แอนโทนี บลิงเคน: จาก ‘มือกีตาร์ขาร็อก’ สู่ รมว.กระทรวงการทูตคนที่ 71 ของสหรัฐฯ

แอนโทนี บลิงเคน: จาก ‘มือกีตาร์ขาร็อก’ สู่ รมว.กระทรวงการทูตคนที่ 71 ของสหรัฐฯ
ตอนกลางวันคนอาจคุ้นตากับภาพชายผิวขาว ผมสีดอกเลา สวมสูทผูกไท ตระเวนไปรอบโลก ทว่าตกค่ำหลังเสร็จสิ้นภารกิจประจำ แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศคนที่ 71 ของสหรัฐอเมริกา ชอบใช้เวลาอยู่กับกีตาร์ และเล่นดนตรีจริงจังถึงขั้นมีวงของตนเอง และมีผลงานลงแอปฯ สตรีมมิ่งเพลงชื่อดัง “เส้นใยที่เชื่อมต่อกันตลอดชีวิตของผมน่าจะเป็นดนตรี” บลิงเคน ซึ่งเป็นแฟนตัวยงของวง The Beatles และมีเอริค แคลปตัน เป็นไอดอลเปิดใจกับนิตยสาร Rolling Stone ทุกครั้งที่ต้องเดินทางเยือนต่างประเทศ เขามักมี playlist ฟังเพื่อปลุกใจและสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลายก่อนออกไปเจรจาความเมือง  ระหว่างเยือนประเทศไทยครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศในวันที่ 15 - 16 ธันวาคม ค.ศ. 2021 บลิงเคนก็มี playlist เปิดฟังเพื่อทำความรู้จักกับประเทศไทยให้มากขึ้น โดยผลงานที่เขาเลือกฟังเป็นของ บรูซ แกสตัน นักดนตรีชาวอเมริกันผู้มีคุณูปการต่อวงการดนตรีคลาสสิกของไทย   นักการทูตสายร็อก แอนโทนี จอห์น บลิงเคน (Antony J. Blinken) เกิดวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1962 ที่เมืองยองเกอร์ส มลรัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯ แม้เขาจะโตมาในครอบครัวนักการทูต บิดาเป็นอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำฮังการีที่ชื่อ โดนัลด์ บลิงเคน ส่วนลุง อลัน บลิงเคน ก็เคยเป็นทูตประจำเบลเยียม แต่สายเลือดนักการทูตในตัวเขาเข้มข้นไม่แพ้หัวใจที่เป็นชาวร็อก บลิงเคนบอกว่า เขามีกีตาร์ที่บ้าน 6 - 7 ตัว และเป็นคนถนัดเล่นมือซ้าย แต่ออกตัวไว้ก่อนว่าไม่ได้เก่งเหมือนจิมี เฮนดริกซ์ เขาเริ่มเล่นกีตาร์ครั้งแรกตอนอายุ 7 - 8 ขวบโดยฝึกเล่นด้วยตนเอง แม้ต่อมาจะหยุดเล่นไปพักใหญ่ แต่พอเริ่มเข้าวัยรุ่น อายุ 16 ปี บลิงเคนได้รู้จักกับนักร้อง - นักแต่งเพลงและมือกีตาร์ชื่อดังที่ชื่อเอริค แคลปตัน ตั้งแต่นั้นมากีตาร์ก็แทบไม่อยู่ห่างจากตัวเขาอีกเลย “ผมคิดว่าผมเคยชมคอนเสิร์ตของเขาประมาณ 75 ครั้ง ผมคลั่งเขามาก” บลิงเคนยอมรับกับนิตยสาร Rolling Stone หลังได้แรงบันดาลใจจากเอริค แคลปตัน หนุ่มน้อยบลิงเคน ซึ่งเพื่อน ๆ เรียกว่า ‘โทนี’ ก็แทบไม่เคยวางกีตาร์ เขาฝึกเล่นมันด้วยตนเองจนได้เข้าวงตั้งแต่สมัยอยู่ไฮสคูล จนถึงมหาวิทยาลัย และพอมาทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เขาก็มีวงของตนเอง โทนีจับกลุ่มกับเพื่อนสนิทในกรุงวอชิงตันตั้งวง Coalition of the Willing รวมตัวเล่นดนตรียามว่างและรับเล่นตามงานการกุศล นอกจากนี้ เขายังจริงจังกับมันถึงขั้นมีผลงานซิงเกิลที่แต่งและขับร้องเอง 3 เพลงโหลดลง Spotify ภายใต้ชื่อศิลปิน ABlinken แม้แนวดนตรีที่เล่นจะเป็นร็อก แต่เจ้าตัวบอกว่าชอบฟังเพลงแทบทุกแนวและพยายามเปิดใจทดลองฟังเพลงใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยนอกจากเอริค แคลปตัน เขายังเป็นแฟน The Beatles ตัวยง โดยอัลบั้มแรกในชีวิตที่ซื้อก็เป็นเพลงของวง ‘สี่เต่าทอง’ ชุด Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band   ลูกเลี้ยงผู้รอดชีวิตจากค่ายนรกนาซี นอกจากชื่นชอบฟังดนตรีหลากหลายแนว แอนโทนี บลิงเคนยังจัดเป็นนักการทูตสายพหุภาคีที่เชื่อในความร่วมมือระดับนานาชาติและการรวมกันของพันธมิตรที่หลากหลาย นั่นน่าจะเป็นนิสัยและแนวความคิดที่บ่มเพาะมาตั้งแต่วัยเยาว์ หนูน้อยโทนีได้เห็นโลกกว้างและเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายมากกว่าเด็กหลายคนในวัยเดียวกัน หลังจากพ่อแม่ของเขาแยกทางกันตั้งแต่โทนียังอายุไม่ถึง 10 ขวบ เขาติดตามมารดาซึ่งแต่งงานใหม่ย้ายจากอเมริกาไปอาศัยอยู่ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส การเติบโตมาในดินแดนใหม่ที่ใช้ภาษาต่างกัน ทำให้โทนีต้องเรียนรู้การปรับตัวและทำให้สามารถพูดได้แตกฉานทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ขณะเดียวกัน เขายังได้เรียนรู้เรื่องราวมากมายจากพ่อเลี้ยง ซึ่งเป็นทั้งนักกฎหมายและนักเขียนชื่อดัง ซามูเอล ปิซาร์ พ่อเลี้ยงของโทนี เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายโปแลนด์ เขามีชื่อเสียงโด่งดังจากการเป็นผู้เขียนหนังสือบันทึกความทรงจำชื่อ Of Blood and Hope บอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะอดีตนักโทษผู้ถูกคุมขังในค่ายกักกันของนาซี ทั้งที่มัจดาเนก (Majdanek) และเอาชวิตซ์ (Auschwitz) ในโปแลนด์ และเมืองดาเคา (Dachau) ของเยอรมนี เรื่องราวของปิซาร์ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเขาเป็นเด็กนักเรียนเพียงคนเดียวจากเด็กทั้งหมด 900 คน ในโรงเรียนที่โปแลนด์ ซึ่งถูกกองทัพนาซีจับเข้าค่ายมรณะและสามารถรอดชีวิตออกมาได้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ปิซาร์หลบหนีเข้าป่าระหว่างการเคลื่อนย้ายนักโทษไปประหารด้วยการรมแก๊ส หรือที่เรียกว่า death march ก่อนทหารอเมริกันจะไปพบและช่วยเหลือออกมาได้อย่างปลอดภัย ทำให้เรื่องราวความโหดร้ายและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในค่ายกักกันของนาซีเป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก “เขาได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมตอนอายุเท่าเขา ผมคิดว่ามันส่งอิทธิพลต่อเขา ทำให้เห็นอีกมิติและอีกด้านของโลกว่าอะไรสามารถเกิดขึ้นตรงนี้ได้บ้าง เมื่อเขาต้องวิตกกับการใช้แก๊สพิษในซีเรียวันนี้ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะไม่นึกถึงแก๊สที่รมสังหารครอบครัวของผมทั้งตระกูล” ปิซาร์ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เมื่อปี 2013 บรรยายความอยากรู้อยากเห็นของบลิงเคนสมัยเป็นวัยรุ่นที่ชอบรบเร้าให้เขาเล่าเรื่องค่ายนาซีให้ฟังระหว่างที่ทั้งคู่อยู่ด้วยกันในปารีส นอกจากเป็นนักเขียน ซามูเอล ปิซาร์ยังเป็นทนายความด้านกฎหมายระหว่างประเทศชื่อดัง และเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดีของสหรัฐฯ รวมถึงประธานาธิบดีฝรั่งเศสอีกหลายคน หลังจากปิซาร์เสียชีวิตในปี 2015 โจ ไบเดน รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวลานั้นเคยพูดถึงหนังสือบันทึกความทรงจำของเขาว่าควรเป็น “หนังสือภาคบังคับที่ทุกคนต้องอ่านในฐานะเครื่องเตือนใจคนรุ่นต่อ ๆ ไปเกี่ยวกับพันธสัญญาของเราที่จะไม่ลืม”   เส้นทางสู่เก้าอี้รัฐมนตรีการทูต หลังเรียนจบไฮสคูลจากฝรั่งเศส แอนโทนี บลิงเคนกลับมาศึกษาต่อที่สหรัฐฯ จนจบปริญญาตรีสาขาสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และนิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ก่อนออกมาทำงานเป็นนักกฎหมายตามรอยพ่อเลี้ยงอยู่พักใหญ่ จากนั้นในปี 1993 จึงเริ่มเข้าไปทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศในตำแหน่งผู้ช่วยพิเศษประจำกรมยุโรปและแคนาดา ต่อมาในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีบิล คลินตัน เขารับหน้าที่เป็นผู้ร่างสุนทรพจน์ด้านนโยบายต่างประเทศประจำทำเนียบขาว พร้อมควบตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ จากนั้นในรัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา เขาได้เลื่อนขั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติให้กับรองประธานาธิบดีไบเดน แอนโทนี บลิงเคนกับโจ ไบเดน รู้จักกันเป็นอย่างดี เขาทำงานให้ไบเดนมาตั้งแต่ไบเดนยังเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยเริ่มจากเป็นทีมที่ปรึกษาให้ในคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ประจำวุฒิสภาในปี 2002 จนกระทั่งไบเดนได้เป็นรองประธานาธิบดีสมัยแรกในปี 2009 และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในปี 2021 บลิงเคนแต่งงานกับ อีแวน ไรอัน อดีตเลขาฯ ของฮิลลารี คลินตัน โดยทั้งคู่พบรักกันระหว่างทำงานในทำเนียบขาวยุครัฐบาลบิล คลินตัน ปัจจุบันมีลูกด้วยกัน 2 คน แม้จุดยืนทางการทูตของบลิงเคนจะเน้นแสวงหาพันธมิตรและยึดแนวทางสากลนิยม แต่ผลงานที่ผ่านมาสะท้อนชัดเจนว่า เขาไม่ลังเลที่จะใช้มาตรการแทรกแซงเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นการส่งทหารบุกอิรักในปี 2003 ตลอดจนความรุนแรงในลิเบีย และซีเรีย เขาเชื่อว่าการทูตจำเป็นต้องมี “มาตรการป้องปรามเข้ามาเสริม” และ “การใช้กำลังสามารถเป็นตัวช่วยที่จำเป็นเพื่อให้การทูตมีประสิทธิภาพ”   เป้าหมายเยือนไทยและอาเซียน การเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งแรกของแอนโทนี บลิงเคนในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จุดมุ่งหมายสำคัญน่าจะเป็นการตอกย้ำจุดยืนของสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดีไบเดน ที่ต้องการกลับมาทำงานร่วมกับชาติพันธมิตรอีกครั้ง หลังจากอเมริกายุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หันไปเน้นนโยบายโดดเดี่ยวตนเอง และให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของตนเองเป็นอันดับแรก “ในประเทศไทย รัฐมนตรีบลิงเคนจะยืนยันความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อพันธไมตรีในสนธิสัญญาระหว่างสหรัฐฯ กับไทย การทำงานเพื่อฟื้นฟูทางเศรษฐกิจหลังการเกิดโรคระบาด และการรับมือสถานการณ์วิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยในแต่ละประเทศดังกล่าว รัฐมนตรีบลิงเคนจะกล่าวถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งขึ้นในพม่า” นั่นคือแถลงการณ์ของสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยเกี่ยวกับเป้าหมายในการเยือนไทยของบลิงเคน นอกจากประเทศไทย ทริปนี้ของบลิงเคนยังไปเยือนเพื่อนบ้านอาเซียนอีก 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย หลังจากไบเดนเพิ่งส่งรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส เดินทางไปสิงคโปร์ และเวียดนาม เพื่อตอกย้ำความสำคัญของอาเซียนในเวทีการเมืองโลกยุคใหม่ ซึ่งนอกจากจะเผชิญกับความท้าทายเรื่องโลกร้อน และโรคระบาด หลายชาติยังวิตกกับการขยายอิทธิพลของจีน แม้ทริปเยือนอาเซียนครั้งนี้ของบลิงเคน เขาไม่ได้นำกีตาร์คู่ใจติดตัวมาเพื่อสร้างความฮึกเหิมก่อนเจรจาความเมืองครั้งสำคัญ แต่ก็ไม่ลืมใส่เพลงดังของแต่ละประเทศที่ไปเยือนลง playlist เพื่อเปิดฟังก่อนเริ่มงาน และงานเดี่ยวเปียโนของ บรูซ แกสตัน ปรมาจารย์ดนตรีคลาสสิคของไทยคือหนึ่งในนั้น ส่วนผลงานซิงเกิล 3 เพลงของบลิงเคนที่ปล่อยลง Spotify ไม่ว่าจะเป็น ‘Patience’ ‘Lip Service’ และ ‘Without Ya’ แม้หลายคนอาจสงสัยว่าเนื้อร้องแอบซ่อนนัยยะทางการเมืองหรือไม่ เจ้าตัวออกมายืนยันแล้วว่าเขาไม่มีเจตนาเช่นนั้น “หากผมต้องผสานงานดนตรีเข้ากับงานประจำ เราคงต้องมีปัญหาเกิดขึ้นแน่นอน ผมหวังว่าคงไม่เป็นเช่นนั้น” บลิงเคนตอบในนิตยสาร Rolling Stone แม้เป็นที่ทราบกันดีว่างานการเมืองเป็นอาชีพที่ไม่แน่นอน ไม่นับเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีการสลับสับเปลี่ยนกันเป็นประจำ แต่ดูเหมือนเรื่องนี้อาจไม่ใช่ปัญหาของรัฐมนตรีขาร็อกที่ชื่อ แอนโทนี บลิงเคน เพราะไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ดูเหมือนเขายังมีเสียงดนตรีและกีตาร์เป็นเพื่อนคู่ใจ และอาจเป็นอาชีพเสริมยามว่างจากงานประจำได้ทุกเมื่อ   ข้อมูลอ้างอิง: https://th.usembassy.gov/th/secretary-blinkens-travel-to-liverpool-jakarta-kuala-lumpur-bangkok-and-honolulu-th/ https://www.state.gov/biographies/antony-j-blinken/ https://www.politico.eu/article/nine-things-to-think-about-antony-blinken/ https://www.nytimes.com/2021/12/10/world/europe/antony-blinken-music-playlist.html https://www.rollingstone.com/music/music-features/antony-blinken-interview-rock-music-eric-clapton-ablinken-1176319/