นุ้ย-ทัศนียา: เจ้าของ ‘55 Book Stall’ ร้านหนังสือยืนหนึ่งของจตุจักรที่มีเลข 55 หมายถึงเสียงหัวเราะร่าซ่อนอยู่

นุ้ย-ทัศนียา: เจ้าของ ‘55 Book Stall’ ร้านหนังสือยืนหนึ่งของจตุจักรที่มีเลข 55 หมายถึงเสียงหัวเราะร่าซ่อนอยู่
ภาพผู้คนมากหน้าหลายตาที่เดินเลือกซื้อสินค้ากันอย่างขวักไขว่ คงเป็นภาพที่ทุกคนคุ้นเคยกับตลาดนัดจตุจักร หากเราเดินเรื่อย ๆ จนถึงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกำแพงเพชรที่ห่างเพียงรั้วกั้นกับความวุ่นวาย เราจะพบกับหนังสือหลากประเภทนับพันเล่ม ทั้งเก่าและใหม่ที่เรียงรายอยู่บนชั้นวางทั้งสองข้างของร้าน ‘55 Book Stall’ ร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่ดูธรรมดา ทว่าภายในกลับอัดแน่นไปด้วยเรื่องราว มิตรภาพ และ ‘การให้บริการ’ ที่กันเองแต่น่าประทับใจของ ‘นุ้ย-ทัศนียา’ หญิงสาววัย 55 ปี ผู้เป็นเจ้าของร้าน นอกจากได้ทำความรู้จักกับชีวิตหญิงแกร่งที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย การพูดคุยกับ นุ้ย-ทันียา วรวัฒน์ ยังทำให้เรารู้ว่ามิตรภาพที่สอดแทรกอยู่ระหว่างหน้าหนังสือนั้นเป็นอะไรที่มีอยู่จริงอีกด้วย   ชีวิตของนุ้ย นุ้ยเกิดและเติบโตในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ตั้งแต่วัยเยาว์ที่ชีวิตของเธอเต็มไปด้วยการเอาตัวรอดที่ไม่มีสูตรสำเร็จ ฐานะทางบ้านของเธอไม่ดีนัก นุ้ยจึงจำเป็นต้องเริ่มทำงานแต่เด็กควบคู่ไปกับการเรียน นุ้ยนอนดึก ตื่นเช้า ไปโรงเรียน และนำความรู้จากวิชาที่เรียนมาประยุกต์ใช้หารายได้ “พี่เกิดในครอบครัวที่ติดลบ เกิดในครอบครัวที่ยากจน พี่เลยต้องมีวิธีการคิดเพื่อการเอาตัวรอด ทุกอย่างคือการเอาตัวรอด นอนตี 2 ตื่นตี 5 ไปโรงเรียนเอาวิชามาใช้ อย่างวิชาเย็บปักถักร้อย พี่ก็จะเอามาใช้เพื่อหาเงินมาต่อเราให้เราเรียนสูงขึ้นไปอีก” นุ้ยรับจ้างสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูป การเย็บปักถักร้อย หรือว่าการตัดเสื้อ ท่ามกลางการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องแบกรับภาระค่าเล่าเรียนของตัวเอง ความผูกพันกับเล่มหนังสือของนุ้ยเริ่มงอกงามขึ้นในช่วงเดียวกัน “พี่จะโดดเรียนในวิชาที่พี่คิดว่าไม่ได้ให้อะไรเราเลย หนี โดดมาตอนเคารพธงชาติเพื่อมาอ่านหนังสือกฎหมาย เพราะพี่ก็กลัวว่าเขาจะใช้อำนาจของการเงินมาเอาเปรียบเรา”    แผงหนังสือหมายเลข 55 จากการเป็นนักอ่านตัวยงตั้งแต่เด็ก นุ้ยได้เริ่มต้นการทำงานในแวดวงร้านหนังสือตั้งแต่เธออายุ 18 จากการช่วยงานร้านหนังสือเก่าของครอบครัวคนรัก โดยขายหนังสือมือสองที่ไปรับซื้อมาตามบ้าน ในตอนนั้นร้านตั้งอยู่บริเวณตลาดนัดหนังสือที่สนามหลวง ก่อนที่ทางกรุงเทพมหานครจะเวนคืนพื้นที่เพื่อปรับปรุงเกาะรัตนโกสินทร์ในเวลาต่อมา ทำให้ร้านหนังสือเก่าทั้งหมดต้องย้ายมาอยู่ที่จตุจักร ในสมัยก่อนจะมีการเรียกชื่อร้านหนังสือตามหมายเลขแผง เมื่อย้ายมาที่จตุจักรจะมีการจับฉลากเลขแผง ซึ่งทางร้านจับได้หมายเลข 55 นุ้ยบอกกับเราว่า เลข 55 มีความหมายที่ดี หมายถึงความสุขและรอยยิ้ม เธอจึงตัดสินใจว่าจะใช้มันเป็นชื่อร้านเล็ก ๆ ของเธอนับจากนั้น “55 คือรอยยิ้ม 55 คือความสุข พี่ก็เลยใช้คำว่า 55 มาตลอด”  นุ้ย-ทัศนียา: เจ้าของ ‘55 Book Stall’ ร้านหนังสือยืนหนึ่งของจตุจักรที่มีเลข 55 หมายถึงเสียงหัวเราะร่าซ่อนอยู่ สถานที่แห่งใหม่   “พอย้ายมาอยู่ที่นี่ก็มาเจอพื้นที่แบบเปิดด้านเดียว ไม่รู้จะวางตรงไหน หนังสือมีเป็นพัน ๆ เล่ม ยิ่งกว่าร้านหนังสือพิมพ์อีก ผลสุดท้ายทุกคนก็ต้องวางยื่น วางเกิน วางสูง ๆ ต่ำ ๆ หลังคาจะพัง รั่วก็รั่ว ไม่มีใครเห็นเลย” หลังจากพ่อค้าแม่ค้าต้องย้ายร้านมาอยู่ที่จตุจักร สิ่งที่รัฐบาลจัดสรรให้กับร้านหนังสือ ‘55 Book Stall’ และอีกกว่า 50 ร้านที่ต้องย้ายมายังสถานที่แห่งใหม่ คือสภาพแวดล้อมและบรรยากาศของร้านที่ทั้งเล็ก แออัด และมืด ไม่เอื้ออำนวยต่อการอ่านหนังสือ ทำให้รายได้ของร้านลดลงไปมาก จากเดิมที่มียอดขายวันละ 3,000 - 4,000 บาท ช่วงที่ย้ายมาแรก ๆ ขายได้วันละ 60 บาทเท่านั้น บางวันก็ไม่สามารถขายหนังสือได้เลยแม้เพียงเล่มเดียว ท่ามกลางหลาย ๆ แผงข้างเคียงที่ค่อย ๆ เก็บของออกจากร้าน ปิดไฟ และกลายเป็นพื้นที่ว่างไร้ร้านค้าคอยให้บริการ นุ้ยใช้เวลาหนึ่งปีเต็ม ๆ ในการชั่งใจว่าจะไปต่อ หรือปิดกิจการร้านหนังสือไว้แค่นี้ แต่ด้วยน้ำจิตมิตรใจและความผูกพันกับนักอ่านหน้าเก่าที่เคยอุดหนุนหนังสือของนุ้ยที่สนามหลวง และยังคงแวะเวียนมาที่สวนจตุจักรด้วย จึงทำให้เธอตัดสินใจเดินหน้าจัดหาหนังสือดี ๆ มาบริการพวกเขาต่อไป  “ตอนนั้นสวนจตุจักรมันเหมือนเมืองร้าง ร้านหนังสือของเราเล็กมาก นั่งก็ไม่ได้ ยืนก็เบียด มืดก็มืด ยุงก็เยอะ หนูก็มี แต่โชคดีที่ลูกค้าจากสนามหลวงเขาตามเรามา ไม่ใช่ตามมาเพราะเรามีหนังสือที่เขาต้องการ แต่เขาตามมาเพราะความรัก”   นุ้ย-ทัศนียา: เจ้าของ ‘55 Book Stall’ ร้านหนังสือยืนหนึ่งของจตุจักรที่มีเลข 55 หมายถึงเสียงหัวเราะร่าซ่อนอยู่ การปรับตัวอีกครั้ง แต่แล้วธุรกิจก็เริ่มเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เนื่องจากทางรัฐบาลจะสร้างโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินขึ้นที่จตุจักร ร้านหนังสือของนุ้ยจึงถูกเวนคืนอีกระลอก ท่ามกลางความไม่แน่ไม่นอนของอาชีพ ‘เจ้าของร้านหนังสือ’ นุ้ยลุกขึ้นสู้และร้องเรียนกับภาครัฐ ไม่ใช่เพื่อตัวเองเท่านั้น หากเพื่อสิทธิ์ในการเข้าถึง ‘หนังสือ’ ของเยาวชนด้วย “รัฐบอกว่าพวกเราเห็นแก่ตัว ไม่ยอมเสียสละเพื่อคนในประเทศ ไม่ยอมเสียสละเพื่อสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อความเจริญ แต่พี่กลับเถียงเขาว่าความเจริญมันคือการศึกษาที่เรามีให้กับเยาวชนไม่ใช่เหรอคะ ความเจริญไม่ได้เกิดจากวัตถุ ความเจริญเกิดจากจิตใจ”  แม้จะผ่านการเปลี่ยนแปลง ต่อสู้ และปรับตัวหลายต่อหลายครั้ง แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ร้าน 55 Book Stall จัดสรรหนังสือเพื่อจำหน่ายให้กับผู้คนภายใต้ทำเลเล็ก ๆ ภายในสวนจตุจักรมา 37 ปีแล้ว   โลกหนังสือเปลี่ยนไป นุ้ยยอมรับว่าในปัจจุบันยอดขายหนังสือศิลปะ กราฟิก และการออกแบบ ซึ่งเป็นหนังสือเด่นของร้าน จะลดน้อยลงไปทุกที ๆ เพราะผู้อ่านสามารถสืบค้นเนื้อหาเหล่านี้ได้จากโลกออนไลน์ หรือหนังสือเรียนที่ในอดีตจะสามารถส่งต่อให้กันได้ แต่เมื่อหลักสูตรการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงตลอดทุกปี ทำให้หนังสือเรียนไม่สามารถขายได้อีกต่อไป ซึ่งนุ้ยต้องคิดหาวิธีปรับตัว และหาทางรอดไปให้ได้อีกครั้ง นุ้ยจึงมีความคิดว่าหนังสือสามารถเป็นงานศิลปะได้ จากตัวอักษรสวย ๆ ไปจนถึงตัวโน้ตในหนังสือเพลง ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับหนังสือเก่าได้ โดยการนำไปเป็นของตกแต่งบ้าน คอนโดฯ ร้านกาแฟ หรือแม้กระทั่งการนำหนังสือไปเป็นอุปกรณ์ประกอบฉากในการถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งวิธีการนี้เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ร้านอยู่รอดมาได้ในยุคปัจจุบัน “เราก็ต้องมานั่งคิดว่าเราจะทำยังไง จะให้หนังสือของเราเนี่ยมันใช้ได้มากกว่าการนำไปอ่าน พี่ก็เลยได้ไอเดียการนำหนังสือมาเป็นอาร์ตด้วยตัวของเขาเอง”    ราคาของข้าเอง  “เอาเล่มไหนก็เลือกกันเอาเองนะคะ สนใจเล่มไหนก็ดูเองเลยนะคะ แล้วพอคิดเงินแล้วก็ส่งเงินมาทางด้านนี้เลยค่ะ บริการตัวเองนะคะ” นุ้ยเล่าเรื่องการบริการลูกค้าในแบบของเธอ หากฟังเผิน ๆ แล้วอาจจะคิดว่านุ้ยไม่ใส่ใจลูกค้า แต่จริง ๆ แล้วนุ้ยบอกว่าลูกค้าส่วนใหญ่ชอบที่จะเลือกดูหนังสือกันเอง และหากว่าเป็นลูกค้าประจำก็จะมาพร้อมกับรายชื่อหนังสือ ราคา และเครื่องคิดเลขมาใช้คำนวณค่าหนังสือกันเองด้วย “ส่วนมากลูกค้าประจำก็จะคิดเงินกันเอง แล้วเขาก็จะเอากระดาษมา เอาเครื่องคิดเลขมา เขียน ๆ ๆ อันนี้ลด 15% นะคะ อันนี้ลด 20% รวมเป็นเท่านี้ พอเขียนเสร็จแล้วฉีก อ่ะพี่นุ้ยเอาไป นี่เงิน เขาคิดเงินกันเอง” และเป้าหมายอีกอย่างหนึ่งของนุ้ย คือเธอตั้งใจที่จะเปิดบูธหนังสือเพิ่มอีกหนึ่งบูธในงานสัปดาห์หนังสือครั้งต่อไป โดยมีคอนเซปต์ร้านว่า ‘ราคาของข้าเอง’ ซึ่งราคาหนังสือทุกเล่มภายในร้านจะถูกตั้งขึ้นตามใจของลูกค้าแต่ละคน คนที่ไม่มีกำลังซื้อ หากต่อราคา นุ้ยก็ยินดีที่จะขาย “เดี๋ยวปีหน้าเนื่องจากค่าบูธมันไม่แพง เนื่องจากคนไม่ค่อยมี พี่นุ้ยจะขอเปิดเพิ่มอีกหนึ่งร้านแล้วจะใช้ชื่อว่า ‘ราคาของข้าเอง’ ใครที่เข้ามาจะต้องได้หนังสือออกไป ใครที่ต่อ(ราคา)จะต้องได้ คิดว่าจะซื้อเท่าไรบอกมาเลย จะขาย”   ผู้บริการด้านวัฒนธรรมการอ่าน  นุ้ยบอกกับเราว่าเธอไม่ใช่นักธุรกิจ ไม่ใช่แม่ค้าขายหนังสือ  แต่เธอเป็นผู้บริการด้านวัฒนธรรมการอ่าน และตั้งใจให้เยาวชนได้เข้าถึงหนังสือต่าง ๆ ตามความต้องการของตัวเองในราคาที่จับต้องได้ ทางร้านจึงตั้งกำไรไว้ไม่สูงที่ 5% ต่อเล่ม และเน้นยอดขายให้ได้จำนวนหลาย ๆ เล่ม หากขายให้หมดจึงจะคุ้มทุน แต่ถ้ามีหนังสือเหลือก็เท่ากับขาดทุน   เธอเชื่อว่าการขายแบบนี้ทำให้ลูกค้ามาซื้อหนังสือได้เรื่อย ๆ รวมทั้งการสอบถามพูดคุยกับลูกค้าอย่างเป็นกันเอง ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เธอเลือกหนังสือมาได้ตรงความต้องการของลูกค้า แม้ว่าลูกค้าบางคนจะไม่มีเงินซื้อหนังสือในราคาเต็ม ก็สามารถผ่อนชำระค่าหนังสือได้เช่นกัน เพราะเธอมองว่าลูกค้าคือเพื่อนที่สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ “พี่ขายแบบสบาย ๆ พี่จะขายแบบเป็นญาติมิตร เพื่อนพ้อง ไม่ได้เห็นว่าเป็นคนขายของ แต่เราคือผู้บริการทางด้านวัฒนธรรมการอ่าน เราไม่คิดว่าเราเป็นแม่ค้า เขาเป็นลูกค้า แต่เราช่วยเหลือกัน เป็นเพื่อนกัน บางคนไม่ได้มาดูหนังสือ แต่มาคุย มาแลกเปลี่ยนความคิดกัน” นุ้ย-ทัศนียา: เจ้าของ ‘55 Book Stall’ ร้านหนังสือยืนหนึ่งของจตุจักรที่มีเลข 55 หมายถึงเสียงหัวเราะร่าซ่อนอยู่ กำไรชีวิต อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ร้าน ‘55 Book Stall’ สามารถอยู่ได้ก็คือฐานลูกค้าที่น่ารักและคอยช่วยเหลือนุ้ยมาโดยตลอด ทั้งการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ น้ำใจที่มีให้กัน การนำขนมมาฝาก ไปจนถึงเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ  ในบางครั้งที่นุ้ยไม่มีเงินจะสั่งหนังสือเข้าร้าน ก็ได้ลูกค้าที่เต็มใจจ่ายให้ก่อน นี่คือความสัมพันธ์ที่มากกว่าแม่ค้า-ลูกค้า แต่เป็นเหมือนพี่น้องที่สามารถพึ่งพากันได้ “มันมีความสุข คืออยากจะร้องไห้ เราบอกแม่ว่าเราเกิดเป็นพี่สาวคนอื่นเขา แต่ตอนนี้เรามีพี่สาวเยอะมาก พี่สาวที่รักเราจริง ๆ วันใดวันหนึ่งที่เราไม่มีเงินสั่งหนังสือ เขาก็บอกว่าน้อง ๆ เอาเท่าไรล่ะ เดี๋ยวพี่จ่ายให้ก่อน”  หรือแม้กระทั่งในงานสัปดาห์หนังสือที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่วุ่นวายไปด้วยการให้บริการผู้ซื้อที่ล้นร้าน แต่ลูกจ้างกลับลาออกกลางคัน แม่ค้าอย่างเธอก็ได้มิตรจิตมิตรใจจากลูกค้าหน้าเก่าที่พอรู้ข่าวก็ทยอยกันมาจากคนละทิศละทางเพื่อช่วยงานเธอ เพียงแค่เธอเอ่ยปากผ่านข้อความเดียวในกรุ๊ปแชตเท่านั้น  “มันปลื้ม มันมากกว่าการที่เรามาขายหนังสือ สิ่งที่ได้กลับมามันสูงมาก มันคือกำไรชีวิต เรามีกำไรชีวิต เพราะเรารู้ว่าวันใดวันหนึ่งที่เราเดือดร้อน คนที่ไม่ใช่พี่ ไม่ใช่น้อง เขาพร้อมที่จะช่วยเรา”   เรื่อง: กัญญาภัค ขวัญแก้ว ภาพ: จุลดิศ อ่อนละมุน