จอห์น เอฟ เคนเนดี: ปมปริศนากระสุน 3 นัด กับคดีลอบสังหารผู้นำสหรัฐฯ บันลือโลก

จอห์น เอฟ เคนเนดี: ปมปริศนากระสุน 3 นัด กับคดีลอบสังหารผู้นำสหรัฐฯ บันลือโลก
“ท่านพูดไม่ได้ว่าประชาชนเมืองดัลลัส ไม่ให้การต้อนรับท่านอย่างงดงามนะคะ”  เนลลี คอนนัลลี ภริยาผู้ว่าการรัฐเท็กซัส หันไปพูดหยอกจอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่นั่งอยู่แถวหลังคู่กับแจ็กเกอรีน เคนเนดี สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ระหว่างรถลีมูซีนเปิดประทุนที่ทั้งคู่นั่งมาแล่นไปช้า ๆ ผ่านฝูงชนที่ออกมาทักทายผู้นำสหรัฐฯ และภริยาตลอด 2 ข้างทางกลางเมืองดัลลัส "ใช่ครับ คุณพูดอย่างนั้นไม่ได้แน่นอน” จอห์น เอฟ เคนเนดี ตอบกลับไปพร้อมโบกมือทักทายประชาชนที่ออกมาต้อนรับเขาอย่างอบอุ่น นั่นคือคำพูดสุดท้ายของเจเอฟเค ก่อนที่อีกไม่กี่วินาทีต่อมา กระสุนปืนไรเฟิล 3 นัดจะพุ่งจากปากกระบอกสู่ร่างของผู้นำสหรัฐฯ โดย 2 ใน 3 นัดพุ่งเข้าตรงเป้าหมาย และทำให้ประธานาธิบดีขวัญใจชาวอเมริกันเสียชีวิตในเวลาต่อมาไม่นาน เหตุการณ์ช็อกโลกดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ.1963 แม้เจ้าหน้าที่จะสามารถจับกุมตัวมือปืนผู้ก่อเหตุได้ในวันเดียวกัน แต่คดีลอบสังหารผู้นำสหรัฐฯ ครั้งนั้นยังคงมีคนตั้งข้อสงสัย และเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดมากมายจนปัจจุบัน   มือสังหาร เหตุผลที่ทฤษฎีสมคบคิดยังคงทำงาน แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้มาแล้วหลายชุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ ผู้ต้องหาลั่นไกสังหารเจเอฟเค ยืนกรานปฏิเสธข้อหา โดยอ้างว่าเขาเป็นแพะรับบาป ก่อนจะถูกแจ็ค รูบี เจ้าของไนท์คลับท้องถิ่น บุกจ่อยิงเสียชีวิตคาสถานีตำรวจหลังถูกจับได้ไม่ถึง 48 ชม. การเสียชีวิตอย่างรวดเร็วของออสวอลด์ ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า หรือนี่เป็นการฆ่าปิดปาก และทำให้การสืบสวนหาแรงจูงใจจากปากของผู้ลั่นไกสังหารเจเอฟเคโดยตรงต้องปิดฉากลงในทันที ส่วนแจ็ค รูบี มือสังหารออสวอลด์ แม้จะถูกจับดำเนินคดี และถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์ สั่งระงับโทษประหารชีวิต และเตรียมรื้อฟื้นคดีกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง จู่ ๆ รูบีก็ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง และเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็ว ทำให้คดียิ่งมีปริศนามากยิ่งขึ้น   กระสุนปลิดชีพ รายงานที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับวิถีกระสุน 3 นัดที่ออสวอลด์ ลั่นไกสังหารประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากหน้าต่างตึกชั้น 6 ของโกดังเก็บตำราเรียนเอกชนริมถนนใกล้จุดเกิดเหตุ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คนสงสัยว่านอกจากออสวอลด์แล้ว ยังมีใครเกี่ยวข้องกับแผนลอบสังหารนี้หรือไม่ จากรายงานเบื้องต้นของหน่วยสืบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอ พบว่า กระสุนนัดแรกจากปืนไรเฟิลของออสวอลด์ ยิงเข้าที่ลำคอของประธานาธิบดีเคนเนดี ส่วนนัดที่สองถูกจอห์น คอนนัลลี ผู้ว่าการรัฐเท็กซัสที่นั่งอยู่แถวหน้าในรถคันเดียวกันจนบาดเจ็บ และนัดสุดท้ายพุ่งเข้าศีรษะของเจเอฟเคอย่างจัง อย่างไรก็ตาม รายงานผลการสอบสวนในเวลาต่อมาของคณะกรรมการที่นำโดยหัวหน้าผู้พิพากษาเอิร์ล วอร์เรน หรือที่เรียกกันว่า วอร์เรน คอมมิสชัน สรุปว่า ออสวอลด์ลั่นไกยิงผู้นำสหรัฐฯ 3 นัดจริง แต่มีนัดหนึ่งพลาดเป้า อีกนัดพุ่งทะลุลำคอเจเอฟเค และไปถูกผู้ว่าการรัฐเท็กซัส ส่วนนัดสุดท้ายพุ่งเข้าศีรษะของประธานาธิบดีเคนเนดีโดยตรง แม้รายงานของเอฟบีไอ กับวอร์เรน คอมมิชชัน จะสรุปเกี่ยวกับวิถีกระสุนแตกต่างกัน แต่ทั้งสองทีมสรุปตรงกันว่า ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ คือฆาตกร และเขาก่อเหตุลอบสังหารครั้งนี้เพียงลำพัง เพราะเคยมีประวัติใช้ความรุนแรง และนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ ส่วนแจ็ค รูบี ผู้บุกสังหารออสวอลด์ ก็กระทำการเพียงลำพัง เพื่อระบายความแค้นที่ออสวอลด์ทำกับประธานาธิบดีอันเป็นที่รักของเขา แม้ข้อสรุปดังกล่าวจะตรงกันทั้งตัวผู้ก่อเหตุและแรงจูงใจ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ชาวอเมริกันเลิกสงสัยเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิด และเป็นเหตุให้รัฐสภาสหรัฐฯ ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้อีกหลายชุดในเวลาต่อมา การสอบสวนหลังจากนั้นมีทั้งพุ่งเป้าหาความเชื่อมโยงกับหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ หรือซีไอเอ เนื่องจากอยู่ในช่วงสงครามเย็น และเจเอฟเค อาจตกเป็นเป้าของซีไอเอ ที่ต้องการกำจัดเพราะมีปัญหาขัดแย้งภายในกันหลายเรื่อง รวมถึงความไม่พอใจนโยบายของเจเอฟเค ที่อ่อนข้อให้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์เกินไป   สืบจากเสียง แต่รายงานที่เรียกเสียงฮือฮา และเติมเชื้อไฟให้ทฤษฎีสมคบคิดมากที่สุด มาจากคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีลอบสังหารเจเอฟเค และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ที่เผยแพร่ในปี 1979 รายงานชิ้นนี้อ้างอิงหลักฐานใหม่ในคดีลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี นั่นคือบันทึกเสียงจากวิทยุสื่อสารของเจ้าหน้าที่ระหว่างเกิดเหตุ พร้อมสรุปว่า มีความเป็นไปได้ 95% ที่ออสวอลด์จะก่อเหตุร่วมกับผู้สมคบคิด โดยมือปืนคนที่สองน่าจะยิงมาจากเนินหญ้าบริเวณริมถนน แต่กระสุนพลาดเป้า ส่วนออสวอลด์ คือ เจ้าของกระสุนนัดปลิดชีพผู้นำสหรัฐฯ จริง รายงานดังกล่าวยังวิจารณ์การทำงานของเอฟบีไอ และซีไอเอ ที่ไม่ยอมให้ความร่วมมือเรื่องข้อมูลเต็มที่กับวอร์เรน คอมมิชชัน ขณะเดียวกันก็ตำหนิวอร์เรน คอมมิชชัน ว่าทำการสอบสวนคดีนี้โดยไม่พิจารณาหลักฐานให้ครบถ้วนรอบด้าน นอกจากนี้หน่วยอารักขาผู้นำสหรัฐฯ หรือ Secret Service ยังถูกวิจารณ์เรื่องการเตรียมการป้องกันไม่ดีพอ โดยเฉพาะการเผยแพร่กำหนดการและเส้นทางเดินทางของขบวนรถประธานาธิบดีให้สาธารณชนรับทราบล่วงหน้านานเกินไป อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับผู้สมรู้ร่วมคิดต่อมาภายหลังไม่ได้รับการยอมรับจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และสมาชิกบางคนในคณะกรรมการตรวจสอบ โดยอ้างเหตุผลเรื่องข้อมูลหลักฐานไม่ชัดเจน และการอ้างอิงหลักฐานจากเสียงเพียงอย่างเดียวไม่มีนำ้หนักพอ แต่ไม่ว่าใครจะเชื่อยังไง เหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดีที่เกิดขึ้นยังคงถูกพูดถึง และถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ   เส้นทางชีวิต จอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี (เจเอฟเค) เกิดวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ.1917 ที่เมืองบรูคไลน์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในครอบครัวนักการเมือง-นักธุรกิจผู้มั่งคั่งเชื้อสายไอริช เขาเรียนจบปริญญาตรี พร้อมเกียรตินิยม ในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อนติดยศเป็นทหารประจำกองทัพเรือสหรัฐฯ เข้าร่วมรบสงครามโลกครั้งที่สอง และได้รับเหรียญกล้าหาญจากเหตุการณ์ปะทะกับเรือรบของญี่ปุ่น จนได้รับบาดเจ็บ หลังปลดประจำการ เจเอฟเคมาทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ก่อนลงเล่นการเมืองกับพรรคเดโมแครต และชนะการเลือกตั้งในปี 1960 ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐฯ พร้อมดีกรีประธานาธิบดีคนแรกที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก และเป็นประธานาธิบดีอายุน้อยที่สุดที่ชนะการเลือกตั้งในวัยเพียง 43 ปี ผลงานที่โดดเด่นของประธานาธิบดีเคนเนดี คือ การพัฒนาโครงการอวกาศ และประกาศแผนส่งมนุษย์คนแรกขึ้นไปบนดวงจันทร์ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งหน่วยรบพิเศษ Navy SEALs อันเลื่องชื่อ, ก่อตั้งหน่วยอาสาสมัครเพื่อสันติภาพ (Peace Corps) เพื่อช่วยเหลืองานด้านการพัฒนาท้องถิ่นให้กับชาติพันธมิตร และจัดตั้งรัฐบาลกรุงวอชิงตัน ดีซี ที่มีนโยบายหัวก้าวหน้า สนับสนุนสิทธิสตรี และขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมือง   ตระกูลต้องคำสาป? การเสียชีวิตของเจเอฟเค ขณะเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง นอกจากจะเป็นปริศนา และก่อให้เกิดจินตนาการเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ นานาแล้ว ยังตอกย้ำความเชื่อเรื่องคำสาปตระกูลเคนเนดี ที่หลายคนหยิบยกมาพูดกัน หลายคนเชื่อว่า ตระกูลเคนเนดีต้องคำสาป เพราะสมาชิกครอบครัวนี้มักเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ส่วนใหญ่ไม่โดนลอบสังหาร ก็เครื่องบินตก หรือประสบอุบัติเหตุอื่น ๆ โดยบิดา (โจเซฟ), น้องสาว (แคทลีน) และลูกชาย (จอห์น เอฟ เคนเนดี จูเนียร์) ของเจเอฟเค ล้วนเครื่องบินตกเสียชีวิตต่างกรรมต่างวาระกัน ส่วนโรเบิร์ต เคนเนดี น้องชายของเจเอฟเค ถูกลอบสังหารเสียชีวิตเช่นเดียวกับพี่ชาย ขณะที่แพทริก บูเวียร์ เคนเนดี ลูกชายอีกคนของเขากับแจ็กเกอลีน เคนเนดี เกิดมามีปัญหาสุขภาพ และเสียชีวิตหลังออกมาลืมตาดูโลกได้แค่ 2 วัน แต่ถึงอย่างไรไม่ว่าจอห์น เอฟ เคนเนดี จะเสียชีวิตด้วยทฤษฎีสมคบคิด เพราะคำสาป หรือด้วยเหตุผลอื่นใด นั่นไม่สำคัญเท่ากับผลงานที่เขาทำ และมรดกที่เขาทิ้งไว้ให้กับคนรุ่นหลัง   เชิดชูเกียรติ ภายหลังการจากไปของประธานาธิบดีหนุ่มคนรุ่นใหม่ครั้งนี้ องค์การนาซา ได้นำชื่อจอห์น เอฟ เคนเนดี ไปตั้งเป็นชื่อศูนย์อวกาศที่แหลมคานาเวอรัล ในรัฐฟลอริดาทันที เพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้นำซึ่งถือเป็นเสาหลักของโครงการอวกาศแห่งชาติ ด้านสนามบินนานาชาติในนครนิวยอร์ก ก็เปลี่ยนชื่อเป็นท่าอากาศยานจอห์น เอฟ เคนเนดี ขณะที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เปลี่ยนชื่อบัณฑิตวิทยาลัยด้านรัฐประศาสนศาสตร์ของตนเอง เป็นชื่อบัณฑิตวิทยาลัยจอห์น เอฟ เคนเนดี ด้านการปกครอง เพื่อเชิดชูศิษย์เก่าผู้วายชนม์ “ประเทศชาติจะเป็นอย่างไร ไม่ได้ดูกันแค่คนที่ประเทศนั้นสร้างขึ้นมา แต่ยังดูกันที่คนที่ประเทศนั้นเชิดชู และคนผู้เป็นที่จดจำ (A nation reveals itself not only by the men it produces but also by the men it honors, the men it remembers.)” ประโยคนี้เป็นส่วนหนึ่งในสุนทรพจน์ของจอห์น เอฟ เคนเนดี ที่เคยพูดไว้ก่อนตาย  แม้กระสุน 3 นัดจากปากกระบอกปืนในวันนั้นจะพรากชีวิตอดีตผู้นำสหรัฐฯ รายนี้จากโลกไปแบบไม่มีวันหวนกลับ แต่สิ่งต่าง ๆ ที่เขาทำไว้ยังคงได้รับการยกย่องเชิดชูในดินแดนต้นแบบประชาธิปไตยและโลกเสรีนิยม  และนั่นทำให้ชื่อ จอห์น เอฟ เคนเนดี จะยังคงถูกพูดถึง และเป็นที่จดจำตลอดไป   ข้อมูลอ้างอิง: https://www.jfk.org/the-assassination/jfk-assassination-timeline/ https://www.rd.com/article/jfk-last-words-jackie/