The Bridges of Madison County: สะพานเชื่อมรัก บนทางแยกหัวใจสลาย 

The Bridges of Madison County: สะพานเชื่อมรัก บนทางแยกหัวใจสลาย 
/ ***บทความนี้มีการเปิดเผยฉากสำคัญในหนัง*** / คำสารภาพสุดท้ายของแม่บ้านผู้วายชนม์ การจากไปของผู้เป็นแม่ในวัยชรานำความเศร้าโศกมาให้กับครอบครัวที่หลงเหลือเพียงลูกสาวและลูกชาย หากแต่การจากลานั้นไม่เจ็บปวดใจเท่าคำสั่งเสียสุดท้ายในบันทึกของเธอที่ส่งต่อให้ลูก ๆ ทั้งสอง ซึ่งก็คือความประสงค์ที่ต้องการจะเผาร่างเธอให้มอดไหม้เป็นเถ้าธุลี เพื่อโปรยอัฐิของเธอที่สะพานแห่งความหลัง… สะพานแห่งความลับที่เธอเก็บมันเอาไว้ตลอดชีวิต ความลับที่ลูกทั้งสองต้องประหลาดใจและเจ็บปวดกับความจริง โดยเฉพาะลูกชายคนโตที่หัวเสียอย่างมาก เมื่อพบว่าแม่ของเขาที่ดำรงตนเป็นแม่บ้านมาตลอดชีวิตได้มีช่วงเวลาตกหลุมรักชายแปลกหน้า และเคยมีความคิดจะทิ้งพวกเขาไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กับชายคนนั้น เธอได้ใช้ช่วงชีวิตก่อนหมดลมหายใจ เขียนบันทึกเล่าช่วงเวลาที่เธออยู่ร่วมกันกับเขาโดยละเอียดให้ลูกทั้งสองฟัง โดยย้อนกลับไปยังปี 1965 ในช่วงเวลาที่ลูก ๆ ทั้งสองยังเป็นเพียงเด็กวัยรุ่นที่ไม่ประสีประสากับโลก ในช่วงเวลานั้น ‘ฟรานเสก้า จอห์นสัน’ อยู่คนเดียวในบ้านหลังใหญ่ ส่วนสมาชิกในบ้านไม่ว่าจะเป็นสามีและลูกทั้งสองของเธอต่างออกไปร่วมงานเทศกาลข้างนอก ทิ้งให้เธออยู่บ้านกับหมาเพียงลำพังอย่างเดียวดาย แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน กลับมีชายแปลกหน้าขับรถผ่านมาถามทางเพื่อเดินทางไปถ่ายสะพานโรสแมน สะพานแดงมีหลังคาที่ตั้งตระหง่านในเมืองวินเทอร์เซ็ต รัฐไอโอวา เธอพยายามบอกทางอันแสนซับซ้อนนั้น ก่อนตัดสินใจนำทางไปยังสะพานด้วยตัวเอง ระหว่างทางที่เต็มไปด้วยความเงียบงัน ระยะทางที่ไกลพอสมควรทำให้ทั้งสองได้พูดคุยทำความรู้จักกัน บทสนทนาเริ่มต้นขึ้น ชายหนุ่มแนะนำตัวว่าเขาชื่อ ‘โรเบิร์ต คินเคด’ เป็นช่างภาพสายสารคดีของนิตยสาร ‘National Geographic’ ที่เที่ยวท่องล่องไปมาแล้วหลายที่ทุกมุมโลก เพื่อตามเก็บภาพภูมิทัศน์และสถาปัตยกรรมที่สวยงาม  ส่วนฟรานเสก้าเป็นแม่บ้านที่ย้ายถิ่นฐานมาจากอิตาลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากตกหลุมรักกับสามีคนแรกและคนเดียวของเธอ เธอย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่เมืองเล็ก ๆ ในรัฐไอโอวาจวบจนปัจจุบัน เธอจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเธอครองคู่กับสามีคนนี้มากี่ปี แต่โรเบิร์ตนั้นหย่าขาดกับคนรักและใช้ชีวิตเป็นชายโสดมาครึ่งค่อนชีวิต แม้ระยะทางและการสนทนาจะใช้เวลาเพียงไม่นาน แต่กลับเติมเต็มทั้งสองที่หัวใจเว้าแหว่งให้สมบูรณ์และก่อตัวเป็นความรักในชั่วข้ามคืน ระหว่างที่เขากำลังลั่นชัตเตอร์เพื่อเทสต์แสง มีสองสิ่งที่มาแย่งความสวยงามของสะพานไม้เก่าแก่นั้น นั่นก็คือดอกไม้ที่รายล้อมอยู่รอบ ๆ สะพาน และความเป็นธรรมชาติอันน่าหลงใหลของฟรานเสก้า เขาเด็ดดอกไม้มาให้เธอเพื่อแทนคำขอบคุณในไมตรีจิต ก่อนที่หญิงสาวจะเปิดประตูบ้านเชื้อเชิญชายหนุ่มมากินอาหารในค่ำคืนนั้น  The Bridges of Madison County: สะพานเชื่อมรัก บนทางแยกหัวใจสลาย  ชายผู้รอนแรมมาไกลเพื่อมาพบหัวใจที่ตามหามานาน โรเบิร์ตเคยผ่านการสมรสมาแล้ว แต่เขาพบเพียงว่า การครองคู่ในครั้งนั้นเป็นแค่ความต้องการมีบ้านไว้กลับยามเหนื่อยล้าจากการไปค้างแรมยังที่ไกล ๆ ในฐานะช่างภาพเท่านั้น สุดท้ายเขาสัมผัสได้ถึงความงดงามระหว่างการเดินทาง หลายครั้งที่ความงามของท้องถิ่นทำให้เขาจำต้องเลื่อนวันเดินทางเพื่อขออยู่ชื่นชมมันอีกสัก 2-3 วัน หนึ่งในสถานที่แห่งนั้นคือเมืองบารี เมืองเล็กของประเทศอิตาลี ที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของฟรานเสก้า ซึ่งโรเบิร์ตเคยตัดสินใจอยู่ต่อเพื่อชื่นชมความงามนั้น และครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อเขาได้พบเจอกับฟรานเสก้า  ดินเนอร์ในมื้อนั้น นำความปลาบปลื้มมาสู่หัวใจของทั้งสอง เมื่อฟรานเสก้านั่งฟังเรื่องราวการเดินทางอันผาดโผนของชายหนุ่มอย่างกระตือรือร้น จนในที่สุดรอยยิ้มที่เต็มเปี่ยมด้วยความมีชีวิตชีวาของฟรานเสก้าก็สะกดให้ทั้งคู่ตกหลุมรักซึ่งกันและกัน แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น เพราะในช่วงเวลาที่ศีลธรรมยังคงเข้มข้นในชุมชนเล็ก ๆ ที่ผู้คนไปมาหาสู่กันง่าย และร้านกาแฟถูกใช้เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เรื่องราวของเพื่อนบ้านที่แอบนอกใจสามีดังฉาวโฉ่พอที่จะให้ทั้งสองต่างหยุดคิด และตระหนักว่าสิ่งที่ทั้งคู่กำลังทำลงไปนั้นคือเรื่องผิดศีลธรรม และมันไม่ดีแน่ที่คนรับกรรมจะเป็นสามีที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรเลย หญิงสาวที่โหยหาอิสรภาพ ก่อนหน้าที่ฟรานเสก้าจะจากบ้านเกิดเมืองนอนมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในชนบท เธอเล่าให้โรเบิร์ตฟังว่าเธอเคยเป็นอาจารย์ แต่เมื่อเธอมีพยานรักเป็นลูกชายและลูกสาว ทำให้กลายเป็นแม่บ้านเต็มเวลา นำพาให้ชีวิตของเธอต้องถูกจองจำภายใต้ความเป็นแม่ มีชีวิตที่ถูกคุมขังภายใต้บ้านหลังใหญ่ และไม่มีโอกาสที่จะได้ทำอะไรมากไปกว่าการเป็นแม่และภรรยาที่แสนดีที่วงจรชีวิตมีเพียงการตื่นมาทำกับข้าว กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างจาน หากเปรียบเธอเป็นสีก็ไม่ต่างกับสีชมพูที่ค่อย ๆ ซีดจาง การมาของโรเบิร์ตช่วยเติมสีสัน ทำให้เธอรู้จักความตื่นเต้นของความรัก และได้ส่องกระจกพิจารณาเรือนร่างตัวเองอีกครั้ง เขาได้ช่วยให้เธอได้รับรสสัมผัสทางร่างกายที่ห่างหายไปนานจากชายแปลกหน้า แม้ว่าความเป็นแม่และเมีย และศีลธรรมจะปิดกั้นตัวเธอและเขาให้ห่างกัน แต่ถ้าหากเธอหันหลังให้กับสิ่งเหล่านั้น สิ่งที่ได้กลับมาย่อมเป็นอิสรภาพและชีวิตที่ขาดหายไปนานแสนนาน โรเบิร์ตเองก็เข้าใจ เพราะการที่เขาได้เดินทางรอนแรมจากเหนือจรดใต้ ทำให้เขาเข้าใจชีวิตได้ดี และมันก็ถึงเวลาเสียทีที่เขาจะมีบ้านแห่งหัวใจไว้ซุกกายในช่วงบั้นปลายของชีวิต  โรเบิร์ตต้องการบ้านที่พักพิงใจ ส่วนฟรานเสก้าต้องการโบยบินไปจากสิ่งเดิม ๆ แม้ความรู้สึกทั้งสองต่างเดินสวนทาง แต่เส้นตัดของทั้งสองที่มีจุดร่วมตรงกันนั่นก็คือ ‘การพร้อมจะเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ’ ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาของทั้งคู่ที่ดีและร้าย แม้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็มากพอที่โรเบิร์ตจะเอ่ยปากชวนเธอให้ไปอยู่ร่วมกันกับเขา  “ผมจะพูดแค่ครั้งนี้ครั้งเดียว… ผมยังไม่เคยพูด แต่ความจริงแท้แน่นอนของชีวิตแบบนี้ ...มันจะเกิดได้แค่ครั้งเดียว” เขารอคำตอบของหญิงสาว โดยมีเบาะว่างของรถคันเดิมที่รอให้เธอมานั่งเคียงข้างและเดินร่วมทางสายใหม่ด้วยกัน The Bridges of Madison County: สะพานเชื่อมรัก บนทางแยกหัวใจสลาย  มากกว่าคำว่าชู้รักคือการออกจากกับดักของชีวิต พิจารณาจากเรื่องราวของ ‘The Bridges of Madison County’ (1995) ที่กำกับและแสดงนำโดย ‘คลินต์ อีสต์วูด’ (Clint Eastwood) คงหนีไม่พ้นการมองความรักระหว่าง ฟรานเสก้า กับ โรเบิร์ต เป็นเพียงโศกนาฏกรรมความรักของคนแปลกหน้าที่แสนวูบวาบฉาบฉวยในช่วงเวลาอันแสนจำกัด หรือเรียกง่าย ๆ ว่า เขาและเธอกำลังลักลอบที่จะมีชู้กัน แต่หากมองให้ลึกกว่านั้น ประเด็นความรักอาจจะตื้นเขินจนเกินไปเมื่อพบว่าสิ่งที่ฟรานเสก้าต้องการมากกว่าความรักความใคร่นั้นอาจเป็น ‘ชีวิตที่ขาดหายมาตลอด’ ท่ามกลางสะพานแห่งชีวิตที่กำลังก้าวข้าม เธอกำลังอยู่ในห้วงแห่งการตัดสินว่า ‘เธอจะเลือกข้ามมันไป หรือเลือกที่จะพอแค่นี้ และก้มหน้ารับสภาพในบ้านหลังเดิมกับชีวิตเดิม ๆ ไปตลอดกาล’ ฟรานเสก้าเป็นตัวแทนของหญิงสาวมากมายที่ต้องทนทุกข์กับการเป็นแม่บ้านที่ไม่อาจจะปริปากหรือเลือกทางเดินที่แตกต่างได้ ความเป็นเพศหญิงที่ถูกกดทับในยุคสมัยที่หญิงสาวไร้ซึ่งปากเสียงใด ๆ และหากก้าวข้ามหรือล้ำเส้นศีลธรรมไป สุดท้ายความผิดหรือการตกเป็นจำเลยของสังคมก็จะฆ่าพวกเธอทั้งเป็น โดยไม่คิดถามพวกเธอสักคำว่าชีวิตที่อยู่ในกรงขังนั้นมันเจ็บปวดมากแค่ไหน ไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปยังยุค 60s เพราะปัจจุบัน แม้ความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นกับทุกเพศทุกวัยแล้ว แต่ยังมีแม่บ้านหลายคนบนโลกใบนี้ที่จำต้องทนอยู่ในกรอบของศีลธรรมโดยไม่อาจปริปากหรือโบยบินไปไหนได้ไกลกว่าอาณาบริเวณบ้านของตน ทางแยกหัวใจสลาย ในซีนท้าย ๆ ความบอบช้ำของชะตากรรมทั้งสองก็มาบรรจบตรงสี่แยก เมื่อเส้นตายวันสุดท้ายของโรเบิร์ตนั้นได้เดินทางมาถึง ครอบครัวของฟรานเสก้ากลับมา เท่ากับว่าเธอกำลังกลับเข้าสู่กรงขังของความเป็นแม่บ้านอีกครั้ง ระหว่างที่เธออยู่บนรถในวันที่ฝนพรำ โรเบิร์ตเดินฝ่าสายฝนมาเพื่อทวงถามถึงการตัดสินใจของเธอ  กลางสี่แยกนั้น เขาห้อยไม้กางเขนที่กระจกมองหลังเพื่อส่งสัญญาณถาม เขาจอดรถแช่กลางสี่แยกนั้น แม้ไฟสัญญาณจะแสดงสีเขียว แต่เขาก็เลือกที่จะไม่ไป เพื่อรอให้ฟรานเสก้าตัดสินใจไปกับเขา เธอกำคัน(ที่)เปิดประตูแน่นมือเพื่อตัดสินใจในช่วงเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเธอไปชั่วนิรันดร์ แต่สุดท้ายความเงียบงันของเธอก็ทำให้เขารับรู้ว่า คำตอบที่เขาต้องการนั้นไม่เป็นความจริง ณ สี่แยกนั้นเขาเลือกเลี้ยวซ้าย และรถของฟรานเสก้าที่ขับมาพร้อมสามีก็เลือกขับทางตรง เธอมองรถคันนั้นจนลับสายตา หลังจากนั้นมีเพียงจดหมายที่เขียนด้วยลายมือของโรเบิร์ตส่งมาถึงฟรานเสก้า และนั่นคือการลาจากอย่างเป็นทางการของทั้งสองตลอดกาล   “ผมกัดฟัน…รวบรวมสติเพื่อให้ผมยังดำเนินชีวิตต่อไปได้ ทั้งที่รู้ว่าเราต้องเดินคนละเส้นทาง แต่พอผมมองผ่านเลนส์กล้อง คุณก็มาอยู่ตรงนั้น พอลงมือเขียนบทความ ผมกลับเขียนหาคุณ ตอนนี้ผมรู้แจ้งแก่ใจแล้วว่าเราต่างส่งใจถึงกัน ส่งใจถึงสี่วันนั้นมาตลอดชีวิตของเรา” มีโศกนาฏกรรมมากมายในหนังหรือนิยายรักที่มักจบลงด้วยน้ำตา หากสำหรับ The Bridges of Madison County เราไม่เพียงเจ็บปวดต่อการพลัดพรากจากลาของคนทั้งสองเท่านั้น แต่กลับตระหนักได้ถึงชีวิตของเรา ไม่ว่าความรัก การงาน หรือโอกาสใด ๆ ในชีวิต บางครั้งโอกาสดี ๆ ก็เกิดได้เพียงหนเดียวก่อนจะปลิวหายไปในกาลเวลาตลอดกาล เรื่อง: สกก์บงกช ขันทอง ภาพ: https://www.imdb.com/title/tt0112579/