อิซเซ มิยาเกะ: ดีไซเนอร์ญี่ปุ่นคนที่สร้าง ‘ผ้าจับจีบ-เสื้อคอเต่า’ เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Bao Bao เสียชีวิตด้วยวัย 84 ปี

อิซเซ มิยาเกะ: ดีไซเนอร์ญี่ปุ่นคนที่สร้าง ‘ผ้าจับจีบ-เสื้อคอเต่า’ เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Bao Bao เสียชีวิตด้วยวัย 84 ปี

เป็นเรื่องเศร้าของคนในวงการแฟชั่น เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมาได้สูญเสียดีไซเนอร์ชื่อดังชาวญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้งแบรนด์อิซเซ มิยาเกะ (Issey Miyake) ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นในยุค 1980

อิซเซ มิยาเกะ ถูกยกย่องให้เป็นคนที่ทำให้ดีไซเนอร์ตะวันตกรู้จักกับเสื้อผ้าสไตล์ใหม่แบบญี่ปุ่น นั่นก็คือ ‘ผ้าจับจีบที่ไม่มีวันยับ’ กับแฟชั่น ‘เสื้อคอเต่า’ ซึ่งเป็นยูนิฟอร์มที่คุ้นตาของ CEO ระดับโลกหลายคน หนึ่งในนั้นก็คือ ‘สตีฟ จอบส์’ (Steve Jobs) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Apple

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา อิซเซ มิยาเกะ หรือชื่อเดิมคือ มิยาเกะ คาซึมารุ (Miyake Kazumaru) ได้เสียชีวิตลงในวัย 84 ปี ด้วยโรคมะเร็งตับ โดยชีวิตของอิซเซ มิยาเกะ ถือว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายครั้งกว่าจะมายืนอยู่จุดนี้ได้ อีกทั้งเขายังเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูในเมืองฮิโรชิมะและนางาซากิในปี 1945 (แม้ว่าเขาไม่ต้องการให้ใครพูดถึงหรือเล่าถึงเหตุการณ์นี้ก็ตาม)

 

จากความฝันเป็นนักเต้นสู่ดีไซเนอร์

ความฝันแรก ๆ ของอิซเซ มิยาเกะ ไม่ใช่การเป็นดีไซเนอร์อย่างที่คนทั่วโลกรู้จัก แต่จริง ๆ แล้วเขาอยากเป็นนักเต้นหรือนักกีฬามากกว่า แต่หลังจากที่เขาได้อ่านนิตยสารของพี่สาวจึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจใหม่ขึ้นมา และอาชีพดีไซเนอร์ก็กลายมาเป็นความฝันใหม่ของเขาทันที

อิซเซ มิยาเกะ มีความเชื่อว่า “ความเชื่อดั้งเดิม หรืออะไรแบบเดิม ๆ คือเบื้องหลังของเสรีภาพในการขับเคลื่อนสิ่งต่าง ๆ และเสื้อผ้าของเขาก็เช่นกัน (แฟชั่นคือสัญลักษณ์หนึ่งของการเปิดโลกกว้าง)”

เมื่อความฝันชัดเจน เขาจึงเลือกเรียนในคณะกราฟิกดีไซน์ที่มหาวิทยาลัยศิลปะทามะในโตเกียว และในปี 1965 อิซเซ มิยาเกะ ตัดสินใจเรียนต่อที่ปารีสใน École de la Chambre Syndicale de la Couture Parisienne โรงเรียนสอนแฟชั่นที่มีชื่อเสียงอย่างมากของฝรั่งเศส

อิซเซ มิยาเกะ ต้องการฝึกฝนวิชาแฟชั่นให้มากขึ้น ซึ่งเขาได้ไปเรียนรู้กับ Guy Laroche, Givenchy และ Geoffrey Beene ดีไซเนอร์ชื่อดังในสหรัฐอเมริกา

ในปี 1970 อิซเซ มิยาเกะ ตัดสินใจกลับโตเกียวเพื่อเปิดสตูดิโอด้านแฟชั่นเป็นของตัวเอง ชื่อว่า ‘Miyake Design Studio’ และนี่คือจุดเริ่มต้นของเขาในการสร้างแฟชั่นผ้าจับจีบ ซึ่งเขาคือคนแรก ๆ ของวงการแฟชั่นที่คิดค้นสไตล์เสื้อผ้าแบบนี้ขึ้นมา

 

จุดเริ่มต้นของผ้าจับจีบที่ไม่มีวันยับ

ในปี 1980 อิซเซ มิยาเกะ ลองวิธีการใหม่ด้วยการจับจีบโดยการห่อผ้าระหว่างชั้นกระดาษแล้วใส่ในเครื่องรีดร้อน โดยสื่อส่วนใหญ่รายงานว่า ไอเดียการจับจีบของอิซเซ มิยาเกะ มาจาก ‘รูปปั้นกรีกโบราณ’ (แต่บางสื่อบอกว่าไอเดียนี้มาจากการห่อของขวัญในญี่ปุ่นสมัยนั้น)

ซึ่งไอเดียของผ้าจับจีบคือเขาต้องการทดลอง ‘เสรีภาพของนักเต้น’ ตั้งโจทย์ว่าหากนักเต้นสามารถเคลื่อนไหวตัวได้อย่างเสรี มีความพลิ้วไหวของกระโปรงจับจีบที่เขาคิดค้นขึ้นมาจะเป็นอย่างไร

ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาไลน์ ‘Pleats Please’ ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของอิซเซ มิยาเกะ จนถึงปัจจุบัน มันคือการออกแบบทุกอย่างให้มี based มาจากการจับจีบ โดยเขาพัฒนามาเรื่อย ๆ ตั้งแต่เสื้อผ้า กระเป๋า นาฬิกา น้ำหอม โดยรูปแบบแพ็กเกจจะเป็นรูปลักษณ์มาจากการจับจีบทั้งสิ้น

 

เสื้อคอเต่าสีดำแฟชั่นแห่งความเรียบง่าย

ต้องย้อนไปถึงคำให้สัมภาษณ์ในหลาย ๆ ครั้งของอิซเซ มิยาเกะ เกี่ยวกับความหมายของชีวิต ในฐานะคนที่เคยมีประสบการณ์เลวร้ายมาก่อนตั้งแต่เด็ก (วัยเพียง 7 ขวบเท่านั้น) เขาพูดว่า “ผมมักจะนึกถึงความสุขที่เรียบง่าย ความสงบที่สร้างขึ้นได้ง่าย ความสวยงามและความสุขในชีวิต

“ผมสนใจเรื่องการออกแบบเสื้อผ้า ส่วนหนึ่งเพราะว่ามันสามารถเปลี่ยนแปลงความคิด วัฒนธรรมความเชื่อต่าง ๆ ได้ และความเรียบง่ายบางครั้งก็ทำให้เกิดความสุขต่อใครหลายคนได้ การสร้างสรรค์ต้องทันสมัยและทำให้มองโลกในแง่ดีได้”

ซึ่งวิวัฒนาการจากความคิดจุดนี้ก็เกิดเป็นไอเดียในการผลิต ‘เสื้อคอเต่าสีดำ’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความเรียบง่าย แต่ก็สงบสุข โดยเราจะเห็นแฟชั่นนี้อยู่บนตัวของสตีฟ จอบส์ บ่อยมากจนหลายคนเรียกว่าเป็นยูนิฟอร์มของเขาไปแล้ว

 

ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นในยุคหนึ่ง

อิซเซ มิยาเกะ เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อของญี่ปุ่นในช่วงที่เขาเริ่มก่อตั้งบริษัทว่า “ตอนที่ผมเริ่มทำงานในญี่ปุ่นครั้งแรก ผมต้องเผชิญหน้ากับคนญี่ปุ่นที่บูชาสินค้าต่างประเทศมากเกินไป จึงเกิดเป็นความคิดว่าเสื้อผ้าที่คนญี่ปุ่นอยากจะยึดมั่นและใช้มันจริง ๆ เป็นแบบไหนกันแน่ ผมจึงต้องการเปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนสูตรในการแต่งกายของชาวญี่ปุ่นที่เคยเข้มงวดมาก ๆ ให้มีแฟชั่น มีสีสันบ้าง”

อิซเซ มิยาเกะ เคยถูกวิจารณ์ว่าเป็นคนนอกรีตในวัฒนธรรมญี่ปุ่น (ด้านการแต่งกาย) เป็นคนที่พยายามจะนำแฟชั่นทั้งชาติตะวันตกและตะวันออกมาผสมผสานกันเพื่อให้คนญี่ปุ่นเปิดใจมากขึ้น

การเปิดใจในความหมายของอิซเซ มิยาเกะ ไม่ได้หมายถึงแค่การรับแฟชั่นจากตะวันตก หรือการผสมผสานด้านแฟชั่นมากขึ้น แต่หมายถึงรูปแบบของสไตล์เสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นต้องมี ‘รูปร่างเฉพาะ’ สำหรับหญิงเท่านั้น หรือชายเท่านั้น แต่เป็นการถ่ายทอดแฟชั่นเสื้อผ้าที่ไม่มีรูปทรงใด ๆ สวมใส่ได้สบาย เป็นทรงตรงที่มีแค่รูที่สวมคอและอีก 2 รูสำหรับสวมแขนเท่านั้น

อีกหนึ่งผลงานที่มาจากคาแรคเตอร์ของอิซเซ มิยาเกะ อย่างชัดเจนก็คือ ‘กระเป๋า Bao Bao’ เพราะจุดเด่นอยู่ที่การใช้งานกระเป๋าที่ไม่ตายตัว สามารถทำให้เป็นรูปแบบต่าง ๆ ได้มากกว่า 1 แบบ มีน้ำหนักเบาและเนื้อนิ่ม ซึ่งตั้งแต่เปิดตัวในปี 2000 จนถึงปัจจุบันยังคงเป็นกระเป๋าที่ได้รับความนิยมระดับโลก

จนยุคหนึ่ง (หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่นาน) แบรนด์ของอิซเซ มิยาเกะ เรียกว่ากอบกู้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในยุคที่ถดถอยได้ เพราะเสียงที่บอกต่อ ๆ กันในวงการแฟชั่น เป็นแรงกระเพื่อมมาถึงวงการอื่น ๆ ในด้านครีเอทีฟด้วย ไม่เว้นแม้กระทั่งศิลปะ ดนตรี ฯลฯ ซึ่งพูดได้ว่า อิซเซ มิยาเกะ เป็นหนึ่งในบุคคลที่สร้างอิทธิพลให้กับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้

อิซเซ มิยาเกะ อุทิศตัวเองให้กับงานวิจัยตั้งแต่ปี 2016 และเรียกแฟชั่นในความหมายของเขาว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ซึ่งงานวิจัยที่ได้ถ่ายทอดออกมาส่วนหนึ่งเพื่อปลุกปั้นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ จนถึงวันนี้ ‘อิซเซ มิยาเกะ’ ได้กลายเป็นบุคคลในความทรงจำของเราทุกคน และผลงานต่าง ๆ ของเขาเชื่อว่าจะยังอยู่ในใจของคนในวงการตลอดไป

 

 

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/japanese-fashion-designer-issey-miyake-dies-cancer-aged-84-media-2022-08-09/

http://carmelasdesignerproject.weebly.com/issey-miyake.html

https://news.sky.com/story/japanese-fashion-designer-issey-miyake-known-for-producing-steve-jobs-turtlenecks-dies-at-84-12668952

https://www.britannica.com/biography/Issey-Miyake

https://sabukaru.online/articles/issey-miyake-a-lifelong-journey-of-mastery

https://www.isseymiyake.com/en/brands/isseymiyake