มีชัย วีระไวทยะ: ‘ถุงมีชัย’ ราชาถุงยาง ผู้ผลักดันการวางแผนครอบครัวในไทย
กำเนิดและการศึกษา
มีชัย วีระไวทยะ เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2484 เป็นบุตรของนายแพทย์สมัค กับแพทย์หญิงอิซซาเบลลา แมคคินนอน “เอลลา” โรเบิร์ตสัน
ในด้านการศึกษา เขาเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จากนั้นย้ายไปโรงเรียนจีลอง แกรมม่า ประเทศออสเตรเลีย แล้วจบปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์และการพาณิชย์ จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2507
ด้านชีวิตส่วนตัว มีชัยสมรสกับ ม.ร.ว.บุตรี กฤดากร ผู้เป็นบุตรีของ ม.จ.ชิดชนก กับ ม.ล.ต่อ (สกุลเดิม ชุมสาย) และมีธิดา 1 คน ชื่อ สุจิมา
การวางแผนครอบครัว
เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาแล้ว มีชัยเริ่มทำงานเป็นหัวหน้ากองประเมินผลการพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (พ.ศ. 2508-2514) ซึ่งทำให้เขาพบว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็วนั้นเป็นอุปสรรคในการพัฒนาชนบท แต่ในยุคนั้นการวางแผนครอบครัวยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย
ดังที่เขาเล่าเอาไว้ว่า “สมัยที่ผมทำงานอยู่ที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและได้ออกไปปฏิบัติงานในจังหวัดต่าง ๆ สังเกตเห็นว่ามีเด็กเล็กวิ่งเล่นตามหมู่บ้านมากมาย จึงเกิดความสงสัย
หลังจากนั้นได้ศึกษาข้อมูลต่าง ๆ จนพบว่าอัตราการเกิด และอัตราการเพิ่มของประชากรของประเทศในขณะนั้นสูงถึงร้อยละ 3.3 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก อาจทำให้งานพัฒนาแบบที่ทำอยู่ตามไม่ทันกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงคิดว่าจะต้องมีโครงการชะลอการเกิด ในระหว่างนั้นก็พยายามกระตุ้นให้รัฐบาลหันมาสนใจปัญหาประชากร ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง”
ด้วยความสนใจปัญหานี้อย่างจริงจัง เขาจึงลาออกมาทำงานที่สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2517 จากนั้นได้ออกมาก่อตั้งสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (Population and Community Development Association : PDA) เมื่อ พ.ศ. 2520 โดยรณรงค์ด้วยคำขวัญว่า “ลูกมากจะยากจน” และทำงานรณรงค์ผลักดันเรื่องการใช้ยาคุมกำเนิดและถุงยางอนามัยในชนบท
กล่าวโดยย่อได้ว่า งานของสมาคมได้รับความสำเร็จพอสมควร ได้รับการขานรับจากหน่วยราชการและกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ประเทศไทยสามารถลดจำนวนบุตรของแต่ละครอบครัวจากเดิมเฉลี่ยที่ 7 คน ลงมาเหลือ 2 คน และอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร ลดลงจากร้อยละ 3.3 ลงมาเป็นร้อยละ 2.5
โดยในปี 2560 เคยมีผู้ถามมีชัยว่า เป็นเพราะนโยบายของเขาได้ผลดีเกินไปหรือไม่ จึงทำให้สังคมไทยก้าวสู่ ‘สังคมสูงวัย’ จากการที่เด็กเกิดน้อยลง มีชัยได้ยกตัวอย่างประเทศฟิลิปปินส์มาเปรียบเทียบว่า
“หากไทยไม่มีการวางแผนครอบครัวก็จะมีประชากรใกล้ ๆ กับฟิลิปปินส์วันนี้นั่นคือเกิน 100 ล้านคนซึ่งจะทำให้สภาพเศรษฐกิจมีปัญหา ความยากจนจะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ขณะที่ไทยมีประชากรไม่ถึง 70 ล้านคน สามารถดูแลปากท้องของประชาชนได้ดีพอสมควร ... เราจะเป็นอย่างฟิลิปปินส์หรือจะเป็นอย่างเราทุกวันนี้?”
นอกจากนี้ สิ่งที่คู่ขนานกับการลดอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร ก็คือการสอนให้เยาวชนเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศ การคุมกำเนิด และการป้องกันโรคติดต่อทางเพศ
ราชาถุงยาง
เมื่อปี พ.ศ. 2561 บิลล์ เกตส์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน กล่าวยกย่องมีชัยว่าเป็น ‘ราชาแห่งถุงยางอนามัย (The Condom King)’ (หลังจากที่ก่อนหน้านี้เขาเป็นที่รู้จักในนาม Mr.Condom) จากความพยายามในการรณรงค์ให้ผู้คนในสังคมไทยใช้ถุงยางอนามัย เพื่อคุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อทางเพศ จนสมัยหนึ่งคนไทยเรียกถุงยางอนามัยว่า ‘ถุงมีชัย’ เลยทีเดียว
มีชัยเล่าถึงการรณรงค์เรื่องถุงยางอนามัยไว้ว่า “เราแจกถุงยางให้คนดู เค้าก็เกิดความตื่นตัว สนับสนุนด้วย แล้วก็หัวเราะบ้าง อายบ้าง แต่ทำให้เกิดปฏิกิริยาขึ้น เราก็เลยมองว่าถุงยางนี่เป็นสัญลักษณ์ที่ดี เราถึงแจกถุงยางให้เด็กเป่าเป็นลูกโป่งเล่น หรือจะเอามาทำเป็นหนังสติ๊กรัดผมก็ได้ แล้วก็ใช้ขัดรองเท้า”
นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการแพร่กระจายของโรคเอดส์ในไทยและประเทศต่าง ๆ ช่วง พ.ศ. 2523-2533 มีชัยยังได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิธีการสื่อสารเรื่องโรคเอดส์ในระดับชาติ และรณรงค์ป้องกันที่มีส่วนสำคัญหลายเรื่อง เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในโครงการถุงยางอนามัย 100% ซึ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จของไทยในการควบคุมการแพร่กระจายของโรคเอดส์ในเวทีระดับโลกอีกด้วย
เรื่อง: กษิดิศ อนันทนาธร
บรรณานุกรม
- https://pda.or.th/pda-founders/
- https://www.bbc.com/thai/thailand-48267020
- http://mechaifoundation.org/download/biography/CV_Mechai_Viravaidya_Thai_Sep_2010.pdf
- https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/116621
- https://www.princemahidolaward.org/th/people/%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2-%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B0/
- https://workpointtoday.com/%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B8%A5-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%AA%E0%B9%8C-%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87/