มัจฉา พรอินทร์: “ข่อยเป็นเฟมินิสต์..ต่อสู้กับการกดขี่จากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่”

มัจฉา พรอินทร์: “ข่อยเป็นเฟมินิสต์..ต่อสู้กับการกดขี่จากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่”

เจี๊ยบ - มัจฉา พรอินทร์ เรื่องราวของผู้หญิงที่นิยามตัวเองเป็น ลาว-อีสาน, เลสเบี้ยน, เฟมินิสต์, ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เธอช่วยเหลือกลุ่มคนหลากหลายแบบ ตั้งแต่ชนกลุ่มน้อย เยาวชน สตรี ถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศ มายาวนานกว่า 15 ปี

“ข่อยเป็นเฟมินิสต์ หมายถึงคนที่ต่อสู้กับการกดขี่จากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่”

สำเนียงอีสานของมัจฉา พรอินทร์ หรือ ‘เจี๊ยบ’ สำหรับคนทำงานเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียม คงจะคุ้นชินกับเธอ

เราจึงขอเล่าเรื่องของเธอโดยคงสำเนียงคุ้นชินนี้ไว้

มัจฉา พรอินทร์ มักจะนิยามตัวเองว่า เธอคือ ลาว-อีสาน เลสเบี้ยน เฟมินิสต์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มัจฉามีประสบการณ์ทำงานช่วยเหลือกลุ่มเยาวชน, ผู้หญิง, กลุ่มคนชายขอบ, ผู้มีความหลากหลายทางเพศ, ชนกลุ่มน้อยและชาวพื้นเมือง, ผู้อพยพบริเวณชายเเดนไทย-พม่า, แรงงานต่างชาติ และผู้พิการ เธอทำงานด้านนี้มากว่า 15 ปี

“กลุ่มเป้าหมายที่องค์กรของเฮาซอยเหลือมีมิติของปัญหาที่ทับซ้อนหลายซั้น ซั้นแรก ซุมเพิ่นเป็นซุมที่มีควมเป็นแม่ญิ๋งละก่ะเป็นแม่ญิ๋งที่มีควมหลากหลายทางเพศ ซั้นสอง ซุมเพิ่นเป็นเยาวซน เป็นเด็กน้อย และซั้นสาม การที่ชุมชนตั้งอยู่ซายแดน ส่งผลให้ถูกหลงลืม เข้าบ่ถึงกฎหมาย การปกป้องคุ้มครอง ถ้าอายุเกิน 30-40 ปี เพิ่นเว่าไทบ่ได้ กะเลยเฮดให่บางคนบ่มีสัญชาติ บางคนมีสถานะบุคคล เพราะเพิ่นมีฮอดเอกสารประจำโตใด ๆ เลย”

พื้นที่ทำงานหลักของ #องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน องค์กรที่มัจฉาก่อตั้งและเป็นกรรมการบริหารนั้น อยู่บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน ชายแดนไทย-พม่า ซึ่งประสบปัญหาภัยธรรมชาติต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น ปัญหาไฟป่า ดินโคลนถล่ม และยังคงมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ อยู่จนถึงปัจจุบัน

“การถูกแบ่งแยก กีดกัน เลือกปฏิบัติและก่ะการเฮดให้เป็นซายขอบ ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายที่เฮาเฮดงานนำนี่บ่สามารถแสดงออก บ่ถูกจดจำ recognize โดยรัฐบาล กะเลยส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิ์ การเลือกปฏิบัติ และกะบ่ได่รับควมเป็นธรรมอีหยังเลยจากบ้านนี่เมืองนี่”

องค์กรของเธอนอกจากจะจัดอบรมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน และจัดกิจกรรมเสริมสร้างกำลังใจให้แก่เยาวชนและผู้หญิงกว่า 3,000 คนแล้ว ยังจัดหาทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนอีกด้วย เยาวชนเกือบ 60 คนที่ได้รับทุนนี้ จบจากหลายมหาวิทยาลัยแล้วกลับมาทำงานพัฒนาพื้นที่ที่ตนเติบโต

มัจฉา พรอินทร์: “ข่อยเป็นเฟมินิสต์..ต่อสู้กับการกดขี่จากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่”

แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ชีวิต

“พอเฮามีความเป็นซายขอบ หมู่กะสิล้อเลียน
ถืกล้อเลียน เฮ็ดให้เฮาฮู้สึกว่าบ่มีคุณค่า”

มัจฉาเป็นคนจังหวัดอุบลฯ เป็นลูกแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวยากจน และเป็นผู้หญิง มัจฉาเคยประสบกับความรุนแรงทางเพศ ถูกคนดูถูกอัตลักษณ์ของเธอมากมายหลายอย่าง แม่ของเธอในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยวก็ถูกสังคมกีดกัน แม้แต่สำเนียงพูดที่ไม่ใช่ไทยกลางก็เป็นเรื่องผิด ครูในโรงเรียนอีสานมักจะห้ามพูดภาษาถิ่นในชั้นเรียน มีน้องที่เธอรู้จักคนหนึ่ง ถูกครูตบปากจนเลือดไหลเพราะเหตุนั้น

เมื่อโตขึ้น เธอก็เกือบจะไม่ได้เรียนหนังสือเพราะครอบครัวไม่มีเงินพอจ่ายค่าเทอม เมื่อได้ทุนการศึกษามาเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มัจฉายังคงต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในฐานะชนกลุ่มน้อยที่เป็นเลสเบี้ยน การที่เธอผ่านปัญหามาด้วยตนเอง ทำให้ยิ่งศึกษา เธอก็ยิ่งมีความเข้าใจประเด็นความไม่เท่าเทียมในหลายมิติอย่างลึกซึ้ง จึงเกิดแรงบันดาลใจเริ่มทำกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน

มัจฉา พรอินทร์: “ข่อยเป็นเฟมินิสต์..ต่อสู้กับการกดขี่จากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่”

ประสบการณ์การทำงานกับนานาชาติ

นอกจากการเคลื่อนไหวภายในประเทศ มัจฉายังมีโอกาสร่วมงานกับองค์กรนานาชาติทั้งในระดับเอเชียและระดับโลกมากมาย เช่น คณะกรรมการบริหาร องค์กรไอเฟด (IFED - International Family Equity Day) องค์กรระดับโลกที่ทำงานรณรงค์สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ, นายกสมาคม APWLD-Asia-Pacific Forum on Women, Law and Development, ประธานมูลนิธิ อิลก้า (ILGA Foundation) องค์กรเครือข่าย LGBTIQ ในภูมิภาคเอเชีย

โครงการระดับโลกในไทยหลายโครงการ เช่น One Billion Rising, Stop Bullying in the School และ Purple My School ล้วนแล้วแต่มีเธอเป็นผู้ริเริ่มอยู่เบื้องหลังไปจนถึงประสบการณ์ 4 ปีในฐานะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรสหประชาชาติ นั้นทำให้เห็นว่าประสบการณ์ในสนามในการขับเคลื่อนวาระนี้ของเธอนั้นเข้มแข็งเพียงใด

ครอบครัวสีรุ้ง

นอกจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว ครอบครัวเล็ก ๆ ของมัจฉาก็เป็นครอบครัวเลสเบี้ยนตัวอย่าง บ้านของมัจฉาประกอบด้วย แม่-แม่-ลูก ลูกสาวของเธอ ศิริวรรณ พรอินทร์ กำลังเติบโตงอกงามในฐานะนักสิทธิมนุษยชนเด็กผู้หญิง รณรงค์สิทธิเด็กในครอบครัวสีรุ้ง และยุติความรุนแรงต่อเด็กหญิงและเยาวชนหลากหลายทางเพศในสถานศึกษา

มี Rainbow Family อยู่หลายครอบครัวในสังคมไทย แต่พวกเขามักจะปิดสถานะของตนเป็นความลับ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูก ๆ ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน สำหรับครอบครัวของมัจฉา การเปิดว่าเป็นครอบครัวเพศหลากหลายในชุมชนนั้น มีทั้งคนที่ยอมรับได้ และมีคนที่ยอมรับไม่ได้

ปีที่แล้วนี้เอง บริเวณรอบบ้านของมัจฉาเกิดเหตุไฟไหม้บริเวณรอบบ้านมากกว่า  5 ครั้งในระยะเวลา 10 วัน คาดว่าเป็นการวางเพลิงโดยคนบางกลุ่มที่ต้องการทำให้เธอและครอบครัวหวาดกลัวและย้ายออกไปจากพื้นที่

แต่ครอบครัวพรอินทร์ไม่เคยกลัว

เดือนกันยายนที่ผ่านมา ลูกสาวที่มีคุณแม่สองคนคนนี้ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเด็กหญิงยุวทูตระดับเอเชีย ในโครงการ Asian Girl Award ในขณะที่เธออายุเพียง 15 ปี

มัจฉา พรอินทร์: “ข่อยเป็นเฟมินิสต์..ต่อสู้กับการกดขี่จากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่”

สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเฟมินิสต์ในประเทศไทย

“คันสังคมยังพัฒนาไปข้างหน้าได้ซำนี่ ในระดับโลกเรื่องมิติความเป็นธรรมทางเพศ เฮาต้องใช้เวลาอีก 100 ปี จั่งซิเท่าเทียม”

นอกจากการขับเคลื่อนสิทธิกลุ่มคนชายขอบแล้ว มัจฉายังเป็นผู้อำนวยการหลักสูตร “School of Feminist” เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของเธอร่วมกับเฟมินิสต์คนอื่น ๆ ให้แก่คนรุ่นใหม่ที่สนใจในประเด็นนี้

มัจฉายังกล่าวถึงความเชื่อมโยงของรัฐบาลทหารกับปัญหาความไม่เท่าเทียมไว้อย่างน่าสนใจว่า ระบอบทหารนั้นคือระบอบที่นำโดยผู้ชาย และตอกย้ำสังคมปิตาธิปไตย วินาทีที่ทหารครองอำนาจ งบประมาณก็ถูกย้ายเอาไปใช้จ่ายกับอาวุธ เรือดำน้ำ เงินที่ควรจะไปลงกับการศึกษา สาธารณสุข หรือพัฒนาสังคมที่ผู้หญิงจะได้รับประโยชน์จากมัน - ก็หมดไปจากระบบ

ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน มัจฉาเป็นหนึ่งในกลุ่มเคลื่อนไหวสนับสนุน Young  Pride Club เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ สมรสเท่าเทียม ทำให้ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศแรก ๆ ในเอเชียที่เพศหลากหลายสมรสได้อย่างเท่าเทียมไม่แบ่งแยก ไม่ใช่เพียง ‘กฎหมายเฉพาะกลุ่ม’ อย่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่ตอกย้ำการแบ่งแยก กีดกัน และสร้างการเป็นพลเมืองชั้นสองให้กับชุมชน LGBTIQ

อ้างอิง:

https://asiapacific.unwomen.org/en/news-and-events/stories/2018/07/take-five-matcha-phorn-in 

https://internationalfamilyequalityday.org/matcha-phorn-in/
https://www.42d.org/2020/08/19/engage-empower-create-opportunities/


https://www.lovemakesafamily.fr/en/matcha-phorn-in-a-thai-lesbian-mother-and-human-right-educator-who-is-really-out-and-proud/

https://www.thaienquirer.com/9218/international-womens-day-is-a-cause-for-celebration-but-many-challenges-remain-in-thailand/

https://humanrightsinasean.info/news/thailand-leads-on-same-sex-unions-so-why-the-lgbt-complaints/

https://www.thaiconsent.in.th/project/sofs/ 

https://isaanrecord.com/2019/12/22/isaan-marriage-migration/

เรื่อง: จอมเทียน จันสมรัก
ภาพ: จุลดิศ อ่อนละมุน