Led Zeppelin – Stairway to Heaven: จากหญิงสาวซื้อบันได สู่บทเพลงบูชาซาตานในสายตาผู้คน

Led Zeppelin – Stairway to Heaven: จากหญิงสาวซื้อบันได สู่บทเพลงบูชาซาตานในสายตาผู้คน
/ There’s a lady who’s sure all that glitters is gold And she’s buying a stairway to heaven /   เสียงกีตาร์เนิบช้าของ จิมมี เพจ (Jimmy Page) คือเสียงแรกที่เราได้ยินจาก ‘Stairway to Heaven’ เพลงดังระดับตำนานที่ขับขานกล่อมโลกดนตรีมาตั้งแต่ปี 1971 และสร้างชื่อให้กับ ‘Led Zeppelin’ วงร็อกจากยุค 60s – 2000s อย่างมากมาย แต่บทเพลง ‘บันไดไต่สวรรค์’ เพลงนี้ก็สร้างความลำบากปนประหลาดใจให้สมาชิกในวงไม่น้อย เพราะการตีความของแฟนเพลงที่ออกจะหลากหลาย และบ้างก็เกินควบคุมไปสักหน่อย   บ้างก็ว่า Led Zeppelin เขียนเพลงนี้ถึงพระเจ้า บ้างก็ว่าพวกเขาเล่าถึงพระแม่มารี (จากคำนาม the May Gueen ที่ปรากฏในเพลง) แต่ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการดนตรีที่สุดคือคำครหาที่ว่า จิมมี เพจ จงใจซ่อนข้อความลับไว้ในเพลงนี้เพื่อ ‘บูชาซาตาน’    ความต่างกันราวฟ้ากับเหวระหว่างการตีความถึงพระเจ้าที่อยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้า กับซาตานที่อยู่ในนรกนั้นชวนให้สงสัยอยู่ไม่น้อยว่า สุดท้ายแล้วซาตานหรือพระเจ้า เบื้องหลังเรื่องราวของบทเพลงบันไดไต่สวรรค์คือใครกันแน่   ข้าร้องเพลงเพื่อซาตาน ข้าขับขานโดยไร้ทางหนี เสียงหวีดหวิวของเครื่องเป่าช่วงต้นเพลงประสานรับกับเสียงกีตาร์ แล้วตามมาด้วยเนื้อร้องสุดคลาสสิก ที่ถ่ายทอดด้วยน้ำเสียงเปี่ยมมนตร์ขลังเหมือนกำลังเล่านิยายปรัมปราของ โรเบิร์ต แพลนต์ (Robert Plant) นักร้องและผู้แต่งเนื้อเพลง ขณะที่จิมมี เพจ มือกีตาร์และหัวหน้าวง เป็นคนเรียงร้อยทำนอง   ‘Stairway to Heaven’ พูดถึงหญิงสาวที่เชื่อมั่นในแสงแวววาวของทองคำกว่าอื่นใด และตั้งใจจะใช้ทองคำทั้งหมดที่มีเพื่อซื้อหาบันไดที่จะพาเธอไปสู่แดนสุขาวดี เรื่องราวของเพลงคงจบลงเท่านี้ หากไม่มีท่อนเจ้าปัญหาที่ทำให้คนฟังเริ่ม เอ๊ะ! หรือเพลงนี้จะมีความหมายแฝงซ่อนอยู่? ท่อนเจ้าปัญหานั้นมีใจความว่า “อย่าลืมซะล่ะว่าบางทีถ้อยคำก็มีสองความหมาย”   / There’s a sign on the wall, but she wants to be sure ’Cause you know sometimes words have two meanings /   Led Zeppelin ก่อตั้งวงเมื่อปี 1968 และปล่อย ‘Stairway to Heaven’ ในปี 1971 แม้จิมมี เพจ จะสนใจใฝ่รู้ในลัทธิบูชาซาตานอยู่บ้าง แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา คณะเรือเหาะเหินเวหาไม่เคยมีบทเพลงหรือแสดงสัญญะใด ๆ เกี่ยวกับซาตานมาก่อน จนกระทั่งต้นยุค 80s ที่กระแสบูชาซาตานกลับมาบูมอีกครั้ง พร้อมด้วยข่าวลือถึง ‘การเล่นแผ่นเสียงย้อนหลัง’ ที่เชื่อกันว่าวงดนตรีชื่อดังต่าง ๆ มักแฝงถ้อยคำบูชาซาตานไว้ในเพลงด้วยวิธีดังกล่าว   ปี 1981 ไมเคิล มิลส์ (Michael Mills) รัฐมนตรีมิชิแกน ได้ออกมาประกาศเตือนประชาชนในรัฐของตนว่าเพลง ‘Stairway to Heaven’ มีรหัสลับถึงซาตานซ่อนอยู่ เช่นเดียวกับ พอล โคช (Paul Couch) ผู้เผยแพร่คริสต์ศาสนา ที่ออกมายืนยันเช่นกันว่า เขาลองเปิดเพลงบันไดไต่สวรรค์แบบย้อนกลับดูแล้ว และพบถ้อยคำบูชาซาตานจริง ๆ!   I sing because I live with Satan. The Lord turns me off - there’s no escaping it. Here’s to my sweet Satan, whose power is Satan. He will give you 666. I live for Satan.   คือถ้อยคำที่ถูกกล่าวอ้างว่า ‘จิมมี เพจ’ ที่ดูจะสนอกสนใจซาตานกว่าใครเพื่อน เป็นคนซุกซ่อนมันเอาไว้ ท่ามกลางความงุนงงของเหล่าสมาชิก โดยเฉพาะโรเบิร์ต แพลนต์ เจ้าของเนื้อร้องตัวจริงเสียงจริง ที่ออกอาการงงหนัก เพราะไม่รู้ว่าเพลงที่เขาแต่งขึ้นมา กลายเป็นเพลงที่มีความหมายทำนองว่า “ข้าแต่ซาตานที่รัก ข้าจักมีชีวิตเพื่อท่าน” ไปตั้งแต่ตอนไหน   ไม่ใช่แค่ ‘Stairway’ ที่ตกเป็นเหยื่อของการเล่นเพลงกลับหลัง ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันมีวงดนตรีอีกหลายวงที่ถูกจับตามองด้วยข้อหา ‘พวกบ้าคลั่งซาตาน’ วัยรุ่นที่อยากรู้อยากลองต่างซื้อแผ่นเสียง ‘Stairway to Heaven’ ไปเพื่อเล่นย้อนกลับ ร้อนถึง Swan Song ค่ายเพลงของ Led Zeppelin ที่ต้องออกมาแถลงการณ์ต่อกรณีที่เกิดขึ้นว่า “แผ่นเสียงของเราเล่นได้วิธีเดียวเท่านั้น นั่นคือเล่นไปข้างหน้า”   ขณะที่โรเบิร์ตระบายความรู้สึกหลังรู้ข่าวลือของเพลงที่เขาแต่งว่า “ผมเสียใจนะ เอาจริง ๆ ผมตื่นเช้าขึ้นมาได้ยินข่าวแล้วก็งุ่นง่านไปเลยทั้งวัน ผมไม่รู้ว่าเขาทำแบบนั้นไปทำไม ผมจะใส่ข้อความลับในเพลงไปทำมะเขืออะไร นั่นไม่ใช่วิธีทำงานของผม”   ที่แท้คือหญิงโลภ สำหรับคำถามที่ว่า ถ้าไม่ใช่บทเพลงบูชาซาตาน ถ้าอย่างนั้นความหมายที่แท้จริงของ ‘Stairway to Heaven’ คืออะไร โรเบิร์ตอธิบายว่า “เพลงนี้คือเรื่องราวของผู้หญิงที่ได้ทุกสิ่งที่เธอต้องการโดยไม่เคยมอบอะไรให้ใครเป็นการตอบแทน”   คำจำกัดความนั้นฟังดูคล้ายนิยามของความโลภ โรเบิร์ตใช้เวลาไม่กี่นาที (ที่โรเบิร์ตเคยบอกว่าเหมือนเรื่องราวไหลเข้ามาในหัวเขาเอง – ทำให้คนที่เชื่อว่าเพลงนี้เกี่ยวกับซาตานยิ่งคลั่งขึ้นไปอีก พร้อมกับกล่าวว่า นั่นไง! ซาตานเป็นคนสั่งให้เขาเขียนเพลง) ในการปั้นแต่งเรื่องราวของหญิงสาวจอมละโมบผู้กอบโกยสิ่งที่เธออยากได้มาทั้งชีวิต จนกระทั่งเหลือสิ่งสุดท้ายที่เธอเอื้อมคว้ามาไม่ได้ เธอยินดีที่จะแลกทุกอย่างที่เธอมีกับ ‘บันได’ เพื่อปีนป่ายไปให้ถึงสวรรค์ที่คอยท่าอยู่ แต่แล้วเธอกลับไปไม่ถึงที่แห่งนั้น เพราะมันไม่มี ‘บันได’ อยู่จริงตั้งแต่แรก    ยิ่งเธอพยายามมากเท่าไร ‘บันได’ ก็กลับดูไกลออกไปทุกขณะ ดังท่อนใกล้จบของบทเพลงที่ร้องว่า   / Dear lady, can you hear the wind blow, and did you know Your stairway lies on the whispering wind? / หญิงสาวเอ๋ย เธอได้ยินไหม  และเธอรู้หรือไม่ว่าบันไดที่ตามหาที่แท้เป็นเพียงเสียงลวงจากลมปาก   บันไดที่ได้จากการPlagiarism? นอกจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นบทเพลงบูชาซาตาน ที่ดูจะกลายเป็นตราบาปของเพลงระดับตำนานเพลงนี้ ‘Stairway to Heaven’ ยังต้องพบกับการกล่าวหาที่มีมูลมากกว่าอีกประการ นั่นคือการตั้งคำถามว่า หรือ ‘Stairway to Heaven’ จะประสบความสำเร็จได้เพราะ ‘ลอกเขามา’ ?   เริ่มตั้งแต่เนื้อเพลงที่ดันไปละม้ายคล้ายคลึงกับบทกลอนเก่าแก่ของ เลวิซ สเปนซ์ (Lewis Spence) กวีชาวสกอตติช ซึ่งโรเบิร์ตไม่ได้เถียงอะไรในประเด็นนี้ เขายอมรับและให้เครดิตเลวิซแต่โดยดี กลับกัน เขาและวง Led Zeppelin กลับปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าเสียงกีตาร์ใน ‘Stairway to Heaven’ นั้นอาจได้แรงบันดาลใจ หรือ ‘ลอกลาย’ มาจากเพลง ‘Taurus’ ของวง Spirit   คำครหานั้นมีน้ำหนัก เพราะก่อนหน้าที่ Led Zeppelin จะปล่อยอัลบั้ม ‘Led Zeppelin IV’ ที่มี ‘บันไดไต่สวรรค์’ อยู่ในนั้น พวกเขาเคยร่วมงานกับ Spirit ในฐานะวงเปิดมาก่อน แต่ Randy California เจ้าของเพลง (ที่อาจจะเป็น) ต้นฉบับกลับไม่เคยติดใจเอาความอะไร จนกระทั่งเขาเสียชีวิตไป   ‘Stairway to Heaven’ กลายเป็นเพลงดังในชั้นศาล เมื่อปี 2014 ไมเคิล สคิดมอร์ (Michael Skidmore) ผู้ถือผลประโยชน์จากผลงานเพลงวง Spirit ได้ฟ้องร้องค่าเสียหายจากการ ‘ลอกแล้วไปแต่งใหม่’ กับจิมมี เพจ โดยเรียกค่าเสียหายสี่สิบล้านดอลลาร์ ก่อนที่คดีความจะจบลงในสองปีถัดมา ด้วยคำตัดสินว่าจิมมี เพจ เป็นฝ่ายชนะคดีไป และ ‘Stairway’ ยังคงไร้มลทิน   บทเพลงอมตะตลอดกาล ท่ามกลางเรื่องวุ่น ๆ ที่ประดังประเดเข้ามาประหนึ่งเสียงกลองและกีตาร์ที่รัวเร็วในช่วงท้ายของ ‘Stairway to Heaven’ เพลงยาวกว่าแปดนาทีเพลงนี้กลับไม่เคยเลือนหายไปจากใจของผู้คน ตรงกันข้าม ยิ่งเวลาผ่านไปมากทศวรรษเท่าไร ความเป็น ‘ตำนาน’ ของเพลงนี้ก็ยิ่งมากขึ้น จากยุคของแผ่นเสียงสู่เทปคาสเซต จากคาสเซตสู่แผ่นซีดี จากซีดีสู่สตรีมมิง ผู้คนต่างวัย ต่างเจเนอเรชัน ยังคงเปิด ‘Stairway to Heaven’ ให้เล่นวนซ้ำ ๆ ด้วยความเพลิดเพลิน เช่นเดียวกับหญิงสาวในเพลงที่จนถึงนาที - ถ้อยคำสุดท้าย เธอก็ยังตั้งใจว่าจะซื้อ ‘บันไดสู่สวรรค์’ ให้จงได้   / And she’s buying a stairway to heaven /   เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ ที่มา: https://sahiwal.tv/does-stairway-to-heaven-by-led-zeppelin-include-a-satanic-message/ https://www.allmusic.com/artist/led-zeppelin-mn0000139026/biography https://www.songfacts.com/facts/led-zeppelin/stairway-to-heaven https://www.washingtonpost.com/news/morning-mix/wp/2016/06/17/the-fabled-origin-story-behind-led-zeppelins-stairway-to-heaven-might-have-been-a-myth-all-along/ https://auralcrave.com/en/2018/07/15/stairway-to-heaven-why-led-zeppelins-masterpiece-is-actually-a-personal-growth-lesson/ https://americansongwriter.com/stairway-to-heaven-led-zeppelin-behind-the-song/ https://www.theguardian.com/music/2014/oct/22/stairway-to-heaven-unreleased-mix-led-zeppelin-iv-remastered