลงแบบลับ ๆ
แองเจลา ให้สัมภาษณ์กับ Billboard Español ผ่านวิดีโอคอลว่า
“ฉันรักดนตรีมาก...สมัยยังเด็ก ฉันมีป้าสองคนที่เล่นเปียโนและสอนฉันให้ร้องเพลง เมื่อครอบครัวมารวมตัวกัน ฉันคือศิลปิน พวกเขาตัดชุดให้ฉันและมักชอบการแสดง”
เธอเล่าว่า เธอรักพ่อมาก เมื่อพ่อเห็นว่าไม่อยากให้ทำอาชีพนักร้องจึงทำตามโดยไม่โต้แย้ง
เมื่อเกิดการปฏิวัติคิวบาขึ้น อัลวาเรซ ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตเมื่อเธอต้องเลือกส่งลูก 4 คนไปที่สหรัฐอเมริกา เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการที่เรียกว่า Pedro San อันเป็นผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายเยาวชนนับหมื่นรายไปที่สหรัฐฯ ระหว่างปี 1960-62
อัลวาเรซ เดินทางตามหลังไปสมทบกับลูกที่สหรัฐฯ ในภายหลัง แต่ก็เดินทางไปถึงล่าช้าด้วยปัจจัยเรื่องเอกสาร กว่าจะได้เจอหน้าลูกก็กินเวลาไปร่วม 2 ปี เมื่อตั้งรกรากใหม่ เธอพบกับความสูญเสียเมื่อสามีและลูกสาวคนเดียวจากไปด้วยโรคมะเร็ง
แม้จะเผชิญความยากลำบากในชีวิต แองเจลา ยังคงแต่งเพลงและร้องเพลง แต่ไม่ได้แสดงต่อสาธารณะ เธอแค่เล่นและร้องให้คนใกล้ชิดฟังเท่านั้น
จุดเปลี่ยนในเส้นทางดนตรีของแองเจลา มาถึงเมื่อเธอตกลงเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสารคดีชื่อ ‘มิส แองเจลา’ (Miss Angela) บอกเล่าเรื่องราวชีวิตในคิวบาของเธอและเล่าถึงการเตรียมตัวสำหรับแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรกในชีวิต
หลังเริ่มก้าวขาเข้าใกล้ความฝันมากขึ้นเรื่อย ๆ หลานชายที่ทำงานเป็นโปรดิวเซอร์และนักเรียบเรียงเสนอแนวคิดให้แองเจลา เดินทางมาลอส แองเจลิส สำหรับอัดอัลบั้ม ผลงานอัลบั้มแรกในชีวิตออกเผยแพร่โดยใช้ชื่อเดียวกับชื่อและนามสกุลของเธอเอง นำมาสู่รางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม รับรางวัลคู่กับเอสตราดา ดังที่กล่าวข้างต้น
อัลวาเรซ เล่าว่า เพลงที่แต่งไว้มีประมาณ 50 เพลง ขณะที่เธอเองรู้สึกเซอร์ไพรส์ที่ได้เสนอชื่อรับรางวัลในเวทีลาตินแกรมมี
“มันเป็นเรื่องใหญ่มากแต่ก็เป็นเซอร์ไพรส์ที่สวยงามและฉันคิดย้อนหลังไปว่าความฝันทั้งหมดของฉันเป็นจริง ในวัย 95 แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว” แองเจลา เล่าก่อนหัวเราะตามมา
ภายหลังได้รับรางวัล แองเจลา อัลวาเรซ กระตุ้นให้ทุกคนที่มีความฝันให้รักษาฝันของตัวเองไว้ให้โชติช่วง ขณะขึ้นรับรางวัลเธอกล่าวว่า
“มีคนที่ยอมแพ้ แต่ฉันไม่ยอมแพ้ ฉันต่อสู้มาตลอด” เธอกล่าวสุนทรพจน์โดยอุทิศให้คิวบา
“ฉันสัญญากับคุณว่า - มันไม่มีคำว่าสายเกินไป”
อ้างอิง: