ดร.วันทนา ศิวะ: สตรีอินเดียผู้ทวงคืนประชาธิปไตยทางอาหาร ให้กลับมาเป็นของประชาชนอีกครั้ง

ดร.วันทนา ศิวะ: สตรีอินเดียผู้ทวงคืนประชาธิปไตยทางอาหาร ให้กลับมาเป็นของประชาชนอีกครั้ง
“หากจะยึดครองประเทศจงยึดแหล่งน้ำมัน แต่หากต้องการยึดครองชีวิต จงยึดเมล็ดพันธุ์พืชของพวกเขา” ดร.วันทนา ศิวะ นักฟิสิกส์ชาวอินเดียที่ผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และก่อตั้งโรงเรียนเมล็ดพันธุ์พืชนวธัญญะ (Navdanya) ผู้ปกป้องพืชท้องถิ่นจากบรรษัทข้ามชาติที่คิดจะเข้ามายึดประชาธิปไตยทางอาหารไปจากมือประชาชน ดร.วันทนา ศิวะ เกิดในปี 1952 ที่เมืองเดห์ราดูน ห่างจากกรุงนิวเดลีไปประมาณ 230 กิโลเมตรทางเหนือ เธอเกิดมาในครอบครัวนักอนุรักษ์ พ่อเป็นผู้พิทักษ์ป่า ส่วนแม่เป็นเพียงชาวนาธรรมดา ๆ ที่รักธรรมชาติอย่างสุดหัวใจ อิทธิพลจากครอบครัวมีส่วนให้วันทนาหลงรักโลกใบนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น ความทรงจำวัยเด็กของเธอจึงมักเต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติและผืนป่าเป็นส่วนใหญ่ แต่เหตุการณ์ที่ทำให้วันทนาในวัย 6 ขวบจำได้ขึ้นใจคือ ภาพของแม่ที่มักนั่งหลังขดหลังแข็งคอยปั่นด้ายเพื่อนำไปใช้ทอผ้า แต่ครอบครัวของเธอและชาวอินเดียส่วนใหญ่ ยังคงต้องซื้อเสื้อผ้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศอยู่ดี วันทนาเริ่มหาคำตอบว่า ทำไมครอบครัวของเธอยังต้องซื้อเสื้อผ้าราคาแพงจากต่างประเทศ ในเมื่ออินเดียมีแหล่งเพาะปลูกฝ้ายขนาดใหญ่อยู่แล้วภายในประเทศ ต่อมาเธอได้ทราบว่าการปั่นด้ายของแม่เป็นการแสดงออกทางสัญญะที่แม่ของเธอได้เข้าร่วมการทำสัตยาเคราะห์ หรือแนวทางการต่อสู้แบบไม่ใช้ความรุนแรง โดยมีมหาตมะ คานธี เป็นผู้ริเริ่ม เพราะหลังจากที่อินเดียต้องตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ประเทศเจ้าอาณานิคมได้ออกกฎหมายควบคุมแทบทุกอย่าง หนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมทอผ้า อีกทั้งยังบังคับให้ชาวอินเดียปลูกฝ้ายแทนพืชสำหรับบริโภค ระบบเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมจึงถูกแทนที่ด้วยพืชเชิงเดี่ยว (ปลูกพืชอุตสาหกรรมชนิดเดียว เช่น ฝ้าย) อย่างสมบูรณ์ ความฝัน-ความเป็นจริง วันทนาชื่นชอบวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก จึงเลือกเรียนต่อระดับปริญญาโทสาขาวิชาฟิสิกส์ ที่ประเทศแคนาดา ซึ่งเธอใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปีก็สามารถคว้าใบปริญญาบัตรกลับบ้านมาได้ เพื่อที่จะก้าวขึ้นเป็นนักฟิสิกส์อย่างเต็มตัว เธอจึงเลือกเรียนต่อปริญญาเอกในสาขาวิชาเดียวกัน ในช่วงปี 1970 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่รัฐบาลได้มอบสัมปทานให้แก่บรรษัทยักษ์ใหญ่ ให้สามารถตัดต้นไม้บริเวณแม่น้ำแถบเทือกเขาหิมาลัยได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ขณะนั้น วันทนาซึ่งทำงานวิจัยฟิสิกส์อยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งของอินเดีย จึงเลือกที่จะทิ้งงานวิจัย และตบเท้าเข้าร่วมขบวนการต่อต้านการตัดต้นไม้ นำโดยผู้หญิง 3 คนจากในหมู่บ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจรัฐ โดยยืนหันหน้า จับมือ และโอบกอดต้นไม้ใหญ่ในเขตเทือกเขาหิมาลัย เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ขบวนการดังกล่าวต่อมารู้จักกันในชื่อ ขบวนการชิปโก้ (Chipko Movement) หรือ ‘โอบกอด’ ในภาษาฮินดู นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการเคลื่อนไหวโดยผู้หญิง ในกลุ่มของสตรีนิยมสายนิเวศ* (Ecofeminism)  *แนวคิดสตรีนิยมสายนิเวศ ถือกำเนิดขึ้นราวปลายศตวรรษที่ 1970 โดยนักเขียนชาวฝรั่งเศส ฟรานซิส โดบอนน์ (Françoise d’Eaubonne) เพื่อต่อต้านการฉกฉวยผลประโยชน์จากธรรมชาติโดยบรรษัท ซึ่งแนวคิดสตรีนิยมสายนิเวศมองว่าการกดขี่ขูดรีดคนและธรรมชาติจากเจ้าอาณานิคม ไม่ต่างจากการต้องตกอยู่ภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่ที่เพศหญิงมักจะเป็นฝ่ายโดนกดทับ การจะปลดปล่อยผู้หญิงให้หลุดพ้นจากระบบดังกล่าวจะต้องนำไปสู่การต่อสู้เพื่อปกป้อง และดูแลสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก โดยเฉพาะธรรมชาติ ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของสตรีนิยมสายนิเวศจะแตกต่างกันไปตามบริบท ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าจะให้ความสนใจในประเด็นใด แต่ยังคงมีจุดร่วมคือ ความห่วงใยในสิ่งแวดล้อม หุบเขาแห่งนี้ทำให้วันทนาค้นพบความจริงว่า เธอไม่ได้อยากเป็นนักฟิสิกส์ แต่เธอต้องการจะเป็นผู้ปกป้องสิ่งแวดล้อมจากน้ำมือมนุษย์ต่างหาก นับแต่นั้น นักฟิสิกส์ผู้นี้ได้เบนเข็มมาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มรูปแบบ เธอเริ่มทำงานกับขบวนการภาคสังคม เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยทางอาหาร (Food Democracy) โดยยึดถือแนวคิดการต่อสู้อย่างสันติ อหิงสา แบบเดียวกับมหาตมะ คานธี มหาบุรุษผู้ปลดแอกอินเดียจากการปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ โรงเรียนเมล็ดพันธุ์พืชนวธัญญะ ยิ่งวันทนาทำงานร่วมกับขบวนการภาคสังคมมากเท่าไร เธอก็ยิ่งค้นพบว่า เส้นทางการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยทางอาหารในการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์พืชพื้นถิ่น และการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ กลับดูห่างไกลมากขึ้นเท่านั้น ในปี 1977 เธอได้รู้ความจริงที่น่าสะเทือนใจว่า ในอนาคตชาวอินเดียอาจไม่สามารถครอบครองเมล็ดพันธุ์พืชได้ถูกต้องตามกฎหมายอีกต่อไป อีกทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ได้เริ่มทำการตัดต่อพันธุกรรมของพืช เธอจึงก่อตั้งโรงเรียนเมล็ดพันธุ์พืชนวธัญญะ เพื่อรักษาเมล็ดพันธุ์พืชพื้นถิ่น ให้อยู่คู่กับชาวอินเดียไปตราบนานเท่านาน นวธัญญะ หมายถึง เมล็ดพันธุ์พืชศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางศาสนา 9 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดหมายถึงความหลากหลายของสารอาหาร 9 อย่าง ที่จะหมุนเวียนอยู่ในระบบนิเวศ โดยไม่เป็นการทำลายสมดุลทางธรรมชาติ นวธัญญะ จะเป็นคลังความรู้ขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่แบ่งปันข้อมูลเรื่องนิเวศวิทยาในการดูแลโลก รวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกษตรกร ชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงผู้ที่สนใจ สามารถเข้าถึงความรู้ ภูมิปัญญาดั้งเดิม จากคนรุ่นก่อนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทำการเกษตรที่น่าสนใจแล้ว นวธัญญะยังเป็นโกดังเก็บเมล็ดพันธุ์พืชขนาดใหญ่ คอยทำหน้าที่รวบรวมเมล็ดพันธุ์จากชุมชนทั่วอินเดียกว่า 150 แห่ง จากนั้นจึงนำไปแบ่งปัน เพาะพันธุ์ และกระจายไปยังรัฐต่าง ๆ ทั่วประเทศ โรงเรียนแห่งนี้ทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากนายทุน ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ราคาแพงเพื่อมาทำการเกษตร และที่สำคัญคือ ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อเมล็ดพันธุ์ เพราะนวธัญญะพร้อมแบ่งปันของที่ธรรมชาติมอบมาให้นี้แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ความพยายามในการเก็บรักษา ปกป้องเมล็ดพันธุ์พืชจากบริษัทข้ามชาติ และแบ่งปันความรู้ทางการเกษตร ส่งผลให้นวธัญญะได้รับรางวัลกรังด์ปรีซ์ จากการประกาศรางวัลฟุกุโอกะ เอเชียน คัลเจอร์ ไพรซ์ส ในปี 2012 รางวัลที่มอบให้แก่ผู้ที่มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมในทวีปเอเชียโดยเฉพาะ หนังสือของวันทนา “ท่านจะซื้อขายท้องฟ้า ความอบอุ่นของผืนดินได้อย่างไร ความคิดนี้แปลกสำหรับเรา หากเรามิได้เป็นเจ้าของความสดชื่นของอากาศและความสดใสของน้ำ ท่านจะซื้อมันได้อย่างไร?” (คำกล่าวของหัวหน้าชนเผ่าอินเดียนแดงแห่งซีแอตเทิลที่วันทนาชื่นชอบ และนำมาเขียนเป็นบทนำของหนังสือ) วันทนามีผลงานเขียนหลายเล่มที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย เช่น ‘สงครามน้ำ’ การเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากชุมชนสู่เอกชน มลภาวะ และผลประโยชน์ (Water Wars: Privatization, Pollution, and Profit, 2003) ว่าด้วยเรื่องของการเสียเงินเกินกว่าจำเป็น เพื่อที่จะซื้อน้ำดื่มมาประทังชีวิต ในขณะที่น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิ์ในการเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง แต่ในปัจจุบันชาวอินเดียกลับต้องเสียเงินซื้อน้ำมาเพื่อประทังชีวิต แทนที่จะสามารถนำเงินตรงนี้ไปซื้ออาหารมาเลี้ยงดูคนในครอบครัว ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ทางต้นน้ำในชนบท เนื่องจากบริษัทใหญ่ ๆ ได้เข้ามาควบคุมดูแลน้ำทั้งหมด ทำให้พวกเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงแหล่งน้ำจากธรรมชาติได้อีกต่อไป หนังสืออีกเล่มที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ‘ประชาธิปไตยผืนดิน’ ความยุติธรรม ความยั่งยืน และสันติภาพ (Earth Democracy: Justice, Sustainability and Peace, 2005) การออกมาตอบโต้ระบบทุนนิยม ที่มองว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้มีไว้ขาย เพื่อเก็งกำไร พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า หากผืนดินไม่ใช่ของมนุษย์ โลกไม่ได้เป็นสินทรัพย์ น้ำทุกหยด เมล็ดพันธุ์พืชทุกชนิดล้วนเป็นของธรรมชาติ ความคิดของบริษัทที่จะเข้ามาผูกขาดธรรมชาติเป็นสิ่งที่สมควรจริงหรือ หนังสือส่วนใหญ่ของวันทนาจะเขียนเกี่ยวกับสิ่งพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ตั้งแต่อาหาร น้ำ ไปจนถึงการทำเกษตรกรรม เธอได้ส่งสารไปถึงทุกคนบนโลกใบนี้ผ่านตัวอักษร และการลงมือทำ เพราะเธอเชื่อว่าการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยทางอาหาร ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงหรือนองเลือด และหวังว่าสักวันหนึ่งประชาธิปไตยไม่ว่าจะทางอาหารหรือการใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ว่าใครก็ตาม ไม่จำเป็นต้องออกมาเรียกร้องเพื่อให้ได้มันมาอีกต่อไป   ภาพ: Getty Images   อ้างอิง: https://bit.ly/3IrWybN https://www.deccanherald.com/specials/sunday-spotlight/a-virus-humanity-and-the-earth-821527.html?fbclid=IwAR1oYFgLhZWeQV18QrlMys_71mrF7RFJ9WMhkHfDmKp-rlOL9NzsFlA9enI https://www.lifegate.com/vandana-shiva-biography https://www.bbc.com/travel/article/20210127-vandana-shiva-on-why-the-food-we-eat-matters https://www.youthkiawaaz.com/2019/08/women-in-environmental-science-vandana-shiva/ https://www.youtube.com/watch?v=Ek2M-obq9LE https://library.fes.de/pdf-files/bueros/thailand/14387-20180517.pdf