ออเดรย์ ถัง แฮกเกอร์สาวข้ามเพศอัจฉริยะ ที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตยผ่านการเป็นรัฐมนตรีดิจิทัล

ออเดรย์ ถัง แฮกเกอร์สาวข้ามเพศอัจฉริยะ ที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตยผ่านการเป็นรัฐมนตรีดิจิทัล
ประชาธิปไตย เป็นการปกครองที่ถือว่าเราทุกคนมีเสียงเท่าเทียมกัน ผ่านการเลือกผู้แทนไปบริหารรัฐ ความโปร่งใสในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เลยเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ออกเสียงทุกคน ไม่ว่าจะเป็น “ประชาธิปไตยจอมปลอม” หรือ “เผด็จการประชาธิปไตย” รัฐบาลที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง ส่วนใหญ่จะมีความโปร่งใส ซึ่งผู้ที่กำลังเปิดให้เราสามารถตามติดชีวิตนักการเมืองแบบทุกฝีก้าวผ่านทางออนไลน์ คือ ออเดรย์ ถัง (Audrey Tang) รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวัน “เมื่อพูดถึงความโปร่งใส ฉันพูดถึงความโปร่งใสแบบขั้นสุด ยกตัวอย่างเช่นเทคโนโลยีที่เราเรียกว่า Say It ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเพื่อพลเมือง เริ่มต้นตั้งแต่ที่ฉันมาทำงานตรงนี้เมื่อปี 2016 ตลอดระยะเวลาสองปีจากนั้นฉันได้พูดคุยกับคนกว่าสามพันคน เรามีบทสนทนาร่วมกันมากกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นประโยค มีการประชุมกันมากกว่าเจ็ดร้อยครั้ง และทุกการประชุมจะถูกแชร์เป็นข้อมูลสาธารณะ และมันไม่ใช่ข้อสรุป แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนพูดออกมา ทุกอย่างที่ฉันพูดในฐานะรัฐมนตรีดิจิทัลก็ถูกเปิดเผยในที่สาธารณะ” ไม่ผิดแล้วจะกลัวทำไม? ไม่ทำผิดแล้วทำไมไม่กล้าให้ตรวจสอบ ตรรกะง่าย ๆ ที่เหมือนเป็นคำตอบของความโปร่งใสแบบขั้นสุด (radical transparency) ในความหมายของ ออเดรย์ ถัง สาวข้ามเพศอัจฉริยะวัย 38 ปี อดีต Civic Hacker ผู้เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีดิจิทัลไต้หวัน จะช่วยในสองเรื่องหลักคือ หนึ่ง ทุกคนสามารถตั้งคำถามได้ว่าทำไมถึงมีนโยบายต่าง ๆ ขึ้นมา ก่อนหน้านี้รัฐจะสื่อสารนโยบายให้ประชาชนได้รับรู้เมื่อมีการกำหนดนโยบายบางอย่างออกมาก่อนแล้วเท่านั้น ประชาชนจึงได้ข้อมูลแค่ว่ามันคือนโยบายอะไรและเป็นอย่างไร แต่ในตอนนี้เราสามารถพูดคุยกันได้ว่าทำไมถึงต้องมีนโยบายแบบนี้แบบนั้นขึ้นมา สอง การให้เครดิตความรับผิดชอบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ผ่านมา “ความรับผิด” จากที่ส่วนใหญ่จะตกกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ส่วนผู้ที่ได้หน้ากับ “ความรับชอบ” คือเจ้านายระดับสูงขึ้นไป หรือรัฐมนตรี ที่เคลมผลงานแล้วโยนความผิดที่เกิดขึ้นให้กับลูกน้องอยู่เสมอ แต่ในระบบความโปร่งใสขั้นสุดนี้ ทุกคนจะได้เห็นว่าใครเป็นคนเสนอไอเดียต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และไอเดียหรือนโยบายที่ถูกคิดขึ้นมานี้ ภาคประชาสังคมหรือผู้ประกอบการต่างก็สามารถใช้ไอเดียเหล่านี้ไปสร้างให้เกิดขึ้นจริง ต่อยอดให้เกิดการพัฒนาไอเดียหรืออาจจะเป็นการประกอบการเพื่อสังคม แต่คนก็ยังให้เครดิตกับเจ้าหน้าที่ผู้เสนอไอเดีย “ในฐานะของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานตรงนี้ต้องไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นกับพวกเขา เพราะฉันเป็นรัฐมนตรีที่ยืนอยู่ข้างความโปร่งใสขั้นสุด หากเกิดข้อผิดพลาดทุกคนสามารถโทษฉันได้ โอกาสในการเกิดนวัตกรรมจากเจ้าหน้าที่ทางราชการจะเป็นไปได้ง่ายขึ้น เพราะฉันจะแบกรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด และให้พวกเขาได้รับเครดิตทั้งหมด นี่คือความแตกต่างจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้” ออเดรย์ ถัง แฮกเกอร์สาวข้ามเพศอัจฉริยะ ที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตยผ่านการเป็นรัฐมนตรีดิจิทัล สิ่งที่ทำให้รัฐมนตรีดิจิทัลอย่าง ออเดรย์ ถัง มีทัศนวิสัยที่ไปไกลกว่ารัฐมนตรีรุ่นลายครามหลายคนนั้น ต้องย้อนกลับไปหลายปีก่อนที่เธอจะได้มาเข้าร่วมรัฐบาลประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน ในปี 2016 ออเดรย์ ถัง เป็นคนที่คู่ควรกับคำว่าอัจฉริยะมาตั้งแต่เด็ก เธอสามารถเรียนรู้การเขียนโปรแกรม Perl ตั้งแต่อายุ 12 และออกจากการเรียนใน 2 ปีต่อมา เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตในรูปแบบของนักเรียนปกติได้ ครั้งหนึ่งรายการโทรทัศน์ของไต้หวันคือ Taiwan Eastern Television เคยทดสอบว่าเธอมี IQ สูงถึง 180 (แต่ในการมาเยือนประเทศไทยบนเวที “International Conference on Fake News” เมื่อปี 2019 เจ้าตัวได้ตอบคำถามเรื่องนี้ว่าเป็นการเข้าใจผิด)  ไม่แปลกที่ถังจะถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสิบอัจฉริยะด้านคอมพิวเตอร์ของไต้หวัน เพราะขณะที่อายุเพียงแค่ 15 ปี ถังสามารถพัฒนา search engine สำหรับภาษาแมนดารินได้ด้วยตัวเอง อีกสี่ปีต่อมาเธอเลยย้ายไปทำงานที่ซิลิคอน วัลเลย์ สหรัฐอเมริกา ก่อนจะตัดสินใจแปลงเพศจากชายเป็นหญิง พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อ Autrijus เป็น Audrey ในวัย 24 ปี เธอยังทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งอย่าง Apple, Google เป็นที่ปรึกษาให้กับ vTaiwan ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้มีการพูดคุยด้านกฏระเบียบต่าง ๆ และทำงานร่วมกับ g0v community ช่วงปี 2014 กลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่เรียกตัวเองว่า ขบวนการนักศึกษาทานตะวัน ก่อเหตุประท้วงถึงเหตุการณ์ข้อตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบ ถังเป็นคนที่ใช้กล้องถ่ายทำเหตุการณ์แบบสด ๆ จากภายในอาคารไปยังข้างนอก เธอประกาศเสียงดังให้ผู้ใหญ่หลายคนได้ยินชัด ๆ ว่า “นี่ไม่ใช่การก่อกบฏ แต่เป็นความตั้งใจที่จะสนับสนุนให้ประชาชนได้มีโอกาสพูด ก็เท่านั้นเอง” ทั้งชื่อเสียงความเป็นอัจฉริยะด้านคอมพิวเตอร์ เป็นสาวข้ามเพศที่สนับสนุน LGBTQ เป็นคนรักสัตว์ที่เลี้ยงแมวไว้เกือบสิบชีวิต บวกกับสุนัขอีกสองตัว และการเป็นนักประชาธิปไตยเลือดใหม่ ทำให้ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ดึงถังมาร่วมรัฐบาล โดยเสนอเก้าอี้รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวันให้ โดยที่เธอไม่ได้สังกัดพรรคใด เพื่อหวังจะกู้ภาพลักษณ์รัฐบาลที่คะแนนนิยมในขณะนั้นลดต่ำลง รวมไปถึงโดนโจมตีว่าเป็นรัฐบาลขิงแก่ที่มีอายุเฉลี่ยของรัฐมนตรีอยู่ที่ 62 ปี มากกว่าคนเกษียณอายุส่วนใหญ่ที่อยู่บ้านเลี้ยงหลานเสียอีก ตอนนี้ รัฐมนตรีถังได้ใช้ความถนัดด้านคอมพิวเตอร์ในการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อสร้างความโปร่งใสในการทำงานของรัฐบาล และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นในเรื่องสำคัญต่าง ๆ “ทิศทางในการทำงานของฉันคือการสร้างพื้นที่ขึ้นมา อย่างที่เห็นนี่คือ Social Innovation Lab ที่เราสามารถรวมคนที่มีความรู้ความเข้าใจที่หลากหลาย ไปจนถึง AI และเทคโนโลยีอื่น ๆ นำพวกเขามารวมกันในพื้นที่ที่สามารถร่วมกันสร้างไอเดียที่จะทำให้ทุกสิ่งดีขึ้น ดังนั้นจุดยืนของฉันคือไม่ได้ทำงานเพื่อสนับสนุนรัฐบาล แต่ทำงานเพื่อสนับสนุนระบบรูปแบบการบริหารปกครองที่เน้นความร่วมมือจากทุกฝ่าย” ออเดรย์ ถัง แฮกเกอร์สาวข้ามเพศอัจฉริยะ ที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตยผ่านการเป็นรัฐมนตรีดิจิทัล แม้จะรับนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีดิจิทัล แต่ ออเดรย์ ถัง ยืนยันอยู่ตลอดเวลาว่าไม่ได้ทำงานให้กับรัฐบาล แต่เป็นการทำงานร่วมกับรัฐบาล เธอวางจุดยืนของตัวเองในการเป็น “จุดเชื่อมต่ออยู่ตรงกลาง” ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มการเคลื่อนไหวทางสังคม ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาล ไปจนถึงระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกัน ซึ่งถังจะทำหน้าที่เหมือนเป็นคนแปลงภาษาเพื่อให้แต่ละฝ่ายเข้าใจความต้องการระหว่างกัน เพื่อลดช่องว่างและความตึงเครียดระหว่างช่องว่างนั้น เธอยกตัวอย่างเรื่องแฮชแท็กแคมเปญ #metoo ที่คนร่วมล้านออกมาเคลื่อนไหวขับเคลื่อนสังคม โดยที่กระทรวงต่าง ๆ ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะประชาชนสามารถบริหารขับเคลื่อนสังคมได้ด้วยตัวเอง ปัญหาหลัก ๆ ตอนนี้กลายเป็นว่าในยุคสมัยของอินเทอร์เน็ต รัฐบาลไม่สามารถเป็นผู้บริหารจัดการแต่เพียงฝ่ายเดียวได้อีกต่อไปแล้ว นอกจากนี้ในปัจจุบันมีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น Distributed Ledger, Machine Learning รัฐบาลไม่สามารถไปจัดตั้งกระทรวงขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาได้ หรือแม้แต่โมเดลการบริหารจัดการแบบเดิมที่ล้าหลังอุ้ยอ้ายไม่ทันการ “การทำงานเพื่อประชาธิปไตยในโลกอนาคตคือการสร้างพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงของกันและกันได้ มันต้องเป็นการเปิดเผยข้อมูล ไม่ใช่แค่ข้อมูลของรัฐบาลเท่านั้น แต่ต้องจากฝั่งประชาชนด้วย ด้วยการใช้ข้อมูลจะทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริง ซึ่งด้วยข้อเท็จจริงนั่นแหละที่จะทำให้เราสามารถรับฟังกันและกัน คุณรู้สึกยังไงกับข้อเท็จจริงนี้ คุณอาจจะรู้สึกแฮปปี้ หรือโกรธ มันไม่มีถูกหรือผิดในแง่ของความรู้สึก และเราจะสร้างไอเดียขึ้นมาจากข้อเท็จจริงเหล่านั้น” ออเดรย์ ถัง แฮกเกอร์สาวข้ามเพศอัจฉริยะ ที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตยผ่านการเป็นรัฐมนตรีดิจิทัล อนาคตของประชาธิปไตยในอุดมคติของถังที่วาดฝันไว้คือ เป็นสังคมแห่งการรับฟัง โดยการสร้างพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกของคนอื่น ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ซึ่งพื้นที่นี้มีคุณสมบัติพิเศษสองข้อ คือ หนึ่งไม่มีปุ่ม Reply เลยไม่สามารถโจมตีคนอื่นได้ ทำได้เพียงแค่โพสต์เสนอความคิดเห็นของคุณให้คนอื่นได้รู้เท่านั้น และ สอง โปร่งใส แสดงให้เห็นเลยว่าทุกคนคือเพื่อนของคุณ ไม่ใช่ศัตรูที่ไม่มีชื่อที่มาจากขั้วตรงข้าม ทุกคนจะเข้ามาด้วยข้อเสนอที่สะท้อนความคิดเห็นและความรู้สึกของพวกเขาได้อย่างอิสระ เพราะถังมองว่าเทคโนโลยีในยุคของอินเทอร์เน็ตที่เราสามารถได้ยินเสียงของคนสิบล้านคนได้ ทำให้เกิดปัญหาแบบใหม่ คือมีโอกาสที่จะเกิดการใช้อิทธิพลในโซเชียลมีเดียสร้างวาทกรรมที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งและนำไปสู่การแบ่งขั้วทางการเมือง ถ้าเราสนใจมองแค่สื่อกระแสหลักหรือโซเชียลมีเดีย บางครั้งมันก็ง่ายต่อการตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะเป็นเครื่องมือที่ง่ายต่อการโฆษณายกชูคุณค่าบางอย่าง เธอให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้ในสังคมออนไลน์ทุกคนโพสต์ไอเดียจำนวนมาก แต่แทบไม่มีใครพูดเรื่องความรู้สึกและข้อเท็จจริง ดังนั้นไอเดียจำนวนมากเลยเป็นได้แค่อุดมคติ เพราะไม่ได้เกิดจากการพูดคุยกันอย่างแท้จริง แต่ถ้าเราสามารถรับรู้ข้อเท็จจริงและความรู้สึกกันก่อน ก็จะนำไปสู่ไอเดียที่ดีที่สุดบนพื้นฐานความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ รัฐมนตรีที่ถือว่าเก่งเรื่องเทคโนโลยีที่สุดคนหนึ่งในโลก พยายามนำเอาเทคโนโลยี AI (Augmentative Intelligence/Assistant Intelligence) มาช่วยเพิ่มพลังของการรับฟังกันและกัน ผ่านการประมวลผลอย่างรวดเร็วของ AI ที่สามารถรับมือกับความเห็นคนจำนวนมหาศาลได้ ซึ่งในอนาคตระบบนี้จะรองรับการเพิ่มจำนวนได้อีกหลายเท่า คนหลักหมื่นหลักแสนเลยสามารถร่วมพูดคุยกันได้โดยที่ยังสามารถรับฟังกัน ช่วยในการปรึกษาหารือร่วมกันอย่างเป็นสาธารณะได้ “อนาคตของประชาธิปไตยคือการให้ความสำคัญกับความรู้สึกของทุกคน เป็นอนาคตแห่งการรับฟังกันและกัน และการค้นหาคุณค่าร่วมกัน”   หมายเหตุ: ออเดรย์ ถัง เคยมาเมืองไทยเพื่อถ่ายทอดมุมมองเกี่ยวกับเรื่อง AI และ GovTech ในงาน Techsauce Global Summit 2019 จัดโดย Techsauce เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2019    ที่มา: https://techsauce.co/saucy-thoughts/audrey-tang-technology-democracy/ https://twitter.com/audreyt https://apolitical.co/solution_article/reprogramming-power-audrey-tang-is-bringing-hacker-culture-to-the-state/ https://www.youtube.com/watch?v=mxMxg4ct-D8 https://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement1320.htm