'วราภรณ์ สุธัญญา’ แม่บ้านที่อยากให้ลูกได้กินของดี สู่ธุรกิจพันล้าน ‘วราภรณ์ ซาลาเปา’

'วราภรณ์ สุธัญญา’ แม่บ้านที่อยากให้ลูกได้กินของดี สู่ธุรกิจพันล้าน ‘วราภรณ์ ซาลาเปา’

ใครจะคิดว่า จากการที่แม่ลงมือทำซาลาเปาตามสูตรที่ได้สืบทอดกันมา เพื่อให้ลูก ๆ ได้รับประทานของโปรด จะเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจพันล้านอย่าง ‘วราภรณ์ ซาลาเปา’

  • ‘วราภรณ์ สุธัญญา’ เป็นแม่บ้านที่อยากให้ลูก ๆ ของเธอได้กินของดีของอร่อย
  • จุดเริ่มต้นของ ‘วราภรณ์ ซาลาเปา’ ตอนแรกทำรับประทานกันเองในครอบครัว สู่เปิดหน้าร้านเล็ก ๆ
  • ปัจจุบันมีสาขากว่า 100 แห่ง มีรายได้หลักพันล้านบาท

จากทำรับประทานเองภายในครอบครัว เพราะ ‘วราภรณ์ สุธัญญา’ อยากให้ลูก ๆ ได้รับประทานของโปรดอย่างซาลาเปาที่มีรสชาติอร่อย ทำจากของคุณภาพ ซึ่งต่อมาจุดประกายให้เกิดเป็นธุรกิจ ‘วราภรณ์ ซาลาเปา’ ที่ปัจจุบันมีรายได้แตะหลักพันล้านบาท

จุดเริ่มต้นของ วราภรณ์ ซาลาเปา เกิดขึ้นจาก ‘วราภรณ์ สุธัญญา’ เห็นเวลาที่สามีของเธอไปรับลูก ๆ กลับมาจากโรงเรียน มักจะซื้อซาลาเปากลับมาด้วย ทำให้เกิดความคิดในใจว่า เคยเห็นแม่ของเธอทำซาลาเปาอยู่ แล้วทำไมเธอถึงไม่ทำให้ลูก ๆ รับประทานเอง

ด้วยความคิดนี้ เธอจึงได้ลงมือทำซาลาเปาตามสูตรที่แม่เคยทำ โดยคัดสรรวัตถุดิบดีมีคุณภาพ ไม่ใส่ผงชูรส และซาลาเปาที่ทำออกมาต้องลูกใหญ่อัดแน่นไปด้วยไส้ ซึ่งเมื่อลูก ๆ ของเธอได้ชิมแล้วต่างติดใจและบอกให้ทำเยอะ ๆ

\'วราภรณ์ สุธัญญา’ แม่บ้านที่อยากให้ลูกได้กินของดี สู่ธุรกิจพันล้าน ‘วราภรณ์ ซาลาเปา’ แต่ตัววราภรณ์เองไม่สามารถทำบ่อยได้ เนื่องจากมีต้นทุนสูงกว่าค่ากับข้าวในแต่ละวันเสียอีก จนมีคนมาบอกให้ทำขาย เพื่อเอากำไรมาทำซาลาเปาให้ลูกได้รับประทาน

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของวราภรณ์ ซาลาเปา จากที่ทำรับประทานกันภายในครอบครัว ณ บ้านย่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สู่การเปิดหน้าร้านใกล้วังนางเลิ้งในปี 2535

โดยการทำซาลาเปาขายของเธอ ยึดหลักการที่ว่า “เน้นคุณภาพ ทำให้ลูกรับประทานอย่างไร ก็ทำขายแบบนั้น” ซึ่งการใช้ของดีมีคุณภาพ วราภรณ์บอกว่า นอกจากจะได้รสชาติอร่อยแล้ว ยังทำให้เก็บได้นานไม่เสียง่าย และด้วยหลักการนี้ ทำให้ซาลาเปาของเธอเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า ขายดิบขายดีเป็นอย่างมาก

ส่วนที่มาของชื่อร้านก็มาจากเมื่อลูกค้าโทร. มาสอบถามหรือสั่งซื้อแล้วมักถามว่า พูดอยู่กับใคร ซึ่งเธอก็ตอบว่า “พูดกับวราภรณ์ค่ะ”

เมื่อกิจการไปได้ดี ลูก ๆ ของเธอเห็นแม่ทำงานหนักเกินไป จึงเข้ามาสานต่อธุรกิจ และเป็นจุดที่ทำให้วราภรณ์ ซาลาเปา สามารถเติบโตขยายสาขาได้รวดเร็ว โดยเป้าหมายต้องการจะเป็น ‘แมคโดนัลด์จีน’ เพราะเอาเข้าจริงซาลาเปาเป็นอะไรที่รับประทานได้ง่าย และสะดวกแม้กระทั่งระหว่างเดินทาง ไม่ต่างไปจากฟาสต์ฟู้ดเลย

ปัจจุบันวราภรณ์ ซาลาเปา มีการบริหารภายใต้รูปแบบของ ‘บริษัท วราภรณ์ สมพงษ์ ฟู้ดส์ จำกัด’ จดทะเบียนเมื่อปี 2547 ด้วยทุนจดทะเบียน 45 ล้านบาท มีสาขากว่า 100 สาขา กระจายอยู่ทั้งในศูนย์การค้าและสแตนด์อะโลน เช่น แหล่งชุมชน, ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ โดยทั้งหมดเป็นร้านที่ทางเจ้าของเป็นผู้ดำเนินการเอง ไม่มีการขายแฟรนไชส์ เพราะต้องการควบคุมคุณภาพ

ส่วนผลประกอบการมีรายได้อยู่ในหลักพันล้านบาท และมีกำไรกว่าร้อยล้านบาท โดยจากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า

ปี 2562 มีรายได้รวม 1,025 ล้านบาท กำไร 108 ล้านบาท

ปี 2563 มีรายได้รวม 1,142 ล้านบาท กำไร 114 ล้านบาท

ปี 2564 มีรายได้รวม 1,084 ล้านบาท กำไร 106 ล้านบาท

\'วราภรณ์ สุธัญญา’ แม่บ้านที่อยากให้ลูกได้กินของดี สู่ธุรกิจพันล้าน ‘วราภรณ์ ซาลาเปา’

การเติบโตที่เกิดขึ้น หลัก ๆ นอกจากการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานซึ่งสินค้าทั้งหมดจะทำจากครัวกลางแล้ว วราภรณ์  ซาลาเปายังมีการปรับตัวให้ทันยุคทันสมัยทันการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างของการออกสินค้าให้มีความหลากหลายมากกว่าซาลาเปา ตามกระแสความต้องการของผู้บริโภค อาทิ ให้บริการอาหารจานเดียว เช่น ข้าวหมูแดง ข้าวไก่อบ ฯลฯ และเพิ่มเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่เน้นความเป็นไทย 

ตลอดจนพยายามพัฒนาบริการใหม่ ๆ อย่างกรณีการเปิดสาขา Drive-Thru และเปิดบริการเดลิเวอรี่ในบางสาขา เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการได้ง่าย ใช้เวลาไม่มาก ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบของคนยุคปัจจุบัน  

จะเห็นได้ว่า แม้เวลาจะผ่านมา 30 ปี วราภรณ์ ซาลาเปา ก็ยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยวราภรณ์เคยบอกถึงหลักที่ทำให้ประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้ว่ามาจาก ‘สามัคคีคือพลัง’ ซึ่งเป็นคำสอนของพ่อที่เธอยึดถือมาตลอด โดยเฉพาะครอบครัวที่เมื่อมีความสามัคคีแล้ว ทำอะไรก็สามารถไปได้ไกล

และเธอต้องขอขอบคุณลูกค้ากลุ่มเก่าที่ทำให้ได้กลุ่มใหม่ เพราะเป็นคนที่ซื้อไปแจกให้พวกเขาได้ลอง ได้รู้จัก จนกลายมาเป็นลูกค้าของวราภรณ์ ซาลาเปา  

.

ภาพ : วราภรณ์ ซาลาเปา

.

อ้างอิง

.

warapornsalapao

youtube

thaifranchisecenter

marketeeronline