ชีวิต ‘พาที สารสิน’ แห่งตระกูลเก่าแก่ กับภาพจำผู้บริหารสายการบิน และการหวนคืนสู่วงการ

ชีวิต ‘พาที สารสิน’ แห่งตระกูลเก่าแก่ กับภาพจำผู้บริหารสายการบิน และการหวนคืนสู่วงการ

‘พาที สารสิน’ ผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรงที่หลายคนคุ้นเคยกับภาพจำผู้บริหารสายการบิน นกแอร์ เขามาจากสายตระกูลเก่าแก่ เขาโบกมือลาธุรกิจสายการบินไปสักระยะ ก่อนประกาศหวนคืนสู่วงการอีกครั้ง

  • พาที สารสิน ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงที่คนติดกับภาพจำ ผู้บริหารสายการบิน นกแอร์ มาจากสายตระกูลเก่าแก่ที่ทรงอิทธิพลด้านเศรษฐกิจและการเมือง
  • ก่อนทำงานในธุรกิจสายการบิน เขาลุยงานด้านโฆษณามาก่อน 
  • เมื่อถึงเวลาหนึ่ง เขาโบกมือลาตำแหน่งในงานธุรกิจสายการบิน ก่อนประกาศกลับมาสู่วงการอีกครั้ง

ถ้าพูดถึง ‘ผู้บริหาร’ ที่เติบโต มีชื่อเสียง และกลายเป็น ‘ภาพจำ’ ของแบรนด์ ในประเทศนี้ถือว่าไม่ได้มีมากนัก แต่แน่นอนว่าในจำนวนไม่มากนั้น ย่อมมี ‘พาที สารสิน’ จากห้วงเวลาที่เขาเคยดำรงตำแหน่ง ‘ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร’ สายการบินนกแอร์ ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้บริหารไปจนถึง ‘ใบหน้า’ ของแบรนด์ ก่อนจะถอนตัวออกจากนกแอร์ท่ามกลางวิกฤต

ผ่านไปหลายปี ‘พาที สารสิน’ ยังคงโลดแล่นอยู่ในโลกธุรกิจการท่องเที่ยว แต่ไม่มีใครคิดว่า เขาจะกลับเข้ามาจับธุรกิจสายการบินอีก เพราะน่าจะ ‘เข็ด’ จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่เขาเริ่มส่งสัญญาณการกลับมาเข้ามาสู่โลกการบินอีกครั้ง บทความนี้จะเล่าถึงเส้นทางชีวิตของ ‘พาที สารสิน’ หนุ่มตระกูลสารสินผู้เกิดจากสายการบินและเลือกกลับมาบนเส้นทางที่เขาหันหลังจากไปอีกครั้ง

 

เกิดในตระกูลสารสิน เติบโตนอกประเทศไทย

‘พาที สารสิน’ ที่จะมีอายุครบ 60 ปีเต็มในปีนี้ (2566) เป็นบุตรชายคนเดียวของ ‘อาสา สารสิน’ อดีตราชเลขาธิการในพระองค์ในรัชกาลที่ 9 และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน กับ ท่านผู้หญิง ‘สุจิตคุณ สารสิน’ หรือราชสกุลเดิมกิติยากร ธิดาในหม่อมเจ้าขจรจบกิตติคุณ กิติยากร กับหม่อมราชวงศ์วิจิตรโฉม ชยางกูร

‘ตระกูลสารสิน’ เป็นตระกูลนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน เจ้าของธุรกิจ ‘บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด’ ที่ย้ายเข้ามาในไทยราวรัชกาลที่ 3 ตระกูลประสบความสำเร็จทั้งทางด้านธุรกิจและการเข้ารับราชการ โดยนับตั้งแต่ต้นตระกูลลงมามีสมาชิกตระกูลหลายคนที่เคยเข้ารับราชการในตำแหน่งสำคัญ

ต้นตระกูลสารสิน คือ ‘พระยาสารสินสวามิภักดิ์’ บิดาของ ‘พจน์ สารสิน’ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของไทย ปู่ของ ‘อาสา สารสิน’ อดีตราชเลขาธิการ และทวดของ ‘พาที สารสิน’

ในวัยเด็ก ‘พาที สารสิน’ ถูกส่งไปเรียนนอกประเทศเช่นเดียวกันกับพ่อและหลาย ๆ คนในตระกูล เขาเรียนชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนคิงส์สกูล นครแคนเทอร์เบอรี มณฑลเคนต์ ประเทศอังกฤษ ก่อนย้ายไปเรียนระดับปริญญาตรี ในสาขาบริหารธุรกิจและวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยคลาร์ก รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาถึงระดับปริญญาโททางด้านสื่อสารมวลชน สาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ จากมหาวิทยาลัยอเมริกัน กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

ดังนั้น เราจะเรียกว่า ‘พาที สารสิน’ มาจากตระกูลนักธุรกิจที่ทรงอิทธิพลทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองไทย เติบโตและรับการศึกษาในต่างประเทศมาโดยตลอด

 

เริ่มชีวิตการทำงานในสายโฆษณา ขึ้นเป็น CEO ด้วยวัย 31 ปี

หลังเรียนจบ ‘พาที’ ไม่ได้เริ่มต้นชีวิตในสายงานราชการเช่นเดียวกับผู้เป็นพ่อและไม่ได้เริ่มต้นงานในสายธุรกิจการบินในทันที แต่เขาโลดแล่นอยู่ในสายงาน ‘โฆษณา’ มาก่อน โดยเคยสมัครเข้าทำงานใน ‘Lintas’ บริษัทโฆษณาระดับโลกในแผนกวิจัยจนได้ขยับขึ้นเป็นผู้จัดการแผนก แล้วถึงได้ลาออกไปเรียนต่อปริญญาโท

หลังเรียนจนได้ทำงานด้านครีเอทีฟและโปรดักชันใน NBC อีก 2 ปี จึงกลับไป ‘Lintas’ อีกครั้ง แต่เพราะตอนนั้นเขามีอายุเพียงแค่ 25 ปี แต่กลับได้รับการเสนอเงินเดือนกว่า 3 แสนบาท พร้อมตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่ต้องดูแลคนจำนวนมาก จึงทำให้เขาตัดสินใจกลับไทยมาเริ่มต้นชีวิตในวงการโฆษณาไทยด้วยเงินเดือนราว 3 หมื่น

เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายครีเอทีฟ (Creative Director) บริษัท สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด และคณะกรรมการบริหาร บริษัท สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด (ต่อมาควบรวมกับ Hakuhodo เปลี่ยนชื่อเป็น Spa-Hakuhodo) ในปี 2532 ด้วยวัยเพียง 26 ปี

ก่อนขยับมารับตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป บริษัท มัลติมีเดีย ออร์บิท จำกัดในอีก 2 ปีต่อมา และเริ่มต้นรับรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบทส์ แอดเวอร์ไทซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (ปัจจุบันใช้ชื่อ Bates Asia (Thailand)) และขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารในวัย 29 ปี ตลอดหลายปีในวงการโฆษณา เขาได้สร้างผลงานที่โดดเด่นมากมาย ก่อนจะใช้เวลาอีกหลายปีต่อจากนั้นคร่ำหวอดอยู่ในวงการการบิน

 

ชีวิตเปลี่ยนไปตลอดกาล กัปตันดุ๋งของเหล่านก

ตลอดชีวิตของพวกเราทุกคนต่างก็มี ‘จุดเปลี่ยน’ ใหญ่ ๆ ที่คงไม่มีวันลืมกันทั้งนั้น สำหรับ ‘พาที สารสิน’ การเริ่มต้นรุกเข้าสู่ธุรกิจสายการบิน โดยการก่อตั้ง ‘นกแอร์’ สายการบินต้นทุนต่ำในเครือการบินไทยคงเป็นจุดเปลี่ยนที่ใหญ่ที่สุดจุดหนึ่งในชีวิตเขา

จุดเริ่มต้นมาจากการชักชวนของเพื่อนและ ‘ปิยะ ยอดมณี’ อดีตซีอีโอของสายการบินนกแอร์ที่ในขณะนั้นอยู่ในการบินไทยที่ต้องการจะเริ่มต้นทำสายการบินต้นทุนต่ำ ก่อนนำเสนอแผนให้กับ ‘กนก อภิรดี’ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของการบินไทยในเวลานั้นและได้รับการอนุมัติ

พาที สารสิน เริ่มต้นก่อร่างสร้างนกแอร์ในปี 2547 ณ เวลานั้นเขามีอายุ 41 ปี ด้วยตำแหน่งทางการตลาดที่แปลกใหม่และภาพลักษณ์ที่ไม่ซ้ำใคร อย่างการบริการหลังการขาย การดูแลพนักงาน การเข้าถึงลูกค้าผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ ‘นกแอร์’ สายการบินสีเหลือง เป็นมิตร อบอุ่น ลูกเรือทุกคนจะมีชื่อขึ้นต้นด้วย ‘นก’ ทำให้เข้าไปอยู่ในการรับรู้ของคนไทยอย่างรวดเร็ว

โดย ‘พาที สารสิน’ ในเวลานั้นโดดเด่นตีคู่มากับ ‘นกแอร์’ ด้วยภาพลักษณ์ของซีอีโอหนุ่มรุ่นใหม่ ไฟแรง กล้าคิดนอกกรอบ สามารถดึงดูดความสนใจจากคนรุ่นใหม่และรุ่นก่อนหน้าจำนวนมาก

 

สารพัดวิกฤต 13 ปีกับการถอนตัว

อย่างที่รู้กันดีว่า ‘ธุรกิจสายการบิน’ ไม่ใช่ธุรกิจที่ง่าย ในระหว่างที่เขาบริหารสายการบินนกแอร์กว่า 13 ปี เกิดวิกฤตขึ้นมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สึนามิในเดือน ธ.ค. 2547 หลังสายการบินนกแอร์เปิดได้ไม่นาน เหตุการณ์การประท้วงปิดสนามบินในปี 2549 เหตุการณ์เกือบล้มละลายในช่วงปลายปี 2551 เพราะวิกฤตต้นทุนจากราคาน้ำมัน ไปจนถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 นกแอร์ต้องย้ายฐานไปสุวรรณภูมิ

แต่เหตุการณ์ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการทำงานของ ‘นกแอร์’ อย่างมาก คือ เหตุการณ์ระบบเช็กอินล่มในปี 2558 ทำให้เกิดความล่าช้าในการเช็กอินและเกิดความไม่สงบในอาคารผู้โดยสารขาออกของสนามบิน พาที ได้ส่งจดหมายขอโทษด้วยตนเองและมอบตั๋วเดินทางภายในประเทศฟรีให้กับผู้โดยสาร

และเหตุการณ์ประท้วงของนักบินนกแอร์ปี 2559 ทำให้สายการบินนกแอร์ต้องยกเลิกเที่ยวบินกว่า 9 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารได้รับผลกระทบหลายร้อยคน รวมถึงมีการเปิดเผยการรับมือปัญหาของ ‘พาที’ ต่อกลุ่มนักบินที่มีการโต้เถียงกัน และปัญหาดูแลบุคลากร สุดท้ายจบลงด้วยการไล่ออก 1 คน และพักงาน 2 คน

สุดท้าย คือเหตุการณ์ขาดทุนต่อเนื่องหลายปี เพราะผลประกอบการของสายการบินนกแอร์ในปี 2557- 2559 ขาดทุนต่อเนื่องทุกปี รวม 3 ปี ขาดทุนสะสมกว่า 3,307 ล้านบาท ทำให้ ‘การบินไทย’ เตรียมปรับโครงสร้างบริหาร 3 บริษัทในเครือ รวมถึงนกแอร์ นำมาซึ่งข่าวลือถึงการเปลี่ยนแปลงซีอีโอในเวลานั้น

จนกระทั่งในช่วงกลางเดือน ก.ย. 2560 นกแอร์ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ‘พาที สารสิน’ ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ โดยได้แต่งตั้ง ‘ปิยะ ยอดมณี’ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทน

สิ้นสุดเส้นทางของ ‘พาที สารสิน’ กับนกแอร์ลงตั้งแต่นั้นมา

พาที สารสิน กับกีตาร์ที่สะสมไว้ แฟ้มภาพจาก NATION PHOTO

ยังอยู่ในวงการท่องเที่ยว เทคออฟอีกครั้งกลับสู่สายการบิน

หลังลงจากตำแหน่งซีอีโอของนกแอร์และเงียบหายไปกว่าปี ‘พาที สารสิน’ ก็กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับบริษัทเรียลลี เรียลลี คูล (Really Really Cool) บริษัทตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์ในปี 2561 โดยใช้ทุน เครือข่าย และความหลงใหลของตัวเอง มาชูความโดดเด่นทางด้านเทคโนโลยี พร้อมเป้าหมายจะไปสู่ระดับเดียวกับเหล่า Global Platform ชั้นนำ

“ความสำเร็จต่าง ๆ ที่เราเคยทำมาในอดีต เป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้ว แต่เราเชื่อในความสามารถของเราว่าเราจะสามารถสร้างความสำเร็จหน้าใหม่ ๆ ให้กับตัวเองได้ เพราะที่ผ่านมาทุกอย่างที่เราทำสำเร็จมาได้นั้น เราเริ่มมาตั้งแต่จุดที่เป็นศูนย์ จุดที่ยังไม่มีอะไร

ดังนั้น แม้เราจะอยู่ใน Travel Ecosystem เช่นเดียวกับธุรกิจสายการบิน แต่เราจะไม่เข้าไปยุ่งหรือใช้ประโยชน์ใด ๆ จากสิ่งเหล่านั้น นอกจากการเป็นพันธมิตรร่วมกันใน Destination ต่าง ๆ ที่เราขยายเพิ่มเติมออกไป และเราเชื่อว่าธุรกิจใหม่นี้มีศักยภาพในการเติบโต และจะเป็นอีกหนึ่ง Success Story ที่จะเกิดขึ้นทั้งกับตัวเรา และต่อประเทศไทยได้อีกครั้ง”

คือสิ่งที่ ‘พาที สารสิน’ ให้สัมภาษณ์กับ Brand Buffet ในเวลานั้น

ไม่มีใครคิดว่าเขาจะกลับเข้าสู่ธุรกิจสายการบินอีกครั้ง จนตอนที่เขาได้โพสต์ลงใน Facebook ส่วนตัวว่า

“เดี๋ยวเรามาพูดถึงสายการบินใหม่ brand ใหม่กันดีไหม น่าจะถึงเวลาแล้ว”

ก่อนเขาจะให้สัมภาษณ์ถึงรายละเอียดกับ ‘ประชาชาติธุรกิจ’ ว่า เขาร่วมกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของประเทศไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ลงทุนเตรียมเปิดสายการบินใหม่ เป็นสายการบินฟูลเซอร์วิส เน้นทำการบินระยะไกล (long haul) ด้วยเครื่องบินแบบลำตัวกว้างในตลาดระยะไกลอย่างยุโรป อเมริกา จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฯลฯ ด้วยงบลงทุนหลักพันล้านบาท

เพราะเขาเชื่อว่าในตลาดนี้ ผู้เล่นรายใหญ่ยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการบินไทย, เอมิเรตส์ แอร์ไลน์, กาตาร์แอร์เวย์ส, ลุฟท์ฮันซ่า แอร์ไลน์ หรือบริติช แอร์เวย์ส ทำให้มีช่องว่างในตลาดที่มีศักยภาพนี้เหลืออยู่ เขาเชื่อมั่นว่า แม้ตำแหน่งทางการตลาดจะอยู่ระดับเดียวกับการบินไทย แต่หลาย ๆ อย่างจะดีกว่า โดยเฉพาะการตลาดที่สดใหม่และมีสีสัน พร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือน ต.ค. 2566

โดย ‘พาที สารสิน’ บอกว่า เขาจะนั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ด้วยตนเอง พร้อมตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปีจะเป็นสายการบินที่ดีที่สุดในโลกด้านนวัตกรรมและครีเอทีฟ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทย

แม้ ‘พาที’ จะยืนยันแล้วว่า เตรียมความพร้อมใกล้เสร็จแล้ว เหลือเพียงแค่รายละเอียดต้นทุนราคาและเส้นทางการบินเท่านั้น ทำให้เชื่อว่าจะสามารถเปิดตัวทางการตลาดได้ในไตรมาสแรกของปีนี้ แต่หลายสายต่างยังคงรอดูอยู่ว่า การกลับมาอีกครั้งของ ‘พาที สารสิน’ ในธุรกิจสายการบินจะเป็นอย่างไร เขาจะเทคออฟได้สวยงามมากน้อยแค่ไหน

อัปเดตข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2566: ช่วงเช้าของวันที่ 22 มี.ค. 2566 พาที สารสิน แถลงข่าวเปิดตัวสายการบิน Really Cool Airlines โดยระบุว่าจะเริ่มต้นบินในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน สายการบินมีสโลแกน We Fly the Future เส้นทางบินที่จะเปิดเริ่มต้นช่วงแรก คือญี่ปุ่น รวมถึงเส้นทางอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย

สายการบินเน้นเปิดเส้นทางบินระยะไกล (Long Haul) เช่น เส้นทางโซนยุโรปและโอเชียเนีย อย่างออสเตรเลีย ลอนดอน ปารีส และอื่น ๆ

 

เรื่อง: The People

ภาพ: แฟ้มภาพ จาก NATION PHOTO

อ้างอิง:

กรุงเทพธุรกิจ

Kapook

Voice TV

positioningmag.com

มติชน 

ประชาชาติ 

mgronline.com 

Brand Buffet 

Marketingoops 

info.gotomanager.com 

kanchanapisek.or.th 

thainamthip.co.th