DADDY DOUGH โดนัทสัญชาติไทยที่(เคย)ท้าชนกับแบรนด์นอก แต่ตอนนี้เงียบหายไปจากตลาด

DADDY DOUGH โดนัทสัญชาติไทยที่(เคย)ท้าชนกับแบรนด์นอก แต่ตอนนี้เงียบหายไปจากตลาด

เมื่อเอ่ยถึงแบรนด์โดนัทคนยุคนี้ต้องนึกถึง Krispy Kreme (คริสปี้ครีม), Mister Donut (มิสเตอร์ โดนัท) และ Dunkin (ดังกิ้น) แต่หากย้อนกลับไปเมื่อเกือบสิบปีก่อนเชื่อว่า หลายคนอาจจะพูดถึง DADDY DOUGH (แด๊ดดี้ โด) โดนัทสัญชาติไทยที่เคยดังมากในยุคนั้น แต่ปัจจุบันกลับเงียบหายไปจากตลาด

  • ท่ามกลางแบรนด์โดนัทต่างชาติทั้ง Krispy Kreme , Mister Donut และ Dunkin (ดังกิ้น) ก่อนหน้านี้ก็มีแบรนด์ไทยที่ดังอย่าง DADDY DOUGH
  • DADDY DOUGH มี ‘ปีเตอร์ ทวีผลเจริญ’ เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2549 ชื่อมีความหมายว่า ‘แป้งของพ่อ’
  • แบรนด์นี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปี 2557 บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ได้เข้าไปร่วมทุน และเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างตามมา

DADDY DOUGH มีผู้ก่อตั้ง คือ ‘ปีเตอร์ ทวีผลเจริญ’ หนุ่มผู้จบการศึกษาด้านการโรงแรม จากมหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา และมีครอบครัวทำเปิดร้านอาหารชื่อ Maria Pizzeria อยู่ย่านถนนสีสม

โดยก่อนจะกลับมาเมืองไทยเขาได้เห็นร้านโดนัทในสหรัฐอเมริกาขายดี ประกอบกับเห็นว่า ณ ตอนนั้นตลาดโดนัทในบ้านเรามีผู้เล่นหลักเพียง 2 ราย ได้แก่ Mister Donut ที่เข้ามาปักธงธุรกิจในไทยเมื่อปี 2521 และ Dunkin เปิดสาขาแรกในปี 2524 (ส่วน Krispy Kreme เข้ามาทำธุรกิจในบ้านเราเมื่อปี 2533)

นั่นทำให้เขาและครอบครัวมีความคิดจะเปิดร้านโดนัทที่เป็นแบรนด์ของคนไทยขึ้นมา เพื่อเสนอตัวเป็นอีกทางเลือกให้กับลูกค้า ด้วยการใช้พื้นที่ปีกซ้ายของร้านอาหารของครอบครัวมาเปิดเป็นร้านโดนัทชื่อ Daddy Dough สาขาแรก เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2549

สำหรับ Daddy Dough มีความหมายว่า ‘แป้งของพ่อ’ ซึ่งมาจากโดนัทของที่นี้จะเป็นแป้งโดนัทสูตรลับพิเศษของ ‘สมชาย ทวีผลเจริญ’ คุณพ่อของปีเตอร์เป็นผู้คิดค้นและพัฒนาขึ้นมาเมื่อครั้งยังเปิดร้านเบเกอรี่เล็กๆ อยู่ที่สหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ด้วยการเป็นแบรนด์น้องใหม่ในตลาดตอนนั้น นอกจากจุดเด่นเรื่องแป้งสูตรพิเศษของคุณพ่อที่เนื้อแป้งจะนุ่มเมื่อกัดลงไปแล้วเหมือนแป้งจะละลายในปากทันทีแล้ว ปีเตอร์ยังพยายามหาจุดแตกต่างเพิ่มเติมในการดึงดูดใจลูกค้า

โดยสูตรแป้งของ Daddy Dough จะเป็น zero crams trans fat ซึ่งสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายอนุญาตให้ใช้ในการประกอบอาหารได้ เนื่องจากไม่ทำให้เส้นเลือดอุดตัน สำหรับเอาใจคนรักของหวานแต่ก็ยังห่วงสุขภาพด้วย

DADDY DOUGH โดนัทสัญชาติไทยที่(เคย)ท้าชนกับแบรนด์นอก แต่ตอนนี้เงียบหายไปจากตลาด

นอกจากนี้ยังเน้นความสดใหม่ ทำวันต่อวันกิน และเพิ่มความหลากหลายด้วยการมีโดนัทหน้าต่างๆ ให้เลือกกว่า 40 ชนิด

ตอนนั้นปีเตอร์คิดว่า ถ้าไม่เวิร์คก็ไม่เป็นไร แต่ปรากฏได้ผลตอบรับดี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก จนเขาพัฒนารสชาติและความหลากหลายในผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมออกมา จากนั้นได้ตั้ง ‘บริษัท แด๊ดดี้ โด(ประเทศไทย) จำกัด’ ขึ้นมาเมื่อ 18 มกราคม 2551 เพื่อดูแลการขยายธุรกิจ

จากสาขาแรกที่ร้านอาหารของครอบครัวย่านสีลม กลายเป็นมากกว่า 30 สาขาในปี 2551 และขยายต่อเนื่องในปีต่อๆ มา กระทั่งได้รับความสนใจของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งต้องการเข้ามาร่วมทุน

หนึ่งในนั้น คือ ‘บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)’ ซึ่งในปี 2557 ปีเตอร์และปตท.ได้ลงนามร่วมกันพัฒนาธุรกิจ และการตลาดของ Daddy Dough ในประเทศไทย โดยโฟกัสหลักๆ จะขยายในปั๊มน้ำมันของ ปตท.นั่นเอง

แต่จากนั้นไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะแบรนด์ DADDY DOUGH ได้เริ่มถอนสาขาออกจากห้างและศูนย์การค้า จากนั้นค่อยๆ เงียบหายไปจากตลาด ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ daddydough.com พบว่า ณ ปัจจุบันโดนัทสัญชาติไทยแบรนด์นี้เหลืออยู่ 3 สาขา ได้แก่ สาขาปตท. วิภาวดี (ตรงข้ามมหาลัยหอการค้า), สาขาราชพฤกษ์ และสาขาขอนแก่น

ขณะที่ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานถึงผลประกอบการของ ‘บริษัท แด๊ดดี้ โด(ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้รวมปี 2562 อยู่ที่ 21,683,714.70 บาท กำไร 134,791.52 บาท, ปี 2563 มีรายได้รวม 31,525,589.86 บาท กำไร 11,575,397.83 บาทและปี 2564 มีรายได้รวม 16,659,940.18 บาท ขาดทุน 16,305.97 บาท

น่าติดตามว่า เส้นทางต่อจากนี้ของ Daddy Dough จะเป็นอย่างไร จะกลับมาสร้างชื่อในตลาดโดนัทบ้านเราได้อีกหรือไม่ ซึ่งต้องบอกว่า ณ ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเจ้าตลาดเดิม 3 รายหลักทั้ง Mister Donut, Dunkin และ Krispy Kreme ก็สู้กันดุเดือดแบบไม่มีใครยอมใครอยู่แล้ว

.

อ้างอิง 

.

daddydough

thairath

donut

mgronline

misterdonut