read
social
01 พ.ย. 2564 | 15:37 น.
นีล สตีเวนสัน: มนุษย์คนแรกที่นิยาม Metaverse
Play
Loading...
ก่อนที่คำว่า ‘Metaverse’ จะถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในวงกว้าง และถูกบอกโดย ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ (Mark Zuckerberg) ว่านี่คืออนาคตของอินเทอร์เน็ต Metaverse คือภาพในจินตนาการของชายคนหนึ่งที่ถักทอเรื่องเล่าถึงโลกอีกใบที่เราสามารถสร้างขึ้นได้ด้วยคอมพิวเตอร์
ย้อนกลับไปก่อนหน้าปี 1992 คำว่า Metaverse ยังไม่มีความหมายในตัวของมัน จนกระทั่ง ‘Snow Crash’ นวนิยายไซไฟสตีมพังก์ของ ‘นีล สตีเวนสัน’ (Neal Stephenson) ได้สร้างความหมายให้กับมัน และในวันนี้สิ่งที่เคยปรากฏอยู่แค่บนหน้าหนังสือนวนิยาย กำลังจะกลายเป็นอนาคตของพวกเรา
เด็กชายในบ้านของนักวิทยาศาสตร์
หากดูเฉพาะเรื่องราวในวัยเด็ก เราคงเข้าใจว่านีล สตีเวนสัน จะต้องเติบโตมาเป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอน เพราะเขาเกิดมาในครอบครัวที่มีพ่อเป็นศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และแม่ทำงานในแล็บชีวเคมี ไม่เพียงเท่านั้น ปู่ของเขายังเป็นศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ และตาของเขาเป็นศาสตราจารย์ด้านเคมีอีกด้วย
ความหลงใหลในเรื่องวิทยาศาสตร์ของเขาที่ได้รับสืบทอดมาจากครอบครัว ทำให้เขาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) ในเอกฟิสิกส์ แต่ในระหว่างการเรียนในมหาวิทยาลัย เขาก็ได้ย้ายสาขาไปยังเอกภูมิศาสตร์ ด้วยสาเหตุว่าการเรียนสาขานี้จะช่วยให้เขาสามารถใช้คอมพิวเตอร์เมนเฟรมของมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น
แต่แม้จะย้ายสาขาไปแล้ว นีลก็จบจากมหาวิทยาลัยบอสตันด้วยวุฒิปริญญาตรีด้านภูมิศาสตร์ โดยมีฟิสิกส์เป็นวิชาโท จากนั้นเขาก็ตั้งใจจะเริ่มต้นในสายงานของนักภูมิศาสตร์-ฟิสิกส์ (physicist-geographers)
จากนักวิทย์ สู่นักเขียน
สิ่งที่นีล สตีเวนสันได้ค้นพบหลังจากที่เขาเรียนจบมาในด้านภูมิศาสตร์และฟิสิกส์ คือมันไม่มีงานให้กับเขาที่ยังไม่มีประสบการณ์ สิ่งที่เขาต้องทำคือไปทำงานด้านรถยนต์ จนถึงเป็นแรงงานเกษตรกรรม ก่อนที่เขาจะค้นพบความสามารถด้านการเขียน
ในวันนี้ นีล สตีเวนสันถูกจดจำในฐานะนักเขียนงานสายจินตนิยาย (Speculative fiction) ที่เชี่ยวชาญในด้านคณิตศาสตร์, ภาษาศาสตร์, การเข้ารหัส, ปรัชญา, การเงิน ไปจนถึงประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์
กระทั่งปี 1984 นีลในวัย 25 ปี ได้ออกหนังสือเล่มแรกในชื่อ ‘The Big U’ นวนิยายตลกที่เสียดสีชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยอเมริกา
ซึ่งมองย้อนกลับไปตอนนี้ ตัวนีลเองก็ไม่ได้ภูมิใจในงานชิ้นนี้นัก แต่หลังจากที่เขาเริ่มมีชื่อเสียง และมีคนเอานวนิยายเล่มนี้กลับมาขายบน eBay ในราคากว่า 100 เหรียญ เพราะเป็นหนังสือที่หาไม่ได้แล้ว นีลต้องตัดสินใจนำงานชิ้นนี้กลับมาพิมพ์ซ้ำ เพราะเขาคิดว่าสิ่งที่แย่กว่าการมีใครมาอ่านงานชิ้นนี้ของเขา คือการที่ใครสักคนจะต้องจ่ายเงินมากขนาดนั้นเพื่ออ่านมัน
ในงานชิ้นต่อไปของเขา ‘Zodiac: An Eco-Thriller’ (1988) นีลเริ่มขยับเข้ามาสู่เส้นทางที่จะพาให้เขากลายมาเป็นนักเขียนชื่อดังมากขึ้น ผ่านการเล่าเรื่องของนักนิเวศวิทยาที่เข้าไปพัวพันและต่อกรกับกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ที่ทิ้งของเสีย และสร้างมลพิษในเมืองที่เขาอยู่ โดยตัวเอกของเรื่องยังถูกใส่ความให้เป็นผู้ก่อการร้ายที่อ้างเรื่องสิ่งแวดล้อม (Eco-terrorist)
นับว่าเป็นงานที่น่าชื่นชมเมื่อนับจากปีที่ผลงานออกมา ซึ่งเป็นก่อนหน้าที่ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อนจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในระดับโลกช่วงปี 2000
(หนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่ทำให้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมถูกพูดถึงในวงกว้างคือสารคดี ‘An Inconvenient Truth’ (2006) ของอดีตประธานาธิบดี ‘อัล กอร์’)
อย่างไรก็ตาม งานทั้งสองชิ้นแรกของนีล สตีเวนสัน ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จทั้งในด้านของยอดขายและคำวิจารณ์ หากนีลล้มเลิกการเขียนไปตั้งแต่ตอนนั้น ก็มีความเป็นไปได้สูงมากว่าเขาจะกลายเป็นนักเขียนที่ไม่ถูกจดจำและไม่ถูกพูดถึงอีกเลย
แต่ทุกสิ่งได้เปลี่ยนไป ในงานชิ้นต่อไปของเขา ‘Snow Crash’ (1992)
Snow Crash ครั้งแรกที่โลกได้รู้จัก Metaverse
Snow Crash คือนวนิยายไซเบอร์พังก์ ที่มาพร้อมพล็อตที่อาจกล่าวได้ว่า ‘หลุดโลก’ ทั้งยังถือว่า ‘แปลกใหม่’ สำหรับทุกวันนี้
นวนิยายเรื่องนี้ถูกเขียนผ่านแนวคิดที่ว่า สมองของมนุษย์อาจทำงานเหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่มีระบบภาษาควบคุมอยู่เบื้องหลัง และในอดีตเทพเจ้าสุเมเรียน (Sumerian) ได้สร้างสิ่งที่เหมือนกับไวรัสคอมพิวเตอร์ขึ้นจากภาษานั้น (ภาษาสุเมเรียนโบราณ) ที่สามารถทำให้สมองของมนุษย์หยุดทำงานได้
(ทั้งยังเขียนตำนาน ‘Tower of Babel’ ใหม่ว่าเป็นการที่เทพเจ้าอีกองค์ได้ ‘รีโปรแกรม’ มนุษย์ให้ใช้ภาษาที่ต่างกันเพื่อปกป้องพวกเขาจากไวรัสที่ถูกสร้างขึ้น)
โดยนีลเล่าเรื่องของตัวเอกที่ชื่อว่า ‘ฮิโระ’ ในฉากหลังของเมืองลอสแอนเจลิสในอนาคต ซึ่งกลายเป็นโลกดิสโทเปียที่ถูกควบคุมโดยคนร่ำรวยไม่กี่คนไปแล้ว ทำให้เขาจะต้องหยุดยั้งผู้ที่พยายามจะใช้ไวรัสภาษาทำลายสมองมนุษย์ผ่านการส่งต่อในรูปแบบไฟล์บน Metaverse ภายใต้ชื่อ Snow Crash
Metaverse ในนวนิยายเป็นเสมือนสิ่งที่มารับช่วงต่อจากอินเทอร์เน็ต ที่ผู้คนมี Avatar ของตัวเอง และสามารถทำสิ่งต่าง ๆ บน Metaverse เช่นการเดินซื้อของ วิ่งเล่น ทำงาน ได้เหมือนกับโลกจริง เป็นอินเทอร์เน็ตที่มีรูปลักษณ์ใน 3 มิติ
โดยนวนิยายเรื่องนี้ นีล สตีเวนสันพยายามที่จะนำเสนอไอเดียถึงความสำคัญของภาษา และความสัมพันธ์ที่ภาษามีต่อสมองมนุษย์ อีกทั้งยังผสมผสานองค์ประกอบของประเด็นในด้านมานุษยวิทยา, โบราณคดี, ศาสนา, วิศวกรรมคอมพิวเตอร์, การเข้ารหัส, ปรัชญา และการเมือง เอาไว้ในเรื่องเดียว
งานเขียนชิ้นนี้ได้กลายเป็นงานที่เปลี่ยนชีวิตในฐานะนักเขียนของ นีล สตีเวนสันไปตลอดกาล Snow Crash ได้รับการนำเสนอเข้าชิงรางวัล ‘British Science Fiction Award’ และ ‘Arthur C. Clarke Award’ รวมทั้งถูกจัดเป็น 1 ใน 100 นวนิยายที่ถูกเขียนในภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 1923 (100 all-time best English-language novels written since 1923) โดยนิตยสาร ‘Time’
ด้วยกระแสตอบรับจาก Snow Crash ที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านยอดขายและในด้านคำวิจารณ์ นีล สตีเวนสัน ได้กลายมาเป็นหนึ่งในสุดยอดนักเขียนไซไฟ ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของยุค
และหลังจากนั้น
หลังจากที่นีล สตีเวนสันได้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่จากการเขียน Snow Crash เขาก็ยังคงออกผลงานต่อมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับความนิยมเรื่อยมา
‘The Diamond Age’ (1995) นวนิยายไซไฟ Coming of Age เกี่ยวกับเด็กสาวที่มีอาวุธสังหารฝังอยู่ในกะโหลก และโลกที่นาโนเทคโนโลยีกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน ได้รับรางวัล ‘Hugo’ และ ‘Locus Awards’ ทั้งยังเข้าชิงรางวัล ‘Nebula’ อีกด้วย (ทั้ง 3 รางวัลต่างถูกยกให้เป็นรางวัลใหญ่ในแวดวงไซไฟ-แฟนตาซี)
อีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่นของนีล สตีเวนสัน คือ ‘Cryptonomicon’ (1999) ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง ‘Data haven’ สถานที่ที่จะสามารถเก็บข้อมูลได้อย่างปลอดภัย และคอนเซปต์ของการใช้สกุลเงินและทองดิจิทัล ซึ่งทั้งสองสิ่งเมื่อมองในวันนี้แล้ว ก็ดูใกล้เคียงกับคอนเซปต์ของบล็อกเชน (Blockchain) และคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อยู่พอสมควร
นีล สตีเวนสัน ออกงานเขียนมาอีกมากมาย ทั้งที่เขียนคนเดียวและร่วมกับนักเขียนคนอื่น เฉพาะนวนิยายเพียงอย่างเดียวในวันนี้เขามีผลงานรวมถึง 18 เล่ม
โดยเล่มล่าสุด ‘Termination Shock’ เพิ่งจะออกมาในปี 2021 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโลกอนาคตที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก ทั้งยังมีเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่และโรคระบาด
จนถึงวันนี้ นีลยังคงเขียนงานของเขาต่อไป และมีผลงานออกมาเรื่อย ๆ ทั้งในรูปแบบของนวนิยาย เรื่องสั้น ไปจนถึงบทความ
ต่อจากนี้ สิ่งที่เขาทำไม่ได้หยุดอยู่แค่แป้นพิมพ์หรือบนหน้าหนังสือ เพราะนอกจากการเป็นนักเขียนที่มากความสามารถ เขายังเป็นนักอนาคตวิทยา (Futurist) ที่ได้รับการยอมรับอีกด้วย
การออกแบบยานอวกาศ และนักอนาคตวิทยา
บทบาทนอกเหนือจากงานเขียนที่โดดเด่นของนีล คือการทำงานที่ ‘Blue Origin’ บริษัทด้านยานอวกาศของ ‘เจฟฟ์ เบโซส’ (Jeff Bezos) เป็นเวลา 7 ปี ในช่วงต้น ๆ ปี 2000 โดยเขามีหน้าที่หลักในการออกแบบระบบขับเคลื่อนยานอวกาศรูปแบบใหม่ ก่อนจะออกจากบริษัทหลังจากที่ Blue Origin ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนไปในทิศทางของการออกแบบยานอวกาศแบบมาตรฐาน
ในปี 2014 เขายังเป็นหัวหน้าทีมอนาคตวิทยา (Chief Futurist) ของ ‘Magic Leap’ บริษัทที่ตั้งใจพัฒนาเทคโนโลยี VR และ AR ซึ่งใกล้เคียงกับสิ่งที่อยู่ในงานเขียนของนีล แต่สุดท้ายเขาก็ต้องออกจาก Magic Leap ในปี 2020 จากการปลดพนักงานครั้งใหญ่ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19
นอกจากนี้ นีลยังคงมีผลงานอื่น ๆ ที่พยายามนำภาพจินตนาการในหัวของเขาให้ออกมาเป็นของจริง เช่น CLANG โปรเจกต์ Kickstarter ที่เขาต้องการจะสร้างเกมฟันดาบเหมือนจริง ที่ควบคุมด้วยการเคลื่อนไหว
แต่โปรเจกต์นี้กลับกลายมาเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ของเขาที่ไม่สามารถทำมันให้สำเร็จได้หลังจากที่ใช้เงินจากการระดมทุนไปหมดแล้ว ซึ่งส่วนตัวนีลกล่าวว่า เป็นผลจากการที่เขาใส่ใจกับความถูกต้องในเชิงประวัติศาสตร์ มากกว่าการทำเกมให้สนุกพอที่จะดึงดูดคนให้มาลงทุน
(จนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานว่า Meta บริษัทพัฒนา Metaverse ที่เปลี่ยนชื่อมาจาก Facebook จะมีการติดต่อไปหานีลเพื่อเชิญมาร่วมงานด้วยไหม)
เมื่อจินตนาการปูทางให้กับอนาคต
นีล สตีเวนสัน เริ่มต้นชีวิตในเส้นทางของนักวิทยาศาสตร์ แต่เขากลับสร้างผลงานได้มากมายในฐานะของนักเขียน ผลงานนวนิยายของเขาได้วาดภาพอนาคตไว้ล่วงหน้า ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี หรือนักธุรกิจคนใดจะวาดภาพถึงสิ่งเหล่านั้นได้ เช่นเดียวกับผลงานไซไฟและแฟนตาซีมากมายที่เกิดขึ้นมาจากเหล่านักคิด นักเขียน นักจินตนาการ ที่ได้มีส่วนวาดภาพเทคโนโลยีของวันพรุ่งนี้ไว้ให้เราแล้วเช่นเดียวกัน
ยกตัวอย่าง ‘โทรศัพท์มือถือ’ ที่มีมาแต่กาลก่อนแล้วในซีรีส์ ‘Star Trek’ ‘แท็บเล็ต’ จาก ‘2001: Space Odyssey’ ‘โดรน’ ที่ปรากฏให้เห็นในฐานะฮันเตอร์ ซีกเกอร์ ในนวนิยาย ‘Dune’ และแน่นอน ‘Metaverse’ จาก ‘Snow Crash’ ที่กำลังจะกลายเป็นอนาคตต่อไปของอินเทอร์เน็ต
ในถ้อยคำที่ถูกหยิบยกมาบ่อยครั้งเกินไปของ ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ เขาได้บอกว่า ความรู้นั้นยังมีขีดจำกัดอยู่ในขอบเขตที่เรารับรู้เท่านั้น แต่จินตนาการสามารถพาเราไปได้ไกลกว่านั้น ไปสู่ดินแดนที่ไม่เคยไปถึง และได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น
นีล สตีเวนสัน คือคนหนึ่งที่ได้พิสูจน์สิ่งนั้น เขาเอาความรู้ ความเชี่ยวชาญของตนเองเสริมด้วยจินตนาการอันล้ำลึก และวาดภาพไว้ให้เราได้เห็น วันนี้งานเขียนของเขาได้กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยปูทางมนุษยชาติสู่อนาคต
และด้วยเหตุผลนี้เอง ไอน์สไตน์จึงได้กล่าวว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”
เรื่อง: สิรวิชญ์ สิงหาพล
ภาพ:
Photo by Steve Jennings/Getty Images for TechCrunch
https://www.amazon.ca/Snow-Crash-Novel-Neal-Stephenson/dp/0553380958
https://www.nealstephenson.com/photos.html
อ้างอิง:
https://www.electricinca.com/56/stephenson/bio.htm
https://sf-encyclopedia.com/entry/stephenson_neal
https://www.popularmechanics.com/culture/a21238129/seveneves-neal-stephenson-blue-origin/
https://web.archive.org/web/20110520092657/http://web.mac.com/nealstephenson/Neal_Stephensons_Site/Old_site.html
https://www.wired.com/2014/12/neal-stephenson-magic-leap/
https://entertainment.time.com/2005/10/16/all-time-100-novels/slide/snow-crash-1992-by-neal-stephenson/
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3469
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6934
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
808
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Social
Metaverse
The People
Neal Stephenson
Snow Crash