read
thought
08 ก.ค. 2564 | 16:09 น.
Shin Godzilla: รัฐกับการจัดการ ‘สาธารณภัย’ ที่มาในรูปแบบ ‘ร่างอวตารของพระเจ้า’
Play
Loading...
/ บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาจากภาพยนตร์เรื่อง Shin Godzilla (2016) /
มันคือสิ่งมีชีวิตที่อยู่เหนือจินตนาการของมนุษย์ เป็นสัตว์ประหลาดเขี้ยวแหลม ผิวหนังแข็งแกร่ง รอบกายเต็มไปด้วยรอยแตกสีแดงราวกับมีลาวาไหลเวียนอยู่ในร่าง พร้อมความสามารถในการปล่อยลำแสงที่มีพลังทำลายล้างเทียบเท่าระเบิดนิวเคลียร์
สิ่งมีชีวิตที่ธรรมชาติส่งมาสั่งสอนมนุษย์ในครั้งนี้ถูกเรียกว่า ‘โกจิระ’ หมายถึง การอวตารของพระเจ้า หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘ก็อดซิลล่า’ (Godzilla)
แน่นอนว่าการที่เราเห็นสัตว์ประหลาดสูง 118.5 เมตร เดินขึ้นจากทะเลเข้ามายังเขตเมืองย่อมหมายถึงความพินาศที่กำลังจะมาเยือน และสุดท้ายการแก้ไขปัญหาก็มักจะตกอยู่ที่อาวุธรุ่นใหม่ล่าสุด เครื่องบินรบ ระเบิด หรือรถถัง
แต่สำหรับภาพยนตร์ก็อดซิลล่าลำดับที่ 31 สร้างโดย ‘Toho Pictures’ สตูดิโอภาพยนตร์ชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นเรื่องนี้ การเล่าเรื่องกลับไม่ได้เน้นไปที่ฉากต่อสู้อันดุเดือด หรือเสียงระเบิดที่ดังสะใจ เพราะสิ่งที่ผู้ชมจะได้เห็นตลอดทั้งเรื่องคือ ‘การเมือง’ ที่ ‘รัฐ’ ใช้จัดการ ‘สาธารณภัย’ ที่มาในรูปแบบก็อดซิลล่า ร่างอวตารที่สะสมพลังงานความโกรธแค้นของธรรมชาติเอาไว้รอคอยวันที่จะระเบิดออกมา
ตัวแทนปัญหาในนามพระเจ้า
จากทฤษฎีก็อดซิลล่าที่ปรากฏในภาพยนตร์เมื่อ 60 ปีก่อน ขยะกัมมันตรังสีถูกทิ้งลงทะเลอย่างไม่ถูกกฎหมาย ทำให้สิ่งมีชีวิตโบราณที่หลับใหลอยู่ใต้ทะเลต้องนอนอยู่ท่ามกลางขยะกัมมันตรังสี เมื่อเป็นเช่นนั้น ธรรมชาติจึงช่วยวิวัฒนาการให้สัตว์ประหลาดดังกล่าวทนทานต่อสารกัมมันตรังสีได้ ทั้งยังมีความสามารถในการเปลี่ยนสารเคมีให้กลายเป็นพลังงานที่จำเป็นต่อร่างกาย และปลดปล่อยความแค้นของธรรมชาติคืนสู่มนุษย์ในรูปแบบลำแสงที่มีพลังทำลายล้างทั้งเมือง
จากทฤษฎีและที่มาที่ไม่แน่ชัด ก็อดซิลล่าจึงถูกตีความอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนของพระเจ้าที่ถูกส่งมาลงทัณฑ์มนุษย์ ความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ หรือแม้กระทั่ง ‘ปัญหา’ ที่เกิดจากความเย่อหยิ่งในมันสมอง และการใช้สติปัญญาไต่เต้าขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของโลก
หากตีความว่าก็อดซิลล่าคือตัวแทนปัญหาที่เกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ มันก็คือปัญหาที่ไม่มีทางแก้ไข ทำได้มากสุดเพียง ‘ป้องกัน’ หรือ ‘ชะลอ’ เช่นเดียวกับวิธีที่ตัวเอกของเรื่องอย่าง ‘รันโด ยางุจิ’ (รับบทโดย ฮิโรกิ ฮาเซงาวะ) รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีใช้รับมือกับก็อดซิลล่าในตอนสุดท้าย
นอกจากการใช้ความรุนแรงต่อกรกับความรุนแรง ให้อเมริกาทิ้งระเบิดอานุภาพทำลายล้างสูงลงในญี่ปุ่นอีกครั้ง ยางุจิเลือกจะใช้การ ‘แช่แข็ง’ ก็อดซิลล่า เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศ และเมื่อเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ ประเทศญี่ปุ่นคือผู้ที่รับรู้ถึงอานุภาพการทำลายล้างของ ‘ระเบิด’ ได้ดีที่สุด เพราะแผลเก่านับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังถูกฝังไว้ที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ รวมถึงความทรงจำของคนญี่ปุ่นเสมอมา ยางุจิจึงหลีกเลี่ยงที่จะทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง
แต่ในโลกแห่งความจริง มนุษย์รู้ดีว่าหลายปัญหาไม่อาจแก้ไขให้สมบูรณ์ได้ ดังนั้น แผน ‘ทำลายแล้วสร้างใหม่’ ถล่มเมืองให้ราบไปพร้อมสัตว์ประหลาด และค่อยฟื้นฟูขึ้นมาทีหลังจึงไม่สามารถใช้ได้ผลทุกครั้ง คงจะเหมือนกับการที่เราไม่สามารถทำให้โลกกลับไปอยู่ในสภาพอากาศที่ดีเหมือนเดิม ไม่สามารถทำให้ภูเขาที่ถูกระเบิดไปงอกขึ้นใหม่ หรือไม่สามารถทำให้สัตว์ที่สูญพันธ์ุฟื้นกลับมา
ยางุจิจึงเป็นตัวแทนมนุษย์ที่ทำได้เพียงชะลอความเสียหายให้เกิดช้าลง ขณะที่ก็อดซิลล่าคือตัวแทนการลงทัณฑ์จากธรรมชาติ และปัญหาเรื้อรังที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาเรื่อย ๆ
“เมื่อโกจิระขยับตัวอีกครั้ง การนับถอยหลังก็จะเริ่มใหม่งั้นสินะ”
คาโยโกะ แพตเทอร์สัน (รับบทโดย ซาโตมิ อิชิฮาระ) ทูตพิเศษของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เอ่ยกับยางุจิหลังจากแช่แข็งปัญหาสำเร็จ
“มันแค่ถูกแช่แข็งเท่านั้น และมันพร้อมจะกลับมาเมื่อไหร่ก็ได้”
ยางุจิคิดว่ามนุษยชาติต้องอยู่ร่วมกับโกจิระให้ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะมันคือปัญหาที่ใหญ่เกินกว่ารัฐใดจะหยุดมันได้อย่างถาวร แต่อย่างน้อยหากมีคนอย่างเขา หรือนักการเมืองที่มีความรับผิดชอบอยู่ในรัฐบาล สังคมย่อมเดินหน้าต่อกรกับปัญหาได้อย่างแน่นอน นั่นจึงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกมองว่าเป็น ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ อยู่กลาย ๆ
ภาพยนตร์ชวนเชื่อของรัฐกับการจัดการสัตว์ประหลาด
เมื่ออยู่ ๆ ก็อดซิลล่าก็มาไม่ทันตั้งตัว แผนการรับมือภัยพิบัติของญี่ปุ่นจึงไม่สามารถใช้การได้ และทุกความกดดันก็พุ่งตรงไปยังผู้นำประเทศอย่างนายกรัฐมนตรี ‘เซจิ โอโคชิ’ (รับบทโดย เรน โอสุกิ)
ด้วยความเป็นประเทศประชาธิปไตย ความปลอดภัยและชีวิตของประชาชนจึงสำคัญอันดับหนึ่ง แต่ด้วยความเป็นประเทศประชาธิปไตย หลายคนจึงมองเห็นข้อเสียของระบบที่ต้องใช้การตัดสินใจจากทุกฝ่าย ซึ่งกินระยะเวลายาวนานในการส่งเรื่องเพื่อให้ผู้นำสูงสุดตัดสินใจ กว่าจะติดต่อจากงานภาคพื้นดินไปถึงฝ่ายบริหารต้องใช้เวลาหลายนาที และทุกครั้งที่จะตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง นายกรัฐมนตรีก็ต้องจัดการประชุมหารือเสียทุกครั้ง กระนั้น ภาพยนตร์ดูเหมือนจะถูกสร้างขึ้นคล้ายโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนมั่นใจในรัฐบาล เพราะทุกฉากทุกตอน ฝ่ายรัฐมักจะตัดสินใจได้ทันท่วงที และปิดท้ายด้วยประโยคเรียกคะแนนนิยมเสมอ
ยกตัวอย่าง นายกรัฐมนตรีที่นั่งอยู่ในห้องประชุมออกคำสั่งยิงก็อดซิลล่าเป็นครั้งแรก เมื่อแน่ใจว่าการอพยพคนออกจากพื้นที่สำเร็จแล้ว แต่เมื่อหน่วยรบบนเฮลิคอปเตอร์กำลังจะลั่นไก เสียงของทหารอีกนายก็ดังขึ้น
“เดี๋ยวก่อน มีประชาชนอยู่ในระยะยิงครับท่าน”
“มีประชาชนอยู่ เรายิงได้ไหมครับ?” ทหารเริ่มต่อสายถึงผู้บัญชาการที่มีตำแหน่งสูงกว่า
“มีประชาชนอยู่ เรายิงได้ไหมครับ?” สายที่ 2
“มีประชาชนอยู่ เรายิงได้ไหมครับ?” สายที่ 3
“มีประชาชนอยู่ เรายิงได้ไหมครับ?” ผู้บัญชาการถามรัฐมนตรี
“ท่านคะ ยิงต่อไหมคะ?” รัฐมนตรีถามนายกรัฐมนตรี
“ยกเลิกการโจมตี ไม่ว่าอย่างไรห้ามทำร้ายประชาชนเด็ดขาด!”
และคำสั่งของนายกรัฐมนตรีก็ถูกส่งลงไปตามขั้นตอนที่ถูกส่งขึ้นมา ในจุดนี้ หลายคนอาจโล่งใจที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งมองเห็นประชาชนสำคัญอันดับหนึ่ง แต่ด้วยความที่ฉากอวยความรักที่รัฐมีให้ประชาชนถูกใส่ไว้อยู่เรื่อย ๆ จึงเป็นที่ง่ายต่อการสังเกต เริ่มตั้งแต่ฉากแรกของการเปิดตัวนายกฯ โอโคชิ เจ้าหน้าที่รายงานอย่างร้อนรนว่าไม่สามารถหาสาเหตุของการที่น้ำรั่วเข้าอุโมงค์อควาไลน์ได้ นายกฯ จึงรีบบอกว่าเรื่องนั้นยังไม่สำคัญ “แต่มีผู้เสียชีวิตไหม?”
หรือจะเป็นฉากที่นายกฯ สั่งโจมตีก็อดซิลล่าอีกครั้ง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องตัดสินใจว่าตัวเองจะอพยพออกจากรัศมีทำลายล้างหรือไม่ “ผมมีหน้าที่อยู่ที่นี่ เฝ้าดูการโจมตีจากตรงนี้ ผมจะทิ้งประชาชน แล้วหนีเอาตัวรอดไม่ได้”
แม้กระทั่งฉากที่นายกฯ พยายามเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนในงานแถลงข่าว โอโคชิได้พูดนอกสคริปว่าก็อดซิลล่าจะไม่ขึ้นบกเด็ดขาด ขอให้สบายใจได้ แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วินาที ก็อดซิลล่าก็คลานขึ้นบกมา ถึงแม้นายกฯ จะหน้าเสีย เขาก็ยังไม่ลืมทิ้งท้ายประโยคเด็ดว่า “นี่ฉันกลายเป็นไอ้ขี้โกหกไปแล้วเหรอ? ฉันต้องพูดให้ประชาชนเชื่อใจได้ แต่เรื่องนี้ช่างมันเถอะ สถานการณ์เป็นยังไงบ้าง?” ก็คงต้องตอบว่าสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต แต่ท่านหล่อมากที่ทิ้งภาพลักษณ์ของตัวเอง และโฟกัสที่งานเป็นอันดับแรกอย่างที่สมควรเกิดขึ้นในชีวิตจริง
ดังนั้น ถึงจะบอกว่าภาพยนตร์ดังกล่าวอวยรัฐบาลจนมองเห็นเป็นโฆษณาชวนเชื่อ แต่การจัดการสาธารณภัยของญี่ปุ่นก็เป็นไปอย่างมีระเบียบ ปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างเร็วที่สุด และมีผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งไม่ต่างจากโลกความเป็นจริง ผิดกับบางประเทศที่ไม่อาจจัดการสาธารณภัยได้อย่างทันท่วงที นำมาซึ่งความสูญเสียทางร่างกายและจิตใจของประชาชน ยังไม่นับความเสียหายด้านเศรษฐกิจ และความน่าเชื่อถือที่ลดลงในสายตาต่างประเทศ
เมื่อภาพยนตร์ความยาวเกือบ 2 ชั่วโมง ดำเนินเรื่องโดยนักการเมือง และมีรัฐบาลเป็นตัวเอก นอกจากคุณงามความดีของรัฐ เราจึงมีเวลาอยู่กับด้านมืดของการเมืองญี่ปุ่นจนเห็นถึงเรื่องผลประโยชน์ ระบบอุปถัมภ์ การแทรกแซง การสืบทอดอำนาจ ไปจนถึงวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ของญี่ปุ่นได้อย่างเต็มที่เช่นกัน
วัฒนธรรมญี่ปุ่นในหนังไซไฟ
ขณะที่ที่ประชุมคณะนายกรัฐมนตรีกำลังระดมความคิดว่า จะฆ่าก็อดซิลล่า เก็บไว้ศึกษา หรือไล่ลงทะเลดี ชายคนหนึ่งก็เริ่มเสนอทางออกโดยการให้ยิงตอร์ปิโดใส่สัตว์ประหลาดจำนวน 2 ลูก
“แต่ว่าการใช้อาวุธที่อ่าวจะต้องพิจารณาอย่างถ้วนถี่นะคะท่าน” เสียงของหญิงสาว ‘เพียงคนเดียว’ ท่ามกลางผู้ชายกว่า 60 คนดังขึ้น เธอคือ ‘เรโกะ ฮานาโมริ’ (รับบทโดย คิมิโกะ โย) รัฐมนตรีหญิงหนึ่งเดียวที่คอยปรามเรื่องการใช้ความรุนแรงที่จะกระทบต่อประชาชน แต่นั่นก็ไม่ใช่เพียงครั้งเดียวที่เธอต้องยกความปลอดภัยขึ้นมาเอ่ยถึง
“ผมว่าเราต้องกำจัดมันเดี๋ยวนี้เลย” นี่ก็เป็นอีกครั้งที่ชายคนหนึ่งเสนอในที่ประชุม เมื่ออาคารบ้านเรือนเริ่มถูกก็อดซิลล่าทำลายมากขึ้น
“ที่นั่นประชากรหนาแน่น เราต้องอพยพพวกเขาออกมาก่อนนะ” แม้ฮานาโมริจะให้ความสำคัญเรื่องชีวิตของประชาชนมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่คาแรคเตอร์ของเธอก็ไม่ได้แบนราบตลอดทั้งเรื่อง เพราะเมื่อถึงเวลาที่ต้องโจมตี เธอก็สนับสนุนกองทัพเต็มที่เช่นเดียวกัน แต่ด้วยวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ของญี่ปุ่น ทำให้บทบาทของผู้หญิงค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบริหารที่ถูกฝากความหวังไว้กับผู้ชาย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของลำดับขั้น หรือตำแหน่งที่เข้ามามีส่วนในการให้พื้นที่พูดคุยเกี่ยวกับประเด็นสำคัญ พูดง่าย ๆ ว่า ตำแหน่งสูงก็ย่อมมีอภิสิทธิ์ที่มากขึ้น
กระนั้น ยางุจิและตัวละครหญิงอีก 2 คนคือ คาโยโกะ แพตเทอร์สัน และ ‘ฮิโรมิ โองาชิระ’ (รับบทโดย มิกาโกะ อิจิกาวะ) ก็เปรียบได้กับตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่เข้ามามีบทบาท และพยายามเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเมืองชายเป็นใหญ่ทีละน้อย
“เราจะทำงานอย่างไม่แบ่งชั้นตำแหน่ง ลืมเรื่องอาวุโสไปได้เลย คิดอย่างไร ขอให้พูดออกมาอย่างนั้น”
ยางุจิบอกกับทีมงาน เพราะเล็งเห็นว่า ‘ความสามารถ’ ต่างหากที่สำคัญที่สุดในการระดมสมองเพื่อแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกับก่อนหน้าที่เขาจะเรียกโองาชิระเข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลก็อดซิลล่า ผู้ช่วยของยางุจิบอกว่า โองาชิระเป็นรุ่นพี่ที่เก่งมาก และทำงานอยู่ในกระทรวงสิ่งแวดล้อม แต่ยศของเธอไม่สูง นั่นทำให้ยางุจิต้องรีบบอกเขาว่า “ช่างยศมันเถอะน่า เรียกเธอเข้ามาเลย”
หลังจากนั้นยางุจิก็ใช้ความก้าวหน้าทางความคิดของเขารวบรวมคนเก่งเข้าทีมมากมายจนสามารถแช่แข็งก็อดซิลล่าได้สำเร็จ แต่นั่นก็ต้องขอบคุณระบบเส้นสายและผลประโยชน์ที่ทำให้เขาทำงานได้สะดวกด้วย เพราะคาโยโกะก็มาพร้อมข้อมูลต่อรอง (และแทรกแซง) จากอเมริกา ส่วน ‘ยูสุเกะ ชิมูระ’ (รับบทโดย เคนโกะ โคระ) ผู้ช่วยของยางุจิก็ใช้เส้นสายกับนักข่าวเพื่อล้วงข้อมูล ซึ่งนักข่าวคนนั้นก็ขอแลกกับการตีพิมพ์ข่าวเป็นเจ้าแรก หรือแม้กระทั่งตัวยางุจิเองก็เป็นเด็กเส้นที่ได้เข้ามาทำงานการเมืองเช่นเดียวกัน
ประเด็น ‘คอนเนกชัน’ ระบบอุปถัมภ์ และการใช้เส้นสายจึงกลายเป็นเรื่องเทา ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่น รวมถึงทุกสังคมทั่วโลก เพราะสิ่งเหล่านี้ดูจะวนเวียนอยู่ในชีวิตของทุกคนอย่างไม่จบสิ้น คำถามต่อมาคือ แล้วเราจะโชคดีต่อไปอีกนานแค่ไหนที่จะได้คนเก่งมาบริหารประเทศจากทางลัด หากไม่มีการแก้ไขระบบให้ได้คนเก่งเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ต้องเร่งคิดกันต่อไป เพราะถ้าโชคร้าย ระบบอุปถัมภ์ดังกล่าวอาจนำมาซึ่งความวินาศสันตะโรดังที่ปรากฏให้เห็นแล้วในบางประเทศ
จากภาพยนตร์เรื่อง Shin Godzilla ก็ไม่แน่ว่าก็อดซิลล่าอาจไม่ใช่สาธารณภัยเพียงอย่างเดียวที่โลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ เพราะในอีกแง่หนึ่ง การเมืองที่มองแต่ผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ของสาธารณชนย่อมถือเป็นสาธารณภัยที่น่ากลัวยิ่งกว่าสัตว์ประหลาด และมันคงจะน่ากลัวขึ้นไปอีก หากในบางประเทศดันมีรัฐบาลที่เป็นสาธารณภัยเสียเอง
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี
อ้างอิง:
ภาพยนตร์เรื่อง Shin Godzilla (2016) ออกฉายทาง Disney+ Hotstar
ภาพ:
https://www.youtube.com/watch?v=3qX1ZU3jcfU
https://www.youtube.com/watch?v=gTJbOIfZFFo
https://www.youtube.com/watch?v=b6CJnBmsxRg
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3428
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6916
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
787
แท็กที่เกี่ยวข้อง
The People
Thought
Disney Plus Hotstar
ก็อดซิลล่า
Shin Godzilla