แซร์ฌ มองโซ: ออกแบบขวดน้ำหอมดัง Dior, Hermès, Lancôme, Kenzo และอีกมากมาย ที่ตีความ ‘กลิ่น’ เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทัชใจ

แซร์ฌ มองโซ: ออกแบบขวดน้ำหอมดัง Dior, Hermès, Lancôme, Kenzo และอีกมากมาย ที่ตีความ ‘กลิ่น’ เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทัชใจ
คริสตัลทรงกลมสุดหรู ‘Dolce Vita by Dior’ ขวดแก้วใสทรงสูงเพรียวยาวปลายโค้งมน ‘Flower By Kenzo’ และ ’24 Faubourg Hermès’ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่พลิ้วไหว ราวกับถูกสายลมอ่อนกระทบอย่างแผ่วเบา รวมไปถึงขวดน้ำหอมทรงกระบอกสุดคลาสสิกอย่าง ‘Climat by Lancôme’ นี่เป็นเพียงตัวอย่างผลงานคร่าว ๆ ที่นักออกแบบขวดน้ำหอมชาวฝรั่งเศสนามว่า แซร์ฌ มองโซ เป็นผู้ออกแบบเท่านั้น แซร์ฌ มองโซ (Serge Mansau) คือนักออกแบบขวดน้ำหอมที่มีผลงานชุกระดับโลก แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักเขา ด้วยความที่มีนิสัยชอบเก็บตัวเงียบ และไม่ค่อยชอบพูดคุยถึงเรื่องส่วนตัวเท่าไร ทำให้เขาเลือกที่จะหลบหน้าหลบตาออกจากสื่อและงานสังคม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีคนอีกจำนวนมากไม่เคยเห็นหน้าค่าตาของชายผู้เข้ามาเปลี่ยนภาพจำของอุตสาหกรรมน้ำหอมไปตลอดกาล แม้มองโซไม่ชอบออกงานสังคม แต่ดูเหมือนว่าผลงานของเขากลับไปปรากฎอยู่บนโต๊ะเครื่องแป้งของสาว ๆ แทบจะทั่วทั้งโลก หากนับช่วงเวลาที่เขาตัดสินใจเข้าสู่อุตสาหกรรมน้ำหอมอย่างจริงจังในปลายปี 1950 จนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา เป็นเวลากว่า 60 ปีมาแล้วที่ชายคนนี้ทุ่มเทอย่างสุดความสามารถ ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมความงาม “ผมสนุกกับการออกแบบขวดน้ำหอมให้กับผู้ที่สนใจในผลงานของผมจริง ๆ และไม่สนว่าผู้ว่าจ้างจะเป็นแบรนด์ใหญ่หรือแบรนด์เล็ก มีชื่อเสียงหรือไม่มีชื่อเสียง ผมแค่ไม่เข้าใจว่า ทำไมความงดงามของบรรจุภัณฑ์ ถึงสงวนไว้สำหรับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงเท่านั้น” ชีวิตในกระเป๋าเดินทาง แซร์ฌ มองโซ เกิดวันที่ 18 มิถุนายน 1930 ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส เขาเกิดมาในครอบครัวที่เน้นหลักการและเหตุผลในการดำเนินชีวิต โดยมีพ่อเป็นวิศวกรการบิน ซึ่งมักจะโยกย้ายที่ทำงานไปเรื่อย ๆ ตามแต่ช่วงจังหวะชีวิตของการทำงาน ส่วนแม่ในความทรงจำของมองโซนั้นช่างเลือนลาง เพราะเธอแทบไม่เคยมอบความรักความอบอุ่นให้แก่มองโซเลย ชีวิตวัยเด็กของเขาจึงต้องเดินทางอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เขาไม่มีความรู้สึกผูกพันสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเป็นพิเศษ อีกทั้งความสัมพันธ์ภายในครอบครัวก็ย่ำแย่ พ่อทำงานหนัก แม่ก็ไม่สนใจ มองโซจึงมักบอกเล่าเรื่องราวในวัยเด็กว่าชีวิตวัยเด็กของเขาไม่มีอะไรที่น่าจดจำ และจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเคยอยู่ที่ไหนบ้าง เพราะต้องคอยติดสอยห้อยตามพ่อไปทำงานอยู่เรื่อย “ชีวิตของผมก็เหมือนกระเป๋าเดินทางใบหนึ่ง ผมไม่มีทั้งตุ๊กตาหมี หรือชุดของเล่นทหาร มีเพียงเสื้อผ้าไม่กี่ชิ้นที่พร้อมแพ็คลงกระเป๋าอยู่ทุกเมื่อ” ของเล่นในวัยเด็กของเขาทั้งหมดล้วนถูกสร้างขึ้นมาจากมือน้อย ๆ ของเขาเอง ทุกชิ้นถูกออกแบบ ขัดเกลา ลบเหลี่ยมมุม จนออกมาเป็นของชิ้นเล็กชิ้นน้อย ที่มีร่องรอยของความไม่สมบูรณ์แบบปรากฎอยู่เต็มไปหมด แม้จะไม่ใช่ผลงานที่ยิ่งใหญ่ แต่ทุกชิ้นล้วนถูกเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาด้วยความตั้งใจ แม้ว่าพ่อและแม่จะไม่มีเวลาให้เขามากนัก แต่เขากลับมีลุงที่ใจดี และมักแวะเวียนมาหาเขาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งทุกครั้งที่ลุงมาหาเด็กชายมองโซตัวน้อย ก็มาพร้อมกับเรื่องเล่าที่น่าตื่นเต้นของโลกใบใหญ่ ลุงเล่าให้เขาฟังหลายอย่างตั้งแต่เรื่องทั่วไปในชีวิตประวำวัน เรื่องเศร้าเคล้าน้ำตาที่มองโซในวัยไร้เดียงสาไม่อาจเข้าใจได้ ไปจนถึงเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นที่ลุงไปเจอมา ไม่ต่างจากหนังสายลับที่เขาเห็นตามจอแก้ว นี่คือโลกใบใหญ่ที่เขาไม่เคยสัมผัส โลกที่เต็มไปด้วยสีสันและเรื่องราวอันน่าทึ่ง แม้มองโซจะเปลี่ยนที่อยู่บ่อยครั้ง และน่าจะเห็นโลกในแง่มุมที่ต่างกันมากกว่าเด็กส่วนใหญ่ แต่เขาไม่เคยสัมผัสเรื่องราวเหล่านี้เลย เพราะพ่อและแม่แทบไม่มีเวลาพาเขาไปท่องโลก กลับเป็นลุงที่เปิดโลกใบน้อย ๆ ให้กว้างขึ้น พร้อมปลูกฝังให้เขารักโลก ธรรมชาติ ผู้คน สอนให้เป็นคนที่มองทุกอย่างในแง่ดี และอย่าละทิ้งความคิดสร้างสรรค์ นับแต่นั้นมองโซจึงวาดทุกอย่างที่เห็นและจินตนาการลงแผ่นกระดาษ เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น มองโซเริ่มมีความสนใจในศาสตร์ของภาพยนตร์ ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามที่พ่อของเขาอยากให้ลูกชายเพียงคนเดียวเดินตามรอยเท้าของตน มองโซเริ่มต้นอาชีพนักออกแบบงานสร้าง ซึ่งทำให้เขากลายเป็นเสาหลักของงานออกแบบภาพยนตร์ทั้งเรื่อง ตั้งแต่รายละเอียดเล็ก ๆ ในแต่ละฉาก ไปจนถึงภาพรวมของภาพยนตร์ทั้งหมด มองโซเพลิดเพลินกับทุกช่วงเวลาที่เขาได้ทุ่มเทให้กับสายงานที่เขาเลือกเอง แม้จะขัดใจผู้เป็นพ่ออยู่บ้างก็ตาม โชคชะตาได้ผลักดันให้เขามาเจอกับ มาร์แซล มาร์โซ (Marcel Marceau) นักแสดงละครใบ้ชื่อดัง เชื้อสายฝรั่งเศส ชายผู้ช่วยปลอบโยนเด็กชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้คลายความหวาดกลัวลง นอกจากฝีมือการแสดงที่หาใครเทียบได้ยากแล้ว เขายังเป็นต้นแบบที่ทำให้นักแสดงรุ่นน้อง สัมผัสได้ถึงพลังของการแสดงและท่าทางที่เขาใช้สื่อออกมาผ่านละครเงียบ อีกทั้งเขายังได้พบปะกับนักแสดงรุ่นพี่ ชาร์ล ดูลลิน (Charles Dullin) ผู้กำกับ และผู้จัดการโรงละคร ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นอาจารย์คนสำคัญ ผู้สอนให้มองโซเข้าใจถึงศาสตร์และศิลป์ของการแสดงอย่างลึกซึ้ง “ผมมักพูดอยู่เสมอว่าการทำน้ำหอมก็เหมือนกับการแสดงละคร โดยมีกลิ่นหอมเป็นบทละคร กล่องที่บรรจุคือเค้าโครงเรื่องที่ช่วยเสริมเติมแต่งให้มีชีวิต ส่วนขวดน้ำหอมคือนักแสดงหลัก เป็นดั่งดาวค้างฟ้า ที่ไม่มีวันดับแสง” ก้าวสู่อุตสาหกรรมน้ำหอม มองโซเริ่มให้ความสนใจในอุตสาหกรรมน้ำหอมเป็นครั้งแรกในช่วงปลายทศวรรษ 1950 หลังจากที่ได้พบกับเฮเลน่า รูบินสไตน์ (Helena Rubinstein) เจ้าแม่อุตสาหกรรมความงามรุ่นบุกเบิก ผู้คิดค้นสูตรความงามให้กับลอรีอัล ปารีส การพบกันระหว่างทั้งคู่ไม่สู้ดีนัก มองโซได้วิพากษ์วิจารณ์ผลงานการออกแบบขวดน้ำหอมที่เฮเลน่าเลือกไว้ว่า ไม่น่าดึงดูด เธอจึงยื่นข้อเสนอให้มองโซ ลองออกแบบขวดน้ำหอมที่คิดว่า ‘น่าดึงดูด’ ให้กับ Skin Dew แบรนด์น้ำหอมที่กำลังจะวางขายภายใต้การดูแลของเธอ ข้อเสนอหรืออาจจะเป็นเพียงคำกล่าวเชิงประชดประชันของเฮเลน่า ได้เปลี่ยนโชคชะตาของมองโซ และอุตสาหกรรมน้ำหอมสมัยใหม่ในหลายแง่มุม อีกทั้งยังได้เปิดประตู สู่การแข่งขันประชันความงามว่า น้ำหอมขวดใด จะมีรูปลักษณ์งดงามที่สุด โดยมีกลิ่นเป็นเรื่องรองลงมา ในปี 1960 ‘Skin Dew’ ได้กลับมาในรูปลักษณ์ใหม่ที่สะดุดตาและน่าดึงดูด โดยน้ำหอมขวดแรกของมองโซได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม และขายดีเป็นเทน้ำเทท่า นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นในอาชีพนักออกแบบของมองโซ ที่เขาได้ทิ้งพิมพ์เขียวด้านการออกแบบเอาไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เชยชม Climat by Lancôme: กลิ่นหอมที่ชาวโซเวียตคลั่งรัก ในทศวรรษต่อมา น้ำหอมที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้นคงหนีไม่พ้น ‘Climat by Lancôme’ และ ‘Fiji by Guy Laroche’ นอกจากกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว รูปโฉมภายนอกก็งดงามไม่แพ้กัน ว่ากันว่าหากใครได้รับน้ำหอมไม่ขวดใดก็ขวดหนึ่งจากสองแบรนด์นี้ไว้ในความครอบครอง ชีวิตของผู้นั้นก็เหมือนถูกเติมเต็ม ไม่ต่างจากได้รับแก้วแหวนเงินทองมาประดับกาย สำหรับสหภาพโซเวียต ‘Climat’ คือน้ำหอมที่ทำให้ผู้หญิงโซเวียตสามารถสัมผัสได้ถึงความหรูหราของซีกโลกตะวันตก ในขณะที่พวกเธอต้องสวมใส่เสื้อผ้าแบบเดิม ๆ ไม่ต่างจากชาวโซเวียตส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่ทำให้พวกเธอแตกต่างคือ ‘กลิ่นหอม’ ซึ่งมีพลังมากกว่ารูปลักษณ์ภายนอก ในช่วงเวลาดังกล่าว Lancôme ได้เข้ามาตีตลาดที่รัสเซียในปี 1970 โดยนำ Climat มาเป็นตัวชูโรง แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งยังขายในราคาที่สูงถึง 45 รูเบิ้ล หรือ 72 ดอลลาร์สหรัฐ (1 รูเบิ้ล = 1.6 ดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบันจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 17,000 บาท) เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของชาวโซเวียตชนชั้นกลางจะอยู่ที่ประมาณ 250-550 รูเบิ้ลต่อเดือน ขณะที่ชาวโซเวียตส่วนใหญ่จะได้เงินเดือนอยู่ที่ 70 รูเบิ้ลต่อเดือนเท่านั้น ทำให้การได้เป็นเจ้าของน้ำหอมจากฝรั่งเศส กลายเป็นเรื่องของเกียรติและศักดิ์ศรี ที่สามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และแวดวงสังคมให้เหนือกว่าผู้หญิงคนอื่น ๆ ในโซเวียต แรงบันดาลใจในการผลิตชิ้นงานของมองโซ ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากธรรมชาติ โดยเฉพาะดอกไม้ ใบหญ้า มีน้อยมากที่จะได้รับมาจากสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา เพราะเขาเชื่อว่าธรรมชาติคืออิสระ และอิสระจะนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์หรือกรอบที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาในสังคม หากจะไล่เรียงผลงานออกแบบของมองโซออกมาให้ครบภายในไม่กี่บรรทัด คงเป็นเรื่องยาก เพราะกว่าครึ่งชีวิตของเขาได้ทำการออกแบบขวดน้ำหอมไปมากถึง 250 แบรนด์ มีตั้งแต่ Azzaro, Cartier, Cerruti, Christian Dior, Estée Lauder, Guerlain, Guy Laroche, Givenchy, Hermès, Narciso Rodriguez และ Rochas แน่นอนว่านี่เป็นเพียงแบรนด์ดังที่เป็นเจ้าตลาดแห่งความงามเท่านั้น ยังไม่รวมแบรนด์เล็กแบรนด์น้อยที่เขาลงมือออกแบบด้วยตัวเองอีกจำนวนมาก มองโซจากโลกนี้ไปอย่างสงบในวัย 89 ปี ณ กรุงปารีส สิ้นสุดตำนานชายผู้พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของอาณาจักรเครื่องหอม ชายที่ชอบเก็บตัวเงียบ จนแทบจะจางหายไปจากหน้าบันทึกความทรงจำ แต่กลับฝากผลงานสุดยิ่งใหญ่ที่สั่นสะเทือนวงการน้ำหอมมาจนถึงปัจจุบัน   ภาพ: https://www.lubin.eu/en/the-talents/ https://bit.ly/321e0nn https://bit.ly/3sebJQk https://bit.ly/3p7kE44 . อ้างอิง https://www.fragrancefoundation.fr/2019/03/merci-monsieur-mansau/ https://www.fragrantica.com/news/Serge-Mansau-Master-of-the-Bottle-11921.html https://www.perfumemaster.com/latest-fragrance-news/Lancôme-climat-ledition-mythique-perfume https://www.rbth.com/lifestyle/332842-soviet-women-clothes https://www.tatousenti.com/en/serge-mansau-a-free-man/