‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ผู้ปลุกปั้นอาณาจักร CP ให้ยิ่งใหญ่จากการเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม

‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ผู้ปลุกปั้นอาณาจักร CP ให้ยิ่งใหญ่จากการเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม

ย้อนเส้นทางชีวิต ‘เจ้าสัวธนินท์-ธนินท์ เจียรวนนท์’ ผู้สร้างให้ตระกูล ‘เจียรวนนท์’ และอาณาจักรเครือซีพีให้ยิ่งใหญ่ จากการเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม และทำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

  • ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ หรือ ‘เจี่ย ก๊กมิ้น’ เป็นบุตรชายคนที่ 4 จากพี่น้องทั้งหมด 5 คน โดยเขาเป็นผู้สืบทอดเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ธุรกิจของตระกูล
  • ปัจจุบันซีพี เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเราตั้งแต่ตื่นจนนอน มีการลงทุนทั้งในและหลายประเทศทั่วโลก
  • ตระกูลเจียรวนนท์มีทรัพย์สินกว่า 450,000 ล้านบาท

‘เจียรวนนท์’ เป็นหนึ่งในตระกูลใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในเมืองไทย ด้วยทรัพย์สินความมั่งคั่งกว่า 450,000 ล้านบาท พร้อม ‘อาณาจักรธุรกิจ’ CP Group ที่มีธุรกิจครอบคลุมการใช้ชีวิตของพวกเราตั้งแต่ตื่นยันนอน รวมถึงมีการลงทุนครอบคลุมหลายประเทศทั่วโลก

แน่นอนว่า ผู้สร้างความยิ่งใหญ่และความสำเร็จให้กับตระกูลนี้ ก็คือ ‘เจ้าสัวธนินท์-ธนินท์ เจียรวนนท์’ บุตรชายคนที่ 4 ซึ่งได้ขึ้นมาคุมบังเหียนแม้ไม่ได้เป็นบุตรชายคนโตของครอบครัวก็ตาม

และคงจะดีไม่น้อยถ้าเราลองมา ‘แกะ’ วิธีคิดของเจ้าสัวธนินท์กัน

ธนินท์ เจียรวนนท์ หรือ ‘เจี่ย ก๊กมิ้น’ เกิดวันที่ 19 เมษายน 2482 เป็นบุตรชายคนที่ 4 ในบรรดาบุตรทั้ง 5 คนของ ‘เจี่ย เอ็กซอ’ โดยครอบครัวของเขาเป็นชาวจีนแต้จิ๋วอพยพมาตั้งรกราก ณ ย่านเยาวราชในเมืองไทย เฉกเช่นเพื่อนร่วมชาตินับล้านช่วงต้นศตวรรษที่ 20

ธุรกิจดั้งเดิมที่ครอบครัวเขาทำอยู่คือขายผลิตภัณธ์เมล็ดพันธุ์ผักต่างๆ ในชื่อว่า ‘ร้านเจริญโภคภัณฑ์’ (หรือชื่อจีนว่า ‘เจียไต๋จึง’) เป็นตึกแถว 2 ชั้น ทำให้ธนินท์คุ้นเคยและซึมซับการทำมาค้าขายมาตั้งแต่เด็ก 

‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ผู้ปลุกปั้นอาณาจักร CP ให้ยิ่งใหญ่จากการเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม

สิ่งหนึ่งที่เขาน่าจะได้สัมผัสมากที่สุดคือ เรื่อง ‘มาตรฐาน’ เพราะพ่อของเขาทำธุรกิจแบบมีมาตรฐานสูงมาโดยตลอด เช่น เมล็ดพันธุ์ที่ร้านต้องมีคุณภาพสูง เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง มีการระบุวันที่หมดอายุลงบนบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และถ้าหมดอายุแล้ว ลูกค้านำกลับมาเปลี่ยนใหม่ได้โดยไม่มีการชาร์จเพิ่ม

ธนินท์ศึกษาเล่าเรียนชั้นประถมในไทย ก่อนไปต่อมัธยมฯ ที่ซัวเถาในจีน และไปจบจากสถาบันฮ่องกงวิทยาลัยด้านพาณิชยกรรมที่ฮ่องกง

หลังจบจากฮ่องกงกลับมาไทยในวัย 19 ปี เริ่มงานแรกในตำแหน่งแคชเชียร์ ไม่กี่ปีหลังจากนั้น เขามีโอกาสได้ไปทำงานที่สหกรณ์ค้าไข่แห่งประเทศไทย และที่บริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์ เป็นการเปิดโลกสู่อุตสาหกรรมไข่ไก่และเกษตรกรรม 

 

ลงมือทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

เมื่อรอบรู้โลกกว้างและเทคโนโลยีล่าสุด เขากลับมาช่วยธุรกิจที่บ้านในวัย 25 ปี ซึ่งทักษะการอ่านเกมธุรกิจที่ธนินท์มีอย่างโดดเด่นมาแต่ไหนแต่ไรคือ การคิดแบบ ‘ต้นน้ำ-ปลายน้ำ’ ธุรกิจจะแข็งแกร่งได้ต้องครบวงจรนั่นเอง

การคิดแบบครบวงจรในสเกลยิ่งใหญ่นี้เองที่ทำให้จนถึงปัจจุบัน เขาขยายแสนยานุภาพทางธุรกิจไปกว่า 14 กลุ่มธุรกิจย่อยในกว่า 21 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทั้งเกษตรกรรม ค้าปลีก การสื่อสาร ยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ อีกมากมาย

‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ผู้ปลุกปั้นอาณาจักร CP ให้ยิ่งใหญ่จากการเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม

ธุรกิจแรกที่ทำเกี่ยวข้องกับ ‘ไก่’ ต้องเข้าใจก่อนว่า สมัยก่อนเนื้อไก่ยังเป็นของกินราคาแพง ธนินท์คิดหาวิธีออกแบบห่วงโซาการผลิตที่ลดต้นทุนได้มหาศาลจนทำให้ไก่เป็นของกินมวลชนได้สำเร็จ  โดยเขาวาดวิสัยทัศน์ว่าในระยะยาว องค์กรต้องทำแบบครบวงจร 

ไล่ตั้งแต่ผลิตอาหารสัตว์ที่ตนมีธุรกิจครอบครัวที่บ้านอยู่แล้ว คัดเลือกพันธุ์สัตว์ที่โตไวเป็นโรคยาก ด้วยการบุกเบิกใช้ไก่สายพันธุ์ อาร์เบอร์ เอเคอร์ส (Arbor Acres) เเละเริ่มใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงไก่เนื้อในโรงเรือนเป็นครั้งเเรกในประเทศไทย

ทั้งสายพันธุ์ไก่และเทคโนโลยีโรงเรือนมาจากบริษัท Arbor Acres จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเทคโนโลยีดีที่สุดในขณะนั้น นอกจากนี้ ดูเรื่องระบบการเลี้ยงสัตว์ให้มีมาตรฐานแบบอุตสากรรม จนไปถึงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม การตลาดสร้างแบรนด์ การกระจายสินค้าจนถึงมือผู้บริโภคในที่สุด

ในเชิงธุรกิจการที่บริษัทหนึ่งทำแบบครบวงจรเป็นการตัดพ่อค้าคนกลางและช่วยควบคุมต้นทุนไม่ได้สูงไปในตัว ประเด็นนี้ถกเถียงกันได้เพราะอาจนำไปสู่การผูกขาดทางธุรกิจหรือทุนนิยมที่แข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม แต่ในอีกมุมนึง ก็เป็นการคิดวิเคราะห์รอบด้านในระดับอุตสาหกรรม (Industry analysis) ที่เห็นถึงความเชื่อมโยงของซัพพลายเชนที่ซับซ้อน

 

เห็นในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม

ถ้าย้อนกลับไปมองในยุคสมัยก่อน ธนินท์มีความเด็ดเดี่ยวและวิสัยทัศน์ในการลงมือทำสิ่งที่สุ่มเสี่ยง เพราะหลายอย่างเป็นของใหม่ ยังไม่มีบทเรียนให้เดินรอยตาม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ‘ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น’  (7-Eleven)

ธนินท์ไปโน้มน้าวใจเจ้าของ 7-Eleven เพื่อขอสิทธิ์มาเปิดและบริหารเองในเมืองไทย เซเว่นอีเลฟเว่นแห่งแรกในไทยเปิดตัวตั้งแต่ปี 2532 ภายใต้การบริหารของ บริษัท ซีพี ออล จำกัด(มหาชน) (เดิมคือ ซีพี เซเว่น-อีเลฟเว่น) เปิดสาขาแรกที่ย่านพัฒนพงษ์ ในคอนเซปต์ ‘ใกล้ แต่ไม่เคยปิด’

เหตุผลที่เลือกสาขาแรกที่นี้ เพราะเป็นทำเลตอบโจทย์ของการเปิด 24 ชั่วโมง โดยกลางวันมีกลุ่มคนออฟฟิส , โรงพยาบาล , โรงเรียน ฯลฯ  ขณะที่กลางคืน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของนักคนต่างชาติที่ส่วนใหญ่รู้จักและคุ้นเคยกับร้าน 7-Eleven อยู่แล้ว

การลงทุนครั้งนี้ของเขา ถือเป็นการวางรากฐานในระยะยาวมาก เพราะสมัยก่อนสาขายังน้อยไม่ครอบคลุม สินค้าในร้านก็ยังไม่หลากหลายพอ แถมสมัยก่อนคนยังซื้อจากร้านขายของชำและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าของโดยตรง เป็นอีกความท้าทายในการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คน

7-Eleven ต้องใช้เวลานับทศวรรษกว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้สำเร็จและกลายเป็นปัจจัยสี่ในชีวิตประจำวันของพวกเราไปแล้วในปัจจุบัน

เรื่องนี้ยังสอดคล้องกับการคิดแบบครบวงจร เพราะเมื่อมีหน้าร้านที่พบเจอผู้บริโภคโดยตรง ก็สามารถเสิร์ฟผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ในบริษัทได้ และในยุคปัจจุบันบริษัทยังได้ ‘ข้อมูล’ จากพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าเช่นกัน

อย่างที่เราพอจะสังเกตได้แล้ว เริ่มมี 7-Eleven สาขาใหม่ๆ ที่ซื้อที่ดินหน้าร้านพร้อม ‘ที่จอดรถ’ ขนาดใหญ่ คาดว่าเตรียมตัวรองรับการทำเป็น ‘สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า’ นั่นเองซึ่งจะมาดิสรัปธุรกิจปั๊มน้ำมันต่อไป

 

สากลนิยมก้าวสู่ตลาดโลก

ธนินท์ไม่ได้จำกัดว่าตัวเองเป็นคนไทย รากเหง้าจีน ทำธุรกิจแค่ในตลาดไทยหรือในภูมิภาค แต่มองในระดับ ‘โลก’ มานานแล้ว ตลาดอยู่ทั่วโลก วัตถุดิบอยู่ทั่วโลก คนเก่งอยู่ทั่วโลก 

ตั้งแต่ไหนแต่ไร เขาเป็นคนแรกๆ ที่นำเข้าเทคโนโลยีการเกษตรชั้นสูงมาจากสหรัฐอเมริกา เครือ CP เองก็ดำเนินธุรกิจอยู่ทั่วโลก ในปี 2522 เป็นบริษัทต่างชาติเจ้าแรกที่เข้าไปทำธุรกิจในจีนในวันที่พึ่งเปิดประเทศ (หลักฐานคือใบอนุญาตประกอบธุรกิจหมายเลข 0001) และบริษัทยังโอบกอดคนเก่งจากทั่วโลกที่พร้อมมาทำงานในเครือ

‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ผู้ปลุกปั้นอาณาจักร CP ให้ยิ่งใหญ่จากการเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม

เราจะเห็นว่าแนวคิดหลายอย่างของธนินท์ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เมื่อคิดจะทำแบบครบวงจร ก็ต้องคิดการใหญ่ คิดการใหญ่ก็ต้องมองในสเกลระดับโลก

 

เก่งคน

เมื่อเราได้ขึ้นเป็นหัวหน้าและเติบโตในหน้าที่การงานถึงจุดหนึ่ง เราจะพบว่าทักษะที่สำคัญกว่าพัฒนาตัวเองคือการ ‘พัฒนาผู้คน’

ธนินท์มีคุณสมบัติการปั้นและมองคนออก โดยเขาจะมอบหมายงานสำคัญให้คนเก่งทำ ให้อำนาจการตัดสินใจ มองว่าเป็นดั่งค่าเข้าคอร์สเรียนถ้าผิดพลาดล้มเหลว ขณะที่ตอบแทนด้วยรางวัลเมื่อทำสำเร็จ

เขายังแสดงทัศนคติการบริหารผลประโยชน์ที่น่าสนใจ กล่าวคือ เขาจะโฟกัสผลประโยชน์ที่ตัวสมาชิกในทีมและเพื่อนร่วมงานอื่นๆ ในองค์กรเสียก่อน พวกเค้าต้องเป็นคนได้ก่อน ทุกคนต้องได้รับการสนับสนุน เพราะเมื่อประสบความสำเร็จ ตัวของเค้าก็จะได้รับเช่นกันในที่สุด

ในส่วนนี้เชื่อมโยงถึงการก่อตั้ง ‘สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์’ ในปี 2007 ที่เน้นการสอนและปฏิบัติจริงในด้านธุรกิจค้าปลีก นักศึกษาทุกคนยังมีโอกาสร่วมทำงานกับองค์กรหลังเรียนจบต่อได้ทันที

รวมถึงการก่อตั้ง ‘สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์’ (CP Leadership Institute) ในปี 2550 เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมสำหรับเหล่าผู้บริหารขององค์กรโดยเฉพาะ นี่เป็นพื้นที่ที่ปั้นผู้บริหารหน้าใหม่ให้มาพัฒนาองค์กรต่อไป

จะว่าไปแล้ว ในฐานะ ‘ผู้นำองค์กร’ ใครที่เก่งเรื่องคน พัฒนาคนอื่นได้ อาจจะเป็นทักษะที่สำคัญที่สุด

 

ความสำเร็จดีใจได้แค่วันเดียว

คติการทำงานหนึ่งของธนินท์ที่น่าขบคิดคือ เมื่อเกิดความสำเร็จขึ้น เขาจะให้เวลาฉลองกับมันแค่วันเดียว ก่อนที่จะวันต่อมาจะเตรียมตัวกลับมาพร้อมทำงานใหม่ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

แน่นอนว่า นี่เป็นคำเปรียบเปรยที่หมายถึง ฉลองความสำเร็จในระยะสั้นๆ ก่อนกลับมาลุยงานโดยไม่ประมาท และในมุมกลับกัน หากเกิดความผิดพลาดล้มเหลว ก็ขอเวลาให้ได้ร้องไห้เสียใจแค่วันเดียว วันต่อมาต้องพร้อมลุกขึ้นสู้ใหม่

ข้อคิดนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ในแง่ของความพึงพอใจในชีวิต แต่ถ้าเรามองอีกมุมนึง มันช่วยลดอีโก้ ลดอัตตา ลดการยึดติดกับความสำเร็จในอดีต ซึ่งเกิดขึ้นและจบลงไปแล้ว แถมอาจไม่เกี่ยวข้องหรือสลักสำคัญกับปัจจุบันและอนาคตอีกต่อไป จะว่าไปแล้ว 

แนวคิดนี้มีความยืดหยุ่นสูง (Resilient mindset) และสอดคล้องกับอัตราเร่งของโลกธุรกิจปัจจุบันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางอุตสาหกรรมไม่ใช่ในระดับปีอีกต่อไปแล้ว แต่อาจคุยกันในระดับเดือน สัปดาห์ วัน หรือแม้แต่นาที

 

เพราะไม่รู้จึงเป็นนักเรียน

อีกหนึ่งทัศนคติการทำงานที่น่าเอาอย่างของธนินท์คือ การน้อมรับใน ‘ความไม่รู้’ ของตัวเอง ตนไม่ได้เก่งไปซะทุกเรื่อง และพร้อมเรียนรู้จากคนที่รู้จริงเสมอ โดยจะสมาทานว่าตัวเองเป็นเหมือน ‘นักเรียน’ คอยร่ำเรียนและสอบถามจากคนที่เก่งกว่าโดยยกสถานะให้เป็นดั่ง ‘อาจารย์’ 

การมองว่าตัวเองเป็นนักเรียน เกิดขึ้นพร้อมกับอีกสถานะของตัวเองที่เป็นอภิมหาเศรษฐีและประสบความสำเร็จในหลายธุรกิจแล้ว โดยมีทัศนคติที่พร้อมเปิดรับการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอด

จึงไม่แปลกที่วันหน้าเราจะได้เห็นธนินท์นำพาเครือซีพีขยายอาณาจักรให้กว้างใหญ่กว่าที่เป็นอยู่ 

.

ภาพ : CP 

.

อ้างอิง

.

cpgroupglobal

forbes

thairath

thansettakij

หนังสือความสำเร็จดีใจได้แค่วันเดียว