วันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 2021 โลกสูญเสียบุคคลสำคัญไปอีกคน เมื่อแลร์รี คิง (Larry King) พิธีกรนักสัมภาษณ์ผู้โด่งดังจากการจัดรายการโทรทัศน์ให้ช่อง CNN มาเป็นเวลานาน 25 ปี เสียชีวิตลงในวัย 87 ปีที่โรงพยาบาลในนครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา
เขาเสียชีวิตหลังติดเชื้อโควิด-19 และมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ รุมเร้า ทั้งโรคหัวใจ และเคยเข้ารับการผ่าตัดรักษามะเร็งปอดเมื่อหลายปีก่อน
แลร์รี คิง เป็นพิธีกรนักสัมภาษณ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เขามักปรากฏกายหน้าจอด้วยแว่นตากรอบหนา คล้องสายเอี๊ยม พับแขนเสื้อ และนั่งวางข้อศอกทั้งสองข้างไว้บนโต๊ะ เพื่อโน้มตัวเข้าหาคู่สนทนาเวลามีปฏิสัมพันธ์กัน
ลีลาการสัมภาษณ์ของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้พิธีกรนักข่าวหลายคนนำไปเป็นแบบอย่าง จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เรายังสามารถพบเห็นท่าทางการสัมภาษณ์แบบแลร์รี คิง ได้ทั่วโลก นับเป็นหนึ่งมรดกที่เขาทิ้งไว้ แม้จะจากโลกนี้ไปอย่างไม่หวนกลับมา
เคล็ดลับการสัมภาษณ์
นอกจากเอกลักษณ์ภายนอกแล้ว เคล็ดลับการเป็นนักสัมภาษณ์ที่ดีในมุมมองของแลร์รี คิง ก็ยังไม่เหมือนใคร
เขาขึ้นชื่อเรื่องการให้เกียรติคู่สนทนา ไม่พูดแทรก ไม่ถามจี้ และเน้นลีลาการพูดคุยแบบผ่อนคลาย
“ผมไม่เคยได้เรียนรู้อะไรระหว่างที่ผมกำลังพูด” คิงเผยถึงเหตุผลที่เขาทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี ปล่อยให้คู่สนทนาพูดจนจบ ก่อนยิงคำถามต่อไป โดยไม่ตัดบท หรือขัดจังหวะ
ท่าทางการวางศอกไว้บนโต๊ะ และโน้มตัวหาคู่สนทนาก็เป็นอีกวิธีเพื่อสื่อถึงการตั้งใจฟัง และให้ความสำคัญกับคนพูด ขณะเดียวกันก็เผยว่า การคุยกันแบบสบาย ๆ ไม่ยิงคำถามจี้แบบคาดคั้นจนเกินไป จะทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ไม่เกร็ง ลืมเรื่องกล้องที่อยู่ตรงหน้า และคุยกันได้อย่างมีอรรถรสมากขึ้น
ไม่ทำการบ้าน ใช้สัญชาตญาณนำ
อีกหนึ่งเคล็ดลับที่ค่อนข้างแปลกก็คือ แลร์รี คิง เป็นคนไม่ชอบทำการบ้านหรือเตรียมคำถามล่วงหน้าก่อนสัมภาษณ์ โดยให้เหตุผลว่า เขาอยากเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ไปพร้อมกับผู้ชม และปล่อยให้ความขี้สงสัยในหัวของเขาเป็นตัวนำพาบทสนทนาให้ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ
“บางทีนั่นคือส่วนที่ยากที่สุดของงาน - การพยายามเตรียมตัวให้เขา เพราะเขาไม่เคยต้องการเตรียมตัว” เวนดี วอล์คเกอร์ เล่าประสบการณ์ระหว่างรับงานหัวหน้าโปรดิวเซอร์ผู้ควบคุมรายการ Larry King Live ให้กับช่อง CNN และทำงานร่วมกับแลร์รี คิง มายาวนาน
“เขาอ่านและดูรายการข่าวทั้งวัน ดังนั้นเขาจึงมีข้อมูลมากมาย แต่เขาต้องการแค่ฟังแขกผู้ร่วมรายการพูดก่อน จากนั้นจึงค่อยคิดคำถามตามมาทีหลัง” วอล์คเกอร์ ย้อนความหลังสไตล์การทำงานของแลร์รี คิง
“การสัมภาษณ์ที่ดี คือคุณได้รู้มากกว่าที่คุณรู้ก่อนเริ่มสัมภาษณ์ บางทีคุณควรจบการสนทนาด้วยความคิดเห็นบางอย่างที่เปลี่ยนไป” แลร์รี คิง บอกกับแอลเอไทมส์ เมื่อปี 2018 “คุณควรได้รับความบันเทิงจริง ๆ จากการสนทนา และนักสัมภาษณ์ก็ควรเป็นผู้ให้ความบันเทิงด้วย”
ปฏิบัติกับทุกคนเท่าเทียมกัน
อีกคุณสมบัติที่ทำให้แลร์รี คิง ได้รับการยกย่อง คือ การปฏิบัติกับคู่สนทนาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นถึงผู้นำประเทศ หรือคนธรรมดาสามัญ
“เขาเป็นคนที่น่าสนใจมาก แต่แค่วันละ 1 ชั่วโมงเมื่อแสงไฟของรายการสว่างขึ้น เขาทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ เขาปฏิบัติกับแขกทุกคนเหมือน ๆ กัน มันไม่สำคัญว่าผู้นั้นจะเป็นประธานาธิบดี หรือผู้ที่มาจากข้างถนนทั่วไป” อดีตหัวหน้าโปรดิวเซอร์ Larry King Live กล่าว
ด้วยเหตุนี้อาจเป็นที่มาให้ใคร ๆ ก็อยากมาออกรายการของแลร์รี คิง โดยตลอดอาชีพนักจัดรายการทอล์กโชว์นาน 63 ปี เขาจัดรายการสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ไปทั้งหมดมากกว่า 50,000 ตอน ได้สัมภาษณ์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะอยู่ในตำแหน่งทุกคน นับตั้งแต่เจอรัลด์ ฟอร์ด จนถึงบารัก โอบามา (รวม 7 คน)
นอกจากนี้ยังมีแขกร่วมรายการระดับตำนานจากแทบทุกวงการทั่วโลกมาให้สัมภาษณ์ อาทิ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง, ดาไลลามะ, เนลสัน แมนเดลา, แฟรงก์ ซินาตรา, บิล เกตส์, เลดี้กาก้า, เลอบรอน เจมส์, ปารีส ฮิลตัน รวมถึงมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของอังกฤษ
กำพร้าพ่อชีวิตยากไร้
แลร์รี คิง เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 1933 ในเขตบรูคลิน นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ ชื่อเดิมของเขา คือ ลอเรนซ์ ฮาร์วีย์ ซีเกอร์ เป็นลูกผู้อพยพชาวยิวฐานะยากจน พ่อของเขามาจากลิธัวเนีย ส่วนมารดาอพยพมาจากยูเครน
เขากำพร้าพ่อจากอาการหัวใจล้มเหลวตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ทำให้มารดาต้องเลี้ยงดูคิง และน้องชายอีกคนเพียงลำพัง และครอบครัวก็มีชีวิตอยู่รอดมาได้เพราะความช่วยเหลือจากสวัสดิการทางสังคม
คิงยอมรับว่า บิดามีอิทธิพลต่อชีวิตของเขามาก และความมีอารมณ์ขัน รวมถึงการหลงรักกีฬา โดยเฉพาะเบสบอล เป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากพ่อของเขาแบบเต็ม ๆ
ด้วยฐานะทางบ้านยากจน เพราะขาดเสาหลักของครอบครัว หลังเรียนจบไฮสกูล แลร์รี คิง ต้องออกมาหางานทำเพื่อค้ำจุนครอบครัว และไม่มีโอกาสได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย
ปี 1957 แลร์รี คิง เริ่มเส้นทางสายสื่อมวลชนครั้งแรกด้วยการเดินทางไปรับงานเป็นดีเจจัดรายการวิทยุในเมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ตั้งแต่อายุ 24 ปี
เข้าวงการสื่อเปลี่ยนนามสกุล
ก่อนเริ่มงานวันแรกไม่กี่นาที หัวหน้าสถานีสั่งให้เขาเปลี่ยนนามสกุล ไม่ให้ใช้คำว่า “ซีเกอร์” ซึ่งฟังดูบ่งบอกชาติพันธุ์จนเกินไป เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้คำว่า “คิง” ซึ่งมาจากชื่อร้านขายส่งสุราที่เหลือบไปเห็นในโฆษณาหนังสือพิมพ์ และนั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ “แลร์รี คิง” ที่ทุกคนรู้จักจนปัจจุบัน
คิงค่อย ๆ ไต่เต้าจากดีเจสถานีวิทยุเล็ก ๆ สู่นักจัดรายการวิทยุชื่อดังระดับท้องถิ่นในทศวรรษ 1950 - 60 ก่อนจะเริ่มโด่งดังระดับประเทศตั้งแต่ปี 1978 เมื่อได้รับเลือกให้จัดรายการวิทยุตอบคำถามแฟนทางบ้านที่โทรศัพท์เข้ามายามดึกในชื่อรายการ The Larry King Show
ความสามารถในการสัมภาษณ์และจัดรายการวิทยุของเขา ได้รับการการันตีด้วยรางวัลมากมาย โดยเฉพาะในปี 1982 เขาได้รับเลือกเป็นผู้ชนะรางวัล “Peabody Award” ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติในวงการสื่อวิทยุโทรทัศน์ เทียบเท่ากับรางวัลพูลิตเซอร์ ของวงการสื่อสิ่งพิมพ์
แม้หน้าที่การงานจะรุ่งโรจน์ แต่ชีวิตครอบครัวของแลร์รี คิง ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จนัก เขาแต่งงานทั้งหมด 8 ครั้ง กับผู้หญิง 7 คน และมีลูกทั้งหมด 5 คน ในจำนวนนี้มีลูก 2 คน เพิ่งเสียชีวิตไปก่อนเขาเมื่อปี 2020
จัดรายการ CNN ผู้ชมนับล้าน
ชื่อเสียงโด่งดังจากอาชีพนักจัดรายการวิทยุของแลร์รี คิง ทำให้ CNN ตัดสินใจทาบทามมาจัดรายการโทรทัศน์ Larry King Live โดยเริ่มออกอากาศในปี 1985 และกลายเป็นรายการเรือธงของช่อง โดยในช่วงที่ได้รับความนิยมสูงสุด เคยมีผู้ชมรายการของเขามากถึงคืนละ 1.5 ล้านคน
อย่างไรก็ตามในปี 2010 รายการ Larry King Live มาถึงตอนอวสาน เมื่อเรตติ้งรายการลดลงอย่างฮวบฮาบ อันเป็นผลมาจากรูปแบบรายการที่ล้าสมัย และลีลาการสัมภาษณ์แบบใหม่ที่ดุดันถึงลูกถึงคนได้รับความนิยมมากกว่า
ด้วยเหตุนี้ CNN จึงประกาศยุติรายการ Larry King Live และทำให้รายการนี้กลายเป็นโชว์ที่จัดต่อเนื่องโดยใช้พิธีกรคนเดียวมายาวนานที่สุด รวมระยะเวลา 25 ปี
หลังแยกทางกับ CNN แลร์รี คิง ยังคงไม่หยุดทำงานในวงการนักจัดรายการทีวีที่เขารัก โดยเขาเปิดตัวรายการใหม่ Larry King Now ซึ่งเน้นออกอากาศทางช่องทีวีออนไลน์ และจัดต่อเนื่องมาจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
ตอนอำลารายการที่ CNN แลร์รี คิง เคยกล่าวประโยคสุดท้ายเอาไว้ว่า “ผมไม่รู้จะพูดอะไร ยกเว้นจะบอกกับท่านผู้ชมว่า ขอบคุณครับ และแทนที่จะพูดว่าลาก่อน (Goodbye) เอาคำนี้ดีมั้ยครับ จนกว่าจะพบกันใหม่ (So long)”
แม้ปัจจุบัน แลร์รี คิง จะอำลาโลกนี้ไปแล้ว แต่บุคลิกลีลาท่าทาง และสไตล์การสัมภาษณ์แบบเขา ยังคงมีให้เห็นได้ตามรายการทอล์กโชว์ทั่วไป และนั่นคือสิ่งที่พิธีกรแว่นหนา นุ่งสายเอี๊ยม มาดสบาย ๆ หลงเหลือเอาไว้ให้ดูต่างหน้า
เพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องเอ่ยคำลา และตำนานการสัมภาษณ์ในสไตล์แบบแลร์รี คิง เช่นนี้ จะยังอยู่บนโลกนี้ต่อไป
เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล
ข้อมูลอ้างอิง:
https://edition.cnn.com/2021/01/23/us/larry-king-dies-trnd/index.html
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-55523881