เอเลียด คิปโชเก้: นักวิ่งมาราธอนผู้ทำลายสถิติโลก ที่เชื่อว่าแก่นแท้ของกีฬา ไม่ใช่แค่การรักษาแชมป์

เอเลียด คิปโชเก้: นักวิ่งมาราธอนผู้ทำลายสถิติโลก ที่เชื่อว่าแก่นแท้ของกีฬา ไม่ใช่แค่การรักษาแชมป์
เคยมีคนบอกว่า สิ่งที่ยากกว่าการเป็นแชมป์ คือการรักษาแชมป์ แต่การรักษาแชมป์ไปตลอดกาล คือสิ่งสำคัญที่สุดของการแข่งขันจริงหรือไม่ ?
คำถามนี้ผุดขึ้นมาขณะมองภาพก้าวสุดท้ายสู่เส้นชัยของ ‘เอเลียด คิปโชเก้’ (Eliud Kipchoge) ในโครงการ INEOS 1:59 Challenge ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อปี ค.ศ. 2019 และนักวิ่งชาวเคนยาคนนี้ก็ได้กลายเป็นผู้ทลายขีดจำกัดของมนุษย์ด้วยการวิ่งมาราธอนภายในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง การแข่งขันลอนดอนมาราธอนปีถัดมา คิปโชเก้ไม่ได้ครองอันดับหนึ่ง และทำเวลาไม่ใกล้เคียงกับสถิติเดิมที่เคยทำไว้ แต่เขากลับบอกเพียงว่า “การที่ผมไม่ชนะ มันไม่ใช่จุดจบของโลกนี้สักหน่อย” คำพูดของเขายิ่งทำให้เราสงสัยว่า จุดหมายแท้จริงของนักกีฬานั้นจบอยู่ที่ตรงไหน หากไม่ได้อยู่ที่การรักษาแชมป์ จนกระทั่งเรื่องราวก้าวแรกจนถึงก้าวล่าสุดของเขา ค่อย ๆ เฉลยให้เราเข้าใจแก่นแท้ของการแข่งขันและทุกฝีก้าวที่เขาออกวิ่ง   3กิโลเมตรแรก จากการวิ่งไปโรงเรียน 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1984 คือวันที่ เอเลียด คิปโชเก้ ลืมตาดูโลก ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ ในประเทศเคนยา เขาเริ่มฝึกกำลังขาตั้งแต่วัยเด็กด้วยการนำนมบรรจุแกลลอนใส่รถจักรยานคู่ใจ ปั่นไปขายในตลาด และทุกวันที่ไปโรงเรียน คิปโชเก้จะต้องวิ่งไป-กลับ ครั้งละประมาณ 3 กิโลเมตร  การฝึกวิ่งระยะไกลโดยไม่ได้ตั้งใจของคิปโชเก้ ทำให้เขาเคยชินและเริ่มสนใจกีฬาชนิดนี้ โดยมี ‘แพทริค แซง’ เป็นไอดอลของเขา ก่อนจะกลายมาเป็นโค้ชคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในเวลาต่อมา ปี ค.ศ. 2002 เมื่ออายุ 18 ปี ชีวิตของคิปโชเก้ก็ได้เปลี่ยนไป เมื่อโค้ชแพทริค แซง ได้เริ่มวางแผนการฝึกวิ่งอย่างจริงจังให้กับเขา  คิปโชเก้เริ่มแข่งขันและคว้ารางวัลมากมาย อย่างการวิ่งเบอร์ลินมาราธอน (Berlin Marathon) ด้วยเวลาเพียง 2 ชั่วโมง 3 นาที 34 วินาที เมื่อปี 2017 และกลับมาทำลายสถิติเดิมของตัวเองในเบอร์ลินมาราธอนปี 2018 ด้วยเวลาเพียง 2 ชั่วโมง 1 นาที 39 วินาที  แม้ตอนนี้คิปโชเก้จะทำลายสถิติโลก แต่เขาก็พยายามเอาชนะสถิติเดิมที่ตัวเองทำไว้ในทุก ๆ ปี จนกระทั่งตุลาคม ค.ศ. 2019 คิปโชเก้ก็ทำสำเร็จด้วยการวิ่งมาราธอนในโครงการ INEOS 1:59 Challenge ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ด้วยเวลาเพียง 1 ชั่วโมง 59 นาที 40 วินาที  และนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่มีนักวิ่งมาราธอนในระยะเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง   มาราธอน ใช้ ‘หัวใจ’ ไม่ใช่เพียงสองขา แม้คิปโชเก้จะประสบความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ความน่าสนใจไม่ใช่แค่สองขาที่เขาก้าววิ่ง หากเป็นปรัชญาในทุกย่างก้าวที่เขาค้นพบและถ่ายทอดออกมาทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อ  อย่างในบทสัมภาษณ์บนเว็บไซต์ Firstpost เมื่อสื่อถามถึงนักวิ่งคนอื่น ๆ ที่คิปโชเก้คิดว่าน่าจะมีศักยภาพพอจะวิ่งมาราธอนในช่วงเวลาน้อยกว่า 2 ชั่วโมงได้ แทนที่จะเอ่ยชื่อคู่แข่งคนอื่น ๆ คิปโชเก้กลับตอบว่า “ทุกคนที่เชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ ทุกคนที่เชื่อมั่นในตัวเองและพร้อมที่จะฝึกฝนอย่างมีวินัย” ทุกถ้อยคำที่คิปโชเก้สื่อสารออกมานั้นล้วนสะท้อนให้เห็นความเชื่อที่ว่า การวิ่งมาราธอน นอกจากจะใช้รองเท้า ร่างกาย และการฝึกฝนแล้ว สิ่งที่สำคัญไปยิ่งกว่านั้นคือจิตใจที่เข้มแข็ง และความเชื่ออย่างแรงกล้าในศักยภาพของตัวเอง เมื่อครั้งลงแข่งวิ่งในเวียนนา ในตอนนั้นเขาสวม Nike Alphafly แต่เขากลับปฏิเสธว่ารองเท้า Nike ที่ตัวเองและนักกีฬาคนอื่น ๆ สวมใส่จะเป็นข้อได้เปรียบมากเสียจนทำให้ชนะการแข่งขันได้  “ผมขอบคุณ Nike สำหรับรองเท้าดี ๆ รองเท้าคู่นี้ทำงานได้ยอดเยี่ยมจริง ๆ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ชัยชนะย่อมมาจากตัวคนคนนั้นด้วย คุณรู้ไหมว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์คือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี (conscience) ถ้าคุณไม่เชื่อว่าคุณสามารถวิ่งให้เร็วได้ ต่อให้คุณใช้รองเท้าที่ดีที่สุด คุณก็ทำไม่ได้อยู่ดี”    ความสำเร็จที่ไร้การเฉลิมฉลอง  แม้จะเป็นนักวิ่งที่ทำลายสถิติโลกและฝ่าประวัติศาสตร์ก่อนหน้าที่ไม่เคยมีมนุษย์คนไหนเคยทำมาก่อน แต่คิปโชเก้ก็ยังใช้ชีวิตสมถะอยู่เช่นเดิม “ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” เขากล่าวด้วยรอยยิ้ม เมื่อสื่อถามถึงชีวิตหลังจากคว้าชัยชนะ เขาก็ยังคงเป็นคิปโชเก้คนเดิม ไม่มีการดื่มแชมเปญเฉลิมฉลอง ไม่มีงานใหญ่โตแม้กระทั่งตอนกลับมาที่เคนยา เขายังคงใช้ชีวิตสมถะในค่ายฝึกนักกีฬากว่า 30 ชีวิต ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ ของเคนยาที่ใช้เวลาเดินทาง 24 ชั่วโมงจากประเทศอังกฤษ ด้วยการนั่งเครื่องบิน 3 ครั้ง ต่อด้วยแท็กซี่หลายคัน “ชีวิตที่นี่เรียบง่าย, เรียบง่ายมาก” เขากล่าว “ตื่นเช้าไปวิ่งกลับมา ถ้าเป็นวันทำความสะอาด เราก็ทำความสะอาดหรือแค่พักผ่อน จากนั้นไปกินอาหารกลางวัน นวดตัว วิ่งตอน 4 โมงเย็น ดื่มชายามเย็น พักผ่อน แล้วไปนอน เรียบง่ายอย่างนั้นเลย” นอกจากความสำเร็จที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตรูปแบบเดิมของคิปโชเก้แล้ว ความพ่ายแพ้ก็ไม่สามารถสั่นคลอนหัวใจที่มั่นคงและชีวิตแสนสงบของเขาได้เช่นกัน   'ความพ่ายแพ้' ไม่ได้หมายถึงการเป็น 'ผู้แพ้' เมื่อการแข่งขันลอนดอนมาราธอนในปี ค.ศ. 2020 มาถึง คิปโชเก้ออกวิ่งสู่เส้นชัย โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมง 6 นาที 49 วินาที มากกว่าหลายครั้งที่เขาเคยทำสถิติไว้ ทั้งยังพ่ายแพ้ให้กับชูรา กีตาตา (Shura Kitata) นักวิ่งวัย 24 ปีจากเอธิโอเปียที่ทำเวลาไว้ 2 ชั่วโมง 5 นาที 41 วินาที และนับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งแรกของคิปโชเก้ในรอบเกือบทศวรรษ หากเขากลับบอกว่า “การที่ผมไม่ชนะ มันไม่ใช่จุดจบของโลกนี้สักหน่อย นี่คือกีฬา เราต้องรู้จักโอบกอดตัวเองบ้าง” คิปโชเก้ ไม่ได้พูดประโยคเหล่านี้ด้วยความสิ้นหวัง หรือต้องการปลอบใจตัวเอง แต่มาจากความเข้าใจแก่นแท้ของกีฬาและการแข่งขัน “ผมผิดหวัง แต่นี่คือกีฬา มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามปกติในกีฬา ผมมีอาการหูดับในช่วง 15 กิโลเมตรสุดท้าย พยายามจะกลืนน้ำลายเพื่อให้อาการนี้หายไป พยายามอบอุ่นร่างกาย และให้ความมั่นใจว่าผมจะสามารถทำสำเร็จได้ และทำให้ผู้คนเห็นว่าโลกนี้ยังมีหวัง “ผมเชื่อว่าผมกำลังมอบแรงบันดาลใจให้กับผู้คนบนโลก ในใจของผมไม่ได้รู้สึกว่ามีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้น ผมยินดีกับนักวิ่งที่เข้าเส้นชัยคนแรก ๆ ที่นำความหวังมาสู่ถนนของลอนดอนในช่วงวิกฤตโควิด-19” แม้เขาจะพ่ายแพ้อย่างเข้าใจ แต่ใช่ว่าคิปโชเก้จะยอมแพ้ เขายังคงกลับไปใช้ชีวิตเรียบง่าย ฝึกฝน และออกวิ่งอย่างมีวินัยอย่างเก่า เพื่อเฝ้ารอการแข่งขันในครั้งถัดไป  คิปโชเก้ยังคงเป็นคิปโชเก้คนเดิมตั้งแต่วันแรกที่ออกวิ่ง ไม่ว่าความพ่ายแพ้หรือชัยชนะจะเกิดขึ้นในชีวิตของเขาก็ตาม ชีวิตของคิปโชเก้ทำให้เราเริ่มเข้าใจแล้วว่า สิ่งที่ยากกว่าการเป็นแชมป์ คือการรักษาแชมป์ แต่สิ่งที่ยากและน่านับถือกว่าการรักษาแชมป์ คือความเข้าใจแก่นแท้ของกีฬา นั่นคือ ‘การรู้แพ้ รู้ชนะ และเข้าใจธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลง’  แม้จะเป็นวลีแสนธรรมดาที่หลายคนได้ยินและพูดถึงอยู่บ่อย ๆ แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจสิ่งเหล่านี้อย่างถ่องแท้ ซึ่ง ‘เอเลียด คิปโชเก้’ ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า เขาคือหนึ่งในไม่กี่คนที่ผ่านทั้งการเป็นแชมป์ การรักษาแชมป์ รวมทั้งการเป็นผู้ที่เข้าใจแก่นของกีฬาและการแข่งขันได้อย่างแท้จริง   ที่มา: https://www.globalsportscommunication.nl/athletes/most-successful-athletes/EN11092-Eliud-Kipchoge.aspx https://www.bbc.com/sport/athletics/52354320 https://www.firstpost.com/sports/eliud-kipchoge-interview-its-still-my-legs-that-are-doing-the-running-not-the-shoe-8818321.html https://runningmagazine.ca/bloggers/kipchoges-philosophy-taught-running-life/#:~:text=Kipchoge’s%20philosophy%20in%20life%20is,and%20I%20will%20do%20it.%E2%80%9D  https://www.theguardian.com/sport/2019/dec/15/eliud-kipchoge-bbc-overseas-sports-personality  https://athleticsweekly.com/featured/eliud-kipchoge-be-beaten-1039935376/  https://www.youtube.com/watch?v=MoxFkJlVZlA