Metallica - Enter Sandman: จากฝันร้ายใต้เตียงสู่ความ ‘กลัว’ ที่คืบคลาน

Metallica - Enter Sandman: จากฝันร้ายใต้เตียงสู่ความ ‘กลัว’ ที่คืบคลาน
ท่ามกลางวงดนตรีที่โลดแล่น หนักหน่วงด้วยท่วงทำนองเมทัล บทเพลง ‘Enter Sandman’ นั้นคือเพลงเอกที่คนรักของ ‘Metallica’ อันมีเนื้อหาพูดถึง ‘ความกลัว’ ที่คืบคลานจากฝันร้ายและปิศาจใต้เตียง เมื่อ ‘มนุษย์ทราย’ ไม่ได้มาหาเราเพื่อมอบฝันดีอีกต่อไป หลังจากมีผลงานหลายอัลบั้ม รวมทั้ง ‘Master Of Puppets’ และ ‘ …And Justice For All’ ในยุค 80s วงดนตรีเฮฟวีเมทัลสัญชาติอเมริกันอย่าง ‘Metallica’ รู้ดีว่าทิศทางเพลงแบบที่พวกเขาใช้ในยุค 80s จำเป็นต้องทิ้งเอาไว้ในยุคนั้น และหันหัวเรือมาปั้นเพลงที่ ‘ชัดเจนและพุ่งเข้าเป้าในทันที’ “ทุกสิ่งที่เติบโตและงดงามในยุค 80s กำลังตาย” คือคำพูดของลาร์ส อุลริก มือกลองของวง เมทัลลิกาจำต้องหาแนวทางใหม่ในยุค 90s ด้วยการสร้างเพลงที่กระชับขึ้น ซับซ้อนน้อยลง และไม่ต้องใช้เวลาหลายนาทีนักในการรับฟัง พวกเขาทำสำเร็จได้ตามนั้น ด้วย ‘Enter Sandman’ ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนแรก เปิดหัว ‘Metallica’ อัลบั้มชื่อเดียวกับวง หรือรู้จักในนาม ‘อัลบั้มปกดำ’ (the Black Album) สตูดิโออัลบั้มลำดับ 5 ซึ่งวางแผงครั้งแรกวันที่ 29 กรกฎาคม ปี 1991  โดยเพลงนี้เคยขึ้นชาร์ตบิลบอร์ดฮอต 100 พีคสุดที่อันดับ 16 และเจาะชาร์ตยูเคซิงเกิล พีคสุดที่อันดับ 5 รวมทั้งยังติดท็อป 10 บนชาร์ตเพลงหลายประเทศในยุโรป พาให้อัลบั้มปกดำมียอดขายมากกว่าสามสิบล้านก็อปปี และ ‘Metallica’ ก็ทะยานขึ้นสู่วงแถวหน้าที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยเดิมที เนื้อเพลงแรกเริ่มของ ‘Enter Sandman’ พูดถึงความตายของเด็กเล็ก ที่ฝันร้ายและ ‘ไหลตาย’ ในเปลไกว   แรงบันดาลใจย่ำสองยาม “เป็นเวลาตีสองหรือตีสามของค่ำคืนหนึ่ง ผมฟังอัลบั้ม ‘Louder Than Love’ ของวง ‘Soundgarden’ อยู่ เป็นตอนที่ Soundgarden ยังเป็นวงอันเดอร์กราวนด์ในสังกัดอิสระ ผมรักอัลบั้มนั้น และมันสร้างแรงบันดาลใจ ผมหยิบกีตาร์ขึ้นมา แล้วบรรเลงออกมาเป็นริฟฟ์” คือถ้อยคำที่ ‘เคิร์ก แฮมเมตต์’ (Kirk Hammett) มือกีตาร์ของวงบอกเล่าถึงที่มาของริฟฟ์กีตาร์ในเพลง ‘Enter Sandman’ ที่จะโอบอุ้มทั้งเพลง - หรือแม้กระทั่งทั้งอัลบั้มปกดำเอาไว้ เพลงนี้เป็นเพลงแรกที่ถูกแต่งขึ้นนับจากทุกเพลงในอัลบั้ม ด้วยความร่วมไม้ร่วมมือของสามสมาชิกภายในวง  เคิร์ก แฮมเมตต์ สร้างสรรค์ริฟฟ์กีตาร์ ‘ลาร์ส อุลริก’ (Lars Ulrich) มือกลองช่วยคิดต่อโดยการบอกว่า “ริฟฟ์นั่นเจ๋งดีนะ แต่ลองเล่นซ้ำท่อนแรกสักสี่รอบเป็นไง” จนกลายเป็นริฟฟ์ติดหู และดนตรีเหล่านั้นก็เป็นรูปเป็นเพลงได้เมื่อควบรวมกับเนื้อร้องที่ ‘เจมส์ เฮตฟีลด์’ (James Hetfield) นักร้องนำและมือกีตาร์เป็นผู้แต่ง   ความตายในเปล เนื้อเพลงแรกเริ่มของ ‘Enter Sandman’ นั้นไม่ใช่อย่างที่เราได้ฟังในปัจจุบัน เพราะเจมส์ เฮตฟีลด์ร้อยเรียงเนื้อความเหล่านั้นโดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับโรค SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรือ ‘โรคไหลตายเฉียบพลันในทารก’ อันเป็นภาวะที่ทารกแรกเกิดถึงหนึ่งปีเสียชีวิตขณะนอนหลับ เมื่อเหล่าเด็กน้อยไร้เดียงสาตายในเปลไกว ‘เดินทางสู่เนเวอร์แลนด์’ ก่อนวัย ความตายของพวกเขา ‘ทำลายความสมบูรณ์ของครอบครัว’  อุลริกจดจำถึงวันเหล่านั้นได้ว่า “ฤดูใบไม้ผลิ ปี 1991 เขา (เฮตฟีลด์) เข้ามาพร้อมกับเนื้อเพลงว่าด้วยความตายในเปล มันไพเราะทีเดียว แต่เราก็นั่งลงและพูดว่า ไม่ได้ว่านะ นายเขียนเนื้อเพลงเจ๋ง ๆ มาตลอดหลายปี แต่บางทีเรื่องราวที่เล่าครั้งนี้ มันอาจไม่ค่อยเข้ากับอารมณ์ของดนตรีหรือเปล่า” โดยปกติแล้วเมทัลลิกามีแนวทางการทำงานที่สมาชิกแต่ละคนจะไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของกันและกัน การโน้มน้าวใจเฮตฟีลด์โดยมากจึงตกเป็นหน้าที่ของ ‘บ็อบ ร็อก’ (Bob Rock) โปรดิวเซอร์ของเมทัลลิกา ที่เพิ่งร่วมงานกับวงได้ไม่นานในเวลานั้น พูดกับนักร้องนำด้วยสายตาคนนอก “ไม่มีใครเคยคุยกับเจมส์ (เฮตฟีลด์) เรื่องเพลงของเขา ผมก็เลยต้องทำ” บ็อบ ร็อกเล่า “เขาคือตัวเอ้เลยนะ มีภาพลักษณ์แบบ ‘หัวหน้าเจมส์’ ผู้ยิ่งใหญ่ แต่ผมเพิ่งจะบอกเขาไปว่า ‘เมื่อเราขายเพลง มันง่ายที่จะพูดถึงเนื้อหาพื้น ๆ แบบนั้น แต่มันจะยากขึ้นถ้าเราต้องหา ‘ความหมายดี ๆ’ ให้มันจริงๆ’ ผมคิดว่าผมอยากปลุกให้เจมส์เขามั่นใจ และอยากไปให้สุดกว่าเดิม” “ช่างหัวมันสิ กูเป็นคนแต่งโว้ย” คือผลตอบรับแรกจากเฮตฟีลด์ แต่หลังจากได้ครุ่นคิด เขาก็บอกว่า “นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้รับคำท้าจากคนอื่น คำท้าทายให้ทำงานหนักขึ้น” และหลังจากนั้น เรื่องราวในเพลงก็เปลี่ยนไป เมื่อเนื้อเพลงดั้งเดิมซึ่งน่ากลัวอยู่แล้ว กลายเป็นเนื้อเพลงฉบับใหม่ที่น่ากลัวกว่าเดิม...   มนุษย์ทราย ฝันร้าย และคำพร่ำสอนให้หวาดกลัว ‘มนุษย์ทราย’ ได้เข้ามามีบทบาทอย่างจริงจังก็ตอนนี้ เนื้อเพลงที่ปรับแต่งใหม่ใช้ตำนานพื้นบ้านของแถบสแกนดิเนเวียเป็นแกนกลางอ้างอิง นิทานนั้นเล่าถึง ‘Sandman’ จิตวิญญาณดีที่คอยปกป้องเด็ก ๆ จากฝันร้ายด้วยการโรยเม็ดทรายบนเปลือกตาเจ้าตัวจิ๋ว เด็กที่ได้รับพรเป็นเม็ดทรายบนเปลือกตานั้นจะพบแต่ความฝันที่สวยงาม และว่ากันว่าความง่วงงุนยามเช้าคือผลจากมนตร์แห่งเทพทรายที่ยังไม่คลายไป แต่หากมองนิทานพื้นบ้านนี้ในมุมกลับเล่า? หากเปลี่ยน ‘มนุษย์ทราย’ จากดีเป็นร้าย จากผู้ให้ฝันอันเป็นสุข เป็นผู้มอบฝันชวนผวาที่หลีกหนีไม่ได้ขึ้นมา… “ผมต้องการเปรียบเปรยจิตใจของเด็ก ๆ เมื่อพยกเขาถูกชักจูงโดยผู้ใหญ่” เฮตฟีลด์พูด “เขาบอกว่าตอนที่เราตื่นมาแล้วเมาขี้ตา นั่นหมายความว่าเมื่อคืนแซนด์แมนมาหาเรา เมื่อตัวเอกในเพลงเล่านิทานเรื่องนี้ให้เด็กน้อยของเขาฟัง เจ้าเด็กน้อยกลัวจนตัวสั่น เขานอนไม่หลับอีกต่อไป นิทานให้ผลตรงกันข้าม” ‘Enter Sandman’ ของ Metallica กลายเป็นเพลง anti-lullaby ที่ทำลายความชวนฝันของเพลงกล่อมเด็ก ขณะเดียวกันก็เป็นที่ถกถามกันว่าภายใต้เนื้อเพลงชวนสั่นประสาทของเฮตฟีลด์นั้นอาจประกอบไปด้วยการกู่ตะโกนให้ ‘วัยเยาว์’ เลิกฟังและรับเอาความเชื่อของผู้ใหญ่ ที่หลายเรื่องเหมือนนิทานฝันดีแต่แฝงเร้นไว้ด้วยการหลอกให้กลัว และเริ่มต้น ‘คิดด้วยตนเอง’ ไม่ว่าผลลัพธ์นั้นจะออกมาดีหรือไม่ก็ตาม ‘Enter Sandman’ ขึ้นแท่นเพลงดังของเมทัลลิกาตั้งแต่มันถูกปล่อยออกมา และยังโด่งดังคู่วันเวลาอยู่แม้จะเปลี่ยนผ่านจากวันวานมากว่าสามสิบปี เมทัลลิกายังมักจะเล่นเพลงนี้เป็นเพลงปิดท้ายเมื่อพวกเขาขึ้นโชว์ เพลงนี้คือบทเพลงแสนสำคัญของพวกเขา เช่นที่เคิร์ก แฮมเมตต์เคยพูดถึงเพลงนี้ไว้ว่า “นี่คือ ‘Stairway To Heaven’ ของเรา คือ ‘Jumping Jack Flash’ และ ‘Live Forever’ ของเรา”   ที่มา: https://www.uncut.co.uk/features/the-making-of-metallica-s-enter-sandman-7618/ https://www.udiscovermusic.com/stories/metallica-enter-sandman-song/ https://ultimateclassicrock.com/metallica-enter-sandman/ https://faroutmagazine.co.uk/metallica-enter-sandman-30-story-behind-the-song/ https://storyofsong.com/story/enter-sandman/ https://www.songfacts.com/facts/metallica/enter-sandman https://www.loudersound.com/features/enter-sandman-metallica-story-behind-song