อเล็กซานดรา คอลลอนไท: สตรีโซเวียตผู้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับชนชั้นนายทุน เพื่อบอกว่า ‘คนเท่ากัน’

อเล็กซานดรา คอลลอนไท: สตรีโซเวียตผู้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับชนชั้นนายทุน เพื่อบอกว่า ‘คนเท่ากัน’
“เราต้องสร้างสังคมใหม่ที่สตรีไม่ต้องขลุกตัวอยู่แต่ในครัวตลอดทั้งวัน ในปิตุภูมิของเราจะต้องมีพื้นที่ที่ผู้หญิงสามารถมีอิสระที่จะทำตามความต้องการ เราต้องสร้างโรงเรียนอนุบาล โรงเลี้ยงเด็ก โรงอาหาร และโรงซักผ้าสาธารณะ เพื่อแยกออกจากการแต่งงาน ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำงานอย่างจริงจัง ให้พวกเธอสามารถมีเวลาพักผ่อนยามเย็นได้อ่านหนังสือสักเล่ม โดยไม่ต้องแบกรับภาระที่ไม่ว่าชายหรือหญิงก็สามารถทำได้   “เราจะสร้างสังคมที่สตรีมีชีวิตสุขสบาย มั่งคั่ง มีความสุข และมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบขึ้นมา”   นี่คือข้อเสนอของ ‘อเล็กซานดรา คอลลอนไท’ (Alexandra Kollontai) นักสตรีนิยมแนวสังคมนิยม และนักการทูตโซเวียตคนแรกที่เป็นผู้หญิง แม้ความคิดความอ่านของเธอจะแปลกแยกจากคนในสังคม จนทำให้เธอถูกเนรเทศออกนอกประเทศในปี 1908 แต่แนวคิดของเธอยังคงเป็นที่กล่าวถึงในกลุ่มผู้ศึกษางานแนวคิดสิทธิสตรีมาร์กซิสต์มาจนถึงปัจจุบัน อเล็กซานดรา คอลลอนไท เกิดวันที่ 31 มีนาคม 1872 (หากนับตามปฏิทินรัสเซียแบบเก่าจะตรงกับวันที่ 19 มีนาคม) ในครอบครัวนายพลผู้มั่งคั่ง สนิทชิดเชื้อกับราชวงศ์โรมานอฟเป็นอย่างดี เธอได้รับการศึกษาระดับสูงรอบด้าน พูดภาษาต่างประเทศได้อย่างคล่องแคล่ว ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวของเธอสมบูรณ์แบบไปหมด แต่ชีวิตที่สุขสบายกลับทำให้เธอเริ่มหันไปคลุกคลีกับชาวบ้านมากขึ้น และได้พบความจริงว่าเธอคือชนชั้นที่เกิดมาบนการกดขี่ขูดรีดผู้อื่น เมื่อคอลลอนไทอายุ 20 ปี ครอบครัวของเธอ รวมทั้งราชวงศ์โรมานอฟพยายามจับคู่ให้แต่งงานกับนายพล ผู้ซึ่งมีอายุห่างกับเธอเกือบสองรอบ แม้ว่าหญิงสาวหลายคน (ในสมัยนั้น) ใฝ่ฝันที่จะใช้ชีวิตกับวีรบุรุษสงคราม แต่เธอกลับเลือกที่จะทำตามหัวใจ และแต่งงานกับญาติห่าง ๆ ที่มีฐานะยากจนแทนในปี 1893 ทั้งคู่มีลูกชายด้วยกัน 1 คน ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายให้ผ่านพ้นไปในแต่ละวัน จุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอมองเห็น ‘ความไม่เท่าเทียม’ เกิดขึ้นหลังจากที่ไปเยี่ยมสามีที่โรงงานทอผ้า เธอเห็นการใช้แรงงานหญิงที่หนักหนาเกินกว่าจะจินตนาการได้ แม้ในบันทึกของเธอจะไม่ระบุว่าภาพตรงหน้าที่ทำให้เธอโกรธจนตัดสินใจทิ้งครอบครัว และอุทิศทั้งชีวิตเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีคืออะไร แต่นี่คงเป็นเหตุผลที่หนักแน่นพอจะทำให้เชื่อมั่นว่าโรงงานนรกแห่งนี้ ได้เปลี่ยนให้เธอกลายเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ออกมาเรียกร้องสิทธิสตรี จนวินาทีสุดท้ายของชีวิต ขณะที่สำนักข่าว Lenta ของรัสเซีย ได้เปิดเผยอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คอลลอนไท ทิ้งลูกทิ้งสามีว่า เธอถึงจุดอิ่มตัวในการใช้ชีวิตการแต่งงาน และเริ่มตระหนักได้ว่าทุกอย่างมันน่าเบื่อและซ้ำซากจำเจ จนนำไปสู่การนอกลู่นอกทางหันไปคบชู้กับเพื่อนสนิทของสามี แต่ก็ได้จบความสัมพันธ์อย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงทิ้งครอบครัวเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในปี 1898 ในฐานะนักเคลื่อนไหวมาร์กซิสต์ รวมกลุ่มกับนักศึกษาที่วลาดิมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) จัดตั้งขึ้น จากนั้นในปี 1915 คอลลอนไท สมัครเป็นสมาชิกพรรคบอลเชวิค เธอเริ่มออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้น โดยผลิตงานเขียน เพื่อเผยแพร่แนวคิดที่เธอเชื่อมั่นในฐานะมาร์กซิสต์ นั่นคือ ‘การปลดแอกสตรี’ แนวคิดนี้มีจุดเด่นอยู่ตรงความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ที่มีความก้าวหน้าเกินกว่าสตรีหรือบุรุษคนไหนในสังคมรัสเซียเมื่อเกือบร้อยกว่าปีที่แล้วจะคาดคิด ตั้งแต่การป่าวประกาศว่า รัสเซียจะต้องจัดเตรียมพื้นที่สาธารณะ เพื่อแยกภาระหน้าที่ตรงส่วนนี้ออกจากการแต่งงาน อีกทั้งยังเป็นคนผลักดันให้มีกฎหมายที่ครอบคลุมสิทธิสตรีมากยิ่งขึ้น   “...ท่านไม่ต้องเป็นห่วงอนาคตของลูก ลูกท่านจะไม่รู้จักความหิวหรือความหนาว ลูกของท่านจะไม่ถูกทอดทิ้งและไร้ความสุขเหมือนหลายกรณีในสังคมทุนนิยม เด็กตั้งแต่แรกเกิดและแม่ทุกคนจะได้รับอาหารเพียงพอและการดูแลที่เหมาะสมจากสังคมคอมมิวนิสต์ จากรัฐกรรมาชีพ เด็กทุกคนจะมีอาหารการกิน จะได้รับการเลี้ยงดู และจะได้รับการศึกษาจากปิตุภูมิคอมมิวนิสต์   “แต่ปิตุภูมินี้จะไม่แย่งลูกของท่านไป ผู้ปกครองใดต้องการมีส่วนร่วมในการให้การศึกษากับลูกก็ทำได้ สังคมคอมมิวนิสต์จะรับภาระในการให้การศึกษาเด็ก แต่ความสุขของการเป็นพ่อแม่จะไม่ถูกแย่งไปจากผู้ใดที่มีความสามารถเพียงพอและเห็นความสำคัญของความสุขประเภทนี้” (แนวชนชั้นในการปลดแอกสตรีและปัญหาครอบครัว โดย อาเลคซานดรา คอลอนไท, ใจ อึ๊งภากรณ์ แปล)   ความหัวก้าวหน้าของเธอ กำลังทำให้ราชวงศ์สั่นคลอน ในไม่ช้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ออกคำสั่งเนรเทศหญิงสาวรายนี้ให้ออกจากประเทศในปี 1908 เพราะการเคลื่อนไหวของเธอกำลังทำให้ชนชั้นกรรมาชีพลุกฮือ ต้นปี 1917 หลังการปฏิวัติรัสเซียขั้นแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ราชวงศ์โรมานอฟเริ่มระส่ำระสายมากเต็มที คอลลอนไทใช้ช่วงเวลานี้เดินทางกลับมายังรัสเซีย และทำหน้าที่ปลุกระดมทหารเรือ สุนทรพจน์ที่เธอกล่าวออกมาทุกคำล้วนลึกซึ้งกินใจ ขณะที่อีกด้านหนึ่งกลับเต็มไปด้วยความหนักแน่นและจริงจัง เธอทำให้เหล่าทหารคล้อยตามพรรคบอลเชวิคและหันมาสนับสนุนอุดมการณ์ของพรรคได้ในที่สุด ระหว่างที่คอลลอนไทในวัย 45 ปี กำลังกล่าวปลุกระดมทหารเรือ เธอได้พบรักกับ ปาเวล ดึยเบงโค (Pavel Dybenko) ทหารเรือวัย 28 ปี ที่มีพื้นฐานการศึกษาต่ำ มาจากครอบครัวชาวนายากจน ทั้งคู่ครองรักท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม แต่เธอก็ไม่ได้สนใจและยังคงทำหน้าที่เรียกร้องสิทธิสตรีให้แก่ชาวรัสเซีย ชีวิตรักของเธอไม่ราบรื่นนัก ปาเวลนอกใจเธอซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้คอลลอนไทตัดสินใจแยกทางกับเขาในที่สุด และเริ่มมุ่งมั่นที่จะออกมาเป็นกระบอกเสียงให้กับสตรีอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งในปี 1917 หลังจากการปฏิวัติรัสเซียขั้นที่สองในเดือนตุลาคมภายใต้การนำของเลนินที่นำไปสู่ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ให้เหล่าชนชั้นกรรมาชีพ คอลลอนไทก็ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกพรรคบอลเชวิคอย่างกว้างขวาง เธอขึ้นมารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิการสังคม และได้เสนอกฎหมายที่จะช่วยให้ชีวิตชาวรัสเซียโดยเฉพาะสตรีสามารถมีอิสระที่จะใช้ชีวิต เรียกได้ว่าเป็นกฎหมายที่มีความก้าวหน้าที่สุดในยุคนั้นก็ว่าได้ มีตั้งแต่การส่งเสริมให้สตรีรัสเซียสามารถมีสิทธิเลือกตั้ง สนับสนุนให้รัฐบาลบอลเชวิคออกกฎหมายปกป้องสิทธิสตรี ลดขั้นตอนกฎหมายการหย่าร้างให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และออกกฎหมายสนับสนุนสิทธิในการคุมกำเนิดและการทำแท้ง และที่สำคัญที่สุดที่เธอพยายามผลักดันมาตลอดชีวิตคือการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาล โรงเลี้ยงเด็ก โรงอาหาร และโรงซักผ้าสาธารณะ เพื่อแยกครัวออกจากการแต่งงาน (แนวชนชั้นในการปลดแอกสตรีและปัญหาครอบครัว โดย อาเลคซานดรา คอลอนไท, ใจ อึ๊งภากรณ์ แปล) คอลลอนไทไม่เคยสนับสนุนแนวคิดเฟมินิสต์ที่มองเพศชายเป็นศัตรู เธอหวังแต่เพียงจะปฏิรูปสถานภาพทางเพศ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นในอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงการปฏิวัติทางชนชั้นเท่านั้นที่จะทำให้เกิดการ ‘ปลดแอก’ แต่ต้องมีการต่อสู้ในแง่มุมที่หลากหลาย เช่น การเผยแพร่แนวคิดสตรีนิยมให้คนในสังคมรับรู้และเข้าใจมากขึ้นว่า ‘เพศ’ ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าคนคนนี้จะต้องทำงานในบ้านหรือนอกบ้าน เพื่อให้แนวคิดโบราณคร่ำครึหายไปจากสังคมโซเวียต เธอกำลังสร้าง ‘สังคมใหม่’ ในอุดมคติที่วาดฝันเอาไว้ แม้จะมีชื่อเสียงที่ย่ำแย่เกี่ยวกับเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ และมักจะถูกหมายตาทุกครั้งที่ควงชายหนุ่มไม่ซ้ำหน้าออกงานสังคม อีกทั้งยังเคยถูกกล่าวหาว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการอยู่บ่อยครั้ง แต่เธอได้รับความช่วยเหลือจากผู้นำพรรคอย่างเลนิน ช่วยชีวิตเอาไว้ทุกครั้ง ทำให้คอนลอนไทรอดจากการถูกพรรคลงโทษ นอกจากการผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมรัสเซียแล้ว เธอยังได้รับมอบหมายจาก ‘โจเซฟ สตาลิน’ ผู้นำคนใหม่ของโซเวียตที่ขึ้นมาปกครองหลังจากเลนินเสียชีวิตลงในปี 1922  ให้เป็นเอกอัครราชทูตหญิงคนแรกของโซเวียตประจำนอร์เวย์และสวีเดน หนึ่งในบทบาทสำคัญในระหว่างดำรงตำแหน่งนักการทูตคือ การทำหน้าที่ยุติสงครามระหว่างโซเวียต-ฟินแลนด์ในปี 1944 เนื่องจากสุขภาพเธอไม่ค่อยสู้ดีนักทำให้ต้องลาออกจากตำแหน่งในปีต่อมา แต่ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของกระทรวงการต่างประเทศสหภาพโซเวียต จนกระทั่งถูกบังคับให้เดินทางกลับมอสโก หลังจากไม่ได้เหยียบแผ่นดินเกิดมานานถึง 20 ปี ในปี 1945 รัฐบาลนอร์เวย์ องค์กรสตรีของสวีเดนและนอร์เวย์ รวมถึงบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงของประเทศ ร่วมกันเสนอชื่อคอลลอนไทเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 1945 แต่คณะกรรมการโนเบลกลับไม่เห็นด้วยและปัดตกไปอย่างน่าเสียดาย  ก่อนถึงวันเกิดครบรอบอายุ 80 ปี ทูตหญิงโซเวียตคนแรกจากไปอย่างสงบในวันที่ 9 มีนาคม 1952 โดยมีหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวเท่านั้น ที่ตีพิมพ์ข่าวการจากไปของสตรีผู้ร่วมผลักดันสิทธิสตรีให้เกิดขึ้นในรัสเซีย อีกทั้งยังยุติสงครามครั้งใหญ่ระหว่างโซเวียต-ฟินแลนด์ แม้เธอจะจากไปแต่แนวคิดของเธอยังคงมีความทันสมัยอยู่จนน่าตกใจ ซึ่งหากมองอีกมุมหนึ่ง เวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมา ‘สิทธิสตรี’ ที่นักเคลื่อนไหวจากหลายประเทศทั่วโลกพร่ำเรียกร้องกลับยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร และดูเหมือนว่าคงต้องต่อสู้กันอีกยาวนานกว่าชายและหญิงทั่วโลกจะมีสิทธิเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง   ภาพ: Getty Images/ Keystone-France/ Gamma-Keystone    อ้างอิง «Она стала самой известной женщиной в стране» Как советская революционерка влюбляла в себя чиновников и отчаянно боролась за права женщин. https://lenta.ru/articles/2021/03/07/kollontai/ Aleksandra Mikhaylovna Kollontay. https://www.britannica.com/biography/Aleksandra-Mikhaylovna-Kollontay International Women’s Day: Alexandra Kollontai. https://ycl.org.uk/2019/02/18/international-womens-day-2019-alexandra-kollontai/ แนวชนชั้นในการปลดแอกสตรีและปัญหาครอบครัว แปลโดย ใจ อึ๊งภากรณ์. https://www.marxists.org/thai/archive/kollontai/women-family/index.htm