ปิแอร์, ซองนีเย่, นาร์คแด็ง : การเดินทางของเครื่องเสียง Devialet จากห้องครัวไปสู่ดวงจันทร์

ปิแอร์, ซองนีเย่, นาร์คแด็ง : การเดินทางของเครื่องเสียง Devialet จากห้องครัวไปสู่ดวงจันทร์
“ถ้าไม่เคยฝันว่าจะได้ไปเดินบนดวงจันทร์ คุณก็ไม่มีวันได้ไปเดินบนนั้นหรอก” ปิแอร์ เอ็มมานูเอล คาลเมล หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งแบรนด์ Devialet ได้ตอบคำถามว่าอะไรคือแรงขับที่ทำให้พวกเขารังสรรค์ Devialet Phantom สุดยอดลำโพงไร้สายแห่งยุคขึ้นมาได้ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์สุดล้ำที่เปลี่ยนโลกแห่งโสตประสาทไปตลอดกาล สำหรับใครที่ยังไม่ได้สัมผัสเสียงที่ถูกถ่ายทอดผ่านลำโพงนี้ว่ามีความโดดเด่นแตกต่างอย่างไร การที่ Foxconn, Ginko Ventures, Bernard Arnault จากแบรนด์ high-end ที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง Moët Hennessy Louis Vuitton (LVMH) หรือแม้กระทั่งเจย์ซี ศิลปินแรปเปอร์เจ้าของบริษัท Roc Nation ต่างวางใจและพร้อมที่จะควักเงินในกระเป๋าออกมาลงทุนกับ Devialet นั้น อาจจะช่วยยืนยันได้ถึงความพิเศษของแบรนด์ที่เพิ่งก่อตั้งมาไม่ถึง 20 ปีนี้ได้เป็นอย่างดี อย่างที่บอกไปว่าเบื้องหลังที่ทำให้ Devialet เป็นแบรนด์เครื่องเสียงชั้นนำระดับโลกในตอนนี้ อาจไม่ใช้แค่เพียงการผสานเทคโนโลยีเอกสิทธิ์เฉพาะ แต่เป็นหมุดหมายสำคัญที่ Devialet ต้องไปให้ไกลกว่าแค่สุนทรียะแห่งเสียงเพลง ทำให้ไม่แปลกที่พวกเขาจะเปรียบเทียบความฝันของ Devialet กับการไปเดินบนดวงจันทร์ แต่ก่อนที่จะไปไกลถึงนอกโลก เรามาทำความรู้จักทีมอเวนเจอร์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นกันดีกว่า ปิแอร์, ซองนีเย่, นาร์คแด็ง : การเดินทางของเครื่องเสียง Devialet จากห้องครัวไปสู่ดวงจันทร์

(ด้านซ้าย Pierre-Emmanuel Calmel, กลาง Quentin Sannié, ขวา Emmanuel Nardin)

  ออกจากงานเพื่อทำตามความฝัน การหันหลังจากความมั่นคงของงานประจำ เพื่อไล่ล่าตามความฝัน อาจเป็นสิ่งที่หลายคนเคยคิดไว้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ปิแอร์ เอ็มมานูเอล คาลเมล (Pierre-Emmanuel Calmel) วิศวกรจากบริษัท Telco ที่ตัดสินใจลาออกมาในปี 2003 แล้วใช้เงินเก็บที่มีอยู่น้อยนิดในการเช่าออฟฟิศเพื่อทำงานวิจัยที่เขาใฝ่ฝันมาตลอด นั่นคือเทคโนโลยีภาคขยายเสียงแบบใหม่ ที่ผสานจุดเด่นของเทคโนโลยีวงจรภาคขยายเสียงที่มีแนวคิดแบบอะนาล็อกและแบบดิจิทัลเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน ในช่วงแรกเขามีแรงฮึดอยู่มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป 12 เดือน 18 เดือน กลับไม่มีความคืบหน้าออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน จนหลายคนเริ่มคิดว่าชายคนนี้เป็นเพียงคนช่างฝันที่ไม่ประสบความสำเร็จใด ๆ ในตอนนั้นเขาขาดแรงสนับสนุนทั้งทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งการเงินก็ย่ำแย่ ถึงแม้จะมีความช่วยเหลือยื่นเข้ามา แลกกับสัญญา 1 ปีที่เขาจะไม่ได้มาแตะงานวิจัยที่เป็นเหมือนกับชีวิตของเขา ปิแอร์ก็ได้ปฏิเสธไปเพราะเชื่อว่าหากตอบรับข้อเสนอนั้นไปแล้ว เขารู้ดีว่าจะไม่ได้กลับมาสานต่อมันอีกเลย ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง พาตัวปิแอร์ให้มีแรงในการลุยต่อ ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ ด้วยสมองและเวลาซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าเดียวที่เขามีอยู่ ในที่สุดเขาสามารถลงมือเขียนโปรแกรมของตัวเองขึ้นมา ทำแผงวงจรแรกขึ้นมาในห้องครัวเล็ก ๆ สุดท้ายงานวิจัยดังกล่าวของปิแอร์ได้ตกผลึกออกมาเป็น Analog Digital Hybrid (ADH) เทคโนโลยีที่ปิแอร์ได้จดสิทธิบัตรเป็นเจ้าแรกในฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ซึ่งต่อมาได้สร้างกำไรให้กับ Deivalet ต่อเนื่องมาจนถึงมาปัจจุบัน ถ้าจะอธิบายความล้ำของ Analog Digital Hybrid (ADH) เราต้องทำความเข้าใจการทำงานของคลื่นเสียงก่อนว่า การได้ยินเริ่มต้นจากแหล่งกำเนิดเสียง ซึ่งเกิดการสั่นสะเทือนผ่านตัวกลางต่าง ๆ จนมาถึงหูของเราที่จะแปลออกมาเป็นเสียงต่าง ๆ ซึ่งในอดีตวงจรขยายสัญญาณเสียงจะใช้วิธีการแบบอะนาล็อก หรือที่เรียกว่า แอมป์คลาสเอ ผ่านกลไกต่าง ๆ ทำให้ได้เสียงที่มีความผิดเพี้ยนต่ำ มีความนุ่มนวลเป็นธรรมชาติ แต่ต้องแลกมากับการสูญเสียพลังงาน ราคาที่สูง และขนาดที่ใหญ่ขึ้นตามกำลังขับ การเข้ามาของวงจรขยายเสียงแบบดิจิทัล หรือคลาสดี มีจุดเด่นที่มาชดเชยในเรื่องนี้ แต่ต้องแลกมากับความแม่นยำของเนื้อเสียงที่หลายคนมองว่าขาดเสน่ห์และน้ำเสียงกระด้างไม่ละเมียดละไมอวบอิ่ม การที่ Analog Digital Hybrid (ADH) หยิบจุดเด่นของแอมป์คลาสเอและคลาสดีมารวมกันได้อย่างลงตัวนั้นเลยถือเป็นการปฏิวัติวงการเครื่องเสียงชั้นสูงครั้งสำคัญ   ฝันให้ไกล ทำให้ได้ ไปให้ถึง เมื่อเทคโนโลยีพร้อมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือรูปลักษณ์และการออกแบบที่สวยงามลงตัว ลองคิดเล่น ๆ ว่าถ้า Apple ขาดจินตนาการของ โจนี ไอฟ์ (Jony Ive) เราอาจมีผลิตภัณฑ์สุดล้ำที่หน้าตาเหมือนเครื่องจักรกลทื่อ ๆ เหมือนของเล่นไฮเทคอีกหลาย ๆ อย่างที่คนอาจไม่เคยจดจำก็เป็นได้ การเข้ามาของเอ็มมานูเอล นาร์คแด็ง (Emmanuel Nardin) นักออกแบบที่หลงใหลในการฟังเพลงที่ได้มีส่วนร่วมใน Devialet จึงมาเติมเต็มในจุดนี้ ถ้านับจุดเริ่มต้นในปี 2003 ที่ปิแอร์ ลาออกมาทุ่มเทให้กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งเสียง ต้องใช้เวลาถึง 4 ปี กว่าที่ปิแอร์และนารค์แด็งจะมีโอกาสได้พบกัน ตัวนาร์คแด็งเองก็มีความฝัน ปรารถนาจะทำธุรกิจในวงการเครื่องเสียงและแฟชั่นมาตลอด ทั้งสองคนได้แลกเปลี่ยนความหลงใหล และแนวคิดที่มีต่อเทคโนโลยีเกี่ยวกับเสียง รวมถึงยังมองหาเพื่อนร่วมทาง ที่จะมาช่วยกันสร้างความฝันให้กลายเป็นความจริงขึ้นมา เกิดเป็นองค์ประกอบ 2 องค์ประกอบสำคัญอย่างผู้คิดค้นเทคโนโลยีและผู้ออกแบบตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากการคิดค้นนวัตกรรมแห่งโสตสัมผัสอันเป็นหนึ่งในความฝันของเขาแล้ว นาร์คแด็งเองยังมีมุมมองต่อการออกแบบเอาไว้ว่า การออกแบบนั้นต้องสอดรับกับการใช้งานจริง ซึ่งความสามารถในการที่จะทำให้เพลงนั้นมีเสียงออกมาตรงกับความเป็นจริงนั้น เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้สำเร็จในทุก ๆ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของ Devialet ออกมาได้มากที่สุด ปิแอร์, ซองนีเย่, นาร์คแด็ง : การเดินทางของเครื่องเสียง Devialet จากห้องครัวไปสู่ดวงจันทร์

(Expert Pro Amplifiers ผลิตภัณฑ์แรกสุดของ Devialet ฉายา "แอมป์กล่องพิซซ่า")

  การรวมตัวกันของเหล่าผู้หลงใหลในโลกแห่งเสียง เรื่องที่ทำให้ผู้ชายคนหนึ่งต้องเสียน้ำตา อาจเป็นเรื่องทีมฟุตบอลที่รักตกชั้น การสูญเสียคนสำคัญในครอบครัว หรือ การเผชิญกับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในชีวิต แต่ใครจะไปเชื่อว่า เช้าวันหนึ่ง เควนติน ซองนีเย่ (Quentin Sannié) นักลงทุนหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Devialet นั่งน้ำตาซึมอยู่เพียงลำพังทั้งคืนขณะที่กำลังฟังบันทึกเทปการแสดงของวง Queen ที่ Wembley Stadium ในปี 1986 ผ่านเครื่องขยายเสียง ผลิตภัณฑ์ตัวแรกของ Devialet !!! “ผมเพิ่งได้ Devialet มาลองฟังที่บ้าน หลังจากเปิดเพลงเก่า ๆ ฟังน้ำตามันก็ไหลตลอดทั้งคืน” การบันทึกเสียงที่ดีมีประสิทธิภาพมีองค์ประกอบมากมายรวมอยู่ด้วยกันอย่างพอดิบพอดี เครื่องดนตรีชิ้นโปรด สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ความสามารถของผู้บรรเลงเพลงในช่วงเวลานั้น ๆ รวมไปถึงสื่อกลางอย่างลำโพงที่มีคุณภาพ สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ในห้วงเวลานั้นได้อย่างไม่ผิดเพี้ยนนั้นเป็นสิ่งกระตุ้นความทรงจำของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ทำให้ไม่แปลกใจที่ซองนีเย่จะนั่งจมกองน้ำตาในคืนนั้น ซองนีเย่มีความหลงใหลในเสียงเพลง และพูดถึงเทคโนโลยีเกี่ยวกับเสียงมาโดยตลอด โดยความหลงใหลชื่นชอบในสิ่งเหล่านี้ โดยสามารถเทียบได้กับเวลาที่นักสะสมผลงานศิลปะพูดถึงงานศิลปะชิ้นโบว์แดงที่มีราคามากที่สุดของเขา และด้วยเหตุผลนี้ทำให้เขาก้าวมาเป็นหนึ่งในอเวนเจอร์สของ Devialet อย่างไม่น่าแปลกใจ เมื่อองค์ประกอบสำคัญทั้ง 3 อย่าง ผู้คิดค้นเทคโนโลยี ผู้ออกแบบตัวผลิตภัณฑ์ และเงินทุน ได้รวมตัวกันครบทีม โดยทุกคนต่าวมีความลุ่มหลงในเทคโนโลยีแห่งเสียงเป็นตัวประสาน บวกกับวิสัยทัศน์ของทีมผู้ร่วมก่อตั้ง และเป้าหมายที่โดดเด่น ทำให้พวกเขาสามารถระดมเงินทุนได้มากกว่า 20 ล้านยูโรจากนักลงทุนแถวหน้า จนร่วมมือกันก่อตั้งเป็น Devialet บริษัทหน้าใหม่ที่กำลังเปิดบันทึกหน้าสำคัญให้กับโลกแห่งเครื่องเสียงระดับ high-end ชั้นนำ ปิแอร์, ซองนีเย่, นาร์คแด็ง : การเดินทางของเครื่องเสียง Devialet จากห้องครัวไปสู่ดวงจันทร์

(ลำโพง Devielet Phantom I 108dB)

  การเดินทางของ Devialet อดีตจนถึงอนาคต ผลิตภัณฑ์นำร่องแรกสุดของ Devialet คือ Expert Pro Amplifiers เครื่องขยายเสียงแบบผสมแรกในระดับโลกที่เปิดตัวเมื่อปี 2015 ซึ่งหลังจากเปิดตัวก็ทำสถิติเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเสียงระดับพรีเมียมที่ขายออกเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ จากความสำเร็จของ Devialet Expert Pro นำมาซึ่งโปรเจกต์ Phantom โปรเจกต์ที่เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือกับ Swiss Audio Design บริษัทที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการผลิตลำโพง ซึ่งมีแนวคิดอยากจะพัฒนาลำโพง all-in-one เช่นเดียวกับทาง Devialet จึงเริ่มระดมสมอง ร่วมมือหลอมรวมความเป็น Swiss Audio Design และ Devialet เข้าไว้ด้วยกัน ช่วงแรกทีมพัฒนา Devialet ออกแบบตัวลำโพง Phantom ออกมาเป็นรูปร่างคล้ายชั้นวางหนังสือ แต่ตัวปิแอร์คิดว่าน่ากำลังมาผิดทาง เพราะ Phantom ต้องแตกต่างเพื่อปฏิวัติวงการเครื่องเสียงให้ได้ ต้องขอบคุณวิสัยทัศน์ของปิแอร์และทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยกันเร่งทำงานหามรุ่มหามค่ำเพื่อจะให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่ตั้งเอาไว้ ทั้งหมดใช้เวลาในการทำการวิจัยกว่า 2 ปี และลงเงินไปหลายล้านยูโรเพื่อที่จะลดขนาดเทคโนโลยี ADH ที่มีขนาดเล็กอยู่แล้วเมื่อเทียบกับวงจรขยายเสียง  ทั่วไปให้เล็กลงไปอีก จนสามารถบรรจุอยู่ในตัว Phantom ได้อย่างไม่ขาดไม่เกิน ทำให้ลำโพงขนาดกะทัดรัดที่น้ำหนักไม่กี่กิโลกรัมสามารถรีดกำลังขับออกมาได้ถึง 4,500 วัตต์ ในรุ่นโกลด์ นอกจากเทคโนโลยี ADH ที่สะเทือนวงการแล้ว ภายใน Phantom ยังอัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีที่ทาง Devialet คิดค้นอีกมากกว่า 80 รายการ ไม่ว่าจะเป็น Heart Bass Implosion (HBI) ที่ช่วยทำให้เสียงเบสมหาศาลที่ความถี่ย่านต่ำได้ถึง 14 Hz ซึ่งต่ำกว่าหูของมนุษย์ทั่วไปจะสัมผัสได้, Active Cospherical Engine (ACE) เทคนิคการออกแบบลำโพงอย่างสมมาตร ให้กระจายเสียงรอบทิศทางอย่างทั่วถึงเสมอกัน, Speaker Active Matching (SAM) เทคโนโลยีที่วิเคราะห์ลักษณะเสียงต้นฉบับและจำลองการเคลื่อนที่ของอากาศขณะบันทึกเพื่อให้ได้เสียงใกล้เคียงต้นฉบับมากที่สุด นอกจากเทคโนโลยีที่ล้ำเกินจินตนาการแล้ว ลำโพงนี้ยังมาพร้อมการเชื่อมต่อเข้าด้วยกันได้สูงสุดกว่า 24 เครื่อง ลองคิดว่าถ้าเปิดลำโพงสุดล้ำนี้พร้อมกันจะให้ความกระหึ่มสุดอลังการแต่เต็มไปด้วยความอิ่มขนาดไหนกัน เหตุผลที่ Phantom เต็มไปด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำมากมายเพราะพวกเขาตั้งใจให้ลำโพง Devialet Phantom เป็น game changer ของวงการเครื่องเสียงที่ยกระดับให้เทคโนโลยีเกี่ยวกับเสียงไปสู่ยุคศตวรรตที่ 21 อย่างเป็นทางการ ด้วยประสิทธิภาพเทคโนโลยีที่สามารถเทียบชั้นเครื่องเสียงระดับสูง ได้อย่างสบาย ๆ แต่มีขนาดตัวที่เล็กและการออกแบบรูปทรงที่โดดเด่นยิ่งกว่าหลายเท่าตัว เหมือนให้นักมวยรุ่นเฟเธอร์เวทอย่างบัวขาว ข้ามรุ่นไปขึ้นสังเวียนแลกหมัดกับนักมวยรุ่นเฮฟวีเวทได้อย่างสูสี ทำให้ลำโพง Phantom ที่ทาง Devialet ได้ปล่อยออกมาในปี 2015 กลายเป็นหนึ่งเครื่องเสียงที่นิตยสารและเว็บไซต์ชั้นนำจากทั่วโลกต่างยกให้เป็นลำโพงแบบไร้สายที่ดีที่สุดเท่าที่โลกมีมา ปิแอร์, ซองนีเย่, นาร์คแด็ง : การเดินทางของเครื่องเสียง Devialet จากห้องครัวไปสู่ดวงจันทร์

(หูฟัง Devialet Gemini)

  ไกลกว่าแค่ก้าวเดินบนพื้นผิวดวงจันทร์ จะเป็นอย่างไรถ้านับหนึ่งความสำเร็จกันใหม่ นี่อาจเป็นแนวคิดของผู้ก่อตั้ง Devialet ที่ไม่เคยหยุดอยู่กับความสำเร็จเดิม ๆ แต่ตั้งเป้าให้ไกลขึ้นในทุกวัน ซึ่งเป้าหมายที่ว่าเป็นสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นไปไม่ได้คือการย่อขนาดลำโพงแห่งยุคอย่าง Devialet Phantom ให้เป็นหูฟังไร้สายที่ยังต้องเก็บประสิทธิภาพและเทคโนโลยีต่าง ๆ ของ ผลิตภัณฑ์เรือธงอย่าง Phantom ไว้ให้ได้มากที่สุด ส่วนหนึ่งมาจากเป้าหมายสูงสุดที่ปิแอร์อยากจะพา Devialet ไปให้ถึง คือ “ความรู้สึก” เพราะเขาเชื่อว่าสำหรับทุกคนแล้ว ดนตรีไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องแปลหรือต้องเข้าใจความหมาย แต่มันเป็นเรื่องความเป็นสากล และ Devialet จะเชื่อมโยงทุกคนเข้าด้วยกัน นอกจากนี้เควนตินยังเชื่อว่า Devialet จะสามารถกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกแบบเดียวกับความรู้สึกในตอนที่คุณได้อยู่ต่อหน้างานศิลปะระดับโลก ซึ่งการจะทำให้ทุกคนสัมผัสได้แบบนั้นต้องทำให้ทุกคนเข้าถึง สุนทรียะแห่งโสตสัมผัสได้ทุกที่ทุกเวลา เป็นที่มาของ Devialet Gemini โปรเจกต์ที่หยิบชื่อหมู่ดาว Gemini กลุ่มดาวเจมินายหรือคนคู่ ด้วยแนวคิดการออกแบบที่อยากให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์ความรู้สึกของเสียงที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีของลำโพง Phantom ด้วยการย่อขนาดให้ทุกคนได้เข้าถึงได้ ความท้าทายของโปรเจกต์อยู่ที่ข้อจำกัดทางด้านขนาด และเทคโนโลยีที่ต้องออกแบบเพื่อมารองรับการใช้งานหูฟังแบบ True Wireless ที่แตกต่างจากลำโพงทั่วไป ทั้งการใช้งานที่ต้องง่าย พกพาสะดวก รวมไปถึงรูปลักษณ์เฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของ Devialet หลังจากการทุ่มเทอย่างจริงจังของ Devialet ในปี 2020 โลกก็ได้สัมผัสหูฟัง Devialet Gemini ที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีอย่าง Ear Active Matching (EAM®) ที่จะส่งคลื่นสัญญาณเพื่อวิเคราะห์ลักษณะหูของเราเพื่อปรับแต่งเสียงให้เหมาะสำหรับช่องหูของแต่ละคนตลอดเวลา, Internal Delay Compensation (IDC®) เทคโนโลยีที่ช่วยลดอาการหน่วงของการตัดเสียงรบกวน ซึ่งหลายคนที่เคยใช้หูฟังตัดเสียง (noise cancelling) จะรู้สึกถึงความแตกต่างของเทคโนโลยีนี้ได้ทันที, Pressure Balance Architecture (PBA®) การออกแบบโครงสร้างอะคูสติกส์พิเศษ ที่ลดเสียงรบกวนจากภายนอก และสร้างความดันที่เหมาะสมสำหรับการสร้างเสียงจากภายใน การทำงานของเทคโนโลยีทั้งสามช่วยให้ผู้ใช้งาน Devialet Gemini ได้ประสบการณ์ในอีกระดับ โดยเฉพาะเรื่องการตัดเสียงรบกวนที่ออกแบบมาอย่างดี จนแทบไม่รู้สึกถึงอาการ noise cancelling sickness หรือความรู้สึกปวดหูหน่วง ๆ จากการการตัดเสียงภายนอกเลยแม้แต่น้อย ช่วยทำให้สวมใส่ได้เป็นเวลานานขึ้น ความโดดเด่นของเทคโนโลยีที่ช่วยตัดเสียงรบกวนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Devialet Gemini เพราะความตั้งใจแรกของ Devialet คือการถ่ายทอดประสบการณ์สุนทรียะแห่งเสียงของ Devialet Phantom ออกมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งต้องยอมรับว่าจากการลองใช้งานแล้วทาง Devialet ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ช่วยให้สัมผัสได้ถึงประสบการณ์ใกล้เคียงกับเสียงที่ถูกส่งผ่าน Devialet Phantom ได้เป็นอย่างดี ซึ่งส่วนหนึ่งต้องใช้งานผ่านแอปพลิเคชันที่ช่วยรีดความสามารถของ Devialet Gemini ออกมาอย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ที่เพิ่มเติมคือเราสามารถเดินไปไหนก็ได้โดยที่ความสุขจากเสียงเพลงยังคงต่อเนื่องไม่มีสะดุด การออกแบบที่มองไปถึงประสบการณ์ใช้งานนี้ ทางซองนีเย่บอกว่า จริง ๆ แล้วกลยุทธ์ของ Devialet นั้นมีความเชื่อมโยงกับ Apple โดยเปรียบเทียบคอมพิวเตอร์ Macintosh เครื่องแรกของ Apple ได้กับลำโพง Phantom ของ Devialet นั่นเอง ซองนีเย่มองว่าลำโพง Phantom นั้นเสมือนเป็นการแนะนำ Devialet ให้ชาวโลกได้รู้จัก แต่ก็ทราบดีว่าการที่จะไปถึงจุดเดียวกับ Apple ได้นั้น Devialet อาจต้องใช้เวลากว่า 10 - 15 ปี “เป้าหมายของเราคือการนำเทคโนโลยีไปอยู่ในทุก ๆ ที่” ถ้าซองนีเย่เปรียบเทียบว่า Phantom เหมือนกัน Macintosh เครื่องแรกของ Apple หูฟัง Devialet Gemini อาจจะเป็น iPod ที่มาปฏิวัติวงการเครื่องเสียงพกพาไปตลอดกาล ซึ่งอนาคตของ Devialet มุ่งเป้าไปที่การร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรายอื่น ๆ เพื่อที่จะติดตั้งเทคโนโลยีของ Devialet ลงในอุปกรณ์ของพวกเขา อย่างที่ได้นำร่องไปแล้วอย่างความร่วมมือกับ Huawei เป้าหมายต่อไปของ Devialet คือการร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์ ซองนีเย่เห็นว่าในอนาคตคนจะหันมาใช้รถยนต์ไร้คนขับมากขึ้นและเห็นความเป็นไปได้ที่จะใส่เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ของ Devialet เข้าไปด้วย ด้วยมุมมองที่ว่าระหว่างที่รถขับเคลื่อนไปอย่างอัตโนมัตินั้น แต่ละคนล้วนใช้เวลาภายในรถ ต้องมีการติดต่อกับคนอื่น ๆ หรือจะต้องมีการรับชมหรือรับฟังอะไรระหว่างการเดินทางแน่นอน และสิ่งนี้เองเป็นประตูที่จะนำ Devialet เข้าสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป ถึงแม้ว่าในตอนนี้ผลิตภัณฑ์ของ Devialet อาจยังไปไม่ถึงดวงจันทร์ในทางกายภาพ แต่ในความรู้สึกภารกิจของพวกเขายังคงอยู่ระหว่างทางที่จะคอยพัฒนาเทคโนโลยีตัวใหม่ ๆ ออกมา และมองหาความร่วมมือกับอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ แต่อย่างน้อยเราได้เห็นความทะเยอทะยานในการพัฒนาตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของพวกเขา ผ่านตัวผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจในทุกรายละเอียดที่เมื่อได้สัมผัสแล้วจะรับรู้ได้ถึงความตั้งใจของผู้สร้างสรรค์ที่อยากส่งต่อความหลงใหลให้ทุกคนได้เข้าถึงประสบการณ์แห่งสุนทรียะไปด้วยกัน   ภาพ: https://microstor.fr/blog/devialet-qualite-sonore-a-la-reunion/ https://www.frenchweb.fr/25-millions-deuros-pour-booster-devialet-aux-etats-unis/199277 https://www.audiovenue.uk/brand/devialet/   อ้างอิง: https://www.devialet.com/en-eu/about-us/company-presentation/ https://www.thepeakmagazine.com.sg/lifestyle/devialet-produces-worlds-best-speakers/ https://www.soundstageglobal.com/index.php/shows-events/high-end-2015-munich-germany/184-high-end-2015-features/570-the-devialet-revolution-a-conversation-with-co-founder-pierre-emmanuel-calmel https://lesnapoleons.com/en/speakers/quentin-sannie/ https://generationt.asia/ideas/Devialet-founder-Quentin-Sannie https://www.businessinsider.com/french-luxury-speaker-maker-devialet-ceo-quentin-sannie-interview-2017-7 https://designwanted.com/tech/emotions-sound-experiences-acoustical-engineering-company-devialet/ https://www.facebook.com/DevialetTH