ธีโลเนียส มังค์ อัจฉริยะดนตรีผู้เดียวดาย

ธีโลเนียส มังค์ อัจฉริยะดนตรีผู้เดียวดาย
ธีโลเนียส มังค์ (Thelonious Monk) เป็นนักดนตรีแจ๊สที่เรื่องราวของเขามีสีสันมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของดนตรีแขนงนี้ ภาพยนตร์สารคดี Thelonious Monk Straight, No Chaser กำกับโดย ชาร์ล็อตต์ ซเวริน (Charlotte Zwerin) ที่นำเสนอชีวิตของเขาย่อมยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ดี ด้วยนิสัยส่วนตัวแปลก ๆ วิธีการเล่นเปียโนที่มีการเกร็งนิ้วเหมือนคนเล่นไม่เป็น บทเพลงที่ประกอบขึ้นจากโมทิฟ แพทเทิร์นของจังหวะ และทำนองขรุขระอันน่าประหลาด ตลอดจนการสวมหมวกทรงแปลกตา บ้างลุกขึ้นมาเต้นรำคั่นการแสดงของตนเอง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนเข้าใจผิด บ้างคิดว่าเขาบ้า เขาเพี้ยน ดูชอบกล และ ฯลฯ ครั้งหนึ่ง มังค์ เคยกล่าวถึงการเล่นดนตรีของตนเองว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมเล่นล้วนแตกต่าง ... ทำนองต่าง, ฮาร์มอนีต่าง, โครงสร้างต่าง, แต่ละชิ้นงานแตกต่างจากชิ้นอื่นๆ ... เมื่อเพลงบอกเล่าเรื่องราว เมื่อมันมีสุ้มเสียงที่แน่นอน เมื่อนั้นมันจะเปลี่ยนผ่านไปอย่างสมบูรณ์” มังค์ เปรียบเสมือน “อัจฉริยะที่โลกลืม” อย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่งที่หลุดหายไปจากความสนใจของสาธารณะ ทั้งที่เขามีส่วนร่วมในความเคลื่อนไหวของบีบ็อพ (Bebop) มาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1940 ในฐานะมือเปียโนประจำของ “มินตัน’ส เพลย์ เฮาส์” (Minton’s Playhouse) แหล่งแจมเซสชั่นของนักดนตรีหัวก้าวหน้าหลังเลิกงาน บนเกาะแมนฮัตตัน นิวยอร์ก ซิตี จนได้รับฉายานามว่า “เจ้าคณะแห่งบีบ็อพ” (High Priest of Bebop) แต่ผู้คนวงกว้างกลับไม่ใคร่สนใจใยดีต่อผลงานของเขาเท่าใดนัก ขณะที่ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ (Charlie Parker), ดิซซี กิลเลสปี (Dizzy Gillespie) แกนนำของความเคลื่อนไหว ก้าวออกไปปลุกโลกให้ตื่นขึ้นด้วยสำเนียงบ็อพอันเร่งเร้า มังค์ กลับดำเนินชีวิตในช่วงเวลาแห่งความคิดสร้างสรรค์อันรุ่งโรจน์ของตนเองอย่างเงียบเหงาเพียงลำพัง เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้คนจำนวนไม่น้อย ซึ่งเข้าไม่ถึงความงดงามจากดนตรีของเขา ต่างพากันเยาะเย้ยถากถาง ทั้งแนวทางและเทคนิคการเล่นของมังค์ เช่นเดียวกันกับที่ค่ายเพลงเคยบอกปัดข้อเสนอเพื่อทำอัลบั้มอย่างไร้เยื่อใย กระทั่ง บัด พาวล์ (Bud Powell) ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและลูกศิษย์ที่ชื่นชม มังค์ อย่างมาก กลับมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ ก่อนหน้า มังค์ หลายปี ไม่น่าเชื่อว่า กว่านักเปียโนคนนี้จะมีอัลบั้มของตัวเองเป็นครั้งแรกก็จนเมื่ออายุ 30 และกว่าจะมีวงดนตรีของตัวเอง อายุก็ปาเข้าไป 40 ปีแล้ว จากนั้นเมื่อชีวิตดำเนินมาถึงอายุ 55 ปี มังค์ ก็เร้นลับหายไปจากโลก                [caption id="attachment_6591" align="aligncenter" width="640"] ธีโลเนียส มังค์ อัจฉริยะดนตรีผู้เดียวดาย Photo Credit: Courtesy of WNYC Studios[/caption] มังค์ เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ.1917 ที่นอร์ธ แคโรไลนา พออายุ 4 ขวบ แม่พาเขาและพี่น้องอีก 2 คน ย้ายมาอยู่นิวยอร์ก ซิตี แต่แทนที่จะย้ายไปอยู่ในย่านฮาร์เล็มเหมือนคนผิวสีจากทางตอนใต้ในยุคของการอพยพครั้งใหญ่ (The Great Migration) ในช่วงนั้น ครอบครัวของมังค์กลับเลือกพำนักอยู่ในละแวกของถนนสายที่ 63 ตะวันตก ย่าน “ซาน ฮวน ฮิลล์” ซึ่งเป็นอีกย่านชุมชนคนผิวสีที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ด้วยส่วนผสมของผู้คนที่อพยพมาจากทางตอนใต้ของสหรัฐ , แคริบเบียน และเปอร์โตริโก หลังจากอยู่ที่นิวยอร์ก ซิตี ได้  3 ปี พ่อของ มังค์ เดินทางมาสมทบกับครอบครัว แต่ด้วยสภาพอากาศอันหนาวเย็นและปัญหาทางด้านสุขภาพ ทำให้พ่อต้องย้ายกลับไปที่นอร์ธแคโรไลนาเป็นระยะๆ ทว่าอย่างน้อยที่สุด ในทุก ๆ ครั้งที่พ่อเดินทางมาพักอยู่ด้วย พ่อของมังค์จะบรรเลงทั้งฮาร์มอนิกาและเปียโน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังความรักในเสียงดนตรีให้แก่ มังค์ มังค์ เริ่มต้นดนตรีจากการฝึกฝนทรัมเป็ต แล้วเปลี่ยนมาสนใจเปียโนเมื่ออายุ 9 ปี โดยศึกษาจากบทเรียนของพี่สาว และหัดด้วยตัวเอง พอโตเป็นวัยรุ่น มังค์ ก็พอจะมีฝีมือรับจ้างเล่นเปียโนตามงานปาร์ตี้ต่าง ๆ ได้แล้ว รวมถึงมีงานเล่นออร์แกนที่โบสถ์แบ๊บติสต์ใกล้บ้าน เขาเคยผ่านเวทีแข่งขันเปียโนที่ อพอลโล เธียเตอร์ จนชนะมาหลายครั้ง แม้จะเกิดที่แคโรไลนา แต่ มังค์  เป็นชาวนิวยอร์ก ซิตี ตัวจริงคนหนึ่ง เหมือนกรณีที่ หลุยส์ อาร์มสตรอง รู้สึกถึงการหล่อหลอมตัวตนขึ้นจากเมืองนิวออร์ลีนส์ (ตามแนวทางการวิเคราะห์ของ แกรี กิดดินส์)  มังค์ ซึมซับอารมณ์ต่าง ๆ ของเมืองนิวยอร์ก ทั้งจากโบสถ์, วงบิ๊กแบนด์, ทิน แพน อัลลีย์, แนวทางการเล่นเปียโนสไตรด์ของย่านฮาร์เล็ม ตลอดจนถึงขบวนการศิลปะสมัยใหม่  ขณะที่กำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนไฮสกูลชั้นนำของนิวยอร์ก ซิตี เขาทนสีสันอันเย้ายวนของวงการดนตรีภายนอกไม่ไหว จึงตัดสินใจดร็อปเรียนเพื่อออกมาเล่นดนตรี โดยมีวงควอร์เททเล่นตามบาร์ต่าง ๆ ก่อนที่ เคนนี คลาร์ก มือกลองหัวก้าวหน้าจากยุคสวิง จะว่าจ้างให้เขาเล่นประจำที่ มินตัน’ส ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ.1941 ในช่วงเวลาที่บีบ็อพกำลังฟูมฟักตัวเองเป็นการภายใน ก่อนจะเผยแพร่ออกสู่โลกภายนอก ในอีกหลายปีหลังจากนั้น เมื่อสหภาพนักดนตรียุติการประท้วงอันยาวนานในช่วงกลางทศวรรษ 1940 (ค.ศ.1942-44) มีข้อน่าสังเกตว่า ขณะที่นักเปียโนบ็อพทั่วไป ใช้เทคนิคมือซ้ายเล่นคอร์ดพอประมาณ โดยมุ่งเน้นความสำคัญไปที่อัตราความเร็วของการเล่นโน้ตมือขวา ด้วยกลุ่มโน้ตเขบ็จ 1 ชั้น และ 2 ชั้น (eighth & sixteenth notes) มังค์ กลับเลือกที่จะเล่น “อย่างแตกต่าง” ด้วยการผสมผสานสมดุลระหว่างเทคนิคมือซ้ายและมือขวาอย่างเท่าเทียม อีกทั้งยังเลือกใช้กับจังหวะที่มีเหลี่ยมมุม กับแนวทางการเล่นแบบสไตรด์เปียโน ที่เขาได้รับอิทธิพลจากนักเปียโนรุ่นบุกเบิกอย่าง เจมส์ พี.จอห์นสัน และ วิลลี “เดอะ ไลออน” สมิธ ในยุคสมัยบ็อพ ที่ใคร ๆ แข่งขันกันในเรื่องความเร็ว มังค์ กลับสนใจคุณสมบัติของ “ความเงียบ” (Silence) และ “พื้นที่” (Space) ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเสียงดนตรี เช่นเดียวกันกับการให้ความสำคัญแก่โครงสร้างเพลง การเลือกใช้เฟรสซิ่ง  และไอเดียที่ทวนกระแส ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้สุ้มเสียงดนตรีของเขามีความเป็นต้นแบบและสดใหม่มาจนถึงปัจจุบัน ในด้านการประพันธ์ มังค์ ได้รับการยกย่องว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ดุ๊ก เอลลิงตัน ในฐานะนักประพันธ์ดนตรีชาวอเมริกันแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่มีความเป็น “ต้นแบบ” ค่อนข้างสูง (Originality) ความโดดเด่นชัดเจนที่สุดประการหนึ่งก็คือ มังค์ เป็นนักแต่งเพลงแจ๊สคนหนึ่งที่ไม่นิยมใช้การเขียนแนวทำนองที่ผันแปรจากทางเดินคอร์ด (Chord Progressions) ของเพลงสแตนดาร์ด หรือเพลงยอดนิยมทั่วไป (ซึ่งปกตินิยมกันในหมู่นักดนตรีบ็อพ) แล้วหันมาเลือกการสร้างสถาปัตยกรรมแห่งรูปทรงของเสียงขึ้นมาใหม่ ณ ที่ซึ่งแนวประสานและจังหวะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับทำนอง ผลงานประพันธ์ของ มังค์ อาทิ Off Minor (อีกชื่อหนึ่งว่า What Now) ; 52nd Street Theme, Round Midnight, Epistrophy (แต่งร่วมกับ เคนนี คลาร์ก) ; I Mean You (บันทึกเสียงครั้งแรกในวงของ โคลแมน ฮอว์กินส์) ; Bemsha Swing ;  Criss Cross (สังกัดอินดี้แจ๊สแห่งหนึ่งนำมาเป็นชื่อสังกัด) ; Evidence ; Hackensack (แต่งขึ้นจากการทำงานวันแรกในสตูดิโอของ รูดี แวน เกลเดอร์ ที่แฮคเกนแซ็ก นิวเจอร์ซี) ; Misterioso ; Monk’s Dream (มังค์ เติมกลิ่นอายแคริบเบียนเข้าไปในเพลงนี้) ; Rhythm-a-ning ; Straight, No Chaser หลายเพลงของ มังค์ จัดว่ายากแก่การบรรเลงของวงไม่น้อย อาทิ Brilliant Corners ซึ่งว่ากันว่าต้องเทคกันถึง 25 รอบ แม้บทเพลงของมังค์ จะมีความสลับซับซ้อน แต่เพลงบัลลาดของเขาก็ได้รับการยอมรับว่ามีทำนองอันงดงาม เช่น Ask Me Now ; Monk’s Mood ; Ruby My Dear (แต่งให้ รูบี ริชาร์ดสัน เพื่อนสาวสมัยมังค์ยังเป็นวัยรุ่น) ; Crepuscule with Nellie (แต่งให้ภรรยาระหว่างเข้ารับการผ่าตัด) และ  Pannonica (แต่งให้ บารอนเนส แพนโนนิกา ผู้อุปถัมภ์แจ๊ส) เป็นต้น

  ธีโลเนียส มังค์ อัจฉริยะดนตรีผู้เดียวดาย

ท่ามกลางสายตาของผู้คนที่มองข้ามแววอัจฉริยภาพของ มังค์ ไป อาจกล่าวได้ว่า โคลแมน ฮอว์กินส์ (Coleman Hawkins) นักเทเนอร์แซ็กโซโฟน เจ้าของเวอร์ชั่นเพลง Body & Soul อันโด่งดังมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1939 เป็นคนแรก ที่ตัดสินใจชักชวนนักเปียโนประหลาดคนนี้มาร่วมงานบันทึกเสียงด้วย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1944 ผลลัพธ์ก็คือ ทั้งนักวิจารณ์และนักดนตรีต่างโขกสับ มังค์ เสียเละ  ! มังค์ มีโอกาสบันทึกเสียงในนามของตนเองจริง ๆ เป็นครั้งแรกกับสังกัด บลูโน้ต เมื่อปี ค.ศ.1947 สมัยนั้น บลูโน้ต เป็นเพียงสังกัดเล็ก ๆ แต่เปิดโอกาสให้เขาเลือกไซด์แมนได้ตามใจชอบ ในจำนวนนี้ประกอบด้วยมือทรัมเป็ตอย่าง ไอดรีส ซูไลแมน และ จอร์จ เทท, มืออัลโต แซ็กโซโฟน วัย 22 ปี อย่าง ซาฮิบ ชิฮับ และวัย 17 ปี อย่าง แดนนี ควีเบค เวสต์ ขณะที่มีมือกลองระดับพระกาฬในสายบ็อพ อย่าง อาร์ต แบล็กกีย์ และมือกลองจากวงของ เคาน์ เบซี นาม รอสซิแอร์ “ชาโดว์” วิลสัน มาร่วมงานในบางเพลง ในการบันทึกเสียงเซสชั่นสุดท้ายที่อัดกับบลูโน้ต เมื่อปี ค.ศ.1952 มังค์ ได้ไซด์แมนที่โดดเด่นยิ่งขึ้น ประกอบด้วย เคนนี ดอแรม-ทรัมเป็ต, ลู โดนัลด์สัน-อัลโต แซ็กโซโฟน, ลัคกี ธอมพ์สัน-เทเนอร์ แซ็กโซโฟน, เนสลัน บอยด์-เบส และ  แม็กซ์ โรช-กลอง และเช่นเคย ผลงานของ มังค์ ที่ออกระหว่างช่วงปี ค.ศ.1947-1952 ไม่ประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์แม้แต่น้อย ทั้งที่ผลงานเหล่านี้ คืองานระดับ “ขึ้นหิ้ง” ที่ได้รับการยอมรับในวิธีการสร้างสรรค์งานดนตรีอย่างแยบยลในเวลาต่อมา ช่วงปี ค.ศ.1947 น่าจะเป็นปีทองของ มังค์ ไม่ว่าจะเป็นการมีโอกาสได้อัดแผ่นครั้งแรก แถมยังสละโสด แต่งงานกับ เนลลี สมิธ ซึ่ง 2 ปีต่อมาทั้งคู่มี มังค์ จูเนียร์ เป็นพยานรักออกมาลืมตาดูโลก แต่ฐานะการเงินการงานของมังค์ไม่ใคร่ดีนัก นักเปียโนลูกอ่อนพยายามทำงานสุดกำลัง แต่ในเวลาเดียวกัน เขาไม่ยอมประนีประนอมต่อการผ่อนปรนวิสัยทัศน์ทางด้านดนตรีเพื่อรับใช้ธุรกิจ เรียกง่าย ๆ ว่า ให้ไปขายเต้าฮวยดีกว่าทำเพลงห่วย ๆ เอาใจนายทุน ทุกอย่างแย่ลงเป็นลำดับ เมื่อ มังค์ ถูกจับในข้อหาครอบครองยาเสพติด เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยกเลิกบัตรอนุญาตให้เล่นดนตรี (เรียกกันว่า คาบาเรต์ การ์ด) นั่นหมายความว่า เขาไม่มีโอกาสเล่นดนตรีตามไนต์คลับ หรือสถานที่ขายแอลกอฮอล์ในละแวกบ้านของตัวเองเป็นเวลาถึง 6 ปี ช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ มังค์ ผละไปเล่นดนตรีตามแหล่งใกล้เคียง เช่น บรุกลิน รับงานนอกเมือง เล่นตามงานคอนเสิร์ตบ้าง หรืออยู่กับบ้านแต่งเพลงใหม่ ฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ.1953 ลูกสาวของมังค์ นาม บาร์บารา ลืมตาออกมาดูโลก เชื่อมต่อช่วงฤดูร้อนในปีเดียวกัน เขาบินไปแสดงดนตรีในงานเทศกาลดนตรีแจ๊สที่ปารีสเป็นครั้งแรก ที่นั่น เขาได้อัดอัลบั้มชุดหนึ่งสำหรับสังกัดท้องถิ่นที่ชื่อ “โว้ก” ระหว่างปี ค.ศ.1952-54 มังค์ มีงานบันทึกเสียงจำนวนหนึ่งออกกับสังกัด “เพรสทิจ” แน่นอนในจำนวนนี้มีอัลบั้มเด่นที่ทำกับศิลปินแถวหน้า อย่าง ซันนี โรลลินส์, ไมล์ส เดวิส และ มิลท์ แจ็คสัน รวมอยู่ด้วย และหลายคนคงจำกันได้ดีถึงความขัดแย้ง ทั้งในด้านอัตตาและแนวคิดทางดนตรี ระหว่าง มังค์ กับ ไมล์ส เดวิส ในเซสชั่น Bag’s Groove ซึ่งเป็นกรณีคลาสสิกครั้งหนึ่งของวงการแจ๊สเลยทีเดียว ปี ค.ศ.1955 มังค์ เซ็นสัญญาทำงานกับสังกัด “ริเวอร์ไซด์” โดยมีอัลบั้มชั้นดีออกมาหลายชุดด้วยกัน อาทิ Plays Duke Ellington, Brilliant Corners และ Monk’s Music เป็นต้น จนกระทั่งอีก 2 ปี ด้วยความช่วยเหลือจาก บารอนเนสส์ แพนโนนิกา เดอ โคเอนนิกสวอร์เทอร์ (คนที่มังค์ แต่งเพลง Pannonica ให้ และเป็นคนเดียวกันกับที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ ชาร์ลี พาร์คเกอร์) เขาได้รับ คาบาเรต์ การ์ด กลับคืน อันเป็นผลให้มีโอกาสแสดงดนตรีคู่กับ จอห์น โคลเทรน ในไนท์คลับชื่อ ไฟว์ สปอต คาเฟ นับจากจุดนี้ ชีวิตในวงการดนตรีของ มังค์ เริ่มจรัสแสง เขาได้แจมกับนักดนตรีชื่อดังนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ จอห์นนี กริฟฟิน, คลาร์ก เทอร์รี ไปจนถึง เจอร์รี มัลลิแกน ผลงานของเขาได้รับการกล่าวขานจากนักวิจารณ์ และมีการนำไปใช้เป็นตัวอย่างของการศึกษาในสถาบันดนตรี ในปี ค.ศ.1959 มังค์ ทดลองทำวงบิ๊กแบนด์ เปิดแสดงที่ ทาวน์ ฮอลล์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง ราวกับว่าถึงเวลานี้ ผู้คนพร้อมแล้วสำหรับการรับฟังเสียงดนตรีของเขา ปี ค.ศ.1961 มังค์เริ่มทำวงดนตรีของตนเองขึ้นใหม่ โดยได้ ชาร์ลี รูส ในตำแหน่งเทเนอร์ แซ็กโซโฟน, จอห์น โอเร ในตำแหน่ง เบส (ต่อมาแทนที่ด้วย บุทช์ วอร์เรน และ แลร์รี เกลส์) และ แฟรงกี ดันลอป มือกลอง (ต่อมาแทนที่โดย เบน ไรลีย์) ช่วงต้นทศวรรษ 1960s นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในชีวิตการทำงานของ มังค์ เขาเริ่มมีโอกาสเผยแพร่แนวทางดนตรีอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนหน้านั้น มังค์ เข้าร่วมเทศกาลนิวพอร์ต แจ๊ส เฟสติวัล ในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ.1962 จากนั้นแสดงในรูปแบบบิ๊กแบนด์ และ ควอร์เทท ที่ เดอะ ฟิลฮาร์มอนิก (ต่อมาเป็นที่รู้จักในนาม ลินคอล์น เซ็นเตอร์) ในเดือนธันวาคม ทุกอย่างดีขึ้นเป็นลำดับในปีถัดมา มังค์ ได้เซ็นต์สัญญากับสังกัดหลักอย่าง “โคลัมเบีย” และมีโอกาสทัวร์ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ในช่วงเดือนพฤษภาคม กับเพื่อนนักดนตรีที่รู้ใจอย่าง ชาร์ลี รูส, บุทช์ วอร์เรน และ แฟรงกี ดันล็อป ที่นั่น เขากลายเป็นศิลปินแจ๊สที่แฟนเพลงชาวญี่ปุ่นชื่นชมกันอย่างมาก (การแสดงสดในครั้งนั้นคลี่คลายออกมาเป็นอัลบั้มแผ่นคู่ Monk In Tokyo โดยสังกัด โคลัมเบีย) [caption id="attachment_6593" align="aligncenter" width="480"] ธีโลเนียส มังค์ อัจฉริยะดนตรีผู้เดียวดาย Photo Credit: William P. Gottlieb[/caption] เดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1964 นิตยสาร ไทม์ นำเสนอเรื่องราวของ มังค์ ขึ้นปก  (เดิม ไทม์ ปกมังค์ เตรียมวางแผงราวช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1963 แต่ บังเอิญว่า ปธน. จอห์น เอฟ เคนเนดี  ถูกลอบสังหาร ในวันที่ 23 พฤศจิกายน เรื่องของมังค์ จึงถูกเลื่อนออกไป) โดย ไทม์ เรียกเขาว่า “มังค์ ผู้โดดเดี่ยวที่สุด” (The Loneliest Monk) สอดรับกับคำบอกเล่าของ จอห์นนี กริฟฟิน ที่ว่า มังค์คือคนติดบ้าน ถ้ามังค์ไม่ออกมาทำงาน ผู้คนจะไม่ได้พบเขา มังค์พักอยู่กับบ้าน เขาหลบออกไป และพักผ่อน” ภาพลักษณ์ของการเป็นศิลปินแจ๊สที่แปลก ในอีกด้านหนึ่งก็คือความเป็นแฟมิลีแมน กล่าวกันว่า มังค์ ไม่เคยพลาดกิจกรรมสำคัญของครอบครัวเลย เช่น งานวันเกิด งานวันคริสต์มาส นอกจากนี้ เขายังแต่งเพลงที่มีความสนุกสนานแต่ซับซ้อนไม่น้อย ให้แก่ลูก ๆ เช่น  Little Rootie Tootie แต่งเพลง Boo Boo’s Birthday ให้ลูกชาย และ Green Chimneys ให้ลูกสาว รวมถึงเพลงเฉลิมฉลองคริสต์มาสที่มีชื่อเท่ ๆ ว่า A Merrier Christmas ท่ามกลางสภาพความเป็นอยู่อย่างลำบากภายในครอบครัว แต่ทุกคนดูเหมือนจะต่อสู้กับอุปสรรคเหล่านี้ได้ด้วยดี ในหนังสือ The Jazz Life ที่เขียนโดย แนท เฮนทอฟฟ์ ภรรยาของมังค์ เนลลี ให้สัมภาษณ์แง่มุมอันน่าสนใจของ มังค์ ไว้ตอนหนึ่งว่า “ฉันเคยวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปภาพหรืออะไรก็ตามที่แขวนไว้บนผนัง แล้วเบี้ยวผิดที่ไปแม้เพียงเล็กน้อย ธีโลเนียสรักษาฉัน ด้วยการตอกติดนาฬิกาบนผนังด้วยมุมที่เอียงมาก ๆ มากพอที่จะทำให้ฉันโกรธเกลียดขึ้นมาได้ เราทะเลาะกันเรื่องนี้ 2 ชั่วโมง เขาสั่งไม่ให้ฉันยุ่งกับมัน ในที่สุด ฉันก็เคยชิน ถึงตอนนี้ อะไรจะเอียงกระเท่เร่ยังไง ก็ไม่ได้รบกวนฉันอีกต่อไปแล้ว” ทศวรรษ 1960s ทำท่าว่าจะไปได้ดี มังค์ มีผลงานที่ประสบความสำเร็จจากการออกอัลบั้มกับสังกัดใหญ่อย่าง โคลัมเบีย หลายชุด อาทิ Criss Cross, Monk’s Dream, It’s Monk Time, Straight No Chaser และ Underground อย่างไรก็ตาม เทรนด์หลักของอุตสาหกรรมเพลงในเวลานั้น คือ ดนตรีร็อค ดังนั้น ศิลปินแจ๊สจึงไม่ได้อยู่ในจุดที่ได้รับความสนใจมากนัก อัลบั้มสุดท้ายที่ มังค์ ผลิตให้ โคลัมเบีย คือ Monk’s Blues ในรูปของวงบิ๊กแบนด์ ที่ทำร่วมกับวงของ โอลิเวอร์ เนลสัน (Oliver Nelson) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1968 ซึ่งกลายเป็นงานที่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านศิลปะและยอดขาย เมื่อประกอบกับความไม่ใส่ใจใยดีของค่ายเพลงและปัญหาด้านสุขภาพที่เสื่อมโทรมลง ทำให้นักเปียโนคนนี้ห่างหายจากสตูดิโอไปในที่สุด ชาร์ลี รู้ส มือแซ็กโซโฟนคู่ขวัญ ตัดสินใจลาออกจากวงของ มังค์ ในเดือนมกราคมปี ค.ศ.1970 หลังจากนั้นอีก 2 ปี สังกัด “โคลัมเบีย” คัดรายชื่อมังค์ออกจากการเป็นศิลปินในสังกัด เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้มังค์มีงานแสดงและงานบันทึกเสียงน้อยลงยิ่งขึ้น วงควอร์เททในระยะสุดท้ายของ มังค์ มี แพท แพทริค และ พอล เจฟฟรีย์ ในตำแหน่งแซ็กโซโฟน และมี ธีโลเนียส มังค์ จูเนียร์ ในตำแหน่งกลอง ช่วงปี 1971-72 เขาออกทัวร์ภายใต้ชื่อ Giants of Jazz ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มศิลปินบ็อพ ประกอบด้วย ดิซซี กิลเลสปี, คาย ไวน์ดิง, ซันนี สติทท์, อัล แมคกิบอน และ อาร์ต แบล็กกีย์ มีบันทึกไว้ว่า มังค์ แสดงดนตรีต่อหน้าสาธารณะครั้งสุดท้ายในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1976 และด้วยปัญหาสุขภาพ ด้วยความอ่อนล้าโรยแรง และการหมดสิ้นไฟในการทำงานสร้างสรรค์ ทำให้ มังค์ หันหลังให้แก่เสียงดนตรีอย่างถาวร   ครั้งหนึ่งราวปี ค.ศ.1980 ระหว่างเดินทางจากซานฟรานซิสโก เพื่อแวะมาทำธุระที่นิวยอร์กซิตี  ออร์ริน คีพนิวส์ (Orrin Keepnews) โปรดิวเซอร์ผู้ก่อตั้งสังกัด “ริเวอร์ไซด์” ได้โทรศัพท์ไปหา มังค์ หลังจากไม่ได้ติดต่อกันหลายปี บทสนทนาของคนทั้งสองมีดังต่อไปนี้ “ธีโลเนียส ทุกวันนี้คุณยังเล่นเปียโนอยู่รึเปล่า?” “ผมไม่ได้เล่น” “แล้วยังอยากกลับมาเล่นมั้ย ?” “ไม่ ผมไม่อยาก” “ตอนนี้ ผมอยู่ที่นี่ 2-3 วัน อยากให้ผมแวะไปหา และคุยกันเรื่องวันเก่า ๆ มั้ย ?” “ไม่ ผมไม่อยาก” เมื่อ ออร์ริน เล่าเรื่องนี้ให้ แบร์รี แฮร์ริส ฟัง แบรี ซึ่งเป็นเพื่อนที่ได้อยู่ใกล้ชิด มังค์ ในช่วงปีท้าย ๆ บอกว่า “คุณโชคดีแล้วนะ คุณได้ฟังเขาตอบครบทั้งประโยค กับคนส่วนมาก เขาพูดแค่ว่า ‘ไม่’ ” หลังจากป่วยด้วยโรคเส้นเลือดอุดตันในสมอง และอยู่ในสภาพไม่รู้สึกตัวมาก่อนหน้านั้น 12 วัน ธีโลเนียส มังค์ เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1982 เป็นเวลาหลายปีภายหลังการเสียชีวิตของ ธีโลเนียส มังค์ มีรายงานการศึกษาทางการแพทย์วิเคราะห์พฤติกรรมของ มังค์ว่า เขาน่าจะมีอาการป่วยที่เรียกว่า neurobiological disorder หรือที่รู้จักในนาม asperger syndrome (ตั้งตามชื่อของ Hans Asperger) ซึ่งจัดเป็นลักษณะของออทิสซึมแบบหนึ่ง มีคุณสมบัติใกล้เคียงความเป็นอัจฉริยะ โดยบุคคลในกลุ่มนี้ นอกจาก มังค์ แล้ว คาดว่ายังครอบคลุมถึง เซอร์ ไอแซค นิวตัน, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, ลุดวิก วิทเทนสไตน์, เกล็นน์ กูลด์ และ สแตนลีย์ คูบริค เป็นต้น   ข้อมูลประกอบการเขียน - Robin D. G. Kelley, Thelonious Monk (Free Press) - Orrin Keepnews, Thelonious and Me (Liner Notes from The Complete Riverside Recordings 1987) - Gary Giddins, Vision of Jazz - Gary Giddin & Scott DeVeaux , Jazz - Dan Morgenstern , An Evening with Monk (Jazz Journal 1960)