ครูปู่-ธีระรัตน์ ชูอำนาจ ไม่มีเสียงกระดิ่งเลิกสอนสำหรับครูอาชีพ

ครูปู่-ธีระรัตน์ ชูอำนาจ ไม่มีเสียงกระดิ่งเลิกสอนสำหรับครูอาชีพ
เสียงกระดิ่งดังสนั่นยามเย็นเมื่อถึงเวลาเลิกเรียน สำหรับเด็กนักเรียนวัยซนนั่นเหมือนเป็นเสียงปืนปล่อยตัวให้พวกเขาวิ่งไปเตะฟุตบอลที่สนามหญ้าข้างอาคาร บ้างก็ชวนกันปีนป่ายเครื่องเล่นสีสดสวยในสนามเด็กเล่น เด็กอีกหลายคนต่างรีบไปกอดคนที่ยืนยิ้มรออยู่หน้าประตูโรงเรียน แต่เสียงเดียวกันสำหรับครูอาชีพแล้ว นี่เป็นสัญญาณเริ่มการสอนครั้งใหม่ เพื่อลูกศิษย์ที่เป็นเด็กด้อยโอกาส ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยมีโอกาสได้ยินเสียงกระดิ่งแบบนี้เลยสักครั้งเดียวในชีวิต “ในกรุงเทพฯ มีเด็กด้อยโอกาส และเด็กเร่ร่อนอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในชุมชนแออัด ที่กระจายตัวมากกว่า 2,000 ชุมชน ทุกแห่งเป็นปัญหาของสังคมหมดกลุ่มของเราเข้าไปช่วยดูแลได้เพียงแค่ 4 แห่ง ยังไงก็ไม่เพียงพอกับเด็กในชุมชนที่มีอยู่ทั้งหมด” ธีระรัตน์ ชูอำนาจ หรือ ครูปู่ ของเด็ก ๆ ด้อยโอกาสหลายคน เป็นผู้ก่อตั้งและกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน กลุ่ม ซ.โซ่อาสา กลุ่มอาสาสมัครอิสระที่รวมคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่สนใจ ใส่ใจ ห่วงใยสังคม จากหลากหลายสาขาอาชีพ มาใช้เวลาว่างจากงานประจำในการทำกิจกรรมเพื่อผู้ด้อยโอกาสในสังคม กลุ่ม ซ.โซ่อาสา มีจุดเริ่มต้นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว จากการที่ครูปู่ อดีตครูที่เกษียณอายุแล้ว ได้มาเห็นเด็กเร่ร่อนกลุ่มหนึ่งกำลังดมกาวอยู่ที่บริเวณสนามหลวง “ตอนนั้นประมาณปี 2537 ผมเห็นเด็กดมกาว พอเข้าไปถามเด็กก็วิ่งหนี ตอนหลังเลยเริ่มซื้อพวกน้ำหวานกับขนมไปให้ จนกระทั่งเริ่มคุ้นเคยกัน เด็กก็เปิดใจเล่าชีวิตให้ฟังว่าทำไมถึงได้มาดมกาว เชื่อไหมเกือบร้อยทั้งร้อยหนีออกจากบ้านที่ทารุณโหดร้ายจนอยู่ไม่ได้ กลายเป็นเด็กเร่ร่อนนอนป้ายรถเมล์บ้าง นอนวัดบ้าง ที่น่าตกใจคือบ้านที่เขาหนีมาคือสลัมที่อยู่ไม่ไกลจากแหล่งความเจริญในกรุงเทพฯ นี่แหละ” ด้วยวิญญาณความเป็นครูของครูปู่ที่เคยสอนมาตลอดเกือบยี่สิบปี ทำให้เขาไม่สามารถปล่อยเด็ก ๆ เหล่านี้ไว้ในสภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้ต่อไปได้ เลยพยายามหาหนทางแก้ปัญหา จนสุดท้ายก็ได้คำตอบว่า การแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุดคือ “บ้าน” ที่พวกเด็ก ๆ อาศัยอยู่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง “ผมมีแรงบันดาลใจอยู่สองข้อคือเป็นครูมาก่อน และสองเป็นคนกรุงเทพฯ จริง ๆ กรุงเทพฯ ก็มีคนจนเยอะแยะ แต่มันใกล้ตัวเรามากจนมองไม่เห็น อย่างในสลัม คนคิดแค่ว่าคนจนต้องอยู่ที่บ้านนอก เมืองหลวงเราก็มีเยอะไม่แพ้กัน ปัญหาสังคมเกิดขึ้นที่นี่ ลักเล็กขโมยน้อย ยาเสพติด ก็ที่นี่ทั้งนั้น” ครูปู่ เลยตัดสินใจไปสมัครเป็นครูอาสาสมัครในโครงการของกรุงเทพฯ ภายหลังโครงการนี้ถูกยุบ เขาจึงได้รวมกลุ่มกับคนที่มีแนวคิดเดียวกันเพื่อก่อตั้งเป็นกลุ่ม ซ.โซ่อาสาขึ้นมา จากสามคนในตอนแรก ครูอาสาก็ขยายจำนวนขึ้นมาเรื่อย ๆ มีนักศึกษา และผู้ที่สนใจจากหลายอาชีพเข้ามาช่วยสอน “โซ่หมายถึงห่วง ห่วงแค่สองห่วงจะไม่เป็นโซ่ ห่วงยิ่งยาวยิ่งมีพลัง เหมือนกับครูอาสาสมัครคนสองคนทำไม่ได้ ความหมายของอาสาสมัครคือไม่ใช่หน้าที่ เขาสมัครใจมา โซ่นี้ไม่ได้ทำด้วยโลหะ แต่ทำด้วยใจ ใจที่เป็นห่วงเป็นใยคนอื่น” แม้ระยะหลังจำนวนครูอาสาสมัครจะเพิ่มเป็นจำนวนมาก แต่ครูปู่บอกว่า ยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการของเด็กด้อยโอกาสที่มีอยู่อีกมากตามชุมชนแออัดหลายพันแห่งทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งกลุ่ม ซ.โซ่อาสา อาจไม่สามาถเข้าไปดูแลได้ครบถ้วนทั้งหมด แต่ก็พยายามเป็นโซ่อีกข้อที่เชื่อมระหว่างผู้ให้และผู้รับ โดยการนำของบริจาคที่ได้รับอย่างเช่นอุปกรณ์การเรียนการสอน ไปส่งต่อให้กับชุมชนที่ต้องการ “กลุ่มเป้าหมายที่เราสอนมีอยู่สองกลุ่ม คือเด็กในชุมชนแออัด และเด็กเร่ร่อน เราไม่ได้คาดหวังว่าจะให้ทุกคนเรียนหนังสือจนเก่ง เราเพียงคาดหวังว่าให้เขาเป็นคนดีก็พอ มนุษย์ต้องมองตัวเองมีค่า เขาจะเกิดความภูมิใจ เขาจะคิดในสิ่งที่ดีครับ แค่นี้เอง ความหวังแค่นี้เอง เมื่อจิตใจดีเราจะมองเห็นคนอื่น เมื่อมองคนอื่นแล้วจะกลายเป็นผู้ให้ ผู้แบ่งปันต่อ แล้วสุดท้ายจะกลายเป็นผู้รับที่ได้รับความสุขกลับมา” โซ่ ในที่นี้ยังอาจหมายถึง ปฏิกิริยาลูกโซ่ ที่คอยส่งต่อความดีและความห่วงใยจากจุดเล็ก ๆ ขยายต่อไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายกลับมาช่วยเหลือสังคมตอบแทนกลับไปอย่างไม่รู้จบ โดยมีความดีเป็นสิ่งเชื่อมโยง ซึ่งครูปู่ให้ความเห็นว่า สังคมไทยเริ่มปลูกฝังการมีจิตอาสา ครั้งประเทศเราประสบภัยพิบัติ และคลื่นสึนามิในปี 2547 ที่ทุกคนต่างเต็มใจร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือคนไทยด้วยกันจนหามรุ่งหามค่ำไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพราะตอนนั้นทุกคนต่างมีจิตใจที่เชื่อมทุกความผูกพันระหว่างกัน ที่ผ่านมา กลุ่ม ซ.โซ่อาสา สอนเด็กด้อยโอกาสได้มากกว่าปีละ 1,000 คน รวมเด็กเร่ร่อนอีกหลายร้อยคน ซึ่งเด็กกลุ่มแรก ๆ ที่ได้โอกาสจนสามารถเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ได้กลับมาเป็นห่วงโซ่ที่แข็งแกร่งอีกข้อหนึ่งในการช่วยเหลือน้อง ๆ รุ่นต่อ ๆ ไปที่ยังรอคอยโอกาส นอกจากการสอนเด็กด้อยโอกาสแล้ว ครูปู่เองต้องคอยแก้ไขปัญหาให้กับเด็กกลุ่มนี้ ทั้งกรณีที่เด็กเป็นฝ่ายถูกกระทำ และเป็นฝ่ายกระทำ ซึ่งส่วนใหญ่เด็กที่เคยเป็นฝ่ายถูกกระทำมาก่อนได้ตอบโต้คืน ทำให้ครูปู่ที่ได้คลุกคลีกับเด็กจนพวกเขาไว้ใจ ถูกเรียกตัวในเวลาค่ำคืนอยู่บ่อยครั้ง กรณีที่เด็กเหล่านี้ร้องขอตามกฎหมาย “ตำรวจเรียกตัวมาตอนดึก ๆ ในกรณีที่เด็กร้องขอตามกฎหมาย เวลาเกิดเรื่องเด็กบอกว่าครูไปช่วยหน่อย ผมก็รีบไปช่วย ดึก ๆ ก็ต้องรีบไปทันทีไม่ได้นอน มันช่วยให้เด็กมีกำลังใจ ถึงจะเป็นที่กระทำความผิดแต่เด็กก็ต้องการกำลังใจ เด็กเขาไม่มีโอกาสได้รับการเลี้ยงดู อย่าไปซ้ำเติมพวกเขาเลย อย่าไปตีตรามนุษย์ จริง ๆ เขาแค่เพียงไม่ได้มีโอกาสได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่ดี ไม่มีใครเป็นผู้ที่ส่องสว่างให้เขาเดิน ต้องมองดูเบื้องหลังของพวกเขาด้วยแค่นี้ก็พอแล้ว” บางทีสำหรับครูปู่-ธีระรัตน์ ชูอำนาจ โซ่แห่งความห่วงใย คือตัวคล้องเชื่อมทุกความผูกพัน ทำให้เด็กที่ครั้งหนึ่งเคยพลาดผิด ได้รับรู้ถึงความดีที่ส่งต่อผ่านการให้โอกาส และการสอนให้เห็นถึงด้านดีที่มนุษย์มีให้แก่กัน ที่ผ่านมา ครูปู่ ได้ช่วยให้เด็กถอยห่างจากการดมกาวไปแล้วหลายคน แม้จะช่วยเด็กไม่ได้ทั้งหมดทุกคน แต่เขาเชื่อว่าการทำให้เป็นคนดีต้องใช้เวลา ถ้าเด็กมีปัญหาสิบคนการทำให้กลับมาเป็นคนดีได้แค่คนเดียวก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว “เด็ก ๆ ที่ไม่มีโอกาส ทำไมสังคมไทยที่นับถือศาสนาพุทธถึงไม่ค่อยให้โอกาส อย่างองคุลีมาลกลับตัวได้ก็เพราะพระพุทธเจ้าให้โอกาส เราจงเป็นแสงเทียนให้เขาคนละเล่ม แสงเทียนแห่งศรัทธา ช่วยไม่ให้เขาตกลงไปในเหวก็พอแล้ว” จากประสบการณ์สอนเด็กด้อยโอกาสมานาน ครูปู่บอกว่าปัจจุบันปัญหานี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นทีละน้อย ซึ่งทางกลุ่ม ซ.โซ่อาสา กำลังจะจัดตั้งเป็นมูลนิธิภายในปีนี้ โดยทุกอย่างเกือบพร้อม เหลือแต่เพียงเงินทุนหมุนเวียนที่อาจต้องมีการขายเสื้อเพื่อระดมทุนอีกจำนวนหนึ่ง แม้จะเลยวัยเกษียณอายุมานาน แต่วันนี้ครูปู่ ในวัย 84 ปี นอกจากจะสอนหนังสือเด็กด้อยโอกาสแล้ว บางวันกลับไปยังได้สอนการบ้านเด็กในซอยแถวบ้าน และเคยเป็นอาจารย์พิเศษที่ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกด้วย “มีครูอยู่สองประเภท คือ อาชีพครู ที่จบตรงเกษียณ และ ครูอาชีพ ที่ไม่มีวันเลิกสอนจนกว่าจะตายไปเลย ถ้าเหนื่อยก็หยุดพัก แต่เราท้อไม่ได้ ประเทศไทยยังมีผู้ด้อยโอกาสอีกเยอะ ถ้าเรามองเห็นผู้อื่นสำคัญกว่าตัวเราจะช่วยให้ปัญหาลดน้อยลงได้ เห็นผู้อื่นก่อนมองเห็นตัวเราเอง อยากให้แบ่งเวลามาช่วยเหลือสังคมเพราะหลายคนยังลำบากอีกมาก”