The Beatles: สี่เต่าทองท่องแดนอินเดีย และการเผยแพร่เสียงดนตรีตะวันออกสู่ป็อปคัลเจอร์อังกฤษ - อเมริกา

The Beatles: สี่เต่าทองท่องแดนอินเดีย และการเผยแพร่เสียงดนตรีตะวันออกสู่ป็อปคัลเจอร์อังกฤษ - อเมริกา
“เราเปิดรับทุกอย่าง คุณจูงช้างเข้าสตูดิโอก็ได้ถ้ามันทำให้เกิดโน้ตดนตรี”  คือคำกล่าวของ ‘ริงโก สตาร์’ สมาชิกวง The Beatles เมื่อพูดถึงวิธีการทำงานของพวกเขาในช่วงปี 1965 - ช่วงเวลาเดียวกับที่ ‘จอร์จ แฮริสัน’ บีเทิลส์ผู้เงียบขรึม กำลังสนใจศึกษา ‘ซีตาร์’ และบันทึกเสียงเครื่องดนตรีอินเดียชนิดนี้ลงในบทเพลง ‘Norwegian Wood’ ในอัลบั้ม ‘Rubber Soul’ ซึ่งนับเป็นเพลงแรกในประวัติศาสตร์โลกดนตรีป็อปตะวันตก ที่มีการบรรจุเสียงเครื่องดนตรีแห่งตะวันออกชนิดนี้เอาไว้ภายใน โดย The Beatles ที่ขณะนั้นเปิดกว้างจนขนาดที่ ‘เอาช้างเข้าสตูดิโอได้’ ไม่ได้ติดขัดอะไร หนำซ้ำยังสนับสนุนให้มีเสียงเครื่องดนตรีใหม่ ๆ ภายในเพลง นั่นคือช่วงเวลาก่อนที่จอร์จจะได้พบกับ ‘ระวี แชงการ์’ นักดนตรีชาวอินเดียที่เล่นเครื่องดนตรี ‘ซีตาร์’ ได้อย่างไพเราะและงดงามยิ่ง และแม้ระวี แชงการ์จะบอกเล่ากับบีบีซีว่าเขาไม่ประทับใจเสียงซีตาร์ของจอร์จในเพลง ‘Norwegian Wood’ เลยสักนิด แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็กลายเป็นมิตรที่ดีที่แลกเปลี่ยนทางด้านดนตรีกันอยู่เนือง ๆ “(ตอนได้ยิน Norwegian Wood ครั้งแรก) ผมไม่เชื่อหูตัวเองด้วยซ้ำ มันแปลกมาก ลองนึกภาพชาวบ้านชาวอินเดียสักคนพยายามเล่นไวโอลินสิ นั่นแหละที่ผมพูดถึงล่ะ” ‘Norwegian Wood’ คือก้าวแรกที่โลกได้ประจักษ์ถึงเวทย์มนตร์ฉบับอินเดียที่ลอยลม (อย่างแปร่งหู) อยู่ในบทเพลงของ The Beatles ทว่ามันไม่ใช่จุดเริ่มต้น และไม่ใช่จุดจบระหว่างวงดนตรีวงนี้ และวัฒนธรรมจากประเทศที่อยู่อีกซีกของเปลือกโลกแต่อย่างใด   ภาพยนตร์ ซีตาร์ และเสียงแปร่งปร่าของเครื่องดนตรี แม้ ‘Norwegian Wood’ จะเป็นบทเพลงแรกของ The Beatles ที่สมาชิกในวงได้เล่นเครื่องดนตรีซีตาร์ด้วยตัวเอง แต่มันไม่ใช่เพลงแรกของวงที่ประกอบด้วยเสียงยวนเสน่ห์ของเคร่องสายชนิดนี้ เพราะภายในเวอร์ชัน North American ของอัลบั้ม ‘Help!’ ก็มีเมดเลย์ของ ‘A Hard Day’s Night’, ‘Can’t Buy Me Love’ and ‘I Should Have Known Better’ ที่ได้วงดนตรีอินเดียมาเล่นด้วย จอร์จ แฮริสันค้นพบเครื่องดนตรีซีตาร์โดยบังเอิญขณะที่ The Beatles กำลังถ่ายทำ ‘Help!’ ภาพยนตร์ของพวกเขา เป็นฉากที่ต้องถ่ายทำในร้านอาหารอินเดีย ภายในกองถ่ายมีนักดนตรีอินเดียกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นเพลงแบ็กกราวน์ และจอร์จก็สนอกสนใจเครื่องสายที่พวกเขาเล่นเป็นอย่างมาก จนหลังจบการถ่ายทำเขาก็ตัดสินใจซื้อหาซีตาร์มาครอบครอง “ผมซื้อซีตาร์มาจากร้านค้าเล็ก ๆ บนถนนอ็อกซ์ฟอร์ด อันที่จริงมันเป็นชิ้นที่ค่อนข้างจะคุณภาพต่ำ แต่ผมก็ซื้อมาแบบขำ ๆ จนกระทั่งต้องอัดเพลง ‘Norwegian Wood’ และเรากำลังมองหาเสียงใหม่ ๆ ผมหยิบซีตาร์ขึ้นมาเพราะว่ามันอยู่ใกล้มือ ผมก็แค่ทำไปตามธรรมชาติ จนพบลิค (ลูกโซโล่สั้น ๆ หรือชุดโน้ตที่เล่นเป็นช่วง ๆ) ที่เหมาะกับเพลงเข้าพอดี” “ผมไม่รู้วิธีตั้งสายมัน และหนำซ้ำ มันเป็นซีตาร์ที่ราคาถูกมากแม้แต่สำหรับการเริ่มหัดเล่นก็ตาม แต่เพราะสิ่งแวดล้อมภายในวงของเราเปิดกว้างมาก ๆ สำหรับการเสนอไอเดียใหม่ ๆ”   พบระวี แชงการ์ และมหาริชี ราวสิงหาคม 1965 จอร์จ แฮริสันค้นพบบทเพลงของระวี แชงการ์ระหว่างการร่วมทัวร์กับวง The Byrds และ ‘เดวิด ครอสบี’ เป็นผู้มอบแผ่นเสียงของนักดนตรีชาวอินเดียให้กับเขา จอร์จและระวีได้พบกันครั้งแรกในปีถัดมา ระวีกล่าวถึงความประทับใจแรกที่มีต่อจอร์จว่า “มันแปลกที่ได้เห็นนักดนตรีป็อปกับซีตาร์ ตอนแรกผมสับสน รากดนตรีของเราแทบไม่เกี่ยวกันเลย แต่ผมก็ได้พบว่าจอร์จอยากเรียนรู้จริง ๆ และผมไม่คาดคิดว่าการพบกันของเราจะกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ ดนตรีอินเดียมีพื้นที่ในวัฒนธรรมป็อปในทันใด” การเบ่งบานของเสียงดนตรีอินเดียในผลงานของ The Beatles เริ่มเห็นได้ชัดหลังจากนั้น และยิ่งชัดมากขึ้นหลังจากที่สมาชิกในวงยกเว้นริงโก ได้ยกโขยงไปฟังการบรรยายของ ‘มหาริชี โยคี’ (หรือมหาฤาษี ก็เรียก) ครูสอนจิตวิญญาณชาวอินเดียที่โรงแรมฮิลตัน ลอนดอน โดยการแนะนำของ ‘แพตตี บอยด์’ ภรรยาของจอร์จ การบรรยายนั้นน่าประทับใจ และพวกเขาทั้งหมดก็ตัดสินใจตบเท้าตามมหาริชีไปที่เมืองเวลส์ในวันรุ่งขึ้น เพื่อเข้าร่วมการสัมนาทางจิตวิญญาณเป็นเวลา 10 วัน   ขยับปีกสู่อินเดีย หลังปล่อยอัลบั้ม ‘Revolver’ และ ‘Stg. Pepper’s Lonely Hearts Club Band’ ปี 1968 เต่าทองทั้งสี่ก็ได้ฤกษ์จองตั๋วทะยานจากโลกตะวันตกสี่กรุงเดลี ประเทศอินเดีย เพื่อต่อรถแท็กซี่กว่า 150 ไมล์ไปยังเมืองฤษีเกศ เพื่อเข้าพัก บำเพ็ญภาวนา และเรียนรู้หลักจิตวิญญาณรวมทั้งการ ‘ทำสมาธิล่วงพ้น’ ภายใต้การสอนสั่งของมหาริชี “จอห์นและจอร์จไปที่นั่นด้วยความคิดที่ว่านี่อาจเป็นการยกระดับทางจิตวิญญาณครั้งใหญ่ เขาพร้อมจะทิ้งทุกสิ่งไว้เบื้องหลังและอาจไม่กลับมาอีกเลยถ้าคำสอนของมหาริชีมหัศจรรย์จริง ส่วนผมคิดในใจว่าจะให้เวลากับที่นั่นสักเดือน และต่อให้ผมชอบมันผมก็จะกลับมาจัดการอะไร ๆ ในชีวิตตัวเองอยู่ดี” คือคำพูดของพอลเมื่อมองย้อนกลับไป เดอะ บีเทิลส์กลายเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มนักเรียนสมาธิที่มีกันร่วมหกสิบชีวิต บ้างเป็นคนธรรมดา บ้านเป็นคนดัง บ้างเป็นเพื่อนเก่าที่คุ้นหน้าในแวดวงบันเทิง พวกเขาเรียนสมาธิเข้มข้นเมื่อกลางวัน และนอนหลับพักผ่อนในอาศรมหลังต่าง ๆ เมื่อกลางคืน ส่วนมหาริชีอาศัยในอาศรมอีกหลังที่ตั้งเด่นอยู่ริมเขา   สูญสิ้นศรัทธาในอาศรม มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในสถานที่แห่งนั้น และช่วงเวลาไม่สั้นไม่ยาวที่พวกเขาเล่าเรียน - ริงโก สตาร์ และภรรยาละอาศรมหลังน้อยหลังจากใช้เวลาที่นั่นได้ราวสองสัปดาห์ พวกเขาไม่อาจอยู่นานกว่านั้นได้เพราะคิดถึงลูก ๆ ที่รออยู่ที่บ้าน, พอล แม็กคาร์ตนีย์และภรรยาอยู่ที่นั่นเดือนกว่าก่อนจะตัดสินใจบอกลาเพื่อกลับไปลอนดอน ดูแลความเป็นไปของค่ายเพลง ‘Apple’ ที่ใกล้ฤกษ์เปิดตัว ส่วนจอห์นและจอร์จอยู่นานกว่าใครเพื่อน และเหตุผลที่พวกเขาตัดสินใจกลับบ้านไม่ใช่เพราะชีวิตส่วนตัวหรือหน้าที่การงาน แต่เป็นความเคลือบแคลงในใจพฤติกรรมของมหาริชีเอง ตามคำบอกเล่าของซินเธีย เลนนอน ภรรยาของจอห์นในขณะนั้น สองเต่าทองที่เหลือเชื่อข่าวลือจากปาก ‘เมจิก อเล็กซ์’ เพื่อนร่วมค่ายที่ซุบซิบว่าเขาเห็นมหาริชีมีความสัมพันธ์ลับ ๆ กับเด็กสาวชาวอเมริกันในค่ายเล่าเรียน “ฉันแปลกใจที่จอห์นกับจอร์จเชื่อเขา แต่เมื่อได้คุบกับจอห์นในภายหลังถึงได้รู้ว่าจอห์นสิ้นศรัทธาในตัวมหาริชีแล้ว เขาลงความเห็นว่าอาจารย์ท่านนั้นสนใจในชื่อเสียงและเงินมากเกินไป” ซินเธียเล่า   มรดกในบทเพลง แม้ศรัทธาในอาจารย์ผู้เบิกโลกทางจิตวิญญาณให้จะหล่นหาย แต่การบินลัดฟ้าไปต่างบ้านต่างเมืองครั้งนั้นก็ทำให้เดอะ บีเทิลส์ได้แรงบันดาลใจและเรื่องราวมากพอสำหรับบทเพลงมากกว่าหนึ่งอัลบั้ม ผลงานชุด ‘The Beatles’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘อัลบั้มปกขาว’ (The White Album) กลายเป็นสมุดบันทึกช่วงเวลาเหล่านั้นที่โด่งดังไปทั่วโลก The Beatles ล้วนทิ้งแผ่นดินอินเดียไว้เบื้องหลังและออกเดินทางก้าวถัดไป ทว่าไม่ใช่สำหรับจอร์จ แฮริสัน - เต่าทองผู้เงียบขรึมยังคงหลงเสน่ห์การบำเพ็ญเพียรแบบอินเดียไม่สร่าง เขายังคงศรัทธาในหลากสิ่งที่มหาริชีเคยสอน ยังคงนับถือพระกฤษณะ และยังคงสร้างเสียงดนตรีร่วมกับระวี แชงการ์ จวบจนความตายได้มารับเขาสู่อ้อมกอดของเทพเจ้าที่เขาศรัทธาในปี 2001 แม้พวกเขาจะไม่ได้ ‘จูงช้างเข้าสตูดิโอ’ อย่างที่ริงโกเคยได้เปรียบเปรยเอาไว้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทเพลงจากรสมือของพวกเขาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าวงดนตรีที่ประกอบไปด้วยสี่ชีวิตวงนี้เขากระหายการทดลองสิ่งใหม่ ๆ มากเพียงใด การมีอยู่ของพวกเขาคล้ายคลึงกับคำที่พอล แม็กคาร์ตนีย์ เคยพูดเอาไว้ “The Beatles ไม่ใช่ผู้นำแห่งยุคสมัย แต่เราคือโฆษก” / The Beatles weren’t the leaders of the generation, but the spokesmen. /   ที่มา: https://www.beatlesbible.com/songs/norwegian-wood-this-bird-has-flown/ https://www.beatlesbible.com/features/india/6/ https://www.livemint.com/Leisure/6ff69IEQkHAxkhssHQjd1L/50-years-of-Beatles-in-India-How-George-Harrison-brought-In.html http://news.bbc.co.uk/2/hi/entertainment/1646729.stm https://www.bbc.com/news/world-asia-india-41276669 https://www.beatlesstory.com/blog/2016/12/21/song-facts-sgt-peppers-lonely-hearts-club-band/