ตำรวจมืออาชีพ ไม่ใช่อาชีพตำรวจ ส.ต.ท.ชิษณุพงษ์ บุญเกิดสุขเจริญ ผบ.หมู่งานศูนย์ควบคุมจราจรด่วน 1

ตำรวจมืออาชีพ ไม่ใช่อาชีพตำรวจ ส.ต.ท.ชิษณุพงษ์ บุญเกิดสุขเจริญ ผบ.หมู่งานศูนย์ควบคุมจราจรด่วน 1
“ผมไม่เคยชอบตำรวจเลยครับ” มันคงเป็นความรู้สึกที่ไม่ต่างจากคนทั่วไปที่เคยพบเจอประสบการณ์แย่ ๆ กับบรรดา “ตำรวจนอกแถว” ที่ทำตัวไม่ต่างจาก “มาเฟียในเครื่องแบบ” จนกระทั่งตัวเองได้สวมเครื่องแบบนั่นแหละ ถึงรู้ว่าคนเป็นตำรวจ "ไม่ง่าย" ยิ่งกับ “ตำรวจจราจร” ด้วยแล้วล่ะก็... “โผล่มาโบกรถเลยก็เสี่ยงจะถูกชนเอา ตั้งด่านก็เกะกะกีดขวางการจราจร โดนด่าทั้งขึ้นทั้งล่องแหละครับ” ส.ต.ท.ชิษณุพงษ์ บุญเกิดสุขเจริญ ผบ.หมู่งานศูนย์ควบคุมจราจรด่วน 1 มีหน้าที่รับผิดชอบการจราจรบริเวณทางด่วนบางนา และทางด่วนดาวคะนอง ยืนยันว่า งานดูแลการจราจรบนทางด่วน หรือทางปกติแทบไม่มีอะไรต่างกัน อย่างตัวเขาเองมีหน้าที่รับผิดชอบหลัก ๆ อยู่ 2 ส่วน คือ การตรวจดูทะเบียนใบสั่ง และงานด่านแอลกอฮอล์ งานใบสั่งที่สำคัญคือการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องของรถที่ทำผิดกฎจราจรก่อนจะส่งใบสั่งหาผู้ขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นรูปพรรณสันฐานของตัวรถ หรือทะเบียนรถ ที่แต่ละวันมีมาให้นั่งตรวจนั่งดูกันไม่ต่ำกว่า 100 กรณี ส่วนการตั้งด่านก็อีกเรื่อง เพราะถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในสนามจริง สำหรับคนนั่งอยู่หลังพวงมาลัยที่จ่ายเงินตรงช่องเก็บเงิน แล้วมาเจอกรวยด่านตรวจ อาจจะดูเป็นของง่าย ๆ ไม่มีอะไร บางคนออกจะรำคาญเสียด้วยซ้ำ แต่ถ้าถามคนตั้งกรวยอย่างเขา มันมีรายละเอียดมากกว่านั้นเยอะ ตั้งแต่หัวค่ำไปจนค่อนคืน กวดขันการจราจรใต้แสงไฟ ดูแลความเรียบร้อย และความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะในรายที่ดื่มแล้วขับ ที่มักโดนคำถามใส่หน้าบ่อย ๆ ว่าทำไมต้องขึงขังใส่กันด้วย “เรื่องเมา-ไม่เมาจริง ๆ มันไม่ได้มีปัญหาหรอกครับ มันเป็นการออกมาปกป้องตัวคนขับเอง และคนอื่น ๆ บนถนนด้วย คิดง่าย ๆ ว่า ถ้าลองคนเมาสักคนขับรถไปชนใครสักคนขึ้นมาเขาจะรู้สึกอย่างไร ถ้าพวกคุณกวดขันกว่านี้ ก็คงไม่เกิดเรื่องราวร้าย ๆ แบบนี้ขึ้นหรอก แต่พอเจอด่านตรวจ ทำไมต้องเข้มงวดกันขนาดนี้ด้วย รังแกประชาชน เราก็มีแต่โดนด่านำมาก่อนแล้ว” ยิ่งในวันที่ความรู้และเทคโนโลยีเดินทางถึงในมือทุกคน แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และตรงไปตรงมาเท่านั้น ถึงจะเป็นเกราะป้องกันความดราม่าบนโซเชียลมีเดียได้ดีที่สุด ประสบการณ์บนถนนกลางคืนสอนมาแบบนั้น “อย่าง พรบ.รถยนต์ หากไม่เข้มงวดให้ดี ปล่อยปละละเลยให้ขับรถยนต์ไฟหน้าเสียข้างหนึ่งบนถนนตอนกลางคืน มันก็เสี่ยงที่เขาจะถูกเลนสวนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นมอเตอร์ไซค์ หรือคนข้ามถนนที่ไม่อยู่ในรัศมีไฟส่องถึง เรื่องเหล่านี้มันก็เกี่ยวกับการป้องกันบุคคลที่ 3 ด้วย” ถึงจะเป็นตำรวจรุ่นใหม่ แต่ประสบการณ์งานจราจร 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้เขาเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับผู้คนบนท้องถนนพอสมควร โดยเฉพาะในบทบาทหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฏร์ เรียกว่าเป็นงานที่เชื่อมโยงทุกความผูกพันกับผู้คนทั้งทางตรงและทางอ้อม “ถ้ารถไม่ติดจะมายืนจัดการจราจรทำไม เวลาที่มีตำรวจจราจรโผล่มาอยู่กลางถนน ยิ่งบนทางด่วนด้วยแล้ว แสดงว่ามันต้องมีปัญหาบนถนนช่วงไหนสักแห่ง ยิ่งบนทางด่วน ไม่มีสัญญาณไฟจราจร ก็ต้องพวกผมนี่แหละครับไปคอยดูแล ไปคอยจัดการให้” “เคยมีคนท้องต้องรีบไปโรงพยาบาลในชั่วโมงเร่งด่วน เราพยายามรีบตัดทางให้ บางคนไม่เข้าใจ เปิดกระจกตะโกนด่าออกมาจากในรถเลยก็มี ต้องยอมรับว่างานในสภาวะที่กดดันอย่างนี้ นอกจากจะต้องคอยควบคุมอารมณ์ตัวเองแล้ว เรายังต้องบริหารอารมณ์ผู้ใช้รถใช้ถนนในตอนนั้นด้วย ขึ้นชื่อว่าตำรวจคงไม่มีใครอยากยิ้มให้สักเท่าไหร่หรอกครับ คนที่เข้ามาหาเราก็ไม่ต่างจากมาหาหมอเลย คือ ไม่มีเรื่องไม่มาหรอก ตั้งแต่ของหาย รถชน วิ่งราว รถเสีย มีเรื่องอะไรต่าง ๆ บนถนน ก็พวกผมก่อนนั่นแหละ” ไม่ว่าจะกำกับดูแล กวดขันวินัย อำนวยความสะดวก หรือให้คำแนะนำ ล้วนเป็นสิ่งที่เขาตั้งใจทำมาตลอด ตั้งแต่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาสวมเครื่องแบบตรงนี้ จิตสำนึกของการเป็นเจ้าหน้าที่ที่จะต้องช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งประทับอยู่ข้างในตัวเองมาตลอด ไม่เลือกสถานการณ์ เวลา สถานที่ หรือกระทั่งสภาพอากาศ “มันไม่ใช่ข้ออ้างในการไม่ดูแลประชาชนครับ” แม้แต่การเป็นตำรวจจราจรที่อาจจะถูกจัดลำดับขั้นในสายตาของบางคน นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างอีกเหมือนกันในการปฏิบัติหน้าที่ตำรวจ “ถามว่าจราจรไปนั่งกินข้าว แล้วเจอคนวิ่งราว แล้วจะไม่จับเพราะไม่ใช่หน้าที่เหรอ หน้าที่ของเรามันมีเท่ากันตั้งแต่สวมอาชีพเป็นตำรวจแล้วล่ะครับ ยังไงก็จับได้ตามกฎหมาย” ความเป็นมืออาชีพในวิชาชีพของตำรวจไม่ได้เพาะบ่มมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือหลักสูตรฝึกอบรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นส่วนผสมที่มีอยู่ในตัวเองเป็นต้นทุนอีกด้วย “ผมไม่เคยชอบตำรวจเลยครับ” เขายอมรับตามตรงถึงความรู้สึกก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งเพราะประสบการณ์แย่ ๆ กับเหล่านักเลงสวมเครื่องแบบเมื่อสมัยเรียน แต่เมื่อชีวิตเดินมาถึงจุดที่ต้องหาทางเลือก นอกจากความมั่นคงในอาชีพราชการที่จะการันตีการดูแลแม่ที่เลี้ยงดูเขากับน้อง ๆ มาตั้งแต่เด็กหลังจากแยกทางกับพ่อ และเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้เดินทางตามความฝันของตัวเอง “การเป็นตำรวจให้คนรัก” เป็นความตั้งใจที่ตัวเขาในฐานะน้องใหม่ของวงการสีกากี อยากจะทำให้เห็น “อยากจะเป็นตำรวจที่ช่วยสร้างทัศนคติที่ดีให้กับสังคมเพื่อทำให้คนมองตำรวจด้วยความเข้าใจมากขึ้น ก็พยายามทำหน้าที่ให้คนรัก ดีกว่าให้คนเกลียด ทำให้เป็นตำรวจมืออาชีพ ดีกว่าเป็นแค่คนในเครื่องแบบอาชีพตำรวจ เพราะนี่เป็นสิ่งที่ตัวเราเลือกแล้วที่จะเข้ามาเพื่อบริการ และทำหน้าที่ดูแลประชาชน อยากจะทำสิ่งเหล่านี้ให้ดีที่สุด” แน่นอนว่า ลมใต้ปีกก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เขาบอกว่าโชคดีที่คนข้าง ๆ เข้าใจ ถึงแม้จะมีเสียงบ่นเรื่องการใช้เวลาร่วมกันบ้าง แต่เมื่อความรักก็เหมือนต้นไม้ เขาก็หมั่นรดน้ำพรวนดินอยู่เสมอเพื่อให้ดอกรักต้นนี้เจริญงอกงามเคียงข้างไปกับการทำงานเพื่อส่วนรวม “ก็ช่วยดูแลกันและกันครับ” เจ้าตัวเผยรอยยิ้ม ที่สุดแล้ว ต้องไม่ลืมว่าทุกมุมมองเกิดจากต้นทุนและการสะสม ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นจุดหมายปลายทางของความตั้งใจสำหรับตำรวจจราจรชั้นผู้น้อยคนหนึ่งก็ไม่ต่างกัน ซึ่งเขายืนยันว่า ความมุ่งมั่นนี้จะยังคงอยู่เคียงข้างไปกับความคาดหวังในหน้าที่การงานด้วย เมื่อความแตกต่างระหว่างความเป็น ”มืออาชีพ” กับ “ทำอาชีพ” ห่างกันเพียงเส้นบาง ๆ ความตั้งใจที่แสดงออกมาผ่านการกระทำและวิธีปฏิบัติตัวเท่านั้น ถึงจะบอกเล่าเรื่องนี้ได้ดีที่สุดในการเชื่อมทุกความผูกพันเข้าไว้ด้วยกัน “เป็นตำรวจให้คนรัก ดีกว่าเป็นตำรวจให้คนเกลียดครับ” เขายืนยัน