read
social
13 ต.ค. 2564 | 13:08 น.
ผู้ใหญ่บ้านสมคิด ศรีนฤทธิ์ ก้าวผ่านวิกฤตด้วยความผูกพันเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน
Play
Loading...
ภาพจำหนึ่งของความเป็นหมู่บ้าน โดยเฉพาะหมู่บ้านในต่างจังหวัดคือการที่คนส่วนมากต่างรู้จักกันหมด เพราะหากไม่เป็นญาติพี่น้องกันแล้ว ก็นับเป็นคนรู้จักซึ่งย้ายเข้ามาทำมาหากินหรืออยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้ ๆ กัน
ซึ่งจุดเด่นเรื่องความรู้สึกผูกพันกันนี่แหละที่กำลังจะช่วยให้หมู่ 4 ตำบลลาดบัวหลวง อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้
“ก่อนโควิดระลอกล่าสุดยังไม่มีคนติดเชื้อ พวกเราก็ไปทำงานกันปกติ อยู่มาวันหนึ่งคนในหมู่บ้านเป็นพร้อมกันทีเดียว 9 คน เราก็รีบเรียกประชุมด่วน จนได้ข้อตกลงว่าจะทำศูนย์พักพิงผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในทันที”
ผู้ใหญ่บ้านสมคิด ศรีนฤทธิ์ อายุ 51 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลลาดบัวหลวง อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เท้าความถึงสัญญาณแรกในการมาถึงของเชื้อไวรัสร้ายแบบไม่ทันได้ตั้งตัว
ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของคนในหมู่บ้านที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งในช่วงนั้นมีการแพร่ระบาดในวงกว้างทำให้จำนวนเตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทางผู้ใหญ่บ้านสมคิดจึงได้อาสานำพื้นที่นาของตัวเองซึ่งเช่าที่ดินมาจากทางวัดสุทธาวาส มาปรับปรุงเป็นศูนย์พักพิงผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยชาวบ้านเกือบทุกคนเห็นด้วยแล้วได้เข้ามาช่วยกันอย่างพร้อมเพรียง
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทุกคนต่างรีบเร่งในการสร้างศูนย์พักพิงฯ เนื่องจากภาพความโหดร้ายของสถานการณ์ในเมืองหลวงที่มีผู้คนล้มตายข้างถนนหลายราย ซึ่งเป็นภาพติดตาที่ผู้ใหญ่บ้านสมคิด ที่รับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านมากว่า 10 ปี ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับที่นี่
ขณะที่กำลังก่อสร้างศูนย์พักพิงผู้ป่วย ทาง อบต.ลาดบัวหลวง ก็ได้ขอเข้ามาช่วยต่อเติมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น จนสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ประมาณ 30 เตียง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือผู้ติดเชื้อที่กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่จำกัดเพียงแค่ผู้ติดเชื้อในเขตหมู่ 4 เท่านั้น ซึ่งจะมีทางเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เข้ามาช่วยดูแลผู้ติดเชื้อเป็นระยะ
ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกคนตั้งแต่ วัดสุทธาวาส อบต.ลาดบัวหลวง และชาวบ้านในชุมชน ภายในเวลา 1 อาทิตย์ ศูนย์พักพิงผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก็เสร็จพร้อมเปิดใช้งาน โดยใช้งบบางส่วนมาจากกองทุนหมู่บ้าน ร่วมกับเตียงนอนหมอนมุ้งที่ได้จากวัดสุทธาวาส และน้ำดื่ม ข้าว ปลา อาหารบางส่วน จากชาวบ้านที่ช่วยกันบริจาค
“พวกเราไม่อยากเห็นพี่น้องเราเป็นเหมือนภาพในโทรทัศน์ เพราะถ้าปล่อยไว้ไม่ทำอะไรเลยเชื้ออาจจะแพร่ระบาดในหมู่บ้านจนควบคุมไม่ได้ เราเลยรีบจัดหาที่พักพิง แล้วประสานงานกับสาธารณสุขจังหวัดเรื่องบุคลากรในการดูแล และยารักษา การที่เราทำศูนย์พักพิงฯ ให้ผู้ติดเชื้อมาอยู่ที่เดียวกันเป็นการช่วยบุคลากรทางการแพทย์ให้ทำงานสะดวกและดูแลได้ทั่วถึงขึ้น”
ระหว่างนั้นผู้ใหญ่สมคิดก็ค่อย ๆ พูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านโดยตลอด ทั้งเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาด การใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกวิธี การดูแลตัวเองเบื้องต้น และการสังเกตอาการ โดยมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. คอยเสริมทัพช่วยให้ความรู้
ศูนย์พักพิงผู้ติดเชื้อโควิด-19 เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเพียง 5 วัน ก็มีผู้ติดเชื้อเข้ามารับการพักฟื้นแล้วจำนวน 17 คน ซึ่งผู้ใหญ่บ้านสมคิด และทีมงานได้วางแผนเตรียมพร้อมกรณีในกรณีที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยชาวบ้านได้คอยให้กำลังใจ ช่วยเหลือสนับสนุน แล้วยังได้ทาง อสม. ที่ช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง รวมไปถึงทางกำนัน นายอำเภอ ที่แวะเวียนส่งปลัดอำเภอมาถามไถ่อยู่ตลอดเวลา
การที่คนในชุมชนร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดีนั้น เป็นเพราะทุกคนมีความเข้าใจดีว่าผู้ติดเชื้อโควิดทุกคนคือลูกหลาน เป็นพี่น้องของคนในชุมชน ถ้าไม่ช่วยกันดูแลก็ไม่รู้ว่าจะไปรักษาดูแลตัวเองที่ไหน บางทีอาจจะนำเชื้อแพร่ระบาดต่อในชุมชนก็เป็นได้
ผู้ใหญ่สมคิดบอกว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้คนในชุมชนร่วมแรงร่วมใจกันในครั้งนี้ มาจากความรู้สึกผูกพันเหมือนทุกคนเป็นพี่น้อง รวมไปถึงการวางตัวของผู้ใหญ่บ้านสมคิดเองที่เป็นผู้นำซึ่งไม่ถือตัว ปฏิบัติตัวเท่าเทียมกับลูกบ้านคนอื่น เพื่อให้ทุกคนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ หลายครั้งที่เขาใช้วิธีให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมปรึกษาหารือ ระดมสมองจากความคิดของหลาย ๆ คน แทนการตัดสินใจเพียงคนเดียวที่มีโอกาสผิดพลาดสูง
“เราไม่ได้วางตัวเป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่ทำตัวเหมือนเป็นเพื่อนของทุกคน เดินไปข้าง ๆ กัน ทำให้ทุกคนเต็มใจพร้อมที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ พอมีคนสนับสนุนเราก็ยิ่งสู้ ไม่เคยรู้สึกว่าเหนื่อยหรือท้อเลย เราอาสามาอยู่ตรงนี้ก็เพราะอยากช่วยคนอื่น ถ้าเราไม่ทำก็ไม่รู้ว่าใครจะทำ ถ้าเราคิดว่าทุกคนเป็นพี่น้องก็จะไม่ปล่อยให้เขาตาย เหมือนหลายเคสที่เกิดขึ้น ชาวบ้านที่มาช่วยก็เพราะเขาคิดแบบเดียวกับเรา”
บางเคสที่มีอาการรุนแรงเชื้อลงปอดจนไม่สามารถนอนหลับได้ ผู้ใหญ่สมคิดต้องไปอยู่เป็นเพื่อนค่อยให้กำลังใจระหว่างที่เตรียมจัดรถฉุกเฉินเพื่อนำส่งโรงพยาบาล เพราะไม่อยากให้ผู้ติดเชื้อรู้สึกว่าอยู่ตัวคนเดียวเพียงลำพัง
โดยผู้ใหญ่บ้านสมคิดบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือความเร็วในการเข้าถึงผู้ป่วย ต้องรีบรับตัวมาดูแลให้เร็วที่สุด เพราะบางรายอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ความล่าช้าจะเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างได้
นอกจากนี้เขายังพยายามสร้างความเข้าใจให้กับทุกคนว่าโควิด-19 ไม่ได้ติดต่อกันง่าย ๆ ถ้าหากมีการป้องกันที่ดีพอ ไม่ควรไปตั้งแง่รังเกียจ สิ่งที่ควรทำคือการรู้จักป้องกันตัวเองและผู้อื่น เพียงแค่นี้ทุกคนก็จะสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข
ความผูกพันของคนในชุมชนที่รักกับแบบพี่น้องยังเห็นได้จาก คนที่หายจากโควิด-19 แล้วมาช่วยกันดูแลผู้ติดเชื้อคนอื่น ๆ อย่างเต็มความสามารถ เพราะพวกเขาไม่อยากให้พี่น้องในชุมชนของเขาต้องประสบเหตุการณ์แบบเดียวกัน
ผลของการที่ทุกคนในชุมชน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแรงร่วมใจกันทำให้ไม่มีคนในชุมชน หรือผู้ที่มาใช้ศูนย์พักพิงผู้ติดเชื้อโควิด-19 แห่งนี้ เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 เลยแม้แต่คนเดียว
“เราจะมีโอกาสสักกี่ครั้งในชีวิตที่ได้ช่วยให้ใครสักคนรอดตาย เราไม่ได้คาดหวังรางวัล อะไร แค่อยากเห็นคนหายป่วย ไม่มีใครต้องเสียชีวิต ถ้าใครคิดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ส่งชื่อมาที่นี่ได้เลย เรามองว่าทุกคนเป็นพี่น้องเรา เราต้องรักเขา ถ้าทุกคนคิดแบบเดียวกันนี้ จะมีกำลังใจเข้ามาช่วยเหลือกัน ถึงจะเหนื่อยแค่ไหนก็ยังจะสู้เพราะทุกคนเหมือนครอบครัวเดียวกัน”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3430
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6916
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
789
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Social
PartnerContent
กรมการปกครอง
บำบัดทุกข์บำรุงสุข
ทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น
กระทรวงมหาดไทย
นักปกครองท้องที่
ด่านหน้าสู้โควิด19