เพิ่ม Thepeople
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
30 ส.ค. 2565 | 16:27 น.
ผิน คิ้วคชา ผู้สร้างสวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ วัย 78 ปี เกิดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2487 เป็นคนไทยเชื้อสายจีน สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลายภาษาจีน จากโรงเรียนสหคุณวิทยา จากนั้นสำเร็จการศึกษาสาขาการบัญชีและกฎหมาย จากโรงเรียนกรุงเทพการบัญชีวิทยาลัย และปริญญาตรีในคณะศิลปศาสตร์ รัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เขาเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่มีลูกทั้งหมด 11 คน ซึ่งธุรกิจหลักที่ครอบครัวทำก็คือ ‘ขายผ้า’ ถือว่าฐานะของครอบครัวในยุคนั้นไม่ได้มีกินมีใช้มากนัก ส่วนเวลาว่าง ๆ พ่อของผิน คิ้วคชา จะเป็นพ่อครัวอยู่ที่บ้านเศรษฐี สิ่งที่ผิน คิ้วคชา มองว่าพ่อของเขาได้เปรียบก็คือ อยู่กับเศรษฐีตลอด ได้ซึมซับความคิด มุมมองของเศรษฐีมาตลอด
จากนั้นพ่อก็นำสิ่งที่พ่อได้ยินมาบ่อย ๆ เรื่องการทำธุรกิจ เรื่องการใช้ชีวิตมาเล่าให้ลูก ๆ ฟัง ซึ่ง ผิน คิ้วคชา เป็นลูกชายคนโต เขาจึงเป็นคนที่พ่อตั้งเป้าไว้มากว่า พี่ชายคนโตสุดในบ้านต้องเลี้ยงน้อง ๆ ต่อได้ในวันที่พ่อไม่อยู่
อยากใกล้ชิดกับเศรษฐีเพราะไม่อยากขายผ้าเหมือนพ่อ
ชิน โสภณพนิช นักธุรกิจ, นักการเงิน-การธนาคารชาวไทยเชื้อสายจีน และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ คือคนที่ ผิน คิ้วคชา ตั้งใจอยากจะไปอยู่ใกล้ชิดกับเขาเพื่ออย่างน้อย ๆ จะได้รับรู้ เข้าใจวิธีคิดของคนรวย และเขาไม่ต้องการขายผ้าเหมือนกับพ่อ
สุดท้ายเขาก็ได้ไปอยู่ด้วยจริง ๆ แต่ด้วยความที่เรียนจบแค่ชั้นประถม แต่ต้องไปแข่งขันกับคนอื่นที่จบการศึกษาสูงกว่า สองสิ่งที่พ่อของ ผิน คิ้วคชา สอนเพื่อให้เศรษฐีสนใจก็คือ 1. ต้องเป็นคนที่ซื่อสัตย์ที่สุด และ 2. ต้องเป็นคนที่ขยันที่สุด
สิ่งที่ผิน คิ้วคชา ทำในตอนนั้นก็คือ หลังจากที่เขาเรียนเสร็จ (รอบดึก) เขามาที่บ้านเศรษฐีอีกครั้งเพื่อตรวจดูความเรียบร้อยทั้งหมดในบ้าน
อยากทำสวนสัตว์แต่ครอบครัวไม่สนับสนุน
จุดเริ่มต้นแรก ๆ ที่มีความคิดอยากทำสวนสัตว์ (ก็คือซาฟารีเวิลด์) ตั้งแต่ในยุคนั้น ผิน คิ้วคชา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ให้เหตุผลว่าเขาอยากพัฒนาสถานที่อะไรสักแห่งที่สร้างความสุขให้กับผู้อื่นได้ และความสุขนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นรายได้ให้กับธุรกิจของเขาได้
ซึ่งก่อนที่จะเปิดเป็นซาฟารีเวิลด์อย่างทุกวันนี้ ผิน คิ้วคชา ได้กว้านซื้อที่แถวมีนบุรี ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าไกลมากและแทบไม่มีใครอยากจะไปแถว ๆ นั้น แต่เขาก็ตัดสินใจซื้อพื้นที่ตรงนั้นเอาไว้ประมาณ 4,700 ไร่ ราคาเฉลี่ยตกไร่ละ 10,000 บาท
ในตอนนั้น ผิน คิ้วคชา วางเป้าหมายที่อยากจะสร้างสวนสัตว์ตั้งแต่แรก แต่ไม่มีใครสนับสนุนแม้แต่คนเดียว เขาพูดว่า “ตอนนั้นแม้แต่ภรรยากับพ่อตาก็ไม่มีใครเห็นด้วยกับผม ที่จะให้ใช้พื้นที่ตรงนั้นเปิดเป็นสวนสัตว์ แต่ผมรู้ว่าผมมีทางออก มีจุดมองเห็นว่าต่อไปธุรกิจนี้มันจะประสบความสำเร็จ ขณะที่ทุกคนก็พูดว่ามันจะเจ๊งแน่นอน
“ลึก ๆ ผมก็คิดว่ามันไม่น่าเจ๊งหรอก (แต่ไม่ได้พูดออกมาเพราะยังไม่ได้ลงมือทำ) เพราะตอนนั้นเราซื้อพื้นที่มาไร่ละ 10,000 บาทเท่านั้นเอง อย่างน้อยมันก็น่าจะขายที่ดินได้ เพราะราคามันขึ้นเรื่อย ๆ”
สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจเปิดซาฟารีเวิลด์ขึ้นบนพื้นที่เกือบ 2,000 ไร่ ขณะที่ครอบครัวก็ยังไม่สนับสนุนให้สร้างสวนสัตว์เหมือนเดิม เวลาผ่านไป 1 ปี มีบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ติดต่อขอซื้อที่ดินตรงนั้นเพื่อนำไปสร้างสนามกอล์ฟ เขาจึงขายที่ดินไปทั้งหมด 1,700 ไร่ ด้วยราคาไร่ละ 900,000 บาท และทำการรื้อสวนสัตว์ที่สร้างไปแล้วออกทั้งหมด
จากนั้นไม่นานก็มีคนอื่นมาติดต่อขอซื้อพื้นที่อีก จนสุดท้าย ผิน คิ้วคชา เหลือที่ดินเพื่อสร้างซาฟารีเวิลด์ประมาณ 500 ไร่ จนปัจจุบันซาฟารีเวิลด์เปิดให้บริการมาแล้ว 34 ปี (แต่ถ้านับตั้งแต่การเริ่มต้นแรก ๆ ก็คือ 40 ปีแล้ว)
สำหรับไอเดียที่ ผิน คิ้วคชา อยากจะทำสวนสัตว์ในเมืองไทยขึ้นมาเพราะว่าต้องการสร้างจุดแลนด์มาร์กบางอย่างสำหรับประเทศไทยให้กับนักท่องเที่ยว
เขามองว่า “เมืองไทยยังไม่มีโปรดักต์ที่เป็นท่องเที่ยวระดับโลก ส่วนใหญ่ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวท้องถิ่นธรรมดา ๆ ผมเลยคิดว่าถ้าจะทำทั้งทีต้องเป็นที่หนึ่งในประเทศไทยเลย จากนั้นผมเลยฟอร์มทีมงานขึ้นมา 12 คนเพื่อไปดูงานรอบโลกอยู่ 2 เดือน
“แรก ๆ ที่สร้างซาฟารีเวิลด์ก็มีเรื่องกังวลอยู่บ้าง เช่น การเลี้ยงเสือ การดูแลสัตว์ เพราะเราเติบโตมาจากสายการเงิน ความรู้เรื่องสัตว์เป็นศูนย์เลย สิ้งที่ย้ำทีมงาน 12 คนก็คือ ให้ศึกษามาอย่างละเอียด เพราะเราไม่อยากเจ๊ง เราลงทุนมาเยอะมากกับซาฟารีเวิลด์”
สิ่งที่ ผิน คิ้วคชา ย้ำอีกเรื่องหนึ่งในระหว่างที่กำลังศึกษาดูงานรอบโลกก็คือ “ทำไมคนที่ทำแลนด์มาร์ก หรือสถานที่เหล่านี้ทำแล้วถึงเจ๊ง อันนี้สำคัญกว่า แล้วค่อยมาดูจุดที่ทำแล้วเขาประสบความสำเร็จมันเป็นอย่างไร
“ผมเสียเงินเพื่อให้ทีมงานไปศึกษาดูงานในสมัยนั้น 10 กว่าล้าน และได้ข้อคิดมา 3 ประโยคก็คือ High Product (คือคุณภาพสินค้า สถานที่ต้องเยี่ยม), High Service (บริการต้องเยี่ยม) และ High Spending (คือเวลาคนเข้ามาแล้วต้องมีจุดจ่ายตังค์เยอะ จ่ายเงินตรงบัตรผ่านประตูอย่างเดียวไม่พอ)
คีย์สำคัญที่ ผิน คิ้วคชา พูดก็คือ “ยิ่งเรามีรายได้จากข้างใน ค่ากิน ค่าชอปปิง ค่ากิจกรรม ฯลฯ มากกว่าค่าบัตรเข้า 1 - 2 เท่ายิ่งดี”
ส่วนนโยบายการตั้งราคาบัตรค่าเข้า หรือการขึ้นราคาค่าบัตร ผิน คิ้วคชา มองว่า “4 - 5 ปีเราจะขึ้นราคาทีหนึ่ง แต่จะขึ้นได้คือ โปรดักต์เราต้องดี ต้องมีอะไรใหม่ ๆ เพื่อให้คนซื้อรู้สึกว่าคุ้มค่ามากกว่าราคาแพง เราต้องมีของ ปรับปรุงสวนสัตว์อยู่สม่ำเสมอด้วย”
ขยายแลนด์มาร์กเพื่อสร้างรายได้ให้เมืองไทย
เราจะเห็นสถานที่แห่งความสุขจากผู้สร้าง ผิน คิ้วคชา อีก 2 แห่ง นั่นก็คือ ‘ภูเก็ตแฟนตาซี’ ที่มาในธีมพาร์กด้านวัฒนธรรมของไทย บนพื้นที่ขนาด 150 ไร่ เปิดตัวในปี 2542 โดยจุดเด่นของที่นี่ก็คือ มีการแสดงที่ผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมไทยและเทคนิคพิเศษ แสง สี เสียงที่ทันสมัย ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้บริการที่นี่จะเป็นนักท่องเที่ยวรัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย จีน
ในปี 2545 ผิน คิ้วคชา ได้เริ่มวางโครงสร้างโปรเจกต์ที่ 3 ก็คือ ‘คาร์นิวัลเมจิก’ บนพื้นที่ 92 ไร่ ที่หาดกมลา ภูเก็ต ซึ่งจุดเด่นของที่นี่ก็คือ สวนสนุกรื่นเริงสไตล์ฟันแฟร์ คล้าย ๆ กับงานวัดของไทย (งานโชว์ไฟ) 40 ล้านดวง มากที่สุดในโลก (รองลงมาเป็นที่สหรัฐอเมริกา 12 ล้านดวง) โดยกลุ่มเป้าหมายใหญ่ที่ตั้งใจจะดึงดูดก็คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะในแต่ละโซนจะเป็นการสร้างสรรค์ผลงานจากแรงบันดาลใจ, สิ่งมหัศจรรย์ที่โลกอาจไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ยังคงความมีเอกลักษณ์ของเมืองไทยเอาไว้
“ผมตั้งใจให้คาร์นิวัลเมจิกเป็นแลนด์มาร์กชิ้นใหญ่ของเมืองไทย และที่ลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท เพราะมองว่าในอนาคตน่าจะไม่มีคู่แข่งแล้ว ซึ่งแนวคิดสถานที่นี้เกิดจากลูกชาย ‘กิตติกร คิ้วคชา’ ที่ค่อนข้างถนัดในเรื่องดนตรี, ดวงไฟ, การโชว์, ความฝัน ฯลฯ ก็เกิดมาเป็นโปรเจกต์นี้ ซึ่งคิดและออกแบบแค่คนเดียว เพราะไม่ต้องการให้ know-how มันรั่วไหล
“เราตั้งใจทำมาก ๆ กับโปรเจกต์นี้ ผมเชื่อว่าแค่เฉพาะห้องน้ำที่คาร์นิวัลเมจิก คนน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 นาทีเพื่อถ่ายน้ำในนั้น”
ก่อนหน้านี้ โปรเจ็กต์คาร์นิวัลเมจิกมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนพฤษาคม 2563 แต่เพราะการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การก่อสร้างที่เริ่มไปแล้วถึง 95% ต้องหยุดลง และเลื่อนการเปิดตัวออกไป แต่เมื่อกลางปี 2565 ที่ผ่านมา คาร์นิวัลเมจิกเริ่มโครงการก่อสร้างอีกครั้ง และคาดว่าจะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้
ซึ่ง ผิน คิ้วคชา พร้อมลูกชายเจ้าของแนวคิดโปรเจ็กต์นี้ เตรียมจะมีการแถลงข่าวเปิดโครงการและชี้แจงรายละเอียดในวันที่ 1 กันยายนนี้ คาดว่าน่าจะมีอะไรตื่นเต้นให้ได้ลุ้นกันแน่ ๆ
ลูกชายคนโตจากครอบครัวพ่อค้าผ้าที่พยายามเอาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ใกล้ชิดกับเศรษฐีเพื่อเรียนรู้วิธีคิด สามารถเป็นผู้สร้างแลนด์มาร์กให้กับประเทศไทย และยังเป็นคนที่คิดไม่สิ้นสุดอีกด้วย ถือว่าเป็นคนอีกหนึ่งที่ค่อนข้างสู้ชีวิต และยึดมั่นกับสิ่งที่ตัวเองเชื่ออย่างมาก แม้ว่าความคิดนั้น ๆ วันที่เริ่มต้นจะไม่มีใครเห็นด้วยเลยก็ตาม
ภาพ: Safari World/YouTube: Kajornsak Chowcharoenrut
อ้างอิง: