Little Mermaid ตัวละครสะท้อนความรักต้องห้ามแบบชายรักชาย

Little Mermaid ตัวละครสะท้อนความรักต้องห้ามแบบชายรักชาย
เมื่อทาง Disney ประกาศตัวนักแสดงหญิงผู้ที่จะมารับบทแอเรียล (Ariel) ในนิทานคลาสสิกของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) ในเรื่อง "Little Mermaid" ก็ทำให้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เพราะนางเอกคนใหม่ ฮาลลี เบลีย์ (Halle Bailey) คือนักร้องอาร์แอนด์บีผิวดำ ซึ่งผิดกับภาพจำเดิมของตัวละครตัวนี้ว่าจะต้องเป็นหญิงผิวขาวผมแดง "นี่คือการฟอกดำ (#BlackWashing - ย้อนกลับข้อกล่าวหาที่ฮอลลีวูดโดนประจำเรื่องการ "ฟอกขาว" ด้วยการเอานักแสดงผิวขาวมาเล่นบทของคนผิวสี) Little Mermaid มาจากนิทานพื้นบ้านอายุนับร้อย ๆ ปี ของยุโรป ในต้นฉบับมีการบรรยายลักษณะของเธอไว้ว่ามีตาสีน้ำเงิน และผิวซีดขาว" ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในชื่อ John Doe วิจารณ์การเลือกตัวละครของ Disney อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปถึงต้นตออันเป็นแรงบันดาลใจของนิทานเรื่องนี้จริง ๆ ก็จะพบว่า แก่นสารที่ผู้ประพันธ์ต้องการจะสื่อก็คือ “ความแปลกแยก” อันเป็นอุปสรรคของความรัก ซึ่งพบในชนทุกเชื้อชาติไม่ได้จำกัดแต่คนขาวเท่านั้น เพราะมันเป็นนิทานที่แต่งมาจากความผิดหวังในความรักของแอนเดอร์เซนเองที่มีต่อชายหนุ่มที่มีสถานะทางสังคมสูงกว่า แอนเดอร์เซน เป็นชาวเดนมาร์ก เกิดที่โอเดนเซ (Odense) เมื่อปี 1805 ในครอบครัวที่ยากจน พ่อของเขาเป็นช่างทำรองเท้าที่ฉลาดและใฝ่เรียนรู้ แต่พ่อของเขาก็มาจากไปตั้งแต่เมื่อแอนเดอร์เซนอายุได้เพียง 11 ปี เขาจึงโตมากับแม่ที่เชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ และแม้จะเป็นคนใช้แรงงานที่ไม่รู้หนังสือ แต่เธอก็มีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดตำนานพื้นบ้านและความเชื่อท้องถิ่นซึ่งกลายมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในงานเขียนของลูกชายในภายหลัง ขณะเดียวกันครอบครัวของแม่ที่ยากจนยังผูกพันกับการค้าประเวณี น้าของเขาเป็นเจ้าของซ่องและเชื่อกันว่า พี่สาวคนละพ่อที่แก่กว่าเขาหลายปีก็น่าจะเคยประกอบอาชีพโสเภณีเช่นกัน ด้วยพื้นฐานครอบครัวแบบนี้ทำให้เขามีปมเรื่องเพศ และกลัวว่าความสำส่อนจะครอบงำ ทำให้เขากลายเป็นคนที่ชอบเก็บตัว ชอบเล่นกับตุ๊กตาไปตามจินตนาการของตัวเอง และมีความฝันทะเยอทะยานที่จะไปให้พ้นจากความยากจน ด้วยวัยเพียง 14 ปี เขาจึงขอแม่เดินทางไปแสวงโชคที่โคเปนเฮเกน  แอนเดอร์เซนมุ่งหน้าสู่เมืองหลวงด้วยความฝันอยากจะเป็นนักเต้น แต่พรสวรรค์ที่ทำให้คนเห็นค่าเป็นอย่างแรกก็คือ "เสียงร้อง" อันไพเราะ แต่เมื่อเขาเสียงแตกเมื่อเข้าวัยรุ่นจนเอาดีด้านร้องเพลงต่อไม่ไหว เขาก็ยังหาคนช่วยสนับสนุนให้เขาได้เรียนหนังสือจนสามารถเอาดีด้านงานเขียนได้สำเร็จ โดยผู้ที่ให้ความช่วยเหลือกับเขาก็คือ โยนัส คอลลิน (Jonas Collin) นักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพล ซึ่งทำให้เขาได้มีโอกาสใกล้ชิดกับ "เอ็ดวาร์ด" (Edvard) ลูกชายผู้ให้การอุปถัมป์ และเป็นคนที่เขาหลงใหลใคร่ครวญถึงอยู่เสมอ แม้เขาจะรู้ว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไม่อาจเป็นไปได้ ริกเตอร์ นอร์ตัน (Rictor Norton) ผู้เขียนเรื่อง My Dear Boy: Gay Love Letter through the Centuries ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า ชีวิตของแอนเดอร์เซน คล้ายคลึงกับเทพนิยายที่โด่งดังที่สุดของเขา The Story of the Little Mermaid โดยได้ยกหลักฐานเป็นจดหมายที่แอนเดอร์เซนเขียนถึง เอ็ดวาร์ด คอลลิน เพื่อนหนุ่มอันเป็นที่รักของเขา ในช่วง 1835-1836 แอนเดอร์เซนกล่าวว่า "มิตรภาพของเราเป็นเหมือน 'เรื่องปริศนา' ที่ไม่ควรถูกพิเคราะห์" และ แอนเดอร์เซนยังเขียนด้วยว่า "ผมใฝ่ฝันถึงคุณ คุณที่เป็นดั่งสาวงามจากแคริบเบียน" แต่ความรักของแอนเดอร์เซนไม่สมปรารถนา และเขาก็เขียนนิทานเรื่องนี้ขึ้นมาหลังจากที่คอลลินแต่งงานกับหญิงสาวไปไม่นาน (1837) หากเทียบเคียงกับ "เงือกน้อย" ในเวอร์ชันของแอนเดอร์เซน (ซึ่งต่างจากเวอร์ชันของ Disney ค่อนข้างมาก) ก็จะเห็นความคล้ายคลึงกับชีวิตของเขาในหลายจุด ตั้งแต่การที่เงือกน้อยเป็นน้องคนเล็กที่เงียบและเก็บตัวต่างจากพี่ ๆ และเจ้าสมุทรพ่อของพวกเธอก็เป็นม่าย เงือกน้อยชอบฟังนิทานจากคุณย่าที่ชอบเล่าเรื่องราวของสังคม "มนุษย์" ทำให้เธอใฝ่ฝันอยากจะไปใช้ชีวิตบนผิวโลก ซึ่งกว่าเธอจะได้รับอนุญาตก็ต้องรอให้ถึงอายุ 15 ปีเสียก่อน เมื่อถึงวัยที่เธอได้รับอนุญาต เธอได้ขึ้นมาถึงผิวน้ำและได้พบกับชายหนุ่มรูปหล่อมีศักดิ์เป็นถึงเจ้าชาย เธอได้ช่วยชีวิตเขาไว้เมื่อคราวเรือแตก แต่เขาไม่ได้รู้เลย และคิดว่าหญิงสาวในวิหารใกล้เคียงเป็นผู้ช่วยชีวิตเขาไว้ ถึงอย่างนั้นเธอก็ตกหลุมรักเจ้าชายอย่างหัวปักหัวปำ และอยากจะหลุดขึ้นเหนือผิวน้ำเพื่อใช้ชีวิตท่ามกลางสังคมมนุษย์ แต่เงือกและมนุษย์อยู่ด้วยกันไม่ได้ เงือกแม้จะอายุยืนกว่า 300 ปี แต่เมื่อตายแล้วก็จะกลายเป็นเพียงฟองคลื่น ต่างจากมนุษย์ที่แม้จะอายุสั้นแต่ก็มีวิญญาณที่เป็นอมตะซึ่งจะได้ใช้ชีวิตหลังความตายบนสรวงสวรรค์ เงือกน้อยเชื่อว่าเธอจะมีความสุขหากได้ใช้ชีวิตบนโลกมนุษย์และไม่อยากเป็นแค่ฟองคลื่นหลังความตาย ย่าของเธอจึงบอกเงื่อนไขที่จะทำให้เธอสมปรารถนาได้ก็คือ "หากมนุษย์หลงรักเจ้ายิ่งกว่าพ่อและแม่ของเขา หากเขารักและคิดถึงเจ้าเพียงคนเดียว และเขายอมที่จะให้นักบวชวางมือของเขาเหนือมือของเจ้า และให้สัญญาว่าจะมั่นคงในรักนับแต่บัดนี้จนตลอดไป เมื่อนั้นวิญญาณส่วนหนึ่งของเขาจะไหลเข้าสู่ร่างกายของเจ้า เจ้าจะได้มีความสุขเยี่ยงมนุษย์ เขาจะมอบวิญญาณของเขาให้กับเจ้าโดยที่เขามิได้สูญเสียวิญญาณไป"  ขณะเดียวกันย่าของเธอก็บอกว่า "แต่นั่นไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะหางปลาของเจ้าที่งดงามในมหาสมุทรกลับเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจบนโลกมนุษย์ พวกเขาไม่มีทางเข้าใจ บนนั้นเจ้าต้องมีก้อนเนื้อประหลาดที่พวกเขาเรียกว่าขา เจ้าถึงจะได้ชื่อว่างาม"   หากคิดและเทียบเคียงตาม ความรักที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม หากจะสมหวังได้คู่รักต้องรักและให้ความสำคัญต่อกันยิ่งกว่าครอบครัว นี่คือเงื่อนไขสำคัญที่เขาพบด้วยตัวเอง เมื่อเงือกกับคนไม่อาจเข้ากันได้ ก็เหมือนชายรักชายในสมัยของเขา และหางปลาของเงือกน้อยก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่สื่อถึงเพศสรีระของแอนเดอร์เซนเองซึ่งอาจจะงามในโลกของเขาแต่กลับเป็นที่รังเกียจของสังคมยุคนั้น จุดจบความรักของแอนเดอร์เซนกับเงือกน้อยก็พ้องกันสนิท เมื่อชายคนรัก (แต่เพียงฝ่ายเดียว) ของเขาไปแต่งงานกับหญิงสาว ขณะที่เจ้าชายของเงือกน้อยก็ไปแต่งงานกับเจ้าหญิง แม้เงือกน้อยจะยอมทนทุกข์ทรมาน ตัดลิ้นของตัวเองสละเสียงอันไพเราะให้กับแม่มดทะเลแลกกับขาคู่งามเยี่ยงมนุษย์ แต่ทุกก้าวย่างของเธอจะทำให้เธอต้องเจ็บปวดเหมือนเดินอยู่บนมีด เธอยอมแต่งกายเป็นชายเพื่อที่จะได้อยู่เคียงข้างเจ้าชายที่เธอรักเสมอ แต่สุดท้ายเจ้าชายก็เลือกแต่งงานกับเจ้าหญิงเพราะเข้าใจว่า เจ้าหญิงคือผู้ที่ช่วยชีวิตของเขาไว้ แม้ในความเป็นจริงแล้ว เงือกน้อยต่างหากที่เป็นคนช่วย  นั่นจึงทำให้เธอแตกสลายกลายเป็นฟองคลื่น ตามเงื่อนไขที่เธอให้ไว้กับแม่มดทะเล ที่เธอจะต้องได้ความรักจากชายหนุ่มอย่างหมดใจ หากชายผู้นั้นแต่งงานกับหญิงอื่นไปเธอก็จะต้องพบจุดจบอันน่าเศร้าเช่นนี้ ซึ่งก็คงเหมือนกับหัวใจของแอนเดอร์เซนที่รู้ว่าคนรักของเขาแต่งงานกับหญิงอื่นไปแล้ว  (ยังมีเงื่อนไขที่จะทำให้เธอกลับเป็นเงือกได้อีก คือต้องฆ่าเจ้าชายใช้เลือดของเขารดขาตัวเองเพื่อได้หางปลากลับมาแต่เธอไม่ทำ ทำให้เธอต้องตาย แต่การที่เธอเลือกสละชีวิตตัวเองก็ทำให้เธอกลายเป็น “ธิดาแห่งนภา” หรือ daughter of the air ทำให้เธอมีโอกาสได้ทำดีอีกสามร้อยปี เพื่อที่จะได้มีดวงวิญญาณอันเป็นนิรันดร์เช่นเดียวกับมนุษย์) ถึงจุดนี้คงบอกได้ว่า Little Mermaid เป็นนิทานที่มีแรงบันดาลจากชีวิตรักที่ไม่สมหวังของแอนเดอร์เซนเองอย่างไม่ต้องสงสัย เงือกสาวถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนภาพผู้ชายอย่างเขาที่มาจากสังคมระดับล่างแต่มีความทะเยอทะยานที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้ขึ้นมาอยู่ในสังคมชั้นสูง แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังเป็นคนนอกที่ไม่ได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ “เงือกน้อย” จึงเป็นภาพสะท้อนความแปลกแยกทั้งทางเพศและสังคมของเขาเอง (ทั้งนี้ แอนเดอร์เซนน่าจะมีเพศสภาพแบบที่เรียกว่า ไบเซ็กชวล เนื่องจากเขาหลงรักใครหลายคนทั้งหญิงและชาย แต่เขาเลือกที่จะอยู่เป็นโสดไปตลอดชีวิต และอาจจะไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กับใครเลย [เขาเคยไปเที่ยวซ่องแต่ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ กลับเลือกที่จะมาช่วยตัวเองแล้วเขียนเล่าลงในบันทึกส่วนตัว - The Guardian])