Metaverse: จาก The Matrix, Ready Player One สู่ Meta ของซักเคอร์เบิร์ก

Metaverse: จาก The Matrix, Ready Player One สู่ Meta ของซักเคอร์เบิร์ก
“ผมเชื่อว่า Metaverse คือบทต่อไปของอินเตอร์เน็ต, และเป็นบทต่อไปของบริษัทเราเช่นกัน” - มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก นั่นคือคำกล่าวของเขาในงาน Facebook Connect เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2020 ที่ผ่านมา ในงานเดียวกันนี้เองที่เขาประกาศว่า Facebook ที่เป็นบริษัทแม่ของ Facebook, Instagram, WhatsApp และ Oculus นั้นมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “Meta” เพื่อแสดงถึงจุดยืนและทิศทางของบริษัทว่าจะเดินไปด้านนี้อย่างเต็มตัว (แต่ก็มีหลายกระแสที่บอกว่าเปลี่ยนชื่อเพื่อพยายามกลบกระแสด้านลบที่หลัง ๆ มาเยอะเหลือเกิน)  สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าเจ้า Metaverse มันคืออะไรกันแน่ อย่าเพิ่งกังวลใจไป เพราะไม่ได้มีคุณคนเดียวอย่างแน่นอน ที่จริงคำว่า “Metaverse” ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา (ก่อนที่ซักเคอร์เบิร์กจะเอามาทำให้มันอยู่ในกระแสอย่างตอนนี้) นั้นถูกใช้ในวงการเทคโนโลยีและในกลุ่มนักอนาคตศาสตร์ (futurist) เพื่ออธิบายก้าวต่อไปของโลกเทคโนโลยีหลังจากการถือกำเนิดของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและสมาร์ทโฟน โดยคอนเซ็ปต์ของมันจึงถือเป็นเรื่องที่พูดคุยกันมาก่อนหน้านี้แล้ว...แล้วอะไรคือ Metaverse   What is the Metaverse? แนวคิดของ Metaverse นั้นถูกกล่าวถึงอย่างมากหลังจากนิยายไซไฟ “Snow Crash” ที่เขียนโดย “Neal Stephenson” นักเขียนชาวอเมริกันถูกตีพิมพ์ในปี 1992 โดยในหนังสือเล่มนี้เขาพูดถึงจักรวาลดิจิทัลในอนาคต (Meta = เหนือกว่า, เกินขอบเขต ส่วน Verse = จักรวาล) เป็นโลกเสมือนจริงที่สามารถเข้าถึงด้วยอุปกรณ์เสริมอย่างแว่นตา VR (Virtual Reality) หรือ เทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง AR (Augmented Reality)  ซึ่งถ้าใครยังนึกภาพไม่ออกนักให้ลองคิดถึงภาพยนตร์อย่าง The Matrix หรือ Ready Player One ก็สร้างขึ้นมาจากไอเดียนี้เช่นเดียวกัน แต่จะต้องบอกก่อนว่ามันไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ไม่ใช่เกม ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นด้วยบริษัทเดียว ถ้าให้อธิบายก็คือมันเป็น World Wide Web แบบ 3 มิติที่ ธุรกิจ, ข้อมูลและเครื่องมือสื่อสารมีความสมจริงและทำงานร่วมกันได้ พูดอีกอย่างก็คือโลกเสมือนที่เราเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้นได้นั่นเอง ทั้งเล่น ทั้งทำงาน มันเหมือนอย่างตอนนี้ที่เราเขียนงานใน Microsoft Word แล้วส่งผ่าน Gmail ให้เพื่อนร่วมงานอ่านบน iPad สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือใน Metaverse ก็ต้องเป็นแบบนี้เหมือนกัน ทุกอย่างต้องสามารถข้ามระบบนิเวศน์ของผลิตภัณฑ์ของทุกแห่งโดยยังคงคุณค่าและสิ่งที่มันเป็นอยู่ เอาง่าย ๆ ว่าในโลก Metaverse ถ้าซื้องานศิลปะดิจิทัลแบบ NFT จากบริษัท A ต้องสามารถนำไปแขวนบนผนังบ้านดิจิทัลที่ผลิตโดยบริษัท B ได้ไม่ต่างจากโลกความเป็นจริงเลย Metaverse ในความหมายของซักเคอร์เบิร์กและสื่อต่าง ๆ ก็ไม่ต่างกัน มันถูกนำมาใช้เพื่อกล่าวถึงโลกเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยคอมพิวเตอร์ที่เราสามารถเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้นได้ผ่านการใช้ตัวละครที่สร้างขึ้น หรืออาจจะเป็นมุมมองแบบบุคคลที่หนึ่ง (First Person Point-of-View) ที่เห็นเพียงแค่สิ่งที่อยู่ข้างหน้าเราเหมือนอย่างที่เราเห็นตามธรรมชาติ ถ้าใครเคยดูภาพยนตร์อย่าง Matrix จะทราบดีว่าเราสามารถเข้าออกระหว่างโลกแห่งความจริงกับโลกเสมือนได้ ใน Metaverse ก็เช่นเดียวกัน เราจะเข้าออกหรือมีปฏิสัมพันธ์กับโลกเสมือนก็ต่อเมื่อสวมแว่นตา VR หรือเป็นเทคโนโลยีที่ผสานโลกเสมือนโลกความจริงที่เป็น AR ยกตัวอย่างในภาพยนตร์อย่าง Star Trek : The Next Generation ที่มีห้องพิเศษที่ตัวเราสามารถมีปฎิสัมพันธ์กับโฮโลแกรมที่อยู่ในห้องที่สร้างขึ้นมาพิเศษนี้ด้วย (เราอาจจะเคยเห็นพวกเครื่องเล่นแบบฉายภาพออกมา Interactive สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับมันได้โดยการจับการเคลื่อนไหวของเราผ่านกล้อง) (หมายเหตุ: Neal Stephenson ให้สัมภาษณ์กับ Yahoo! News ว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนชื่อบริษัทหรือมีการพูดคุยกับซักเคอร์เบิร์กแต่อย่างใด)   เราอยู่ใน Metaverse รึยัง? ถ้าใคร (หรือมีลูกหลาน) เคยเล่นเกม Roblox (เกม Multiplayer ที่ผู้เล่นสามารถสร้างคาแรกเตอร์ของตัวเองแล้วไป interact กับคนอื่นบนโลกเสมือน) จะพอเห็นนั้นคือสิ่งที่ใกล้เคียงคำว่า Metaverse มากที่สุดแล้วในเวลานี้ เราสามารถสร้างตัวละครของเราแล้วเข้าไปเล่นในเกมใช้เวลากับเพื่อน ๆ นั่งเครื่องบินชมพระอาทิตย์ตกดิน ไปเที่ยวบ้านตัวละครอื่น เดินเล่นด้วยกัน ฯลฯ แต่มันไม่ใกล้เคียงกับกับโลกเสมือนในภาพยนตร์หรือที่เราคาดหวังเอาไว้ว่ามันจะเหมือนโลกของความจริงเลย ในงาน Facebook Connect เราพอเห็นบ้างว่าในอนาคตหลังจากที่สวมแว่นตา VR แล้วสิ่งที่เราจะได้สัมผัสจะเหมือนการเข้าไปอยู่ในโลกของวีดีโอเกมมากกว่าโลกเสมือนจริงอย่างหนังเช่น Matrix หรือถ้าใครเล่นเกมอย่าง Fortnite ก็จะมีบางส่วนที่คล้ายกับ Metaverse เช่นเดียวกัน เราสามารถปรับแต่งตัวผู้เล่นของเราได้ สามารถแชทกับผู้เล่นคนอื่นได้ แต่ก็ยังต้องเล่นผ่านอุปกรณ์แบบเดิมอย่าง PCs, สมาร์ทโฟน และ คอนโซล ย้อนกลับไปช่วงต้นของยุค 00’s มีเกมหนึ่งที่ดังมากชื่อ Second Life เป็นเกมที่เราสามารถเข้าไปเล่นเป็นตัวคาแรกเตอร์ผ่านคอมพิวเตอร์ สร้างบ้านดิจิทัล เล่นเกม แชทกับผู้เล่นคนอื่น สามารถซื้อขายพวกเสื้อผ้าแบบดิจิทัลด้วย แต่หลังจากที่สมาร์ทโฟนเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นความนิยมของมันก็ลดลงไป (แม้ว่าตอนนี้ก็ยังมีคนเล่นอยู่แต่ก็ไม่เยอะมาก)    Metaverse ของ Facebook จะเป็นยังไง? ซักเคอร์เบิร์กบอกว่า Metaverse นั้นเป็นก้าวต่อไปของอินเตอร์เน็ต เป็นการเชื่อมต่อที่ก้าวผ่านแค่การโพสต์รูปหรือคอมเมนท์ ส่วนคนจะเข้าถึงได้ก็ต้องสวมแว่นตา VR หรือ AR (อาจจะเป็นโฮโลแกรมแบบ interactive ผ่านระบบโปรเจกเตอร์ที่ล้ำสมัย) “ตอนที่คุณเล่นเกมกับเพื่อนก็จะรู้สึกว่าอยู่ที่นั้นด้วยกันในโลกที่แตกต่างออกไป ไม่ใช่การเล่นบนคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง” “ตอนที่ประชุมใน Metaverse ก็จะรู้สึกว่าอยู่ในห้องประชุมด้วยกัน มองหน้า จ้องตากัน รู้สึกถึงการมีอยู่ของอีกคน ไม่ใช่แค่มองหน้าผ่านหน้าจอเท่านั้น” สถาปนิกจะสามารถแสดงผลงานออกแบบตึกในรูปแบบดิจิทัลในออฟฟิศของตัวเอง เพื่อนๆสามารถชวนกันไปดูคอนเสิร์ตใน Metaverse โดยตัวจริงนั่งอยู่ที่บ้าน สามารถเปลี่ยนคาแรกเตอร์ไปตามสถานการณ์ อยู่บ้านก็ชิลล์ใส่เสื้อกล้ามกางเกงขาสั้น ไปทำงานใส่สูท หรือวันนี้อยากเป็นไดโนเสาร์ก็ทำได้เช่นเดียวกัน เหรียญคริปโตฯ และ NFT จะทำให้คนซื้อขายสินค้าและบริการภายใน Metaverse ได้ในอนาคต   ความเป็นส่วนตัวหล่ะ? แม้พวกเขาจะเปลี่ยนชื่อเป็น Meta แล้ว เบื้องหลังก็ยังเป็น Facebook ที่อื้อฉาวเกี่ยวกับเรื่องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานมาโดยตลอดและแว่นตา VR และ AR ก็เต็มไปด้วยข้อมูลส่วนตัวที่พวกเขาสามารถติดตามและเก็บไปใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกัน ลองจินตนาการสวมแว่นตา VR แล้วเดินเล่นในโลกเสมือน Facebook สามารถติดตามได้ว่าเราไปไหน ทำอะไรบ้าง คุยกับใคร เล่นอะไร ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการอะไรกับใคร แม้ซักเคอร์เบิร์กจะบอกว่าพวกเขาได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว แต่ก็ดูเหมือนหนังเรื่องเก่าที่เอามาฉายซ้ำ เขาเคยพูดแบบนี้มานับครั้งไม่ถ้วนและถึงแม้ว่าจะได้รับคำแนะนำให้ดูแลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานจากผู้เชี่ยวชาญ ก็ไม่ได้หมายความว่าซักเคอร์เบิร์กจะต้องทำตามคำแนะนำนั้น ยกตัวอย่างเรื่องแว่นตา Ray-Ban ที่ Facebook ร่วมผลิตและเพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นาน มีฟีเจอร์อย่างการถ่ายภาพและอัดวีดีโอด้วยกล้องที่ฝังอยู่บนขอบแว่นตาด้านหน้า เวลาที่มีการใช้ฟีเจอร์นี้จะมีสัญญาณบ่งบอกให้คนภายนอกรู้ว่ากำลังมีการใช้กล้องอยู่ผ่านไฟแจ้งเตือนสีขาวเล็ก ๆ ติดกับเลนส์ ซึ่งทาง Facebook เองก็ได้รับคำแนะนำมาว่ามันอาจจะไม่พอที่คนอื่นจะสังเกตเห็น แต่ Facebook ก็เลือกที่จะไม่สนใจและไม่ทำอะไรกับมัน Metaverse ที่ถูกสร้างโดยซักเคอร์เบิร์ก ก็จะมีเขาที่เป็นคนกำหนดว่าจะทำอะไร...หรือไม่ทำอะไร และถ้าประวัติศาสตร์จะบอกอะไรเราได้สักอย่าง ความเป็นส่วนตัวของเราไม่ได้เป็นเรื่องที่เขาให้ความสำคัญอะไรนัก   โอกาสในการทำธุรกิจ? ตอนนี้เราอาจจะยังไม่เห็นภาพชัดเท่าไหร่นัก คงต้องอีกสักพักใหญ่ ๆ เลยถึงจะเห็นว่ามันจะมีธุรกิจอะไรที่เกิดใหม่บ้างในโลกเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นมา แน่นอนว่าซักเคอร์เบิร์กไม่ได้บอกว่าพวกเขาจะสร้างรายได้จาก Metaverse ยังไง หรือจะทำเมื่อไหร่ อาจจะเป็นห้าปีหรือสิบต่อจากนี้ แต่สุดท้ายคือพวกเขาจะต้องสร้างรายได้จากอะไรสักอย่าง เพราะแผนการลงทุนกว่า 10,000 ล้านเหรียญฯ จากกำไรที่ได้ในปี 2021 จะถูกนำไปลงทุนใน Metaverse ถ้าไม่มีแผนทำกำไรในอนาคต นักลงทุนคงไม่มีความสุขอย่างแน่นอน อาจจะเป็นการขายสินค้าดิจิทัลอย่างพวกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ขายที่ดิน ขายบ้านแบบดิจิทัล หรือกลับไปไม้เดิมคือขายโฆษณาให้กับธุรกิจต่าง ๆ ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น อย่างที่กล่าวไปก่อนแล้วว่าโลกเสมือนนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยบริษัทเดียว ต้องมีการประสานงานกับบริษัทอื่น ๆ เพื่อให้ประสบการณ์ของผู้ใช้งานนั้นไม่ติดขัด เราอาจจะเห็น Apple เปิดร้านออนไลน์บนโลกเสมือนที่เราเข้าไปซื้อแล้วของจริงมาส่งที่บ้านภายในเวลา 30 นาที หรืออาจจะเป็นซูเปอร์มาเก็ตอย่าง 7-11 ที่ตัวละครของเราเข้าไปสโมกกี้ไบท์แล้วจ่ายเงิน มีพนักงานมาส่งภายใน 10 นาที ฯลฯ ซึ่ง Facebook ก็อาจจะเก็บค่าคอมมิชชั่นจากการรายได้ของบริษัทเหล่านี้ก็ได้เช่นเดียวกัน (เหมือนอย่างที่ Apple / Google ทำกับแอปสโตร์)   Old is Out, Young is In ถ้าใครตามข่าวสารการเคลื่อนไหวของโซเซียลมีเดียอยู่บ้างอาจจะพอรู้ว่าตอนนี้ Facebook กำลังเผชิญปัญหาในการจูงใจคนรุ่นใหม่ให้มาใช้งานแพลตฟอร์มของพวกเขา ถึงขั้นมีคำกล่าวว่า “Facebook is for Old People” ที่คนแก่เข้ามาใช้งาน แต่คนหนุ่มสาวตั้งแต่ Gen Z ลงไปหนีออกไปอยู่ที่อื่นเพราะมันดูน่าเบื่อ การสร้าง Metaverse เองก็ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ถูกวางเอาไว้เพื่อดึงดูดเด็ก ๆ รุ่นใหม่ให้กลับมาใช้งานอีกครั้ง ซื้อสินค้าดิจิทัล ใช้เวลาบนโลกเสมือนที่พวกเขาสร้างขึ้นมา ซักเคอร์เบิร์ก กล่าวว่า “เรากำลังปรับเครื่องมือของทีมเราเพื่อจะไปตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นเป้าหมายแทนที่จะทำให้มันเหมาะกับกลุ่มผู้ใช้งานขนาดใหญ่ที่มีอายุมากกว่า” โดยกลุ่มเป้าหมายที่พวกเขาวางเอาไว้คือช่วง 18-29 ปี “ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้นกลุ่มผู้ใช้งานของเราขยายออกไปเยอะมาก เราไปโฟกัสที่จะให้บริการกับทุกคน บริการของเราถูกปรับให้เหมาะสมที่สุดสำหรับคนทั่วไปที่ใช้งาน แทนที่จะเป็นกลุ่มผู้ใช้งานรุ่นใหม่” แม้ในช่วงที่ผ่านมานั้นรายได้ต่อหัวของผู้ใช้งานนั้นจะลดลงเพราะการเปลี่ยนแปลงด้านความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน iOS ในอนาคต Facebook วางแผนว่าจะสร้างเครื่องมือสำหรับการยิงโฆษณาที่ใช้ข้อมูลน้อยลงด้วยเพื่อลดผลกระทบตรงนี้ แต่ถึงยังไงก็ตาม รายได้สุทธิไตรมาสสามเพิ่มขึ้นถึง 17% จากปีก่อน (7,800 ล้านเหรียญฯ เป็น 9,200 ล้านเหรียญฯ) และราคาหุ้นของพวกเขาก็เพิ่มขึ้นในวันรายงานผลประกอบการด้วย แม้จะมีข่าวแย่ ๆ เกี่ยวกับข้อมูลที่รั่วไหลออกมาในช่วงเดือนก่อน แต่มันก็ทำให้เห็นว่า Facebook ยังคงแข็งแกร่ง ยังคงเป็นบริษัทที่สร้างรายได้มหาศาลจากการโฆษณา การเปิดพื้นที่ใหม่และโฟกัสไปยัง Metaverse นั้นจะช่วยทำวางรากฐานที่หนักแน่นในฐานะผู้นำกระแสถ้าหากทำได้สำเร็จ การที่พวกเขาเปลี่ยนชื่อบริษัทแม่เป็น Meta ก็ทำให้เห็นว่าพวกเขาจริงจังกับเรื่องนี้มากขนาดไหน  แม้มันเป็นอนาคตที่ยังไม่รู้ว่าหน้าตาจะออกมายังไง แต่จากข้อมูลที่มีนั้นค่อนข้างน่าตื่นเต้นสำหรับทุกคนเลยทีเดียว มันนำมาซึ่งโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ การเชื่อมถึงกันที่มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องติดตามถึงผลเสียและผลกระทบที่จะตามมาภายหลังต่อผู้ใช้งาน รวมไปถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวด้วยเช่นเดียวกัน  โลกใบใหม่อีกใบหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้น จะเป็นแบบที่เราคาดฝันเอาไว้รึเปล่า? จะเป็น Ready Player one, Matrix หรือ แบบไหน อีกไม่นานเราคงมีโอกาสได้เห็นพร้อม ๆ กันผ่านแว่น VR   อ้างอิง: https://fortune.com/2021/10/28/metaverse-what-is-it-mark-zuckerberg-facebook-meta/ https://secondlife.com/ https://www.theguardian.com/technology/2018/feb/12/is-facebook-for-old-people-over-55s-flock-in-as-the-young-leave https://news.yahoo.com/metaverse-creator-neal-stephenson-reacts-003241683.html https://www.cbsnews.com/news/nft-metaverse-60-minutes-plus-2021-06-14/ https://www.cbsnews.com/news/facebook-earnings-report-2021-q3-metaverse/ https://tech.fb.com/connect-2021-our-vision-for-the-metaverse/ https://youtu.be/0294iXEPO4Y เรื่อง: โสภณ ศุภมั่งมี ภาพ: จากเพจ Mark Zuckerberg