เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์: กระสุนนัดสุดท้ายของ ‘ปาป้า’ ผู้เขียนชายชราและทะเล

เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์: กระสุนนัดสุดท้ายของ ‘ปาป้า’ ผู้เขียนชายชราและทะเล
/ ทุกสิ่งทุกอย่างของเขานั้นเก่า ยกเว้นดวงตา ซึ่งมีสีเดียวกับน้ำทะเล รื่นเริงและไม่ยอมสยบ / งานเขียนในช่วงต้นของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) มักจะคละคลุ้งด้วยกลิ่นกระสุนและดินปืน สงคราม การรบ การล่า สุรา และการต่อยมวย ต่างจากงานเขียนชิ้นท้าย ๆ ที่กลายเป็นผลงานชิ้นเอกของเขาอย่าง ‘The Old Man and the Sea’ ที่กลับเค็มขื่นด้วยกลิ่นคาวเลือดและน้ำทะเล แม้จะดำเนินเรื่องอย่างฉับไวอันเป็นสไตล์งานเขียนที่ยากจะเลียนแบบ หากการต่อสู้ของชายชรากับปลายักษ์กลางท้องทะเลลึก กลับชวนให้ผู้อ่านเต็มตื้นไปกับความเป็นมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง จนนักอ่านมากมายต่างพากันพร้อมใจเขียนวิเคราะห์ - ตีความมันไปต่าง ๆ นานา แม้ว่าเขาจะไม่เคยยอมรับว่างานเขียนของตนนั้นแฝงไว้ซึ่งความนัยใด ๆ ก็ตาม นี่คือเรื่องราวของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ผู้เขียน ‘ชายชราและท้องทะเล’ ที่มีชีวิตในยามสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง เขาเขียนผลงานชิ้นโด่งดังนับสิบ และถูกเรียกว่า ‘ปาป้า’ รวมทั้งเป็น ‘โฉมหน้าแห่งความเป็นชายแห่งศตวรรษที่ยี่สิบ’ อย่างยากจะหาใครมาแทนที่   ฤดูล่า เออร์เนสต์ มิลเลอร์ เฮมิงเวย์ (Ernest Miller Hemingway) เกิดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 1899 ที่เมืองซิเซโร (โอ๊กพาร์ค) รัฐอิลลินอยส์ ในครอบครัวที่ไม่ได้ขัดสนทางการเงิน คลาเรนซ์ เฮมิงเวย์ (Clarence Hemingway) พ่อของเขาเป็นหมอที่โปรดปรานการล่าสัตว์เป็นอย่างยิ่ง ภายใต้การเลี้ยงดูของพ่อ และ เกรซ เฮมิงเวย์ (Grace Hemingway) ผู้เป็นแม่ที่เป็นนักดนตรี เด็กชายเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับการติดตามผู้เป็นพ่อไปล่าสัตว์ ตกปลา และใช้ชีวิตนอกหลังคาเรือน ทางตอนเหนือของมิชิแกน ในกระท่อมหลังเล็กของครอบครัวเฮมิงเวย์ เด็กชายตัวจ้อยและพ่อต่างขัดปืนล่าสัตว์ของตนให้วาววับด้วยเงา บรรจุกระสุนและขึ้นนกปืนเตรียมไว้ ท่ามกลางบรรยากาศแห่งป่าที่เฮมิงเวย์คุ้นชิน เสียงกระสุนสองนัดถูกลั่นไก ปัง! และ ปัง!   นักข่าวเฮมิงเวย์ แม้จะขลุกอยู่กับป่าและล่าสัตว์เป็นกิจวัตร หากแต่เล็กจนโตผลการเรียนของเฮมิงเวย์ไม่เคยแย่ อันที่จริงมันจัดอยู่ในเกณฑ์ ‘ดีมาก’ มาตลอด ในระดับชั้นมัธยมฯ เด็กชายที่กลายเป็นวัยรุ่นเริ่มพบความสนใจใหม่ เขาเริ่มถูกใจการเขียนและทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ประจำโรงเรียน เฮมิงเวย์เขียนและเรียบเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬาจวบจนจบการศึกษา โดยไม่ลังเลใด ๆ เด็กหนุ่มที่เพิ่งจบใหม่ตัดสินใจเดินหน้าเข้าทำงานกับสำนักข่าว The Star ในรัฐแคนซัส ในฐานะนักเขียนข่าวรุ่นใหม่ไฟแรง ที่นั่นเฮมิงเวย์ได้เรียนรู้และพัฒนาการเขียนที่ภายหลังได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของเขา งานเขียนข่าวลงในพื้นที่อันจำกัดของหน้าหนังสือพิมพ์ทำให้เขาได้เรียนรู้ถึงศาสตร์ตัวอักษรที่ต้อง ‘สั้น กระชับ ไม่มีคำขยายให้มากมาย ง่าย และเข้าใจได้ในทันที’ “งานหนังสือพิมพ์ไม่ได้ทำร้ายนักเขียนหน้าใหม่สักเท่าไรหรอก” เฮมิงเวย์เคยกล่าวถึงวันเวลาใน Kansas City Star ของเขาไว้เช่นนั้น “อันที่จริงมันช่วยเขา (นักเขียนหน้าใหม่) ได้ ถ้าเขาปลีกตัวออกมาได้ทันเวลาน่ะนะ”   รักระหว่างรบ ปี 1918 เฮมิงเวย์เดินทางออกนอกประเทศเพื่อเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในฐานะพลขับรถพยาบาลแห่งกองทัพอิตาลี เฮมิงเวย์ได้รับบาดเจ็บระหว่างการปฏิบัติหน้าที่หลายต่อหลายครั้ง เหตุการณ์ครั้งหนึ่งถึงกับทำให้เขาได้รับเหรียญกล้าหาญเลยทีเดียว ร่างกายของเฮมิงเวย์เริ่มเต็มไปด้วยรอยแผล หากบาดแผล รอยช้ำ และความเจ็บปวดจากการผ่าตัดเหล่านั้นเองทำให้เขาได้พบกับรักแรกเมื่อครั้งที่เขาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมิลาน เธอคนนี้คือผู้เป็นแรงบันดาลใจให้กับผลงานชิ้นโบแดงเรื่อง ‘รักระหว่างรบ’ (A Farewell to Arms: 1929) ที่เขาเขียนขึ้นในอีกร่วมสิบปีให้หลัง ‘แอกเนส ฟอน คูโรว์สกี’ (Agnes von Kurowsky) มีเสน่ห์อย่างเหลือร้ายในสายตาของเฮมิงเวย์ พลขับหนุ่มที่ตกที่นั่ง ‘คนไข้’ หลงรักเธอเข้าอย่างจัง เขาเทียวจีบเธออยู่พักใหญ่ จนกระทั่งคูโรว์สกีตกลงปลงใจ ยอมรับคำหมั้นหมายของชายหนุ่ม - งานเขียนขนาดไม่ยาวของเขาคงกลายเป็นเรื่องรักแนว ‘happy ending’ หากเรื่องราวของเธอและเขาไม่กลับตาลปัตรเอาในช่วงท้าย คูโรว์สกีผิดคำสัญญา เธอลวงหลอกเฮมิงเวย์และทิ้งเขาไปหาคนรักใหม่ ‘เรื่องสั้นแสนสั้น’ (A Very Short Story) และ ‘รักระหว่างรบ’ (A Farewell to Arms) ที่เขาเขียนจึงกลายเป็นเรื่องราวที่สะท้อนภาพสงครามและความ (ผิดหวังใน) รักไป   แล้วดวงตะวันก็ฉายแสง หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติ เฮมิงเวย์กลับอเมริกา เขาใช้เวลาพักรักษาตัวที่รัฐมิชิแกนอยู่พักใหญ่ ก่อนจะเข้าทำงานในสำนักข่าวประจำกรุงโตรอนโต และได้พบรักกับแฮดลีย์ ริชาร์ดสัน (Hadley Richardson) ภรรยาคนแรกของเขา ทั้งคู่แต่งงานและย้ายหมุดหมายแห่งชีวิตไปที่ปารีส ที่มหานครแห่งฝรั่งเศสนั่นเองที่เฮมิงเวย์ได้พบกับวงสังคมที่เหมาะกับเขา นักข่าวหนุ่มพ่วงด้วยตำแหน่งนักเขียนหลงถิ่น ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ ‘The Lost Generation’ หรือ ‘คนรุ่นหลงทาง’ อันหมายถึงกลุ่มนักคิดนักเขียนชาวอเมริกันผู้พลัดถิ่นมายังปารีส พวกเขาล้วนเกิดปลายศตวรรษที่ 19 และเติบใหญ่พ้นวัย youth หรือสิบเก้าย่างยี่สิบในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามดังกล่าวเริ่มและจบได้ในเวลาไม่นาน หากความสูญสลายบางประการแห่งชีวิตเดิม ๆ ของพวกเขาก็ไม่อาจหวนคืน ที่นั่นเฮมิงเวย์ได้พบและคบค้ากับนักเขียนและศิลปินชื่อดังร่วมสมัยหลายคน ไม่ว่าจะเป็น เอฟ. สก็อต ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) เอซรา ปอนด์ (Ezra Pound) พาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) หรือ เจมส์ จอยซ์ (James Joyce) ปี 1923 เฮมิงเวย์และแฮดลีย์มีลูกชายด้วยกัน สองปีถัดมาเขาและภรรยาพร้อมด้วยลูกชายที่ยังเล็กได้เดินทางท่องเที่ยวไปยังปัมโปลนา ประเทศสเปน เพื่อเข้าชมเทศกาลสู้วัวกระทิงที่นั่น วันและเวลาในสเปนกลายเป็นประสบการณ์และฐานคิดสำหรับเฮมิงเวย์ในการเขียนนวนิยายเรื่องแรกของเขา ‘แล้วดวงตะวันก็ฉายแสง’ (The Sun Also Rises: 1926) เรื่องราวของนักเขียนพลัดถิ่นผู้ใช้คืนวันไปกับการดื่มและกินในกรุงปารีส สู่การบินลัดฟ้าเพื่อดูวัวสู้กันโดยมีอดีตและความตายฉายทับเป็นเงาตามตัว ‘แล้วดวงตะวันก็ฉายแสง’ กลายเป็นนวนิยายแห่งยุคสมัยที่พาให้ชื่อของเขาโด่งดังคับฟ้า ต่อจากผลงานรวมเรื่องสั้น ‘In Our Time’ เมื่อปี 1925 ที่เป็นผลงานชิ้นจั่วหัวให้โลกเริ่มรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของชายผู้นี้   ความสัมพันธ์ขมปร่า ไม่นานหลังจาก The Sun Also Rises ตีพิมพ์ เฮมิงเวย์และภรรยาหย่าขาดจากกันโดยมีต้นตอปัญหามาจากการนอกใจเมียของนักเขียนหนุ่ม เฮมิงเวย์พบรักครั้งใหม่กับพอลลีน ไฟเฟอร์ (Pauline Pfeiffer) พวกเขาเริ่มคบหากันฉันท์ชู้และคู่นอนจนแฮดลีย์ทนไม่ไหว การตัดสินใจจบความสัมพันธ์ของเธอไม่ได้ทำให้เฮมิงเวย์รู้สึกสลดใจแต่อย่างใด เขาแต่งงานครั้งใหม่กับพอลลีนและมีลูกชายด้วยกันอีกหนึ่งคน เริ่มจากการสูญเสียพ่อที่ฆ่าตัวตายด้วยกระบอกปืนและจากเขาไปเมื่อปี 1928 เฮมิงเวย์เริ่มทำตัวเป็นปรปักษ์กับแม่ของตัวเองที่เขาไม่ชอบหน้าหล่อนมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะเกรซ เฮมิงเวย์ คือจอมบงการที่ชอบบังคับลูกสาวและชายของหล่อนให้ทำตัวได้อย่างใจ อย่างที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นว่าวัยเด็กของเฮมิงเวย์มักจะหมดไปกับการล่าสัตว์ แต่อันที่จริงนั่นเป็นเพียงเรื่องราวครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะวัยเด็กอีกครึ่งของเขาคือการพยายามเอาชนะและหนีให้รอดพ้นจากความเจ้ากี้เจ้าการของมารดา ที่มักจับเด็กชายใส่ชุดผู้หญิงแบบเดียวกับพี่สาว เกรซคอยบังคับให้เฮมิงเวย์เรียนร้องเพลง เล่นดนตรี ไปโบสถ์ และทำอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาไม่ต้องการ หลายคนวิเคราะห์ว่าความร้ายการของผู้เป็นแม่นี่เองที่บ่มเพาะนิสัยเสียหลายประการให้กับเฮมิงเวย์ เขาช่างค่อนขอด ช่างติฉินทั้งมิตรและศัตรู นอกจากนั้นเขายังเป็นนักหักอกผู้หญิงที่ร้ายไม่ใช่เล่น เฮมิงเวย์พบรักครั้งใหม่อีกครั้งในสงครามสเปนเมื่อปี 1937 พร้อมกับการเกี้ยวรักกับมาร์ธา เกลฮอร์น (Martha Gellhorn) เฮมิงเวย์เริ่มเขียนนวนิยาย ‘ศึกสเปน’ (For Whom the Bell Tolls: 1940) นวนิยายที่ภายหลังถูกเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัล Pulitzer Prize ด้วยความขยันขันแข็งอันเป็นปกติวิสัยของเขา เฮมิงเวย์หย่ากับพอลลีนได้ไม่นานตอนที่แต่งงานใหม่กับมาร์ธา เพียงเพื่อจะหย่าอีกครั้งหลังจากเขาได้พบกับแมรี เวลช์ (Mary Welsh) นักข่าวสงครามที่ปิ๊งกันกลางสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเขาแต่งงานกันและเฮมิงเวย์ซื้อบ้านหลังใหม่ที่ประเทศคิวบา ท่ามกลางผืนป่าและการล่าสัตว์ตัวแล้วตัวเล่า แมรีกลายเป็นภรรยาคนสุดท้ายของเขา ไม่ใช่เพราะเฮมิงเวย์ได้กลายเป็นคนรักครอบครัวเอาในช่วงบั้นปลาย หากเป็นเพราะโรคร้ายและรอยเศร้าที่เริ่มเข้าเกาะกุมชีวิตเขาไว้ในกำมือ   เหยือกเหล้าและเศร้าซึม เฮมิงเวย์เป็นนักดื่ม แต่เขาไม่ดื่มขณะเขียนหรือทำงาน แต่หลังจาก ‘ศึกสเปน’ เมื่อปี 1940 ผลงานของเฮมิงเวย์ก็ไร้แววความสำเร็จจนน่าใจหาย เขาไม่สามารถเขียนหนังสือได้อย่างลื่นไหลแบบวันต่อวันอย่างที่เคย บางครั้งบางคราวเขาตื่นขึ้นมาเพียงเพื่อจ้องมองไปยังหน้ากระดาษที่ว่างเปล่าจากเช้าจนค่ำ ด้วยเวลาร่วมสิบปีแห่งการจ้องกระดาษเปล่ารอบแล้วรอบเล่า การกลั่นเกลาซึ่งความผิดหวังในชีวิตของเฮมิงเวย์ได้ถ่ายทอดลงในผลงานเอกชิ้นสุดท้าย ‘ชายชราและท้องทะเล’ (The Old Man and the Sea) ที่ถูกตีพิมพ์ในปี 1952 มันกลายเป็นผลงานชิ้นที่เรียกได้ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของเขา เรื่องราวของชาวประมงคิวบาผู้ต่อสู้กับปลายักษ์ในท้องทะเลเล่มดังกล่าวพาให้เขาได้รับรางวัล Pulitzer Prize ในปี 1953 และตามมาด้วยรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปีถัดมา หากรางวัลที่ได้มาก็ไม่ใช่เครื่องรางปัดเป่าปัญหาและโรคร้ายให้หายไปจากเฮมิงเวย์ เขาที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงยังคงถูกความเศร้ากัดกินมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากการรักษาด้วยการช็อตไฟฟ้าครั้งที่ 36 วันที่ 2 กรกฎาคม 1961 เฮมิงเวย์ในวัย 62 ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงด้วยปืนล่าสัตว์ - ตลอดชีวิตเขาลั่นไกใส่สิ่งมีชีวิตไปมากเกินจะนับ หากกระสุนนัดสุดท้ายที่เขามีโอกาสได้ใช้ เฮมิงเวย์ตัดสินใจใช้มันปลิดชีวิตตัวเอง หลายคนกล่าวว่าการกระทำของเขาคือการกระทำเยี่ยงผู้กล้า ความตายของเขาเป็นการตัดสินใจทำนองเดียวกันกับตัวละครเอกของเขาทุกตัว คือตัดสินใจอย่างห้าวหาญ มีเกียรติ และไว้ลายซึ่งความเป็นมนุษย์จนนาทีสุดท้าย หากบางคนก็ส่ายหน้าอย่างเศร้าใจและกล่าวว่าความตายของเฮมิงเวย์เป็นเพราะถูกพิษแห่งภาวะซึมเศร้าเข้าเล่นงาน แม้ ‘ปาป้า’ จะจากไป หากสิ่งที่เขาทิ้งไว้บนถนนสายวรรณกรรมก็ทรงคุณค่ามากพอที่ผู้คนจะจดจำ ผลงานชิ้นโด่งดังของเขากลายเป็นสัญลักษณ์แห่งยุคสมัย กลายเป็นงานชิ้นโปรดของผู้คน กลายเป็นแบบเรียน และเป็นสิ่งที่นักเขียนหลายต่อหลายชีวิตพยายามเจริญรอยตามในความเรียบง่ายแต่รุกเร้าถึงอารมณ์ของมันมาจนถึงปัจจุบัน เฮมิงเวย์ใช้ชีวิตได้อย่างหนักแน่น ครบรส และเป็นตำนานเช่นเดียวกันกับคำพูดของเขาที่เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งอดีตว่า “ชีวิตของทุกคนมีจุดจบแบบเดียวกันทั้งนั้น จะต่างก็เพียงรายละเอียดว่าคุณอยู่อย่างไรและตายอย่างไร ที่พอจะทำให้ใครคนหนึ่งแตกต่างจากคนอีกคน”   ที่มา: https://www.biography.com/writer/ernest-hemingway https://www.notablebiographies.com/He-Ho/Hemingway-Ernest.html https://archive.nytimes.com/www.nytimes.com/books/99/07/04/specials/hemingway-obit.html https://www.washingtonpost.com/entertainment/books/ernest-hemingway-the-man-behind-the-cultivated-image-of-hyper-masculinity/2017/05/17/c54e1aae-3b04-11e7-8854-21f359183e8c_story.html https://www.zmescience.com/other/feature-post/ernest-hemingway-legendary-life-05335/