Masouma Tajik: ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันวัย 23 ปี ในวันที่ต้อง ‘หนี’ จากตาลีบัน เพื่อมา ‘พลัดถิ่น’ ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน

Masouma Tajik: ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันวัย 23 ปี ในวันที่ต้อง ‘หนี’ จากตาลีบัน เพื่อมา ‘พลัดถิ่น’ ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ไฟสงครามที่ยังคงโหมกระหน่ำในสมรภูมิรบรัสเซีย-ยูเครน ได้เปลี่ยนชะตากรรมของชาวยูเครนไปตลอดกาล แต่ใช่ว่าจะมีเพียงแค่คนในพื้นที่เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ‘Masouma Tajik’ หนึ่งในผู้อพยพชาวอัฟกันวัย 23 ปี เด็กสาวที่เพิ่ง ‘หนี’ จากกลุ่มตาลีบันเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ยูเครนได้เพียง 6 เดือน กลับต้อง ‘พลัดถิ่น’ อีกครั้ง เพราะสงครามที่ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงง่าย ๆ หลังจากสหรัฐอเมริกาถอนทัพทั้งหมดในวันที่ 11 กันยายน 2021 กลุ่มตาลีบันกลับมามีอำนาจอีกครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องเกรงกลัวว่าชาติมหาอำนาจจะกลับมาสาดกระสุนปืนใส่อีกต่อไป เพราะตอนนี้พวกเขาสามารถยึดฐานที่ตั้งของกองทัพไว้ได้ทั่วประเทศ ความรู้สึกไม่ปลอดภัยกลับมาเกาะกินจิตใจชาวอัฟกันอีกครั้ง ต่างจากความทรงจำครั้งอดีตในปี 1998 ที่ชาวบ้านต่างผายมือต้อนรับการเข้ามาของกลุ่มตาลีบัน เพราะเบื่อหน่ายเต็มทีกับความขัดแย้งภายในของกลุ่มมุญาฮิดีน แต่เมื่อคนเราลุ่มหลงอยู่ในอำนาจ คำมั่นสัญญาว่าจะนำสันติภาพและความมั่นคงกลับคืนสู่คนในพื้นที่ก็จางหาย พวกเขาหลงลืมคำพูดที่ป่าวประกาศออกมา เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากคนท้องถิ่น ความพยายามที่จะกู้คืนสันติภาพ กลับกลายเป็นผลตรงข้าม กลุ่มตาลีบันเริ่มนำกฎหมายชารีอะห์มาใช้ อีกทั้งยังบังคับให้สตรีใส่ชุดบูร์กา (Burka) ปกปิดร่างกายทุกส่วนเว้นไว้เพียงดวงตาเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เผยออกมา “ฉันแค่หวังว่าจะใช้ชีวิตเหมือนเด็กสาววัย 23 ปีทั่วไป ทำไมฉันจะมีชีวิตแบบนั้นไม่ได้ ทำไมฉันต้องหนีอยู่เรื่อย” Masouma Tajik ผู้อพยพชาวอัฟกันให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Guardian ทั้งน้ำตา เธออพยพออกจากอัฟกานิสถานในวันที่ 14 สิงหาคม 2021 ก่อนที่รัฐบาลอัฟกานิสถานจะพ่ายแพ้อย่างราบคาบต่อกลุ่มตาลีบัน Tajik ไม่มีเวลาแม้แต่จะกล่าวอำลากับครอบครัว เธอต้องทิ้งทั้งชีวิตเอาไว้ข้างหลัง มีเพียงแล็ปท็อป โทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้าติดตัวไม่กี่ชุด และหนังสือ The Forty Rules of Love ของ Elif Shafak “คืนนั้นมันเงียบกว่าทุกวัน ความเงียบงันที่ปกคลุมทั้งเมือง ทำให้ฉันสิ้นหวัง ฉันมองไม่เห็นอนาคตอะไรอีกแล้ว” Tajik ตัดสินใจลี้ภัยมายังยูเครน ประเทศที่สามารถมอบความปลอดภัยให้แก่เธอได้ แต่หลังจากเริ่มคุ้นเคยกับคนในพื้นที่ และเพื่อนร่วมงานสายวิศวกรซอฟต์แวร์ รวมถึงนักวิเคราะห์ข้อมูล เธอก็ต้อง ‘หนี’ อีกครั้ง หลังจากประธานาธิบดีรัสเซีย ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ตัดสินใจยกระดับปฏิบัติการทางทหาร และเริ่มโจมตียูเครนอย่างบ้าคลั่ง เหตุการณ์ที่เธอกำลังเผชิญเหมือนกับภาพฉายซ้ำ เธอไม่คาดคิดมาก่อนว่าประเทศที่สงบอย่างยูเครน จะตกอยู่ในภัยสงคราม เหมือนอย่างอัฟกานิสถาน บ้านที่เธอจำใจต้องจากมาทั้งน้ำตา “เมื่อฉันหลับตาลง บางครั้ง ฉันก็อยากให้ภาพตรงหน้ามันไม่ใช่เรื่องจริง” เธอกล่าวระหว่างเดินทางอพยพไปยังกรุงวอร์ซอ เมืองหลวงของโปแลนด์ “ตอนที่ฉันเดินทางไปชายแดนโปแลนด์จากเมืองลวิฟในยูเครน ฉันเห็นภาพฉายซ้ำเป็นฉาก ๆ ฉันเห็นตัวเองเมื่อ 6 เดือนก่อน สะพายกระเป๋าเป้ใบเดียวเดินทางออกจากบ้านเกิด ทิ้งชีวิต ครอบครัว เพื่อนฝูง และความทรงจำวัยเด็กไว้ข้างหลัง ฉันทิ้งทุกอย่างในอัฟกานิสถานเมื่อสองสามเดือนก่อนเพื่อมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ตอนนี้ฉันกลับรู้สึกเหมือนกลับไปยืนอยู่ที่เดิม ความรู้สึกนี้ที่ฉันเคยสัมผัสมันกลับมาอีกแล้ว และตอนนี้ฉันกำลังทิ้งเพื่อนไว้ที่ยูเครนอีกครั้ง” สงครามความขัดแย้งเหมือนเป็นเงาตามตัว ที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็ไม่อาจสลัดให้หลุดได้ Tajik ต้องหนีซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตั้งแต่การเกิดมาในครอบครัวชาวซาฮารา ชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ข่มเหงมาทั้งชีวิต และยิ่งกลุ่มตาลีบันกลับขึ้นมามีอำนาจ ชาวซาฮาราก็เหมือนมดปลวกที่พวกเขาสามารถกำจัดได้โดยไม่ไยดี “อาชญากรรมเดียวที่ฉันก่อคือการเกิดเป็นชาวซาฮารา” นี่คือคำพูดติดปากของชนกลุ่มน้อยซาฮารา ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย พวกเขาก็ยังคงถูกกดขี่อยู่เรื่อยมา Tajik จึงตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มตาลีบันในฐานะที่เกิดเป็นชาวซาฮารา และผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้าน “เจ้านายของฉันโทรฯ มาบอกให้ฉันรีบออกจากเมือง เขาจะมารอรับฉันไปส่งที่สนามบินคาบูล” Tajik เล่า เธอพยายามทุกวิถีทางเพื่อหลุดพ้นออกจากวังวนการถูกกดขี่ ไม่ว่าจะเป็นการดิ้นรนเรียนหนังสือให้ได้ระดับสูง ๆ ทำงานหาเงินมาดูแลครอบครัว ไปจนถึงสมัครทุน DAAD ทุนการศึกษาสำหรับการศึกษาและวิจัยในเยอรมนี เพื่อให้สามารถไปใช้ชีวิตในยุโรปได้โดยไม่ต้องกังวลกับสงคราม แม้ว่าในวันนั้นเธอจะเดินทางไปถึงสนามบินคาบูลได้อย่างปลอดภัย และได้พบกับเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกนับพันราย แต่ในขณะที่กำลังอพยพ สถานการณ์เริ่มเลวร้ายลง “เมื่อเราไปถึงสนามบิน สถานการณ์กลับย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว กลุ่มตาลีบันเข้ามาทุบตีคนที่คิดจะหนีโดยไม่ลังเล ฉันเองก็โดนพวกเขาทำร้าย ฉันกลัว กลัวมากจริง ๆ” ตลอด 6 วันที่ต้องใช้ชีวิตกินนอนอยู่ที่สนามบิน Tajik ไม่เคยมีสักครั้งที่จะล้มเลิกความคิดลี้ภัย แม้จะต้องเผชิญกับความหิวโหยและความไม่แน่นอนของชีวิต เพราะเธอสิ้นหวังเต็มทีแล้วกับการต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่มองไม่เห็นคุณค่าของผู้หญิง  เธอถึงขนาดทำข้อตกลงกับเพื่อนร่วมทางว่า หากเธอถูกตาลีบันจับกุม ให้เขาช่วยวิ่งไปหานาวิกโยธินสหรัฐฯ และขอให้ปลิดชีพเธอเสีย อย่าให้เธอต้องทนทุกข์ทรมานกับระบอบการปกครองแบบนี้อีกเลย วันที่ 21 สิงหาคม 2021 ในที่สุดเธอและเพื่อนร่วมทางอีก 82 คน มีตั้งแต่นักข่าว นักเคลื่อนไหวทางสังคม และผู้หญิงที่อยากเป็นอิสระ เดินทางออกนอกประเทศโดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่เมืองเคียฟ ยูเครน แต่ชีวิตในฐานะผู้ลี้ภัยกลับยากลำบากกว่าที่คิด Tajik ต้องอยู่ท่ามกลางผู้คนต่างบ้านต่างภาษา เธอไม่รู้แม้แต่วัฒนธรรมของคนที่นี่ เธอไม่เข้าใจอะไรเกี่ยวกับยูเครนเลยสักอย่าง “ฉันพยายามสร้างชีวิตใหม่ที่นี่ในตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา แต่แล้วสงครามก็เปิดฉากขึ้นโดยที่ฉันไม่ทันได้เตรียมตัวรับมือ “ตอนนั้นฉันก็เริ่มคิดขึ้นมาว่าจะมีประเทศไหนบ้างไหมที่ไม่มีสงคราม ฉันจะไปที่แบบนั้นได้ไหม แล้วทำไม ทำไมต้องเป็นฉันที่เจออะไรแบบนี้ ทำไมผู้คนมากมายเขาไม่ต้องเจอเหมือนกัน ทำไมต้องเป็นฉันอีกแล้ว ทำไมฉันถึงไม่สามารถใช้ชีวิตปกติเหมือนผู้หญิงวัย 23 ปีทั่วไปได้ ทำไม” แม้ว่า Tajik จะลี้ภัยมายังวอร์ซอได้อย่างปลอดภัย แต่เธอก็ต้องเริ่มต้นใช้ชีวิตใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าในวัยเพียงแค่ 23 ปี “ฉันจะใช้ชีวิตในแต่ละวันให้คุ้มค่า เพราะตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ฉันได้เรียนรู้อย่างหนึ่งว่า ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน เราไม่มีทางรู้เลยว่าวันพรุ่งนี้จะมีอะไรรออยู่” สงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน ทำให้ผู้คนแตกสลาย จะต้องมีอีกกี่ชีวิตที่ต้องสูญเสีย อีกกี่ชีวิตที่ต้องพลัดถิ่น เพียงเพราะความขัดแย้งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด คงต้องรอให้ผู้มีอำนาจมองเห็นความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมชาติมากกว่าเสียงกรีดร้องและคราบน้ำตาของประชาชน   ภาพ: COURTESY OF MASOUMA TAJIK   อ้างอิง: