เพิ่ม Thepeople
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
ติดตั้ง
ปิด
read
interview
12 มี.ค. 2565 | 15:00 น.
ศุภธัช มะเฟือง: เสียงของนักเรียนไทยผู้ใช้ชีวิตอยู่ในรัสเซีย ตั้งแต่ยุคก่อนโควิด-19 จนถึงการคว่ำบาตร
“การคว่ำบาตรของยุโรปครั้งนี้มันหนักกว่าในอดีตที่ผ่านมา ทุกคนได้รับผลกระทบกันหมด ไม่ใช่แค่คนไทย แรงงานไทย หรือนักศึกษาไทยในรัสเซียหรอก ชาวรัสเซียเองก็ได้รับผลกระทบ แต่มันไม่ได้หนักเหมือนที่สื่อตะวันตกพยายามนำเสนอนะ... ไม่ได้แย่ขนาดนั้น
“ทั้งคนไทยและคนรัสเซีย พวกเรายังอยู่กันได้ ไม่ได้ลำบากอะไร เพราะอย่าลืมนะว่าคนรัสเซียเขามีความเป็นชาตินิยมสูง สูงมากเลยด้วย การที่แบรนด์ต่างชาติปิดตัวลง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตเขาขนาดนั้น เรายังมีทางเลือกอื่น มีร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า ให้เลือกอีกเยอะ แต่เราก็พูดไม่ได้เต็มปากหรอกว่าทุกคนเขาจะอยู่กันได้จริง ๆ” คือข้อสรุปของนักศึกษาไทยในมอสโก ที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของรัสเซียมาตลอดระยะเวลา 4 ปี ใช้ชีวิตทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัด ซึ่งวิกฤตครั้งนี้ทำให้เขาเห็นภาพชัดเจนขึ้นไปอีกว่า ‘รัสเซียก็คือรัสเซีย’ ความเป็นชาตินิยมที่ฝังรากลึก ทำให้ดินแดนหลังม่านเหล็กแห่งนี้ยังคงแข็งแกร่งมาจนถึงปัจจุบัน
The People ต่อสายตรงไปยังกรุงมอสโกเพื่อพูดคุยกับ ‘ดิว - ศุภธัช มะเฟือง’ นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ สาขาปัญหาการเมืองโลกยุคโลกาภิวัตน์ มหาวิทยาลัย Peoples’ Friendship University of Russia (RUDN University) โดยก่อนหน้านี้ในปี 2017 เขาได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัย Ural Federal University มาด้วย ทำให้ ‘พอจะ’ เข้าใจวิถีชีวิตของนักศึกษาไทยในเมืองหลวงกับต่างจังหวัดอยู่บ้าง
แม้จะอยู่คนละไทม์โซน แต่บทสนทนาของเรากลับลื่นไหลราวกับกำลังนั่งคุยกันอยู่ข้าง ๆ รู้ตัวอีกทีก็ผ่านไป 2 ชั่วโมงกว่าแล้ว “บรรยากาศในมอสโกยังปกติดี ทุกอย่างดำเนินไปตามวิถีของมัน ไม่มีการชัตดาวน์ ไม่มีบรรยากาศที่เศร้าหมองเหมือนเมืองอื่น” ดิวเริ่มบทสนทนา พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่าบางคนอาจจะรู้สึกว่ามันเงียบ หรือมันดูไม่คึกคักเหมือนเมื่อก่อน ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ไม่ใช่เพราะภัยสงครามไปเสียทั้งหมด
“เพราะโควิด-19 งานก็ไม่มีอยู่แล้ว พอโดนคว่ำบาตรอีก งานยิ่งไม่มีเข้าไปใหญ่ โดยเฉพาะเมืองเล็ก ๆ ที่เขาได้รับค่าจ้างน้อยกว่ามอสโกถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อย่างมอสโกและเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่มีค่าครองชีพเทียบเท่ากับยุโรป เราเลยจะเห็นว่าแรงงานที่มาทำงานในรัสเซีย ส่วนใหญ่เขาก็จะมากระจุกตัวอยู่ที่เมืองนี้เป็นหลัก
“คนที่ได้รับผลกระทบหนัก ๆ คือกลุ่มแรงงานต่างชาติ ไม่ใช่นักศึกษาไทย” ดิวย้ำ เนื่องจากเงินบาทแข็งกว่ารูเบิล ทำให้นักศึกษาไทยสามารถซื้อของได้จำนวนเยอะขึ้นในราคาที่ถูกลง เมื่อเทียบกับแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติในรัสเซียที่ได้รับการจ่ายเงินเดือนในสกุลเงินรูเบิล การส่งเงินกลับบ้านจึงน้อยลงไปด้วย
หลังจากที่หลายบริษัททยอยปิดทำกิจการมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คนที่ติดตามข่าวสารจากแดนไกลอย่างเรา อดสงสัยไม่ได้ว่าแล้วชีวิตความเป็นอยู่ของเขาท่ามกลางภัยสงครามที่ยังคงร้อนระอุจะเป็นอย่างไร เขาเล่าว่า “แบรนด์รัสเซียมีให้เลือกเยอะมาก เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงเลยว่าเราจะไม่มีอะไรกิน อย่าง McDonald’s, KFC, Starbucks, Coca-Cola และ PepsiCo ที่ปิดไป เราก็สามารถไปอุดหนุนร้านโลคอล ซึ่งรสชาติก็ไม่ได้ต่างกันมาก มันแทนกันได้หมด แถมราคายังถูกกว่าด้วย
“เหมือนเราเดินเข้าไปในห้างแล้วมีร้านค้าให้เลือกเยอะมากเป็น 30 ร้าน แต่มีร้านปิดอยู่แค่ 3 - 4 ร้าน เราไม่ได้แบบ โอ๊ย! ไม่มีอะไรกิน ไม่อยากให้ทุกคนคิดแบบนั้น เราอยู่กันได้จริง ๆ
“คนที่อยู่ต่างจังหวัดเขาอาจจะได้รับผลกระทบมากกว่านิดหน่อย แต่เราเชื่อว่าไม่มากขนาดนั้น แต่ละเมืองก็มีร้านอาหารของตัวเอง คนรัสเซียเขาไม่ได้นิยมเข้าร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่าง McDonald’s หรือ KFC เพราะอย่างที่เราบอกว่าเขามีความเป็นชาตินิยมสูง ถ้าเขาเลือกได้ เขาก็จะกินแต่อาหารรัสเซีย” เขาเล่าในฐานะที่เคยไปอยู่ต่างจังหวัดอย่างเมืองเยคาเตรินเบิร์กมาเป็นเวลาปีกว่า
ส่วนผลกระทบที่เขาได้รับโดยตรงคือบัตร Visa และ Mastercard ที่ถูกระงับการทำธุรกรรมในรัสเซีย “ตอนนี้ก็จะมีความลำบากอยู่บ้างเรื่องการกดเงินจากตู้ ATM มาใช้ไม่ได้ เพราะว่าเงินหมดตู้ บางร้านเราก็จ่ายเงินผ่านบัตรไทยไม่ได้ก็มี เพราะธนาคารปลายทางของร้านค้าเขาถูกคว่ำบาตร แต่เรื่องกดเงินเราก็หาทางออกได้นะ ก็แค่เปลี่ยนไปกดตู้ธนาคารอื่นแทน มันก็ไม่ได้ลำบากอะไร”
ซึ่งดิวได้แนะนำเทคนิคส่วนตัวในการกดเงินมาใช้ในยามสงครามเช่นนี้ว่า ให้ไปในช่วงเช้าจะดีที่สุด จะได้ไม่ต้องแย่งกับคนรัสเซียอีกทีหนึ่ง ส่วนใครที่ต้องการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต เขาบอกว่าให้ลองเปลี่ยนมาใช้ธนาคารอื่นดู เช่น Sberbank, Alfa Bank และ Ural Sib Bank แทนธนาคาร VTB ที่โดนคว่ำบาตร
นอกจากนี้ดิวยังได้เผยแง่มุมที่น่าสนใจในฐานะนักศึกษารัฐศาสตร์ว่า “การคว่ำบาตรครั้งนี้เป็นการประณามเชิงสัญลักษณ์ รัสเซียเคยโดนแบบนี้มาแล้วในปี 2014 (เหตุการณ์รัสเซียผนวกไครเมีย) ปีนั้นก็มีการคว่ำบาตรหนัก ๆ แต่สุดท้ายแล้วธุรกิจมันต้องดำเนินต่อไป การที่แบรนด์ต่างชาติเขาตัดสินใจคว่ำบาตรรัสเซีย เขาทำไปเพื่อแสดงออกให้คนทั่วโลกเห็นว่าเขาเข้าข้างความถูกต้องนะ เขาต่อต้านสงคราม และไม่เห็นด้วยกับการกระทำของปูติน”
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของคนรัสเซียถึงการทำสงครามกับยูเครนครั้งนี้ ดิวไม่ได้บอกกับเราตรง ๆ ในตอนแรกว่าชาวรัสเซียรู้สึกอย่างไร เขาหยิบโพลสำรวจของ Russian Public Opinion Research Center (VTsIOM) สถาบันวิจัยอิสระ ที่ร่วมมือกันจากแทบทุกมหาวิทยาลัยในรัสเซีย มาอธิบายประกอบเป็นฉาก ๆ ว่าคนในประเทศนี้เขาคิดเห็นอย่างไร แต่ก็ไม่วายลงท้ายว่า “โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม” เพราะผลสำรวจอาจไม่ตรงกับความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ ดิวแอบกระซิบว่าขอให้เราเชื่อแค่ครึ่งเดียวก็พอ
“ถ้าอ่านจากโพลนี้จะเห็นเลยว่าชาวรัสเซีย 70% เห็นด้วยกับการทำปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ทั้งความเห็นด้วยในเชิงสนับสนุนการทำสงคราม และความเห็นด้วยในเชิงที่ว่าการกระทำของรัฐบาลภายใต้การนำของปูตินเนี่ยถูกต้องแล้ว แต่ในโพลก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป เพราะว่าคนส่วนใหญ่ก็เป็นแค่คนที่สถาบันเลือกมา มันก็อาจจะเชื่อถือไม่ได้ เพราะไม่ได้ทำการสำรวจจากทั้งประเทศ” ดิวอธิบายผลสำรวจจากสถาบันวิจัยคร่าว ๆ ให้เราฟัง
หากสนใจอยากอ่านฉบับเต็ม สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://meduza.io/amp/feature/2022/03/05/esli-verit-gosudarstvennym-sotsoprosam-bolshinstvo-rossiyan-podderzhivayut-voynu-v-ukraine-no-mozhno-li-im-verit?fbclid=IwAR3VGN9EPUdFIHZDcztfQ7KYueax00bbVrInQLXPL_zzz7d3fJnQKyffkvU
เมื่อเทียบกับช่วงแรกที่เริ่มทำสงครามใหม่ ๆ ดิวบอกว่าคนรัสเซียแทบทุกคนสนับสนุนการกระทำของปูติน เพราะต้องการให้เมืองโดเนตสก์ - ลูฮันสก์ กลับมาอยู่กับรัสเซีย และคิดว่าปูตินคงแค่เข้าไปประกาศให้เป็นรัฐอิสระเหมือนในกรณีการผนวกไครเมียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในปี 2014 ที่ไม่มีคนบาดเจ็บหรือล้มตาย ต่างจากสถานการณ์ปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง
“ส่วนตัวเรามีเพื่อนที่ทั้งสนับสนุนและไม่สนับสนุนสงคราม คนที่ไม่สนับสนุนก็จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ เขาจะมีโลกทัศน์ที่กว้างไกลกว่า คนที่สนับสนุนก็จะเป็นคนที่มีอายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป
“คนที่ไม่สนับสนุนสงคราม เขาก็จะคิดว่าทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน จะมาต่อสู้กันทำไมให้เกิดความเสียหายกันทั้งสองฝ่าย ส่วนอีกประเด็นคือคนรัสเซียเขาคิดว่ายูเครนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโซเวียตแล้ว ยูเครนไม่จำเป็นต้องทำตามความต้องการของปูติน เขามีอธิปไตยเป็นของตัวเอง เขาก็มีสิทธิ์ที่จะดำเนินนโยบายต่างประเทศตามแบบของตัวเอง
“คนที่สนับสนุนสงคราม เขาก็จะคิดว่าสิ่งที่ ‘ผู้นำ’ เขาทำมันถูกต้อง เราต้องช่วยชาวรัสเซียที่ถูกนีโอนาซีไล่ฆ่าอยู่
ทางตะวันออก
สิ ไม่งั้นเพื่อนร่วมชาติพันธุ์ของเราจะเดือดร้อนนะ เราต้องช่วยเขา ซึ่งคนที่สนับสนุนปูตินหรือการทำสงครามเนี่ย เขาจะมีแนวคิดเหมือนกันคือการบูชาตัวบุคคล เขามั่นใจในตัวผู้นำ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะล่ม ก็ยังคงไว้ใจ มันคือความรักแบบโรแมนติกที่เขารักและเชิดชูผู้นำ ถึงแม้จะมีการใช้ความรุนแรง มีความเป็นเผด็จการ แต่คนกลุ่มนี้ก็เลือกที่จะเชื่อมั่นในตัวผู้นำของเขา”
นอกจากความรักแบบโรแมนติกที่ชาวรัสเซียบางกลุ่มมอบให้กับปูตินตามที่ดิวนิยามแล้ว สื่อรัสเซียยังมีส่วนที่ทำให้ประชาชนไม่ค่อยได้รับรู้ข่าวสารจากโลกตะวันตกมากนัก ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงข่าวสารได้มากกว่า
“เขาปิดกั้นสื่อจริง เราจะไม่ค่อยได้เห็นข่าวว่าทหารรัสเซียบาดเจ็บหรือตาย เหมือนกับที่ยูเครนนำเสนอ เราจะเห็นแค่ว่าทหารรัสเซียสามารถยึดเมืองนั้นเมืองนี้ได้แล้ว ไม่เห็นข่าวว่ามีการจับกุมผู้ประท้วง ไม่เห็นข่าวว่ารัสเซียถล่มเมืองอื่นจนราบคาบ”
อย่างไรก็ตาม การปิดกั้นสื่อของรัฐบาลรัสเซียไม่ได้ปิดหูปิดตาประชาชนในประเทศไปเสียทั้งหมด เพราะยังมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยและออกมาต่อต้านปูตินเป็นระยะ ดิวบอกว่าตำรวจที่นี่เขาทำงานกันเร็วมาก อาจจะเป็นเพราะผู้มาชุมนุมมีจำนวนไม่เยอะ ทำให้สามารถสลายการชุมนุมได้ในระยะเวลาอันสั้น
ซึ่งเขาเองก็เป็นหนึ่งในผู้ประท้วงนับตั้งแต่วันแรก ๆ ที่มีการรวมตัวกันที่กรุงมอสโก
“เราต้องยอมรับว่าเราอยู่ในรัฐเผด็จการ ตำรวจ ทหารของที่นี่เลยมีความแข็งแรงมาก พอเขารู้ว่าจะมีการประท้วงเขาก็ปิดสถานที่ตรงนั้น ส่วนผู้ชุมนุมก็ไม่ได้เยอะถึงขนาดลุกฮือขึ้นมาเพื่อโค่นล้มผู้นำกันทั้งประเทศ เหมือนอย่างสมัยก่อนที่เขาออกมาพร้อมกันเพราะทนความอดอยากไม่ไหว”
สงครามครั้งนี้ปูตินได้แสดงให้ประชาคมโลกเห็นแล้วว่ารัสเซียกล้ามากพอที่จะทำอะไรที่เหนือความคาดหมาย “ปูตินเขามาด้วยเจตนารมณ์ที่แรงกล้า เขาพูดจริงทำจริง และจะไม่ยอมถอยจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ เพื่อเป้าหมาย เพื่อประเทศชาติ และเพื่อความเป็นปึกแผ่น เขาไม่สนใจตัวเบี้ยรายทาง สนใจแค่เป้าหมาย หากถึงเป้าหมายแล้วทุกอย่างก็จบ” ดิววิเคราะห์
อย่างไรก็ตาม ดิวได้ย้ำกับเราว่าเขาไม่เคยเห็นด้วยกับการทำสงคราม ถึงจะเข้าใจได้ว่ารัสเซียรู้สึกถึงภัยคุกคาม จากการขยายเขตอิทธิพลของนาโต “เราไม่เห็นด้วยกับสงคราม ไม่เคยคิดมาก่อนเลยด้วยว่ามันจะลุกลามไปไกล แต่ปูตินบานปลายเกินไปมาก ใครจะไปคิดว่าเขาจะโจมตีเคียฟ จนทำให้คนล้มตายกันมากขนาดนี้”
สุดท้ายแล้ว ไม่มีใครสามารถรู้ได้แน่ชัดว่าสงครามจะยืดเยื้อไปอีกนานแค่ไหน คงต้องรอให้ ‘ผู้นำ’ ของทั้งสองประเทศเจรจาหาทางออกได้ในเร็ววัน ก่อนที่ความสูญเสียมากเกินจะรับไหว เพราะคนตายไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่เป็นเพื่อนร่วมชาติที่มีเลือดเนื้อ พวกเขาไม่ควรจากโลกนี้ไปเพียงเพราะความขัดแย้งระหว่างผู้นำที่มีอยู่เพียงแค่ไม่กี่หยิบมือ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Russia
Ukraine
related
‘เปโดร ปาสคาล’ เด็กจากครอบครัวผู้ลี้ภัย สู่นักแสดงเจ้าพ่อซีรีส์ฮิต จาก GOTs ถึง Last of Us
เพลง ‘Viva La Vida’ ของ Coldplay จากการตีความกษัตริย์ทรราชย์ สู่คดีโดนฟ้องว่าก๊อปปี้ทำนอง
ชีวิตและงานศิลปะลายจุดของ ‘ยาโยอิ คุซามะ’ ศิลปินผู้สมัครใจอาศัยในรพ.จิตเวชตั้งแต่ยุค 70s
ชีวิต ‘ดอนนี่ เยน’ ดารานักบู๊แถวหน้าเอเชีย เคยติดหนี้เกือบสิ้นท่า ได้ดีอีกหนเพราะภรรยา
‘Royal India’ ร้านอาหารอินเดียคิวยาว อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของย่านพาหุรัด Little India ในกรุงเทพฯ
1
2
3