The Chair: ภาพสะท้อนมหาวิทยาลัยในโลกยุคใหม่ เมื่อความสนใจของนักศึกษาไปไกลกว่าในบทเรียน

The Chair: ภาพสะท้อนมหาวิทยาลัยในโลกยุคใหม่ เมื่อความสนใจของนักศึกษาไปไกลกว่าในบทเรียน
“สาเหตุที่พวกเขาไม่สนใจวรรณคดี พวกนักศึกษาคงคิดว่า ฉันจะกวาดตาอ่านกลอนซอนเน็ตไปทำไม ในเมื่อมีเรื่องน่าเป็นห่วงอื่น ๆ อีกตั้งมากมาย โลกร้อน การเหยียดเชื้อชาติ สีผิว ธุรกิจหากำไรจากเรือนจำ การเกลียดคนรักเพศเดียวกัน” ในวันที่ความสนใจของคนรุ่นใหม่ไปไกลกว่าเนื้อหาในบทเรียน บางครั้งหลักสูตรและวิธีการสอนที่ตกทอดมาจากยุคเก่าก่อน อาจไม่ตอบโจทย์สิ่งที่พวกเขา ‘อยากเรียนรู้’ เสมอไป เช่นเดียวกับเรื่องราวใน ‘The Chair’ ซีรีส์ความยาว 6 ตอนของ Netflix ที่บอกเล่าถึงการปรับตัวของภาควิชาภาษาอังกฤษ ในมหาวิทยาลัยเพมโบรค (Pembroke University) ซึ่งประสบปัญหานักศึกษาลงทะเบียนเรียนน้อยจนต้องตัดงบประมาณ โดยมีตัวละครหลักคือ ‘คิมจียุน’ (รับบทโดย Sandra Oh) หัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งแบบสด ๆ ร้อน ๆ  เพียงคิมจียุนก้าวเข้ามาในห้องทำงาน แล้วหย่อนก้นลงบนเก้าอี้ครั้งแรก เก้าอี้ตัวนี้กลับหักจนเธอล้มไม่เป็นท่า ราวกับเป็นนัยว่า เรื่องราวตลกร้ายและเรื่องน่าปวดหัวทุกอย่างกำลังเริ่มต้นขึ้น…  

** บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในเรื่อง The Chair **

The Chair: ภาพสะท้อนมหาวิทยาลัยในโลกยุคใหม่ เมื่อความสนใจของนักศึกษาไปไกลกว่าในบทเรียน มหาวิทยาลัยเก่าแก่ในยุคสมัยใหม่  ด่านแรกที่คิมต้องเผชิญ คือการเข้ารับตำแหน่งในช่วงวิกฤตของภาควิชาที่กำลังจะถูกตัดงบประมาณเพราะนักศึกษาลงทะเบียนเรียนน้อย จากนั้นเรื่องราวต่อมาได้ค่อย ๆ เผยให้เห็นปัญหาสะสมและสิ่งที่ภาควิชาแห่งนี้ควรจะมี แต่ ‘ไม่เคยมี’ มาก่อน  ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมทางเพศ อย่างคิมที่เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา หรือ ‘โจน’ อาจารย์ผู้หญิงที่สอนมากว่า 32 ปี พร้อมกับอาจารย์ชายท่านหนึ่งที่มีประสบการณ์เท่ากัน แต่เธอกลับได้รับเงินเดือนต่ำกว่ามาตลอด และมักถูกยัดเยียดให้เป็นเจ้าภาพจัดงานปาร์ตี้สังสรรค์ เพราะถูกตัดสินจากบทบาททางเพศ ถึงอย่างนั้นโจนก็ไม่เคยพูดออกมา จนกระทั่งเธอถูกย้ายให้ไปทำงานในห้องใต้ดิน และรู้ว่ากำลังจะถูกบีบให้เกษียณก่อนกำหนด เธอจึงออกมาเรียกร้องว่า “ฉันคิดว่าจะพูดออกมาเหมือนกัน แต่ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นนังตัวดีคนนั้น ...ฉันปล่อยวางเรื่องงานวิจัยและไม่เคยคิดจะขอตำแหน่งศาสตราจารย์ แต่จะบอกให้นะ นี่คือฟางเส้นสุดท้าย ฉันจะไม่ยอมนั่งนิ่ง” อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เห็นได้จากคิมที่เป็นอาจารย์ชาวเอเชียคนเดียวของภาคภาษาอังกฤษ และ ‘ยาซ’ คนรุ่นใหม่มากความสามารถที่คิมพยายามผลักดันให้เธอได้เป็นอาจารย์ประจำหญิงชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ‘คนแรก’ ในภาควิชาแห่งนี้ แต่กลับถูกกีดกันจากคณบดี  The Chair: ภาพสะท้อนมหาวิทยาลัยในโลกยุคใหม่ เมื่อความสนใจของนักศึกษาไปไกลกว่าในบทเรียน The Chair: ภาพสะท้อนมหาวิทยาลัยในโลกยุคใหม่ เมื่อความสนใจของนักศึกษาไปไกลกว่าในบทเรียน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องวิธีการสอนที่แม้อาจารย์บางคนจะมีศักยภาพสูง แต่การยึดติดกับวิธีการสอนรูปแบบเดิม ทำให้เกิดกำแพงราวกับผู้สอนและผู้เรียนพูดกันคนละภาษา อย่างโจนที่ไม่อ่านแบบประเมินของนักศึกษามาหลายสิบปี โดยให้เหตุผลว่า “ฉันไม่ได้สอนตามความต้องการของผู้บริโภค ฉันไม่อยากได้นักเรียนเยอะ”  หรือตอนที่ยาซเล่าว่าเธอมักจะให้เด็ก ๆ เลือกประโยคที่ชอบในหนังสือมาทวีต แต่อาจารย์ใกล้วัยเกษียณท่านหนึ่งโต้กลับมาว่า นั่นเป็นวิธีการสอนที่ฉาบฉวย หากยาซกลับมองว่า นี่เป็นเพียง ‘วิธีสื่อสาร’ กับคนรุ่นใหม่ที่ทำให้พวกเขาเปิดใจเรียนรู้มากยิ่งขึ้น    เพราะไม่อาจแก้ปัญหา ด้วยการรักษาภาพลักษณ์ ขณะที่คิมลองแก้ปัญหาด้วยการให้อาจารย์ทุกคนอ่านแบบประเมินของนักศึกษา ให้อาจารย์รุ่นบุกเบิกสอนร่วมกับอาจารย์รุ่นใหม่ เพื่อเชื่อมต่อให้พวกเขาเข้าใจกันมากขึ้นแล้วค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนวิธีการสอน โดยไม่บีบให้อาจารย์ในรุ่นเก่าต้องเกษียณก่อนกำหนด  แต่คณบดีกลับไม่สนับสนุนเธอมากนัก ทั้งยังพยายามให้เธอแก้ไขปัญหาตามวิธีการของเขา ยิ่งเห็นได้ชัดเมื่ออาจารย์คนหนึ่งเล่นมุกตลกเกี่ยวกับนาซีจนภาพลักษณ์ของภาควิชาย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม แทนที่จะกลับไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คณบดีและผู้บริหารกลับพยายาม ‘รักษาชื่อเสียง’ ของมหาวิทยาลัยเป็นลำดับแรก ด้วยการร่างคำขอโทษ (ที่ไม่ได้มาจากใจจริง) พยายามไล่อาจารย์เจ้าปัญหาคนนี้ออก และเร่งให้คิมบีบอาจารย์ที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนน้อยให้เกษียณก่อนกำหนด โดยทุกวิธีที่เขาเสนอมานั้น ไม่มีการย้อนกลับไปรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาแต่อย่างใด The Chair: ภาพสะท้อนมหาวิทยาลัยในโลกยุคใหม่ เมื่อความสนใจของนักศึกษาไปไกลกว่าในบทเรียน นอกจากนี้คณบดียังหาอาจารย์คนใหม่ โดยพิจารณาจาก ‘ภาพลักษณ์’ และคนที่ ‘ถูกใจ’ ผู้มีอำนาจ มากกว่า ‘ความสามารถ’ ของอาจารย์คนนั้น และยังคงกีดกันการเข้ามาเป็นอาจารย์ประจำของยาซอยู่เช่นเดิม จนครั้งหนึ่งคิมได้พูดกับคณบดีว่า “คณาจารย์ของเพมโบรคเป็นคนขาว 87 เปอร์เซ็นต์ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา คุณใช้หน้าฉันในโบรชัวร์ชวนคนมาเรียนที่นี่ เราต้องการผู้หญิงหลายเชื้อชาติเพิ่ม” เหตุการณ์เหล่านี้ชวนให้ตั้งคำถามว่า การที่คณบดีให้คิมเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา แท้จริงแล้วคือการมองเห็นวิสัยทัศน์การทำงานของเธอ หรือเป็นการดึงคิมเข้ามาเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของภาควิชาให้ดู ‘มีความหลากหลาย’ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เปิดกว้าง และพยายามให้คิมทำตามสิ่งที่พวกเขาต้องการเช่นเดิม The Chair: ภาพสะท้อนมหาวิทยาลัยในโลกยุคใหม่ เมื่อความสนใจของนักศึกษาไปไกลกว่าในบทเรียน The Chair: ภาพสะท้อนมหาวิทยาลัยในโลกยุคใหม่ เมื่อความสนใจของนักศึกษาไปไกลกว่าในบทเรียน สื่อสารด้วยความจริงใจ  “มหาวิทยาลัยก็เหมือนปราการปกป้องการครองอำนาจของคนขาว นั่นคือบ้านของผู้เป็นใหญ่ ดังนั้น ไม่ว่าเราจะเรียนหรือจะสอนอะไรก็จะกลายเป็นเครื่องมือของผู้เป็นใหญ่ “ผู้หญิงบางคนในสถาบันก็แกล้งทำเป็นพันธมิตร แต่จริง ๆ ไม่ได้ออกแรงอะไรเลย แค่เอาผู้หญิงแอฟริกัน-อเมริกันไม่กี่คนมาบรรยาย หรือเอามาใส่ในแผนการสอน แล้วก็ลูบหลังลูบไหล่ ชมตัวเองว่าแค่นั้นพอแล้ว แค่เพิ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์เข้าไปนิดหน่อย มันไม่พอหรอกนะ” เหล่านี้คือเสียงสะท้อนของนักศึกษาที่พูดกับคิม หลังจากเหตุการณ์เริ่มบานปลาย ซึ่งย้ำเตือนว่า ‘การรักษาชื่อเสียง’ เพียงอย่างเดียว ไม่อาจแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้อย่างแท้จริง เพราะนักศึกษาเหล่านี้ไม่ได้มองเพียงสิ่งที่มหาวิทยาลัยแสดงออกมา อีกทั้งเหตุที่พวกเขาลงทะเบียนเรียนวิชาต่าง ๆ ไม่ใช่เพียงเพราะอาจารย์คนนั้นเป็นเพศไหน เชื้อชาติอะไร หากเป็นวิสัยทัศน์และวิธีการสอนของคณาจารย์ว่าพวกเขา ‘ใส่ใจ’ ผู้เรียนและ ‘จริงใจ’ กับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน มากกว่าภาพที่สื่อสารออกมาเพียงภายนอก เช่นเดียวกับสิ่งที่คิมกล่าวกับคณบดีในตอนท้ายว่า “นั่นคือนักศึกษาของเรา หน้าที่ของเรา ไม่ใช่ต้องหลอก หรือจัดการ หรือบีบให้นักศึกษาเข้าร่องเข้ารอย หน้าที่เราคือเป็นที่หลบภัยจากความงี่เง่าทั้งหลาย พูดตรง ๆ กับพวกเขา… แต่เราดันมานั่งตรงนี้แล้วกังวลเรื่องรายรับของคณะ หรือลำดับล่าสุดในรายงานยูเอสนิวส์แอนด์เวิลด์เนี่ยนะ” ซีรีส์ The Chair จึงเปรียบเสมือนภาพสะท้อนของมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในโลกยุคใหม่ ซึ่งชวนให้เรากลับมาทบทวนถึงนิยามของสถาบันการศึกษา ไปจนถึงการตั้งคำถามถึงการแสดงจุดยืนของสถาบันหลายแห่งที่พยายามสนับสนุนความหลากหลายและการเปิดกว้างทางความคิด ว่าเป็นการเปิดกว้างอย่าง ‘แท้จริง’ หรือเพียงแสดงออกให้คนภายนอกรับรู้เพียงเท่านั้น