รุ้ง - วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ: ‘Ira Concept’ ผ้าอนามัยออร์แกนิคย่อยสลายได้ ที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันสังคมที่เท่าเทียม
“เรารู้สึกว่าตอนที่เราเริ่ม มันยังไม่มีใครที่ออกมาพูดเกี่ยวกับเรื่องสิทธิและการมีประจำเดือน แล้วตอนเราเริ่มทำ จำได้ว่าพ่อแม่ไม่โอเค เขาไม่เข้าใจว่าออกจากงานมาแล้วมาทำผ้าอนามัยทำไม”
ตลอดเวลาของการตัดสินใจเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้งในสายตาคนรอบข้าง หรือแม้กระทั่งครอบครัวอันเป็นที่รักของเรา
นั่นคือสิ่งที่ รุ้ง - วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ ต้องเผชิญหน้าอย่างหนักแน่น และฝ่าฟันสายตาจากคนภายนอกที่มองเข้ามา หรือคำพูดที่โจมตีเพราะความไม่รู้มาโดยตลอด
จนกระทั่งวันนี้ที่โลกของเราเปิดรับฟังความคิดเห็นมากขึ้น เรื่องของผ้าอนามัยและการมีประจำเดือนกำลังกลายเป็นเรื่องปกติสามัญในสังคม ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หรือเพศอะไร คุณก็สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้
แบรนด์ผ้าอนามัยออร์แกนิคย่อยสลายได้แบรนด์ Ira Concept ผลงานจากผู้ก่อตั้งและเจ้าของแบรนด์อย่างรุ้ง จึงกลายเป็นผ้าอนามัยทางเลือกใหม่ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคที่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตัวเองได้
ออร์แกนิค เป็นมิตรกับทุกคน
“หลัก ๆ คืออยากทำลาย period stigma และ period poverty อยากเปลี่ยนความคิดของคนเกี่ยวกับประสบการณ์ของการมีประจำเดือน ตั้งแต่การซื้อ การใช้ จนกระทั่งการทิ้งผ้าอนามัย” รุ้งเล่าถึงความตั้งใจให้เราฟังอย่างมุ่งมั่น
ซึ่งนอกจากจะเจอปัญหาเรื่องของ period stigma แล้ว ส่วนตัวเมื่อเธอก้าวเข้าสู่วัยของการมีประจำเดือน ปัญหาใหญ่ที่พบเจอเลยคืออาการ ‘แพ้ผ้าอนามัย’
“ส่วนตัวรุ้งเองเป็นคนที่แพ้ผ้าอนามัยมาโดยตลอด พวก cooling fresh หรืออะไรพวกนี้ คือเราใส่ไม่ได้เลย เพราะมันจะรู้สึกเผา” รุ้งเล่าให้เราฟังอย่างอัดอั้น
หากให้ลองนึกภาพตามง่าย ๆ ในชีวิตของเรา มีประจำเดือนเฉลี่ยแล้วประมาณ 11,000 ครั้ง และในจำนวนครั้งที่มหาศาลนี้ ต้องคูณจำนวนผ้าอนามัยที่ต้องใช้เข้าไปอีกไม่รู้กี่เท่า
จะดีกว่าไหมหากผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในแต่ละครั้ง นอกจากจะอ่อนโยนต่อตัวเราเองแล้ว ยังสามารถช่วยลดปริมาณขยะสำหรับโลกของเราลงไปได้อีก และในขณะเดียวกันก็สามารถแก้ปัญหาในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ในเรื่องของความรู้ที่ขาดหายไปได้อีกด้วย
“เราเลยอยากทำตรงนี้ เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหาที่ทั่วโลกมีปัญหา โดยเฉพาะประเทศไทยที่ไม่มีใครออกมาพูดเรื่องนี้เลย”
จุดตั้งต้นจากการแพ้ผ้าอนามัยและการต้องการพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศของรุ้ง ทำให้รุ้งตัดสินใจศึกษาถึงส่วนประกอบในผ้าอนามัยอย่างจริงจังมากขึ้น ด้วยการต่อยอดจากสาขาเรียนของเธอ
“รุ้งเรียนจบด้านชีวะมาค่ะ ตอนปริญญาตรีก็คือเรียนด้าน Biological science เป็น specialist ด้านพืช ก็สนใจด้านพืชมาตลอด”
เธอสังเกตเห็นว่าแบรนด์ผ้าอนามัยในปัจจุบัน มักจะทำมาจากเส้นใยฝ้าย (cotton) ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ แต่เมื่อได้มีการศึกษาลึกลงไปแล้ว ฝ้ายเป็นพืชที่ใช้ทรัพยากร ทั้งน้ำและยาฆ่าแมลงในปริมาณที่มาก และไม่ได้รักษ์โลกอย่างที่เราคิด
“แล้วพอเราศึกษา เราก็เห็นว่า ‘ไม้ไผ่’ ความจริงมันดีมากเลย โตเร็ว แล้วถ้าเราตัดมันไป มันกลับขึ้นมาเป็นหน่อใหม่ขึ้นมา ไม่ต้องมานั่งปลูกใหม่”
จนในที่สุด Ira ก็ได้ส่วนผสมที่สำคัญออกมาเป็น ‘ใยไผ่’ ที่นอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยังเป็นมิตรต่อตัวเราเองด้วย โดยจะสังเกตได้ว่าบนกล่องของ Ira ทุกกล่องจะมีระบุเอาไว้ว่าย่อยสลายได้กี่เปอร์เซ็นต์
ซึ่งเปอร์เซ็นต์ที่ย่อยสลายไม่ได้ก็คือ ‘กาว’ นอกนั้นทางแบรนด์ Ira ก็พยายามทำให้มันย่อยสลายได้ในระยะเวลา 6 - 12 เดือน
และส่วนหนึ่งที่รุ้งตัดสินใจใส่รายละเอียดเปอร์เซ็นต์การย่อยสลายได้ หรือแม้กระทั่งรายละเอียดของวัตถุดิบที่ใช้ เป็นเพราะต้องการสร้างบรรทัดฐานใหม่ สำหรับการเลือกซื้อผ้าอนามัยในอนาคตของผู้บริโภค
“เรารู้สึกว่าผู้ซื้อจะมีข้อมูลเกี่ยวกับผ้าอนามัยไม่ครบ แล้วเราอยากให้เขาเริ่มตั้งคำถามกับทางบริษัทผู้ผลิตมากขึ้น เพราะคนไม่ได้ศึกษาอย่างดีพอ อย่างทุกวันนี้ที่ใส่มันเป็นพลาสติกไปเยอะ และสุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือตัวผู้บริโภคเอง”
แค่ผ้าอนามัย ทำไมต้องปกปิด
“ตอนแรกเลย ตอนที่เราทำงานราชการ แล้วเราต้องไปซื้อผ้าอนามัยที่เซเว่นใกล้ ๆ แล้วเซเว่นเขาจะชอบใส่ถุง 2 ชั้น เพราะเขากลัวเราอาย”
ฟังดูแล้วอาจจะเป็นเหมือนความหวังดีเล็ก ๆ ที่เพื่อนมนุษย์มีให้ต่อกัน แต่ภายใต้ความหวังดีนั้น ทำให้รุ้งเริ่มตั้งคำถามกับแนวคิดแบบเดิมที่มองว่าผ้าอนามัยเป็นของต่ำ เป็นของสกปรก ในมุมมองอื่น ๆ มากขึ้น
“ผ้าอนามัยมันคือของจำเป็นที่ต้องใช้ เหมือนทิชชู แต่มันจะมีหลายคนที่แบบต้องเก็บมิดชิด เพราะมีความคิดว่าต้องอาย” รุ้งกล่าว
ทำให้การหยิบใช้ผ้าอนามัยแต่ละครั้ง กลายเป็นเรื่องที่ต้องหลบซ่อนจากสายตาคนภายนอก เพียงเพราะกลัวคนอื่นจะมองไม่ดี สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นแรงผลักดันให้รุ้งลุกขึ้นลาออกจากงานประจำเดิม และเดินหน้าสร้างแบรนด์ผ้าอนามัยขึ้นมาเพื่อทำลายกำแพงข้อจำกัดทั้งหลาย
โดยการใส่ใจตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอก
เพราะนอกจาก Ira จะให้ความสำคัญกับตัวผ้าอนามัยเป็นหลักแล้ว ส่วนประกอบอื่น ๆ อย่าง รูปลักษณ์ภายนอก การออกแบบกล่องผลิตภัณฑ์ ก็เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของทางแบรนด์เช่นเดียวกัน
“คนไทยส่วนใหญ่ก็จะคุ้นเคยกันว่า ผ้าอนามัยมันต้องสีชมพู ต้องมีความเป็นผู้หญิง feminine ถ้าเป็นออร์แกนิคต้องมีรูปใบไม้ ต้องสีเขียว” รุ้งกล่าว
ซึ่ง Ira ต้องการออกจากกรอบมากกว่านั้น นอกจากที่จะมีการบอกส่วนผสมทั้งหมดบนกล่องแล้ว รุ้งยังบอกอีกว่าทางแบรนด์ได้มีการออกแบบให้มีความเป็นมินิมอลให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ใช้สามารถหยิบใช้ได้อย่างไม่เคอะเขิน
นอกจากนี้เมื่อเปิดเข้าไปภายใน คุณจะพบกับสีแดงที่ถูกระบายภายในจนเต็มพื้นที่
“คือเราต้องการให้ข้างในเป็น ‘สีแดงประจำเดือน’ เพราะเราต้องการให้คนเปิดมาแล้วเห็นว่า สีของประจำเดือน ต้องเป็นแบบนี้นะ”
โดยขั้นตอนการคัดเลือกสีแดงที่ให้ความใกล้เคียงกับประจำเดือนสดที่สุขภาพดีที่สุด รุ้งเล่าให้ฟังว่าเธอต้องไปหาหมอสูติฯ เพื่อสอบถามถึงสีประจำเดือนที่ถูกต้อง โดยการยกเอาแพนโทน (Pantone) สีแดงไปให้หมอช่วยเลือก
“อย่างสีประจำเดือนของเรา เราทำมาเป็นโพสต์ด้วยซ้ำว่าประจำเดือนมันมีหลายสีนะ อยากให้ทุกคนสังเกตสีประจำเดือนตัวเอง เพราะทุกวันนี้ คนเห็นเลือดประจำเดือนเป็นเลือดที่เสีย เลือดสกปรก ซึ่งมันไม่จริง”
มิติใหม่การสั่งผ้าอนามัย
“เรารู้สึกว่ามันไม่มีอะไรเหมาะกับการสมัครรายเดือนมากกว่าการเป็นประจำเดือนอีกแล้ว เพราะว่าเรามีมันทุกเดือน” รุ้งกล่าว
เหตุนี้ Ira จึงได้มีการเปิดรูปแบบการสั่งซื้อ subscription model คล้ายกับการสมัคร Netflix เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภคที่อยากมีผ้าอนามัยติดบ้านเอาไว้ เผื่อในวันที่มาโดยไม่ทันตั้งตัว
ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยเป็นอย่างมาก
และในช่วงเริ่มแรกของการมี subscription model รุ้งก็พบว่ามันเกิดปัญหาด้วยปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เยอะมาก เนื่องจากประจำเดือนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมาตรงเวลา แต่บางคนก็มีปัญหาเรื่องประจำเดือนมาไม่ปกติ ทำให้รุ้งต้องพยายามคิดรูปแบบใหม่ ๆ ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างดีที่สุด
จนออกมาในรูปแบบที่ผู้สมัครรายเดือนสามารถเลือกได้ว่าจะให้มีการจัดส่งเป็นรายเดือน หรือ 2 - 3 เดือนครั้ง หรือหากต้องการหยุดหรือยกเลิกก็สามารถทำได้ง่าย
“แล้วเราก็คิดด้วยว่า subscription model ที่เราทำขึ้นมา ความจริงแล้วมันเป็นราคาที่ถูกลง แล้วมันก็สามารถทำให้องค์กรหรือโรงเรียนมาซื้อได้ด้วยเหมือนกัน”
รุ้งเล่าว่าหากเป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยจะมีความยาก เพราะมีหลายปัจจัยและกระบวนการที่ซับซ้อน แต่ถ้าเป็นโรงแรมหรือในองค์กร หลาย ๆ ที่ก็เริ่มเปิดรับวัฒนธรรมการแจกผ้าอนามัยมากขึ้น
“อย่างเช่น โรงแรมคีรีมายา เขาใหญ่ ที่เขาซื้อผ้าอนามัยเราไป แล้วก็ทุก ๆ ห้องในโรงแรม จะมีผ้าอนามัยวางไว้และสามารถขอเพิ่มได้ ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดี เขาก็เลยทำมาเรื่อยๆ” รุ้งเล่าอย่างมีความสุข
เพราะนี่ถือได้ว่า มุมมองที่คนพูดถึงเรื่องของประจำเดือนและผ้าอนามัยได้เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าในอดีตเยอะมาก
“เรารู้สึกว่าปีกว่าที่เราเริ่มทำ Ira มา มันเริ่มมีคนคุยเรื่องนี้เยอะขึ้นจริง ๆ รู้สึกดีใจที่ในที่สุดมันกลายเป็น movement จริง ๆ แล้ว ซึ่งความจริงแล้วมันมีอะไรเยอะกว่านั้นเยอะเลยที่เราอยากจะคุย”
จนทำให้ปัจจุบันทางแบรนด์ Ira Concept ได้มีการร่วมมือกับ Inside the Sandbox เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยแบบ Limited Edition เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล และร่วมผลักดันประเด็น period positivity ผ่านการพูดคุยเรื่องนี้ใน social media ของคุณผ่าน #เป็นเมนส์ไม่เห็นต้องซ่อน
เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยและทำลาย period stigma และ period poverty ตามความตั้งใจเดิมของรุ้ง และพาสังคมไปสู่จุดยืนใหม่ที่ให้ความเท่าเทียมในเรื่องเพศที่มากขึ้น
ภาพ: Ira Concept