ดราม่าร้อน Voucher ทิพย์ กรณีศึกษาจาก ‘แหลมเกต’ ถึง ‘ดารุมะซูชิ’
ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัยสำหรับคนไทยก็มักจะพูดว่า “แซลมอนจะเยียวยาทุกสิ่ง” ซึ่งเป็นคำติดปากของใครหลายคนมานาน
แต่จากกระแสดราม่าข้ามคืนของร้านอาหาร ‘ดารุมะซูชิ’ (Daruma Sushi) ร้านอาหารญี่ปุ่นที่โด่งดังเรื่องบุฟเฟต์แซลมอน ซึ่งมีสาขาในประเทศไทยมากถึง 27 สาขาด้วยกัน ได้ประกาศปิดปรับปรุงร้านแบบไม่มีกำหนด จนกลายเป็นฝันร้ายของสาวกแซลมอนไปตาม ๆ กัน ซึ่งก็กลายเป็นประเด็นชวนถกในกลุ่มโซเชียลมีเดียไม่น้อย เพราะทำให้นึกถึงกรณีจาก ‘แหลมเกต’ ร้านอาหารซีฟู้ดชื่อดังจากชลบุรีที่เคยสร้างบาดแผลให้กับสาวกซีฟู้ดมาแล้ว
บาดแผลซีฟู้ดจากแหลมเกต
ย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อนกรณีของร้านแหลมเกตซึ่งมีความคล้ายกับกรณีของร้านอาหารดารุมะซูชิอย่างมาก โดยแหลมเกตได้เปิดขาย Voucher ราคาเริ่มต้น 100 บาท จากราคาเต็ม 888 บาท แต่เมื่อลูกค้านำ Voucher ไปใช้จริงกลับต้องจ่ายเพิ่มอีกหลายเมนู (เพราะไม่รวมในเงื่อนไข) บ้างก็รีวิวว่าต้องจองคิวล่วงหน้าเป็นเวลานาน จนทำให้หลายคนที่ซื้อ Voucher ใช้ไม่ทัน
จากนั้นไม่นานก็เกิดปรากฏการณ์ลูกค้าแห่มาขอเงินคืนที่ร้าน หลังจากที่ร้านได้ประกาศยกเลิกและงดให้บริการทุกโปรโมชั่น โดยให้เหตผุลว่าผลตอบรับจากการขาย Voucher มากเกินความคาดหมาย จึงทำให้วัตถุดิบของทางร้านไม่เพียงพอ ก่อนที่จะประกาศ ‘ปิดกิจการชั่วคราว’ จนนำมาสู่การปิดร้านสาขาอย่างถาวร และเป็นเหตุให้ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุกทางผู้บริหารเป็นเวลา 1,446 ปี มีการปรับรวมทั้งหมด 3.6 ล้านบาท และบริษัทต้องชดใช้ด้วยการคืนเงินให้ผู้เสียหายกว่า 2.5 ล้านบาท
ฝันร้ายคนรักแซลมอนจากดารุมะซูชิ
เมื่อวันที่แซลมอนไม่ได้เยียวยาคนรักปลาส้มอีกต่อไป จากกรณี Voucher ทิพย์จากร้านดารุมะซูชิ ร้านบุฟเฟต์แซลมอนที่ประกาศปิดให้บริการโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า หลังจากที่เปิดขาย Voucher ในราคา 199 หั่นจากราคาเต็ม 499 บาท โดยมีเงื่อนไขกำกับว่าลูกค้าจะต้องซื้อ E-Voucher จำนวน 5 ใบ ซึ่งมีอายุการใช้งานเพียง 6 เดือน
จากกระแสตอบรับที่เกินคาดของกลุ่มคนรักแซลมอน ทำให้ล่าสุดทั้งเพจเฟซบุ๊กของร้านดารุมะซูชิ และเว็บไซต์หลักได้ปิดตัวลงหายเข้ากลีบเมฆ ทั้งยังไม่มีคำอธิบายใด ๆ จากคุณเมธา ชลิงสุข กรรมการบริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งร้านดารุมะซูชิแห่งแรกก็ว่าได้ โดยได้ลงทุนด้วยงบ 2 ล้านบาทเปิดร้านแรกที่ย่านถนนสุขุมวิทในปี 2559
ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปีแรกที่ร้านดารุมะซูชิ เปิดให้บริการมีผลประกอบการประมาณ 11 ล้านบาท และขาดทุนไปกว่า 4 ล้านบาท จากนั้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ร้านดารุมะซูชิได้ผลกำไรทุกปี โดยปีล่าสุด 2564 ผลประกอบการอยู่ที่ 45 ล้านบาท และมีกำไรกว่า 1 ล้านบาท ยิ่งทำให้การหายตัวของทั้งผู้บริหารและปรากฏการณ์ปิดร้านสาขาน่าสงสัยมากขึ้น
ในจำนวน 27 สาขาร้านดารุมะซูชิ มีทั้งผู้ก่อตั้งลงทุนเองและการขายแฟรนไชส์ หนึ่งในนักลงทุนที่ซื้อแฟรนไชส์ก็คือ คุณเพชร (กฤชฐารวี พิจิตรพงศ์ชัย) นักธุรกิจที่มีชื่อเสียงในวงการเครื่องครัว ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเปิดเผยถึงการบริหารจัดการ และการจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ ของร้านดารุมะซูชิว่าทำโดยผู้บริหารของบริษัทดารุมะซูชิแต่เพียงผู้เดียวทั้งหมด รวมทั้งการทำเรื่องบัญชีรายรับรายจ่ายของร้านสาขาทั้งหมดด้วย โดยจะเป็นรูปแบบธุรกิจที่จะปันผลให้กับนักลงทุนคนอื่น ๆ เป็นรายเดือนแทน
ไม่ว่ากระแสข่าวลือในแง่ลบที่มีทั้งบอกว่าผู้บริหารร้านดารุมะซูชิไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแล้ว กับกระแสที่บอกว่าบริษัทดารุมะซูชิยังมีหนี้ค้างค่าปลาแซลมอนและซัพพลายเออร์อยู่เป็นตัวเลขสูงกว่า 30 ล้านบาท ถึงตอนนี้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าจริงหรือไม่ แต่สำหรับผู้บริโภคและนักลงทุนที่ซื้อแฟรนไชส์ก็คงใจเสียกับเหตุการณ์นี้อยู่ไม่น้อย
สำหรับกลยุทธ์การดึงลูกค้าด้วยการเปิดขาย Voucher แม้ว่าจะเป็นวิธีเก่าที่ยังคลาสสิกและธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมเลือกใช้ แต่เชื่อว่าเหตุการณ์แบบนี้ทั้งจากแหลมเกตจนถึงกรณีของดารุมะซูชิ คงทำให้ผู้บริโภคไม่ไว้ใจอะไรง่าย ๆ และคงต้องไตร่ตรองให้ดีก่อนซื้อ เพราะบางทีการมองแค่เปลือกนอกว่าเป็นร้านที่ขายดีหรือเปิดมานานมันอาจจะไม่พอให้ตัดสินใจแล้ว
ภาพ: Getty Images
ที่มา:
https://www.bangkokbiznews.com/business/1010883
https://www.bbc.com/thai/thailand-61857046
https://www.nationtv.tv/news/378876951
https://www.nationtv.tv/news/378877057
https://www.prachachat.net/marketing/news-958816